ประวัติ อินโดนีเซีย เป็นบทความลำดับที่ 28 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน หัวข้อประกอบด้วย ความนำ การแบ่งยุคประวัติ อินโดนีเซีย ประวัติ อินโดนีเซีย ยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดู ยุครัฐอิสลาม ยุคอาณานิคม ยุคกำเนิดอินโดนีเซีย ยุคประธานาธิบดีซูการ์โน ยุคระเบียบใหม่ ยุคปฏิรูป และสรุป
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว ได้เล่าเรื่อง ประเทศ บรูไน เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา รูปแบบการปกครอง และเศรษฐกิจ โดยบรูไน เป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และมีพื้นที่เล็กเป็นอันดับสองรองลงมาจากสิงคโปร์
สำหรับบทความนี้ ต้องการจะเล่าเรื่องประวัติ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของประเทศ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 7 ยุค คือ ยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดู ยุครัฐอิสลาม ยุคอาณานิคม ยุคกำเนิดอินโดนีเซีย ยุคประธานาธิบดีซูการ์โน ยุคระเบียบใหม่ และยุคปฏิรูปบ
ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ จำนวนระหว่าง 17,000-18,000 เกาะ โดยมีเกาะหลักอยู่จำนวน 5 เกะ ได้แก่ เกาะสุมาตรา (Sumatra) เกาะชวา (Java) และเกาะซุลาเวซี (Sulawesi) รวมทั้งพื้นที่ของเกาะบอร์เนียว (Borneo)หรือเกาะลีมันตัน และเกาะนิวกินี (New Guinea)
2.การแบ่งยุค ประวัติ อินโดนีเซีย
ตาม Wikipedia ได้แบ่งยุคประวัติศาสตร์ ของอินโดนีเซียไว้ดังนี้
2.1 ยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดู
2.2 ยุครัฐอิสลาม
2.3 ยุคอาณานิคม
2.4 ยุคกำเนิดอินโดนีเซีย
2.5 ยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต
2.6 ยุคระเบียบใหม่
2.7 ยุคปฏิรูป
3.ยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดู (Hindu-Buddhist civilizations)
ประวัติ อินโดนีเซีย ในช่วงศตวรรษที่ 4-16 เป็นช่วงเวลาที่ดินแดนที่เรียกว่า ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันนี้ ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศอินเดียตอนใต้ นั่นคือ ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู โดยมีอาณาจักรที่สำคัญในยุคนี้คือ อาณาจักรเมดัง (Medang Empire) และอาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya)

3.1 อาณาจักรเมดัง (Medang Empire)
อาณาจักรเมดัง เป็นอาณาจักรของอินเดียที่เข้ามาจัดตั้งบนเกาะชวาตอนกลาง ในช่วงศตวรรษที่ 8-10 และปกครองโดยราชวงศ์ไสเลนทรา(Sailentra) และราชวงศ์สันจลา (Sanjaya)
3.2 อาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya)
อาณาจักรศรีวิชัยตั้งอยู่บนเกาะสุมาตรา เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจทางทะเล แผ่ไปยังบริเวณโดยรอบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือกำเนิดเมื่อศตวรรษที่ 7 นับเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3.3 อาณาจักรสิงหสารี และมัจฉาปาหิต (Singhasari and Majapahit)
ทั้งสองอาณาจักร เป็นอาณาจักรของฮินดู ตั้งอยู่บนเกาะชวาตะวันออกเมื่อปลายศตวรรษที่ 13 มีอาณาเขตกว้างใหญ่ใกล้เคียงกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย จัดเป็นยุคทองของอินโดนีเซีย ก่อนจะถึงยุครัฐอิสลาม และได้เสื่อมลงในตอนต้นศตวรรษที่ 16
4.ยุครัฐอิสลาม
ศาสนาอิสลามได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่ 13 เริ่มต้นที่ทางเหนือของเกาะสุมาตรา จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 ศาสนาอิสลามได้เข้าแทนที่ศาสนาที่มีอยู่เดิม กลายเป็นศาสนาหลักบนเกาะชวาและสุมาตรา ยังคงมีเฉพาะเกาะบาหลีเท่านั้นที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาฮินดูอยู่
ประวัติ อินโดนีเซีย ในยุครัฐอิสลามนี้ มีสุลต่าน 2 องค์ ที่มีบทบาทสำคัญและมีอำนาจมาก คือ สุลต่านมะตาราม (Sultanate of Mataram) และสุลต่านแห่งบันเตน (Sultanate of Banten)
5.ยุคอาณานิคม (Colonial Era)
ตามประวัติ อินโดนีเซีย ชาวยุโรปได้เริ่มให้ความสนใจอินโดนีเซีย ในศตวรรษที่ 16 โดยเริ่มจากชาติโปรตุเกส สเปน ดัชท์ และอังกฤษ เพื่อครอบครองเส้นทางในการค้าเครื่องเทศจากอินเดียและหมู่เกาะเครื่องเทศ (Spice Islands/Maluku) หรืออินโดนีเซีย แทนที่พ่อค้าชาวมุสลิมที่ทำอยู่ก่อน โดยผ่านทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรป
แต่การแผ่อิทธิพลในยุคต้นศตวรรษที่ 15 ยังเป็นยุคศาสนาอิสลามภายใต้การนำของจักรวรรดิออตโตมานแห่งตุรกี (Ottoman Turks) และอิสลามได้แผ่อิทธิพลไปยังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จนกระทั่งศตวรรษที่ 18 และ 19 อิทธิพลของยุโรปที่มีต่ออินโดนีเซียจึงได้มีมาก
5.1 โปรตุเกส
ด้วยความสามารถในการเดินเรือ การสร้างเรือ และการผลิตอาวุธ ได้ทำให้โปรตุเกสกล้าลงทุนในด้านการสำรวจและขยายอิทธิพล โดยเริ่มต้นที่มาละกา (Malacca) เมื่อปี ค.ศ.1512 หลังจากนั้นจึงเข้าไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศ โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ได้เข้าไปในอินโดนีเซียเพื่อครอบครองสินค้าเครื่องเทศ โดยใช้กำลังทหารและการผูกมิตรกับผู้ปกครองท้องถิ่น
5.2 บริษัทดัชท์อีสต์อินเดีย (Dutch East-India Company)
เมื่อปีค.ศ.1602 รัฐสภาดัชท์ได้ให้บริษัทดัชท์อีสต์อินเดีย หรือ VOC ผูกขาดการค้าและกิจการอาณานิคมในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนที่จะได้ครอบครองดินแดนในชวา ชาวดัชท์ปฏิบัติตามแรงบันดาลใจ ความกล้าหาญ ความโหดร้าย และกลยุทธ์ของโปรตุเกส แต่มีการจัดองค์กร อาวุธ และกลยุทธ์ที่ดีกว่า
ในกลางศตวรรษที่ 17 ชาวดัชท์ได้ใช้บัตตาเวีย (Batavia) หรือจาร์กาตาในปัจจุบันเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท VOC ในเอเชีย
5.3 การปกครองของเนเธอแลนด์ (Dutch state rule)
บริษัท ดัชท์อีสต์อินเดียได้ล้มละลายลงเมื่อปีค.ศ.1800 ประกอบกับดัชท์ได้ตกอยู่ภายใต้ยึดครองของฝรั่งเศสระยะหนึ่งอันเป็นผลมาจากสงคราม นโปเลียน (1803-1815) ทำให้ อินโดนีเซียตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในช่วงเวลาสั้น ๆ จนกระทั่งปีค.ศ.1816 อินโดนีเซียจึงได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของดัชท์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อรัฐดัชท์ได้เข้ายึดบริษัท ดัชท์อีสต์อินเดีย เมื่อปีค.ศ.1816
ในช่วงที่เนเธอแลนด์ได้ปกครองอินโดนีเซียนั้น ได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้หลายอย่าง ได้แก่ถนนลาดยาง ทางรถไฟ ระบบชลประทาน ท่าเรือ ระบบน้ำดื่มสาธารณะ
ภายใต้การปกครองของดัชท์ ทำให้มีการกำหนดขอบเขตดินแดนอาณานิคมขึ้นใหม่จนกลายเป็นเขตแดนของรัฐอินโดนีเซียในปัจจุบันนี้
6.การเกิดขึ้นของอินโดนีเซีย (The emergence of Indonesia)
6.1 การตื่นขึ้นของชาวอินโดนีเซีย
หลังจากตกอยู่ภายใต้การยึดครองของดัชท์มาตั้งแต่ยุคบริษัท ดัชท์อีสต์อินเดีย ตั้งแต่ปีค.ศ.1602 และต่อมาได้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของประเทศเนเธอแลนด์โดยตรงเมื่อปีค.ศ.1816 ในช่วงนี้ชาวอินโดนีเซียได้เกิดความตื่นตัวและความรักชาติขึ้นมา
ขบวนการชาตินิยม (nationalist movement) ขบวนการแรกได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1908 ชื่อ บุดี อุโตโม (Budi Utomo) แต่ขบวนการชาตินิยมที่มีมวลชนเป็นฐาน ขบวนการแรกที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1912 ชื่อ ขบวนการ สาราแค็ต อิสลาม (Saraket Islam) โดยมีซูการ์โน (Sukarno) เป็นผู้นำ และเมื่อปีค.ศ.1924 ได้เกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย (Communist Party of Indonesia-PKI)
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทางรัฐบาลดัชท์ได้ปราบปรามขบวนการชาตินิยมและพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก
6.2 การยึดครองของญี่ปุ่น
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอินโดนีเซียในช่วงปีค.ศ.1941-1945 โดยซูการ์โน รับข้อเสนอของญี่ปุ่นในการทำให้ประชาชนสนับสนุนญี่ปุ่น และญี่ปุ่นสัญญาว่าจะให้เอกราชแก่อินโดนีเซียในวันที่ 24 สิงหาคม 1945 แต่พอญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ซูการ์โนได้ถือโอกาสประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945
ยูเอ็นได้รายงานว่า ผลจากการยึดครองของญี่ปุ่น ทำให้มีคนตายในอินโดนีเซียมากถึง 4 ล้านคน
6.3 การปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesian National Revolution)
หลังจากซูการ์โนได้ประกาศเอกราชให้อินโดนีเซียแล้ว คณะกรรมการกลางแห่งชาติอินโดนีเซีย (Central Indonesian National Committee) ได้ประกาศแต่งตั้งซูการ์โนเป็นประธาน และหัตตา (Hatta) เป็นรองประธานเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐ แต่ดัชท์ยังต้องการกลับมาปกครองอินโดนีเซียต่อ ทำให้มีการต่อสู้กันทั้งด้วยอาวุธและการทูตจนยุติลงเมื่อเดือนธันวาคม 1949 ในระยะเวลาของการสู้รบกัน 4 ปี ดัชท์สามารถยึดพื้นที่กลับคืนมาได้เกือบหมดแต่ก็ยังมีพวกกองโจรคอยต่อต้านอยู่ แต่ในที่สุดด้วยแรงกดดันของยูเอ็น ทำให้ดัชท์ต้องยอมรับการให้เอกราชแก่อินโดนีเซีย
ดัชท์ให้การรับรองเอกราชของอินโดนีเซียในรูปแบบของสหรัฐหรือรัฐรวมมิใช่รัฐเดี่ยว แต่ภายหลังการประกาศเอกราชได้ 5 ปี รูปแบบการปกครองแบบรัฐรวมได้ถูกยกเลิก และซูการ์โนได้ประกาศตั้งเป็นสาธารณรัฐแบบรัฐเดี่ยวเมื่อเดือนสิงหาคม 1950
7.ยุคประธานาธิบดีซูการ์โน (Sukarno’s presidency)

7.1 การทดลองประชาธิปไตย
ด้วยผลของการพยายามรวมตัวเพื่อเรียกร้องเอกราช ทำให้ปรากฏความแตกแยกในสังคมอินโดนีเซีย ทั้งนี้เพราะมีความแตกต่างในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ผลกระทบของศาสนาคริสต์และลัทธิมาร์กซ์ และความกลัวการครอบงำทางการเมืองของชวา
ภายหลังการปกครองอาณานิคม การยึดครองของญี่ปุ่น และการทำสงครามกับดัชท์ ทำให้อินโดนีเซียได้รับความเดือดร้อนจากความยากจน เศรษฐกิจที่ล่มสลาย การศึกษาและการมีทักษะต่ำ และประเพณีอำนาจนิยม
ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 1950 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยระบบรัฐสภา และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อปี 1955 มีพรรคแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesian National Party-PNI) ของซูการ์โน ได้จำนวนที่นั่งมากที่สุด ในขณะพรรคคอมมิวนิสต์ (PKI) ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากเช่นกัน แต่ไม่มีพรรคใดคะแนนเสียงเกินกว่า 1 ใน 4 จึงทำให้ต้องตั้งเป็นรัฐบาลผสม และเป็นรัฐบาลมีอายุสั้น
7.2 ประชาธิปไตยนำวิถี (Guided Democracy)
เมื่อปี 1956 ซูการ์โนได้วิจารณ์อย่างเปิดเผยว่า ประชาธิปไตยระบบรัฐสภา มีพื้นฐานอยู่บนความขัดแย้งโดยธรรมชาติ ซึ่งขัดต่อแนวคิดเรื่องความสามัคคีของชาวอินโดนีเซีย ดังนั้น เขาจึงเสนอระบบที่มีพื้นฐานอยู่บนระบบหมู่บ้านตามประเพณีนิยมและความเห็นสอดคล้อง ภายใต้การชี้นำของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน
ระบบนี้ได้ยึดถือเอาอำนาจหลักในทางการเมืองของอินโดนีเซีย 3 ประการ คือ กองทัพ ศาสนาอิสลาม และลัทธิคอมมิวนิสต์ และด้วยความสนับสนุนของกองทัพ เขาได้ประกาศระบบประชาธิปไตยแบบนำวิถี (Guided Democracy) เมื่อปี 1957 โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 1950 และนำรัฐธรรมนูญปี 1945 มาใช้แทน และสมาชิกรัฐสภาได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ยังมีอีกองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งคือสภาที่ปรึกษาสูงสุด (Supreme Advisory Council) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในด้านการวางนโยบายในการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งแนวรบแห่งชาติ (National Front) ขึ้นเมื่อปี 1960 โดยมีประธานาธิบดีเป็นประธานในการระดมกำลังปฏิวัติของประชาชน ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาแบบตะวันตกจึงได้จบสิ้นไป
7.3 การปฏิวัติของซูการ์โน และลัทธิชาตินิยม (Sukarno’s revolution and nationalism)
ซูการ์โน เป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ (Charismatic Sukarno) สามารถพูดจาโน้มน้าวสร้างกระแสการปฏิวัติและได้สร้างความเป็นชาตินิยมภายใต้อำนาจเผด็จการของเขาได้เป็นอย่างดี ทำให้อินโดนีเซียต้องเผชิญหน้ากับชาติตะวันตก ในขณะที่เศรษฐกิจในยุคของเขาได้ตกต่ำลงมาก
8.ยุคการจัดระเบียบใหม่ (The New Order)

8.1 การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคการจัดระเบียบใหม่
ซูการ์โนได้ครองอำนาจด้วยการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกองทัพกับพรรคคอมมิวนิสต์ และด้วยอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม (anti-imperialist ideology) ทำให้เขาต้องพึ่งพาโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ เมื่อปี 1965 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้กลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากไม่นับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียใช้อิทธิพลแทรกแซงทุกระดับของรัฐบาล รวมทั้งกองทัพ
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1965 นายพลอาวุโสสูงสุดของกองทัพอินโดนีเซีย จำนวน 6 นายได้ถูกสังหาร ในความพยายามจะยึดอำนาจจากซูการ์โน ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังเรียกชื่อว่า ขบวนการ 30 กันยายน หลังจากนั้นไม่นาน นายพลสุฮาร์โต (Suharto) ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังสำรองยุทธศาสตร์กองทัพบก ได้ระดมกำลังเข้าตอบโต้ และได้ทำการกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงไปทั่วประเทศ มีผู้ถูกสังหารประมาณ 500,000-1,000,000 คน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้อำนาจของซุการ์โนอ่อนแอลง และจำเป็นต้องยอมโอนอำนาจทางการเมืองและการทหารที่สำคัญไปยังนายพลสุฮาร์โต และเมื่อเดือนมีนาคม 1967 สภาที่ปรึกษาประชาชนชั่วคราวได้แต่งตั้งนายพลสุฮาร์โตรักษาการประธานาธิบดี และแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีถาวรเมื่อเดือนมีนาคม 1968 ส่วนซูการ์โนได้ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านจนสิ้นชีวิตเมื่อปี 1970
8.2 การยึดถือระเบียบใหม่ (Entrenchment of the New Order)
หลังจากการขึ้นครองอำนาจของประธานาธิบดีสุฮาร์โต ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาโดยตรง ได้มีการกวาดล้างด้วยการสังหารหรือคุมขังผู้คนที่ถูกล่าวหาว่า สนับสนุนคอมมิวนิสต์ จำนวนหลายแสนคน
ในยุคนี้เรียกว่า ยุคระเบียบใหม่ (New Order Era) โดยสุฮาร์โตได้เชิญนักลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันสุฮาร์โตก็ได้สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและครอบครัวผ่านการติดต่อทางธุรกิจและมีการทุจริตในวงกว้าง
8.3 การผนวกเอาดินแดน อิเรียนตะวันตก (Annexation of West Irian)
ในยุคนี้ได้มีการผนวกเอาดินแดนนิวกิเนียครึ่งหนึ่งซึ่งอยู่ภาคตะวันตก เรียกชื่อว่า อิเรียนตะวันตก และยังอยู่ในการปกครอง ของดัชท์ โดยได้มีการสู้รบกันระหว่างอินโดนีเซียและดัชท์ในช่วงปี 1961-1962 หลังจากได้มีการทำความตกลงนิวยอร์ก (New York Agreement 1962) ทำให้อินโดนีเซียได้ปกครอง อิเรียนตะวันตก เมื่อเดือนพฤษภาคม 1963
8.4 การผนวกเอาดินแดนติมอร์ตะวันออก (Annexation of East Timor)
เมื่อปี 1975 ได้เกิดการปฏิวัติสีชมพู(Carnation Revolution) ในโปรตุเกส ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแผนการในการปลดปล่อยอาณานิคมของโปรตุเกส คือติมอร์ตะวันออกซึ่งตั้งอยู่บนเกาะติมอร์ โดยครึ่งหนึ่งเกาะติมอร์ซึ่งอยู่ทางตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียอยู่แล้ว
แต่โปรตุเกสยังไม่ทันได้ดำเนินการตามกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม ชาวติมอร์ตะวันออกได้ประกาศเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 1975 เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์ตะวันออก (Democratic Republic of East Timor)
หลังจากนั้น 9 วัน อินโดนีเซียได้บุกติมอร์ตะวันออก และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรในฐานะที่เป็นประเทศต่อต้านคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ดี ภายหลังการลาออกของสุฮาร์โต เมื่อปี 1998 ชาวติมอร์ตะวันออกภายใต้สนับสนุนจากยูเอ็นได้ออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1999 ผลปรากฏว่า ร้อยละ 99 ของผู้ไปใช้สิทธิ มากกว่า 3 ใน 4 ต้องการเอกราชทั้ง ๆ ที่ถูกโจมตีจากทหารอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายเดือน
ในที่สุดรัฐสภาอินโดนีเซียยอมให้อิสระแก่ติมอร์ตะวันออก โดยยูเอ็นได้เข้าบริหารในช่วงรอยต่อ และติมอร์ตะวันออกได้รับเอกราชสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2002
9. ยุคปฏิรูป (Reform Era)
ประวัติ อินโดนีเซียในยุคปฏิรูป พอจะสรุปได้ดังนี้
9.1 ขบวนการเพื่อประชาธิปไตย (Pro-democracy)
เมื่อปี 1996 สุฮาร์โตได้พยายามขัดขวางผู้ท้าทายอำนาจรัฐบาล นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์อินโดนีเซีย (Indonesia Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย มีนางเมกาวะตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Sukarnoputri) ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โนเป็นประธานพรรคดังกล่าว โดยสุฮาร์โตได้พยายามทำให้พรรคดังกล่าวแตกแยก
9.2 วิกฤตเศรษฐกิจและการลาออกของสุฮาร์โต
ในช่วงปี 1997-1998 อินโดนีเซียเป็นประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบทางการคลังมากที่สุด เงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียได้ตกต่ำลงอย่างที่สุด ทำให้สุฮาร์โตต้องถูกตรวจสอบจากสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ. และสหรัฐอเมริกา เพื่อพิจารณาปล่อยเงินกู้
เมื่อเดือนมีนาคม 1998 รัฐสภาได้ต่ออายุให้สุฮาร์โตอยู่ในตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 7 ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงและการก่อจลาจลไปทั่วประเทศ เรียกชื่อว่า การปฏิวัติอินโดนีเซีย ทำให้เกิดความไม่พอใจในพรรคโกลตาร์ (Golkar party) ซึ่งเป็นพรรคของเขาเอง ในที่สุดทหารได้บีบให้เขาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 และรองประธานาธิบดี บี.เจ. ฮาบิเบีย (B.J. Habibie) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ประธานาธิบดี ฮาบิเบีย ได้ทำข้อตกลงกับเอเอ็มเอฟ.ใหม่ และการสนับสนุนชุมชนผู้บริจาคเพื่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เขาได้ปล่อยนักโทษทางการเมือง และยกเลิกการควบคุมเสรีภาพในการพูดและการสมาคม มีการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับรองลงมาจากจังหวัดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 1999 ผลการเลือกตั้งรัฐสภาแห่งชาติ ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์อินโดนีเซียของนางเมกะวะตีได้ที่นั่งร้อยละ 34 พรรคโกลตาร์ของสุฮาร์โตได้ที่นั่งร้อยละ 22
9.3 การจลาจลอินโดนีเซียปี 1998
เมื่อเดือนพฤษภาคม 1998 ได้เกิดการจลาจลในอินโดนีเซีย เรียกชื่อว่า โศกนาฏ กรรมปี 1998 เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในวงกว้าง มีการประท้วง และเกิดความไม่สงบเกี่ยวกับเชื้อชาติไปทั่วประเทศ
9.4 การเมืองตั้งแต่ปี 1999
เมื่อเดือนตุลาคม 1999 สภาที่ปรึกษาของประชาชน (People’s Consultative Assembly) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา 500 คน และสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งอีก 200 คน ได้มีมติแต่งตั้งอับดุลเราะมานห์ วาฮิด (Abdurrahman Wahid) เป็นประธานาธิบดี และนางเมกะวะตี (Megawati) เป็นรองประธานาธิบดี อยู่ในวาระ 5 ปี รัฐบาลของเขายังคงดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยและส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ภายใต้เงื่อนไขอันท้าทาย และยังได้เผชิญปัญหาการประท้วงต่อไป
นอกจากการเผชิญปัญหาการเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องเผชิญปัญหาความแตกแยกในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา อาเจะห์ (Ajeh) ที่หมู่เกาะโมลุกุ (Maluku Islands) และอิเรียน ชวา ในติมอร์ตะวันตก
เมื่อเดือนมกราคม 2001 นักศึกษาจำนวนหลายพันคน ได้ก่อการประท้วงขอให้ประธานาธิบดีวาฮิดลาออก ในข้อหาพัวพันการการทุจริตคอร์รัปชั่น ประกอบกับมีแรงกดดันจากรัฐสภา ทำให้เขาต้องมอบอำนาจให้นางเมกะวะตี รองประธานาธิบดีทำหน้าที่แทน และนางได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2001
หลังจากนั้น ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง เมื่อปี 2004 และ 2009 โดยนายซูซิโล บัมบัง ยูโดโฮโน (Susilo Bambang Yudhohono) ได้รับเลือกตั้งสองสมัยติดต่อกัน
เมื่อปี 2014 และ 2019 ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี คราวนี้ นายโจโก วิโดโด (Joko Widodo) อดีตผู้ว่าการกรุงจารการ์ตา ได้รับเลือกตั้งสองสมัยติดต่อกัน เขาเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนแรกที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงในทางการเมืองหรือมีพื้นฐานทางทหาร
10. สรุป
ประวัติ อินโดนีเซีย อาจแบ่งออกเป็น ยุค คือ
10.1 ยุควัฒนธรรมพุทธ-ฮินดู ระหว่างศตวรรษที่ 4-16
ยุคนี้เป็นยุคของการได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียทางตอนใต้ มีอาณาจักรที่สำคัญในยุคนี้ คือ อาณาจักรเมตัง อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรสิงหสารีและมัจฉาปาหิต
10.2 ยุครัฐอิสลาม ระหว่างศตวรรษที่ 13-16
ศาสนาอิสลามได้เริ่มเผยแผ่เข้ามาที่หมู่เกาะในอินโดนีเซียเมื่อศตวรรษที่ 13 และเผยแผ่ออกไปทั่วหมู่เกาะ จนกระทั่งศตวรรษที่ 16 ก็ได้กลายเป็นศาสนาหลักของหมู่เกาะแทนที่ศาสนาที่มีอยู่เดิม
10.3 ยุคอาณานิคม อยู่ระหว่าง 1602-1949 รวมระยะเวลา 347 ปี
ชาติยุโรปชาติแรกที่เข้ามีอิทธิพลในหมู่เกาะของอินโดนีเซีย คือโปรตุเกส หลังจากยึดมะละกาได้ในปี 1512 จึงได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังหมู่เกาะของอินโดนีเซีย แต่ชาติที่สามารถยึดครองหมู่เกาะอินโดนีเซียเป็นอาณานิคมได้สำเร็จคือ ดัชท์ โดยสามารถยึดครองได้ตั้งแต่ปี 1602 จนกระทั่งปี 1949 รวมยะเวลา 347 ปี แต่มีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ฝรั่งเศสได้มีอำนาจปกครองอินโดนีเซียแทนดัชท์ คือช่วงสงคราม นโปเลียน (1803-1815)
10.4 ยุคการเกิดขึ้นของอินโดนีเซีย อยู่ระหว่าง ปี 1908-1963
หลังจากอินโดนีเซียได้ตกเป็นอาณานิคมมาเป็นระยะเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี 1602 จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอินโดนีเซียเกิดมีความตื่นตัวและความรักชาติ เริ่มมีการรวมตัวเป็นขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช นับตั้งแต่ปี 1912 ภายใต้การนำของซูการ์โน (Sukarno) หลังจากนั้นได้มีการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากดัชท์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถประกาศเอกราชได้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1945 แต่ได้รับการรับรองจากดัชท์ให้เป็นประเทศเอกราชเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 1949
ภายหลังได้รับเอกราช ซูการ์โนได้เป็นประธานาธิบดี ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบนำวิถี (Guided Democracy) บนพื้นฐานของหลัก 3 อย่าง คือ ชาตินิยม ศาสนา และลัทธิคอมมิวนิสต์
10.5 ยุคการจัดระเบียบใหม่ อยู่ระหว่าง 1965-1998
เนื่องจากรูปแบบการปกครองในยุคประธานาธิบดี เป็นการปกครองในรูปแบบอำนาจนิยม โดยมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกองทัพและพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนสิต์อินโดนีเซียในขณะนั้นได้เติบใหญ่ขึ้นมามาก จนสามารถแทรกแซงกองทัพได้ทุกระดับ ประกอบกับการมีเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้คณะนายทหารนำโดยนายสุฮาร์โตด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ได้ใช้กำลังตอบโต้การพยายามกระทำรัฐประหารของพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ถูกทำลายลง มีจำนวนคนถูกฆ่าตายระหว่าง 500,000-1,000,000 คน
นายพลสุฮาร์โตได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1967 ด้วยความเห็นขอบของสภาที่ปรึกษาของประชาชนชั่วคราว โดยเขาจัดระเบียบประเทศใหม่หันไปนิยมตะวันตก และได้เชิญนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
10.6 ยุคปฏิรูป อยู่ระหว่าง 1996-ปัจจุบัน
ตามประวัติ อินโดนีเซีย สุฮาร์โตขึ้นครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีต่อจากซูการ์โน นับตั้งแต่ปี 1967 จนกระทั่งปี 1998 ก็จำต้องลาออกจากตำแหน่ง เพราะได้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 1997-1998 โดยค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียได้ถูกโจมตีจนต้องลดค่าลงเป็นอย่างมาก และต้องขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ.มาแก้ปัญหา
ภายหลังจากรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบต่ออายุการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาสมัยที่ 7 เมื่อเดือนมีนาคม 1998 ได้ก่อให้เกิดการประท้วงและก่อจลาจลแสดงความไม่พอใจของประชาชนไปทั่วประเทศ และในที่สุดเขาถูกกองทัพกดดัน รวมทั้งความไม่พอใจของแกนนำในพรรคโกลตาร์ของเขา เขาจึงจำต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1998
เป็นอันสิ้นสุดยุคจัดระเบียบใหม่ ก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน ทำให้การเมืองอินโดนีเซียมีเสถียรภาพจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งเป็นยุคของประธานาธิบดี โจโก วิโดโด (Joko Widodo)
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ขอยกยอดไปรวมในบทความถัดไป “ ประเทศ อินโดนีเซีย มีรูปแบบการปกครองประเทศอย่างไร (29) ”
ดร.ชา 369
24/08/21
อาจารย์ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปัจจุบันนี้อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ของอาเซียน
อินโดนีเซีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน มีขนาดจีดีพีของปี 2020 ราว 1,119,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินโดนีเซียมีประชากรหนาแน่น มาจากปัจจัยอะไรคะ จึงไม่เป็นที่นิยมลงทุนของชาวต่างชาติ เหมือน เวียดนาม
การที่ประเทศใดจะเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างชาติขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เสถียรภาพทางการเมือง ความสะดวกในการทำธุรกิจ ค่าแรงงาน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน นโยบายของรัฐบาลในการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ
ดังนั้น จะไปสรุปเอาง่าย ๆ ว่า ชาวต่างชาตินิยมลงทุนในเวียดนามมากกว่าอินโดนีเซียคงไม่ได้ ต้องดูว่า เป็นการลงทุนในด้านใด
เพราะเหตุใด หมู่เกาะมัลดีฟ จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ขอบคุณค่ะ
มัลดิฟส์ เป็นประเทศหมู่เกาะปะการัง เป็นประเทศเล็ก ๆ มีพื้นที่เพียง 300 ตร.กม.และมีประชากรราว 400,000 คน ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียและศรีลังกา เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว เพราะมีทะเลโดยรอบเกาะและหาดทรายสวย ประกอบกับบ้านเมืองมีความสงบ จึงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงเดินทางไปเที่ยวและพักผ่อน