87 / 100

ประเทศ ฟิลิปปินส์ มีรูปแบบการปกครองอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 25 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ รัฐธรรมนูญของประเทศ ฟิลิปปินส์ รัฐสภา ประธานาธิบดี ศาลยุติธรรม การปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ  สรุป และถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369

1.ความนำ

          ในบทความลำดับที่ 24 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน คือ ประวัติ ฟิลิปปินส์ น่ารู้ ได้เล่ามาแล้วว่า ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากสหรัฐอเมริกา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1946 และได้จัดรูปแบบการปกครองประเทศเป็นระบบสาธารณรัฐ

            ในช่วงปีค.ศ.1946-1965 เป็นยุคสาธารณรัฐที่ 3 จนกระทั่งปีค.ศ.1965 เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส (Ferdinand Marcos)  ได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ยุคนี้อาจจะเรียกว่า เป็นยุคมืดของฟิลิปปินส์ก็ได้ เพราะเป็นยุคที่มาร์คอสปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกเพื่อให้มาร์คอส มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศและสืบทอดอำนาจได้โดยไม่มีหมดวาระในการดำรงตำแหน่ง และต่อมาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐที่ 4 ขึ้นมา

          หลังจากหมดยุคมาร์คอสแล้ว การเมืองการปกครองของฟิลิปปินส์ ก็เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่ 5 นับตั้งแต่ปี 1986 ซึ่งเป็นยุคที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบัน 

            สำหรับบทความนี้ ต้องการจะเล่าเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศ ฟิลิปปินส์ ในยุคปัจจุบัน คือ สาธารณรัฐที่ 5 ภายใต้รัฐธรรมนูญประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 1987

2. รัฐธรรมนูญ ของประเทศ ฟิลิปปินส์ 1987

          รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 1987 มีทั้งหมด 17 หมวด ได้แก่

            หมวด 1 ดินแดน

            หมวด 2 การประกาศหลักการและหลักนโยบายแห่งรัฐ

            หมวด 3 สิทธิพลเมือง

            หมวด 4 พลเมือง

            หมวด 5 การเลือกตั้ง

            หมวด 6 อำนาจนิติบัญญัติ

            หมวด 7 อำนาจบริหาร

            หมวด 8 อำนาจตุลาการ

            หมวด 9 คณะกรรมการรัฐธรรมนูญ

            หมวด 10 การปกครองส่วนท้องถิ่น

            หมวด 11  ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่สาธารณะ

            หมวด 12  เศรษฐกิจของประเทศและมรดก

            หมวด 13  ความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน

            หมวด 14  การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา

            หมวด 15 ครอบครัว

            หมวด 16 เบ็ดเตล็ด

            หมวด17 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            หมวด 18 บทเฉพาะกาล

3. หลักการทั่วไป

กรุงมนิลา เมืองหลวงของประเทศ ฟิลิปปินส์
(Wikipedia, Philippines, 1st August 2021)
กรุงมนิลา เมืองหลวงของประเทศ ฟิลิปปินส์
(Wikipedia, Philippines, 1st August 2021)

          ตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ปี 1987 ได้วางหลักการทั่วไป สรุปได้ดังนี้

            3.1 ฟิลิปปินส์ เป็นสาธารณรัฐและเป็นรัฐประชาธิปไตย (democratic and republic state)

          3.2 พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร (Civil is, at all times, supreme over the military.)  กองทัพมีหน้าที่ปกป้องประชาชนและรัฐ โดยมีจุดหมายในการรักษาอำนาจอธิปไตยและความเป็นเอกภาพแห่งดินแดน

            3.3 รัฐหรือฝ่ายอาณาจักรและศาสนาหรือฝ่ายศาสนาจักร ต้องแยกออกจากกัน

            3.4 รัฐจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นอิสระและเชื่อถือได้อย่างมีประสิทธิผลซึ่งถูกควบคุมโดยชาวฟิลิปปินส์

            3.5 รัฐจะต้องให้หลักประกันความเป็นอิสระของการปกครองส่วนท้องถิ่น (autonomy of local government)

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มีข้อที่น่าสนใจเป็นพิเศษอยู่ 2 ประการ คือ

            ข้อแรก หลักการให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร น่าจะเป็นหลักการที่ได้แนวคิดมาจากรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่วางหลักการให้พลเรือนมีอำนาจเหนือทหาร ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการใช้กำลังทหารกระทำการปฏิวัติรัฐประหาร

            ข้อสอง หลักการให้รัฐหรือฝ่ายอาณาจักร และศาสนาหรือฝ่ายศาสนจักรแยกออกจากกัน น่าจะได้แนวคิดจากประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสเปน ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือประเทศฟิลิปปินส์มาก่อน และเป็นประเทศที่นำเอาศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกเข้ามาเผยแพร่ในฟิลิปปินส์

            เหตุที่ต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่า รัฐหรือฝ่ายอาณาจักร และศาสนาหรือ ศาสนจักร ต้องแยกออกจากกัน เพราะในอดีตเคยมีการต่อสู้กันในยุโรประหว่างสองฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายอ้างความชอบธรรมว่าตนต้องมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง

4. อำนาจนิติบัญญัติ 

          อำนาจนิติบัญญัติเป็นของรัฐสภา รัฐสภาของประเทศ  ฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร

        4.1 วุฒิสภา

          วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 24 คนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชน

ผู้ที่จะเป็นวุฒิสมาชิกได้ต้องเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์โดยกำเนิด มีอายุอย่างน้อย 35 ปี  มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และจะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระไม่ได้

4.2 สภาผู้แทนราษฎร

สภาผู้แทนราษฎร  ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินกว่า 250 คน  ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตีลิสต์ (party-list system)

ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้  ต้องมีสัญชาติฟิลิปปินส์โดยกำเนิด มีอายุอย่างน้อย 25 ปี มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี  แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่า 3 วาระติดต่อกันไม่ได้

ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ได้มาจากการเลือกตั้ง มีจำนวนเพียง 24 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาไทยได้มาจากเลือกกันเองจากกลุ่มต่าง ๆ มีจำนวนมากถึง 200 คน

สมาชิกผู้แทนราษฎรของประเทศ ฟิลิปปินส์มีที่มาคล้ายกับสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรของไทย คือ มีสมาชิกสองประเภท ได้แก่ สมาชิกประเภทที่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตเลือกตั้ง และสมาชิกประเภทบัญชีรายชื่อ  

ส.ส.ฟิลิปปินส์มีจำนวน 250 คน ส่วนส.ส.ไทย มีจำนวน 500 คน แยกเป็นส.ส.ที่ได้มาจากเขตเลือกตั้ง 350 คน และส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน

  วาระการดำรงตำแหน่งแตกต่างกัน คือ ส.ส.ฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 3 วาระไม่ได้ ส่วนส.ส.ไทย มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนประชากรกันแล้วพบว่า ฟิลิปปินส์มีจำนวนส.ส. และส.ว. น้อยกว่าไทยมาก กล่าวคือ ฟิลิปปินส์มีจำนวนประชากร 97.5 ล้านคน ส่วนไทยมีประชากร 69.5 ล้านคน

5. อำนาจบริหาร

ทำเนียบประธานาธิบดีของประเทศ ฟิลิปปินส์
(Wikipedia, Philippines, 1 August 2021)
ทำเนียบประธานาธิบดีของประเทศ ฟิลิปปินส์
(Wikipedia, Philippines, 1 August 2021)

          อำนาจบริหารเป็นของประธานาธิบดี ผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดีได้ต้องเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์โดยกำเนิด เป็นผู้ลงทะเบียนการเลือกตั้ง (registered voter) อายุอย่างน้อย 45 ปี และจะต้องมีถิ่นที่อยู่ในฟิลิปปินส์อย่างน้อย 10 ปี

          นอกจากประธานาธิบดีแล้ว ยังมีรองประธานาธิบดี 1 คน ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับประธานธิบดี รองประธานาธิบดีอาจจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องมีการให้เห็นชอบ (no confirmation) จากองค์กรใด

          ประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในวาระ 6 ปี

            ประธานาธิบดีไม่มีสิทธิจะดำรงตำแหน่งสองวาระติดกัน แต่รองประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันสองวาระได้

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          โดยทั่วไป การปกครองระบบแบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลอำนาจ หรือระบบประธานาธิบดี นิยมกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกินสองสมัย โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ แต่การที่ประเทศ ฟิลิปปินส์ กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว น่าจะเป็นเพราะเห็นว่า วาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยาวนานถึง 6 ปี ในขณะที่วาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีอเมริกาเพียง 4 ปี

6. อำนาจตุลาการ

          อำนาจตุลาการเป็นของศาลสูงและศาลยุติธรรม

          ศาลสูง ประกอบด้วยประธานศาลสูง และผู้พิพากษาศาลสูง จำนวน 14 คน

            ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาศาลสูง จะต้องเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์โดยกำเนิด มีอายุอย่างน้อย 40 ปี และต้องเคยดำรงตำแหน่งในศาลชั้นล่างอย่างน้อย 15 ปี

            ส่วนผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จะต้องเป็นคนสัญชาติฟิลิปปินส์ และสอบได้เนติบัณฑิตของฟิลิปปินส์

            ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูง และผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจากบัญชีรายชื่อที่สภาแห่งเนติบัณฑิตและตุลาการ (Judicial and Bar Council) เสนออย่างน้อย 3 รายชื่อของจำนวนตำแหน่งที่ว่าง โดยไม่ต้องให้หน่วยงานใดให้ความเห็นชอบก่อน และสามารถดำรงตำแหน่งไปจนถึงอายุ 70 ปี เว้นแต่จะมีการกระทำความผิด

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          โดยหลักการของการปกครองระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีจะเสนอชื่อประธานศาลสูงและชื่อผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางไปยังวุฒิสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจะมีคำสั่งแต่งตั้ง แต่กรณีประเทศ ฟิลิปปินส์ ไม่ได้ถือตามหลักการของสหรัฐอเมริกา แต่ให้สภาแห่งเนติบัณฑิตและตุลาการเป็นผู้เสนอรายชื่อขั้นมาให้ประธานาธิบดีเลือกจำนวน 3 เท่าของตำแหน่งที่ว่าง

7. การปกครองส่วนท้องถิ่น

แผนที่ แสดงการแบ่งเขต และจังหวัด ของประเทศ ฟิลิปปินส์ (Wikipedia,Philippines, 1st August 2021)
แผนที่ แสดงการแบ่งเขต และจังหวัด ของประเทศ ฟิลิปปินส์ (Wikipedia,Philippines, 1st August 2021)

          7.1 บทบัญญัติทั่วไป

          ดินแดนและหน่วยทางการเมืองระดับรองของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ประกอบด้วย จังหวัด(provinces) นคร(cities) เทศบาล(municipalities) และหมู่บ้าน (barangays) นอกจากนี้ยังมีเขตปกครองตนเองในเกาะมินดาเนา (Muslim Mindanao) และเขตบริหารคอร์ดิลเลยา (Cordilleras)

          ดินแดนและหน่วยทางการเมืองระดับรองมีฐานะเป็นองค์กรปกครองตนเอง (local autonomy) ทั้งนี้ภายใต้กฎหมาย

            ประธานาธิบดีมีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

            จังหวัดประกอบด้วยนครและเทศบาล ส่วนนครและเทศบาลประกอบด้วยหมู่บ้าน (barangay)

          องค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจในการสร้างแหล่งรายได้และภาษีของตนเอง และจะได้รับการจัดสรรรายได้จากรัฐบาล

            หากนครใดมีสภาพความเจริญมากและได้รับความเห็นชอบจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อาจจะได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดที่เป็นอิสระได้ (independent of the province)

          ผู้บริหารท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสามวาระไม่ได้ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงระดับหมู่บ้าน

            ประธานาธิบดีมีอำนาจในรวมท้องถิ่นหลายแห่งให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเขตได้ เพื่อเร่งรัดความเจริญเติบโตทางสังคมและทางเศรษฐกิจในเขต

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ได้กำหนดโครงสร้างการปกครองประเทศออกเป็น 5 ระดับ คือ เขต จังหวัด นคร เทศบาล และหมู่บ้าน ซึ่งทั้ง 5 ระดับ เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับได้รับเลือกตั้งจากประชาชน อยู่ในวาระ 3 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 3 วาระไม่ได้

ฟิลิปปินส์ แบ่งการบริหารประเทศออกเป็น 17 เขต(regions) 81 จังหวัด(provinces) 146 นคร (cities) 1,488 เทศบาล(municipalities) และ 42,036 หมู่บ้าน (barangays)

            ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) เป็นผู้บริหารจังหวัด

            นายกเทศมนตรีนคร เป็นผู้บริหารนคร

            นายกเทศมนตรี เป็นผู้บริหารเทศบาล

            กัปตัน เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน

            ตามรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดี เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

            ขอให้สังเกตว่า ฟิลิปปินส์ ไม่มีโครงสร้างการบริหารประเทศระดับอำเภอและตำบล

         7.2 เขตปกครองตนเอง (Autonomous Regions)

          เขตปกครองตนเอง ได้แก่ เขตปกครองตนเองมินดาเนาซึ่งนับถือศาสนามุสลิม และเขตบริหารคอร์ดิเลยา เขตปกครองตนเองประกอบด้วยจังหวัด นคร เทศบาล

            อำนาจหน้าที่ใด ซึ่งในรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดให้เป็นอำนาจของเขตปกครองตนเอง จะเป็นอำนาจของรัฐบาลแห่งชาติ

            อำนาจหน้าที่ของเขตปกครองตนเอง ได้แก่

  • จัดองค์กรบริหารงาน
  • กำหนดแหล่งที่มาของรายได้
  • ทรัพยากรธรรมชาติ
  • ความสัมพันธ์ในทรัพย์สิน ครอบครัว และบุคคล
  • การวางแผนพัฒนาชนบทและในเมือง
  • การพัฒนาการท่องเทียว สังคม และเศรษฐกิจ
  • นโยบายการศึกษา
  • การอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม
  • อื่น ๆ  ตามที่จะมีกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการของประชาชนในเขตปกครองตนเอง

– การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตปกครองตนเองเป็นความรับผิดชอบของตำรวจท้องถิ่น แต่การป้องกันและความมั่นคงของเขตปกครองตนเองอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลแห่งชาติ

ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

การที่รัฐธรรมนูญของประเทศ ฟิลิปปินส์ ยินยอมให้มีเขตปกครองตนเองเป็นพิเศษก็เพื่อ

แก้ปัญหาการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของดินแดนที่มีความแตกต่างทางด้านศาสนาไปจากพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ คือ พื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม  ประกอบกับฟิลิปปินส์ เป็นประเทศหมู่เกาะ จึงสามารถพิจารณาให้เป็นเขตปกครองตนเองได้

8. คณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ

          รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระหลายคณะ ได้แก่

            8.1 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (The Civil Service Commission)

          8.2 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (The Commission on Elections)

          8.3 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ((The Commission on Audit)

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ขอให้สังเกตดูว่า ประเทศ ฟิลิปปินส์ ให้ความสำคัญแก่ระบบการบริหารข้าราชการพลเรือนมาก ถึงขั้นให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างประเทศไทย

9.สรุป

          ประเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นสาธารณรัฐ มีแต่รัฐบาลแห่งชาติและการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนอย่างประเทศไทย

            ระบอบการปกครองประเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี มีรัฐสภาประกอบด้วยสองสภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร

            วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิก 24 คน อยู่ในวาระ 6 ปี ส่วนสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 250 คน อยู่ในวาระ 3 ปี

            ฝ่ายบริหาร คือประธานาธิบดี อยู่ในวาระ 6 ปี

            ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลสูง และศาลยุติธรรม ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งประธานศาลสูงและผู้พิพากษาตามบัญชีรายชื่อที่สภาแห่งเนติบัณฑิตและตุลาการเสนอ ดำรงตำแหน่งได้จนถึงอายุ 70 ปี

            การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย เขต จังหวัด นคร เทศบาล และหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีเขตการปกครองตนเองของชาวมุสลิมบนเกาะมินดาเนาและเขตบริหารคอร์ดิเลยา บนเกาะลูซอน

            ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น

            สำหรับความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา ท้ายบทความนี้

ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา

          ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา เป็นการถาม-ตอบ เพื่อขยายความชัดเจนของบทความในบางส่วนให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ดีขึ้น

          ถาม- ประเทศ ฟิลิปปินส์ เคยเป็นอาณานิคมของประเทศอะไรบ้าง และการเป็นอาณานิคมดังกล่าวได้ส่งผลต่อรูปแบบการปกครองของฟิลิปปินส์อย่างไร

          ตอบ- ฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของประเทศสเปนและประเทศสหรัฐอเมริกา ผลของการตกเป็นอาณานิคมของสองประเทศดังกล่าว ทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลด้านศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก จากสเปนมาเป็นศาสนาหลักของชาติ และได้รับอิทธิพลระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีจากสหรัฐอเมริกา

            ถาม- ฟิลิปปินส์ เป็นรัฐเดี่ยว ทำไมจึงไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาคเหมือนอย่างไทย

          ตอบ- ในอดีต ฟิลิปปินส์เคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคมาก่อน กล่าวคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเคยมีสองประเภท คือผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับแต่งตั้งจากส่วนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และต่อมาภายหลังจึงได้ยกเลิกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง เปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทำให้การปกครองส่วนภูมภาคของฟิลิปปินส์หมดไป

          ขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ประเทศที่มีการปกครองเป็นระบบประธานาธิบดี แม้อาจจะเคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคมาก่อน แต่สุดท้ายก็มักจะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค คงเหลือไว้เฉพาะการปกครองส่วนกลางหรือรัฐบาลแห่งชาติ และการปกครองส่วนท้องถิ่น

          ถาม- การปกครองส่วนท้องถิ่นของฟิลิปปินส์แบ่งออกเป็นกี่ระดับ อะไรบ้าง

          ตอบ- นอกจากรัฐบาลแห่งชาติแล้ว พื้นที่ต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์แบ่งการปกครองออกเป็น เขต จังหวัด นคร เทศบาล และหมู่บ้าน ไม่มีอำเภอและตำบลเหมือนอย่างประเทศไทย

            ถาม- เขตปกครองตนเองมินดาเนาของชาวมุสลิม แตกต่างไปจากการปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศฟิลิปปินส์อย่างไร

          ตอบ- ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหมู่เกาะ แต่ละเกาะมีความเป็นอิสระโดยธรรมชาติ หมู่เกาะมินดาเนา เป็นหมู่เกาะที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงมีความเชื่อและวิถีการดำรงชีวิตแตกต่างไปจากคนฟิลิปปินส์ที่อยู่บนหมู่เกาะอื่น ๆ จึงได้พยายามต่อสู้เรียกร้องการปกครองมาโดยตลอด

          การเป็นเขตปกครองตนเองตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เขตการปกครองตนเองมินดาเนามีอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญหลายอย่างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทั่วไปไม่มี ทั้งนี้เพื่อให้สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแตกต่างกัน แต่ภายในเขตปกครองตนเองมินดาเนาก็ได้แบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัด นคร เทศบาล และหมู่บ้าน เหมือนอย่างในเขตพื้นที่อื่น ๆ ของฟิลิปปินส์

                                                                      ดร.ชา 369

                                                           1/08/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: