ประวัติ ฟิลิปปินส์ น่ารู้ เป็นบทความลำดับที่ 24 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ ยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของสเปน ยุคอาณานิคมของสเปน สาธารณรัฐที่ 1 ยุคอยู่ภายใต้การปกครองของอเมริกา ยุคภายหลังได้รับเอกราชจากอเมริกา และสาธารณรัฐที่ 3 ยุคมาร์คอส และสาธารณรัฐที่ 4 ยุคสาธารณรัฐที่ 5 สรุป และถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความก่อนหน้านี้คือ กัมพูชา มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
สำหรับบทความนี้ เป็นเรื่องราวของประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอาเซียนที่เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ (North Pacific) มีประชากรมากกว่าร้อยล้านคน มีประวัติความเป็นมาแบ่งออกได้เป็น 4 ยุคใหญ่ ๆ คือ ยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของสเปน ยุคตกเป็นอาณานิคมของสเปน ยุคตกเป็นรัฐอารักขาของสหรัฐอเมริกา และยุคภายหลังได้รับเอกราช
2.ประวัติ ฟิลิปปินส์ยุคก่อนตกเป็นอาณานิคมของสเปน (ค.ศ.900-1565)
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า หมู่เกาะฟิลิปปินส์เดิมรวมอยู่แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย ต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของผิวโลก ทำให้แผ่นดินบางส่วนแยกออกไปกลายเป็นหมู่เกาะ ซึ่งเป็นประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อชาวจีนได้เดินทางเข้ามาค้าขายในหมู่เกาะเหล่านี้ในศตวรรษที่ 10 และต่อมาเมื่อศตวรรษที่ 13 ชาวอาหรับนำโดยมักดัม (Makdum) ได้เข้ามาอยู่บนหมู่เกาะซูลู และได้ตั้งอาณาจักรของศาสนามุสลิมขึ้น จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2018 (ค.ศ.1475) ได้มีผู้นำชาวมุสลิมจากเมืองยะโฮร์คือ ชารีฟ มูฮัมหมัด คามุงซาวัน (Sharif Mohammed Kabungsuwan) ได้มาแต่งงานกับเจ้าหญิง ลูกสาวหัวหน้าชนเผ่าในเมืองมินดาเนา และได้สถาปนาตนเองเป็นสุลต่านคนแรกของมินดาเนา
3.ยุคอาณานิคมของสเปน (ค.ศ.1565-1898)
ฟิลิปปินส์ได้ตกเป็นอาณานิคมของสเปน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 333 ปี ระหว่างปีค.ศ.1565-1898

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชองประเทศฟิลิปปินส์ ได้เริ่มขึ้นเมื่อปีค.ศ.1521 ได้มีนักเดินเรือชาวสเปนชื่อ เฟอร์ดินานด์ แม็กเจลแลน (Ferdinand Macgellen) ได้เดินทางมาถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และได้ประกาศยึดครองหมู่เกาะนี้เป็นอาณานิคมของสเปน อยู่มาไม่นานเขาได้ถูกชาวเกาะที่ไม่ยอมรับอำนาจฆ่าตาย
จนกระทั่งปี ค.ศ.1543 รุย โลเปซ เดอ วิลลาโลโบส์ (Ruy Lopez de Villalobos) นักสำรวจชาวสเปน ได้เดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ สเปนได้รุกคืบเข้าครอบครองอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทีละเกาะ จนกระทั่งปี ค.ศ.1571 สเปนก็มีอำนาจเหนือหมู่เกาะฟิลิปปินส์ทั้งหมด ยกเว้นหมู่เกาะลูซูที่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม
เขาเป็นผู้ตั้งชื่อหมู่เกาะนี้ว่า Filipinas ตามพระนามของพระเจ้าฟิลิปป์ที่ 2 แห่งสเปน
4.สาธารณรัฐที่ 1 (1899-1901)
หลังจากได้ตกเป็นอาณานิคมของสเปนแล้ว ชาวฟิลิปปินส์ได้พยายามต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศตลอดมา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 ได้เกิดสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน ฟิลิปปินส์ได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าสหรัฐอเมริกาชนะสงครามสเปนทั้งในคิวบาและฟิลิปปินส์ นายพล อมิลิโอ อกินัลโด (General Emilio Aquinaldo) ผู้นำของชาวฟิลิปปินส์ได้ถือโอกาสนั้นประกาศอิสรภาพ จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐที่ 1 โดยมีตัวเขาเป็นประธานาธิบดีคนแรก
ความจริงอำนาจอยู่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ชนะสงคราม แต่กฎหมายของสหรัฐอเมริกาห้ามการสร้างอาณานิคมที่ได้จากการรุกรานทางทหาร ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องจ่ายเงินซื้อฟิลิปปินส์จากสเปนเป็นจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามสนธิสัญญาปารีส ปี 1898
5.ยุคอยู่ภายใต้การปกครองของอเมริกา (ค.ศ.1898-1946)
ความสัมพันธ์เริ่มต้นระหว่างฟิลิปปินส์กับอเมริกา เกิดจากการเป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับสเปน แต่ต่อมาอเมริกาได้แยกตัวออกห่างเพราะปัญหาผู้ก่อการร้ายฟิลิปปินส์ ทำให้อมิลิโอ อกินัลโด ไม่พอใจที่อเมริกาจะไม่รักษาข้อผูกพันที่จะช่วยให้ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราช
5.1 สงครามฟิลิปปินส์-อเมริกา (Philippine-America War)
จุดเริ่มต้นของสงครามฟิลิปปินส์-อเมริกา เกิดจากกการที่พลทหารอเมริกันสองนายได้ฆ่าทหารฟิลิปปินส์สามนายตายในขณะที่กองกำลังอเมริกาได้เข้าโจมตีบริเวณชานเมืองกรุงมนิลา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1899 สงครามครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าสงครามสเปน-อเมริกาเสียอีก กล่าวคือ อเมริกาได้ใช้กำลังทหารจำนวน 126,000 นายเข้าสู้รบ และทำให้มีทหารตายมากถึง 4,234 นาย
ในขณะเดียวกันมีทหารฟิลิปปินส์ตายถึง 12,000-20,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพวกขบวนการก่อการร้ายระดับประเทศจำนวน 80,000-100,000 ราย นอกจากนี้ยังมีพลเมืองทั้งชาวอเมริกันและฝ่ายกบฏถูกจับเป็นจำนวนมาก
ในที่สุด เมื่อปีค.ศ.1900 สหรัฐอเมริกาได้แต่งตั้งผู้ว่าการขึ้นปกครองฟิลิปปินส์โดยตรง พร้อมกับออกกฎหมายที่จำเป็นในการสร้างพื้นฐานของรัฐบาลใหม่ รวมทั้งระบบศาล ระบบข้ารัฐการพลเรือน และการปกครองส่วนท้องถิ่น
5.2 การจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด (ค.ศ.1901-1935)
ตามกฎหมายThe Philippine Act เป็นกฎหมายพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด เพราะอำนาจจริง ๆ อยู่ในมือของหน่วยงานที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้น เรียกชื่อว่า U.S. Bureau of Insular Affairs ทั้งนี้เพื่อเตรียมการให้ฟิลิปปินส์ให้ได้รับเอกราชในที่สุด
ทัฟต์ (Taft) ได้รับแต่งแต่งให้เป็นผู้ว่าการฟิลิปปินส์เป็นแรก และแฟรงค์ เมอร์ฟี (Frank Murphy) เป็นผู้ว่าการฟิลิปปินส์คนสุดท้าย (ค.ศ.1933-1935) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการใหญ่ฟิลิปปินส์คนแรก (U.S. High Commissioner of the Philippines: 1935-1936)
5.3 การจัดตั้งเครือรัฐ (Commonwealth)
ด้วยความพยามยามที่จะได้รับเอกราชของฟิลิปปินส์ ในที่สุดได้มีการออกกฎหมายในการจัดตั้งเครือรัฐฟิลิปปินส์ (Commonwealth of the Philippines) เพื่อเตรียมการให้ฟิลิปปินส์ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์หลังจากผ่านไปได้ 10 ปี
รัฐบาลเครือรัฐมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง และสามารถปกครองตนเองได้ ยกเว้นนโยบายต่างประเทศเป็นอำนาจของสหรัฐอเมริกา และการผ่านกฎหมายบางอย่างต้องได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดีอเมริกาก่อน
รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เมื่อปีค.ศ.1935 รัฐบาลเครือรัฐได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1935 และมีกำหนดจะได้รับเอกราชในวันที่ 4 กรกฎาคม 1946
5.4 การตกอยู่ภายใต้การครอบครองของญี่ปุ่นช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 และสาธารณรัฐที่ 2 (ค.ศ.1942-1945)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองฟิลิปปินส์ ทำให้ต้องกลายเป็นสมรภูมิรบระหว่างญี่ปุ่นกับฝ่ายสัมพันธมิตร และได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาปกครอง นับเป็นสาธารณรัฐที่ 2 เรียกชื่อว่า Philippine Republic ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน
6.ฟิลิปปินส์หลังจากได้รับเอกราช และการตั้งสาธารณรัฐที่ 3 (ค.ศ.1946-1965)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น อเมริกาจึงได้กลับมาฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่ง และได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนเมษายน 1946 ในที่สุด สหรัฐอเมริกาได้ยอมให้เอกราชแก่ฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1946 ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกหลังจากได้รับเอกราชคือ นายมานูเอล โรซัส (Manuel Roxas)
หลังจากนั้น ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งปี 1965 ได้ถึงยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือยุคเผด็จการมาร์คอส
ประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay:1953-1957)

ในยุคสาธารณรัฐที่ 3 นี้ มีประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก และได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา คือ รามอน แมกไซไซ ผู้ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจ และปฏิรูปที่ดิน แต่เขาได้ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อเดือนมีนาคม 1957 ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำลายขวัญของคนในชาติเป็นอย่างมาก
7.ยุคมาร์คอส และการตั้งสาธารณรัฐที่ 4 (Marcos Era: 1965-1986)
7.1 จุดเริ่มต้น
เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส (Ferdinand Marcos) ประธานวุฒิสภา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในนามพรรคชาตินิยม (Nationalista Party) เมื่อปีค.ศ.1965 โดยชนะอดีตประธานาธิบดีมาคาปากัล (Macapagal)
เนื่องจากได้รับความนิยมในหมู่ชาวคริสเตียน เขาจึงเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองเมื่อปีค.ศ.1969 แต่ในขณะนั้น มีอาชญากรรมและความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศเป็นอย่างมาก พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ได้จัดตั้งกองกำลังประชาชน (New People’s Army) และขบวนการปลดแอกแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front) ขึ้นมาเพื่อต่อสู้ในการจัดตั้งประเทศมุสลิมในเกาะมินดาเนา
7.2 การประกาศใช้กฎอัยการศึก (Martial Law)
ในขณะที่ความนิยมในพรรคฝ่ายค้านกำลังเพิ่มขึ้น มาร์คอสได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อปีค.ศ.1972 โดยอ้างภัยคุกคามจากการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และการซุ่มโจมตีรัฐมนตรีกลาโหม เขาใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกปิดหนังสือพิมพ์และเสรีภาพอื่น ๆ ของประชาชน ยกเลิกสภาคองเกรส สื่อใหญ่ ๆ จับกุมผู้นำฝ่ายค้าน ประกาศใช้เคอร์ฟิว นอกจากนี้ ผู้ประท้วง นักศึกษา และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวนมากถูกบังคับให้หนีภัยไป และที่ถูกฆ่าก็มีมาก
มาร์คอสอ้างว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกก็เพื่อสร้างสังคมใหม่
เขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อปีค.ศ.1973 แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ได้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมเมื่อปี 1935 โดยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบบประธานาธิบดีเป็นระบบรัฐสภา เพื่อให้มาร์คอสสามารถอยู่ในอำนาจได้อีกต่อไปโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องวาระในการดำรงตำแหน่ง
7.4 สาธารณรัฐที่ 4
มาร์คอสได้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อปี 1981 และได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีเดียวกัน แต่ฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้ง มาร์คอสเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่ง เป็นเวลา 6 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้แต่งตั้งรัฐมนตรีคลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน นับเป็นสาธารณรัฐที่ 4
อย่างไรก็ดี เมื่อปี 1983 ผู้นำฝ่ายค้านคือ เบนิกโน อควิโน จูเนียร์ (Benigno Aquino Jr.) ได้ถูกสังหารในขณะลงเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานกรุงมนิลา โดยเขามีแผนการเดินทางเข้ามาเพื่อเตรียมสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 1986 ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 1986 มาร์คอสจะเป็นฝ่ายชนะ แต่เป็นชัยชนะที่ไม่ได้รับการยอมรับในสายตาประชาชนและนานาชาติ ทำให้นายพลฟิเดล รามอส (Fidel Ramos) และรัฐมนตรีกลาโหมถอนตัวออกจากการสนับสนุนมาร์คอส และทำให้เกิดการลุกฮืออย่างสันติของทหารและพลเรือน ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่า การปฏิวัติอำนาจประชาชน (People Power Revolution) บีบบังคับให้มาร์คอสให้หนีออกไปนอกประเทศ และแต่งตั้งให้นางคอราซอน อควิโน (Corazon Aquino) ภริยาหม้ายของเบนิกโน อควิโน จูเนียร์ เป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 1986

มาร์คอส ผู้มีบทบาทโดดเด่นคู่กัน (Wikipedia, History of the Philipines, 18th July 2021)
ยุคของมาร์คอสนี้ เรีกว่า เป็นยุคเผด็จการผัวเมีย (conjugal dictatorship)เพราะนางอิสเมลดา มาร์คอส (Ismela Marcos) ภริยามีบทบาทโดดเด่นคู่กัน
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ยุคประธานาธิบดีมาร์คอส ปกครองฟิลิปปินส์ เป็นเวลายาวนานถึง 21 ปี ระหว่างปี 1965-1986 อาจเรียกว่าเป็นยุคมืดและยุคตกต่ำของฟิลิปปินส์ก็ได้ กล่าวคือแม้ประธานาธิบดีมาร์คอสจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่ มาร์คอสก็ได้ใช้อำนาจประกาศกฎอัยการศึกปกครองประเทศเมื่อปี 1972 ปิดหนังสือพิมพ์และเสรีภาพอื่น ๆ ของประชาชน ยกเลิกสภาคองเกรส สื่อใหญ่ ๆ จับกุมผู้นำฝ่ายค้าน ประกาศเคอร์ฟิว นอกจากนี้ ผู้ประท้วง นักศึกษา และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวนมากถูกบังคับให้หนีไป และที่ถูกฆ่าก็มีมาก
มาร์คอสได้ใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมเปลี่ยนระบบการปกครองประเทศจากระบบประธานาธิบดีเป็นระบบรัฐสภา เพื่อให้ตัวเขาสามารถดำรงหัวหน้าฝ่ายบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไม่มีข้อจำกัดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อปี 1981 และหันกลับไปใช้ระบบประธานาธิบดีตามเดิม และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีเดียวกันนั้น
เหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลกคือ เมื่อปี 1983 ผู้นำฝ่ายค้านคือ เบนิกโน อควิโน จูเนียร์ (Benigno Aquino Jr.) ได้ถูกสังหารในขณะลงเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานมนิลา เพื่อเตรียมการในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี 1986 ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก
8.ยุคสาธารณรัฐที่ 5 (1986-ปัจจุบัน)
หลังจากหมดยุคมาร์คอสแล้ว การเมืองการปกครองของฟิลิปปินส์ ก็เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐที่ 5 นับตั้งแต่ปี 1986 ซึ่งเป็นยุคที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีรายนามประธานาธิบดีในยุคสาธารณรัฐที่ 5 ดังนี้
8.1 ประธานาธิบดี คอราซอน อควิโน (Corazon Cojuangco Aquino: 1986-1992)
8.2 ประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส (Fidel Valdez Ramos: 1992-1998)
8.3 ประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราดา (Joseph Ejercito Estrada: 1998-2001)
8.4 ประธานาธิบดี กลอเรีย อาร์โรโย (Gloria Macapagal Arroyo: 2001-2010)
8.5 ประธานาธิบดี เบนิโง อควิโนที่ 3 (Beningo Simeon Aquino III: 2010-2016)
8.6 ประธานาธิบดี ดูเตอร์เต (Rodrigo Roa Duterte: 2016-ปัจจุบัน)

9.สรุป
ประวัติ ฟิลิปปินส์ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก นับตั้งแต่ข้อสันนิษฐานว่า หมู่เกาะฟิลิปปินส์เดิมน่าจะเคยเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชีย
เพื่อให้สามารถมองเห็นประวัติ ฟิลิปปินส์ได้อย่างกว้าง ๆ ขอแบ่งออกเป็น 4 ยุคกว้าง ๆ คือ ยุคก่อนจะตกเป็นอาณานิคมของสเปน ยุคอาณานิคมของสเปน ยุคอยู่ภายใต้การปกครองของอเมริกา และยุคภายหลังได้รับเอกราช
อย่างไรก็ดี ตามประวัติ ฟิลิปปินส์เคยเป็นสามาธารณรัฐมาแล้ว 4 ยุค และปัจจุบันเป็นยุคสาธารณรัฐที่ 5
เรื่องราวของประวัติ ฟิลิปปินส์ ยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของมาร์คอส นับว่าเป็นยุคมืดของฟิลิปปินส์ กินเวลายาวนานถึง 21 ปี
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา
ถาม- ทำไมจึงกล่าวว่า ตามประวัติ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ใช้เงินซื้อฟิลิปปินส์มา
ดร.ชา- สงครามสหรัฐอเมริกา-สเปน เกิดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1898 อเมริกาเป็นฝ่ายชนะสงครามทั้งการรบที่คิวบา และฟิลิปปินส์ แต่ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาห้ามการสร้างอาณานิคมที่ได้จากการรุกรานทางทหาร ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องจ่ายเงินซื้อฟิลิปปินส์จากสเปนเป็นจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามสนธิสัญญาปารีส ปี 1898 สำหรับเป็นค่าโครงสร้างพื้นฐานที่สเปนได้ลงทุนไปในฟิลิปปินส์
ถาม-หลังจากสหรัฐอเมริกาได้ฟิลิปปินส์มาอยู่ในอำนาจแล้ว เคยมีการสู้รบระหว่างอเมริกากับฟิลิปปินส์หรือไม่
ตอบ- ตามประวัติ ฟิลิปปินส์ เคยมีการสู้รบกันระหว่างอเมริกาและฟิลิปปินส์ครั้งหนึ่งเมื่อปีค.ศ.1899 จุดเริ่มต้นของสงครามฟิลิปปินส์-อเมริกา เกิดจากกการที่พลทหารอเมริกันสองนายได้ฆ่าทหารฟิลิปปินส์สามนายตาย ในขณะที่กองกำลังอเมริกาได้เข้าโจมตีบริเวณชานเมืองกรุงมนิลา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1899 สงครามครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าสงครามสเปน-อเมริกาเสียอีก กล่าวคืออเมริกาได้ใช้กำลังทหารจำนวน 126,000 นายเข้าสู้รบ และมีทหารตายมากถึง 4,234 นาย
ในขณะเดียวกันมีทหารฟิลิปปินส์ตายถึง 12,000-20,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพวกขบวนการก่อการร้ายระดับประเทศจำนวน 80,000-100,000 ราย นอกจากนี้ยังพลเมืองทั้งชาวอเมริกันและฝ่ายกบฏ ถูกจับเป็นจำนวนมาก
ถาม-ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ รามอน แมกไซไซ เกี่ยวข้องอะไรกับรางวัลแมกไซไซ
ดร.ชา-รามอน แมกไซไซ เป็นอดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ในยุคสาธารณรัฐที่ 4 นับเป็นประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุดของประเทศฟิลิปปินส์ เพราะในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่ง ปี1953-1957 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเทศฟิลิปปินส์กำลังประสบปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ดังนั้น ท่านจึงมีนโยบายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและความยากจนของประชาชน ด้วยการกำหนดนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งเป็นนโยบายในการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน
ดังนั้น ท่านจึงเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในความชื่นชอบของประชาชน และเมื่อได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จึงได้มีการตั้งมูลนิธิรางวัลแมกไซไซ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ท่าน รางวัลแมกไซไซเป็นรางวัลที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย
ประเทศไทยเองก็มีบุคคลจำนวนหลายคน และองค์กรจำนวนหลายองค์กรที่เคยได้รับรางวัลแมกไซไซ
ถาม-ทำไมประธานาธิบดีมาร์คอส จึงได้ชื่อว่า เป็นเผด็จการหรือเป็นคนทรราช
ดร.ชา- เพราะในช่วงเวลาที่อยู่ในอำนาจ 21 ปี มาร์คอสได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นเครื่องเมืองในขจัดคู่แข่งหรือศัตรูในทางการเมืองในทุกวิถีทาง ทำให้สื่อมวลชน นักการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามถูกขจัดไปเป็นจำนวนมาก
ถาม-ในยุคของมาร์คอส ทำไมจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นยุคเผด็จการผัวเมีย
ดร.ชา- เพราะในยุคนี้ นางอีเมลดา มาร์คอส ภริยา ซึ่งเป็นอดีตนางงาม มีบทบาทเคียงคู่กัน โดยนางอีเมลดา ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงมนิลา และเป็นคนชอบใช้ชีวิตแบบสุลุ่ยสุร่าย
ถาม-เหตุการณ์อะไรที่น่าสะเทือนขวัญคนทั้งโลกมากที่สุดในยุคของมาร์คอส
ดร.ชา-เหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลกคือ เมื่อปี 1983 ผู้นำฝ่ายค้าน นายเบนิกโน อควิโน จูเนียร์ (Benigno Aquino Jr.) ได้ถูกสังหารในขณะลงเครื่องบิน ณ ท่าอากาศยานกรุงมนิลา เพื่อเตรียมสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 1986 ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนเป็น จำนวนมาก
ถาม- ใครเป็นผู้โค่นล้มจอมเผด็จการมาร์คอส
ดร.ชา-แม้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 1986 มาร์คอสจะเป็นฝ่ายชนะ แต่เป็นชัยชนะที่ไม่ได้รับการยอมรับในสายตาประชาชนและนานาชาติ นายพลฟิเดล รามอส (Fidel Ramos) และรัฐมนตรีกลาโหมได้ตัดสินใจถอนการสนับสนุนมาร์คอส
หลังจากนั้น ได้ทำให้เกิดการลุกฮืออย่างสันติของทหารและพลเรือน ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่า การปฏิวัติอำนาจประชาชน (People Power Revolution) บีบบังคับให้มาร์คอสให้หนีออกไปนอกประเทศ และแต่งตั้งให้นาง คอราซอน อควิโน (Corazon Aquino) ภริยาหม้ายของเบนิกโน อควิโน จูเนียร์ เป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 1986
อาจารย์คะ ฟิลิปปินส์ยังมีระบบกษัตริย์หรือเปล่าคะ ถึงแม้จะมีการปกครองแบบประธานาธิบดี
ฟิลิปปินส์เคยมีสุลต่านปกครอง แต่พอตกเป็นอาณานิคมของสเปน ระบบนี้ก็ต้องสิ้นสุดลงจนกระทั่งทุกวันนี้
ระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก จึงไม่เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ
ในอดีต การศึกษาของฟิลิปปินส์มีมาตรฐานสูง คนไทยนิยมไปเรียน แต่ในระยะหลังมาตรฐานตกต่ำลง ผู้จบปริญญาจากฟิลิปปินส์มีไม่กี่แห่งที่สำนักงาน ก.พ. รับรอง ดังนั้น ในปัจจุบันคนไทยจึงไม่นิยมไปเรียนต่อเอาปริญญาที่ฟิลิปปินส์
เข้าใจว่า เมื่อก่อนฟิลิปปินส์ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอเมริกา อเมริกาเป็นผู้บริหารและวางมาตรฐานการศึกษาไว้แบบอเมริกา แต่พอได้รับเอกราช ฟิลิปปินส์เป็นผู้บริหารการศึกษาเอง มาตรฐานจึงตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ
อาจารย์คะ ปัจจุบันนี้ประเทศฟิลิปปินส์ความเจริญอยู่ในระดับไหนของอาเซียน คะ
ขอแยกตอบเป็น 2 ประเด็น คือหากวัดตามขนาดจีดีพี ฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 3 ของอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย และไทย โดยไทยอยู่อันดับ 25 ของโลก มีจีดีพี 538,735 ล้านดอลลาร์ ส่วนฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 34 ของโลกมีจีดีพี 402,638 ล้านดอลลาร์ และถ้าวัดตามรายได้เฉลี่ยต่อหัว ฟิลิปปินส์อยูอันดับ 6 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย
ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,702 ดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 102 ของโลก ส่วนฟิลิปปินส์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 3,646 ดอลลาร์ สูงเป็นอันดับ 141 ของโลก