ประเทศกัมพูชา มีรูปแบบการปกครองอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 22 ของหมวดที่ 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะเล่าถึง ความนำ รัฐธรรมนูญประเทศกัมพูชา สถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ สภารัฐธรรมนูญ การแบ่งพื้นที่ในการปกครองประเทศ วิเคราะห์ สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความ ประวัติกัมพูชา น่ารู้ (21) ได้เล่าประวัติความเป็นมาของประเทศกัมพูชาสรุปว่า หากจะกล่าวอย่างรวบรัด ประวัติศาสตร์กัมพูชา น่าจะนับเริ่มได้อย่างเป็นรูปธรรมคือยุคที่เป็นจักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอม ระหว่างปีพ.ศ.1345-1947 (ค.ศ.802-1431) รวมเป็นระยะเวลามากกว่า 600 ปี
จักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอมได้เริ่มเสื่อมอำนาจลงเพราะได้มีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นจึงได้มีการสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาคู่กับอาณาจักรสุโขทัย
การสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้นำไปสู่ความเสื่อมของจักรวรรดิเขมรโดยตรง เพราะพระเจ้าอู่ทอง องค์ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไปยึดเมืองพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอมในขณะนั้นไว้ในอำนาจได้เมื่อปีพ.ศ.1896 หลังจากนั้น เขมรก็ตกเป็นประเทศราชของไทยเรื่อยมาก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
เขมรได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อปีพ.ศ.2497 หลังจากนั้นเขมรได้เข้าสู่ยุคของความวุ่นวายทางการเมืองและสงครามกลางเมืองมาโดยตลอด ได้แก่ ยุคสาธารณรัฐและสงครามกลางเมือง ยุคกัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง ยุคสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และยุคการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่เป็นราชอาณาจักรในปัจจุบัน
การที่เขมรได้รื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ ทำให้ประเทศกัมพูชาเปลี่ยนจากการเป็นประเทศสาธารณรัฐไปเป็นราชอาณาจักรอยู่ในปัจจุบันนี้ ในบทความนี้ต้องการจะนำเสนอเรื่องราวของรูปแบบการปกครองของกัมพูชา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างขึ้นไว้เมื่อปีค.ศ.1993 หรือพ.ศ.2536 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปีค.ศ.1994,1999,2001,2006 และ 2008
2.รัฐธรรมนูญของประเทศกัมพูชา
โครงร่างของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ.2551 มีจำนวน 16 หมวด คือ
หมวด 1 อำนาจอธิปไตย
หมวด 2 พระมหากษัตริย์
หมวด 3 สิทธิและหน้าที่ประชาชนกัมพูชา
หมวด 4 ระบบการเมือง
หมวด 5 เศรษฐกิจ
หมวด 6 การศึกษา วัฒนธรรม และกิจการสังคม
หมวด 7 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
หมวด 8 วุฒิสภา
หมวด 9 การประชุมร่วมกันของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและวุฒิสภา
หมวด 10 รัฐบาล
หมวด 11 อำนาจตุลาการ
หมวด 12 สภารัฐธรรมนูญ
หมวด 13 การบริหารราชการแผ่นดิน
หมวด 14 รัฐสภาแห่งชาติ
หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
หมวด 16 บทเฉพาะกาล
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
รัฐธรรมนูญของกัมพูชาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ร่างขึ้นหลังจากได้เกิดสงครามกลางเมืองซึ่งได้เกิดขึ้นหลังปีพ.ศ.2523 ระหว่าง กองทัพประชาชนปฏิวัติกัมพูชาของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่อยู่ภายใต้การหนุนหลังเวียดนามและสหภาพโซเวียด กับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายซึ่งถือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ประกอบด้วย พรรคฟุนซินเปกของพระนโรดม สีหนุ พรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร จนกระทั่งได้มีการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 และนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสเพื่อสงบศึกเมื่อปีพ.ศ.2534 และได้ข้อยุติว่า ให้มีการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติ ในปีพ.ศ.2536
หลังจากได้มีการเลือกตั้งปีพ.ศ.2536 เจ้านโรดม สีหนุ ได้กลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่เมื่อปีพ.ศ.2540 ได้เกิดการรัฐประหารโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ร่วมกับพรรคที่มิใช่คอมมิวนิสต์ในรัฐบาล และได้มีการเลือกตั่งทั่วไปเมื่อปีพ.ศ.2540
จะเห็นได้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว อยู่ภายใต้การต่อรองอำนาจระหว่างเขมรสามฝ่าย กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น
3.สถาบันพระมหากษัตริย์

ในบทความที่ 21 ประวัติกัมพูชา น่ารู้ ได้เล่าว่า
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีกษัตริย์ปกครองประเทศมาเป็นเวลาช้านาน แต่เพิ่งขาดช่วงไปเมื่อปีพ.ศ.2513 กล่าวคือ หลังจากได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากฝรั่งเศสเมือปีพ.ศ.2497 และได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีพ.ศ.2498 โดยเจ้านโรดม สีหนุ ได้สละราชสมบัติให้พระราชบิดาเสวยราชสมบัติแทน เพื่อเข้าสู่สนามการเมือง รัฐบาลของเจ้าสีหนุได้ปกครองประเทศเขมรไปจนถึงพ.ศ.2513 ก็ถูกรัฐประหารโดยนายพล ลน นล และจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นมา เจ้าสีหนุต้องลี้ภัยการเมืองไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ด้วยเหตุนี้ระบบกษัตริย์ของกัมพูชาจึงได้ล่มสลายลงในช่วงนี้นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2513 และได้มีการรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติเมื่อปีพ.ศ.2536 แสดงว่าระบบกษัตริย์ได้ขาดหายไปเป็นระยะ 23 ปี
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้วางหลักการของระบบกษัตริย์ไว้ดังนี้
3.1 หลักปกป้อง แต่ไม่ปกครอง
พระมหากษัตริย์กัมพูชามีหน้าที่ปกป้อง แต่ไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศ “ The King of Cambodia reigns but does not govern.” โดยทรงเป็นประมุขของประเทศตลอดพระชนชีพ และพระมหากษัตริย์จะถูกล่วงละเมิดไม่ได้
3.2 หลักการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
พระมหากษัตริย์กัมพูชา เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพและความมั่นคงตลอดกาลของประเทศ “The King of Cambodia is a symbol of the unity and eternity of the nation.”
พระมหากษัตริย์ เป็นหลักค้ำประกันความเป็นอิสรภาพของชาติ อำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งราชอาณาจักร และทรงเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในการชี้ขาดในการประกันการบริหารเพื่อประโยชน์ของประเทศ
3.3 หลักการได้มาจากการเลือกตั้ง
ระบบการปกครองรูปแบบกษัตริย์ของกัมพูชาเป็นระบบที่ได้มาจากการเลือกตั้ง (an elected regime) ไม่ใช่การสืบสันตติวงศ์ โดยพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติได้
3.4 ลำดับผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์
กรณีพระมหากษัตริย์ป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประมุขของประเทศได้ ให้ประธานวุฒิสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนตามลำดับ
และถ้าประธานวุฒิสภา ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่สามารถปฏิบัติน้าที่ได้ ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง และรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่สอง ปฏิบัติหน้าที่แทน ตามลำดับ
3.5 การเลือกผู้สืบราชสมบัติ
กรณีตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้ว่างลง ให้เป็นอำนาจของสภาเลือกผู้สืบราชสมบัติ (Royal Council of the Throne) ซึ่งประกอบด้วย
ประธานวุฒิสภา
ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรี
สมเด็จพระสังฆราชของฝ่ายมหายาน
สมเด็จพระสังฆราชของฝ่ายเถรวาท
รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และคนที่สอง
รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่หนึ่ง และคนที่สอง
3.6 ผู้ที่อยู่ในข่ายจะได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์
ผู้ที่สภาเลือกผู้สืบราชสมบัติ จะเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้ จะต้องมีสายเลือดเป็นเชื้อพระวงศ์สายพระเจ้าอังโด่ง (King Aung Duong) พระเจ้านโรดม (King Norodom) หรือพระเจ้าสีสุวัต (King Sisowath) และต้องมีอายุอย่างน้อย 30 ปี
กรณีตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่างเว้นลง ให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รักษาการตำแหน่งประมุขของประเทศ (Acting Head of State)
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
การรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ ก็เพื่อให้เป็นสถาบันที่เป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเขมรสามฝ่ายกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น โดยวางขอบเขตอำนาจหน้าที่และบทบาทของกษัตริย์ไว้อย่างจำกัด ดังจะเห็นได้จากการพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจอะไรมาก แม้แต่การแต่งตั้งรัชทายาท พระมหากษัตริย์ถูกตัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ ฯ และให้อำนาจเป็นของสภาเลือกผู้สืบราชสมบัติ
แสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์กัมพูชาเป็นสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่และบทบาทน้อยมาก เพราะอำนาจสำคัญ ๆ อยู่ที่ฝ่ายการเมืองทั้งหมด
4.ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ระบบการเมืองของเขมรเป็นระบบหลายพรรค (liberal multi-party democratic policy) และมีระบบเศรษฐกิจแบบอาศัยกลไกตลาด (market economy system)
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ตามข้อเท็จจริง ปัจจุบันกัมพูชามีพรรคการเมืองหลักอยู่จำนวน 2 พรรค ซึ่งรวมตัวกันเป็นพรรครัฐบาล คือ พรรคประชาชนกัมพูชา ของสมเด็จฮุน เซน และพรรคฟุนซินเปก ของสมเด็จกรมพระรณฤทธิ์ ทั้งสองพรรคสามารถร่วมมือกันได้เป็นอย่างดีทั้งด้านนิติบัญญัติและด้านการบริหาร รวมทั้งมีความเห็นสอดคล้องกันในประเด็นการเมืองสำคัญ ๆ ของประเทศ
ส่วนพรรคฝ่ายค้านยังไม่มีความเข้มแข็งพอ พรรคฝ่ายค้านมีอยู่พรรคเดียว คือพรรคของสนม รังสี
5.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (The National Assembly)
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 120 คน ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในวาระ 5 ปี ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกได้ ต้องมีอายุอย่างน้อย 25 ปี มีสัญชาติเขมรโดยกำเนิด
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
แท้ที่จริง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็คือ สภาผู้แทนราษฎร นั่นเอง
6.วุฒิสภา (The Senate)
จำนวนสมาชิกวุฒิสภาจะต้องไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติ
ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา มีทั้งได้มาจากการแต่งตั้งและการเลือกตั้งแบบไม่เป็นการทั่วไป (elected non-universally) กล่าวคือ
พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงแต่งตั้งวุฒิสมาชิก จำนวน 2 คน
สภานิติบัญญัติเลือกวุฒิสมาชิก จำนวน 2 คน
วุฒิสมาชิกจำนวนที่เหลือได้มาจากการเลือกตั้งแบบไม่เป็นการทั่วไป
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
จำนวนวุฒิสมาชิกต้องมีจำนวนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ มีจำนวนไม่เกิน 60 คน เมื่อหักจำนวนวุฒิสมาชิกที่ได้มาจากการแต่งตั้งจำนวน 4 คน จะเหลือจำนวนวุฒิสมาชิกที่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบไม่เป็นการทั่วไปจำนวน 56 คน
คำว่า การเลือกตั้งแบบไม่เป็นการทั่วไป น่าจะหมายถึงการเลือกตั้งในวงแคบหรืออาจจะเป็นการเลือกเฉพาะกลุ่มตามสาขาอาชีพ
7.รัฐบาล

(วิกีพีเดีย, ประเทศกัมพูชา, 3 กรกฎาคม 2564
รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอาวุโส รัฐมนตรี และเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretaries of State) โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติฝ่ายเสียงข้างมากในสภา
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
การที่รัฐธรรมนูญ ฯ กำหนดให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล เป็นเรื่องปกติตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
8.อำนาจตุลาการ
อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง รวมทั้งคดีปกครอง ประกอบด้วยศาลสูงและศาลระดับต่าง ๆ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ กัมพูชาใช้ระบบศาลเดียวคือศาลยุติธรรม ไม่ได้แยกออกเป็นศาลปกครอง แต่ให้อำนาจศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองด้วย
9.สภารัฐธรรมนูญ (The Constitutional Council)
สภารัฐธรรมนูญเป็นหลักประกันในการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและการตรวจสอบของวุฒิสภา รวมทั้งมีอำนาจในการตรวจสอบและตัดสินปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 9 คน ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งได้ 9 ปี ดังนี้คือ
9.1 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 3 คน
9.2 สภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่งตั้ง 3 คน
9.3 สภาสูงสุดของผู้พิพากษา (Supreme Council of the Magistracy) แต่งตั้ง 3 คน
ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภารัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นวุฒิสมาชิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกของคณะรัฐบาล ผู้พิพากษา ข้าราชการ ประธานหรือรองประธานของพรรคการเมือง หรือประธานหรือรองประธานสหภาพ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
การที่รัฐธรรมนูญของกัมพูชาได้วางหลักให้มีสภารัฐธรรมนูญในทำนองเดียวกันกับประเทศไทยมีศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่า กัมพูชาต้องการให้สภารัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทำหน้าที่ผ่าทางตันกรณีเกิดปัญหาโต้แย้งว่า กฎหมายใดหรือการกระทำใดแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งให้มีอำนาจพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
การมีสภารัฐธรรมนูญเป็นองค์กรทำหน้าที่ดังกล่าว จะเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่น่าจะทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีเสถียรภาพได้
10.การแบ่งพื้นที่ในการปกครองประเทศ

(วิกิพีเดีย, ประเทศกัมพูชา, 3 กรกฎาคม 2564)
ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ได้แบ่งโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของกัมพูชาออกเป็น
- เมืองหลวง (capital city)
- จังหวัด (provinces)
- เทศบาล (municipalities)
- อำเภอ (districts)
- ตำบล (communes)
ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
รายชื่อ ราชธานี และจังหวัด จำนวน 23 จังหวัด
ตามนัยรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 1 ราชธานี และจังหวัดจำนวน 23 จังหวัดคือ
กรุงพนมเปญ เป็นราชธานี
จังหวัดจำนวน 23 จังหวัด คือ
- กรแจะ เกาะกง กันดาล กำปงจาม กำปงชนัง กำปงธม กำปงสะปือ กัมปอต
- ตาแก้ง รัตนคีรี พระวิหาร พระตะบอง โพธิสัต บันเตียเมียนเจย ไปรแวง มณฑลคีรี สตึงแตรง
- สวายเรียง เสียมราฐ อุดรมีชัย ไพลิน แกบ และพระสีหนุ
แต่ละจังหวัดมีศูนย์กลาง เรียกว่า กรุง (หรืออำเภอเมือง)
นอกจากนี้ ยังมีเมืองสำคัญที่มีฐานะเป็นกรุงอีก 3 แห่ง คือ
กรุงปอยเปต อยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย
กรุงบาวัด อยู่ในจังหวัดสวายเรียง
กรุงสวง อยู่ในจังหวัดกำปงจาม
การแต่งตั้งผู้บริหารจังหวัด
ผู้บริหารจังหวัดของกัมพูชา คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 7-9 คน ได้รับแต่งตั้งตามวาระรัฐบาล
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
เขมรเป็นรัฐเดี่ยว มีการปกครองส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับไทย แต่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตำแหน่งข้าราชการเมือง เพราะมีการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล ไม่ใช่ข้าราชการประจำเหมือนอย่างไทย
11.วิเคราะห์รูปแบบการปกครองของกัมพูชา
อาจจะ;วิเคราะห์รูปแบบการปกครองของประเทศกัมพูชาได้ดังนี้
11.1 รูปแบบของรัฐ
กัมพูชาเป็นราชอาณาจักรและเป็นรัฐเดี่ยว
11.2 รูปแบบการปกครอง
กัมพูชามีรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสภา 2 สภา คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายเสียงข้างมากในสภา
11.3 ประมุขของรัฐ
พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ได้มาจากการเลือกของสภาเลือกผู้สืบราชสมบัติ มีอำนาจหน้าที่และบทบาทค่อนข้างจำกัดเน้นหนักไปทางเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
11.4 การแบ่งพื้นที่ในการปกครองประเทศ
กัมพูชาได้แบ่งพื้นที่การปกครองประเทศออกเป็น 1 ราชธานี และ 23 จังหวัด แต่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง เพราะมีการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล
12.สรุป
กัมพูชาเป็นรัฐเดี่ยว มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย 2 สภา คือ สภานิติบัญญัติแหงชาติหรือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาปีพ.ศ.2536 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ในส่วนของพื้นที่การปกครองประเทศ กัมพูชาแบ่งออกเป็นราชธานีจำนวนหนึ่งแห่ง และจังหวัดจำนวน 23 จังหวัด
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
ถาม-เป็นความจริงหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งประเทศกัมพูชาเคยมีนายกรัฐมนตรีสองคนพร้อมกัน
ตอบ– เป็นความจริง กล่าวคือ ภายหลังได้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีพ.ศ.2536 ภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฟุนซินเปกของสมเด็จกรมพระรณฤทธิ์ชนะพรรคประชาชนกัมพูชาของสมเด็จฮุน เซน แต่สมเด็จฮุน เซน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ทำให้จำเป็นต้องมีการประนีประนอม ด้วยการให้มีนายกรัฐมนตรีสองคนพร้อมกัน คือ สมเด็จฮุน เซน และสมเด็จกรมพระรณฤทธิ์ เป็นชาติแรกและชาติเดียวในโลก
ถาม-ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ
ดร.ชา– ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา หากจะกล่าวในภาพใหญ่แล้ว โครงสร้างในการปกครองประเทศเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรน่าสนใจ
แต่ถ้ามองในเชิงวิเคราะห์จะพบว่า เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุด
ถาม– ทำไมจึงกล่าวว่า เนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนที่น่าสนใจมากที่สุด
ดร.ชา– เพราะมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่มีแนวความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอ้างเอาเป็นต้นแบบในการจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
ถาม- การที่มีคนไทยจำนวนหนึ่งยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชามาเป็นตัวแบบในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ท่านเห็นว่าจะมีความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไร
ดร.ชา-เพราะเจตนาของคนพวกนี้ต้องการจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอ่อนแอ ไม่มีอำนาจหน้าที่และบทบาทอะไรในสังคมไทย นอกจากทำหน้าที่เน้นหนักไปทางพิธีการอย่างเดียว หากทำเช่นนั้นจริง สถาบันกษัตริย์ไทยก็จะไร้ความหมาย เพราะไม่สามารถแสดงบทบาทในการเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรได้ และในที่สุด กลุ่มคนพวกนี้ก็จะเสนอให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย แล้วสถาปนาระบบประธานาธิบดีขึ้นมาแทน
เพราะการจะแสดงบทบาทในการเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรทั้งประเทศ พระมหากษัตริย์จำเป็นต้องมีพระราชอำนาจบ้าง โดยเป็นพระราชอำนาจในส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการอยู่แล้ว
ถาม- ลองยกตัวอย่าวงประกอบให้เห็นชัดเจนได้ไหม
ดร.ชา-แม้ว่าปัจจุบันพระมหากษัตริย์ไทย จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงสามารถประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ในรูปแบบของมูลนิธิและโครงการพัฒนา เช่น โครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถเติมเต็มในส่วนที่รัฐบาลไม่ได้ทำ
ยิ่งกว่านั้น ยังทรงเป็นองค์พุทธมากะและองค์อัครศาสนูปถัมภก ซึ่งเป็นบทบาทผู้นำของประเทศในทางด้านจิตวิญญาณ ทำให้พสกนิกรมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงของชาติ
ถาม– กล่าวโดยสรุป ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชาจึงดูเหมือนมีอำนาจหน้าที่และบทบาทน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ทั้ง ๆ ที่ต่างเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกัน
ตอบ-เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ของกัมพูชาได้เสื่อมสลายลงไปก่อนแล้วเมื่อปีพ.ศ.2513 ด้วยผลของการปฏิวัติยึดอำนาจของนายพล ลน นล และเพิ่งจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อปีพ.ศ.2536 ฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญของกัมพูชา จึงวางบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้อย่างจำกัด เพื่อป้องกันมิให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทโดดเด่นเหนือกว่าฝ่ายการเมือง
ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยได้มีมาต่อเนื่องมาโดยตลอดไม่เคยว่างเว้นนับตั้งแต่ยุคอาณาจักรกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ไทยจึงสามารถแสดงบทบาทตามโบราณราชประเพณีได้ แม้ว่าอำนาจในการบริหารประเทศที่แท้จริงจะอยู่ที่รัฐบาลก็ตาม
ดร.ชา 369
3/07/21
แหล่งข้อมูล
1.สำนักงาน ก.พ. ระบบบริหารราชการของราชอาณาจักรกัมพูชา. นนทบุรี : กรกนกการพิมพ์
2. Constitution of the Kingdom of Cambodia
3.วิกิพีเดีย, ประเทศกัมพูชา, เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564.
รายได้หลักของชาวกัมพูชา นอกจากการขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวแหล่งโบราณสถาน คือ อะไร คะขอบคุณค่ะ
เอาไว้คอยตอบในบทความต่อไป
เอาไว้คอบตอบในบทความต่อไป
อาจารย์ สภารัฐธรรมนูญแตกต่างกันกับสภารัฐธรรมนูญอย่างไรคะ
สภารัฐธรรมนูญ กับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคนละอย่างกัน ศาลรัฐธรรมนูญมึอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีว่ามึกฎหมายหรือการกระทำใด แย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่< ส่วนสภารัฐธรรมแม้อาจจะมีอำนาจพิจารณาว่า มีกฎหมายหรือการกระทำใดแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การพิจารณาจะเป็นในระบบคล้าย ๆ ของสภา ไม่ใช่ระบบเดียวกันกับศาล/p>
รับทราบค่ะ
พืชเของประเทศกัมพูชา มีอะไรบ้างคะ และการส่งออกคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ขอบคุณค่ะ