ประวัติกัมพูชา ที่น่ารู้ เป็นบทความลำดับที่ 21 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน โดยจะกล่าวถึง ความนำ อาณาจักรเขมรยุคแรก (อาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละ) ยุคจักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอม ประเทศราชของสยาม อาณานิคมของฝรั่งเศส ยุคหลังได้รับเอกราช สาธารณรัฐเขมรและสงครามกลางเมือง กัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา กัมพูชายุคใหม่ ยุคฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
1.ประวัติกัมพูชา
กัมพูชาหรือเขมรเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดไทยมากประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ของเขมรจึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยด้วยในทำนองเดียวกันกับการศึกษาประวัติลาว
ในบทความนี้ ขอแบ่งประวัติกัมพูชาออกเป็นยุค ๆ ได้ดังนี้
- อาณาจักรเขมรยุคแรก (อาณาจักรฟูนัน
และอาณาจักรเจนละ)
- สมัยจักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอม
- ประเทศราชของสยาม
- อาณานิคมของฝรั่งเศส
- ยุคหลังได้รับเอกราช
- สาธารณรัฐเขมรและสงครามกลางเมือง
- กัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง
- สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา
- กัมพูชายุคใหม่
- ฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์
2.ประวัติกัมพูชา ยุคแรก
ประวัติกัมพูชาในยุคแรกมีอยู่ 2 อาณาจักร คือ อาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรเจนละ

2.1 อาณาจักรฟูนัน
อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-6 มีที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศเขมร เวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทยไปจนถึงแหลมมลายู
ฟูนันนับเป็นอาณาจักรแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร และการค้าขายกับต่างประเทศ
ยุคนี้เป็นยุคของการรับเอาวัฒนธรรมทางศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย โดยนับถือและบูชาพระศิวะและพระวิษณุ มีการแปลงตัวอักษรอินเดียมาเป็นตัวอักษรเขมร ศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่มณฑลไปรเวียงทางตอนใต้และลุ่มน้ำทะเลสาบ ส่วนพลเมืองมีเผ่าฟูนัน เขมร และจาม ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขง
2.2 อาณาจักรเจนละ (พ.ศ.1078-1345)
ในช่วงที่อาณาจักรฟูนันกำลังรุ่งเรืองนั้น ได้มีดินแดนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรฟูนัน เรียกชื่อว่า อาณาจักรเจนละ มีกษัตริย์องค์หนึ่งปกครอง พระนามว่า กัมพู จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า กัมพูชา
อาณาจักรเจนละ แบ่งดินแดนออกเป็นสองอาณาจักรย่อย คือ อาณาจักรตอนเหนือ เรียกชื่อว่า กุมพูปุระ และอาณาจักรทางตอนใต้เรียกชื่อว่า วิชัยปุระ ต่อมามีกษัตริย์ของกัมพูปุระพระองค์หนึ่งได้ทำสงครามกับอาณาจักรวิชัยปุระ ประสบชัยชนะ จึงได้ส่งกองทัพไปโจมตีอาณาจักรฟูนันได้สำเร็จและได้รวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเจนละ
อาณาจักรเจนละเจริญรุ่งเรืองได้ช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งอาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่อำนาจเข้ามา อาณาจักเจนละจึงได้ตกเป็นเมือขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย
3.ประวัติกัมพูชา ยุคจักรวรรดิเขมร (พ.ศ.1345-1947หรือค.ศ.802-1431)

เมื่อประมาณปีพ.ศ.1345 มีกษัตริย์กัมพูปุระพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ.1345-1412 ได้รวบรวมอาณาจักรกัมพูปุระและอาณาจักรวิชัยปุระเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นอาณาจักรใหม่ขึ้นมาเรียกว่า อาณาจักรขอม พระองค์ได้กอบกู้เอกราชของอาณาจักรขอมจากอาณาจักรศรีวิชัยเป็นผลสำเร็จ และได้แผ่อำนาจออกไปจนทำให้อาณาจักรขอมมีขอบเขตอำนาจกว้างใหญ่กินพื้นที่ 1 ใน 3 ของอินโดจีน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 400 ปี ก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลงในที่สุดเมื่อปีพ.ศ.1947
ราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ครองอาณาจักรขอมจนถึงปีพ.ศ.1420 จึงได้เสื่อมอำนาจลง และได้มีราชวงศ์ใหม่สืบอำนาจต่อ โดยมีพระเจ้าอินทวรมันที่ 1 เป็นปฐมราชวงศ์ และมีพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ครองราชย์ต่อระหว่างปีพ.ศ.1432-1451 พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างเมืองนครธมเป็นเมืองหลวงใหม่
จนกระทั่งถึงช่วงปีพ.ศ.1655-1695 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดของอาณาจักรขอม ทรงให้สร้างนครวัด และทำสัญญาไมตรีกับจามและจีน
เมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร
ตามประวัติกัมพูชา ตลอดระยะเวลาของการดำรงอยู่ของจักรวรรดิเขมรมากกว่า 600 ปี ได้มีเมืองหลวงหลายแห่ง ได้แก่
เมืองมเหนทรบรรพต ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9
เมืองหริหราลัย ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9
เมืองยโสธรปุระ ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10
เมืองพระนคร ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10-15
4.สมัยประเทศราชของสยาม (พ.ศ.1896-2410)

อาณาจักรขอมในยุคของพระเจ้าวรมันที่ 8 (พ.ศ.1786-1838) ได้เสื่อมอำนาจลง ทำให้ประเทศราชได้แข็งข้อ กล่าวคือพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดและพ่อขุนบางกลางหาวได้แข็งเมืองไม่ขึ้นกับเมืองพระนคร ประกาศสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมา จนกระทั่งปีพ.ศ.1896 กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงมอบหมายให้ขุนหลวงพะงั่วยกกองทัพไปโจมตีอาณาจักรเขมรจนแตกพ่ายและได้เขมรเข้ามาไว้ในอำนาจนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.1936 อาณาจักรเขมรได้แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร พระองค์ได้ส่งกองทัพไทยไปยึดเมืองพระนครเมืองหลวงของเขมรได้อีกครั้งหนึ่ง และต่อมาเมื่อปีพ.ศ.1947 เขมรได้แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการเหมือนอย่างเคย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ยกทัพหลวงจากกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองพระนครของเขมร จนถูกทำลายจนย่อยยับ ทำให้เขมรต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมืองจตุรพักตร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งกรุงพนมเปญในปัจจุบัน และต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เมืองละแวก ใกล้ริมทะเลสาบเขมร ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่เมืองศรีสุนทร และเมืองอุดรมีชัยในเวลาเวลาต่อมา
การที่เมืองพระนคร เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาทำลายจนย่อยยับ ทำให้อาณาจักรขอมสูญสิ้นความเป็นอาณาจักร และต้องอยู่ภายใต้การปกครองของไทย นับตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
เขมรได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของไทยนับตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดสงครามระหว่างไทยกับญวน เพื่อแย่งชิงอำนาจเหนือเขมรเป็นเวลายาวนานร่วม 14 ปี เรียกชื่อว่า สงครามอานามสยามยุทธ ระหว่างปีพ.ศ.2374-2388 ผลของสงครามได้ยุติลงด้วยการเจรจาสงบศึก ญวนยอมให้เขมรเป็นประเทศราชของไทยต่อไป แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการไปให้ญวนเสมือนหนึ่งเป็นประเทศราชของญวนด้วย
ยุคนี้ถือเป็นยุคมืดของกัมพูชา
5.ยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส (พ.ศ.2410-2497)
ตามประวัติกัมพูชา หลังจากฝรั่งเศสได้ญวนไว้ในอำนาจแล้ว ก็หาทางบีบเอาเขมรไปไว้อำนาจด้วย โดยอ้างว่า เขมรเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของญวน ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จำต้องทรงยอมยกเขมรให้ตกเป็นของฝรั่งเศสเมื่อปีพ.ศ.2410
เขมรได้ตกเป็นของฝรั่งเศสเป็นเวลายาวนานร่วม 86 ปี จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้รับเอกราช
อย่างไรก็ดี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขมรได้ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นระหว่างปีพ.ศ.2484-2489
6.ยุคหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส (พ.ศ.2497-2513)
หลังจากฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยในการรบที่เมืองเบียนเดียฟู ซึ่งอยู่ในเวียดนามเหนือ ทำให้ต้องมีการประชุมทำความตกลง 14 ชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปีพ.ศ.2497 โดยได้ข้อยุติว่า ฝรั่งเศสยอมให้เอกราชแก่ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยมีเจ้านโรดม สีหนุ เป็นกษัตริย์ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์ และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในกัมพูชาเมื่อปีพ.ศ.2498
เจ้านโรดม สีหนุ ได้ครองราชสมบัติก่อนจะได้รับเอกราชสมบูรณ์จากฝรั่งเศสนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2484 และได้สละราชสมบัติเพื่อเข้าสู่สนามการเมือง ผลของการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ.2498 พรรคการเมืองของเจ้านโรดม สีหนุ ได้รับคะแนนเสียงข้างมากและได้จัดตั้งรัฐบาล
รัฐบาลของเจ้านโรดม สีหนุ ประกาศนโยบายเป็นกลาง แต่ข้อเท็จจริงคือ ต่อต้านไทยและเวียดนามใต้ ในขณะที่เป็นมิตรกับจีนและสนับสนุนเวียดนามเหนือ กัมพูชาในยุคนี้มีข้อขัดแย้งกับไทยเรื่องปราสาทเขาพระวิหารและการกวาดล้างคนไทยในจังหวัดเกาะกง
7.สาธารณรัฐเขมรและสงครามการเมือง (พ.ศ.2513-2518)
ตามประวัติกัมพูชานช่วงนี้ รัฐบาลของเจ้าสีหนุได้ปกครองประเทศเขมรไปจนถึงพ.ศ.2513 ก็ถูกรัฐประหารโดยนายพล ลน นล และจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นแทน เจ้าสีหนุต้องลี้ภัยการเมืองไปจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
รัฐบาลนายพล ลน นล เป็นรัฐบาลที่มีอเมริกาหนุนหลัง หลังจากนั้นได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลนายพล ลน นล และเวียดนามใต้ฝ่ายหนึ่ง กับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดง และเวียดนามเหนือ อีกฝ่ายหนึ่ง การสู้รบได้ดำเนินไป 5 ปี จนกระทั่งปีพ.ศ.2518 รัฐบาลสาธารณรัฐของลน นล เป็นฝ่ายแพ้ เขมรแดงได้ประกาศจัดตั้งกัมพูชาประชาธิปไตยขึ้นปกครองประเทศ
สงครามกลางเมืองดังกล่าว ได้นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาครั้งใหญ่
8.กัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง (พ.ศ.2518-2522)
หลังจากได้โค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐของนายพล ลน นล สำเร็จเมื่อปีพ.ศ.2518 เขมรแดงได้เข้าปกครองประเทศในรูปแบบรัฐคอมมิวนิสต์ เรียกชื่อว่า กัมพูชาประชาธิปไตยระหว่างปีพ.ศ.2518-2522 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมีพล พต เป็นผู้นำสูงสุด
อย่างไรก็ดี เมื่อปีพ.ศ.2522 กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาภายใต้การนำของ เฮง สัมริน และกองทัพเวียดนามได้เข้าโค่นล้มรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยได้สำเร็จ และได้จัดตั้ง สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้นมาแทน ส่วนกองทัพเขมรแดงได้ถอยร่นออกไปตั้งมั่นในทางภาคเหนือของประเทศ และยังคงจัดรูปแบบการปกครองตามระบบของกัมพูชาประชาธิปไตยเดิมต่อไป
9.สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา
สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (People’s Republic of Kampuchea) เป็นรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยแนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นกลุ่มของกัมพูชาฝ่ายซ้ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับกลุ่มเขมรแดง ได้ร่วมมือกันล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง โดยจับมือกับกองทัพเวียดนาม ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต ทำให้กัมพูชาในช่วงนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนาม อย่างไรก็ดี หลังปีพ.ศ.2523 ได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง กองทัพประชาชนปฏิวัติกัมพูชาของรัฐบาล กับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายซึ่งถือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ประกอบด้วย พรรคฟุนซินเปกของพระนโรดมสีหนุ พรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร จนกระทั่งได้มีการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 และนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสเพื่อสงบศึกเมื่อปีพ.ศ.2534 และได้ข้อยุติว่า ให้มีการเลือกตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ ในปีพ.ศ.2536
10.การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่
หลังจากได้มีการเลือกตั้งปีพ.ศ.2536 เจ้านโรดม สีหนุ ได้กลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่เมื่อปีพ.ศ.2540 ได้เกิดการรัฐประหารโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ร่วมกับพรรคที่มิใช่คอมมิวนิสต์ในรัฐบาล และได้มีการเลือกตั่งทั่วไปเมื่อปีพ.ศ.2540
หลังจากนั้นการเมืองของเขมรก็มีเสถียรภาพตลอดมา เพราะมีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคประชาชนกัมพูชา ของสมเด็จฮุนเซน และพรรคฟุนซินเปกของสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์
11.สรุป
ประวัติศาสตร์กัมพูชา นับว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประวัติศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์ไม่น้อย
หากจะกล่าวอย่างรวบรัด ประวัติศาสตร์กัมพูชา น่าจะนับเริ่มได้อย่างเป็นรูปธรรมคือยุคที่เป็นจักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอม ระหว่างปีพ.ศ.1345-1947 (ค.ศ.802-1431) รวมเป็นระยะเวลามากกว่า 600 ปี
จักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอมได้เริ่มเสื่อมอำนาจลงในช่วงที่มีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมา หลังจากนั้นจึงได้มีการสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาคู่กับอาณาจักรสุโขทัย
การสถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้นำไปสู่ความเสื่อมของจักรวรรดิเขมรโดยตรง เพราะพระเจ้าอู่ทององค์ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไปยึดเมืองพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอมไว้อำนาจได้เมื่อปีพ.ศ.1896 หลังจากนั้น เขมรก็ตกเป็นประเทศราชของไทยเรื่อยมาก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
เขมรได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เมื่อปีพ.ศ.2497 หลังจากนั้นเขมรได้เข้าสู่ยุคของความวุ่นวายทางการเมืองและสงครามกลางเมืองมาโดยตลอด ได้แก่ ยุคสาธารณรัฐและสงครามกลางเมือง ยุคกัมพูชาประชาธิปไตยและเขมรแดง ยุคสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และยุคการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369 เป็นขยายความเนื้อหาบางส่วนของบทความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นเพิ่มเติมในบางประเด็น
ถาม-ทำไมประวัติศาสตร์เขมร ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย จึงน่าสนใจเป็นพิเศษ
ตอบ-เพราะประวัติศาสตร์เขมรมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ถาม-ในยุคสุโขทัย ประวัติศาสตร์เขมรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างไร
ตอบ- เดิมดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยทุกวันนี้ เคยเป็นดินแดนที่อยู่ในอำนาจของจักรวรรดิเขมรหรืออาณาจักรขอมมาก่อน จนกระทั่งในยุคของพระเจ้าวรมันที่ 8 (พ.ศ.1786-1838) ได้เสื่อมอำนาจลง ทำให้ประเทศราชแข็งข้อ กล่าวคือพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดและพ่อขุนบางกลางหาวได้แข็งเมืองจากขอมสบาดโขลญเป็นผลสำเร็จ ประกาศสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ. 1782 และได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ.1981 รวมระยะเวลาของการเป็นอาณาจักรได้ 199 ปี
ถาม- หลังจากได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นมาแล้ว ได้ส่งผลกระทบต่ออาณาจักรขอมอย่างไร
ดร.ชา- อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาได้สถาปนาขึ้นเมื่อปีพ.ศ.1893 ได้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปตามลำดับ ก่อนที่จะล่มสลายลงเมื่อปีพ.ศ.2310 รวมระยะเวลาเป็นอาณาจักร 417 ปี
ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง องค์ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ได้ยกกองทัพได้ตีเขมรไว้ในอำนาจ เมื่อปีพ.ศ.1896 หลังจากนั้นเขมรได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของไทยตลอดมา จนกระทั่งถึงยุคที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษและฝรั่งเศส ได้ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ดังนั้น เมื่อปีพ.ศ.2410 ซึ่งเป็นเวลาที่ฝรั่งเศสได้เวียดนามไว้ในอำนาจแล้ว ไทยจึงจำต้องยอมเสียเขมรให้แก่ฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อแลกกับการรักษาอธิปไตยของสยามไว้
ถาม-แสดงว่าหลังจากเขมรได้ตกเป็นประเทศราชของไทยเมื่อปีพ.ศ.1896 แล้ว ก่อนจะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขมรก็ยังไมได้รับเอกราชอีกเลยใช่ไหม
ดร.ชา- ใช่แล้ว รวมเป็นระยะเวลาที่เขมรต้องตกเป็นประเทศราชของไทยยาวนานร่วม 514 ปีทีเดียว แต่ก็มีบางช่วงที่เขมรได้ประกาศแข็งข้อ ไทยก็ได้ยกกองทัพไปปราบจนราบคาบทุกครั้ง
ถาม- หลังจากเขมรได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์เมื่อปีพ.ศ.2497 แล้ว ทำไมบ้านเมืองเขมรจึงยังหาความสงบไม่ได้
ดร.ชา-พอเขมรได้รับเอกราช เจ้านโรดม สีหนุ ได้เป็นกษัตริย์ปกครองเขมร แต่พอมีการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ.2498 เจ้าสีหนุ ได้สละราชสมบัติเข้าสู่สนามการเมือง พรรคการเมืองของพระองค์ชนะการเลือกตั้งได้บริหารประเทศ จนกระทั่งปีพ.ศ.2513 ได้ถูกนายพล ลน นล ทำการรัฐประหาร และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ
ในช่วงนี้ เขมรแดงและรัฐบาลนายพล ลน นล ได้ทำสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจรัฐเป็นเวลา 5 ปี ในที่สุดเขมรแดงเป็นฝ่ายชนะ และได้จัดตั้งรัฐในรูปแบบของคอมมิวนิสต์
ถาม- เมื่อเขมรแดงได้อำนาจปกครองเขมรเมื่อปีพ.ศ.2522 แล้ว ทำไมเขมรแดงจึงอยู่ในอำนาจนานไม่ได้
ดร.ชา- ในช่วงทำสงครามกลางเมือง ระหว่างปีพ.ศ.2513-2522 เขมรแดงได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดร้ายทารุณระหว่างปีพ.ศ. 2518-2522 ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.5-2 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรเขมรเมื่อปีพ.ศ.2518 นับเป็นสงครามล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ด้วยความโหดร้ายทารุณดังกล่าว จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามเขมรแดง ต้องการล้มล้างการปกครองของเขมรแดง
ถาม- ใครคือผู้ที่ล้มล้างการปกครองของเขมรแดงลงสำเร็จ
ดร.ชา-แนวร่วมสามัคคีประชาชาติกู้ชาติกัมพูชาได้จับมือกับกองทัพเวียดนาม ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต เป็นผู้ล้มล้างการปกครองอันโหดร้ายของเขมรแดงเมื่อปีพ.ศ.2523 และจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้นมา
อย่างไรก็ดี หลังปีพ.ศ.2523 ได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง กองทัพประชาชนปฏิวัติกัมพูชาของรัฐบาล กับแนวร่วมเขมรสามฝ่ายซึ่งถือเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ประกอบด้วย พรรคฟุนซินเปกของเจ้านโรดม สีหนุ พรรคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือเขมรแดง และแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร จนกระทั่งได้มีการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ปีพ.ศ.2532 และนำไปสู่การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสเพื่อสงบศึกเมื่อปีพ.ศ.2534 และได้ข้อยุติว่า ให้มีการเลือกตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ ในปีพ.ศ.2536
ถาม- สมเด็จฮุนเซนได้เข้ามีอำนาจในการปกครองกัมพูชามาตั้งแต่เมื่อใด
ดร.ชา- สมเด็จฮุนเซนได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ยุคสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา เมื่อปีพ.ศ.2528 จนกระทั่งถึงยุคราชอาณาจักรกัมพูชาในปัจจุบันนี้ โดยได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อมีอายุได้เพียง 33 ปีเท่านั้น นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 36 ปี
สมเด็จฮุนเซน เป็นหัวหน้าพรรคประชาชนกัมพูชา
ถาม-เขมรกลับมาใช้ระบบราชอาณาจักรอีกเมื่อใด
ดร.ชา- เจ้านโรดม สีหนุ ได้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์กัมพูชา ก่อนที่จะได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ.2484 และได้สละราชสมบัติเพื่อเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อปีพ.ศ.2498 โดยมีพระราชบิดาดำรงตำแหน่งกษัตริย์แทน
จนกระทั่งปีพ.ศ.2513 นายพล ลน นล ได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจและเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศเป็นสาธารณรัฐ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นระบอบราชอาณาจักรอีกครั้งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ.2536 โดยสมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ ได้กลับมาเสวยราชสมบัติเป็นครั้งที่ 2
แหล่งอ้างอิง
วิกิพีเดีย,ประเทศกัมพูชา, เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564.
วิกิพีเดีย, ยุคมืดของกัมพูชา, เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564.
สมเด็จฮุนเซนได้ปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ทำไมกัมพูชายังเป็นประเทศที่ยากจน หนูเคยดูในยูทูป ประชาชนไม่มีสิทธิออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนในประเทศไทย
ในมุมมองของอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ เกี่ยวกับ ระบอบการปกครองของกัมพูชา
ขอบคุณค่ะ
เขาก็เจริญกว่าเดิมไม่ใช่หรือ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบ้านเมืองเขาเพิ่งสงบมาหลังปีพ.ศ. 2536 การพัฒนาจึงค่อยทำได้จริงจัง
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่2สิ้นสุดลง ได้มีการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ ใช้กฏเกณฑ์อะไรคะ ในการคัดเลือก
เขามึสภาเลือกกษัตริย์จากผู้มีเชื้อสายกษัตริย์
เพราะเหตุใดพรรคการเมืองของเจ้านโรดม สีหนุ จึงไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ขอบคุณค่ะ
การที่พรรคใดจะได้รับความนิยมจากประชาชน หากจะตอบสั้น ๆ คือ อยู่ที่นโยบายของพรรคและการบริหารประเทศว่าถูกใจประชาชนไหม
อ่านแล้วนึกภาพตาม ย้อนอดีต กว่าจะเป็นไทยได้ทุกวันนี้เคยล้มลุกคลุกคลานมาก่อน
ใช่แล้ว บรรพบุรุษของเราต้องต่อสู้และเสียเลือดเนื้อเป็นอันมากเพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลาน
ทำไมอาณาจักรฟูนันจึงมีการล่มสลาย ทั้งที่มีความเจริญ มีสาเหตุจากอะไรคะ
ทุกอาณาจักรหนีไม่พ้นความเจริญและความเสื่อม เมื่อเจริญถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะค่อย ๆ เสื่อมลง แต่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้หรือไม่ คงต้องดูเป็นแห่ง ๆ ไป นี่ว่าตามหลักธรรม
ทั้งนี้เพราะผู้มีอำนาจปกครองอาณาจักรคือ กษัตริย์ ซึ่งมีความรู้ความสามารถแตกต่างกันไป
หากยุคใดได้กษัตริย์เก่งมีคุณธรรม บ้านเมืองก็เจริญ ในทางตรงข้าม ยุคใดได้กษัตริย์ไม่เก่ง ขาดทศพิธราชธรรม อาจพาบ้านเมืองล่มจมได้ เหมือนอย่างพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา