ตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของลาว เป็นบทความลำดับที่ 20 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ ลักษณะภูมิประเทศของลาว รัฐธรรมนูญกับระบบเศรษฐกิจลาว ตัวชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว การท่องเที่ยวของลาว สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจลาว สรุป และถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369
1.ความนำ
ผมได้นำเสนอเรื่องราวของประเทศลาวมาแล้ว 2 บทความต่อเนื่องกัน คือ บทความ (18) และบทความ (19)
บทความ (18) ได้กล่าวถึงประวัติประเทศลาว มีความเป็นมาอย่างไร เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจพื้นฐานของประเทศลาวได้อย่างชัดเจน นับตั้งยุคอาณาจักรล้านช้าง ยุคสามอาณาจักร ยุครัฐบรรณาการของสยาม ยุคอินโดจีนของฝรั่งเศส ยุคราชอาณาจักรลาว และยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือสปป.ลาว ในปัจจุบัน
บทความ (19) ได้กล่าวถึงประเทศลาว มีรูปแบบการปกครองอย่างไร เพื่อชี้เห็นรูปแบบการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ของประเทศลาวตามลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ว่า รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
สำหรับบทความนี้ ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจของลาวมีแนวโน้มไปในทิศทางมีอัตราความเจริญเติบโตที่ดี จึงเห็นว่า น่าจะนำเรื่องราวเศรษฐกิจของลาวมาเล่าอีกสักตอนหนึ่ง
2.ลักษณะภูมิประเทศของลาว
แม้ประเทศลาวมีขนาดพื้นที่มากถึง 237,955 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ราว ¾ ของประเทศ เป็นพื้นที่ป่าเขา โดยอาจแบ่งภูมิประเทศออกเป็น 3 เขตดังนี้ คือ
2.1 เขตภูเขาสูง
เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,500 เมตรขึ้นไป พื้นที่ส่วนนี้ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ
2.2 เขตที่ราบสูง
เป็นพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำเฉลี่ย 1,000 เมตรขึ้นไป ได้แก่บริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ราบสูงเมืองพวน ไปจนถึงชายแดนกัมพูชา โดยมีที่ราบสูงขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง คือ ที่ราบสูงเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ที่ราบสูงนากาย แขวงคำม่วน และที่ราบสูงบริเวณภาคใต้
2.3 เขตที่ราบลุ่ม
เป็นพื้นที่ที่ราบตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงและแม่น้ำต่าง ๆ นับเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าเขตภูเขาสูง และเขตที่ราบสูง มีอาณาบริเวณนับตั้งแต่บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำงึม บริเวณนี้เรียกว่า ที่ราบลุ่มเวียงจันทน์ ผ่านที่ราบลุ่มสุวรรณเขต ลงไปทางภาคใต้คือแขวงจำปาศักดิ์ ตามแนวแม่น้ำโขงไปจนจดชายแดนกัมพูชา
3. รัฐธรรมนูญกับระบบเศรษฐกิจลาว
โดยหลักการของอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อต้านระบบทุนนิยม เพราะเห็นว่าเป็นระบบที่ชนชั้นนายทุนเอารัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า แม้ระบอบการเมืองการปกครองประเทศยังเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ระบบเศรษฐกิจอาจจะนำเอาระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้ในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ได้
แนวคิดดังกล่าว เติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำจีนคอมมิวนิสต์ยุคต่อจากประธานเหมา เจ๋อ ตุง เป็นผู้ริเริ่มเป็นคนแรก ภายใต้วาทกรรมอันลือลั่นที่ว่า “แมวดำหรือแมวขาว หากจับหนูได้ ก็ย่อมใช้ได้”
สำหรับสปป.ลาว ก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดดังกล่าวมาเช่นกัน โดยได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสปป.ลาว หมวด 2 ระบบเศรษฐกิจ-สังคม (Socio-Economic Regime) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 หลักการ
ระบบเศรษฐกิจของสปป.ลาว เป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกตลาดตามวิถีสังคมนิยม
(The market-oriented economy that follows the socialist path) ซึ่งประกอบด้วยรูปแบบทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และรูปแบบต่าง ๆ ของการประกอบการ ด้วยความยั่งยืน ความเท่าเทียม การแข่งขัน และความร่วมมือภายใต้กฎหมาย นอกจากนี้ยังส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น การบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและในภูมิภาค เพื่อเป็นหลักประกันให้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง พร้อมทั้งมีความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม และเพื่อความอยู่ดีกินกินดี การมีสุขภาพแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจของประชาชนลาว
3.2 แนวนโยบายที่สำคัญ
– รัฐส่งเสริมการลงทุนของทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
– รัฐส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
– รัฐส่งเสริมและคุ้มครองการมีสิทธิในทรัพย์สิน ไมว่าจะเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทรัพย์สินของส่วนรวม การลงทุนภายในประเทศของเอกชน และการลงทุนของต่างประเทศในสปป.ลาว
– รัฐต้องบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับกลไกแห่งตลาด ภายใต้กฎหมาย โดยเพิ่มบทบาทในการบริหารของภาครัฐ การใช้หลักการบริหารแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางผ่านความเห็นอันสอดคล้องของหน่วยงานที่มีอำนาจในส่วนกลาง พร้อมกับมอบหมายความรับผิดชอบไปยังองค์กรในส่วนท้องถิ่น
สปป.ลาวจะใช้นโยบายเปิดในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศในทุกวิถีทางบนพื้นฐานและรูปแบบต่าง ๆ
4.ตัวชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ตัวชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว อาจสรุปพอให้มองเห็นภาพดังนี้
4.1 ความเจริญเติบโตในช่วงปีค.ศ.1986-2005
นับตั้งแต่ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดเสรีเมื่อปี ค.ศ.1986 เป็นต้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ สปป.ลาวได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เมื่อปี ค.ศ.1986 เป็น 491 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เมื่อปี ค.ศ.2005 โดยมีอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเป็นสาขาหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
ทรัพยากรที่สำคัญของสปป.ลาว ได้แก่ ไม้ ดีบุก ยิปซัม ตะกั่ว หินเกลือ เหล็ก ถ่านหินลิกไนต์ สังกะสี ทองคำ อัญมณี หินอ่อน น้ำมัน และไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังน้ำ
สินค้าออกที่สำคัญของสปป.ลาว ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ หนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ
4.2 การลงทุน
รัฐบาลสปป.ลาว ได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งมอบอำนาจให้นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาศักดิ์ และแขวงหลวงพระบาง มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแขวงอื่น ๆ มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยมาตรการดังกล่าวทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเช่น เมื่อปีค.ศ.2003 การลงทุนมีมูลค่า 465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2004 มีมูลค่า 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2005 มีมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนที่สำคัญ คือ นักลงทุนจากจีน ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย
4.3 ขนาดจีดีพี
ตามข้อมูลของธนาคารโลก ขนาดจีดีพีเมื่อปี 2019 สปป.ลาว มีจำนวน 18,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอันดับที่ 116 ของโลก และนับเป็นอันดับที่ 9 ของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นรองจากกัมพูชา ซึ่งมีขนาดจีดีจำนวน 27,023 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 104 ของโลก) แต่มากกว่าขนาดจีดีพีของบรูไน ซึ่งมีขนาดจีดีพี จำนวน 13,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 133 ของโลก)
4.4 รายได้เฉลี่ยต่อหัว
ตามข้อมูลของธนาคารโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัว เมื่อปี 2019 สปป.ลาว มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 2,535 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 141 ของโลก นับเป็นอันดับที่ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาจากเวียดนาม ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 2,715 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 139 ของโลก) แต่สูงกว่า กัมพูชา ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 1,643 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 156 ของโลก) และพม่า ซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 1,408 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 160 ของโลก)
5.การท่องเที่ยว
การท่องเที่ยว เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสปป.ลาว เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมหลายอย่างซึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
การมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ถือเป็นตัวชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างหนึ่ง แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของลาว สรุปได้ดังนี้ คือ
5.1 แหล่งท่องเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์
แหล่งท่องเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ ได้แก่

5.1.1 พระธาตุหลวง หรือพระเจดีย์โลกะจุฬามณี เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในลาว เป็นที่บรรจุพระบรมสาริกธาตุที่อัญเชิญมาจากศรีลังกา
5.1.2 หอพระแก้ว เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เดิมหอพระแก้วเคยเป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ลาว สร้างขึ้นโดยพระไชยเชษฐาธิราช
5.1.3 ประตูชัย เป็นอนุสรณ์สถานของประชาชนลาวที่ได้เสียสละชีวิตในสงครามก่อนการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว
5.2 แหล่งท่องเที่ยวในแขวงหลวงพระบาง
หลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของลาว ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งหนึ่ง มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น

5.2.1 วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2013 โดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขง สร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้านช้าง สวยงามมาก จนได้รับการยกย่องว่า เป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง
5.2.2 พระราชวังหลวงพระบาง ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์หลวงพระบาง สร้างขึ้นในสมัยเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว เป็นอาคารแบบตะวันตกแต่หลังคาเป็นรูปทรงลาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง
5.2.3 น้ำตกตาดกวางสี เป็นน้ำตกหินปูน ทำให้น้ำตกมีสีเขียวมรกต สวยงามมาก สูง 4 ชั้น
5.2.4 น้ำตกตาดแส้
5.3 แหล่งท่องเที่ยวในวังเวียง แขวงเวียงจันทน์
5.3.1 บลู ลากูน เป็นสระน้ำสีฟ้าใสที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงด้านหน้าของถ้ำภูคำ
5.3.2 สะพานส้ม เป็นสะพานแขวนทอดผ่านแม่น้ำลำซองไปยังถ้ำจัง
5.4 แหล่งท่องเที่ยวในแขวงจำปาศักดิ์
แขวงจำปาศักดิ์ เป็นแขวงที่อยู่ทางใต้สุดของลาว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ
5.4.1 ปราสาทหินวัดภู ตั้งอยู่บนภูเขาควาย อยู่ห่างจากเมืองจำปาศักดิ์เก่าประมาณ 6 กิโลเมตร ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก
5.4.2สี่พันดอน หรือสี่พันเกาะ เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขง ก่อนจะไหลเข้าสู่กัมพูชา โดยมีน้ำตกอยู่กลางแม่น้ำโขงที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี คือ น้ำตกหลี่ผีหรือน้ำตกคอนพะเพ็ง
5.5 แหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวในนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงจำปาศักดิ์ วังเวียง และแขวงจำปาศักดิ์แล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในแขวงอื่น ๆ เช่น
5.5.1 ถ้ำกองลอ หรือถ้ำลอดกองลอ ตั้งอยู่ห่างจากท่าแขก แขวงคำม่วน ภาคกลางของลาวราว 130 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีความกว้างและความยาวมากกว่า 7 กิโลเมตร และมีความสูงมากกว่า 91 เมตร
5.5.2 ทุ่งไหหิน ตั้งอยู่ที่แขวงเชียงขวาง ทางตอนเหนือของประเทศลาว มีหินขนาดใหญ่ทรงไห จำนวนนับพัน อายุระหว่าง 2,500-3,000 ปี เป็นแหล่งศึกษาทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์
5.5.3 เขตอนุรักษ์พันธุ์ธรรมชาติ แขวงบ่อแก้ว เป็นสถานที่อนุรักษ์ชะนีแก้มดำ สัตว์ป่าหายาก
6.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างไทย-ลาว ทำให้การคมนาคมติดต่อระหว่างไทย-ลาว เป็นไปด้วยความสะดวก สบาย และรวดเร็วกว่าเดิมเป็นอันมาก และทำให้การเชื่อมต่อไปยังประเทศที่สามคือ จีน และเวียดนามได้รับความสะดวกด้วย ถือเป็นช่องทางส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวที่สำคัญในปัจจุบัน
การมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขงจำนวนหลายแห่ง ถือเป็นตัวชี้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จำนวน 4 แห่ง คือ
6.1 สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่หนึ่ง เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดหนองคายเข้ากับนครหลวงเวียงจันทน์
6.2 สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สอง เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดมุกดาหารเข้ากับแขวงสุวรรณเขต
6.3 สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สาม เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดนครพนมเข้ากับแขวงคำม่วน
6.4 สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่สี่ เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดเชียงรายเข้ากับแขวงบ่อแก้ว

นอกจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขงทั้งสี่แห่งแล้ว ยังมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำเหือง เชื่อมต่อจังหวัดเลยเข้ากับแขวงไชยบุรี
ยิ่งกว่านั้น ยังมีโครงการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว อีกจำนวน 4 โครงการ คือ
6.5 โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ห้า เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดบึงกาฬเข้ากับแขวงบอลิคำไซ
6.6 โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่หก เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดอุบลราชธานีเข้ากับแขวงสาละวัน
6.7 โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่เจ็ด เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดเลยเข้ากับแขวงเวียงจันทน์
6.8 โครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่แปด เป็นสะพานเชื่อมต่อจังหวัดอุบลราชธานีเข้ากับแขวง จำปาศักดิ์
7.วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจลาว
ในอดีตการที่ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทำให้มีสภาพเป็นประเทศปิด (land locked) และทำให้ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังลาวได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1997 หรือพ.ศ.2540 ด้วยเหตุปัจจัยแวดล้อมดังนี้ คือ
7.1 การเข้าเป็นสมาชิกลุ่มอาเซียน ทำให้ลาวไม่ได้เป็นประเทศที่อยู่อย่างโดดเดียวอีกต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังได้มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อปีพ.ศ.2558 ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียน จำนวน 10 ประเทศ รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในด้านเศรษฐกิจ โดยประเทศอาเซียน 10 ประเทศซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันราว 600 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรโลกจะเป็นตลาดและฐานผลิตเดียวกัน เสมือนหนึ่งเป็นประเทศเดียวกัน ทำให้สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น
7.2 การเข้าเป็นสมาชิกประเทศอาเซียน ทำให้ลาวได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น โครงการสร้างถนนสายอีสต์-เวสต์ คอริดอร์ (East-West Corridor) จากทางทิศตะวันออก คือดานังในเวียดนามผ่านสุวรรณเขตในลาว เข้ามุกดาหาร ผ่านพิษณุโลก และผ่านแม่สอดของไทย ไปทางทิศตะวันตกเข้าไปสู่พม่า เป็นการเชื่อมเศรษฐกิจ มหาสมุทรแปซิฟิก-มหาสมุทรอินเดีย
7.3 ความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน กับประเทศที่มีความเจริญและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่นอกกลุ่มอาเซียน ทำให้ลาวได้รับประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ คือ
7.3.1 อาเซียน+3 เป็นความตกลงในความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมียอดประชากรรวมกันมากกว่า 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก
7.3.2 อาเซียน+ 6 เป็นความตกลงในความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันราวมากกว่า 3,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 2 ของยอดประชากรโลก
7.4 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับอาเซียน สายคุณหมิงในมณฑลยูนานของจีน-เวียงจันทน์-กรุงเทพ ฯ และในอนาคตจะเชื่อมต่อไปถึงสิงคโปร์ จะทำให้ลาวได้รับประโยชน์มาก ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง การค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว
7.5 การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อไทยและลาว ซึ่งได้สร้างเสร็จไปแล้วจำนวน 4 แห่ง และยังมีโครงการจะสร้างอีกจำนวน 4 แห่ง ย่อมจะทำให้ลาวพ้นสภาพการเป็นเมืองปิด กลายเป็นเมืองเปิด และจะทำให้ลาวสามารถพัฒนาประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
7.6 ลาวมีทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างที่สมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำ ที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าส่งเป็นสินค้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉาะอย่างยิ่งไทยได้ ทำให้ลาวกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย
ดังนั้น ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับลาวมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงเชื่อได้ว่า ประเทศลาวจะสามารถพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกันภายในเวลาไม่นานนัก และคาดหมายว่า ลาวจะสามารถพัฒนาให้พ้นสภาพประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดได้ปีค.ศ. 2026
8.สรุป
ภายหลังที่ลาวยอมรับเอาระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีมาปรับใช้กับการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่ปีค.ศ.1986 หรือพ.ศ.2529 เป็นต้นมา จนกระทั่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศอาเซียนเมื่อปีค.ศ.1997 หรือพ.ศ.2540 ทำให้เศรษฐกิจของลาวมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ประกอบกับมีเหตุปัจจัยเกื้อหนุนอันเป็นผลมาจากการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จึงทำให้ลาวซึ่งเป็นประเทศปิดเพราะไม่มีทางออกทะเล ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ได้กลายเป็นประเทศเปิดและเมืองท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอาเซียน เพราะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมต่อไทยและลาวหลายแห่ง รวมทั้งการมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับอาเซียน
ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า ทิศทางเศรษฐกิจของลาวน่าจะไปได้ดี ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญสองตัว คือ ขนาด จีดีพี และรายได้เฉลี่ยต่อหัว ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับความเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369

เดิมผมได้ใช้ชื่อหัวข้อท้ายบทความว่า เรื่องเล่า สนุกกับดร.ชา มาเป็นจำนวนหลายบทความ แต่ละบทความผมก็ต้องรบกวนขอความร่วมมือจากลูกศิษย์หรือคนสนิทใกล้ชิดของผมจำนวนหนึ่งให้มาเป็นคู่สนทนา เมื่อต้องรบกวนบ่อย ๆ ย่อมเกิดความไม่สะดวกและทำให้ผมเกิดความเกรงใจ เพราะทุกคนยังรับราชการอยู่ ไม่ได้เกษียณอายุราชการเหมือนอย่างผม
ดังนั้น ในระยะเวลานี้ ผมจึงขอสลับฉากด้วยหัวข้อ ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา แทน เพื่ออธิบายขยายความในบทความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยบทความนี้จะเป็นบทความแรก
1.ถาม– ทำไมประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จึงต้องเปลี่ยนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหันมายอมรับระบบทุนนิยม ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้เคยโจมตีมาก่อนว่า เป็นระบบเศรษฐกิจของพวกนายทุนที่คอยรัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ และจะต้องทำลายล้างให้หมดไปจากโลก
ดร.ชา– เรื่องนี้คงต้องย้อนดูในเชิงประวัติศาสตร์สักนิดว่า เมื่อครั้งเจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์ คือ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ชาวเยอรมัน นำเสนออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เป็นช่วงเวลาหลังจากได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในยุโรปตะวันตก เขาได้มองเห็นนายทุนเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในยุคนั้น มีแต่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพในทุก ๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และสวัสดิการต่าง ๆ ก็ไม่มี
ดังนั้น เขาจึงฝังใจว่า ระบบนายทุนเป็นระบบที่ชั่วร้าย ชนชั้นกรรมาชีพต้องลุกขึ้นมาล้มล้างพวกนายทุนให้หมดไป แล้วสร้างรัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาแทน
2.ถาม- อะไรคือมูลเหตุจูงใจทำให้ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เปลี่ยนใจหันมายอมรับระบบทุนนิยมที่พวกตนเคยโจมตีว่า เป็นระบบที่ชั่วร้าย
ดร.ชา- เรื่องนี้ต้องยกความดีให้ เติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำจีนคอมมิวนิสต์ในยุคต่อจากเหมา เจ๋อ ตุง ที่ได้มองเห็นว่า ประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือประเทศตะวันตกหรือแม้แต่ฮ่องกง ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในยุคนั้น ได้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าประชาชนจีนหลายเท่า โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดที่สำคัญสองประการ คือ ขนาดจีดีพี และรายได้เฉลี่ยต่อหัว
ดังนั้น เมื่อเติ้ง เสียว ผิว ได้มีอำนาจปกครองจีนคอมมิวนิสต์ จึงได้กำหนดนโยบายสี่ทันสมัย ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการยอมรับเอาระบบทุนนิยมมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศจีนคอมมิวนิสต์
3.ถาม- วาทะของเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ว่า “จะเป็นแมวดำหรือแมวขาวก็ไม่ใช่ปัญหา ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน” หมายความว่าอย่างไร
ดร.ชา– หากแมวตัวใดจับหนูได้ ก็ไม่ควรตั้งเงื่อนไขว่า ต้องเป็นแมวสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน นั่นคือการทำหน้าที่ของแมว ซึ่งเป็นคำกล่าวเปรียบเปรยให้เห็นว่า หากระบบนายทุนจะสามารถทำให้จีนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ก็ควรจะยอมรับนำมาปรับใช้
4.ถาม– ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมขนานแท้มีจุดอ่อนอย่างไร จึงทำให้ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์หันมายอมรับระบบทุนนิยม
ดร.ชา-ในช่วงที่มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบการปกครองเดิมไปสู่การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ใหม่ ๆ ได้มีการยึดเอาทรัพย์สินของคนรวยมาเป็นสมบัติของรัฐหรือสมบัติของส่วนรวม คนรวยคนใดหากไม่หนีตายไปต่างประเทศ ก็จะถูกจับไปสัมมนาล้างสมอง หลายคนก็ตายไปในช่วงที่อ้างว่าเป็นการสัมมนานั่นเอง
ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องการให้มีนายทุน แต่ต้องการให้รัฐหรือระบบคอมมูนเป็นหน่วยดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ขาดสิ่งจูงใจที่จะทำให้มีคนทุ่มเทในการสร้างผลผลิต เพราะผลตอบแทนน้อย โอกาสที่จะเป็นเจ้าของกิจการหรือเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลมีน้อยมาก เพราะรัฐไม่เปิดโอกาสให้ทำได้
แม้ตามอุดมการณ์ ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมต้องการสร้างความเท่าเทียมกันของประชาชน ขจัดระบบนายทุนออกไป แต่ผลลัพธ์ที่ได้ กลับกลายเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันในด้านความยากจน
ดังนั้น การลงทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจึงไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐเองก็ไม่มีรายได้มาก การลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศก็ไม่มี
ผิดกับประเทศตะวันตกที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งมีการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ เศรษฐกิจจึงมีอัตราเจริญเติบโตมากกว่าประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นหลายเท่า
5.ถาม-นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว มีเหตุผลอื่นประกอบไหม
ดร.ชา-มีแน่นอน บรรดานายทุนเจ้าของโรงงานในระยะหลังก็ได้พยายามปรับปรุงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่พนักงาน คนงานหรือลูกจ้าง จนเป็นที่พอใจของพนักงาน คนงานหรือลูกจ้าง เช่น เพิ่มอัตราค่าจ้าง ปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น จัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้สิทธิคนงานรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง
ในส่วนของภาครัฐก็ได้จัดเป็นระบบรัฐสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าเล่าเรียนฟรี ค่ารักษาพยาบาลฟรี และการประกันสังคมในรูปแบบอื่น ๆ
6.ถาม– การที่ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นำระบบทุนนิยมไปปรับใช้ในประเทศของตน แต่ระบอบการเมืองการปกครองยังเป็นแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เหมือนเดิม จะไม่เป็นการขัดแย้งกันเองหรือ
ดร.ชา- เท่าที่ปรากฏก็ยังไม่พบว่า จะขัดแย้งอะไรกัน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม หรือลาว ก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประเทศ อำนาจในการปกครองประเทศยังคงเป็นประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง แม้จะมีการปกครองในรูปแบบที่เรียกว่าท้องถิ่น ก็มิได้มีอิสระอะไร ต้องปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของส่วนกลางภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น
ส่วนในทางด้านเศรษฐกิจ แม้จะยอมรับระบบกลไกตลาดแบบทุนิยม ยอมรับการให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ แต่รัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังคงเป็นผู้ชี้นำ ไม่ได้เป็นกลไกตลาดเสรีเหมือนอย่างประเทศตะวันตก
7.ถาม– การที่ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกตลาด แต่การเมืองการปกครองยังเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ได้ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร
ดร.ชา– ได้ส่งผลดีในแง่ที่ว่า การที่ประเทศเหล่านี้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงมาก และทำให้การถ่ายโอนอำนาจของผู้นำในแต่ละรุ่นเป็นไปอย่างราบรื่น (ไม่ชุลมุนวุ่นวายเหมือนอย่างในบางประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบล้มลุกคลุกคลาน) ซึ่งส่งผลดีต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในระยะยาว เพราะรัฐบาลทุกชุดก็คือคนของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น
ผิดกับประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่มั่นคงอย่างไทยเป็นต้น มีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ละพรรคก็มีนโยบายเป็นของตนเอง เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจเมื่อใด ก็จะเข้าไปรื้อยุทธศาสตร์หรือแนวนโยบายของพรรคคู่แข่ง อันเป็นเหตุทำให้ยุทธศาสตร์ของชาติระยะยาวยากที่จะประสบความสำเร็จ
อาจดูกรณีศึกษาประเทศไทยในขณะนี้ พอรัฐบาลมีแนวโน้มจะควบคุมการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ ความวุ่นวายทางการเมืองก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ดังจะเห็นได้จากการเสนอแก้รัฐธรรมนูญหลายร่างจากหลายพรรคและหลายฝ่าย
8.ถาม– ขอทราบความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มหรือทิศทางเศรษฐกิจลาวในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า
ดร.ชา– ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ภายในระยะเวลา 10-15 ปีข้างหน้า ระบอบการเมืองการปกครองของลาวก็จะยังคงเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ดังนั้น ยุทธศาสตร์หรือนโยบายในทางเศรษฐกิจของรัฐบาลลาวในปัจจุบันก็คงจะได้รับการสนองตอบและต่อยอดจากรัฐบาลลาวในอนาคต ระยะ 10-15 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน จะไม่มีการพลิกกลับไปกลับมาเหมือนอย่างในบางประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มั่นคง
ดังนั้น เมื่อการเมืองของลาวนิ่งหรือมีเสถียรภาพ มีการถ่ายโอนอำนาจของรัฐบาลตามวาระอย่างราบรื่น ประกอบกับการยอมรับระบบทุนนิยมและการลงทุนจากต่างประทศ จึงเชื่อได้ว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นและต่อเนื่องอย่างแน่นอน
ดร.ชา 369
18/06/21
ประชากรของประเทศลาวมีรายได้หลักมาจากอะไรคะ ขอบคุณค่ะ
เพราะเหตุใดชาวต่างชาติจึงไม่นิยมลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมในประเทศลาว ค่าแรงงานก็ถูกกว่าไทย
การที่ต่างชาติจะนิยมเข้ามาลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน คามยากง่านง่ายในการขออนุญาต สิ่งจูงใจทางภาษี ค่าแรงานถูกก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือตามที่ตลาดต้องการ ลาวคงยังขาดหลายอย่าง การลงทุนจึงยังไม่มากเท่าที่ควร
ทางตอนเหนือของประเทศลาว มีการปลูกกาแฟ กาแฟจากประเทศลาวถือเป็นพืชเศรษฐกิจของลาวนอกจากการทำเหมืองแร่ หรืออย่างไรคะ ในความคิดเห็นของอาจารย์
กาแฟเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของลาว เพราะลาวมีภูเขาเยอะอย่างกาแฟดาวยังไง เข้ามาตีตลาดในไทยด้วยนะ
อาจารย์เขียนเอง ตอบเอง บทความก็มีความสนุกในอีกรูปแบบหนึ่ง มีความเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ค่ะ
ยังงั้นเหรอ
การถาม-ตอบท้ายบทความก็เพื่อเสริมและขยายความเนื้อหาในบทความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หรืออาจจะพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นการเติมเต็มให้บทความนั่นเอง