บทความนี้ นับเป็นบทความลำดับที่ 2 ในหมวด เรื่องเล่า ประเทศไทยกับชาติมหาอำนโดยจะกล่าวถึง ความนำ ผลจากสงครามขยายอาณาจักร ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์และสงครามเย็น ผลจากโลกาภิวัตน์ สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึง สาเหตุทีทำให้ประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันของชาติมหาอำนาจตลอดมา นับตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ผ่านมายุคกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งยุคปัจจุบัน โดยมีชาติมหาอำนาจที่ได้แผ่อิทธิพลกดดันประเทศไทยหลายประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษหรือสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
สำหรับบทความนี้ ผมต้องการจะเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ชาติมหาอำนาจแผ่อิทธิพลและส่งแรงกดดันมายังไทย แลนด์หรือประเทศไทยได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่บางประเทศก็อยู่ห่างไกลเราคนละซีกโลก โดยผมขอแบ่งออกเป็นช่วง ๆ ดังนี้
- ผลจากสงครามขยายอาณาเขต
- ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม
- ผลจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์และสงครามเย็น
- ผลจากโลกาภิวิตน์
2.ผลจากสงครามขยายอาณาเขต
ในยุคโบราณ เป็นยุคสังคมเกษตรกรรม อาณาจักรต่าง ๆ ทั่วโลก ปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ในยุคสมัยนี้ ประชากรของแต่ละประเทศยังมีไม่มาก จึงยังไม่มีปัญหาของการแย่งชิงทรัพยากร
การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถือว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพ หรือเป็นเทพเจ้าจุติลงมาเกิดเพื่อปกครองหรือปราบยุคเข็ญให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ในยุคนี้มีความเชื่อว่า หากพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมีบุญญาธิการมาก จะต้องแสดงพระบรมเดชานุภาพแผ่พระราชอาณาจักรออกไปให้กว้างใหญ่ที่สุดเท่าที่จะได้ เช่น
2.1 จิ๋น ซี ฮ่องเต้
จักรพรรดิจีนผู้ยิ่งใหญ่ ที่สามารถรวมจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้พระองค์แรก และเป็นผู้สร้างกำแพงยักษ์เมืองจีน สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ
2.2 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
จักรพรรดิกรีกโบราณผู้ยิ่งใหญ่ สามารถขยายอาณาเขตได้กว้างใหญ่ไพศาลมาถึงอินเดีย
2.3 พระจ้าอโศกมหาราช
จักรพรรดิอินเดียโบราณผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถขยายอาณาเขตอินเดียได้กว้างใหญ่ไพศาล และที่สำคัญคือทรงเป็นผู้ประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วทุกสารทิศ รวมทั้งดินแดนสุวรรณภูมิ
สำหรับไทย แลนด์หรือประเทศไทยเราเคยตกเป็นประเทศราชของพม่าจำนวน 2 ครั้ง กล่าวคือ
การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2112 ในยุคสมัยของพระเจ้าบุเรงนองมหาราช กษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระมหินทราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งอีก 15 ปีต่อมา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงทรงประกาศเอกราช ณ เมืองแครง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2127 ไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป
การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ในยุคสมัยพระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะ และพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงสามารถกอบกู้เอกราชคืนให้ไทยได้สำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น
3.ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม
โลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากที่ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม(Industrial Revolution) ทำให้การผลิตสินค้าเปลี่ยนการผลิตด้วยมือเป็นการผลิตด้วยเครื่องจักร ทำให้การผลิตแค่พอกินพอใช้หรือแค่พอขายในชุมชนท้องถิ่น เปลี่ยนการผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายแก่คนทั้งเมือง ทั้งประเทศ และทั้งโลก (mass production)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (First Industrial Revolution) ราวปีค.ศ.1760-1820 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ราวปี ค.ศ.1870-1914 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นที่บริเตนใหญ่ (Great Britain) ราว ปีค.ศ.1760-1820 หรือ 1840 โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตสินค้าจากมือไปสู่เครื่องจักร (machines) มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทางเคมี(new chemical manufacturing) การผลิตเหล็ก(iron production) การใช้พลังงานไอ้น้ำและพลังน้ำ (steam power& water power) มีการพัฒนาการใช้เครื่องมือที่เป็นเครื่องจักร (machine tools) และการสร้างระบบโรงงานอุตสาหกรรม (mechanized factory system) ยิ่งกว่านั้น ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้นำไปสู่การเกิดของประชากรในอัตราสูงมากอย่างไม่คาดฝัน รวมทั้งขนาดจีดีพีของประเทศก็โตมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
หลังจากได้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในบริเตนใหญ่แล้ว การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้กระจายไปยังประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ อีก รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา
(Wikipedia, Industrial Revolution, 28th October 2020)
ด้วยผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว ทำให้ประเทศยุโรปตะวันตก จำเป็นต้องแสวงหาดินแดนเพิ่มเพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และในขณะเดียวกันก็เพื่อใช้เป็นตลาดรองรับสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศที่ผลิตได้จนล้นตลาดภายในประเทศ นี่คือที่มาของลัทธิล่าอาณานิคม
ลัทธิล่าอาณานิคม หมายถึงการที่ประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปตะวันตก ได้เข้ายึดครองประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเทศในเอเชีย อาฟริกา หรือดินแดนอื่นใดที่ยังด้อยพัฒนาอยู่ จึงทำให้หลายประเทศในโลกนี้ต้องเสียเอกราช ตกเป็นอาณานิคมของประเทศยุโรปตะวันตกที่ได้เจริญก้าวหน้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว
ในทวีปเอเชีย มีเพียงไม่กีประเทศที่เอาตัวรอดจากการตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกได้ ในจำนวนนี้มี ไทย แลนด์หรือประเทศไทยอยู่ด้วยประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของบูรพมหากษัตริย์ไทย
ลัทธิล่าอาณานิคม เกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20
4.ผลของการต่อสู้ทางอุดมการณ์และสงครามเย็น
สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังล่าว ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองของสองลัทธิอย่างรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง คือ ลัทธิประชาธิปไตย และลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
4.1 ลัทธิประชาธิปไตย (Democracy)
ลัทธิประชาธิปไตย คู่กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) หมายความว่า บรรดาประเทศยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการปกครองประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตย ส่วนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยม
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถใช้ระบบทุนนิยมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก แต่มีจุดอ่อนเรื่องการกระจายรายได้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นอย่างมากเช่นกัน
4.2 ลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (Communist Socialism)
ลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองของพวกนายทุนที่คอยเอารัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพอดทนไม่ได้จะลุกฮือขึ้นมาทำการปฏิวัติล้มล้างพวกนายทุนให้หมดไป แล้วสร้างรัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาแทน
จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เลนิน (Lenin)ได้ตั้งพรรคบอลเชวิก หรือพรรคของชั้นกรรมาชีพรัสเซีย โค่นล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยุคพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 แล้วสถาปนาการปกครองในระบอบสังคมนิคมคอมนิวนิสต์ขึ้นมาเป็นประเทศแรกในโลก เมื่อปี ค.ศ.1917
หลังจากนั้น ได้เกิดแรงบันดาลใจให้แก่ ดร.ซุน ยัต เซน และพวก ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุคพระนางทูสีไทเฮา เป็นการปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยในทำนองเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1912 แต่การบริหารประเทศไม่ประสพผลสำเร็จ และในเวลาอีก 37 ปีต่อมา จึงถูกเหมาเจ๋อตุงและพวกทำการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง เปลี่ยนจากการปกครองแบบสาธารณัฐประชาธิปไตยไปเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เมื่อปีค.ศ.1949 ตราบเท่าทุกวันนี้
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ได้เกิดการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่าง 2 ค่าย กลายเป็นสงครามเย็น เป็นระยะเวลายาวนาน 44 ปี (1947-1991) คือ
ค่ายโลกเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกา และยุโรปตะวันตก ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
ค่ายโลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ นำโดยอดีตสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ ยึดถืออุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
ทั้งสองค่ายได้ต่อสู้กันในทุกรูปแบบเพื่อให้ฝ่ายตนเป็นผู้ชนะ และแต่ละฝ่ายก็พยายามหาประเทศอื่น ๆ ให้เข้ามาเป็นพวกของตน โดยการต่อสู้กันในช่วงนี้ มีการสู้รบเพื่ออุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายหลายครั้ง แต่เป็นการสู้รบที่ไม่มีการประกาสงคราม เป็นสงครามที่เรียกว่า สงครามตัวแทน (Proxy War) อย่างเช่น
สงครามเวียดนาม 20 ปี ระหว่างพ.ศ.2498-2518 (1955-1975)
เป็นการสู้รบระหว่างเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตกและพันธมิตร รวมทั้งไทย แลนด์หรือประเทศไทยด้วย และอีกฝ่ายหนึ่งคือเวียดนามเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนคอมมวนิสต์ ในที่สุดฝ่ายเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะ และสามารถรวมเป็นประเทศเดียวกันสำเร็จในชื่อ ประเทศเวียดนาม จนกระทั่งทุกวันนี้
5.ผลจากโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)
หลังจากสงครามเย็นได้ยุติลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1991 โลกที่เคยแบ่งออกเป็น 2 ค่าย และได้ต่อสู้ขับเคี่ยวกันมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยชัยชนะของค่ายเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยม ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศอภิมหาอำนาจเดี่ยว นับแต่ปีค.ศ.1991 เป็นต้นมา
ยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของเทคโนโลยี เป็นยุคของสื่อ เป็นยุคของโลกไร้พรหมแดน (Borderless World)เป็นยุคของเครือข่าย ดังมีคำกล่าวว่า ยุคนี้ หากใครครองสื่อได้ ผู้นั้นครองโลก และเป็นยุคที่ถือว่า ทั้งโลกคือหนึ่งเดียว

แต่ในขณะเดียวกันประเทศจีนคอมมิวนิสต์ที่เคยเป็นประเทศที่ยากจนและล้าหลัง เมื่อได้ยอมรับเอาระบบทุนนิยมมาใช้ในการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ยุคของเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้นมา ได้ทำให้เศรษฐกิจของจีนได้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้ จนทำให้จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยครองตำแหน่งนี้มาเป็นเวลายาวนาน
แม้การเมืองการปกครองของประเทศจีนจะยังเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อยอมรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาใช้ ประกอบกับการเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ และมีประชากรมากที่สุดในโลก คือ มากกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้จีนพร้อมที่จะท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วงชิงขึ้นเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกให้ได้
6.สรุป
บทความนี้ต้องการชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า ไทย แลนด์หรือประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศขนาดกลาง ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน ได้รับแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจอย่างไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ยุคใหญ่ ๆ คือ ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและล่าอาณานิคม ยุคการต่อสู้ทางอุดมการณ์และยุคสงครามเย็น และยุคปัจจุบันคือยุคโลกาภวิวัตน์
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม โปรดติดตามได้ในหัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมวันนี้ คงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ คุณเนรมิต(ชื่อสมมุติ) เพื่อนของผมผู้เคยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนปริญญาตรี-โท ที่อเมริกาเป็นเวลาหลายปี

“ สวัสดีครับ คุณเนรมิต วันนี้ผมมีเรื่องขอรบกวนเวลาท่าน เพื่อสนทนากันในเรื่องของการแย่งชิงความเป็นหนึ่งเดียวของโลก ในยุคปัจจุบันซี่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ท่านคิดว่าประเทศใดน่าจะเป็นฝ่ายชนะ ระหว่างอเมริกา กับ จีน” ผมรีบถามเข้าประเด็นทันที เพราะมีเวลาน้อย
“ สวัสดีครับ ดร.ชา ผมคิดว่า ได้เปรียบเสียเปรียบกันคนละอย่าง
ผมขอพูดถึงอเมริกาก่อน เพราะผมเคยไปอยู่มาหลายปี พอจะมองเห็นภาพได้ชัดเจน คือ อเมริกาเขาเป็นประเทศที่เกิดใหม่ มีอายุแค่ 244 ปี เจริญเติบโตเร็ว มีดินแดนกว้างใหญ่ ขนาดพอ ๆ กับจีน ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญทางทางเทคโนโลยี สูงที่สุด ประชากรก็ไม่น้อย มีราว 330 ล้านคน แต่การเป็นประเทศประชาธิปไตยนี่มีข้อจำกัดคือ ประชาชน ดังนั้นหากประชาชนไม่เอาด้วย รัฐบาลอเมริกา ก็ย่อมจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามใจตัวเอง
ส่วนจีน เป็นประเทศเก่าแก่มีอายุมากกว่า 5,000 ปี มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ในด้านเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา ด้านเทคโนโลยี แม้โดยภาพรวมอาจจะยังไม่เจริญเท่าอเมริกา แต่ทุกวันนี้จีนเขาก็พัฒนาไปมากแล้ว และที่สำคัญคือ เขาปกครองด้วยระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ มีพรรคการเมืองพรรคเดียว มีเสถียรภาพทางการเมือง หากรัฐบาลจีนอยากจะทำอะไร ก็ทำได้โดยประชาชนจะไม่เป็นอุปสรรค เป็นเรื่องของรัฐและรัฐบาลทำได้เลย ผู้นำพรรคคอมมิวนิวนิสต์จีน คือผู้นำประเทศ สามารถดำรงตำแหน่งไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะตายหรือลาออกนั่นแหละ อย่างประธานาธิบดีจีน คนปัจจุบัน สี จิ้นผิง คงจะดำรงตำแหน่งนี้ได้อีกหลายปี
ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีอเมริกาคนปัจจุบัน คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ทราบว่า จะได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งไหม ” คุณเนรมิตตอบกว้าง ๆ
“ แสดงว่า คุณเนรมิตมองเห็นว่า ทางด้านการเมือง จีนน่าจะได้เปรียบ เพราะเขาไม่ต้องเปลี่ยนผู้นำประเทศบ่อยเหมือนอเมริกา จึงทำให้การดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ในระยะยาว มีโอกาสประสบผลสำเร็จใช่ไหม ” ผมถามเพื่อให้คุณเนรมิตยืนยัน
“ ใช่แล้ว ดร.ชา แต่ถ้ามองด้านการทหาร อเมริกาน่าจะได้เปรียบ โดยเฉพาะด้านกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองทัพอวกาศ เพราะได้พัฒนามายาวนานกว่าจีน ” คุณเนรมิตตอบอย่างมั่นใจ เพราะเคยอยู่อเมริกามาหลายปี
“อีกคำถามหนึ่ง การสู้รบกัน ต้องใช้เงินใช้ทองเยอะมาก หากประเทศใดไม่พร้อม เขาคงไม่พยายามก่อสงครามขนาดใหญ่ขึ้นมา ท่านคิดว่า เวลานี้ ด้านเศรษฐกิจ จีนหรืออเมริกา ใครน่าจะแข็งแกร่งกว่ากัน ” ผมถามเพื่อหาคำตอบในเชิงสรุป
“ ผมคิดว่า ด้านเศรษฐกิจ ณ เวลานี้ จีนน่าจะแข็งแกร่งกว่ามาก เพราะจีนเขามีเงินสดในมือเหลือมากกว่า แม้แต่อเมริกา ก็เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของจีน ” คุณเนรมิตตอบอย่างใช้ความคิดเล็กน้อย
“ขอบคุณมากนะ คุณเนรมิต วันนี้เราคุยกันพอหอมปากหอมคอ เอาไว้โอกาสต่อไปค่อยคุยกันใหม่ ดีไหม ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับ ดร.ชา ”
อ่านเข้าใจง่ายเห็นภาพชัดเจนครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณมาก คุณเบนซ์
ขอบคุณ คุณเนรมิตรที่มาให้ความรู้ เป็นครั้งที่สามค่ะ อยากฟังนักเรียนนอกเล่าให้ฟังค่ะ
ถ้าประเทศไหนเปลี่ยนผู้นำบ่อย ยุทธศาสตร์การพัฒนาต้องเปลี่ยนตามผู้นำ ทำไมผู้นำประเทศไม่มาสานต่อนโยบายของผู้นำคนเดิมคะ ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ
การเปลี่ยนผู้นำแต่ละครั้ง จะมีผลต่อนโยบายในการบริหารประเทศไม่มากก็น้อย เพราะผู้นำแต่ละคนย่อมมีความคิดและความต้องการแตกต่างกันไป
โดยเฉพาะอย่างย่ิ่ง ผู้นำต้องปฏิบัติตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด หากผู้นำคนใดมีโอกาสดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนืองได้ยาวนาน โอกาสที่จะบริหารประเทศ
ให้บรรลุเป้าหมายย่อมมีมาก
อเมริกาได้เปรียบจีน ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลนี และการทหารที่เหนือกว่า แต่จีนมีรัฐบาลที่เสถียรภาพกว่า สามารถดำเนินตามนโบายได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เพราะมีการพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว สามารถทำงานต่อเนื่องได้ ผมคิดว่าต่อไปจีนจะต้องเจริญรุ่งเรืองกว่าอเมริกา อย่างแน่แท้ครับ
คงจะสรุปอะไรยังไม่ได้ เพราะเมื่อก่อนรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียตก็เคยเป็นคอมมิวนิสต์ แตุ่ทุกวันนี้เป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกาและยุโรปแล้ว ทุกอย่าง อนิจจัง ไม่เที่ยงแท้