ในบทความ (1)เรื่องเล่า ระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครอง ของประเทศที่พัฒนาแล้ว: ความเบื้องต้น (คลิกข้อความสีฟ้า เพื่อย้อนกลับไปอ่านบทความได้) ได้กล่าวถึงระบบตำรวจและรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้วและน่าสนใจ จำนวน 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยแต่ละประเทศมีรูปแบบการปกครองประเทศและระบบตำรวจที่แตกต่างกัน
สำรับบทความ (2)จะเล่าถึงรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษ ประกอบด้วย คำนำ รูปแบบการปกครองประเทศ รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เปรียบเทียบรูปแบบการปกครองไทยกับอังกฤษ สรุปและข้อคิดเห็น
ก่อนจะทำความเข้าใจระบบตำรวจของประเทศใดประเทศหนึ่งว่า ทำไมจีงมีรูปร่างหน้าเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ต้องหาคำตอบจากการศึกษารูปแบบการปกครองของประเทศน้ัน ๆ ว่า มีรูปแบบอย่่างไร ใช้หลักการอะไรในการจัดรูปแบบการปกครองประเทศ กรณีการทำความเข้าใจระบบตำรวจของประเทศอังกฤษก็เช่นกัน จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษในภาพรวมเสียก่อน
Table of Contents
1.คำนำ
เวลาท่านได้ฟังข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศอังกฤษ คงจะมีความสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะบางครั้งก็ได้ยินคำว่า ประเทศอังกฤษบ้าง ประเทศสก็อตแลนด์บ้าง บริเตนใหญ่บ้าง และแคว้นไอร์แลนด์เหนือบ้าง ทำให้เกิดความสงสัยว่า แต่ละคำมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร และจะใช้เมื่อใด
ผมขอทำความเข้าใจอย่างนี้
คำว่า สหราชอาณาจักร (United Kingdom of Great Britain and North Ireland) หมายถึง ดินแดนที่ประกอบด้วยดินแดนที่เคยราชอาณาจักรมีพระมหากษัตริย์ปกครองจำนวน 4 ราชอาณาจักรที่ได้รวมเข้ากันเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน ได้แก่ (Wikipedia, United Kingdom,)
1.อังกฤษ (England) ซึ่งเป็นที่ตั้งกรุงลอนดอน มีประชากรราว 55.62 ล้านคน
2.เวลส์ (Wales) โดยเวลส์ได้รวมเข้ากับอังกฤษเมื่อปีค.ศ.1536 มีเมืองหลวงชื่อ กรุงคาร์ดิฟฟ์
(Cardiff) อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบริเตนใหญ่ มีประชากรประมาณ 3.12 ล้านคน บางครั้งเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า ประเทศหรือแคว้นเวลส์ก็มี
3.สก็อตแลนด์ (Scotland) โดยสก็อตแลนด์ได้รวมเข้าอังกฤษเมื่อปีค.ศ.1707 มีพื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะบริเตนใหญ่ อยู่ทางตอนเหนือ มีเมืองหลวงชื่อ กรุงเอดินเบอระ (Edinburgh) มีประชากรประมาณ 5.24 ล้านคน บางครั้งเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า ประเทศหรือแคว้นสก็อตแลนด์ก็มี
เมื่อรวมดินแดนบนเกาะบริเตนใหญ่ทั้งสามส่วนเข้าด้วยกัน เรียกว่า บริเตนใหญ่ (Great Britain)
4.ไอร์แลนด์เหนือ (North Ireland) ตั้งอยู่บนเกาะไอร์แลนด์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองหลวงขื่อ กรุงเบลฟาสต์ (Belfast) มีประชากรประมาณราว 1.87 ล้านคน บางครั้งเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า ประเทศหรือแคว้นไอร์แลนด์เหนือก็มี
เมื่อปีค.ศ.1801 รัฐสภาบริเตนและรัฐสภาไอร์แลนด์ได้ผ่านกฎหมายให้รวมไอร์แลนด์เข้ากับบริเตนใหญ่ แต่ต่อมาเมื่อปีค.ศ.1921 ชาวไอร์แลนด์ที่อยู่ทางตอนใต้ขอแยกตัวออกมาเป็นประเทศใหม่เป็นประเทศสาธารณรัฐ เรียกชื่อว่า สาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Republic of Ireland) ส่วนดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือยังคงรวมอยู่กับบริเตนใหญ่ต่อไป เรียกชื่อว่า ไอร์แลนด์เหนือ
เมื่อรวมดินแดนที่เรียกว่าบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือเข้าด้วยกัน เรียกว่า
สหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (Kingdom of Great Britain and Northern Ireland)
สหราชอาณาจักรมีประชากรรวมกันทั้งหมดราว 67.614 ล้านคน (Worldmeter,2019 )

แต่คนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า คำว่า อังกฤษ และสหราชอาณาจักรคือคำเดียวกัน อาจเป็นเพราะเมืองหลวงของอังกฤษ และเมืองหลวงของสหราชอาณาจักร คือกรุงลอนดอน เหมือนกัน
เพื่อป้องกันความสับสนของท่านผู้อ่าน ในบทความชุดเรื่องเล่า ระบบตำรวจ ฯ นี้ หากผมต้องการสื่อให้ท่านเข้าใจว่า อังกฤษ หมายถึงประเทศอังกฤษหรือประเทศสหราชอาณาจัร ผมขอใช้คำว่า ประเทศอังกฤษ แต่ถ้าต้องการสื่อในความหมายถึง อังกฤษ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ผมขอใช้คำว่า อังกฤษ เฉย ๆ
การที่เรียก เวลส์ หรือสก็อตแลนด์ หรือไอร์แลนด์เหนือ ว่าเป็นประเทศหรือแคว้นก็ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว อีกทั้งแต่ละแคว้นก็ยังมีสภาและรัฐบาลของตนเอง โดยมีอำนาจตามที่รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรมอบหมาย โดยมีระบบกฎหมาย และระบบการปกครองท้องถิ่นของแต่ละแคว้นเอง ไม่ได้ใช้ระบบกฎหมายและระบบการปกครองท้องถิ่นเหมือนกันหมดทั้งประเทศเหมือนประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว (Unitary State) โดยทั่วไป
โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ 4/1 จักรวรรดิอังกฤษหรือบริเตน (British Empire) อันยิ่งใหญ่ในอดีตทาง https://drchar.home.blog.com
2.รูปแบบการปกครองส่วนกลางและการปกครองแคว้นของประเทศอังกฤษ
ประเทศอังกฤษเป็นประเทศรัฐเดี่ยวที่มีลักษณะคล้ายๆ รัฐรวมกล่าวคือ คล้ายกับมีรัฐเล็กภายใต้รัฐใหญ่อีกจำนวน ๓ รัฐเล็ก ทั้งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ แคว้นเวลส์ และแคว้นสก็อตแลนด์ ในอดีตเคยมีฐานะเป็นประเทศเอกราชมาก่อน มีกษัตริย์ปกครองก่อนที่จะเข้ามารวมเป็นประเทศเดียวกันกับอังกฤษ ส่วนแคว้นไอร์แลนด์เหนือในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไอร์แลนด์ แต่เนื่องจากมีความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรง ประเทศไอร์แลนด์ที่อยู่ทางตอนใต้จึงแยกตัวออกไปตั้งเป็นประเทศไอร์แลนด์ ส่วนดินแดนทีอยู่ทางเหนือก็ยังคงรวมเป็นส่วนหนึ่งขอสหราชอาณาจักร เรียว่า แคว้นไอร์แลนด์เหนือ
ดังนั้น จึงทำให้ประเทศสหราชอาณาจักรมีรูปแบบการปกครอง 4 รูปแบบตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ
2.1 รัฐสภาของประเทศอังกฤษ (Parliament of United Kingdom)
การปกครองของประเทศอังกฤษเป็นระบบรัฐสภา (Parliamentary Sovereignty) ซึ่งเป็นระบบสองสภา คือ สภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร (Lower House/the House of Commons) และสภาสูงหรือสภาขุนนาง (Upper House/the House of Lords) แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร
สมาชิกสภาขุนนางได้มาจากการแต่งตั้ง ประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภท คือ
ประเภทแรก เป็นนักบวชอาวุโส (Lords Spiritual)
ประเภทที่สอง เป็นพวกขุนนาง (Lords Temporal)
อาคารของรัฐสภาสหราชอาณาจักรอยู่ที่พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ (Palace of Westminster) บางครั้งจึงเรียกว่า รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ ตั้งอยู่ใน City of Westminster ในกรุงลอนดอน
2.2 สภาแห่งชาติเวลส์( National Assembly for Wales) ตั้งอยู่ที่กรุงคาร์ดิฟ (Cardiff) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นเวลส์ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย Government of Wales Act 1998 นับตั้งแต่ปี ๒๐๑๒ เป็นต้นมา สภานี้สามารถออกกฎหมายใช้บังคับในแคว้นเวลส์ได้อย่างจำกัดเท่าที่รัฐสภาแห่ง สหราชอาณาจักรได้มอบอำนาจไว้
2.3 สภาแห่งแคว้นสก็อตแลนด์ (Scottish Parliament) ตั้งอยู่ที่กรุงเอดินเบอระ (Edinburgh) เมืองหลวงของแคว้น สก็อตแลนด์ สภาแห่งสก็อตแลนด์ปัจจุบันได้จัดตั้งขึ้นใหม่ตามกฎหมายสก็อตแลนด์ ๑๙๙๘ (Scotland Act 1998) มีอำนาจในการออกกฎหายใช้บังคับในแคว้นสก็อตแลนด์ได้อย่างกว้างขวางในส่วนที่รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรมิได้สงวนอำนาจไว้
คณะรัฐบาลของสก็อตแลนด์มีหัวหน้าเรียกว่า First Minister of Scotland
2.4 สภาของแคว้นไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Assembly) ตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๑๙๙๘ ตามข้อตกลง 1998 Good Friday Agreement ตั้งอยู่ที่กรุงเบลฟัสต์ (Belfast) เมืองหลวงของแคว้นไอร์แลนด์เหนือ มีอำนาจในการออกกฎหมายบังคับใช้ในแคว้นได้อย่างกว้างขวางในส่วนที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักรมิได้สงวนอำนาจไว้ นอกจากนี้ยังเป็นผู้แต่งตั้งฝ่ายบริหารของแคว้นไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Executive)
ขอให้ท่านผู้อ่าน สังเกตดูว่า สภาของแคว้นสก็อตแลนด์ และสภาแห่งแคว้นไอร์แลนด์เหนือ มีอำนาจคล้ายมลรัฐของอเมริกา มีอำนาจในส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากอำนาจทีรัฐสภาสหราชอาณาจักรสงวนไว้ แต่สภาของแคว้นเวลส์มีอำนาจเฉพาะส่วนที่รัฐสภาสหราชอาณาจักรมอบให้เท่านั้น
3.รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศอังกฤษ
นอกเหนือไปจากรูปแบบการปกครองส่วนกลางและการปกครองแคว้นของสหราชอาณาจักรดังได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อ 2 ภายในแต่ละแคว้นก็ยังมีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษเป็นหลัก ส่วนรูปแบบของการปกครองส่วนท้องถิ่นในแคว้นเวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันบ้างตามที่สภาแคว้นกำหนด แต่รูปแบบก็ไม่แตกต่างไปจากรูปแบบของอังกฤษ

รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของอังกฤษ มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสองชั้น และรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบชั้นเดียว
3.1 รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสองชั้น (Two tier system) ประกอบด้วย
สภาเคาน์ตี้ (County councils) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน เปรียบได้กับองค์กการบริหารส่วนจังหวัดของไทย มีอยู่จำนวน 27 แห่ง
สภาเขต (District councils) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง เปรียบได้กับเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลของไทย มีจำนวน 201 แห่ง
*หากพื้นที่ส่วนใดอยู่ในชนบทและยังมีความเจริญน้อย อาจมีสภาเมืองเล็กหรือแพริช (Town and parish councils) ด้วย น่าจะพอเปรียบเทียบกับการปกครองในรูปแบบหมู่่บ้านของไทย
** การบริหารสภาท้องถิ่นของอังกฤษ บริหารในรูปของคณะกรรมการสภาท้องถิ่นฝ่ายต่าง ๆ โดยผู้ดำรงประธานสภาและนายกเทศมนตรีเป็นคนเดียวกัน
3.2 รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบชั้นเดียว (Unitary authorities)
ในบางพื้นที่ อาจจะรวมเมืองขนาดใหญ่และนคร และเคาน์ตีขนาดเล็กหลายแห่งเข้าด้วยกัน เกิด เป็นองค์กรการปกครองท้องถิ่นเดียวกัน เพราะรวมเอาเคาน์ตีและเขตหลายแห่งเข้าด้วยกันแล้ว จึงกลายเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบชั้นเดียว โดยมีอำนาจหน้าที่ของสภาเคาน์ตี้และสภาเขตรวมกัน และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูปเกิดขึ้นใหม่ และอาจจะเรียกชื่อเป็นสภานคร (city councils) สภาเบอเรอะ (borough councils) สภาเคาน์ตี้ (county councils) หรือสภาเขต (district councils) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูป ประกอบด้วย
3.2.1 เขตมหานคร (Metropolitan districts) จำนวน 36 แห่ง
3.2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูป (Unitary authorities) จำนวน 55 แห่ง
3.2.3 เกาะซิลลี (Isles of Scilly) จำนวน 1 แห่ง
3.3 รูปแบบการปกครองของมหานครลอนดอน (London Region)
พื้นที่เรียกว่า มหานครลอนดอน (Greater London) มีรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นแบบ 2 ชั้น คือ
3.3.1การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.) กรุงลอนดอน (The City of London)
กรุงลอนดอน เป็นเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมหานครลอนดอน เป็นศูนย์กลางด้านการเงินการคลังและธุรกิจ มีฐานะเป็นเคาน์ตี้ด้วย มีพื้นที่ 1.12 ตารางไมล์ หรือ 2.90 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่อาศัยราว 9,401 คน แต่มีคนมาทำงานในพื้นที่มากกว่า 500,000 คน องค์กรที่บริหารงานเรียกว่า เทศบาลกรุงลอนดอน (City of London Corporation) ในรูปแบบนายกเทศมนตรี (Lord Mayor) และสภาเทศบาล (Wikipedia, City of London, 10th July 2020)
กรุงลอนดอน แม้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหานครลอนดอน แต่มิได้ขึ้นต่อมหานครลอนดอน เพราะมีฐานะเป็นเคาน์ตี จึงขึ้นตรงต่อรัฐบาล

(Wikipedia, London City, 11th July 2020)
2.) เบอเรอะลอนดอน (London boroughs)
มีจำนวน 32 แห่ง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเขตอยู่ล้อมรอบกรุงลอนดอน บริหารงานในรูปแบบคณะเทศมนตรีและสภาเทศบาล มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานภายในเขตสภาเบอเรอะลอนดอนตามอำนาจหน้าที่ได้โดยอิสระ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจตรงนี้ชัดเจน ผมขอให้ลองหลับตาวาดภาพดูว่า หากกรุงเทพมหาคร คือ มหานครลอนดอน พื้นทีที่เป็นที่ตั้งพระบรมหาราชวังและบริเวณโดยรอบที่เรียกว่าเกาะรัตนโกสินทร์ คือ พื้นที่ที่เรียกว่า กรุงลอนดอน และพื้นที่บริเวณโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ จำนวน 50 เขต คือเบอเรอะลอนดอน แต่นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นภาพคร่าว ๆ ไม่ได้ตรงกันทีเดียว
3.3.2 การปกครองมหานครลอนดอนระดับบน
เหนือพื้นที่กรุงลอนดอนและเบอเรอะลอนดอน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เรียกชื่อว่า องค์การมหานครลอนดอน (Greater London Authority) มีฐานะเป็นเคาน์ตี บริหารงานในรูปแบบนายกเทศมนตรี (Mayor) และสภามหานครลอนดอน มีพื้นที่ 1,572 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 8,546,761 คน มีอำนาจในการบริหารงานเขตพื้นทีเบอเรอะลอนดอนทั้ง 32 แห่งในวงกว้าง แต่ไม่มีอำนาจในการบริหารในพื้นที่กรุงลอนดอน เพราะกรุงลอนดอนมีฐานะเป็นเคาน์ตีด้วย (Wikipedia, Greater London, 10th July 2020)
4.เปรียบเทียบรูปแบบการปกครองของประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ
แม้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนประเทศอังกฤษ แต่โครงสร้างและรูปแบบในการปกครองประเทศแตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ
ประการแรก ประเทศอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ประการที่สอง ประเทศอังกฤษมีรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ถือว่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา นอกเหนือไปจากรัฐสภาแห่งชาติแล้ว ยังมีสภาแห่งแคว้นอีก 3 แห่ง คือ สภาแคว้นเวลส์ สภาแคว้นสก็อตแลนด์ และสภาแคว้นไอร์แลนด์เหนือ ส่วนประเทศไทยไม่มีสภาแห่งแคว้น
ประการที่สาม ประเทศอังกฤษไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค มีแต่การปกครองส่วนกลาง และการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนประเทศไทยมีการปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น
ประการที่สี่ รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศอังกฤษมีทั้งการปกครองท้องถิ่นแบบสองชั้น (ชั้นบนคือ สภาเคาน์ตี และชั้นล่างคือสภาเขต) และการปกครองท้องถิ่นแบบชั้นเดียว (ยุบรวมสภาเคาน์ตี สภาเขตเข้าด้วยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูป ในพื้นที่ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องแยกสภาเคาน์ตีและสภาเขตออกจากกัน) ส่วนการปกครองท้องถิ่นของไทยมีรูปแบบเดียว คือ รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสองชั้น ชั้นบน คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด และชั้นล่างคือเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล
ประการสุดท้าย รูปแบบการปกครองเมืองหลวงของประเทศอังกฤษ คือมหานครลอนดอน ได้ยกฐานะเขตต่าง ๆ ของมหานครลอนดอนที่มีอยู่เดิมจำนวน 33 แห่ง ให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกรูป (Unitary authorities) ประกอบด้วย กรุงลอนดอน (City of London) มีฐานะเป็น เคาน์ตี และเบอเรอะลอนดอน อีก 32 แห่ง มีฐานะเป็นสภาท้องถิ่นระดับเขต ส่วนมหานครลอนดอนซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนเบอเรอะลอนดอนและกรุงลอนดอน มีอำนาจหน้าที่บริหารงานในส่วนที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเบอเรอะลอนดอน ส่วนกรุงลอนอำนาจมีอำนาจบริหารเป็นของตนเองเพราะมีฐานะเป็นเคาน์ตี
แต่กรุงเทพมหานคร บริหารงานในรูปแบบมหานครระดับเดียว ประกอบด้วยสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนเขตต่าง ๆ จำนวน 50 เขต เป็นหน่วยย่อยของกรุงเทพมหานคร ไม่มีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. สรุปและข้อคิดเห็น
ก่อนที่จะทำความเข้าใจระบบตำรวจของประเทศอังกฤษ จำเป็นต้องเข้าใจรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษก่อน เพราะรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษแตกต่างไปจากรูปแบบการปกครองของประเทศไทยมาก กล่าวคือ ประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร ประกอบด้วยอาณาจักร 4 แห่งที่เคยเป็นราชอาณาจักรมารวมกันเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน ประกอบด้วย อังกฤษ เวลส์ สก็อแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ จึงทำให้มีรูปแบบการปกครองผสมผสานระหว่างรูปแบบของรัฐเดี่ยวกับรูปแบบของรัฐรวมด้วย
การที่สภาแคว้นสก็อตแลนด์และสภาแคว้นไอร์แลนด์เหนือมีอำนาจในส่วนที่รัฐสภาแห่งชาติ หรือแม้แต่การที่สภาแคว้นเวลส์อาจได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาแห่งชาติ จึงทำให้สภาแห่งแคว้นมีอำนาจคล้าย ๆ กับมลรัฐในรูปแบบของรัฐรวม
นอกจากนี้ การที่การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศอังกฤษได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลาช้านาน จึงทำให้มีความเข้มแข็งและเป็นอิสระ โดยส่วนกลางแทบไม่ต้องใช้อำนาจในการกำกับดูแล และถ้ามีความจำเป็นต้องใช้อำนาจ ก็จะใช้อำนาจทางศาล
หวังว่า ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าใจรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษนะครับ
หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านเห็นว่า น่าจะเผยแพร่ให้เพื่อน ๆ ทราบ กรุณากดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม(Subscribe) หรือกดคอมเมนต์ด้วย จักขอบคุณยิ่ง
พบกันใหม่ในบทความต่อไป ระบบตำรวจของอังกฤษแตกต่างจากระบบตำรวจไทย
ดร.ชา
11/07/20
(politics.co.uk, Local government structure, 10th 2020)
ชื่อเรื่องเหมาะกับ้รื่องเค่ะอาจารย์
ผมคิดว่า คนไทยมักจะคอมเมนต์อะไรขึ้นมาลอย ๆ โดยไม่ดูรากเหง้า โครงสร้างหลัก หรือรูปแบบการปกครองประเทศเสียก่อนว่า ระบบของต่างประรเทศที่เราอาจจะชื่นชมหรือชื่นชอบ
จะสามารถนำมาปรับใช้กับรูปแบบการปกครองของประเทศเราได้ไหม อย่างเรื่องระบบตำรวจจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ก็ต้องดูรูปแบบการปกครองของเราก่อนว่าพร้อมที่จะรองรับได้หรือไม่
ขอบคุณครับอาจารย์ ที่ทำให้เข้าใจและเห็นภาพของรูปแบบการปกครองของประเทศอังกฤษในภาพรวม เป็นอย่างดีครับ
อาจารย์ดีใจ ที่สามารถเขียนบทความที่สร้างความเข้าใจที่ดีและถูกต้องให้พวกเราได้