บทความ (2) เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์:หลักธรรมเบื้องต้นที่ควรทราบ โดยจะเล่าเรื่อง สมุทัย มรรคแปด การจัดกลุ่มมรรคแปด สรุป และปิดท้ายด้วย คุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.คำนำ
ในบทความ (1) เป็น เรื่องเล่า ให้ทานทราบว่าเพราะเหตุใดผมจึงสนใจฝึกการปฏิบัติเพื่อคลายทุกข์
ก่อนที่จะเล่าถึงการฝึกปฏิบัติธรรม ผมคิดว่า จำเป็นต้องเล่าถึงหลักธรรมเบื้องต้นที่ควรทราบก่อน ได้แก่ สมุทัย มรรคแปด และการจัดกล่มมรรคแปด
หากเราไม่มีความรู้ในหลักธรรมเบื้องต้นดังกล่าว การฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ก็อาจจะหลงทางได้ และถ้าหลงทาง ยิ่งฝึกปฏิบัติมากเท่าใด การหลงทางก็จะยิ่งลึกเข้าไปมากเท่านั้น จนยากที่จะกลับมาสู่หนทางที่ถูกต้องได้ เหมือนอย่างนักบวชทั้งหลายที่มีอยู่ในยุคที่พระพุทธองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่ ต่างก็มีการปฏิบัติตามความเข้าใจและความเชื่อของลัทธิตน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด แม้จะทุ่มเทการฝึกปฏิบัติอย่างถวายชีวิต ก็จะไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ เพราะการหลงทางนั่นเอง
ส่วนพระพุทธองค์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงฝึกตามแนวทางของนักบวชหรือโยคีของศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นศาสนาหลักของประเทศอินเดียในยุคนั้น จนทรงเห็นว่า ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ จึงได้ตัดสินพระทัยที่จะค้นคว้าหาหนทางดับทุกข์ให้ได้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงใช้เวลาถึง 6 ปี จึงได้ตรัสรู้ โดยทรงค้นพบอริสัจสี่ หรือความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ได้แก่ ทุกข์-สมุทัย มรรค-นิโรธ
2.สมุทัย
สมุทัย คือ สาเหตุแห่งทุกข์ การที่คนเราเกิดมาแล้วมีความทุกข์ ก็เพราะมีกิเลสตัณหา อันเกิดจากการมีความโลภ ความโกรธ และความหลง หรือ โลภะ โทสะ และโมหะ
ความโลภ คือ ความอยากมี อยากได้ และอยากได้ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของการดำรงชีพของแต่ละบุคคล หรือเกินฐานะที่ควรจะเป็นของตน เช่น เห็นคนอื่นเขารวยก็อยากจะรวยบ้าง โดยไม่คำนึงถึงที่มาของรายได้ว่าจะได้มาอย่างไร ตนมีความสามารถจะหาได้หรือไม่

ความโกรธ คือ การแสดงอารมณ์ไม่พอใจต่อบุคคลหรือสัตว์หรือสิ่งของเพราะขาดสติ หากความโกรธรุนแรง อาจนำไปสู่การกระทำที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือบุคคลอื่นได้ เช่น
นาย ก.โกรธเพราะ ข. ขับรถปาดหน้า จึงมีความโกรธ พอรถติดไฟแดง จึงลงจากรถเอาปืนไปยิง ข. ถึงแก่ความตาย การกระทำของ นาย ก.มีความผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เป็นต้น

ความหลง คือ การเห็นผิดเป็นชอบ หรือการเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ตนคิดหรือเข้าใจนั้น เป็นความคิดที่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ความจริงเป็นความเข้าใจผิด เช่น
นักบวชหรือโยคีในยุคที่พระพุทธองค์มีพระชนมาชีพอยู่ เข้าใจว่า การทรมานตนอย่างยิ่งยวดจะทำให้พ้นทุกข์ หรือเข้าใจว่าการมัวเมาในการเสพสุขหรือเสพกาม เป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์
ชีวิตของคนเราไม่ว่าในยุคใดสมัยใดก็ตาม การที่มีความทุกข์ก็เพราะความโลภ ความโกรธ และความหลงทั้งสิ้น ปัญหาการคอร์รับชั่นในประเทศเราหรือประเทศใด ๆ ในโลก เกิดจากความโลภและความหลง หากไม่มีความโลภ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำการทุจริต หากไม่มีความหลงว่า สังคมนิยมยกย่องคนร่ำรวยโดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม ก็จะไม่ดิ้นรนที่จะแสวงหาความร่ำรวยด้วยการกระการทุจริต เป็นต้น
3.มรรคแปด
เมื่อได้ทราบแล้วว่า สมุทัย คือ ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ดังนั้น หากอยากพ้นทุกข์ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยการปฏิบัติตามมรรคแปด ซึ่งเป็นทางสายกลาง ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป
มรรคแปด ได้แก่
3.1 สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง หรือเห็นชอบ
หมายความว่า ต้องมีความรู้ในอริสัจสี่ ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นหลักใหญ่ หากเป็นถนนก็เปรียบเสมือนเป็นถนนสายประธาน การมีความเห็นที่ถูกต้องนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของมรรคแปด หากเริ่มต้นด้วยความเห็นที่ผิด หรือมีมิจฉาฐิติ การปฏิบัติในขั้นต่อไปก็จะผิดหมด
ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินภาษิตฝรั่งที่ว่า การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง (Well begun Is half done)
จะเห็นได้ว่า จุดเริ่มต้นมีความสำคัญมาก เพราะถ้าเริ่มต้นถูกต้อง ที่เหลือจึงเป็นเพียงความเพียรพยายามไปสู่จุดหมายปลายทางเท่านั้นเอง
3.2 สัมมาสังกัปปะ ความคิดที่่ถูกต้อง หรือดำริชอบ
หมายถึง ความคิดที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นการขยายความของสัมมาทิฐิ หากคิดผิดการกระทำก็จะผิด เพราะปกติคนเราย่อมทำตามที่คิดไว้ก่อน
3.3 สัมมาวาจา วาจาที่ถูกต้อง หรือวาจาชอบ
หมายถึง การงดเว้นจากการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ หากใครไม่มีสัมมาวาจาแล้ว ปัญหาความยุ่งยากในชีวิตหลายอย่างจะตามมา เช่น ถูกฟ้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท ถูกดำเนินคดีฐานนำข้อความอันเป็นเท็จลงเผยแพร่ทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
3.4 สัมมากัมมันตะ การปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือปฏิบัติชอบ
หมายถึง การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ และการประพฤติผิดในกาม
3.5 สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง หรือเลี้ยงชีพชอบ
หมายถึง การทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต เว้นจากมิจฉาอาชีวะ รวมทั้ง การค้าขายอาวุธ การค้ามนุษย์ การค้าขายสัตว์เป็นเพื่อให้เขานำไปฆ่า การค้าขายน้ำเมา และการค้าขายสิ่งทีพิษ
3.6 สัมมาวาจามะ ความเพียรที่ถูกต้อง หรือความเพียรชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเพียรในการทำสัมมาสมาธิ
หมายถึง ความพยายามที่จะป้องกันมิให้เกิดอกุศลธรรม ละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดกุศลธรรม และทำให้กุศลธรรมคงอยู่
3.7 สัมมาสติ การมีสติที่่ถูกต้อง หรือสติชอบ หมายถึง มหาสติปัฏฐาน 4
กล่าวคือ จะทำอะไรต้องมีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา
มหาสติปัฏฐาน ได้แก่ การกำหนดระลึกรู้ในกาย การกำหนดระลึกรู้ในเวทนา การกำหนดระลึกรู้ในจิต และการกำหนดระลึกรู้ในธรรม
3.8 สัมมาสมาธิ การมีสมาธิที่่ถูกต้อง หรือ สมาธิชอบ หมายถึง ฌาน 4

หมายความว่า สมาธิชอบ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ส่วนอรูปฌาน 4นับเป็นส่วนหนึ่งของจตุตถฌาน
คำว่า สมาธิ แตกต่างจากคำว่า สัมมาสมาธิ เพราะสมาธิ หมายถึง การถือเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์นั้น อย่างที่เรียกว่า สมถะสมาธิ
4.การจัดกลุ่มมรรคแปด
มรรคแปดประการดังกล่าวข้างต้น อาจจัดเข้าเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่ม อย่างที่เรียกกันติดปากว่า ศึล-สมาธิ-ปัญญา คือ
4.1 กลุ่มศีล ได้แก่ สัมมาจาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
4.2 กลุ่มสมาธิ ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
4.3 กลุ่มปัญญา ได้แก่ สัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ
5.สรุป
หลักธรรมเบื้องต้นที่ควรทราบก่อนจะฝึกปฏิบัติธรรม คือ สมุทัย และมรรค
สมุทัย คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ กิเลสตัณหา อันเป็นผลมาจากความโลภ ความโกรธ และความหลงของมนุษย์
มรรคแปด คือหนทางดับทุกข์ กล่าวโดยย่อ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาอ่านได้ใน หัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
ในบทความที่่แล้ว ผมได้เชิญ คุณหมอ (ชื่อสมมุติ) มาเป็นคู่สนทนา และในบทความนี้ ผมก็ยังเห็นว่า คุณหมอ น่าจะเป็นคู่สนทนาที่เหมาะสม อยู่
“ สวัสดีครับคุณหมอ วันนี้เรามาคุยกันต่อนะ โดยเราจะคุยกันในหัวข้อหลักธรรมที่ควรทราบก่อนที่จะฝึกปฏิบัติธรรม ดีไหม ” ผมกล่าวทักทายคุณหมอเล็กน้อยพร้อมกับเปิดหัวข้อที่จะสนทนากัน
“ สวัสดีครับอาจารย์ หัวข้อที่อาจารย์ว่ามา ผมเห็นว่าเหมาะสมที่จะนำมาสนทนาธรรมกันในช่วงเข้าพรรษา หลายอาจจะไม่ค่อยได้เข้าวัดแม้ว่าจะเป็นช่วงเข้าพรรษา เพราะติดภารกิจ หากมีโอกาสได้อ่านบทสนทนาธรรมของเราก็อาจจะพอได้เป็นข้อคิดบ้าง ” คุณหมอตอบสนองข้อเสนอของผมอย่างไม่ลังเล
“ ในความเห็นคุณหมอ คิดว่า เราชาวพุทธ ควรจะทำความเข้าใจในเรื่องของสมุทัยและมรรคแปดมากน้อยเพียงใด ” ผมตั้งคำถามง่าย ๆ แต่ก็มีประเด็นชวนคิด
“ ผมคิดว่า ถ้าเราชาวพุทธ ไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของสมุทัยและมรรคแปด ก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติธรรม อย่างที่พระท่านชอบพูดอยู่เสมอว่า การปฏิบัติธรรม ต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ” คุณหมอแสดงความเห็นราวกับคนที่เคยศึกษาธรรมะมาไม่น้อย
“ ดีมาก คุณหมอ อย่าว่าแต่คนธรรมดาหรือปุถุชนเลยที่อาจจะเข้าใจหลักธรรมของพระพุทธองค์ผิดหรือคลาดเคลื่อน แม้แต่พระบางสำนักก็อาจจะเข้าใจหลักธรรมผิดหรือคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน เพราะหลักธรรมขั้นสูง เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้ง่าย ๆ นะ อย่างเช่น คำว่า นิพพาน นี่หมายถึงอะไรกันแน่ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังไปไม่ถึงนิพพาน ” ผมสรุปสอดคล้องกับความเห็นของคุณหมอ
“ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ หลักธรรมขั้นสูงเป็นนามธรรมและเป็นเ่รื่่องละเอียดอ่อน ยากที่จะเข้าใจได้อย่างแท้จริง ” คุณหมอสารภาพกับผมตรง ๆ
“ แต่คุณหมอไม่ต้องกังวล เราคงไม่สนทนากันไปถึงจุดนั้น เพราะอาจารย์ก็ยังอยู่ห่างไกล ไม่อาจเอื้อมที่จะพูดคุยไปถึงจุดนั้นดอก
วันนี้ ขอขอบคุณมากคุณหมอ เอาไว้โอกาสหน้าค่อยสนทนาธรรมกันต่อนะ” ผมกล่าวสรุปในจังหวะที่เห็นว่าเหมาะสม
บางครั้งทั้งที่ทราบสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์ และหนทางแห่งการกับทุกข์ แต่ก็ยากแก่การดับทุกข์ไปครับ
การที่จะคลายทุกข์ได้หรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่่กับความเข้มแข็งของจิตใจ หากจิตได้รับการฝึกมาดี การคลายทุกข์ก็ทำได้ง่าย หากจิตได้รับการฝึกฝนมาน้อย
อาจจะยังไม่เข้มแข็งเท่ารที่ควร ก็คงต้องใช้ความพยายามเพิ่มเติม
ดีจังเลยค่ะอาจารย์
การนั่งสมาธิ การปฏิบัติสำหรับฆารวาส ทำให้เกิดการห่างทุกข์ จิตใจปลอดโปร่งโล่งสลบายได้จริงๆ ค่ะ
ถูกต้องแล้ว คุณบุญญสรณ์ การฝึกปฏฺบัติธรรม แม้ผู้ครองเรือนหรือฆราวาสอย่างเรา ๆ ก็สามารถทำได้ และเมื่อลงมือทำแล้วก็จะเห็นผลเลย
หมายถึงว่า รู้สึกคลายความทุกข์ได้ทันที มิใช่หมายหมายถึง การสนองกิเลสอย่างเช่น รวย ถ้าอยากรวย ต้องทำมาหากินในอาชีพที่มีรายได้สูง แต่ต้องเป็นสัมมาอาชีพนะ