บทความ (2)การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ของประเทศสหรัฐอเมริกาล้มเหลวเป็นเพราะสาเหตุใด-มองจากมิติด้านการเมืองการปกครอง (ต่อ)จะกล่าวถึง ความนำ วัฒนธรรมทางการเมืองของคนอเมริกัน สิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันตามรัฐธรรมนูญวัฒนธรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด หรือไม่ สรุป และปิดท้ายด้วยการคุยกับ ดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือบทความ (1)เรื่องเล่า การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ของประเทศสหรัฐอเมริกาล้มเหลวเป็นเพราะสาเหตุใด : มองจากมิติด้านการเมืองการปกครอง ผมได้เล่าให้ท่านฟังว่า การที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาการต่าง ๆ รวมทั้งด้านการแพทย์ หากมองจากมิติด้านการเมืองการปกครองแล้วพบว่า รูปแบบการปกครองประเทศแบบรัฐรวม เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด เพราะแต่ละมลรัฐมีอิสระในการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงทำให้รัฐบาลกลางไม่สามารถสั่งการให้ทุกมลรัฐดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันได้
สำหรับบทความนี้ ต้องการจะชี้ให้ท่านผู้อ่านมองเห็นวัฒนธรรมทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันเองก็เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของคนไทย
2.วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวอเมริกัน
วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวอเมริกันได้มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษได้แก่ ความเชื่อในเสรีภาพ ความเป็นปัจเจกชน ความเท่าเทียม และการปกครองตนเอง (Thomas E. Patterson, We the People, 12th Ed.,2017, pp.8-12)
2.1 เสรีภาพ (Liberty) หมายความว่า แต่ละคนควรจะมีเสรีภาพในการที่จะคิดหรือทำตามความต้องการของตนเอง ไม่ถูกบังคับโดยไม่มีเหตุผล
2.2 ความเป็นปัจเจกชน (Individualism)หมายความว่า แต่ละคนควรจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเอาอย่างใคร สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง
2.3 ความเท่าเทียมกัน (Equity)หมายความว่า ทุกคนในสังคมควรมีความเท่าเทียมกัน ไม่แยกเพศ ชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา
2.4 การปกครองตนเอง (Self-Government) หมายความว่า บุคคลควรจะมีสิทธิมีเสียงในการปกครองตนเอง
ด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองดังกล่าว ได้เป็นแรงผลักดันให้ชาวอเมริกันประกาศเป็นเอกราช ไม่ยอมเป็นอาณานิคมของอังกฤษอีกต่อไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 และคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาก็ได้นำวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวอเมริกันทั้ง 4 ประการไปเป็นหลักการในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอเมริกัน
3.สิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันตามรัฐธรรมนูญ
ดังที่ผมได้เล่าให้ท่านฟังแล้วว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวอเมริกันมีอยู่ 4 ประการ คือ เสรีภาพ ความเป็นปัจเจกชน ความเท่าเทียม และการปกครองตนเอง ซึ่งในตัวรัฐธรรมนูญก็ได้นำวัฒนธรรมทางการเมืองดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหลายฉบับ
เพื่อให้ท่านมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม ผมขอยกตัวอย่างประกอบ ดังนี้
3.1รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 1(1791)
คุ้มครองการมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด การพิมพ์ การชุมนุมโดยสันติ และการร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล
ด้วยบทบัญญัตินี้ แสดงให้เห็นว่า
- ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีศาสนาประจำชาติ ประชาชนต้องการนับถือศาสนาอะไรย่อมทำได้โดยเสรี
- ประชาชนชาวอเมริกันมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้โดยสันติ
3.2รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (1791)
คุ้มครองการมีสรีภาพในการมีและพกพาอาวุธ
ด้วยบทบัญญัตินี้ ทำให้คนอเมริกันสามารถมีเสรีภาพในการมีและพกพาอาวุธปืน ดังเราจะได้ยินได้ฟังข่าวคราวเรื่องการใช้อาวุธปืนของคนอเมริกันในการก่อเหตุความรุนแรงอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน
3.3 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 9 (1791)
คุ้มครองสิทธิของประชาชนที่มีอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (Enumeration of certain rights in the Constitution) ก็ตาม
หมายความว่า อะไรก็ตามที่เป็นสิทธิตามวิถีชีวิตของประชาชนหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ประชาชนก็ยังคงสามารถมีสิทธิใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตนั้นต่อไป แม้สิทธินั้นจะไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
3.4 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 10 (1791)
คุ้มครองอำนาจของประชาชนในส่วนที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้สงวนไว้ให้เป็นอำนาจของสหรัฐ และไม่ได้ข้อห้ามสำหรับมลรัฐ ให้เป็นอำนาจของมลรัฐหรือประชาชน
ด้วยบทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นข้อจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างชัดเจน
3.5 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 14 (1868)
คุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ให้ถูกละเมิดโดยมลรัฐด้วย หมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ (Bill of Rights) รัฐบาลมลรัฐต่าง ๆ ต้องเคารพไม่ละเมิดเช่นเดียวกับรัฐบาลกลาง
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า ชาวอเมริกันมีสิทธิเสรีภาพกว้างขวางมากโดยมีรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ ซึ่งสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ดังผมจะได้เล่าให้ท่านฟังต่อไป
4.วัฒนธรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกัน เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด หรือไม่ อย่างไร
วัฒนธรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกัน คือ เสรีภาพ ความเป็นปัจเจกชน ความเท่าเทียม และการปกครองตนเอง ล้วนเป็นอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่มีอำนาจอันจำกัด (Limited Government) อำนาจใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่อำนาจของมลรัฐ อำนาจที่เหลือย่อมเป็นของประชาชน ประกอบกับการที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้เป็นอย่างสูง จึงทำให้ชาวอเมริกันมีพฤติกรรมที่น่าจะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 พอจะสรุปได้ ดังนี้
4.1 คนอเมริกันเชิดชูเสรีภาพ (Liberty)

คนอเมริกันถือว่า รัฐต้องมีอำนาจจำกัดเท่าที่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจเท่านั้น อำนาจที่เหลือนอกจากนั้น เป็นอำนาจของประชนที่จะตัดสินใจเอง รัฐไม่มีสิทธิเข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซง หากสิทธิใดของประชาชนที่เคยมีมาตามวิถีชีวิตหรือขนบธรรมเนียมประเพณี แม้ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ให้ถือเป็นสิทธิของประชาชน ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 9(1791)
ดังนั้น คนอเมริกันจึงเห็นว่า ถ้ารัฐบาลใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของตนที่มีอยู่ตามรัฐธรรมก็พร้อมที่จะโต้แย้งหรือคัดค้านอยู่ทุกเมื่อ และอาจนำไปฟ้องต่อศาลว่า การใช้อำนาจของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผิดกับคนไทยที่พร้อมจะรับคำสั่งหรือคำแนะนำของรัฐในส่วนที่ประชาชนมีส่วนได้เสียเสมอ โดยเฉพาะการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลไทยใช้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นศูนย์บัญชาการและประสานงานให้เป็นเอกภาพ และประชาชนทั่วประเทศก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะทุกคนมีส่วนได้เสียกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
4.2 คนอเมริกันเชิดชูความเป็นตัวของตัวเอง (individualism)

คนอเมริกันเชิดชูความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการจะตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การครอบงำของใคร เช่น
การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
การใช้สิทธิเลือกตั้ง คนอเมริกันถือว่าเป็นสิทธิไม่ใช่หน้าที่ เป็นเรื่องของปัจเจกชน หากใครต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องไปลงทะเบียนผู้เลือกตั้ง เมื่อถึงวันเลือกตั้งจึงจะสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่กรณีประเทศไทยถือว่า การไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่ยอมไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิบางอย่าง
การขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ
การขอรับความช่วยเหลือจากรัฐ เช่น ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเพราะมีรายได้น้อย คนอเมริกาถือเป็นเรื่องของปัจเจกชน ใครต้องการให้รัฐช่วยเหลือ ต้องไปลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์ตนเองว่า มีคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดหรือไม่ หากไม่ไปก็ถือว่า สละสิทธิ ไม่ใช่ใครมีคุณสมบัติต้องได้รับความช่วยเหลือหมด
ดั้งนั้น วิถีชีวิตประจำวันของคนอเมริกันจึงเป็นตัวของตัวเองมาก สามารถตัดสินใจเลือกได้ตามที่ใจปรารถนา โดยไม่จำเป็นต้องเอาอย่างใคร ผิดกับคนไทยที่พร้อมจะเอาอย่างคนอื่นเสมอ เห็นใครทำอะไรก็อยากจะตามกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดหรือเรื่องถูก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำหลักของความเป็นปัจเจกชนของชาวอเมริกันมาประยุกต์ใช้ด้วยการให้ประชาชนไปลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ขอรับสิทธิที่รัฐให้ความช่วยเหลือในหลายโครงการ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นต้น
4.3 การสวมหน้ากากอนามัย (mask)
ในมุมองของคนอเมริกันเห็นว่า การสวมหน้ากากอนามัย เป็นเรื่องของคนป่วยหรือคนติดเชื้อแล้ว ส่วนคนปกติยังไม่ติดเชื้อไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะการสวมหน้ากากอนามัยไม่ใช่วิถีชีวิตของคนอเมริกัน คนอเมริกันจึงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 9
นอกจากนี้ การที่คนอเมริกันเชิดชูเสรีภาพของบุคคลและความเป็นปัจเจกชนสูง จึงถือว่า

การสวมหรือไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นเรื่องของเสรีภาพและปัจเจกชน รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐตลอดจนท้องถิ่นไม่มีอำนาจบังคับหรือแทรกแซงได้
ดังนั้น จึงได้เห็นได้ชัดเจนว่า คนอเมริกันไม่ชอบที่จะป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย จึงทำให้เชื้อโรคโควิด-19 สามารถระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว ผิดกับคนไทยที่พร้อมใจกันสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จนประสบปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาดอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
4.4 การล็อกดาวน์หรือการปิดเมืองบางส่วนทำได้ไม่เต็มที
การที่คนอเมริกันเชิดชูสิทธิเสรีภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง ความเท่าเทียม และการปกครองตนเอง ทำให้มลรัฐและท้องถิ่นแต่ละแห่ง ไม่อาจจะใช้อำนาจในการล็อกดาวน์หรือการปิดเมืองบางส่วนได้เต็มที่ เพราะประชาชนจะต่อต้านไม่ยอมรับ ซึ่งผิดกับกรณีประเทศไทย แม้ประชาชนบางส่วนที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจหรือการประกอบอาชีพการงาน แต่เมื่อรัฐบาลไทยโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชี้แจงทำความเข้าใจ ทุกภาคส่วนและทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้ว่าตนหรือธุรกิจของตนเองจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
การล็อกดาวน์มีเป้าหมายอยู่ที่การป้องกันไม่ให้คนจำนวนมากมาชุมนุมกัน เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 ระบาดนั่นเอง อย่างที่เรียกว่า การสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing)
5.สรุป
บทความนี้ ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของชาวอเมริกัน น่าจะเป็นอุปสรรคต่อ การต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาด เพราะคนอเมริกันเชิดชูเสรีภาพ อำนาจใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง ถือว่า เป็นอำนาจของมลรัฐ และประชาชน นอกจากนี้คนอเมริกันยังมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบการตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ชอบเอาอย่างใคร
ด้วยเหตุนี้ คนอเมริกันจึงไม่ชอบสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และไม่ยอมให้รัฐบาลล็อกดาวน์เมืองเป็นเวลานาน ถือว่าขัดต่อเสรีภาพ จึงเป็นผลทำให้โรคโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงในสหรัฐอเมริกา เพราะชาวอเมริกันไม่ให้ความร่วมมือรัฐบาลในการป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 เท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแตกต่างไปจากคนไทยที่ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลไทยเป็นอย่างดียิ่ง
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ท่านผู้อ่านกรุณาติดตามได้ใน “คุยกับดร.ชา” ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้คุยกับ คุณวัชรินทร์ (ชื่อสมมุติ) ลูกศิษย์ของผมเมื่อครั้งได้สอนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้พูดคุยเกี่ยวกับรูปแบบการเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกาว่า เป็นอุปสรรคต่อการสู้เอาชนะโรคโควิด-19 หรือไม่ เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย
สำหรับบทความนี้ ผมยังเห็นว่า คุณวัชรินทร์เหมาะสมที่จะเป็นคู่สนทนากับผม
“ เมื่อคราวก่อนเราได้คุยกันว่า รูปแบบการเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวม ทำให้มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ คุณวัชรินทร์จำได้ไหมว่า เราได้ข้อสรุปอย่างไร ” ผมตั้งคำถามเพื่อท้าวความก่อนจะเริ่มการสนทนาต่อไป
“ ผมจำได้ดีครับ อาจารย์ เราได้ข้อสรุปว่า ระบบรัฐรวมอย่างอเมริกา ผู้ว่าการมลรัฐของอเมริกา ทั้ง 50 มลรัฐ ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของประธานาธิบดีอเมริกา เพราะแต่ละมลรัฐเขามีรัฐธรรมนูญเป็นของเขาเอง อำนาจใดที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ได้สงวนไว้ว่า เป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง และอำนาจใดที่ไม่ใช่ข้อห้ามของมลรัฐ อำนาจที่เหลือทั้งหมดจะเป็นอำนาจของมลรัฐแต่ละมลรัฐ ” คุณวัชรินทร์ตอบอย่างคล่องแคล่ว สมกับเป็นลูกศิษย์ที่เคยทำคะแนนสอบได้สูงสุดตลอดกาลในวิชาที่ผมสอนตลอดระยะเวลา 9 ปี
“ ถูกต้อง คุณวัชรินทร์ คราวนี้อยากให้คุณวัชรินทร์ชี้ความแตกต่างกับระบบรัฐเดี่ยวอย่างประเทศไทยพอจะได้ไหม ” ผมชวนคุณอมรินทร์วกเข้ามาเปรียบเทียบกับประเทศไทยเล็กน้อย
“ ได้อาจารย์ ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ดังนั้น รัฐบาลจึงมีอำนาจสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ดำเนินการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 เรียกว่า อยู่ในชั้นแนวหน้าของโลกเลยทีเดียว ” คุณวัชรินทร์ตอบด้วยความภูมิใจในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนไทยคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้
“เยี่ยมเลย คุณวัชรินทร์ ” ผมแสดงความรู้สึกดีใจในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งด้วย
“ คราวนี้ เรามาคุยกันเรื่องวัฒนธรรมทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของชาวอเมริกันว่า จะมีผลต่อการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 หรือไม่ เพียงใด ” ผมชวนคุณวัชรินทร์ในประเด็นใหม่
“ ดีครับอาจารย์ ทีแรกผมนึกว่าอาจารย์จะลืมเสียแล้ว ในความเห็นของผม การต่อสู้เอาชนะโรค โควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ ถ้าตราบใดที่โลกนี้ยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ ทุกภาคส่วน ทุกระดับชั้น และทุกคนในประเทศไทยต้องร่วมมือร่วมใจและแสดงบทบาทในการต่อสู้เอาชนะโรคนี้อย่างจริงจัง จะนิ่งดูดาย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้ ” คุณวัชรินทร์แสดงความรู้สึกเหมือนคนมองเห็นปัญหาได้แจ้งทะลุ
“ ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ” ผมถามสั้น ๆ เพื่อกระตุ้นให้คุณวัชรินทร์ขยายความต่อ
“ คืออย่างนี้อาจารย์ หากมีใครสักคนในบ้านเมืองนี้ ปล่อยปละละเลย หรือผิดพลาดในการปฏิบัติ จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เหมือนอย่างกรณีทหารอียิปต์ที่เมืองระยอง หรือลูกทูตซูดานที่กรุงเทพ ฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ อย่างที่ทุกคนได้ทราบข่าวทางสื่อทุกช่องทาง แม้รัฐบาลได้ทำเรื่องนี้ดีมาตลอด จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติหรือในระดับสากล แต่พอเกิดปัญหาผิดพลาดดังกล่าว คะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลนี้ได้ตกลงฮวบอย่างน่าใจหาย อย่างน้อยที่สุดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
โชคดีนะที่ สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเหมือนอย่างที่คาดคิด ” คุณวัชรินทร์พูดไปพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่
“ จริงของคุณวัชรินทร์นะ ” ผมกล่าวเสริมความเห็นด้วยความจริงใจ
“ คุณวัชรินทร์มีอะไรจะกล่าวเพิ่มเติมไหม ” ผมเปิดทางให้คุณวัชรินทร์แสดงความเห็นต่อ
“ ผมคิดว่า ในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ประเทศไทยของเรา น่าจะมาถูกทางแล้ว เพราะเมื่อสถานการณ์โดยรวมดีขึ้น รัฐบาลเขาก็ผ่อนคลายทีละขั้นตอนมาเป็นลำดับ เรียกว่า ผ่อนคลายอย่างไม่ประมาท เพราะถ้าเกิดมีการผิดพลาด และทำให้โรคนี้กลับมาระบาดในไทยอีกครั้ง อาจจะยากที่จะเอาอยู่ เผลอ ๆ รัฐบาลเองก็อาจจะอยู่ไม่ได้เสียด้วยซ้ำ
อย่างข่าวล่าสุด ทราบว่า โรงเรียนต่าง ๆ ก็จะเปิดเล่าเรียนตามปกติแล้ว ไม่ใช่เรียนอาทิตย์เว้นอาทิตย์แล้ว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์ที่ได้คลี่คลายมาเป็นลำดับ ” คุณวัชรินทร์แสดงความเห็นตบท้ายอย่างรู้สึกผ่อนคลาย
“ สุดยอดเลยนะคุณวัชรินทร์ อาจารย์คิดว่า เป็นความเห็นที่สร้างสรรค์ดีมาก วันนี้คงขอยุติการสนทนากันเท่านี้ โอกาสหน้า เราคงได้พบกันอีก ” ผมกล่าวยุติการสนทนาด้วยความรู้สึกผ่อนคลายเช่นเดียวกัน
“ หากเห็นว่า บทความนี้ถูกใจท่าน และท่านอยากจะเผยแพร่ไปยังเพื่อน ๆ หรือกลุ่มบุคคลในเครือข่ายของท่าน กรุณากดไลค์ กดแชร์ กดคอมเมนต์ หรือกดติดตาม (subscribe) ด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง”
ดร.ชา
30/07/20
วัฒนธรรมของชาวอเมริกันถูกปลูกฝังมาอย่างนี้ ให้อิสระเสรีกับตนเอง
ส่วนคนไทยสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ค่ะ
ถ้าผู้ใหญ่มีจรรยาบรรณก็ดี ถ้าขาดจรรยาบรรณก็ว่าแย่ค่ะ
ขอยกตัวอย่างญาตินามสกุลเดียวกันค่ะ หลอกหนูไปทำงานเป็นคนรับใช้ โกหกว่าทำงานตำแหน่งเสมียน
เงินเดือนแล้วแต่เจ้านายจะจ่าย จ่ายให้เดือนละ3,000บาท
หนีก็ไม่ได้ทวงบุญคุณ คนพาไปฝากงาน นายจ้างก็ทวงบุญคุณที่จ้างงาน จบแล้วไม่มีงานทำ
หนูตัดสินใจลาออกเมื่อทำงานได้ครบ 1 ปี หลังจากนั้นหนูก็ทำการเกษตรที่บ้านเกิดค่ะ
หนูเล่าให้ครอบครัวหนูฟัง อาของเรา หลอกครอบครัวพวกเรา เค้าไม่ดีกับเราแต่ไม่มีใครเชื่อ
เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ค่ะ เชื่อเมื่อสายไปแล้ว
ก็น่าเห็นใจที่เป็นญาติกันแท้ ๆ ยังหลอกกันเอง ต่อไปก่อนจะตัดสินใจอะไร ควรจะหาข้อมูลและตรวจสอบให้ดีก่อน จะได้ไม่ถูกหลอกอีก
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ โควิด19 ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สอง ของประธานาธิบดีทรัมป์
ผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาว่าใครจะชนะ มีตัวแปรเกี่ยวข้องหลายตัว ไม่ใช่แค่โรคโควิด-19 เราคงจะเอาปัญหาโรคโควิด-19 ไปสรุปไม่ได้ ต้องหาข้อมูลจากตัวแปรอื่น ๆ อีก
ประเทศไทยสามารถผ่าน และเอาชนะโควิด -19 มาได้ เกิดจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน มีกระบวนการคิดการวางแผนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประชาชนทุกคนก็ตระหนักและเห็นความสำคัญของมาตรการของรัฐ เราจึงผ่านพ้นวิกฤตนี้มาได้
ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณ คุณเพชรลดา พราหมวิเชียร เป็นอย่างยิ่ง ที่กรุณาสละเวลาแสดงความคิดเห็นอันทรงคุณค่ามาในครั้งนี้ ผมเห็นด้วยกับเพชรลดาทุกประการ ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในการเอาชนะโรคโดวิด-19 ก็เพราะไม่สามารถสร้างเอกภาพในการบริหารงานได้ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศรัฐรวม มีรัฐบาล 2 ระดับคือรัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐอีก 50 มลรัฐ
การบริหารจึงไม่สามารถทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้
โอกาสหน้า ขอเชิญคุณเพชรลดา แสดงความคิดเห็นมาอีกนะครับ