สกลนคร เป็นจังหวัดที่ทำให้ผมได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวร นับเป็นบทความลำดับที่ 2 ของหมวด 10 เรื่องเล่า เหตุการณ์ในความทรงจำ โดยจะกล่าวถึง ข้อมูลเบื้องต้นของจังหวัดสกล ฯ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ การเตรียมการรับเสด็จ ฯ ปี พ.ศ. 2538 มูลเหตที่ทำให้ผมได้รับพระราชทานผ้าไตร พิธีทำขวัญนาค บนลานคำหอม สรุป และคุยกับดร.ชา
การบวชถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ เป็นที่นิยมของข้าราชการหรือบุคคลในแวดวงกีฬาและบันเทิงของไทย อย่างเช่น ข่าวการบวชถวายเป็นพระราชกุศลของนักมวยไทยชื่อก้องโลก บัวขาว (สมบัติ) บัญชาเมฆ ทีวัดบางแวก ซอยจรัญสนิทวงศ์ เมื่อวันที่่ 19 ตุลาคม 2563
อนึ่ง บทความก่อนหน้าที่ (1) ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ใน ความทรงจำที่ดีของผมในภาพรวมว่า มีเหตุการณ์อะไรบ้าง หากท่านสนใจอยากทราบ กรุณาย้อนกลับเข้าไปอ่านได้
Table of Contents
1.ข้อมูลเบื้องต้นของจังหวัดสกลนคร
คำขวัญประจำจังหวัด
“พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลื่อเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม “
ข้อมูลเบื้องต้นของจังหวัดนี้ที่ควรทราบ คือ
1.1 ประวัติความเป็นมา
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจังหวัดสกลนครมีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอมโบราณ เดิมชื่อ เมืองหนองหารหลวง จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงทรงให้เปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น เมืองสกลนคร และต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลเมื่อพ.ศ.2435 และได้ทรงแต่งตั้งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก และมีพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครคนแรก
1.2 ขนาดพื้นที่ การแบ่งเขตการปกครอง และจำนวนประชากร
จังหวัดสกล ฯ มีพื้นที่ 9,605 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ
มีประชากรตามประกาศสำนักงานกลาง ลงวันที่ 8 มกราคม 2563 มียอดประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 1,353,390 คน
1.3 ความสำคัญของจังหวัดสกลนคร
จังหวัดสกล ฯ มีความสำคัญหลายประการคือ
13.1 เป็นที่ตั้งพระธาตุเชิงชุม ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเล่าขานว่าเป็นที่รวมรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์

1.3.2 เป็นที่ตั้งพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระตำหนักประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในทำนองเดียวกันกับพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ที่เป็นพระตำหนักประจำภาคเหนือ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่เป็นพระตำหนักประจำภาคใต้
1.3.3 เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 หรือกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร)
1.3.4 เป็นดินแดนของพระอริยสงฆ์สายหลวงปู่มั่น
1.3.5 เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศูนย์กลางการศึกษาของกลุ่มจังหวัดสนุก เพราะมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกล ฯ ตั้งอยู่
( วิกิพีเดีย, จังหวัดสกลนคร, 6 พฤศจิกายน 2563)
2.พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
(royaloffice.th/พระบรมมหาราชวัง และพระราชนิเวศน์/ข้อมูลการเยี่ยมชม/พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ภูมิพลอดุลเดช ฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อย่างตรากตรำพระวรกาย เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎรส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนา ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วประเทศและทรงมีพระราชดำริโครงการต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน
ในการนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2505 เพื่อใช้เป็นที่แปรพระราชฐานเยี่ยมเยียนพสกนิกรภาคเหนือ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ.2516 เพื่อใช้เป็นที่แปรพระราชฐานเยี่ยมเยียนพสกนิกรภาคใต้
สำหรับการแปรพระราชฐานเยี่ยมเยียนพสกนิกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2518
3. การเตรียมการรับเสด็จ ฯ ปี พ.ศ.2538
ช่วงปี พ.ศ.2537-2541 เป็นช่วงเวลาที่ผมได้รับคำสั่งกรมการปกครองให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกลนคร หลังจากได้ย้ายจากตำแหน่งนายอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย เข้าไปรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวางแผนและอัตรากำลัง กองราชการส่วนท้องถิ่น กรมการปกครองเป็นเวลา 7 เดือน
การที่ผมได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกล ฯ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งได้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอมาแล้วเพียง 2 ปีเท่านั้น จึงนับว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ชีวิตการรับราชการของผมมีความเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด
ในยุคสมัยนั้น การเตรียมการรับเสด็จ ฯ ของจังหวัดสกลนคร ถือเป็นงานใหญ่ระดับภาค ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ และมีการประชุมเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพราะแต่ละปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ จะได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของแต่ละปี เป็นระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน หลังจากได้เสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสแล้ว
ในวันแรกที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึง บรรดาผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่ทัพภาคที่ 2 และหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ตลอดพ่อค้าคหบดีและมวลชนต้องมาคอยรับเสด็จกันอย่างถ้วนหน้า ณ ท่าอากาศยานจังหวัดสกลนคร
ผลพลอยได้อย่างหนึ่งที่ได้จากการรับเสด็จ ฯ ทำให้หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ พ่อค้าคหบดี ได้มีโอกาส สร้างความคุ้นเคยและสนิทสนมกันเป็นอย่างดี แม้หลายคนอาจจะอยู่ต่างสังกัดกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประสานงานกันเป็นอย่างมาก
4.มูลเหตุที่ทำให้ผมได้รับพระราชทาน ฯ ผ้าไตร
มูลเหตุที่ทำให้ผมได้รับพระราชทาน ฯ ผ้าไตร ก็เนื่องจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 94 พรรษา ยังความโศกเศร้าเสียใจมาสู่พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศเป็นอย่างมาก เพราะตลอดพระชนมชีพของพระองค์ได้ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อความผาสุกของพสกนิกรตลอดมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการสาธารณสุข จนทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง ในลดำดับที่ 11 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2543
(วิกิพีเดีย, รายพระนามและชื่อชาวไทยที่ได้รับการฉลองวาระครบรอบโดยยูเนสโก, 6 พฤศจิกายน 2563)
ด้วยเหตนี้ ในปีนั้น ทางราชการจึงได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการได้บวชถวายเป็นพระราชกุศล ฯ โดยไม่ถือเป็นวันลา และก็ได้มีข้าราชการได้ยื่นความประสงค์ขอบวชเป็นจำนวนมาก
ในส่วนของจังหวัดสกล ฯ ได้รับแจ้งจากทางวังว่า ในปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสวนีย์จะทอดพระเนตรประเพณีการบวชของชาวอีสาน ณ ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
จังหวัดสกล ฯ ได้กำหนดจะให้นายอำเภอจำนวน 9 อำเภอบวชถวาย และได้รายชื่อนายอำเภอทีมีความประสงค์จะบวชถวายแล้ว แต่เมื่อทางวังทราบแล้วเห็นว่า การจะให้นายอำเภอถึง 9 คนบวชถวายนั้น มีจำนวนมากเกินไป คงจะไม่น่าสนใจที่จะให้ทอดพระเนตร ขอให้เลือกมาคนเดียวก็พอ
ด้วยเหตุนี้ จังหวัดสกลฯ จึงต้องปรับแผนใหม่ให้สอดคล้องความต้องการของทางวัง ในที่สุดตกลงกันได้ว่า ขอให้ผมซึ่งเป็นนายอำเภอท้องที่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ตั้งอยู่เป็นผู้บวชถวาย ซึ่งทางวังได้แจ้งให้ทราบว่า สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชีนาถ จะพระราชทานผ้าไตรให้ด้วย
แม้เดิมผมจะไม่ได้แสดงความจำนงขอบวช เนื่องจากผมเองเคยบวชมาก่อนแล้วเมื่อปีพ.ศ.2522 ในขณะดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แต่เมื่อได้รับทราบการตัดสินใจของจังหวัดสกล ฯ และทางวังเช่นนี้ ผมก็รู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างมากที่จะได้มีบุญวาสนาบวชถวายเพื่อทอดพระเนตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับทราบว่า จะพระราชทานผ้าไตรให้ผมด้วย
5.พิธีปลงผมนาค
ผมได้ทำการ์ดลาอุปสมบทตามประเพณีการบวชทั่วไป โดยได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกล ฯ ในขณะนั้น คือ ท่านเกียรติพันธ์ น้อยมณี ผู้ว่า ฯ ลำดับที่ 36 ให้เกียรติเป็นเจ้าภาพในการอุปสมบท และได้เป็นประธานในพิธีปลงผมนาคเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538 ณ บ้านพักนายอำเภอเมืองสกล ฯ
ในพิธีปลงผมนาคดังกล่าวได้มีหัวหน้าส่วนราขการ นายอำเภอ พ่อค้าคหบดี ได้กรุณาให้เกียรติไปร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
6.การรับพระราชทานผ้าไตรจีวร ณ ลานคำหอม
6.1 ลานคำหอม คืออะไร ตั้งอยู่ที่ใด
ลานคำหอม เป็นลานที่อยู่ตั้งในอาณาบริเวณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เป็นลานที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดผ้าไหม และรางผู้ชนะเลิศในการแต่งกายด้วยผ้าไหม
นอกจากนี้ บนลานคำหอมมีบ้านอยู่ 3 หลัง หลังแรกคือ บ้านของอำเภอโพนนาแก้ว หลังที่สอง บ้านอำเภอเต่างอย และหลังสุดท้ายซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่สุด คือ บ้านอำเภอเมืองสกล ฯ/
6.2 การรอรับเสด็จ ฯ ณ ลานคำหอม
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2538 เวลาประมาณ 16.00 น. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ มายังลานคำหอม ทอดพระเนตรกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จัดแสดงถวายตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการศิลปาชีพ
ผมกับครอบครัว ได้แก่ ภรรยาของผม อาจารย์ศิริพร คุณพ่อบุญเกิด คุณแม่มาลินี บิดามารดาของผม คุณอาคำ คุณอาประมอญ คุณอาอุไร ญาติผู้ใหญ่ของผม และอาจารย์ศรีพรรณ น้องสาวของผม ได้รอเฝ้ารับเสด็จ ณ บริเวณหน้าบ้านหลังสุดท้าย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึงหน้าบ้านหลังสุดท้าย ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานว่า กิจกรรมนี้เป็นประเพณีการบวชของชาวอีสาน ผู้บวชถวายให้ทอดพระเนตร คือ ผม เป็นนายอำเภอเมืองสกล ฯ เป็นการบวชเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้าไตรให้ผม พร้อมกับรับสั่งถามว่า ผมจะบวขที่วัดใด เป็นเวลากี่วัน ผมได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า จะบวชที่วัดกุดไผท เป็นเวลา 9 วัน

ในวันนั้น สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ได้ถ่ายทอดสดตลอดรายการ
หลังจากได้รับพระราชทานผ้าไตรแล้ว ผมและครอบครัวและเพื่อนร่วมงานจำนวนหนึ่ง ได้ออกเดินทางไปยังวัดกุดไผท ตำบลดงชน อำเภอเมืองสกล ฯ เพื่อเตรียมตัวอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2538 ต่อไป
7.สรุป
การที่ผมได้รับพระราชทานผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบวชถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ ลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2538 ก็เพราะในปีนั้น สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์จะทอดพระเนตรประเพณีการบวชของชาวอีสาน ประกอบเป็นช่วงเวลาของที่ทางราชการมีนโยบายให้ข้าราชการบวชถวายเป็นพระราชกุศลดังกล่าวโดยไม่ถือเป็นวันลา ทำให้ผมในฐานะนายอำเภอท้องที่ในขณะนั้น ได้มีโอกาสบวชถวายให้ทอดพระเนตร
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อคุยกับดร.ชาท้าบทความนี้
คุยกับ ดร.ชา
คู่สนทนาของในวันนี้ คือ คุณโหน่ง (ชื่อสมมุติ)
คุณโหน่งเคยเป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับมากเมื่อครั้งผมดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกล ฯ และคุณโหน่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ช่วยแบกหามผมที่นั่งบนเสลี่ยงขึ้น-ลง ลานคำหอม เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2538
“สวัสดี คุณโหน่ง เราไม่ได้พบกันนาน สบายดีไหม ” ผมทักทายแบบคนคุ้นเคยกัน

“ สบายดีครับ ดร.ชา ช่วงนี้งานผมอาจจะยุ่ง เลยไม่ค่อยมีเวลาทักทาย อาจารย์ ” คุณโหน่งตอบสั้น ๆ
“ วันนี้เรามาทบทวนความหลังกัน เป็นเรื่องราวของปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่ผมได้รับพระราชนผ้าไตรจีวร คุณโหน่ง คงจำได้ ใช่ไหม ” ผมฟื้นความหลังคุณโหน่งเล็กน้อย
“ ครับ ผมจำได้ดี ถ้าเช่นนั้น ผมขอเป็นฝ่ายถามอาจารย์ก็แล้วกันว่า ในการบวชถวายเป็นพระราชกุศล ฯ ครั้งนั้น อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง พอจะเล่าสู่กันฟังได้ไหม
“ ได้เลย คุณโหน่ง ความรู้สึกมีอยู่ 2 ช่วงนะ

ช่วงแรก ที่ได้รับทราบว่าจังหวัดสกล ฯ และทางวังเห็นชอบตรงกัน ให้ผมเพียงคนเดียวบวชถวายเพื่อทอดพระเนตร ผมก็รู้สึกปลื้มปิติมาก อดคิดในใจไม่ได้ว่า ตัวเรามีบุญวาสนาไม่น้อยเลยนะที่ได้มีโอกาสอันเป็นสิริมคลแห่งชีวิตขนาดนี้
ความรู้สึกเช่นนี้ ไม่เกิดขึ้นกับผมคนเดียว คนในครอบครัวทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา คุณพ่อ คุณก
“อย่าว่าแต่อาจารย์เลยครับ พวกผมที่เป็นทีมงานของอาจารย์ก็รู้สึกปลื้มปิติเช่นเดียวกัน แล้วช่วงทีสอง คือวันได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวร อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้าง ” คุณโหน่งซักต่อ
“ ในวันนั้น ผมยอมรับว่า รู้สึกตื่นเต้น ปลื้มปิติ และมีความสุขมาก ที่ได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวรจากพระหัตถ์โดยตรง ยิ่งกว่านั้น ยังมีการถ่ายสดการพระราชทานผ้าไตรจีวรดังกล่าวให้ผู้คนทั่วประเทศทราบทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ด้วย
ภรรยาของผม พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ตลอดจนน้องสาวจากชัยภูมิต่างก็ตื่นเต้นและปลื้มปิติไม่แพ้กัน เพราะนี่คือเหตุการณ์ที่ประทับใจและอยู่ในความทรงจำที่ดีมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเราหรือครอบครัวเราทีเดียว ” ผมตอบด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้
“ ผมอยากให้อาจารย์กล่าวปิดท้ายสักหน่อยครับเกี่ยวกับความรู้สึกในการได้รับพระราชทานผ้าไตรจีวรดังกล่าว ” คุณโหน่งเปิดทางให้ผมกล่าวโดยอิสระ
“ คุณโหน่ง ผมอยากจะบอกว่า การที่ผมได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองสกล ฯ ในห้วงเวลาดังกล่าวพอดี ก็น่าจะเป็นเรื่องของบุญวาสนา เพราะถ้าผมย้ายมาก่อนหรือหลังจากนั้น ผมก็คงไม่ได้รับโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งของชีวิตเช่นนี้
อีกอย่างผมคิดว่า คงเป็นบุญของพวกเราด้วยที่ได้มีโอกาสร่วมงานกันในช่วงเวลานั้น ทำให้มีโอกาสได้พบสิ่งที่ดีงามร่วมกัน ” ผมกล่าวปิดท้ายด้วยความรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ แบบชาวพุทธทั่วไปที่เชื่อในเรื่องของบุญวาสนา
ดร.ชา
6/11/20
ขอบคุณ คุณโหน่งที่มาแบ่งปันความรู้ค่ะ
ปลื้มปีติ กับอาจารย์ด้วยค่ะ
อาจารย์เป็นผู้มีบุญวาสนาเป็นอย่างยิ่งครับ กระผมขอแสดงความยินดีด้วยครับ
ขอบคุณมาก ผู้หมวด
สุดยอดคนมีบุญจริงๆ ค่ะอาจารย์ที่ได้รับพระทานวโรกาสในครั้งนั้น
ขอบคุณมาก คุณบุญญสรณ์
อาจารย์ศิริพร ภรรยาของอาจารย์ เป็นคนสวยค่ะ
ขอบคุณมาก