87 / 100

ปัญหา ความขัดแย้ง ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่า เป็นบทความลำดับที่ 2 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเชียน โดยจะเล่าถึง ความนำ ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า มีกลุ่มใดบ้าง ปัญหาความขัดแย้งขั้นพื้นฐาน  ปัญหาจากสภาพภูมิประเทศ ปัญหาจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปัญหาจากข้อตกลงปางหลวง ปัญหาจากนโยบายกลืนชาติ  สรุป และคุยกับดร.ชา

Table of Contents

1.ความนำ

          ในบทความ (1) รู้จัก พม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของไทย ได้เล่าถึง เขตการปกครองและรัฐของประเทศพม่าว่า พื้นที่ส่วนใดที่คนส่วนใหญ่เป็นคนพม่า จัดตั้งเป็นเขตการปกครองซึ่งมีอยู่จำนวน 7 เขต  ส่วนพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีฐานะเป็นรัฐ ซึ่งก็มีจำนวน 7 รัฐเช่นเดียวกัน

            การที่พม่ามีโครงสร้างการปกครองในระดับพื้นที่เช่นนี้ นับว่า เป็นโครงสร้างที่ผิดแผกไปจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก อันย่อมสะท้อนให้เห็นปัญหาความขัดแย้งหรือความไม่เป็นเอกภาพในพม่าได้เป็นอย่างดี ดังที่เราจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มชาติพันธ์อยู่บ่อย ๆ เช่น ชนชาติกะเหรี่ยง ชนชาติไทยใหญ่ เป็นต้น

            ดังนั้น บทความนี้จึงต้องการนำเอาปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามาเล่าให้ท่านทราบในหลายมิติ

2.ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพม่า มีกลุ่มใดบ้าง

แผนทีแสดงการแบ่งเขตการปกครองและเขตรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความขัดแย้ง (วิกิพีเดีย, ประเทศพม่า, 21 กุมภาพันธ์ 2021)
แผนทีแสดงการแบ่งเขตการปกครองและเขตรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความขัดแย้ง (วิกิพีเดีย, ประเทศพม่า, 21 กุมภาพันธ์ 2021)

          พม่าประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากถึง 135 กลุ่ม แต่ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ ๆ มีอยู่ 8 กลุ่ม คือ พม่า มอญ ฉาน กะเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน คะยา และยะไข่ (แสดงแผนที่ประกอบ)

          ชนชาติพม่า อาศัยอยู่ในเขตปกครอง 7 เขต ได้แก่ อิระวดี พะโค มาเกว  มัณฑะเลย์  ย่างกุ้ง เอยาวดี  และตะนาวศรี                                                                                        

ส่วนอีก 7 ชนชาติ อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า รัฐมอญ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น รัฐชิน รัฐคะยา และรัฐยะไข่

            นอกจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลัก 8 กลุ่มดังกล่าวแล้ว พม่ายังมีชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ย่อย ๆ อีกหลายกลุ่ม เช่น ธนู ต่องโย แต้ะ มรมาจี ตายนา อึงตา ระวาง ลีซู ลาหู่ กอ ขขุ ลาซี ขมี นาคะ แม้ว ว้า ปะหล่อง ปะเล ปะโอ ซะโหล่ง ซะเหย่ง  เป็นต้น

            ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เหล่านี้ ส่วนมากอาศัยกระจัดกระจายไปบนพื้นที่สูงและเขตภูเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก

            ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ มีความเป็นอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

สัดส่วนของประชากรในพม่าตามเชื้อชาติและศาสนา

            ประชากรในพม่า อาจแบ่งตามเชื้อชาติ ได้ดังนี้ คือ กลุ่มชาติพันธุ์พม่า 68 %  ไทยใหญ่ 9% 7% กะเหรี่ยง 4% มอญ 2% และอื่น ๆ10%

          ประชากรในพม่า อาจแบ่งตามศาสนา ได้ดังนี้ คือ นับถือศาสนาพุทธ 87.9% ศาสนาคริสต์ 6.2 %ศาสนาอิสลาม 4.3% และอื่น ๆ 1.6%

3. ปัญหาความขัดแย้งขั้นพื้นฐาน

            ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกำลังเป็นปัญหาของสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสเรียกร้องการปกครองตนเองมากขึ้น เพราะชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ มีเชื้อชาติ วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ทัศนคติ ความเชื่อ ลัทธิศาสนา ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์และค่านิยมเป็นของตนเอง แต่เมื่อต้องอยู่ร่วมกับชนกลุ่มใหญ่หรือชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกันบ่อย ๆ

           ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการกระทำของชนกลุ่มใหญ่ในการเลือกปฏิบัติและการกีดกัน (prejudice and discrimination) การมีความไม่สมดุลทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

            ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว มักเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน

4.ปัญหาจากสภาพภูมิประเทศ

            ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ  มักจะอาศัยอยู่ตามป่าทึบหรือเทือกภูเขาสูงบริเวณชายแดน ในขณะที่คนพม่ามักจะอาศัยบนที่ราบหรือริมฝั่งแม่น้ำ จึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์และคนพม่าอยู่แยกจากกัน ไม่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับกันและกัน

  5. ปัญหาจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ 

        ในช่วงที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428 ) อังกฤษได้ผนวกพม่าและดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เข้าเป็นมณฑลหนึ่งของอินเดียก่อน หลังจากนั้นจึงได้แยกพม่าออกมาจากอินเดีย  โดยอังกฤษได้ใช้นโยบาย แบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) กล่าวคือ อังกฤษได้แบ่งพม่าออกเป็น 2 ส่วน คือ พม่าแท้ (Burma proper) และเขตชายแดน (Frontier Areas) โดยใช้ระบบการปกครองที่แตกต่างกัน

ผมเห็นว่า การที่อังกฤษได้ใช้นโยบายแบ่งแยกพม่าออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ พม่าแท้ และพม่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ  เป็นระยะเวลายาวนานถึง 63  ปี นับจากปีค.ศ.1885 ซึ่งเป็นปีที่พม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยสมบูรณ์ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1948 จึงได้รับเอกราชจากอังกฤษ(พ.ศ.2428-2491)   จึงย่อมส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ รู้สึกแปลกแยกออกจากคนพม่าได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ เนื่องจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชนชาติพม่า ต่างก็อยู่ในสังคมของตนเอง มีภาษา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตเป็นของตนเอง เป็นอิสระจากชนชาติพม่า  

6.ปัญหาจากความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement)

          ความตกลงปางหลวง เป็นความตกลงระหว่างพม่า ไทใหญ่ ชิน และคะฉิ่น เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ความตกลงนี้ไม่สามารถบรรลุได้ เพราะพม่าไม่ยอมปฏิบัติตามความตกลง

            6.1 ก่อนที่จะมีการลงนามในความตกลง

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้ยึดครองพม่า รวมทั้งรัฐฉาน และญี่ปุ่นได้ยอมยกรัฐฉานให้ไทยในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ไทยได้ปกครองรัฐฉานในฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย เรียกชื่อว่า สหรัฐไทยเดิม แต่พอสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรได้พม่ากลับคืน ไทยจึงต้องยอมคืนรัฐฉานให้ฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย

            หลังจากนั้นได้มีการจัดประชุมที่ปางหลวงในรัฐฉาน ครั้งที่หนึ่ง เมื่อปีพ.ศ.2489 โดยมีตัวแทนอังกฤษและพม่าเข้าร่วมประชุม พม่าเรียกร้องให้รัฐฉานรวมกับพม่า เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และพม่าได้เจรจาทำความตกลงกับอังกฤษในการให้รวมอาณานิคมทั้งหมดของอังกฤษเข้ากับสหภาพพม่า

            แต่รัฐฉานไม่ต้องการรวมเข้ากับพม่า จึงได้จัดประชุมปางหลวงครั้งที่สอง เมื่อปีพ.ศ.2490 โดยมีตัวแทนจากคะฉิ่น และตัวแทนจากรัฐชินเข้าร่วมประชุมด้วย ได้ข้อยุติว่า ให้ตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อต่อรองกับพม่า

            หลังจากนั้น ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา กับตัวแทนฝ่ายพม่า นำโดยนายพลอองซาน ซึ่งเป็นบิดาของนางอองซาน ซูจี และตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 จนได้ข้อยุติและนำไปสู่การลงนามในความตกลงปางหลวง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธุ์ 2490

          6.2 สาระสำคัญของความตกลง

            ความตกลงปางหลวง มีสาระสำคัญ ดังนี้

                      1.) ตัวแทนของชาวเขา จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาข้าหลวงเกี่ยวกับพื้นที่รัฐชายแดน

                   2.) สมาชิกสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขา ต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการบริหารเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ

                   3.) ที่ปรึกษาข้าหลวงและผู้ช่วยที่ปรึกษามีหน้าที่รับผิดชอบดินแดนของตนเอง

                   4.) กำหนดรายละเอียดในการจัดตั้งรัฐคะฉิ่น

                   5.) ประชากรในรัฐชายแดนมีสิทธิเท่ากับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ

                   6.) การดำเนินงานตามความตกลงต้องไม่ละเมิดสิทธิทางการคลังของรัฐฉาน รัฐชิน และรัฐคะฉิ่น

            6.3 การร่างรัฐธรรมนูญและสิทธิในการถอนตัว

                        ได้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ณ กรุงย่างกุ้ง ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน-24 กันยายน พ.ศ.2490 ปรากฏว่า ตัวแทนจากรัฐต่าง ๆ แสดงความต้องการจะให้จัดตั้งสหพันธรัฐอย่างแท้จริง แต่ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีมือปืนได้บุกยิงนายพล อองซาน ผู้นำของพม่า และที่ปรึกษาเสียชีวิต อันเป็นผลทำให้ทิศทางในการร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไป

                        หลังจากนายพล อองซานถูกยิงเสียชีวิต อูนุได้ขึ้นเป็นผู้นำแทน และได้มีการบรรจุเรื่องการขอถอนตัวของรัฐสมาชิกไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยวางหลักการถอนตัวดังนี้

                   1.) ต้องให้เวลาผ่านไป 10 ปี จึงจะขอถอนตัวได้

                   2.) ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งรัฐไม่น้อยกว่า 2/3

                   3.) ต่อจากนั้น ผู้นำของรัฐที่ต้องการจะถอนตัวออกจากสหภาพ ต้องแจ้งให้ผู้นำแห่งสหภาพทราบ เพื่อดำเนินการลงประชามติต่อไป

            6.4 การฉีกความตกลงโดยการก่อรัฐประหารของนายพลเอก เนวิน

                        ก่อนที่รัฐฉานจะใช้สิทธิในการขอถอนตัวออกจากสหภาพพม่า เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2501 พม่าได้ส่งกำลังทหารเข้ามาแทรกซึมในรัฐฉาน เพื่อก่อให้เกิดความแตกแยก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2505 รัฐฉานได้พยายามเรียกร้องสิทธิให้เท่าเทียมกับพม่าในสหภาพ และเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

                        แต่นายพลเอำ เนวินได้ก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2505 พร้อมกับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ จับผู้นำชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าที่คุมขัง ดังนั้น สิทธิในการขอถอนตัวจึงถูกระงับไปโดยปริยาย

                        ผมขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ณ ตรงนี้ว่า ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า มีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่าในรูปแบบของรัฐรวม ในทำนองเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางฝ่ายพม่าก็ไม่ขัดข้อง จนได้ทำสนธิสัญญาปางหลวง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490  จนกระทั่งได้นำหลักการดังกล่าวไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ

                        แต่เมื่อถึงเวลาทีรัฐฉานจะขอให้สิทธิในการแยกตัวออกจากสหภาพพม่า รัฐบาลทหารพม่า กลับส่งกองกำลังทหารเข้าไปแทรกซึมในรัฐฉานเมื่อเดือนมกราคม 2501 ต่อมาเมื่อเดือนภุมภาพันธ์ 2505 รัฐฉานได้เรียกร้องขอให้มีสิทธิเท่าเทียมกับพม่าในสหภาพพร้อมกับเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการรัฐประหารโดยนายพลเนวิน พร้อมกับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลทำให้สิทธิในการขอถอนตัวของรัฐออกจากสหภาพพม่าถูกระงับไปโดยปริยาย

            และนี่คือ จุดแตกหักที่สำคัญ เพราะรัฐบาลทหารพม่าเป็นฝ่ายฉีกความตกลงปางหลวง

7. ปัญหาเกิดจากนโยบายในการกลืนชาติของรัฐบาลพม่า

          ในการรวมตัวเป็นสหภาพพม่า แท้ที่จริงฝ่ายพม่าไม่ได้มีความคิดที่จะรัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้ง 7 รัฐ เป็นอิสระเหมือนมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ตามที่รัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต้องการ แต่ถือนโยบาย “เอกภาพในความหลากหลาย”

            7.1 การใช้นโยบายกลมกลืนวัฒนธรรม (Assimilation)

          นับตั้งแต่รัฐบาลทหารพม่าได้ปกครองประเทศเมื่อปีค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ได้ใช้นโยบายกลมกลืนวัฒนธรรมมาโดยตลอด คือ นโยบายการทำให้เป็นพม่า (Burmanizaton  Policy) ด้วยการกำหนดให้ภาษาพม่าเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียว จะใช้ภาษาถิ่นเป็นภาษาราชการคู่กันไม่ได้

            นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนในสถานศึกษาก็ต้องเป็นภาษาพม่าเท่านั้น

            7.2 การเปลี่ยนชื่อประเทศจากพม่า เป็น เมียนมาร์

            เมื่อปีค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) สภาพื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (SLORG) ได้เปลี่ยนชื่อประเทศพม่า เป็นประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นการออกเสียงตามสำเนียงชาติพันธุ์พม่า โดยมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการทำให้ชื่อสถานที่มีความคลุมเครือในการออกเสียง ให้เป็นการออกเสียงแบบชาติพันธ์ุพม่าแทนที่ภาษาอื่น ๆ

           อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการทำให้ประเทศพม่า กลายเป็นของคนชาติพันธุ์พม่านั่นเอง

            7.3 การผลักดันศาสนาพุทธ ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นพม่า

            นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารพม่าได้พยายามผลักดันศาสนาพุทธให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการทำให้เป็นพม่าด้วย จนเป็นเหตุทำให้เกิดการจลาจลระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมอย่างหนักในรัฐยะไข่ในช่วงปี 2012

            นอกจากนี้ ยังทำให้ชาวคริสต์ในรัฐชินและรัฐคะฉิ่นได้รับผลกระทบจากนโนบายดังกล่าวด้วย เมื่อพื้นที่จำนวนมากในรัฐชินและรัฐคะฉิ่นถูกแทนที่ด้วยพุทธเจดีย์  ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลทหารพม่ายังออกคำสั่งให้โบสถ์คริสต์ในกรุงย่างกุ้งจำนวนมากว่า 80 แห่งต้องปิดตัวลง รวมทั้งห้ามปฏิบัติ คริสตศาสนพิธีนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา และห้ามการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิล เป็นภาษาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ได้มีการเผาทำลายคัมภีร์ไบเบิลมากถึงจำนวน 16,000 เล่ม และยังได้มีคำสั่งห้ามจัดงานเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในรัฐชินในปี 2000 และรัฐคะฉิ่นในปี 2003

          7.4 การประกาศใช้ธงชาติรูปแบบใหม่ เมื่อปี ค.ศ.2010

          เมื่อปี ค.ศ.2010 สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council-SPDC ) ซึ่งแปรสภาพมาจากสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (SLORC) ได้ประกาศใช้ธงชาติพม่ารูปแบบใหม่ที่มีดาวใหญ่สีขาวอยู่ตรงกลาง มีแถบสี 3 สี คือ สีเหลือง สีเขียว และสีแดง โดยปราศจากการขอรับความเห็นชอบจากชนกลุ่มชาติพันธุ์

            สีเหลือง หมายถึง ความเป็นปึกแผ่น

            สีเขียว หมายถึง สันติภาพ

            สีแดง หมายถึง ความอาจหาญ

            การเปลี่ยนรูปแบบธงชาติใหม่ดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพม่าต้องการสร้างชาติด้วยการทำให้ชาติเหลือเพียงเชื้อชาติเดียว ภาษาเดียว และศาสนาเดียว

            ในขณะที่รัฐบาลพม่าได้พยายามสร้างชาติให้เป็นชาติของชนชาติพม่าชาติเดียว บรรดาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าไม่ขาดสายเช่นกัน

            ผมขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ว่า รัฐบาลทหารพม่าต้องการสร้างรัฐเดี่ยวทีมีเอกภาพ ภายใต้การนำของชนชาติพม่า ไม่ต้องการให้เป็นรัฐรวมแบบที่มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ ดังนั้น จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้สหภาพพม่า มีเอกภาพท่ามกลางความแตกต่างขอชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ

            ในขณะเดียวกันชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้ง 7 รัฐ แม้ไม่อาจจะแยกตัวออกไปตั้งเป็นประเทศอิสระได้ แต่ถ้าสามารถปกครองตนเองได้ในทำนองเดียวกันมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา รัฐของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ทั้ง 7 ก็คงจะพอใจ ดังนั้น การที่รัฐบาลทหารพม่าพยายามจะสร้างสหภาพพม่าให้เป็นรัฐเดี่ยวจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐทั้ง 7 ทำให้เกิดรวมตัวสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่าเป็นระยะ ๆ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบสุขโดยไม่มีการสู้รบกันได้อย่างแท้จริงเมื่อใด

            โดยเฉพาะอย่าง รัฐบาลทหารพม่า ยุคพลเอก เนวิน เป็นฝ่ายฉีกความตกลงปาหลวงเอง เมื่อปี พ.ศ.2505 ด้วยการก่อรัฐประหารรัฐบาลอูนุ พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญทิ้ง

            กล่าวอีกนัยหนึ่ง การฉีกความตกลงปางหลวง คือ จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างแท้จริง ที่มีผลสืบเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้

8.สรุป

          ปัญหา ความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลทหารพม่า เกิดจากสาเหตุหลายประการ คือ เกิดจากสภาพภูมิประเทศ เกิดจากนโยบายแบ่งแยกและปกครองเมื่อครั้งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลายาวยานร่วม 63 ปี ระหว่างปีค.ศ. 885-1948  เกิดจากการฉีกความตกลงปางหลวงเมื่อปี พ.ศ.2505 โดยการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของอูนุ แล้วตั้งรัฐบาลทหารขึ้นปกครองแทนและสืบทอดอำนาจต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งปี พ.ศ.2554 เป็นเวลาร่วม 50 ปี และเกิดจากนโยบายกลืนชาติชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้กลายเป็นชนชาติพม่าเพียงชาติเดียว

            ด้วยความขัดแย้งที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว จึงทำให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธ์ุต่าง ๆ ไม่พอใจ และได้ใช้กองกำลังสู้รบกับทหารของรัฐบาลพม่าเรื่อยมา เป็นระยะ ๆ

            สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน หัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้

คุยกับดร.ชา

          คู่สนทนาของผมในครั้งนี้ อาจจะดูแปลกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ตรงที่มีคู่สนทนาจำนวนสองคน แทนที่จะมีคนเดียวเหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งคู่เป็นลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหงของผม  คนแรกคือคุณภัทรนันท์ และอีกคนคือ คุณเรืองศักดิ์

คุณภัทรนันท์ ในชุดพื้นเมืองอันหล่อเหลาและสง่างาม
คุณภัทรนันท์ ในชุดพื้นเมืองอันหล่อเหลาและสง่างาม

            สำหรับคนแรก หลายท่านคงจะพอรู้จัก เพราะเป็นผู้เขียนบทความยอดฮิต “ จากการศึกษา นอกโรงเรียน (กศน.) สู่ตำแหน่งในฝัน นายอำเภอ ”

            ส่วนคุณเรืองศักดิ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนักบริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง

คุณเรืองศักดิ์ ในชุดพื้นเมือง อันหล่อเหลาและสง่ามงามไม่แพ้กัน
คุณเรืองศักดิ์ ในชุดพื้นเมือง อันหล่อเหลาและสง่างามไม่แพ้กัน

            “สวัสดี คุณภัทรนันท์ และคุณเรืองศักดิ์  วันนี้อาจารย์รู้สึกเป็นเกียรติที่ทั้งสองท่านกรุณาสละเวลามาสนทนากับอาจารย์ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่าเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบมุมมองที่กว้างขึ้น   

              ก่อนอื่น อาจารย์ขอชมว่า ทั้งสองท่านแต่งกายชุดพื้นเมือง ดูหล่อและสง่ามาก ”                                                                                                                                               ผมทักทายทั้งคู่พร้อมกับแจ้งวัตถุประสงค์

            “สวัสดีครับ อาจารย์ ผมคิดว่า เรื่องราวปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

          ผมเห็นว่า หากเราได้ศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาหรือจัดการปัญหาของรัฐบาลพม่า ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในการนำมาเป็นข้อคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งบางอย่างในบ้านเรา แม้ว่าบ้านเราอาจจะไม่มีปัญหาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เหมือนอย่างในพม่า ” คุณภัทรนันท์เสนอความเห็นของตนก่อน

            “สวัสดีครับ อาจารย์ ผมเองก็เพิ่งมีโอกาสมาร่วมสนทนากับอาจารย์เป็นครั้งแรก รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมาก จึงอยากจะแสดงความคิดเห็นบ้าง

            ผมขอแยกปัญหาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า ออกเป็น 3 ด้าน คือ

           ด้านสังคม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพระมีคนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลายเผ่า

          ด้านการเมือง มีการแทรกแซงจากภายนอก

          ด้านเศรษฐกิจ พม่ายังอยู่ในระดับต่ำที่สุดของอาเซียน ” คุณเรืองศักดิ์เปิดมุมมองของตนบ้าง

            “อาจารย์คิดว่า มุมมองของทั้งสองท่านน่าสนใจมาก ดังนั้น เราก็คงจะสนทนากันในกรอบของมุมมองของทั้งสองท่าน

            ประเด็นแรก พวกเราคิดว่า ทำไมการแก้ปัญหานี้ในพม่าถึงยากเย็นมาก เพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2491 ซึ่งเป็นที่อังกฤษยอมให้เอกราชแก่พม่าภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง” ผมลองกำหนดประเด็นในการสนทนา

          “ ผมคิดว่า คำว่า ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า ไม่ได้หมายความว่า มีจำนวนคนน้อย เพราะเมื่อรวมจำนวนประชากรของแต่ละเผ่าเข้าด้วยกัน ก็อาจจะมีจำนวนมากเกือบร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรพม่าทั้งหมด ดังนั้นจึงมีอำนาจต่อรองสูง ” คุณภัทรนันท์เสนอความเห็นก่อน

            “ผมคิดว่า การที่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่า มีถิ่นที่อยู่ตามป่าเขา แยกออกมาต่างหากจากคนพม่า ทำให้แต่ละชนเผ่ามีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ

            ความแตกต่างเช่นนี้ ทำให้แต่ละชนเผ่า ต้องการที่จะปกครองตนเองมากกว่าจะยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ” คุณเรืองศักดิ์แสดงความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่ง

            “อาจารย์คิดว่า ความเห็นของทั้งสองท่าน มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง แต่น่าจะมีเหตุผลหรือปัจจัยอื่น ๆ อีกไหม ” ผมกระตุ้นให้ทั้งคู่ใช้ความคิดต่อ

          ในความเห็นของผม การที่พม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษเป็นเวลายาวนานร่วม 63 ปี โดยอังกฤษได้ใช้นโยบาย แบ่งแยกและปกครอง คือ แบ่งการปกครองพม่าออกเป็น 2 ส่วน และปกครองด้วยระบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ การปกครองพม่าแท้ ส่วนหนึ่ง และการปกครองชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อีกส่วนหนึ่ง

            ด้วยผลของการใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครอง ทำให้ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพม่าเคยชินกับการอยู่อย่างเป็นอิสระจากพม่า ดังนั้น ภายหลังพม่าได้เอกราชจากอังกฤษแล้ว ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงต้องการจะปกครองตนเองมากกว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าโดยตรง ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นเพิ่มเติม

            “ อาจารย์เห็นด้วยกับความเห็นของคุณภัทรนันท์นะ เพราะการได้ปกครองตนเองน่าจะมีความสุขและมีความเป็นอิสระมากกว่า ” ผมแสดงความเห็นเสริมคุณภัทรนันท์บ้าง

            “ อาจารย์ครับ การที่พม่าฉีกความตกลงปางหลวง ที่พม่าได้ทำไว้กับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์บางกลุ่มเมื่อปีพ.ศ.2490 ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ และความตกลงนั้นได้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญให้พม่าเป็นประเทศรัฐรวม มีหลักการข้อหนึ่งว่า หากรัฐใดต้องการจะแยกตัวออกจากสหภาพพม่าก็ให้ทำได้เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีแล้ว

            แต่พอรัฐฉานยังไม่ทันจะใช้สิทธิในการขอถอนตัวออกจากสหภาพพม่า ก็ได้เกิดการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2505 โดยนายพลเอก เนวิน พร้อมกับยกเลิกรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลทำให้ความตกลงปางหลวงถูกระงับการใช้โดยปริยาย

            ผมคิดว่า การรัฐประหารครั้งนั้นได้ทำลายความหวังและความไว้วางใจของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ ลงอย่างสิ้นเชิง และนี่คือจุดเริ่มต้นของการใช้กำลังและอาวุธต่อสู้กับทหารของรัฐบาลพม่า เพื่อขอปกครองตนเอง ” คุณเรืองศักดิ์ แสดงความเห็นในจุดสำคัญจุดหนึ่ง

            “ใช่ ถูกต้อง ถ้าเราเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพม่าบ้าง เราก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน ใครมีความเห็นอย่างอื่นเพิ่มเติมไหม ” ผมกระตุ้นต่อ

            “ มีครับอาจารย์ และผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ด้วย

            การที่รัฐบาลทหารพม่าซึ่งได้ปกครองประเทศพม่าแบบผูกขาดมาเป็นเวลายาวนานร่วม 50 ปี ก่อนที่จะยอมปล่อยอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจีได้มีโอกาสปกครองประเทศเมื่อปีพ.ศ.2554 รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้นโยบายกลืนชาติ

            หมายถึงว่า รัฐทหารพม่าต้องการสร้างชาติพม่า ให้เป็นชาติของคนพม่า ใช้ภาษาพม่า มีศาสนาเดียวคือศาสนาพุทธ เท่ากับเป็นการกดขี่ความรู้สึกและความต้องการของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างรุนแรง เพราะชนเผ่าต่าง ๆ ต้องการที่จะปกครองตนเอง มิใช่อยู่ภายใต้การปกครองพม่าอย่างที่พม่าต้องการ

            คำว่า ปกครองตนเอง อาจจะมิได้หมายถึง การต้องแยกตัวออกไปตั้งประเทศใหม่ แต่หมายถึงการปกครองในรูปแบบรัฐรวมในทำนองเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา โดยชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์สามารถตั้งรัฐบาลมลรัฐได้ มีรัฐธรรมนูญของสหภาพพม่าให้การรับรอง ” คุณเรืองศักดิ์แสดงความเห็นในเชิงลึกได้ดีทีเดียว

            “ใช่ อาจารย์เห็นด้วยกับคุณเรืองศักดิ์ หากสหภาพพม่า ซึ่งฟังชื่อก็เป็นรัฐรวมอยู่แล้ว ยอมรับหลักการของรัฐรวมมาใช้เป็นรูปแบบในการปกครองประเทศ ปัญหาการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลพม่าคงจบไปนานแล้ว

            เพราะดูแล้ว หากรัฐบาลทหารพม่ายังมีความต้องการจะให้พม่าเป็นรัฐเดี่ยวอย่างไทย คงไม่ง่าย ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ คงต้องสู้รบกับรัฐบาลพม่าไปอีกนาน ” ผมแสดงความเห็นบ้าง

            “อาจารย์ขอถามความเห็นของทั้งสองท่านในประเด็นสุดท้ายว่า ถ้าพม่ายังมีปัญหาการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่าง ๆ กับรัฐบาลเหมือนอย่างทุกวันนี้ น่าจะส่งผลกระทบในด้านใดบ้าง” ผมถามความเห็นประเด็นสุดท้าย

          “ ผมคิดว่า หากบ้านเมืองใดไม่มีความสงบสุข การพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองย่อมเป็นไปได้ยาก แม้จะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เพราะการลงทุนย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเขาไม่อยากเข้าไปลงทุนในดินแดนที่ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง

            นักลงทุน เขาต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล หากเห็นว่า บ้านเมืองใดไม่สงบ การลงทุนของเขาก็อาจจะสูญเปล่า ” คุณเรืองศักดิ์แสดงความเห็นกว้าง ๆ

            “ ผมขอเสริมความเห็นของคุณเรืองศักดิ์ อย่างปัญหาสามจังหวัดภาคใต้บ้านเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีการใช้อาวุธลอบโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักลงทุนก็จะกล้าไปลงทุน อย่างเวลานี้ ผมได้ข่าวมาว่า กระทรวงคมนาคมกำลังจะเปิดท่าอากาศยานเบตง  จังหวัดยะลา  ในราวเดือนเมษายนนี้

            ผมเชื่อว่า ภายหลังจากการเปิดท่าอากาศยานเบตงแล้ว การท่องเที่ยวและการลงทุนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิมเยอะ และคิดว่าอีกไม่นาน ท่านอากาศยานเบตงก็น่าจะได้รับการยกระดับเป็นท่าอากาศยานนานาชาติได้ ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นตบท้ายได้อย่างน่าฟัง

            “อาจารย์เห็นด้วยกับความคิดของทั้งสองท่าน

          ความจริง อาจารย์กับครอบครัวก็วางแผนไปเที่ยวเบตงเหมือนกัน แต่เกิดปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดรอบสองก่อน เลยยังไม่ได้ไป เอาไว้ปัญหาเบาบางลงเมื่อใด คงต้องไปแน่ จะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนถามทุกข์สุขของลูกศิษย์แถวนั้นบ้าง ไม่ได้พบกันนาน อาจารย์ก็คิดถึงเหมือนกัน

            วันนี้เราได้สนทนากันมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว และได้พูดครอบคลุมในมิติต่าง ๆ พอสมควร ก็คงขอยุติการสนทนาไว้เพียงเท่านี้ ขอขอบคุณทั้งสองท่านที่กรุณาสละเวลามาพูดคุยกันในวันนี้ อาจารย์เชื่อว่า การสนทนาของเราในวันนี้ คงจะมีส่วนช่วยในการเปิดมุมมองในด้านต่าง ๆ แก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย

            โอกาสหน้าค่อยพบกันใหม่

            ขอให้โชคดี ” ผมกล่าวปิดการสนทนา

          ดร.ชา

            21/02/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

14 COMMENTS

  1. ชาวโรฮิงญาในเขตปกครองตนเองของพม่า เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น มาจากสาเหตุอะไรคะ ขอบคุณค่ะ

  2. อาจารย์เล่าเรื่องชนเผ่าต่างๆในพม่าให้เพื่อนๆฟัง ดิฉันอยากให้นายอำเภอเล่าเรื่องชนเผ่าต่างๆในจังหวัดศรีสะเกษให้เพื่อนฟังค่ะ ขอบคุณค่ะ

    1. ขอเล่าเป็นเพลงได้มั้ยครับ…”สาวสี่เผ่า ส่วย เขมร ลาว เยอร์ ยังสิงสู่อ้ายอยู่เสมอ แค่ได้เจอก็นับเป็นบุญตา” วัฒนธรรมของชนเผ่าที่อำเภอศรีรัตนะ มีความเป็นดั้งเดิมและโดดเด่นมากครับ ทั้งเผ่าส่วย เผ่าเขมร และเผ่าลาว โดยเฉพาะเผ่าส่วยที่บ้านตูม ตำบลตูม อำเภอศรีรัตนะ การสื่อสารของคนในหมู่บ้านจะใช้ภาษาส่วยพูดคุยกัน ซึ่งในปัจจุบันผมคิดว่าคงหาดูที่ชุมชนอืนได้ยาก

      1. ขอบคุณท่านนายอำเภอที่ได้มาแบ่งปันความรู้ค่ะ

  3. พม่ามีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและอื่นๆ จึงทำให้รวมตัวกันยาก เพื่อที่จะทำให้เป็นเอกภาพ เหตุผล คือ ชนกลุ่มน้อยต้องการการปกครองตนเอง ค่ะ

  4. อาจารย์คะ ที่จังหวัดศรีสะเกษมีสี่เผ่าด้วยกัน มีความเป็นมาอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ

  5. หนูได้ความรู้นี้จากข่าวการประกวดธิดาผ้าไหม 4 เผ่าของดีจังหวัดศรีสะเกษค่ะ
    ในความคิด คิดว่ามาจากชนเผ่า ซึ่งหนูไม่มีความรู้ทางด้านนี้
    ให้อาจารย์ช่วยเล่าให้ฟังด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

  6. ประเทศพม่ายังไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้เท่าที่ควรเพราะมีความขัดแย้งเรื่องชนเผ่าต่างๆ ประเทศไทยเราโชคดีมากครับที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ หากเราสมัครสมานสามัคคี รับฟังเสียงของทุกกลุ่มทุกฝ่าย ร่วมมือร่วมใจกันทำหน้าที่โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ประเทศไทยเราคงเจริญรุ่งเรือง พี่น้องประชาชนมีแต่ความอยู่ดีมีสุข และประเทศไทยของเราจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกครับ

  7. เป็นแนวทางที่น่าสนใจมากครับ เพื่อเป็นการศึกษาและเปรียบเทียบการปกครองในประเทศเพื่อนบ้าน ในหลายบริบทของประเทศที่แตกต่างออกไป

  8. ความปัญหาความขัดแย้งในแต่ละภูมิสังคมจะสะท้อนในการปกครองของแต่ละประเทศซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศเราครับเป็นบทความที่น่าค้นคว้าและศึกษาต่อครับอาจารย์

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: