บทความนี้ เป็นบทความที่ 2 ของหมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา โดยจะเล่าถึง การค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัส สงครามเจ็ดปีระหว่างบริเตนใหญ่หรืออังกฤษและฝรั่งเศส กำเนิดอาณานิคม 13 แห่ง สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว (1) ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจว่าเป็นเพราะเหตุใด ผมจึงเขียนบทความหมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา และจะเล่าถึงหัวข้อใดบ้าง
สำหรับบทความนี้ ต้องการเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ประเทศสหรัฐเกิดขึ้นจากดินแดนอาณานิคมของอังกฤษจำนวน 13 แห่ง กล่าวคือ ประเทศสหรัฐ เป็นประเทศที่เกิดใหม่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เกิดก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ของไทยเพียง 6 ปี หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ประเทศสหรัฐเกิดในสมัยกรุงธนบุรีนั่นเอง
หากท่านไม่ได้ศึกษาว่า ประเทศสหรัฐมีกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านก็อาจจะไม่เข้าใจความเป็นมา แนวคิดและหลักการในร่างรัฐธรรมนูญของอเมริกา ซึ่งได้มีส่วนสำคัญทำให้ประเทศนี้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจชั้นนำของโลกภายช่วงเวลาอันสั้น โดยได้เริ่มฉายแววความเป็นมหาอำนาจมานับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความเป็นมหาอำนาจชั้นนำของโลกก็ยิ่งเด่นชัด เพราะสหรัฐได้กลายเป็นผู้นำฝ่ายโลกเสรีร่วมกับยุโรปตะวันตกทำสงครามเย็นกับอดีตสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ และก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 อเมริกาได้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลก หลังจากสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลง แม้ว่าในปัจจุบันความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐกำลังถูกท้าทายจากจีนอยู่ก็ตาม
2.การค้นพบโลกใหม่ของโคลัมบัส
ดินแดนที่เรียกว่า อเมริกาในปัจจุบันนี้ ในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองมาก่อน ต่อมา คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Cristopher Columbus) นักสำรวจชาวอิตาลี ได้รับจ้างกษัตริย์สเปนให้เดินทางไปสำรวจประเทศอินเดีย แต่แทนที่จะเดินทางไปทิศตะวันออก โคลัมบัสกลับเลือกเดินทางไปทางทิศตะวันตกโดยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไป จึงทำให้ได้พบโลกใหม่ โดยบังเอิญเมื่อปีค.ศ.1492
หลังจากนั้น ได้มีนักแสวงโชคชาติต่าง ๆ จากยุโรปทั้งบริเตนใหญ่หรืออังกฤษและแผ่นดินใหญ่ยุโรป ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปแสวงโชคลาภและความมั่งคั่งร่ำรวยที่โลกใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีประชากรหนาแน่นกลายเป็นดินแดนอาณานิคมของชาติยุโรปหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน รวมทั้ง เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และสวีเดน
3.สงครามเจ็ดปีระหว่างบริเตนใหญ่หรืออังกฤษและฝรั่งเศส (Seven Years’ War)
อย่างไรก็ตาม มีชาติสำคัญ 3 ชาติ ที่แย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือดินแดนโลกใหม่ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน โดยอังกฤษมีดินแดนอาณานิคมอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศเหนือ
ในช่วงระหว่างปีค.ศ.1756-1763 อังกฤษต้องการขยายอิทธิพลไปทางตะวันตก ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ครอบครองดินแดนอาณานิคมทางตะวันตก โดยฝรั่งเศสจับมือกับคนอินเดียนแดง ชาวพื้นเมือง บางครั้งจึงเรียกชื่อสงครามฝรั่งเศสและอินเดียน (The French and Indian War)

(Wikipedia, Seven Years’ War, 29th September 2020)
สงครามครั้งนี้นับเป็นสงครามใหญ่ครั้งหนึ่งของโลกในยุคศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเวลา 160 ปีต่อมา เพราะมีการสู้รบกันทั้งทางบกและทางเรือ ทำให้มีคนล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ความจริงสงครามเจ็ดปี มิใช่เป็นสงครามเฉพาะระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสสองชาติเท่านั้น เพราะทั้งสองชาติมีพันธมิตรร่วมรบด้วย กล่าวคือ อังกฤษมีปรัสเซีย และปอร์ตุเกส เป็นพันธมิตร ฝรั่งเศสมีคนพื้นเมืองอินเดียแดง รัสเซีย สเปน และสวีเดน เป็นพันธมิตร
ผลของสงครามเจ็ดปี
สงครามเจ็ดปี ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 1756 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1763 ด้วยชัยชนะเป็นของบริเตนใหญ่หรืออังกฤษและพันธมิตร ทำให้มีการตกลงกันในเรื่องดินแดนอาณานิคมกันใหม่ ตามสนธิสัญญากรุงปารีสปี 1763 (Treaty of Paris 1763) ดังนี้
ฝรั่งเศสยอมยกดินแดนด้านฝั่งตะวันออกของแม้น้ำมิสซิสซิปปี (The Mississippi River) และแคนาดา ให้แก่บริเตนใหญ่หรืออังกฤษ
ฝรั่งเศสยอมยกหลุยส์เซียนา (Louisiana) และดินแดนฝั่งตะวันตกของแม้น้ำมิสซิสซิปปี ให้แก่สเปน
และสเปนยอมยกฟลอริดา (Florida) ให้แก่บริเตนใหญ่หรืออังกฤษ
(Wikipedia, Seven Years’ War, 29th September 2020)
4.ดินแดนอาณานิคม 13 แห่ง
ด้วยผลของข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น ทำให้อังกฤษได้ดินแดนอาณานิคมที่อยู่ทางด้านเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกทั้งหมด รวมเป็นดินแดนอาณานิคม จำนวน 13 แห่ง

(Wikipedia, Thirteen Colonies, 29th September 2020)
รายชื่อดินแดนอาณานิคม 13 แห่ง
ดินแดนอาณานิคม 13 แห่งของอังกฤษดังกล่าว มีรายชื่อดังนี้ คือ
นิวแฮมเชียร์ (New Hampshire)
แมสซาจูเสตส์ (Massachusetts)
คอนเนคติกัต (Connecticut)
โรดไอส์แลนด์ (Rhode Island)
นิวยอร์ค (New York)
นิวเจอร์ซี่ (New Jersey)
เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania)
เดลาแวร์ (Delaware)
แมรีแลนด์ (Maryland)
เวอร์จิเนีย (Virginia)
นอร์ทแคโรไลนา(North Carolina)
เซาท์แคโรไลนา(South Carolina)
จอร์เจีย (Georgia)
4.สรุป
การที่อังกฤษได้ดินแดนอาณานิคมด้านเหนือของมหาสมุทรแอดแลนติกจำนวน 13 แห่ง นับเป็นจุดเริ่มต้นของกำเนิดประเทศสหรัฐในเวลาต่อมา เพราะดินแดนอาณานิคมทั้ง 13 แห่งได้เริ่มรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนับตั้งแต่ตอนนั้น ดังผมจะเล่าให้ท่านทราบในบทความต่อไป
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ คุยกับดร.ชา
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คงเป็นอาจารย์ดร.กิ่งฉัตร เช่นเคย
“สวัสดีครับอาจารย์ดร.กิ่งฉัตร วันนี้เป็นครั้งที่สอง ที่เราจะได้สนทนากันในเรื่องเล่า รัฐธรรมนูญสหรัฐ ”ผมทักทายก่อนเพื่อผ่อนคลาย
“ สวัสดีค่ะ ดร.ชา ยินดีที่จะได้คุยกันต่อ ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรทักทายตอบ
“ ถ้าเช่นนั้น ผมขอเปิดประเด็นแรกเลย อาจารย์คิดว่า เรื่องราวกำเนิดประเทศสหรัฐ น่าสนใจไหม” ผมลองถามความเห็นในเบื้องต้น
“ ในความเห็นของดิฉัน คิดว่าน่าสนใจแน่นอน เพราะประวัติศาสตร์ประเทศสหรัฐ เพิ่งเริ่มต้นจริง ๆ ก็ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี่แหละ หรือเมื่อประมาณ สองร้อยหกสิบปีที่ผ่านมานี่เอง ยังเป็นเรื่องใหม่ ๆ อยู่ คือเริ่มต้นเมื่อเกิดสงครามเจ็ดปีนี่เอง ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรตอบแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด
“ ประเด็นที่สอง อาจารย์คิดว่า สงครามเจ็ดปีมีความสำคัญอย่างไรต่อกำเนิดประเทศสหรัฐ ” ผมเริ่มถามลึกเข้าไป
“ในมุมมองของดิฉัน คิดว่า หากไม่มีสงครามเจ็ดปีเกิดขึ้น โอกาสที่อังกฤษจะได้ครอบครองดินแดนอาณานิคมทั้ง 13 แห่ง อาจจะล่าช้าออกไป หรืออาจจะไม่มีโอกาสก็ได้ เพราะสงครามเจ็ดปีได้ส่งผลให้อังกฤษในฐานะผู้ชนะ ได้ดินแดนอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือเพิ่มเติมจากเดิมเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ได้ดินแดนอาณานิคมทางชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีทั้งหมดจากฝรั่งเศส แถมยังได้แคนาดาจากฝรั่งเศสเป็นของแถมอีก
การที่อังกฤษได้อาณานิคมทั้ง 13 แห่งมาอยู่ในครอบครอง ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดินแดนอาณิคมทั้ง 13 แห่งได้รวมตัวกัน ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรตอบในเชิงวิเคราะห์
“ประเด็นที่สาม นอกจากนี้อาจารย์มีความเห็นเกี่ยวกับสงครามเจ็ดปีเพิ่มเติมไหม ” ผมกระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นต่อ
“ อ๋อ เมื่อพูดสงครามแล้วก็เป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะสงครามได้เป็นสาเหตุทำให้ มนุษชาติต้องทำลายล้างกันอย่างไร้ความปราณี เพื่อให้ฝ่ายตนได้รับชัยชนะ คนที่บาดเจ็บล้มตายไม่ใช่มีแค่ทหารที่เข้ารบ แม้แต่พลเรือนก็พลอยโดนลูกหลงไปด้วย
ดูอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าจะได้ชัยชนะได้มีผู้คนทั่วโลกบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก อย่างกรณีประเทศญี่ปุ่น หากสหรัฐไม่สามารถผลิตอาวุธปรมาณูขึ้นมาใช้ทันในช่วงนั้น ผลของสงครามก็ไม่แน่ว่าจะจบลงอย่างไร
แต่เมื่อเมริกาตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูกที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากต้องเป็นเหยื่อสังเวยความโหดร้ายของสงคราม ทำให้ญี่ปุ่นหมดทางสู้และต้องยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรระบายความรู้สึกออกมา
“อือ ดูอาจารย์คงรู้สึกเศร้าและเครียดเหมือนกันนะ อาจารย์เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นมามิใช่เหรอ พอได้เที่ยวแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้ ” ผมถามถึงความรู้สึกบ้าง
“ เวลาไปเที่ยวก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้หรอก ก็คงถึงความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่นด้านต่าง ๆ และอดชื่นชมชาติญี่ปุ่นไม่ได้ ขนาดแพ้สงครามโลกอย่างยับเยิน แต่ก็ยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จนได้เป็นประเทศมหาอำนาจชั้นนำชาติหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตร ตอบตามความรู้สึกของตน
“ วันนี้เราได้พูดคุยกันพอสมควร ต้องขอขอบคุณอาจารย์มาก เดี๋ยวค่อยพบกันใหม่คราวหน้า สวัสดีครับ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีค่ะ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรกล่าวตอบสั้น ๆ แต่มีควาหมายชัดเจน
ดร.ชา
29/09/20
ขอบคุอาจารย์ มาสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้ ทบทวนความรู้อีกครั้งค่ะ
ด้วยความยินดี
หนูชอบวิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะไม่ก่งวิชาคณิตศาสตร์ ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน การทำโทษครูรุ่นหนู รุนแรงกว่าปัจจุบันนี้ เคนโดนครูวิชาคณิต ถีบโต๊ะใส่หนู ตอนเรียนประถมปีที่1 ค่ะ
กว่าจะได้เรียนหนังสือ เป็นเรื่องยาก ปัจจุบันนี้การเรียนเป็นเรื่องง่าย
เรืองนี้ เป็นไปตามยุคสมัยนะ เมื่องกรอบความคิดของสังคมเปลี่ยนไป สิ่งทีเคยเชื่อว่าถูกต้อง อาจจะเปลี่ยนเป็นความไม่ถูกต้องแทน