ประเทศลาวมีรูปแบบการปกครองอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 19 ของหมวดเรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะเล่าถึง ความนำ ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศลาวที่ควรทราบ รัฐธรรมนูญของประเทศลาว รูปแบบการปกครองส่วนกลาง รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น รายชื่อแขวงและนคร วิเคราะห์รูปแบบการปกครอง สรุป และเรื่องเล่า สนุกกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความ (18) ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน ได้เล่าถึงประวัติประเทศลาวว่า สืบเนื่องนับตั้งแต่ยุคขุนบรม และขุนลอ ก่อนจะได้มีการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างในรัชสมัยเจ้าฟ้างุ้ม หลังจากนั้นได้แตกแยกเป็นยุคสามอาณาจักร ยุครัฐบรรณาการของสยาม ยุคอินโดจีนของฝรั่งเศส ยุคราชอาณาจักรลาว และยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน (สปป.ลาว)
สำหรับบทความนี้ มุ่งที่จะนำเสนอเรื่องราวรูปแบบการปกครองของลาวในปัจจุบันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 1991 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
2.ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศลาวที่ควรทราบ

2.1 ตำแหน่งที่ตั้ง
สปป.ลาว เป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ไม่มีทางออกทะเล ตลอดแนวชายแดนของลาว ระยะทาง 5,083 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้าน คือ
ทิศเหนือ จรดจีน มีความยาวตามแนวชายแดน 423 กิโลเมตร
ทิศใต้ จรดไทย มีความยาวตามแนวชายแดน 1,754 กิโลเมตร และกัมพูชามีความยาวตามแนวชายแดน 541 กิโลเมตร
ทิศตะวันออก จรดเวียดนาม มีความยาวตามแนวชายแดน 2,130 กิโลเมตร
ทิศตะวันตก จรดไทย มีความยาวตามแนวชายแดน 1,754 ิโลเมตร
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จรดพม่า มีความยาวตามแนวชายแดน 235 กิโลเมตร
2.2 ขนาดพื้นที่
ลาวมีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร
2.3 จำนวนประชากร และกลุ่มชาติพันธุ์
ลาวมีประชากรเมื่อปี 2019 ประมาณ 7,123,205 คน คิดเป็นความหนาแน่นของประชากร 26.7 คน ต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร
ประชากรลาวประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ คือ ลาว 53.2 % ขมุ 11% ม้ง 9.2% ผู้ไท 3.4% ไท 3.1 % มะโข่ง (Makong) 2.5% กะดาง 2.2 % ไทลื้อ2.0 % อาข่า 1.8 % และอื่น ๆ 11.6%
2.4 ภาษา
ภาษาราชการ คือ ภาษาลาว และภาษาฝรั่งเศส
ภาษาพูด คือ ภาษาลาว ภาษาม้ง ภาษขมุ ภาษาไทย และภาษาฝรั่งเศส
2.5 ศาสนา
ศาสนาพุทธร้อยละ 66.0
ศาสนาพื้นบ้านร้อยละ 30.7
ศาสนาคริสต์ร้อยละ 1.5
ศาสนาอิสลามร้อยละ 0.1
ศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 1.7
3.รัฐธรรมนูญของประเทศลาว
ประเทศลาว มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ” (The Lao’s People Democratic Republic) คำย่อ คือ สปป. ลาว
ลาวเป็นประเทศรัฐเดี่ยวที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง มีรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี 1991 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมถึงปี 2015 แบ่ง 13 หมวด ดังนี้
3.1 ระบอบการเมืองการปกครอง
3.2 ระบอบเศรษฐกิจ-สังคม
3.3 ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ
3.4 สิทธิขั้นพื้นฐาน และหน้าที่ของพลเมือง
3.5 สภาแห่งชาติ
3.6 ประธานาธิบดี
3.7 รัฐบาล
3.8 สภาประชาชนระดับท้องถิ่น
3.9 องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น
3.10 ศาลของประชาชน และอัยการของประชาชน
3.11 ผู้ตรวจสอบแห่งรัฐ
3.12 คณะกรรมการการเลือกตั้ง
3.13 ภาษา ตัวอักษร สัญลักษณ์ของชาติ เพลงชาติ เพลงชาติ เงินตรา และเมืองหลวง
3.14 บทเฉพละกาล
4. รูปแบบการปกครองส่วนกลาง
รูปแบบการปกครองส่วนกลาง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 1 หมวด 5 หมวด 6 หมวด 7 หมวด 10-12
4.1 ระบอบการปกครองประเทศ (Political Regime) ตามหมวด 1
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นรัฐประชาธิปไตยของประชาชน (people’s democratic state) อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ทุกชั้นทางสังคม โดยเฉพาะคนงาน ชาวนา และปัญญาชน
พรรคปฏิวัติประชาชนลาว (Lao People’s Revolutionary Party) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำประชาชนหลากหลายเชื้อชาติขับเคลื่อนประเทศ
ประชาชนมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาแห่งชาติ และสภาประชาชนระดับท้องถิ่น
สภาแห่งชาติ สภาประชาชนในระดับท้องถิ่น และองค์กรรัฐอื่น ๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ต้องทำหน้าที่ตามหลักประชาธิปไตยรวมศูนย์ (principle of democratic centralism)
องค์กรต่อไปนี้ เป็นองค์กรจัดตั้งเพื่อรวมและขับเคลื่อนประชาชนหลากหลายเชื้อชาติในการเข้ามีส่วนร่วมในการปกป้องและสร้างขาติ คือ ขบวนการลาวเพื่อการสร้างชาติ (Lao Front for National Construction) สหพันธ์อาสาสมัครลาว (Lao Veterans Federation) สหพันธ์ลาวแห่งสหภาพการค้า (Lao Federation of Trade Unions) สหภาพเยาวชนปฏิวัติของประชาชนลาว (Lao People’s Revolutionary Youth Union) สหภาพสตรีลาว (Lao Women’s Union) และองค์กรทางสังคมอื่น ๆ
รัฐยอมรับและคุ้มครองการปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
4.1.2 สภาแห่งชาติ (National Assembly) ตามหมวด 5
สภาแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ และเป็นองค์กรตัวแทนของคนหลากหลายเชื้อชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในการออกรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานขององค์กรของรัฐว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่
วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาแห่งชาติ กำหนดไว้ 5 ปี
สภาแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ 21 ประการ ที่สำคัญ คือ
- พิจารณาและอนุมัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- พิจารณาและอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แผนงบประมาณของรัฐ
- เลือก หรือถอดถอน ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาแห่งชาติ
- การเลือก หรือถอดถอนประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ให้ทำตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการถาวรประจำสภาแห่งชาติ
- เลือก หรือถอดถอน นายกรัฐมนตรี ตามคำแนะนำของประธานาธิบดี
- เลือก หรือถอดถอน อัยการสูงสุด ประธานศาลสูงสุด ประธานผู้ตรวจสอบแห่งรัฐ ตามคำแนะนำของประธานาธิบดี
- พิจารณาและอนุมัติการแต่งตั้งหรือถอดถอนสมาชิกของรัฐบาลตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
4.1.3 ประธานาธิบดีของรัฐ ตามหมวด 6
ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นตัวแทนคนลาวหลากหลายเชื้อชาติทั้งภายในและภายนอกประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นประธานสภาการป้องกันประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ ประธานาธิบดี เป็นผู้บัญชาการทหาร
สภาแห่งชาติเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2/3 มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาแห่งชาติ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองสมัยติดต่อกันไม่ได้
4.1.4 รัฐบาล ตามหมวด 7
รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ โดยรับผิดชอบต่อสภาแห่งชาติและประธานาธิบดี
รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี วาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาแห่งชาติ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองสมัยไม่ได้
นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นตัวแทนรัฐบาล เป็นผู้นำและบริหารงานของรัฐบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้อำนาจในการแต่งตั้ง รัฐมนตรีช่วย อธิบดี เจ้าแขวง นายกเทศมนตรีหลังจากได้รับความเห็นชอบจากสภาประชาชนชองแขวง
สภาแห่งชาติอาจมีมติไม่ไว้วางใจสมาชิกรัฐบาลคนใดคนหนึ่งหรือรัฐบาลทั้งคณะกรณีคณะกรรมาธิการสามัญประจำสมาแห่งชาติ หรือสภาแห่งชาติมีความเห็นไม่น้อยกว่า ¼ เป็นผู้เสนอ
4.1.5 การปกครองส่วนท้องถิ่น
รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นไปตาม หมวด 7 และหมวด 8 แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ สภาประชาชนระดับท้องถิ่น และองค์กรบริหารท้องถิ่น
สภาประชาชนระดับท้องถิ่น (Local People’s Assemblies).
สภาประชาชนระดับท้องถิ่น เป็นผู้อำนาจสูงสุดของการปกครองท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและใช้กฎหมายที่สำคัญ ตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในระดับท้องถิ่น และตรวจติดตามการทำงานขององค์กรของรัฐที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจ
สมาชิกสภาประชาชนระดับท้องถิ่นได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นเดียวกันกับสมาชิกสภาแห่งชาติ
สภาประชาชนระดับท้องถิ่น มีทั้งระดับแขวง(provincial level) ระดับอำเภอ(district level) และระดับหมู่บ้าน (village level) โดยสภาแห่งชาติอาจจัดตั้งสภาประชาชนในระดับอำเภอและระดับหมู่บ้าน
สภาประชาชนระดับแขวง (Provincial People’s Assembly) มีวาระตำแหน่งเท่ากับวาระของสภาแห่งชาติ
องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (Local Administration Authority)
สปป.ลาว แบ่งการบริหารท้องถิ่น ออกเป็น 3 ระดับ คือ แขวง (province) อำเภอ (district) และหมู่บ้าน (village)
องค์กรบริหารท้องถิ่น รับผิดชอบต่อรัฐบาลและสภาประชาชนระดับท้องถิ่น
แขวงมีเจ้าแขวงเป็นผู้ปกครอง
นครมีเจ้าครองนครเป็นผู้ปกครอง
อำเภอมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง
เทศบาลมีนายกเทศมนตรีปกครอง
หมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ปกครอง
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ตำแหน่งเหล่านี้ มิใช่ตำแหน่งข้าราชการประจำ แต่เป็นตำแหน่งการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองสมัยไม่ได้
5.รายชื่อแขวงและนครของลาว
ตามวิกิพีเดีย การปกครองส่วนท้องถิ่นของลาวในปัจจุบันมีหนึ่งนคร แขวงจำนวน 17 แขวง คือ

5.1 นครหลวงเวียงจันทน์ มีประชากรราว 726,000 คน
5.2 แขวงคำม่วน
5.3 แขวงจำปาศักดิ์
5.4 แขวงเชียงขวาง
5.5 แขวงไชยบุรี
5.6 แขวงไชยสมบูรณ์
5.7 แขวงเซกอง
5.8 แขวงบอลิคำไซ
5.9 แขวงบ่อแก้ว
5.10 แขวงพงสาลี
5.11 แขวงเวียงจันทน์ มีประชากร 373,700 คน
5.12 แขวงสาละวัน
5.13 แขวงสุวรรณเขต มีประชากร 721,500 คน
เป็นแขวงที่มีประชากรมากที่สุด หากไม่นับนครหลวงเวียงจันทน์
5.14 แขวงหลวงน้ำทา
5.15 แขวงหลวงพระบาง
5.16 แขวงหัวพัน
5.17 แขวงอัตตะปือ
5.18 แขวงอุดมไซ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ในจำนวน 17 แขวง มีแขวงเวียงจันทน์ชื่อซ้ำกับนครหลวงเวียงจันทน์ แต่เป็นคนละส่วนกัน แขวงเวียงจันทน์ตั้งอยู่ติดกับนครหลวงเวียงจันทน์
6.วิเคราะห์รูปแบบการปกครองของประเทศลาว
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจรูปแบบการปกครองขอลาวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอวิเคราะห์ไห้มองเห็นภาพดังนี้
6.1 ระบอบการปกครองประเทศ
ระบอบการปกครองของลาว เป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกันระบอบการปกครองของเวียดนาม โดยมีสภาแห่งชาติเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ ทั้งนี้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี 1991 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แต่รัฐหรือแม้แต่สภาแห่งชาติจะต้องอยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว ในทำนองเดียวกันกับเวียดนามมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นผู้ชี้นำรัฐตามลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์
นอกจากนี้ การปกครองประเทศยึดถือหลักการประชาธิปไตยแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (principle of democratic centralism)
6.2 รูปแบบการปกครองส่วนกลาง
แยกออกเป็นดังนี้ คือ
6.2.1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาแห่งชาติ แต่สภาแห่งชาติลาวมีอำนาจมากกว่าสภานิติบัญญัติของประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไป เพราะมีอำนาจหลายอย่าง รวมทั้งมีอำนาจในพิจารณาอนุมัติรัฐธรรมนูญด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี และมีอำนาจให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด ประธานศาลสูง และประธานผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐ ตามคำแนะนำของประธานาธิบดี
6.2.1 ประธานาธิบดี เป็นประมุขของประเทศและผู้บัญชาการเหล่าทัพ
6.2.3 รัฐบาล คือ คณะรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า โดยรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาแห่งชาติ และประธานาธิบดี
6.2.4 ศาล ประกอบด้วยศาลสูง ศาลระดับท้องถิ่น และศาลทหาร
6.3 รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น
แม้ลาวเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนไทย แต่ลาวไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค มีแต่การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวน 3 ระดับ คือ แขวง (รวมทั้งนคร) อำเภอ และหมู่บ้าน
รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น แยกออกเป็นสองส่วน คือ
6.3.1 สภาประชาชนระดับท้องถิ่นในแต่ละระดับ
สภาประชาชนระดับท้องถิ่น มีทั้งสภาระดับแขวง สภาระดับอำเภอ และสภาระดับหมู่บ้าน
สำหรับสภาท้องถิ่นของประชาชนระดับแขวง มีอำนาจหลายประการ รวมทั้งมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าแขวงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสามัญประจำสภาประชาชนระดับแขวง (Provincial People’s Assembly Standing Committee)
6.3.2 ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับ คือ
แขวง มีเจ้าแขวง และเจ้าครองนคร เป็นผู้ปกครอง
ส่วนนครหลวงเวียงจันทน์ มีเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์เป็นผู้ปกครอง
อำเภอ มีเจ้าเมือง เป็นผู้ปกครอง
หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ปกครอง
อนึ่งตำแหน่ง เจ้าแขวงเทียบเท่าตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย และตำแหน่งเจ้าเมือง เทียบเท่านายอำเภอของไทย
6.4 ความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งในพรรคปฏิวัติประชาชนลาว กับตำแหน่งในทางการบริหารประเทศ
การปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรค ปกติจะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐด้วย เช่น
เลขาธิการใหญ่พรรค ฯ จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
เลขาธิการพรรค ฯ ระดับแขวง จะได้เป็นเจ้าแขวงด้วย
7. สรุป
รูปแบบการปกครองของประเทศลาว เป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับประเทศเวียดตาม ภายใต้รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวปี 1991 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
หัวใจของการการปกครองระบอบนี้คือ พรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงของประเทศ และเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนรูปแบบในการปกครองประเทศก็ไม่แตกต่างไปจากประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในโลกเสรี แต่ประชาชนไม่มีสิทธิที่แสดงออกไปในทางที่ขัดต่อแนวทางของลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์
ประเทศลาวถือว่า ตนเป็นประเทศทีมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน แต่เป็นประชาธิปไตยแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
สำหรับความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ เรื่องเล่า สนุกกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
คู่สนทนาขอผมในวันนี้ คือ คุณประดิษฐ์เหมือนคราวที่แล้ว

“สวัสดีคุณประดิษฐ์ วันนี้เรามาคุยกันต่อเรื่องรูปแบบการปกครองของลาวดีไหม ” ผมทักทายก่อน
“ ดีครับอาจารย์ ในมุมมองของผม พรรคปฏิวัติประชาชนลาวหรือพรรคคอมมิวนิสต์ลาว เป็นองค์กรที่มีอำนาจที่แท้จริงในการปกครองประเทศลาว เพราะมีอำนาจในการชี้นำองค์กรต่าง ๆ และประชาชนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่พรรค ฯ ต้องการ ” คุณประดิษฐ์แสดงความเห็นสั้น ๆ แต่เข้าเป้าดีทีเดียว
“อาจารย์เห็นด้วย แต่อยากให้ขยายความเพิ่มเติมหน่อยได้ไหมว่า ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ”ผมกระตุ้นให้พูดในรายละเอียดหน่อย
“ ตามที่อาจารย์ได้เล่ามาในบทความข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พรรคปฏิวัติประชาชนลาว เป็นเพียงพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แสดงว่า จะมีพรรคการเมืองอื่นอีกไม่ได้ ถ้าหากมี ก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญ ฯ ก็ยังยอมรับให้พรรคปฏิวัติประชาชนลาวมีอำนาจในการชี้นำประเทศและสังคมในทุกมิติทีเดียว แสดงว่า ตามข้อเท็จจริงประเทศลาวไม่ได้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนบ้านเราแน่ ” คุณประดิษฐ์แสดงความเห็นแบบคนเข้าใจการเมืองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นอย่างดี
“ แต่เขาก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติและสมาชิกสภาประชาชนระดับท้องถิ่น และยังมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเหมือนประเทศเรา คุณประดิษฐ์ยังคิดว่า เขาไม่เป็นประชาธิปไตยอีกเหรอ ” ผมตั้งคำถามแย้งเพื่อลองภูมิคุณประดิษฐ์
“ ก็จริงครับ อาจารย์ แต่คนที่จะสมัครและคนที่จะได้รับเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนของพรรค ฯ ทั้งสิ้น ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกคนที่ไม่ใช่คนของพรรค ฯ เหมือนอย่างบ้านเรา ที่ประชาชนมีโอกาสเลือกผู้สมัครได้จากหลายพรรคการเมือง ” คุณประดิษฐ์ตอบได้ชัดเจนดีทีเดียว
“ อาจารย์คิดว่า เรามาลองคุยในแง่สนุก ๆ สักหน่อยดีไหม
คุณประดิษฐ์เคยไปเที่ยวลาวที่ใดบ้าง อย่างแขวงจำปาศักดิ์หรือปากเซเคยไปไหม” ผมถามเพราะเชื่อว่า คงเคยไปแน่
“ เคยสิครับ อาจารย์ คนอยู่อุบล ถ้าไม่เคยไปเที่ยวปากเซหรือจำปาศักดิ์ ก็เชยแล้ว ” คุณประดิษฐ์รีบตอบอย่างมั่นใจ
“ คุณประดิษฐ์มีความเห็นอย่างไรต่อปากเซ ” ผมถามสั้น ๆ แต่เปิดโอกาสให้ตอบยาว ๆ ได้
“ ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงสัก 10 ปีกว่าย้อนหลังไป ปากเซมีความเจริญเติบโตมาก เพราะเขามีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำโขง น้ำตกคอนพะเพ็ง และอื่น ๆ อีกหลายแห่ง มีโรงแรมหรู ๆ สร้างขึ้นใหม่ก็หลายแห่งเช่นกัน
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทยนี่แหละ เลยทำให้อุบลพลอยคึกคักตามไปด้วย เพราะการจะเข้าไปปากเซสามารถผ่านทางช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีได้อย่างสะดวกสบาย ” คุณประดิษฐ์ตอบอย่างคล่องแคล่ว
“ก่อนจะยุติการสนทนาในวันนี้ อาจารย์ขอเสริมความรู้ให้นิดหนึ่งว่า เจ้าแขวงของลาว มีอำนาจมากกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย เพราะมีอำนาจเด็ดขาดในแขวง และมีเอกภาพในการบังคับบัญชา ไม่เหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยที่อำนาจหลายอย่างยังสงวนไว้ที่ส่วนกลางเยอะ ดังนั้น หากแขวงใดมีปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุนมากพอ อย่างแขวงจำปาศักดิ์ ก็จะสามารถพัฒนาความเจริญเติบโตได้รวดเร็ว
วันนี้เราคงคุยกันแค่นี้ ต้องขอขอบคุณ คุณประดิษฐ์มากที่สละเวลามาคุยกับอาจารย์ถึงสองครั้งติดต่อกัน โอกาสหน้าพบกันใหม่นะ ” ผมกล่าวให้ข้อคิดปิดท้ายการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับอาจารย์ ”
ดร.ชา
12/06/21
แหล่งข้อมูล
1.รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี 1991 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
2.วิกิพีเดีย, ประเทศลาว, เข้าถึง 12 มิถุนายน 2564
พึ่งทราบว่านครเวียงจันทน์กับแขวงเวียงจันทน์เป็นคนละส่วนกันครับ
เป็นบทความที่มีประโยชน์มากครับ ทำให้รู้จักประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นครับ
ประธานาธิบดีประเทศลาว เลือกตั้งกันอย่างไรคะ
สภาแห่งชาติเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีลาว ด้วยคะแนน 2 ใน 3
ขอบคุณครับ Thank you.
ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับที่ชอบบทความนี้