.
ประวัติประเทศลาว มีความเป็นมาอย่างไร นับเป็นบทความลำดับที่ 18 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน โดยจะกล่าวถึง ความนำ ประวัติความเป็นมาของลาวยุคต่าง ๆ อาณาจักรล้านช้าง ยุคสามอาณาจักร ยุครัฐบรรณาการของสยาม สงครามเจ้าอนุวงศ์ สงครามปราบฮ่อ ยุคอินโดจีนของฝรั่งเศส ยุคราชอาณาจักรลาว ยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความ (17) ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน ผมได้เล่าเรื่องราวในอดีตหรือประวัติศาสตร์ของประเทศเวียดนามให้ท่านทราบ นอกจากเวียดนามแล้ว ยังมีประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกประเทศหนึ่งที่มีรูปแบบการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เช่นกัน คือ ประเทศลาว
ในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน ลาวนับเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดและความคล้ายคลึงกับไทยมากที่สุด ทั้งในด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม จนอาจจะเรียกได้ว่า หากไม่มีแม้น้ำโขงขวางกั้น ไทยและลาวน่าจะนับเป็นประเทศเดียวกันได้ ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าเรื่องราวของประเทศลาวจึงน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ประวัติศาสตร์
2.ประวัติประเทศลาวยุคต่าง ๆ
ประวัติศาสตร์ประเทศลาว อาจแบ่งออกเป็นยุค ๆ ได้ดังนี้
2.1 ยุคอาณาจักรล้านช้าง
2.2 ยุคสามอาณาจักร
2.3 ยุครัฐบรรณาการของสยาม
2.4 ยุคอินโดจีนของฝรั่งเศส
2.5 ยุคราชอาณาจักรลาว
2.6 ยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3.ยุคอาณาจักรล้านช้าง พ.ศ. 1897-2250 (ค.ศ.1354-1707)

ในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์ลาวเชื่อว่า เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรน่านเจ้า โดยขุนบรม และขุนลอ ซึ่งได้มีลูกหลานสืบต่อกันมา จนกระทั่งรัชสมัยเจ้าฟ้างุ้ม จึงสามารถรวบรวมสร้างอาณาจักรล้านช้างสำเร็จในช่วงศตวรรษที่ 8 โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบางหรือเชียงทอง
หลังจากนั้น อาณาจักรล้านช้างได้มีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ แต่ที่สำคัญมีอยู่ 2 พระองค์ คือ
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ พระองค์ได้ย้ายราชธานีจากหลวงพระบางลงมาอยู่ที่เวียงจันทน์
พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ในรัชสมัยของพระองค์เป็นยุคทองของของราชอาณาจักรล้านช้าง
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ประวัติศาสตร์ลาวในช่วงเริ่มต้นก่อนที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก กล่าวคือประวัติศาสตร์ไทย มีที่มาจากอาณาจักรน่านเจ้า และมีบรรพบุรุษเดียวกัน คือ ขุนบรม และขุนลอ หลังจากนั้น ลูกหลานของขุนบรม และขุนลอ ได้แยกย้ายกันออกไปสร้างบ้านแปงเมือง จนทำให้เกิด 3 อาณาจักรของคนไทยขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรกรุงสุโขทัย
หลังจากนั้นไม่นาน ก็ได้เกิดอาณาจักรของคนไทยอีกแห่งหนึ่ง คือ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจะรวมเอาอาณาจักรกรุงสุโขทัยเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันในเวลาต่อมา
4.ยุคสามอาณาจักร พ.ศ. 2250-2321 (ค.ศ. 1707-1778)
หลังจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชได้เสด็จสวรรคตแล้ว อาณาจักรล้านช้างก็ถึงคราวเสื่อม บรรดาเชื้อพระวงศ์ต่างแก่งแยกอำนาจกัน ทำให้อาณาจักรล้านช้างต้องแตกออกเป็น 3 เสี่ยง คือ
อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
โดยแต่ละอาณาจักรต่างเป็นอิสระต่อกัน
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
การที่อาณาจักรล้านช้างถึงคราวเสื่อม สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ กษัตริย์ในสมัยโบราณ ไม่ได้แต่งตั้งมกุฎราชกุมารไว้ พอเสด็จสวรรคต จึงมักทำให้มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างเชื้อพระวงศ์ ฝ่ายใดชนะก็จะได้เสวยราชสมบัติ ฝ่ายใดแพ้ก็จะต้องถูกกำจัดเสียไปให้พ้นทาง
5.ยุครัฐบรรณาการของสยาม พ.ศ. 2321-2436 (ค.ศ.1778-1893)
การที่อาณาจักรล้านช้างได้อ่อนแอลง จนกระทั่งได้แตกแยกและแตกออกเป็นสามอาณาจักร จึงทำให้ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของสยามในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อปีพ.ศ.2321 หรือค.ศ.1778 จนกระทั่งปีพ.ศ.2436 หรือค.ศ.1893 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยามจึงเสียดินแดนลาวให้แก่ฝรั่งเศส รวมระยะเวลาที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม เป็นระยะเวลา 115 ปี
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
การที่อาณาจักรล้านช้างแตกแยกออกเป็น 3 อาณาจักร ย่อมแสดงให้เห็นความอ่อนแอของอาณาจักรล้านช้างได้อย่างชัดเจน ดังนั้น การที่พระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถเอาอาณาจักรล้านช้างทั้ง 3 แห่ง เป็นเมืองขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องยากมาก เพราะแต่ละอาณาจักรต่างต่อสู้ลำพังตนเอง ไม่สามารถจับมือกันสู้กับพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสยามได้
6.สงครามเจ้าอนุวงศ์
ในช่วงปีพ.ศ.2321-2436 ที่ลาวตกเป็นเมืองขึ้นของไทย มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น 2 ประการ คือ สงครามเจ้าอนุวงศ์ และสงครามปราบฮ่อ
สงครามเจ้าอนุวงศ์ เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
6.1 เหตุการณ์ปีพ.ศ.2369 (ค.ศ.1826)
เมื่อปี พ.ศ.2369 อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ มีเจ้าอนุวงศ์เป็นกษัตริย์ปกครอง
เจ้าอนุวงศ์เคยรับราชการกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีความชอบมาก จึงประทานเมืองจำปาศักดิ์ให้แก่เจ้าราชบุตรโย้ ซึ่งเป็นราชบุตรของเจ้าอนุวงศ์เป็นผู้ปกครองอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ได้เสด็จขึ้นเสวยราชเป็นรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นการผลัดแผ่นดิน จึงอยากจะแยกเป็นอิสระไม่ขึ้นกับสยามอีกต่อไป และได้รวมกำลังกับเจ้าราชบุตรโย้แห่งอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ยกทัพเข้ามาทางด้านภาคอีสานของไทย พร้อมกับแสวงหาพันธมิตรจากหลวงพระบางและอาณาจักรล้านมา แต่ไม่มีผู้ใดร่วมด้วย เพราะยังจงรักภักดีต่อสยามอยู่
เมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์ยกมาถึงเมืองนครราชสีมา เห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จ จึงได้เผาทำลายเมืองนคราชสีมาทิ้งเสียและได้กวาดต้อนผู้คนไปเวียงจันทน์เพื่อเอาเป็นเชลย แต่ในระหว่างทาง เชลยที่ถูกกวาดต้อนได้ลุกขึ้นสู่ที่ทุ่งสำริด ทำให้สูญเสียกำลังทหารลาวไปส่วนหนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ และเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกกองทัพไปปราบ เจ้าอนุวงศ์สู้ไม่ได้ จึงหนีไปพึ่งจักรวรรดิเวียดนาม สยามจึงยึดกรุงเวียงจันทน์ไว้ โดยมีกองทหารจำนวนหนึ่งรักษาเมืองไว้
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์เผาเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย ได้ทำให้เกิดวีรสตรีไทยท่านหนึ่ง คือ ท่านท้าวสุรนารีหรือคุณหญิงโม ซึ่งได้เป็นผู้นำในการต่อสู้กับเจ้าอนุวงศ์ที่ทุ่งสำริด วีรกรรมครั้งนี้ของคุณหญิงโม ได้ทำให้ท่านเป็นที่เคารพยกย่องของชาวนครราชสีมาตลอดจนประชาชนทั่วไปตราบเท่าทุกวันนี้
เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติคุณหญิงโม ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของท่านไว้ที่ลานคุณย่าโม จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งมีการจัดงานเฉลิมฉลองชัยชนะของท้าวสุรนารีอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี
6.2 เหตุการณ์ปีพ.ศ.2371 (ค.ศ.1828
เมื่อปีพ.ศ.2371 หรืออีกสองปีต่อมา เจ้าอนุวงศ์ได้เดินทางจากเวียดนามกลับมาเวียงจันทน์พร้อมกับขบวนราชทูตเวียดนามเพื่อขอสวามิภักดิ์ต่อสยามอีกครั้งหนึ่ง แต่พอได้โอกาส เจ้าอนุวงศ์กลับนำทหารของตนฆ่าทหารสยามที่รักษาเมืองเวียงจันทน์ตายเกือบหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน
สยามจึงต้องส่งกองทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์สู้กองทัพสยามไม่ได้ จึงหลบหนีไปยังเมืองพวน (ปัจจุบันคือแขวงเชียงขวาง) แต่เจ้าเมืองพวนกลับจับเจ้าอนุวงศ์และพระราชวงศ์ที่เหลือส่งกรุงเทพ ฯ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์มาก จึงทรงให้คุมขังประจานกลางพระนครจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทำลายเสียจนไม่เหลือสภาพความเป็นเมือง คงเหลือแต่หอพระแก้วและวัดสีสะเกดเท่านั้นที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์จนกระทั่งทุกวันนี้
หลังจากเวียงจันทน์ได้ถูกทำลายลงแล้ว ทรงให้ตั้งศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ที่เมืองหนองคายแทน
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
หลังจากเวียงจันทน์ถูกทำลายลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เมืองหนองคายเป็นศูนย์กลางฝ่ายไทยในการปกครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์แสดงว่า ในช่วงนี้อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้ล่มสลายลงแล้ว
สงครามเจ้าอนุวงศ์ที่เกิดขึ้นคราวนั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิเวียดนามและราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่งได้เกิดสงครามที่เรียกว่า “อานามสยามยุทธ” เป็นระยะเวลายาวนานถึง 14 ปี เพราะต่างต้องการขยายอิทธิพลเข้าไปดินแดนลาวและเขมร โดยสยามและเวียดนามได้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนต้องหย่าศึกในที่สุด
ยิ่งกว่านั้น สงครามเจ้าอนุวงศ์ ในเชิงลึกแล้ว ยังเป็นบาดแผลทางประวัติประเทศลาว และไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้
7.สงครามปราบฮ่อ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในดินแดนลาวในส่วนที่เป็นอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ คือ สงครามปราบฮ่อ ระหว่างปีพ.ศ.2418-2433

(วิกิพีเดีย, สงครามปราบฮ่อ, 7 มิถุนายน 24564
7.1 สาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามปราบฮ่อ
จีนฮ่อ เป็นพวกกบฏต่อราชวงศ์แมนจูที่กำลังปกครองจีนอยู่ในขณะนั้น ได้หนีการไล่ล่าของจีนในยุคราชวงศ์แมนจู ส่วนหนึ่งได้เข้ามาอยู่ในดินแดนที่อยู่ในอำนาจของไทย และเมื่อปีพ.ศ.2418 พวกจีนฮ่อกลุ่มนี้ได้ออกทำการปล้นสะดมในเขตสิบสองจุไท และเมืองพวน โดยได้ตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ และได้ยกทัพมาตีหลวงพระบางและเวียงจันทน์
7.2 ผลของสงครามปราบฮ่อ
เมื่อปีพ.ศ.2420 พวกฮ่อได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ และได้ตั้งกองบัญชาการที่เวียงจันทน์ หลังจากนั้นได้โจมตีเมืองตามรายทางเรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ยกกองทัพไปปราบ กองทัพฮ่อสู้ไม่ได้ แตกร่นไป กองทัพสยามตามไปตีถึงเวียงจันทน์ พวกฮ่อสู้ไม่ได้หนีเข้าป่าไป
ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.2427 พวกฮ่อได้ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองต่าง ๆ อีก ทำให้ราษฎรเดือดร้อน พระองค์ทรงส่งกองทัพไปปราบ พวกฮ่อแตกพ่ายหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงขวางและทุ่งเชียงคำ
จนกระทั่งปีพ.ศ.2428 พระองค์ทรงให้ยกกองทัพขึ้นไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ พวกฮ่อสู้ไม่ได้ขอเจรจาสงบศึก
เพื่อให้การปราบพวกฮ่อเป็นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด พระองค์ทรงให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม คุมกองทัพขึ้นไปปราบ กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนแตกพ่ายไป
7.3 อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ
เมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ สงบลงแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดร จึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรมกองต่าง ๆ ที่ยอมเสียชีพเพื่อชาติ จนกระทั่งปีพ.ศ.2492 จังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณมาทำการบูรณปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ โดยได้ย้ายมาสร้างขึ้นใหม่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหนองคายหลังเก่า
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ มีลักษณะเป็นศิลปะประยุกต์ แบบทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง 4 เมตร สูง 10 เมตร ส่วนยอดเป็นทรงกรวยเหลี่ยมปลายแหลม
ทุกวันที่ 5 มีนาคม ของแต่ละปี จังหวัดหนองคายจะจัดให้มีการประกอบพิธีบวงสรวง และจัดเป็นงานประจำปีของจังหวัด
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
สงครามปราบฮ่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา เพราะหลังสงครามปราบฮ่อสงบลง ฝรั่งเศสซึ่งได้ส่งกองทหารเข้ามาอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทอ้างว่า เพื่อช่วยไทยปราบฮ่อ ฝรั่งเศสไม่กลับยอมถอนกองทหารออกไปจากบริเวณแคว้นสิบสองจุไทยซึ่งอยู่ติดกับอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และมีพื้นที่มากถึง 87,000 ตารางกิโลเมตร ไทยจึงต้องเสียแคว้นสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ.2341
8.ยุคอินโดจีนของฝรั่งเศส พ.ศ.2436-2496 (ค.ศ.1893-1953)
หลังจากสยามได้เสียดินแดนแค้วนสิบสองจุไทให้ฝรั่งเศสเมือปีพ.ศ.2341 แล้ว สยามได้เสียดินแดนที่เรียกว่า ประเทศลาวในปัจจุบันนี้ให้แก่ฝรั่งเศสอีกจำนวน 2 ครั้ง คือ
8.1 เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาว พื้นที่จำนวน 143,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อปีพ.ศ.2436 จากวิกฤตการณ์ปากน้ำเมื่อร.ศ.112 โดยฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบมาปิดอ่าวไทย
8.2 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ด้านตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และเมืองจำปากศักดิ์หรือปากเซ พื้นที่จำนวน 62,500 ตารางกิโลเมตร เมื่อปีพ.ศ.2449
รวมระยะเวลาที่ลาวตกเป็นดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นเวลา 60 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2436-2496
9.ยุคราชอาณาจักรลาว
ก่อนที่ลาวจะได้เอกราชโดยสมบูรณ์จากฝรั่งเศสเมื่อปีพ.ศ.2496 (ค.ศ.1953) ลาวได้ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) โดยมีเจ้าสุวรรณภูมา เจ้าเพชรราช และเจ้าสุภานุวงศ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องเอกราช แต่พอญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้กลับเข้าไปยึดครองลาวอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากฝรั่งเศสได้ยอมให้เอกราชแก่ลาว ลาวได้เลือกรูปแบบการปกครองประเทศเป็นราชอาณาจักร โดยรวมเอาอาณาจักรล้านช้างทั้งสามอาณาจักรเข้าเป็นราชอาณาจักรลาว มีเจ้ามหาชีวิตเป็นประมุข และมีการปกครองรูปแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง
เจ้ามหาชีวิตพระองค์แรก คือ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ปกครองอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบางอยู่แล้ว
จนกระทั่งต่อมา หลังจากที่ฝรั่งเศสรบแพ้เวียดมินห์หรือเวียดนามที่เบียนเดียนฟู ได้เป็นแรงกดดันทำให้ฝรั่งเศสยอมมอบเอกราชให้ลาวโดยสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.1953
10.ยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พ.ศ.2518 (ค.ศ.975)-ปัจจุบัน
ลาวได้อยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาทีมีเจ้ามหาชีวิตเป็นประมุข ท่ามกลางความแตกแยกและขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตยและฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งปีพ.ศ.2518 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ภายใต้การนำของเจ้าสุภานุวงศ์ และภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและเวียดนามเหนือ ได้ทำการยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลประชาธิปไตย ของเจ้าสุวรรณภูมา พระเชษฐา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสสำเร็จ
หลังจากนั้น ได้เรียกร้องให้เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาสละราชสมบัติ และคณะปฏิวัติลาวได้ประกาศสถาปนาประเทศลาว เป็น “ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 จนกระทั่งทุกวันนี้
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
หลังจากได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแล้ว ในช่วงแรก ได้แต่งตั้งเจ้าสุภานุวงศ์เป็นประธานประเทศ ท่านไกสอน พมวิหาร เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าศรีสว่างวัฒนา เป็นที่ปรึกษาสูงสุดขอประธานประเทศ เจ้าสุวรรณภูมาเป็นที่ปรึกษาสูงสุดของรัฐบาล
แต่ภายหลังพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้จับกุมอดีตเจ้ามหาชีวิต พระมเหสี และอดีตพระบรมราชวงศานุวงศ์ล้านช้าง ไปคุมขังในค่ายกักกัน และต่อมาทุกพระองค์ต่างสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย
นอกจากนี้ ยังได้มีการจับกุมนักการเมือง ข้าราชการในระบอบเก่า รวมทั้งประชาชนชาวลาวจำนวนมากเข้าค่ายกักกัน ส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตเพราะเป็นโรคขาดสารอาหารและถูกยิงทิ้ง ในระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 20,000-62,000 คน การที่มียอดผู้เสียชีวิตอันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้านในลาวมากขนาดี้ แสดงให้เห็นความโหดร้ายของสงครามกลางเมืองได้เป็นอย่างดี
11.สรุป
ประวัติประเทศลาว เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่มีการสถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย
ลาวต้องตกเป็นเมืองขึ้นของสยามในยุคกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้รับเอกราช
หลังจากได้รับเอกราช ลาวได้ปกครองในรูปแบบราชอาณาจักร ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์หรือเจ้ามหาชีวิตเป็นประมุข
ปัจจุบันลาวปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกันกับเวียดนาม
สำหรับความเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้
เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณประดิษฐ์
คุณประดิษฐ์เคยเข้ามาเป็นคู่สนทนากับผมมาแล้วครั้งหนึ่ง

“สวัสดี คุณประดิษฐ์ เราไม่ได้เจอกันนานแล้ว สบายดีไหม ” ผมทักทายแบบง่าย ๆ
“ สบายดีครับ อาจารย์ วันนี้อาจารย์ มีเรื่องสนุกอะไร จะชวนผมคุย ผมพร้อมแล้ว” คุณประดิษฐ์ทักทายผมแบบง่าย ๆ เช่นกัน
“ ดีแล้ว วันนี้ อาจารย์อยากจะชวนคุยเกี่ยวกับประวัติประเทศลาวหน่อย สนใจไหม” ผมบอกหัวข้อสนทนา
“ ดีครับอาจารย์ ผมชอบ ในทัศนะของผม ไทย-ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ทำให้ไทยและลาวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ” คุณประดิษฐ์ตอบตามความรู้สึกที่แท้จริงของตน
“ ใช่ อาจารย์เห็นด้วยกับคุณประดิษฐ์ มีอีกอย่างหนึ่ง ลาว-ไทย สามารถติดต่อกันได้ง่ายและสะดวกที่สุด เพราะไม่มีปัญหาเรื่องภาษา และไม่ต้องใช้ล่าม จริงไหม “ ผมแสดงความเห็นเสริมคุณประดิษฐ์บ้าง
“ จริงครับอาจารยฺ์ นอกจากนี้ ผมยังเห็นว่า ไทยและลาว มีประวัติศาสตร์ร่วมกันหลายอย่าง เรียกว่า หากอยากจะเข้าใจประวัติศาสตร์ไทย ก็ต้องเข้าใจประวัติประเทศลาวด้วย อย่างเช่น ไทยและลาว มีบรรพบุรุษ ร่วมกัน คือ ขุนบรม และขุนลอ
ผมเห็นว่า หากไม่มีแม่น้ำโขงมาขวางกั้น ไทยและลาวน่าจะเป็นประเทศเดียวกัน ” คุณประดิษฐ์แสดงความรู้สึกออกมาให้น่าคิด
“ คุณประดิษฐ์ประทับใจประวัติประเทศลาวตอนไหนเป็นพิเศษบ้าง “ ผมตั้งคำถามเปิด
“ ว่าตามความจริง ผมสนใจสงครามเจ้าอนุวงศ์เป็นพิเศษ เพราะมุมมองของไทยและลาวในเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏต่อสยาม แต่ประวัติศาสตร์ลาวกลับยกย่องให้เจ้าอนุวงศ์เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เจ้าอนุวงศ์ไม่สามารถประกาศเอกราชให้ลาวได้ ” คุณประดิษฐ์กล่าวอย่างระมัดระวัง
“ใช่ อาจารย์ก็คิดเช่นนั้น แต่ในมุมมองของลาว อาจจะมองในแง่ความกล้าหาญก็ได้ เพราะการกล้าต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพจากสยาม คงเป็นความต้องการที่ยิ่งใหญ่ของลาว หรือถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ ไม่มีประเทศใดอยากจะเป็นเมืองขึ้นของใครดอก หากมีช่องทางใดจะประกาศเอกราชได้ ก็ต้องหาทางกระทำด้วยกันทั้งนั้น แม้อาจจะยังไม่สำเร็จ แต่คนในชาติก็ย่อมยกย่องในความกล้าหาญและเสียสละ ” ผมพยายามมองในมุมบวกและสมมุติว่าตัวเองเป็นคนลาว
“ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ ”คุณประดิษฐ์กล่าวเสริมผมสั้น ๆ
“ เรื่องสงครามปราบฮ่อ คุณประดิษฐ์ไม่สนใจบ้างเหรอ ” ผมถามในอีกเรื่องหนึ่ง
“ ก็น่าสนใจเหมือนกัน แต่ผมสนใจในแง่ที่ว่า เพราะสงครามปราบฮ่อหรือเปล่าที่ทำให้ฝรั่งเศสนำมาใช้เป็นกลยุทธ์จะเอาแผ่นดินลาวไปจากไทยหรือแม้แต่แผ่นดินสยามทั้งหมด ” คุณประดิษฐ์เปิดมุมมองของตนบ้าง
“ ใช่ พวกฝรั่งนักล่าเมืองขึ้น เขาจะต้องหาอะไรมาเป็นข้ออ้างบีบคั้นเรา หากเราไม่ยอมตามก็จะเกิดสงครามใหญ่ และถ้าเรารบแพ้ก็ต้องเสียเอกราชทั้งหมด
“เรามาเปลี่ยนประเด็นคุยกันดีกว่านะ คุณประดิษฐ์คงเคยไปเที่ยวเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวบ้าง มีอะไรประทับใจไหม ” ผมชวนคุยในเรื่องประสบการณ์
“เคยครับอาจารย์ ผมชอบหอพระแก้ว และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง อาจารย์คงได้ไปเที่ยวลาวหลายครั้งมากกว่าผม รบกวนอาจารย์เล่าประสบการณ์ให้ฟังหน่อยครับ ” คุณประดิษฐ์เอ่ยถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยรู้จักกันดีพร้อมกับขอฟังประสบการณ์จากผมบ้าง
“ ได้คุณประดิษฐ์ อาจารย์เคยไปเที่ยวเวียงจันทน์ครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ.2535

ในช่วงเวลานั้น สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ยังไม่เปิด แต่กำลังเตรียมจะเปิด
พอดีในช่วงนั้น อาจารย์ได้รับคำสั่งให้ไปเป็นนายอำเภอครั้งแรกที่นั่น คืออำเภอโซพิสัย จึงได้พาครอบครัวนั่งเรือข้ามฟากไปเที่ยวเวียงจันทน์
แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ กว้างใหญ่กว่าแม่น้ำเจ้าพระยามาก ดังนั้น เวลานั่งเรือข้ามฟากไปจึงรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน
เวียงจันทน์ในยุคนั้นยังไม่มีอะไร เพราะลาวยังไม่เปิดประเทศ ” ผมเล่าให้คุณประดิษฐ์ฟังย่อ ๆ
“ ทุกวันนี้เวียงจันทน์คงเปลี่ยนไปมากใช่ไหม อาจารย์ ” คุณประดิษฐ์แสดงความเห็นในรูปแบบคำถาม
“ แน่นอน เพราะทุกวันนี้ ลาวไม่ใช่เมืองปิดอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากลาวได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และได้เป็นประธานอาเซียน คนไทยนิยมไปเที่ยวลาวกันมาก หากเป็นนักท่องเที่ยวจากรุงเทพ ฯ ส่วนใหญ่ใช้วิธีนั่งเครื่องบินไปลงที่ท่าอากาศยานอุดรธานี แล้วนั่งรถข้ามสะพานมิตรภาพไป ก็สะดวกดี
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่าอากาศยานอุดรธานีคึกคักกว่าเดิมมาก เพราะมีเครื่องบินขึ้นลงวันละหลายสิบเที่ยวทีเดียว อย่าว่าแต่คนไทย แม้แต่คนลาวก็นิยมนั่งเครื่องบินจากอุดรธานเข้ากรุงเทพ ฯ เพราะวันหนึ่งมีหลายเที่ยวและราคาตั๋วเครื่องบินก็ถูกกว่าบินตรงไปลงที่ท่าอากาศยานเวียงจันทน์มาก ” ผมเล่าพอให้คุณประดิษฐ์มองเห็นภาพ
“ ผมขอทราบข้อมูลนิดหนึ่งว่า มีรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ ไทย-ลาว ที่ผ่านหนองคายและเวียงจันทน์ไหม ” คุณประดิษฐ์แสดงความสนใจในเรื่องการเดินทางของประชาชนทั่วไป
“มีแน่นอน คุณประดิษฐ์ เท่าที่อาจารย์ทราบก็มีสายขอนแก่นหรืออุดรธานี-เวียงจันทน์ ขอนแก่นหรืออุดรธานี-วังเวียง ในทำนองเดียวกันกับมีรถโดยสารประจำทางสายอุบลราชธานี-ปากเซ นั่นแหละ
วันนี้เราคงคุยกันเท่านี้นะ ขอบคุณมากที่กรุณาสละเวลามาคุยกับอาจารย์แม้ว่าอาจจะติดภารกิจเรื่องโรคโควิด-19 ระบาดในพื้นที่ก็ตาม โอกาสหน้าค่อยพบกันใหม่ ” ผมกล่าวยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับอาจารย์”
ดร.ชา
7/06/21
แหล่งที่มาของข้อมูล
พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ.(2551). ประวัติศาสตร์ไทย 2 ราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ ฯ:สายส่งสุขภาพใจ.
วิกิพีเดีย,ประเทศลาว,เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564.
วิกิพีเดีย, สงครามปราบฮ่อ, เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564.
ขอบคุณคุณดิษฐ์ที่ได้มาแบ่งปันบทความให้เพื่อนๆได้อ่าน นอกจากอาชีพรับราชการแล้ว คุณดิษฐ์ยังมีความรู้เกี่ยวกับอาเซียนด้วยค่ะ
ลาวเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเพศสภาพทำไมภาษาราชการจึงไม่ใช้ภาษาฝรั่งเศสคะ ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ
เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนิยมใช้มากที่สุด จึงทำให้ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างเช่นเวียดนาม เขมร และลาว หันมาให้ความสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาฝรั่งเศส