“ ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด ” ความนำ ชาว ไทยกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอุ้มหายคืออะไร ความสำคัญของกฎหมายอุ้มหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอุ้มหาย ฐานความผิดและบทลงโทษ ระบบและกลไกตรวจสอบอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอุ้มหาย สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369
บทความนี้ นับเป็นบทความลำดับที่ 18 ของหมวด 6 เรื่องเล่า ระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีสองบทความล่าสุดที่ได้นำเสนอในหมวดนี้คือ
– ความยุติธรรม ที่อาจจับต้องได้: การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย (16)
– ต้องยึดเอา ประชาชน เป็นศูนย์กลาง การถ่วงอำนาจตำรวจ จึงจะได้ผล (17)
Table of Contents
1.ความนำ
ในระยะนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับการใช้อำนาจไปในทางมิชอบหรือใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจไทยได้ปรากฏในสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง ได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อมูลในด้านลบของตำรวจออกเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน
ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ได้มีคดีอื้อฉาวกรณีผู้กำกับโจ้ ได้ทรมานผู้ต้องหายาเสพติด้วยการใช้ถุงดำคลุมศีรษะ เพื่อทรมานให้ยอมรับว่า เป็นผู้ค้ายาเสพติด
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่า ในบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐของไทย คงไม่มีเจ้าหน้าที่ประเภทใดที่จะมีอำนาจและอิทธิพลในการจำกัดเสรีภาพในร่างกายบุคคลในสังคมไทยเท่ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เพราะนอกจากตำรวจจะเป็นหน่วยงานหลักในด้านการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาแล้ว ตำรวจยังเป็นหน่วยงานที่มีอัตรากำลังมากราว 230,000 คน กระจายออกไปอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นหน่วยงานที่มีอัตรากำลังมากรองลงมาจากข้าราชการทหารสามเหล่าทัพรวมกันซึ่งมีอัตรากำลังทหารประจำการาว 305,860 คน และข้าราชการครูรวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ราว 427,525 คน
ในการทำงาน หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านใด จำเป็นต้องมีอำนาจด้วย จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
แต่ปัญหาคือ เมื่อมีอำนาจหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเกินขอบเขตอำนาจหรือไม่ เพราะถ้าหากมีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเกินขอบเขต ย่อมจะส่งผลทำให้ประชาชนผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจการกระทำดังกล่าว ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายเป็นอย่างมาก
งานของตำรวจเป็นงานที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนโดยตรง หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ย่อมเป็นปัญหาต่อการอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน ชาว ไทย
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้างระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจในการดำเนินคดีอาญา เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนชาว ไทย การตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวจำเป็นต้องมีการตรวจสอบทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก
การตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกย่อมเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือจากสังคมภายนอกมากกว่าการตรวจสอบจากหน่วยงานภายใน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้าข้างพวกเดียวกัน
การมีกฎหมายอุ้มหาย นับเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจไทยจากหน่วยงานภายนอก
ในบทความนี้ ต้องการจะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านทราบว่า หลังจากกฎหมายอุ้มหายได้ประกาศใช้บังคับเมื่อปีพ.ศ.2565 แล้ว ประชาชนชาว ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายดังกล่าวบ้าง มีหลักประกันความเป็นธรรมแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร
2.ชาว ไทย กับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ย่อมมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาว ไทย รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาว ไทยไว้หลายประการใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย (มาตรา 25-49)
ในที่นี้จะขอยกมากล่าวเฉพาะมาตรา 28
“ มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้”
3.กฎหมายอุ้มหายคืออะไร
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดกระทรวงใด เพราะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงไม่มีหน่วยงานใดจะสามารถถ่วงดุลอำนาจตำรวจได้ ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้แบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการส่วนภูมิภาคด้วย จึงทำให้การบริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอิสระในการใช้อำนาจทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดมากทีเดียว
การให้ความเป็นอิสระแก่หน่วยงานบางประเภทที่ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัวและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการบริหารงาน
แต่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การเป็นหน่วยงานอิสระไม่สังกัดกระทรวงใด น่าจะเป็นปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพราะหน่วยงานที่มีอำนาจมากแต่ปราศจากการตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจจากหน่วยงานภายนอก ย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตด้วยความรู้สึกว่า อยากจะทำอะไรก็คงทำได้ เพราะไม่มีหน่วยงานอื่นใดคอยขัดขวาง
โดยหลักสากล ไม่มีประเทศใดที่เจริญแล้ว ปล่อยให้ตำรวจเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการใช้อำนาจโดยปราศจากการถ่วงดุลอำนาจจากหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น ล้วนมีระบบและกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตำรวจด้วยกันทั้งสิ้น
ตามความเป็นจริงเมื่อครั้งยังเป็นกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถออกข้อบังคับหรือระเบียบสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างตำรวจกับฝ่ายปกครอง ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจอันมิชอบของตำรวจ สามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอได้อย่างสะดวก ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด
ดังนั้น การประกาศใช้พระราชบัญญัติสำคัญฉบับหนึ่งเมื่อปีพ.ศ.2565 คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จึงอาจนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างระบบและกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย โดยมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป แต่ต่อมาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมโดยขยายเวลาการใช้บังคับมาตรา 22,24 และ 25 ออกไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เตรียมความพร้อม
กฎหมายฉบับนี้นี่เองที่สื่อมวลชนเรียกชื่อย่อว่า “กฎหมายอุ้มหาย” ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ชาว ไทย ตามนัยมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
แม้ในตัวพระราชบัญญัติดังกล่าว จะไม่ได้ระบุโดยตรงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอุ้มหาย ด้วยการทรมานและกระทำให้บุคคลให้สูญหาย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในทางพฤตินัยย่อมเข้าใจได้ว่า หมายถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักอย่างแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมีโอกาสและขีดความสามารถในการกระทำความผิดในการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหายได้มากที่สุด ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง
4.ความสำคัญของกฎหมายอุ้มหาย

ความสำคัญของกฎหมายอุ้มหาย อาจพิจารณาได้จากเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวและพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
4.1 เหตุผลในการประกาศใช้บังคับกฎหมายอุ้มหาย
ตามเหตุผลท้ายในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ว่า ต้องการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จึงเห็นสมควรให้กำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำให้หายสาบสูญ
4.2 พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565
แม้ว่าประเทศไทยจะได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งในการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง.ด้านกระบวนการยุติธรรม แล้วก็ตาม
แต่พระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่น่าจะตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการจากการปฏิรูปตำรวจคือการลดอำนาจของตำรวจพร้อมกับเพิ่มอำนาจของประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองจากการใช้อำนาจมิชอบหรือเกินขอบเขตของตำรวจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยรับทราบปัญหาเรื้องรังดังกล่าวมาเป็นเวลายาวนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด
แท้ที่จริงพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงกฎหมายปรับปรุงการการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในมุมมองของตำรวจด้วยกัน มากกว่าจะคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือเกินของเขตของตำรวจ เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิใช่บุคคลภายนอกหรือคนกลาง
การที่ตำรวจเป็นผู้มีบทบาทหลักในการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้คือ การพยายามรักษาสถานภาพเดิมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ให้มากที่สุด ทำให้การปฏิรูปตำรวจมิได้เกิดขึ้นจริงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ดังจะเห็นได้จากเมื่อประชาชนชาว ไทยได้รับความเดือดร้อนหรือมีความทุกข์อันเกิดจากการใช้อำนาจหรือการกระทำอันมิชอบหรือเกินขอบเขตของตำรวจ ประชาชนก็คงยังต้องหันไปพึ่งสื่อมวลชนผ่านทางทนายความคนดังเหมือนเช่นเคย
แสดงให้เห็นว่า พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ดังนั้น การที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอีกฉบับหนึ่งขึ้นมาคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานกลางในการยกร่าง จึงน่าจะเป็นความหวังหรือมิติใหม่อย่างหนึ่งว่า
นี่คือกฎหมายฉบับหนึ่งที่ประชาชนชาว ไทยพอจะมีความหวังได้ และถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นกฎหมายที่สร้างระบบและกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน
5.เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอุ้มหาย หมายถึงใคร
ตามกฎหมายอุ้มหายหรือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยามศัพท์ของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ”ควบคุมตัว” ไว้ว่า
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐ หรือได้รับมอบอำนาจหรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยายจากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย
“ควบคุมตัว” หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือการกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล
ดังนั้น เมื่อพิจารณาคำนิยามศัพท์สองคำรวมกัน คือ คำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ”ควบคุมตัว” จึงพอจะสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ชองรัฐ ตามกฎหมายอุ้มหาย หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำควบคุมตัวบุคคลด้วยการการจับกุม คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือการกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
แม้กฎหมายอุ้มหาย มิได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีโอกาสกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทใด แต่เมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทแล้ว คงไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทใดที่จะมีโอกาสและขีดความสามารถในการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้มากเท่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาในขั้นตอนสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรม
6. ฐานความผิดและบทลงโทษ

กฎหมายอุ้มหาย มีเจตนารมณ์ที่จะนำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ใช้อำนาจมิชอบในการควบคุมตัวบุคคล ด้วยการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาดำเนินคดี จึงต้องกำหนดฐานความผิดตามกฎหมายนี้ไว้ในหมวด 1 บททั่วไป จำนวน 3 ฐาน ตามมาตรา 5,6 และ 7 คือ
6.1 ความผิดฐานกระทำทรมาน ตามมาตรา 5
6.2 ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6
6.3 ความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามมาตรา 7
ส่วนบทลงโทษ เป็นไปตามหมวด 5 ซึ่งมีอัตราลงโทษหนัก ทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ และในกรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตลอดชีวิต และโทษปรับมากถึงหนึ่งล้านบาท
7. ระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอุ้มหาย

กฎหมายอุ้มหาย ได้วางระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย ประกอบด้วย
7.1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามหมวด 2 มาตรา 14-21
7.2 การป้องกันการทรมานละการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามหมวด 3 มาตรา 22-29
7.3 การดำเนินคดี ตามหมวด 4 มาตรา 30-34
ดังจะได้นำเสนอตามลำดับต่อไป
8.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
ตามกฎหมายอุ้มหายหมวด 2 ได้วางหลักให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกชื่อว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ขับเคลื่อน ติดตามผล และสนับสนุนให้มีการปฏิบัติเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้
8.1 ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมและเลขานุการ
ตำแหน่งหลักของคณะกรรมการดังกล่าว มีอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน และมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ
8.2 กรรมการโดยตำแหน่ง
กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง นายกสภาทนายความ และประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มีจำนวน 8 คน ได้แก่
– ปลัดกระทรวงกลาโหม
– ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
– ปลัดกระทรวงมหาดไทย
– อัยการสูงสุด
– ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
– นายกสภาทนายความ
– ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
นอกจากนี้ยังมี กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 6 คน
9.การป้องกันการทรมานและการกระทำบุคคลให้สูญหาย
ตามหมวด 3 มาตรา 22-29 ของกฎหมายอุ้มหาย ได้กำหนดวิธีการในการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมตัว การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล กรณีผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย ผู้มีหน้าที่แจ้งการพบเห็นหรือทราบการทรมาน หรือการ กระทำให้บุคคลสูญหาย
9.1 การควบคุมตัว (มาตรา 22)
ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกระทำได้
การแจ้งพนักงานอัยการ นายอำเภอ และผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง
ในการควบคุมตัวดังกล่าว กรณีในต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบ ต้องแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที
กรณีในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งพนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองทราบโดยทันทีเช่นกัน
การยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา
หากผู้รับแจ้งเห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ผู้รับแจ้งยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาเพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าวทันที ตามมาตรา 26
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
ความตามมาตรา 22 นี้ ต้องการให้พนักงานอัยการ นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง มีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใช้อำนาจในการควบคุมตัวตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการควบคุมตัว
9.2 การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว (มาตรา 23)
ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามรายการที่กฎหมายกำหนด คือ
- – อัตลักษณ์เกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
- – วัน เวลา และสถานที่ของการถูกควบคุมตัว และข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการควบคุมตัว
- – คำสั่งให้มีการควบคุมตัว
- – เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกคำสั่งให้ควบคุมตัว
- – วัน เวลา และสถานที่ของการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และผู้มารับตัวผู้ถูกควบคุมตัว
- – ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัว
- – ข้อมูลอื่น ๆ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 23 นี้ จะเป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ เพียงใด
9.3 การร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว (มาตรา 24และ 25)
9.3.1 ผู้มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 23 ได้แก่
- ผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ญาติ ผู้แทน หรือทนายความ
- คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ
9.3.2 การยื่นคำร้องต่อศาล กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธจะเปิดเผยข้อมูล
ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่ตนเองมีภูมิลำเนา ศาลอาญา หรือศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่เชื่อว่า มีการทรมาน ฯลฯ หรือพบเห็นการถูกกระทำให้สูญหายครั้งสุดท้าย เพื่อให้ศาลสั่งเปิดเผยข้อมูล
9.3.3 อำนาจของศาล
ศาลมีอำนาจสั่งให้เปิดเผยข้อมูล หากศาลสั่งไม่เปิดเผยข้อมูล ผู้ร้องอาจอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ คำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้เป็นที่สุด
9.4 ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาให้มีคำสั่งยุติการกระทำ (มาตรา 26)
เมื่อมีการอ้างว่า บุคคลใดถูกกระทำทรมาน ฯลฯ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำเช่นนั้นทันที คือ
(1) ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย
(2) พนักงานอัยการ
(3) ผู้อำนวยการสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หรือนายอำเภอ หรือพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หรือนายอำเภอ
(4) พนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
(5) คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ
(6) บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย
อำนาจในการไต่สวนของศาล
เมื่อศาลได้รับคำร้อง ศาลมีอำนาจเรียกไต่สวนฝ่ายเดียวโดยพลัน โดยมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุอื่นใดมาประกอบการไต่สวน หรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลด้วยก็ได้
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
ตามนัยมาตรา 26 นี้ จะเห็นได้ว่า ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้คำสั่งยุติการกระทำทรมาน ฯลฯ มีอยู่อย่างกว้างขวาง มีทั้งตัวผู้เสียหายเอง ผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจากคณะกรรมการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีพนักงานฝ่ายปกครอง ซึ่งมีกระจายอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง นายอำเภอ หรือพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หรือนายอำเภอ
อนึ่ง คำว่าผู้เสียหาย เป็นไปตามความหมายในมาตรา 3
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
นอกจากนี้ ยังให้หมายความรวมถึง สามี ภริยา ผู้บุพพการี ผู้สืบสันดาน ผู้อยู่กินฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย
9.5 อำนาจของศาลในการสั่งยุติการกระทำและเยียวยา (มาตรา 27)
ศาลมีอำนาจสั่งในการยุติการกระทำ และการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น ด้วยการสั่งให้ยุติการกระทำ ให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว ให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้พบญาติ ทนายความ หรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเป็นการส่วนตัว ให้มีการรักษาพยาบาล ให้เปิดเผยเอกสารบันทึกหรือข้อมูลใด รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นใดตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ หากศาลเห็นว่า ไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัวต่อไป อาจสั่งให้ปล่อยตัวในระหว่างควบคุมตัวโดยพลัน
9.6 กรณีผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย (มาตรา 28)
ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งคณะกรรมการทราบ
9.7 หน้าที่ของผู้พบเห็นหรือทราบการกระทำ (มาตรา 29)
ตามาตรา 29 หากผู้ใดพบเห็นการกระทำดังกล่าว ให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ กรณีผู้แจ้งได้กระทำการโดยสุจริต จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 29 ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้ภายหลังจะปรากฏว่าไม่มีการกระทำความผิดตามแจ้ง
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
มาตรา 29 นี้ ต้องการจะให้บุคคลใดก็ตามที่ได้พบเห็นการกระทำทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย สามารถแจ้งพนักงายฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่
ในการนี้ ผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว หากแจ้งด้วยความสุจริต จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย แม้จะปรากฏภายหลังว่า ไม่มี การกระทำความผิดตามแจ้ง
10.การดำเนินคดี

เป็นไปตามหมวด 4 มาตรา 30-34 โดยได้กำหนดเรื่อง อายุความ พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ การรายงานให้ผู้เสียหายทราบความคืบหน้าของคดี การแจ้งให้ผู้เสียหายทราบถึงสิทธิจะเรียกค่าสินไหมทดแทน และศาลที่มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้
10.1 อายุความความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 (มาตรา 30)
หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามาตรา 7 อายุความในการกระทำความผิดมิให้เริ่มนับ จนกว่าจะทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย (มาตรา 30)
แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย อายุความของคดีจะยังไม่เริ่มนับ ดังนั้น โอกาสที่คดีจะขาดอายุความจึงไม่มี
10.2 ผู้มีอำนาจสอบสวน (มาตรา 31)
10.2.1 เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดตามกฎหมายอุ้มหาย ผู้มีอำนาจสอบสวนในคดีดังกล่าว ได้แก่
- พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- พนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่
- พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
- พนักงานอัยการ
อำนาจหน้าที่
ให้มีอำนาจสอบสวนและรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และดำเนินคดีความผิดตามกฎหมายนี้และความผิดอื่นที่เกี่ยวกัน
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
แสดงให้เห็นว่า พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ มีอยู่อย่างกว้างขวางมิได้จำกัดอยู่เฉพาะพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเหมือนคดีทั่วไป กล่าวคือ มีทั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม หรือพนักงานอัยการ หรือแม้แต่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า หน่วยงานหรือฝ่ายใดจะเป็นผู้รับเรื่องไว้
10.2.2 กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวน
กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนคดีความผิดตามกฎหมายนี้ จะทำให้คดีนั้นเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ
การแจ้งพนักงานอัยการทราบ
กรณีการสอบสวน เป็นการสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่อัยการ พนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ เพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวนทันที
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369
แสดงให้เห็นว่า กฎหมายให้ความสำคัญแก่พนักงานอัยการในการเข้าตรวจหรือกำกับการสอบสวนคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการสอบสวนเลยทีเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจหรืออบอุ่นใจให้ผู้เสียหายและสังคม
10.2.3 การรายงานความคืบหน้าในคดีให้ผู้เสียหายทราบ (มาตรา32)
หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีความผิดตามกฎหมายนี้ มีหน้าที่ต้องรายงานความคืบหน้าในการดำเนินคดีให้ผู้เสียหายทราบอย่างต่อเนื่อง และให้คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย มีอำนาจหน้าที่ติดตามผลความคืบหน้าของคดี ให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมาย และสนับสนุนช่วยเหลือในการดำเนินคดี
10.2.4 การแจ้งให้ผู้เสียหายทราบถึงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทน (มาตรา 33)
พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้เสียหายทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทน และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
10.2.5 ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี (มาตรา 34)
ในการพิจารณาคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายอุ้มหายนี้ ซึ่งเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นอำนาจของศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งกรณีผู้กระทำซึ่ง อยู่ในอำนาจศาลทหาร
แสดงว่า กรณีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ แม้ป็นทหาร ซึ่งปกติต้องให้ ศาลทหารเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณา แต่คดีตามกฎหมายนี้ ให้อยู่ในอำนาจศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
ศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบ ได้แก่ ศาลอาญาคดีทุจริตและ
ประพฤติมิชอบกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1-9
11.สรุป
บทความนี้ คือ ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด ต้องการเล่าเรื่องการประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับหนึ่งที่มีผลต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
กฎหมายดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ กฎหมายอุ้มหาย
วัตถุประสงค์
กฎหมายฉบับนี้ ต้องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาว ไทยที่เกิดจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือ การทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัว
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีโอกาสและขีดความสามารถในการกระทำความผิดดังกล่าวมากที่สุดก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา
สร้างระบบและกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตำรวจขึ้นมาใหม่
ตามกฎหมายอุ้มหาย ได้สร้างระบบและกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตำรวจขึ้นมาใหม่ ด้วยการให้กรมการปกครองโดยพนักงานฝ่ายปกครอง (ผู้อำนวยการสำนักสอบสวนคดีอาญาและนิติการ และนายอำเภอ) และสำนักงานอัยการสูงสุดโดยพนักงานอัยการ เป็นหน่วยงานหลักในการถ่วงดุลอำนาจของตำรวจตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการควบคุมตัว กล่าวคือ เมื่อมีการควบคุมตัวบุคคล ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวดังกล่าว แจ้งพนักงานอัยการ และนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ในกรณีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทราบโดยทันที ตามนัยมาตรา 22
ฐานความผิด
กฎหมายอุ้มหายได้กำหนดความผิดไว้ 3 ฐาน คือ ฐานกระทำทรมาน ตามมาตรา 5 ฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 และฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามาตรา 7
พนักงานสอบสวนคดีอาญาที่เป็นความผิดตามกฎหมายอุ้มหาย
ในการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอุ้มหาย หน่วยงานที่น่าจะเป็นหน่วยหลักในการสอบสวนคดีอาญาที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้ ก็คือ กรมการปกครองโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุดโดยพนักงานอัยการ ในการนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายนี้ ตามมาตรา 34
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
คณะกรรมการชุดนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ มีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ขับเคลื่อน ติดตามผล และสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้บรรลุวัตถุประสงค์
สำหรับข้อมูลและความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก
กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
1.ถาม-ทำไมจึงกล่าวว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือกฎหมายอุ้มหาย เป็นกฎหมายในการเริ่มต้นปฏิรูปตำรวจไทย
การที่กล่าวเช่นนั้น เพราะตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออก โดยอาศัยอำนาจตาม หมวด 16 มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่ได้วางระบบและกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล อำนาจของตำรวจไทยโดยองค์กรหรือหน่วยงานภายนอกไว้เลย
ในขณะที่พระราชบัญญัติดังกล่าวไว้วางระบบและกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยโดยองค์กรหรือหน่วยงานภายนอกไว้อย่างชัดเจน หน่วยงานภายนอกดังกล่าว คือ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
2.ถาม-ระบบและกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยตามกฎหมายอุ้มหายคืออย่างไร
เดิมตำรวจไทยสามารถดำเนินการควบคุมตัวบุคคลเพื่อดำเนินคดีอาญาได้โดยไม่ต้องแจ้งให้หน่วยงานภายนอกทราบ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความยั้งคิดในการควบคุมตัวบุคคลให้อยู่ภายในขอบเขตของด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
แต่ตามกฎหมายอุ้มหายมาตรา 23 เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งปกติก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเองได้กระทำการควบคุมตัวบุคคล ด้วยการจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกันตามนัยมาตรา 3 วรรคท้าย จะต้องแจ้งพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองทราบ
กรณีในต่างจังหวัด พนักงานฝ่ายปกครอง คือ นายอำเภอ
กรณีในกรุงเทพมหานคร พนักงานฝ่ายปกครอง คือ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง
3.ถาม- การแจ้งพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง ตามมาตรา 23 เป็นการถ่วงดุลอำนาจตำรวจอย่างไร
การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ ได้ควบคุมตัวบุคคล แล้วต้องแจ้งพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง (นายอำเภอ หรือ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง แล้วแต่กรณี) ย่อมจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมตัวบุคคลให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย
ยิ่งกว่านั้น เมื่อพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองได้รับแจ้งดังกล่าวแล้ว หากมีเหตุอันควรสงสัยว่า จะมีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะต้องรีบยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำนั้นทันที
4.ถาม- ฐานความผิดตามกฎหมายอุ้มหาย มีทั้งหมดกี่ฐาน
ฐานความผิดตามกฎหมายอุ้มหาย มีทั้งหมด 3 ฐานคือ
ความผิดฐานกระทำทรมาน ตามาตรา 5
ความผิดฐาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามาตรา 6
และความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามมาตรา 6
5.ถาม- การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด และ ผู้บังคับบัญชา ตามกฎหมายอุ้มหาย มีโทษร้ายแรงเพียงใด น่าจะเป็นโทษหนักเพียงพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความระมัดระวังในการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลมากกว่าเดิมหรือไม่
ในหมวด 5 ได้กำหนดโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด และ ผู้บังคับบังคับบัญชา ตามกฎหมายอุ้มหายไว้หนักมาก ทั้งโทษปรับและโทษจำคุก
6.ถาม- กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามกฎหมายอุ้มหายดังกล่าว หน่วยงานใดจะเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีอาญา
ตามมาตรา 31 ของกฎหมายอุ้มหาย ได้บัญญัติเกี่ยวกับพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดีดังกล่าวไว้หลายหน่วยงาน แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับว่า หน่วยงานใดเป็นหน่วยงานผู้รับแจ้ง พนักงานสอบสวนของหน่วยงานนั้น ย่อมมีอำนาจสอบสวน
อย่างไรก็ดี ในต่างจังหวัด พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง น่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหลักในการสอบสวนดำเนินคดีอาญาในคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายอุ้มหายมากกว่าพนักงานสอบสวนของหน่วยงานอื่น โดยมีพนักงานอัยการเป็นผู้ตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน
ทั้งนี้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้วางหลักให้มีพนักงานสอบสวนอยู่ 2 ฝ่ายอยู่แล้ว คือ พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง และพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ อีกทั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองในต่างจังหวัด (นายอำเภอ และปลัดอำเภอ) มีอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ
7.ถาม- มาตรการในการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามาตรา 22-25 มีความสำคัญอย่างไร รัฐบาลจึงออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ออกไปจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ไปเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2566
เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ยังไม่มีความพร้อมในปฏิบัติตามนัยมาตรา 22-25 ซึ่งเป็นเรื่องวิธีการในการควบคุมตัวบุคคลรวมทั้งการแจ้งพนักงานอัยการและพนักงายฝ่ายปกครองทราบทันที การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัว การใช้สิทธิในการร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบให้เปิดเผยข้อมูล และการพิจารณาไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว เพราะยังขาดอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง จึงได้ทำเรื่องเสนอรัฐบาลผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายอุ้มหาย
อย่างไรก็ตาม การออกพระราชกำหนดดังกล่าว มีข้อโต้แย้งว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงได้มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว
7.ถาม- โดยภาพรวม กฎหมายอุ้มหาย น่าจะเป็นที่พึ่งของประชาชน ชาว ไทย ผู้รับความเดือดร้อนจากกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มากน้อยเพียงใด
เชื่อว่า น่าจะช่วยได้มาก เพราะได้มีการวางระบบและกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้กระทำการควบคุมตัวบุคคล จะต้องแจ้งพนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครองทราบโดยทันที
ดร.ชา 369
3/03/23
กฎหมายด้ว แต่วสังคมอาจอ่อนแอลง คนมีสิทธิเสรีจนเกินต้าน
รบกวนขยายความสักนิดได้ไหม คุณบุญญสรณ์
กฏหมายดี แต่สังคมอาจอ่อนแอลง เพราะการทำอะไรได้ไม่เด็ดขาด คนไม่ดีจะอยู่ได้ดีกว่าคนดีๆ
ผมเห็นด้วยกับความคิดของคุณบุญญสรณ์ แต่การมีกฎหมายที่ดี คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหามิใช่หรือ
กฎหมายเยอะเกินไปมั้ย
บทความนี้เป็นบทความเชิงวิชาการด้านกฎหมาย อาจจะมีความยาวมากกว่าทุกบทความที่ผมได้เขียนมา เพราะต้องการจะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบและกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นเรื่องใหม่ว่าเป็นอย่างไร สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้จริงหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น จำเป็นต้องลงลึกในเนื้อหาของกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวกฎหมายที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม อาจจะทำให้ท่านที่ต้องการอ่านผ่าน ๆ ไม่ชอบใจ เพราะต้องใช้สมาธิในการอ่านมากกว่าบทความทั่วไป
เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่อาจถูกเจ้าหน้าที่ทำต่อเขาด้วยความไม่เป็นธรรม ทั้งนี้มีหน่วยงานอื่นมาร่วมตรวจสอบด้วย โดยหลักถือว่าเป็นเรื่องดีครับ
ถูกต้องแล้ว คุณอนณ
คุณอนณเข้าใจถูกต้องแล้ว เพราะถ้าไม่มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุล ประชาชนคงยากที่จะได้รับความเป็นธรรม