81 / 100

“ต้องยึดเอา ประชาชน เป็นศูนย์กลาง การถ่วงดุลอำนาจตำรวจจึงจะได้ผล” เป็นบทความลำดับที่ 17 ของหมวด 6 เรื่องเล่า ระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื้อหาประกอบด้วย ความนำ การยึดเอาประชาชน เป็นศูนย์กลาง คือ อะไร รถไฟความเร็วสูง ความเติบใหญ่ของร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ธุรกิจสั่งซื้ออาหารออนไลน์ การซื้อขายสลากดิจิตอล การเปิดสำนักงานบริการประชาชนตามห้างสรรพสินค้า การจัดตั้งสำนักงานสาขาของส่วนราชการ เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ สรุป ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

Table of Contents

                   “ความยุติธรรมที่ได้มาล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม อย่างหนึ่ง”

                   (Justice delayed is justice denied.)                                                                                                                

1.ความนำ

          ในบทความที่แล้ว คือ ความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้ : การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย” ได้นำเสนอแนวคิดหรือแนวทางในการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย โดยได้หยิบยกเอาระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจของประเทศอังกฤษ หรือ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

            ในบทความดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่กรมตำรวจ ได้โอนจากกระทรวงมหาดไทย ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อปีพ.ศ.2541 ได้ทำให้ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างตำรวจกับฝ่ายปกครองในส่วนภูมิภาคได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง  

             ทั้งนี้ เนื่องจาก (1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ยอมแบ่งส่วนราชการออกเป็นส่วนภูมิภาค ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ไม่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป  และ (2) ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาระหว่างตำรวจกับฝ่ายปกครองไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะตำรวจมิได้มีฐานะเป็นกรมตำรวจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว

            ดังนั้น ผมจึงได้นำเสนอให้สร้างระบบและกลไกถ่วงอำนาจระหว่างตำรวจและฝ่ายปกครองขึ้นใหม่ ด้วยการออกกฎกระทรวงขึ้นมา วางระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างตำรวจและฝ่ายปกครอง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกระทรวงมหาไทยก็ได้ ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ทันที โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ และไม่ต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาให้เสียเวลา

            สำหรับบทความนี้ เป็นการขยายความต่อจากบทความที่แล้ว โดยจะมีกรณีศึกษาเปรียบเทียบในการบริหารภาคเอกชนและภาครัฐบางกรณี เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

2. การยึดเอา ประชาชน เป็นศูนย์กลาง คืออะไร

การบริหารสมัยใหม่ ต้องยึดเอาประชาชนหรือลูกค้า เป็นศูนย์กลาง

          ในทางธุรกิจ มีคำว่า ต้องยึดเอาลูกค้า เป็นศูนย์กลาง ในด้านการศึกษามีคำว่า ต้องเอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง

            ในด้านการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยก็เช่นกัน จะต้องยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

            การยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง หมายถึง การกำหนดนโยบายของรัฐในด้านต่าง ๆ ต้องมีเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนหรือราษฎร ต้องทำให้ราษฎรได้รับประโยชน์สูงสุด สะดวกที่สุด รวดเร็วที่สุด ประหยัดที่สุดและปลอดภัยที่สุด

          ในทางธุรกิจ ถือว่า ต้องยึดเอาลูกค้า เป็นศูนย์กลาง ในทำนองเดียวกันในทางราชการที่ต้องยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

          การยึดเอาราษฎรเป็นศูนย์กลาง หน่วยงานของรัฐต้องพยายามไม่สร้างภาระให้แก่ราษฎรโดยไม่จำเป็น

            ตามข้อเท็จจริง มีนโยบายรัฐหลายอย่างที่กำหนดขึ้นโดยไม่ได้ยึดเอาราษฎรเป็นศูนย์กลาง แต่เอาหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นศูนย์กลาง ทำให้ราษฎรไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และความปลอดภัย เท่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายก็ทำให้ราษฎรแทบจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากนโยบายของรัฐดังกล่าว

          การบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐบางอย่าง หากราษฎรรู้สึกว่า ยุ่งยาก ไม่สะดวก  ราษฎรก็อาจจะไม่สนใจจะใช้บริการสาธารณะของรัฐดังกล่าว

3.รถไฟความเร็วสูง

รถไฟความเร็วสูงญี่ปุ่น (Wikipedia, High-speed rail, 15th July 2022.)
รถไฟความเร็วสูงญี่ปุ่น (Wikipedia, High-speed rail, 15th July 2022.)

          3.1 รถไฟความเร็วสูง คืออะไร

                      ในปัจจุบันนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในด้านโลจิสติกส์ (logistics) ของประเทศ นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ การสร้างรถไฟความเร็วสูงนับเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ดังกล่าว

                    ตามสารานุกรมเสรี รถไฟความเร็วสูง หรือระบบรางความเร็วสูง (High-speed rail) เป็นระบบการขนส่งทางรางที่วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่าการขนส่งทางรางทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยการใช้ระบบล้อเลื่อนพิเศษร่วมกับระบบรางที่ออกแบบมาให้ใช้โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่วิ่งบนรางขนาด 1.435 เมตร และสามารถวิ่งได้ไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนเส้นทางที่ก่อสร้างใหม่ หรือไม่ต่ำกว่า 200 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงบนเส้นทางที่มีอยู่เดิม แต่ได้รับการอัพเกรด

          3.2 โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย

                        ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังมีการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งจะมีการก่อสร้างไปถึงปลายทางที่จังหวัดหนองคายในลำดับถัดไป เพื่อเชื่อมต่อไปยังสปป.ลาว และจีน นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา

                        การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมากกว่าเดิม รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบดำเนินการ มิฉะนั้นแล้ว ประเทศเราอาจจะล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

                        การสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการให้บริการสาธารณะในด้านการขนส่งซึ่งมีวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลามากเหมือนเมื่อก่อน

3.ความเติบใหญ่ของร้านสะดวกซื้อ

ร้านสะดวกซื้อ (วิกิพีเดีย, เซเว่่น อีเลฟเว่น, 15 กรกฎคม 2022)
ร้านสะดวกซื้อ (วิกิพีเดีย, เซเว่่น อีเลฟเว่น, 15 กรกฎคม 2022)

          เราจะสังเกตว่า ธุรกิจของร้านสะดวกซื้อ มีแต่จะโตวันโตคืน เพราะเขามีการขยายสาขาไปตามชุมชนต่าง ๆ ตลอดเวลา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ  ไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน ห่างไกลที่อยู่อาศัยของตน ตามหลักธุรกิจที่ถือว่า ทำอะไรต้องยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางเสมอ

            การยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หมายความว่า ต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากที่สุด เดินทางน้อยที่สุด ไปซื้อเวลาใดก็ได้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสม่ำเสมอ อันจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างถล่มทลายได้ อย่างเช่น ห้างเซเว่นอีเลฟเว่น  ที่มีจำนวนสาขาอยู่ทั่วทุกเมือง และเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง

            ความเติบใหญ่ของร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย เป็นตัวอย่างหนึ่งของการยึดเอาลูกค้า เป็นศูนย์กลางที่ทำให้การประกอบธุรกิจค้าปลีกประสบความสำเร็จอย่างสูง

4.ธุรกิจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์

การทำธุรกิจออนไลน์ นั่งทำที่บ้านก็ได้
การทำธุรกิจออนไลน์ นั่งทำที่บ้านก็ได้

          ในปัจจุบันนี้ ธุรกิจออนไลน์ นับว่าโตวันโดคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงมีสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด นับแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

         แนวคิดของธุรกิจออนไลน์ก็คือ ต้องเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านมือถือได้ที่บ้าน อาจจะชำระเงินผ่านมือถือ หรือเก็บเงินปลายทางก็ได้ รอเวลาเพียง 2-3 วันก็จะมีบริษัทขนส่งสินค้า นำสินค้าไปส่งถึงบ้าน นับว่าสะดวกสบายมาก หลายคนหมดเงินไปเพราะการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก มีทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าที่ไม่จำเป็น

            นี่แหละคือพลังของการยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

5.ธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์

          นอกเหนือไปจากความเติบใหญ่ของธุรกิจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว ยังมีอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้เจริญเติบโตคู่กันไปกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ คือ ธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์

            ธุรกิจสั่ง อาหารออนไลน์ คือ การสั่งอาหารผ่านทางแอพในมือถือ ทุกวันนี้ใครอยากจะกินอาหารอะไร จากร้านใดที่เข้าร่วมโครงการกับแอพสั่งอาหารออนไลน์ต่าง ๆ เช่น แกรบ ฟูดแพนด้า ไลน์ และโรบินฮู้ด สามารถสั่งได้ 24 ชั่วโมง ใช้เวลารอคอยไม่นานนักจะมีคนนำอาหารที่อร่อยจากร้านมีชื่อเสียงโด่งดังไปส่งถึงบ้าน และเก็บเงินที่บ้านเช่นกัน

            จะเห็นได้ว่า ธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์เติบใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแนวคิดที่ว่า ต้องยึดลูกค้า เป็นศูนย์กลาง ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปร้านอาหาร ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันรถ ไม่ต้องเผชิญปัญหารถติด

6.การซื้อขายสลากดิจิตอล

รัฐบาลไทยได้พยายามหามาตรการในการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาบาลเกินราคาทุกวิถีทาง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งได้มีการทดลองระบบการซื้อขายสลากดิจิตอลผ่านทางแอพกระเป๋าตัง ในราคาใบละ 80 บาท โดยผู้ซื้อเพียงโหลดแอพกระเป๋าตังในมือถือ หลังจากนั้น ก็จะสามารถซื้อสลากผ่านมือถือได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลตามร้านค้าในราคาใบละ 100 บ้าง หรืออาจจะราคามากกว่านั้น ให้อารมณ์เสีย นับว่าเป็นทางเลือกที่สะดวกสบายทีเดียว

ผมได้ลองทดสอบดูแล้ว ปรากฎว่าใช้งานได้จริง นับจากนี้ไป ผมคงจะสนุกกับการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านทางมือถือในแต่ละงวด ในราคาเพียงใบละ 80 บาทเท่านั้น

จะเห็นว่า การซื้อขายสลากดิจิตอล เป็นนวัตกรรมของไทยที่ต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของ คนไทยในการที่จำใจต้องซื้อสลากกินแบ่งในราคาแพงมาเป็นเวลายาวนานให้หมดไป โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแก้ปัญหา

ทุกวันนี้ การสั่งอาหารออนไลน์ ก็สะดวกดี
ทุกวันนี้ การสั่งอาหารออนไลน์ ก็สะดวกดี

7. การเปิดสำนักงานบริการประชาชนตามห้างสรรพสินค้า

          ในปัจจุบันนี้ มีหน่วยราชการหลายแห่งเลือกการเปิดสำนักงานให้บริการราษฎรตามห้างสรรพสินค้า เพราะถือว่า ห้างสรรพสินค้าเป็นที่รวมตัวของผู้คนทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศทุกวัย และทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ และนอกเวลาราชการ หากผู้คนได้เดินทางมาเที่ยวหรือจับจ่ายซื้อสินค้าตามห้าง จะสามารถตัดสินใจใช้บริการตามห้างสรรพสินค้าได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาไปติดต่อ ณ สถานที่ราชการให้ยุ่งยากหรือเสียเวลา เช่น

            7.1 สำนักงานหนังสือเดินทาง

                        ในปัจจุบัน คนไทยได้รับความสะดวกในการทำหนังสือเดินทาง (passport) มากกว่าแต่ก่อนมาก  เพราะกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดตั้งสำนักงานหนังสือเดินทางตามห้างสรรพสินค้าในจังหวัดใหญ่ ๆ หลายจังหวัด หรือไม่ก็อาจจะเป็นที่ศาลากลางจังหวัดของจังหวัดดังกล่าว    ทำให้ราษฎรในจังหวัดนั้นตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินทองไปทำหนังสือเดินทางที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร

            7.2 ศูนย์บริการร่วม

                        จังหวัดขนาดใหญ่หลายจังหวัด ได้จัดตั้งศูนย์บริการร่วม เพื่อให้บริการแก่ราษฎรด้านต่าง ๆ ตามห้างสรรพสินค้า เช่น การทะเบียนราษฎร การบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ราษฎรสามารถเข้าไปรับบริการด้านทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชน และการบริการของรัฐด้านอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก แม้อาจเป็นเวลานอกราชการหรือวันหยุดราชการ

8. การจัดตั้งสำนักงานสาขาของส่วนราชการ

          ส่วนราชการจังหวัดบางส่วนได้จัดตั้งสำนักงานเป็นสาขาอำเภอ เพื่อให้ราษฎรในอำเภอที่อยู่ละแวกเดียวกัน สามารถเดินทางไปใช้บริการได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปรับบริการที่จังหวัด เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา สำนักงานขนส่งจังหวัดสาขา และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา เป็นต้น

            หรือแม้แต่การยกระดับโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ ให้มีขีดความสามารถในการดูแลรักษาคนป่วยได้เทียบเท่าโรงพยาบาลจังหวัด ก็ถืออนุโลมได้ว่า อยู่ในแนวทางนี้ เพื่อให้ราษฎรของอำเภออื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงโรงพยาบาลอำเภอดังกล่าว ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางไปรับการบริการที่โรงพยาบาลจังหวัด

9. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเอาราษฎรเป็นศูนย์กลางในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ

          ในบทความ ความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้ : การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย ผมได้นำเสนอไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลควรที่จะรีบเร่งออกกฎกระทรวงว่าด้วยการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจและฝ่ายปกครอง กล่าวคือ หากราษฎรในอำเภอหรือจังหวัดใด ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนคดีอาญาของตำรวจ ให้ทำหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นได้

            สำหรับในบทความนี้ ผมขออธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องยึดเอาราษฎรเป็นศูนย์กลางในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ จำนวน 5 ประการ ดังนี้

            9.1 เพื่อกระจายความเป็นธรรมไปสู่ราษฎรในต่างจังหวัด ไม่ใช่ผูกขาดอยู่แต่กรุงเทพฯ

                   ในปัจจุบัน หากราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย  ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจของตำรวจ จะไม่สามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้เหมือนเมื่อครั้งกรมตำรวจยังสังกัดกระทรงมหาดไทย  แต่ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากผู้มีอำนาจในส่วนกลาง คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เป็นการยุ่งยาก สิ้นเปลือง และยากที่จะเข้าถึง

               ผมอยากให้ท่านลองคิดดูว่า การที่ราษฎรผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าว ต้องตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากผู้มีอำนาจ น่าจะเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว เพราะต้องคิดหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่อาจจะต้องเป็นศัตรูกับตำรวจบางนาย ต้องติดต่อหาทนายความ ทนายความยิ่งดังค่าจ้างก็ยิ่งแพง ต้องเสียค่าเดินทาง ค่าอยู่ค่ากินในระหว่างอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะหลายวัน รวมทั้งอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการออกสื่อให้ดัง เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้มีอำนาจ

                เมื่อเป็นเช่นนี้ ราษฎรผู้ยากไร้ คงจะหมดโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรมอย่างแน่นอน

              นอกจากนนี้ การไปร้องทุกข์ที่กรุงเทพฯ โอกาสจะได้พบผู้มีอำนาจโดยตรงย่อมมีน้อยมาก จะได้พบแต่เจ้าหน้าที่ผู้คอยรับเรื่องเท่านั้น

             คำถาม คือ ทำไมกว่าจะร้องขอความเป็นธรรมได้ ช่างยากลำบากอะไรหนักหนา รัฐหรือรัฐบาล ไม่มีวิธีการอื่นใดหรืออย่างไร ที่จะทำให้การร้องขอความเป็นธรรม สามารถทำได้ง่าย สะดวกและประหยัด เพราะโลกสมัยใหม่ ล้วนแล้วแต่คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็ว ประหยัด และมีการคุณภาพสูงในการบริการด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน

                      จะมัวล้าหลังหรือล่าช้าอยู่แต่การเข้าถึงความเป็นธรรม ก็ไม่น่าจะถูกต้องนะ ใช่ไหมครับท่านผู้อ่าน

          9.2 เพื่อสร้างความอบอุ่นใจให้แก่ราษฎร

ในบรรดาสถานที่ราชการที่ราษฎรรู้สึกกลัวเกรงและไม่อยากขึ้นไปมากที่สุดแห่งหนึ่ง คือ โรงพักหรือสถานีตำรวจ  หากไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากไป ยกเว้นคนที่มีอาชีพเกี่ยวกับคดีความก็อาจจะชอบการขึ้นไปโรงพัก เช่น ทนายความ หรือพวกนายหน้าที่คอยหากินเกี่ยวกับคดีความ เป็นต้น

                        ดังนั้น หากราษฎรสามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ได้ ก็คงจะรู้สึกอบอุ่นใจมากกว่า เพราะสถานที่ราชการอย่างที่ว่าการอำเภอ หรือ  ศาลากลางจังหวัด มีงานบริการหลายด้าน ไม่มีอะไรน่ากลัว ทำให้นายอำเภอ รวมทั้งปลัดอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตำแหน่งที่ราษฎรอยากจะเข้าพบมากกว่าจะให้ไปพบตำรวจ        

            9.3 คติธรรมของนักปกครอง

                   อาชีพนักปกครองเป็นอาชีพที่ให้ความสำคัญกับการสร้างศรัทธาแก่ราษฎร การเข้าถึงราษฎร และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของราษฎร

                   ยิ่งกว่านั้น อาชีพนักปกครองยังเป็นอาชีพที่ได้รับการปลูกฝังมาเป็นเวลายาวนานว่าจะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎร ทำให้พร้อมที่จะรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีศรีสุขหรือยากดีมีจนเพียงใดก็ตาม  และยิ่งเห็นราษฎรผู้ยากไร้ถูกเอารัดเอาเปรียบก็ยิ่งมีใจสงสาร จึงทำให้เป็นอาชีพหนึ่งของประเทศไทยที่ราษฎรให้ความไว้วางใจและเชื่อถือมาก

                        ดังจะเห็นได้จากคติธรรมที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงสอนนักปกครองไว้ความว่า

                        “เจ้าคุณ อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่พระแสงศาสตราวุธ แต่อยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ หากราษฎรเชื่อถือ ย่อมไม่มีผู้ใดถอดถอนเจ้าคุณได้ แม้แต่ในหลวง เพราะในหลวงก็อยากให้ราษฎรเป็นสุข”

          9.4 ความเป็นธรรมได้มาอย่างล่าช้า คือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง

                   หากผู้ใดมีคดีความอาญาที่ต้องขึ้นโรงพัก หรือขึ้นศาล คงไม่มีผู้ใดอยากจะให้คดียืดเยื้อ ต้องใช้เวลายาวนาน เป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี กว่าคดีจะสิ้นสุด เพราะในระหว่างคดีไม่สิ้นสุด ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลย คงไม่มีผู้ใดมีความสุข คงมีแต่ความทุกข์ และความวิตกกังวลว่า สุดท้ายคดีจะจบลงเมื่อใด และอย่างไร

                ดังนั้น การให้ราษฎรร้องขอความเป็นธรรมจากนายอำเภอท้องที่ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมจะทำให้ราษฎรรู้สึกว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีขั้นตอนที่สั้น กระชับ และเชื่อถือได้ เพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจอยู่ที่อำเภอหรือจังหวัดของตน สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ง่าย  และใช้เวลาไม่นานนักก็จะได้ทราบคำตอบถึงทิศทางหรือแนวโน้มของคดีแล้ว

          9.5 การทำให้ฝันเป็นจริง

                   หากราษฎรไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจของตำรวจ สิ่งที่ราษฎรต้องการมากที่สุดคือ การได้พบบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ ที่จะสามารถพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่เขาได้

               การที่กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ตำรวจไม่ดี แต่เรื่องการใช้อำนาจในด้านคดีอาญา หากให้ตำรวจด้วยกันพิจารณาแต่ฝ่ายเดียว มุมมองปัญหาก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก และหากให้ตำรวจด้วยกันพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้จริง ก็คงไม่จำเป็นต้องมีอัยการ และศาล ให้คดีจบแค่ตำรวจก็น่าจะพอ

             ในทำนองเดียวกัน หากมีศาลชั้นเดียว สามารถให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยได้ ก็คงไม่จำเป็นต้องมีถึงสามชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

            ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางหรือบุคคลกลางอย่างกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าไปมีบทบาทในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ ซึ่งจะทำให้ราษฎรมีความรู้สึกว่า ความเป็นธรรมมีอยู่จริง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนร่ำรวยหรือมีเส้นสายเท่านั้นที่จะได้รับความเป็นธรรม เพราะตำแหน่งนายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตำแหน่งที่ราษฎรเข้าถึงได้ง่าย หากไม่กล้าเดินทางไปพบนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยตนเอง ก็ยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้านที่พร้อมจะเป็นผู้นำไปพบได้อยู่แล้วทุกเมื่อ

10.สรุป

        บทความ ต้องยึดเอา ประชาชน เป็นศูนย์กลาง การถ่วงดุลอำนาจตำรวจจึงจะได้ผล ต้องการนำเสนอให้ทราบว่า การบริหารภาครัฐสมัยใหม่ที่ดี ต้องยึดเอาราษฎรเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกันกับการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ ก็ต้องยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพราะนอกจากจะเป็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลแล้ว ยังเป็นการบริหารที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ราษฎรหรือลูกค้าได้มาก

          การบริหารโดยยึดเอาราษฎรหรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คือ การบริหารที่มุ่งที่จะทำให้ราษฎรหรือลูกค้าได้รับการบริการที่สะดวกที่สุด รวดเร็วที่สุด ประหยัดที่สุด และเดินทางน้อยที่สุด ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของราษฎรในการเข้าถึงบริการดังกล่าว

            ผมได้หยิบยกตัวอย่างการบริหารงานภาครัฐ และการบริหารภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารที่ยึดเอาประชาชนหรือลูกค้าเป็นศูนย์กลางมาเทียบเคียงพอให้เห็นภาพ เช่น การเปิดสาขาของร้านสะดวกซื้อที่มีกระจายไปทั่วทุกชุมชน  การสั่งสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหารออนไลน์ การซื้อขายสลากดิจิตอล การเปิดสำนักงานสาขาของส่วนราชการตามห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

            สำหรับเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องยึดเอาราษฎรเป็นศูนย์กลางในการร้องขอความเป็นธรรมในการสอบสวนคดีอาญา ด้วยการให้ราษฎรสามารถยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แทนที่จะต้องเดินทางไปร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้มีอำนาจในส่วนกลางเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ มีอยู่หลายประการ

            เหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว ได้แก่ การกระจายความเป็นธรรมไปสู่ราษฎรในจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ การสร้างความอบอุ่นให้แก่ราษฎร และเป็นการสร้างความฝันของราษฎรในเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมให้เป็นจริง ว่าสามารถทำได้ง่าย ๆ และทำได้ที่อำเภอหรือจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่

            สำหรับรายละเอียดและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้

ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

        ถาม-ทำไมจึงกล่าวว่า การให้ราษฎรสามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในการใช้อำนาจของตำรวจต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอท้องที่ เป็นการกระจายความเป็นธรรมไปสู่ราษฎรทั่วประเทศ

          ตอบ-หากมีการออกกฎกระทรวงให้ราษฎรสามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอท้องที่ได้ ย่อมจะทำให้ราษฎรสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่าย ณ จังหวัดหรืออำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ไม่ต้องเสียเวลาและเงินทอง เดินทางเข้าไปขอความเป็นธรรมจากผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี

            ถาม-การออกกฎกระทรวงดังกล่าว ถือเป็นการลดอำนาจตำรวจ ตำรวจคงไม่ชอบหรือไม่พอใจ ใช่หรือไม่

          ตอบ– คงไม่ใช่เป็นการลดอำนาจตำรวจ ตำรวจยังเป็นหน่วยงานหลักในการสอบสวนคดีอาญาตามเดิม เพียงแต่เป็นการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจขึ้นมาตามหลักสากล ให้ราษฎรมีที่พึ่งในกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากตำรวจเท่านั้นเอง เหมือนอย่างที่เคยมีมาในอดีตเมื่อครั้งกรมตำรวจ ยังสังกัดกระทรวงมหาดไทย

            ถาม- หากรัฐบาลออกกฎกระทรวงดังกล่าว รัฐบาลจะเสียคะแนนนิยมไหม

          ตอบ- ไม่เสียแน่นอน ตรงกันข้าม รัฐบาลกลับจะได้คะแนนนิยมจากประชาชนในจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่เห็นอกเห็นใจประชาชนด้วยการกระจายความเป็นธรรมไปให้

            ถาม- การออกกฎกระทรวงดังกล่าว ยุ่งยากไหม ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากไหม

          ตอบ-ไม่ยุ่งยากเลย กล่าวคือ ในทางปฏิบัติเพียงแต่ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจตำรวจและฝ่ายปกครองขึ้นมา โดยให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมกันร่าง และนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติ แล้วนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพียงเท่านี้ก็จบแล้ว โดยไม่ต้องตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย หากจะมีบ้าง ก็แค่ค่าเบี้ยประชุมเล็ก ๆ น้อย ๆ

ถาม- มีวิธีการอย่างไรที่อาจจะทำใ้ห้รัฐบาลพิจารณาตัดสินใจออกกฎกระทรวงดังกล่าวเร็วขึ้น

ตอบ-การตัดสินใจเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หากฝ่ายการเมืองเห็นชอบด้วย ก็ไม่น่าจะยาก เช่น เวลามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.อาจจะตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีว่า จะออกกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อกระจายความเป็นธรรมไปสู่ประชาชนในต่างจังหวัด ได้หรือไม่ เพราะในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่กำลังจะมีผลใช้บังคับในเวลาไม่นานนัก ไม่ได้มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้เลย

หากมีการตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวจริง ก็น่าจะช่วยผลักดันให้เรื่่องนี้ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลอย่างจริงจัง อย่างช้าที่สุด ก็น่าจะก่อนมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป

ถาม-หากมีกฎกระทรวงดังกล่าวออกมาใช้บังคับจริง ฝ่ายการเมืองจะได้ประโยขน์อะไรไหม

ตอบ– ได้แน่นอน และได้มากด้วย ทั้งตัวรัฐบาลเอง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น กล่าวคือ รัฐบาลสามารถนำไปใช้หาเสียงในการเลือกตั้งได้ ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของรัฐบาลในสายตาของราษฎร นอกจากนี้ ส.ส ผู้บริหารท้องถิ่น.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น อาจจะนำราษฎรผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไปพบนายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร้องขอความเป็นธรรมได้ เพียงเท่านี้ก็ได้ใจราษฎรมากทีเดียว

การที่มี ส.ส. ผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นพาราษฎรไปร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายอำเภอท้องที่หรือผู้ว่าราชการจังหวัด น่าจะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งได้ว่า ราษฎรคนนั้้นได้รับความเดือดร้อนจริง

            ถาม- ทำไมประเทศไทย ไม่ใช้ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจแบบตำรวจอังกฤษ  ซึ่งน่าจะดูดีกว่าระบบและกลไกที่นำเสนอ

          ตอบ- ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง มีการปกครองส่วนภูมิภาค ใช้ระบบตำรวจแห่งชาติ หมายความว่า กองกำลังตำรวจไทยมีอยู่กองกำลังเดียว คือ ตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้องสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจตามที่ได้นำเสนอในบทความนี้จึงจะเป็นไปได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

            ส่วนอังกฤษหรือ สหราชอาณาจักร เป็นประเทศรัฐเดี่ยว เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค การจัดตั้งกองกำลังตำรวจ เป็นกองกำลังตำรวจท้องถิ่น มีทั้งหมด 45 กองกำลัง (รวมทั้งกองกำลังตำรวจแคว้นสกอตแลนด์ และแคว้นไอร์แลนด์ แห่งละ 1 กองกำลัง) โดยแต่ละกองกำลังเป็นอิสระต่อกัน ระบบถ่วงดุล จึงเป็นการถ่วงดุลภายในแต่ละกองกำลังตำรวจ

          ถาม- ถ้าเช่นนั้น ทำไมประเทศไทยไม่ลองใช้ระบบถ่วงดุลอำนาจตำรวจแบบญี่ปุ่น

            ตอบ-สำหรับญี่ปุ่น เป็นรัฐเดี่ยว ที่เคยมีปกครองส่วนภูมิภาค จึงเน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นเดียวกับไทย แม้จะใช้ระบบตำรวจแห่งชาติเช่นเดียวกับระบบตำรวจไทย แต่มีการจัดโครงสร้างคนละอย่างกัน กล่าวคือ ระบบตำรวจญี่ปุ่น จัดกองกำลังตำรวจออกเป็น 48 กองกำลัง ประกอบด้วยกองกำลังตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอัตรากำลังเพียง 7,000-9,000 นาย ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 47 กองกำลัง เป็นกองกำลังตำรวจท้องถิ่นของมหานครโตเกียวและจังหวัดต่าง ๆ  และต่างเป็นอิสระต่อกัน

          อำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของญี่ปุ่น เป็นอำนาจของกองกำลังตำรวจท้องถิ่นของมหานครโตเกียว และกองกำลังตำรวจท้องถิ่นของจังหวัดต่าง ๆ ภายในเขตพื้นที่ของตน

            ดังนั้น การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจญี่ปุ่น จึงเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกองกำลังตำรวจแห่งชาติกับกองกำลังตำรวจของมหานครโตเกียวและจังหวัดต่าง ๆ  และภายในกองกำลังตำรวจมหานครโตเกียวและตำรวจจังหวัดแต่ละกองกำลัง  ก็มีการจัดระบบการถ่วงดุลโดยให้คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะมหานครโตเกียว หรือคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารงานตำรวจ ส่วนผู้บัญชาการตำรวจมหานครโตเกียว หรือหัวหน้าตำรวจจังหวัดก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะกรรมการดังกล่าว

          ถาม-อำนาจในการไม่สั่งฟ้องคดีอาญาในต่างจังหวัด เป็นของอัยการจังหวัด กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้อง ตามป.วิ อาญา มาตรา 145 ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ หากเห็นชอบคดีอาญาก็สิ้นสุดลง แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ต้องรายงานให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด แต่ปัจจุบันนี้ คสช.ได้มีประกาศที่ 115/2557 ตัดอำนาจดังกล่าวของ  ผู้ว่าราชการจังหวัดออกไป และให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค เป็นผู้มีอำนาจแทน

                   ขอทราบว่า ตามประกาศ คสช.ดังกล่าว มีผลกระทบต่อความยุติธรรมของราษฎรหรือไม่ อย่างไร

          ตอบ-มีผลกระทบอย่างแน่นอน กรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของอัยการจังหวัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคแต่ละแห่ง จะมีความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุดมากน้อยเพียงใด หากมีความเห็นแย้งบ่อย ก็จะทำให้คดีนั้น ๆ ล่าช้าออกไปเป็นเวลาหลายเดือน

                        ในทางปฏิบัติ โอกาสที่อัยการสูงสุดจะมีความเห็นแตกต่างไปจากอัยการจังหวัดมีน้อย เพราะความเห็นแย้งของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ซึ่งไม่ใช่คนกลาง  จะให้แตกต่างไปจากความเห็นของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจด้วยกันคงจะยาก

                        แต่ถ้าอำนาจดังกล่าว เป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคนกลางระหว่างตำรวจกับอัยการเหมือนอย่างในอดีต คดีมักจะยุติลงที่จังหวัด ไม่ใช่อัยการสูงสุุด เพราะหากไม่มีข้อมูลและเหตุผลหนักแน่นเพียงพอที่จะหักล้างความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการจังหวัด ในทางปฏิบัติ นิติกรของที่ทำการปกครองจังหวัดก็จะเสนอผ่านปลัดจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบตามอัยการจังหวัด ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอจะฟังได้ว่ากระทำความผิดจริง ได้รับอิสระทันที ไม่ต้องตกเป็นจำเลยต่อศาล

ดร.ชา 369

15/07/22

“ความยุติธรรมที่ได้มาอย่างล่าช้า คือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง”

Dr.Char

Mr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (13) (New***) 2

มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (13) (New***)

Share on Social Media facebook email 91 / 100 Powered by Rank Math SEO “มองโกเลีย เคยเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” เป็นบทความลำดับที่ 13 หมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก จะกล่าวถึง ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของมองโกเลีย ข้อมูลมองโกเลียในปัจจุบันที่ควรทราบ   ประวัติย่อของมองโกเลีย  ยุคจักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่  วิเคราะห์เปรียบเทียบอาณาจักรมองโกล กับจักรวรรดิบริติช สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369           บทความที่เกี่ยวข้อง ประวัติ จีน ก่อนจีนยุคใหม่ “ จักรวรรดิจักรมองโกล (1206-1368)  เป็นจักรวรรดิที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกันใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 24,000,000…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16) 3

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 5

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

6 COMMENTS

  1. จริงค่ะอาจารย์ พอตำรวจเป็นส่วนกลางทั้งหมด ศูนย์กลางก็อยู่ทีส่วนกลาง การสนองความยุติธรรมจังเหมือนไม่กระจาย ไม่เอาประชาชนเป็นศูนย์

    1. ใช่แล้ว ถ้าเรื่องใด
      เป็นอำนาจของส่วนกลาง เรื่องนั้น ไม่มีทางเร็ว มักจะมีแต่ความล่าช้า อาจจะมีข้อยกเว้นเฉพาะบางเรื่องที่ได้ออกสื่อ เพราะผู้มีอำนาจจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ

  2. เนื้อหาในบทความ” ต้องยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางการถ่วงดุลย์อำนาจตำรวจ จึงจะไดัผล ” ชี้ให้เห็นไดัอย่างชัดแจังครับว่า ระบบการถ่วงดุลย์อำนาจตำรวจปัจจุบัน เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลย์ภายในของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จึงไม่สอดคล้องกับระบบการปกครองของประเทศไทยที่มีส่วนภูมิภาค แต่สำนักงานตรวจแห่งชาติ กลับวางระบบใหัหน่วยงานเป็นส่วนกลางทั้งหมด ทั้งที่ภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นงานที่ใก้ลชิดกับประชาชนในพิ้นที่ ระดับตำบล หมู่บัาน รวมทั้งการสอบสวนคดี ผู้เสียหาย พยานหลักฐาน ก็อยู่ในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ย่อมรู้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างดี ดังนั้น การวางระบบใหัตำรวจเป็นส่วนภูมิภาคควบคู่กับการวางระบบใหัมีการถ่วงดุลย์อำนาจของฝ่ายปกครองกับตำรวจ ย่อมจะส่งผลดีต่อประชาชนและสอดคล้องกับระบบการปกครองของประะทศ ซึ่งจะเป็นการกระจายความเป็นธรรมไปสู่ประชาชนในทุกตำบล หมู่บ้าน ไดัอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการแกไข้ปัญหาของระบบที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง อันจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนตัวก็มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการปรับเปลี่ยนระบบหรือแก้ไขให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ของตำรวจเสียใหม่ โดยมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาให้ประชาชน อำนวยความสะดวกใหัประชาชน ครับ

    1. ความเห็นของคณ Phasin เป็นความเห็นทึ่ถูกต้องชัดเจน ตรงประเด็น และตรงเป้าดีมากทีเดียว

  3. จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางมาบูรณาการกับตำรวจเพื่อให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน หน่วยงานดังกล่าวควรมีที่ทำการและบุคลากรกระจายอยู่ทุกพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เสมอหน้าและมีคุณภาพ

    1. ถูกต้องแล้ว หากไม่มีหน่วยงานกลาง การถ่วงดุล ย่อมเป็นไปได้ยาก

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: