83 / 100

เรื่องราวในอดีตของเวียดนามที่น่าสนใจ เป็นบทความลำดับที่ 17 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ เรื่องราวในอดีตของเวียดนามแบ่งออกได้เป็นกี่ยุค ยุคราชวงศ์ ยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส ยุคสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ยุคสงครามเวียดนาม ยุคการรวมชาติและการปฏิรูป สรุป เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

1.ความนำ

          การจะเข้าใจในปัจจุบันของแต่ละประเทศ จะต้องศึกษาประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวความเป็นมาในอดีตของประเทศนั้น ๆ เสียก่อน

            เวียดนามเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงมีรูปแบบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งผมได้นำมาเล่าให้ท่านทราบกันแล้วในบทความที่ (16) เวียดนาม มีรูปแบบการปกครองอย่างไร ดังนั้น ในบทความนี้ ผมจึงอยากจะเล่าเรื่องราวในอดีตของเวียดนามว่า เป็นเพราะเหตุใดเวียดนามจึงยังคงมีรูปแบบการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์อยู่ในทุกวันนี้

2. เรื่องราวในอดีตของเวียดนามแบ่งออกได้เป็นกี่ยุค

          ประวัติศาสตร์ของเวียดนาม อาจแบ่งออกได้ 5 ยุค คือ

            ยุคราชวงศ์

            ยุคตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

            ยุคสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง

            ยุคสงครามเวียดนามหรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง

            ยุครวมชาติและการปฏิรูป

3.ยุคราชวงศ์ (Dynastic Vietnam)

          เวียดนามเป็นประเทศทีมีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาเป็นเวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งเป็นประเทศในนามอาณาจักรวันลาง ก่อนคริสตศักราช 3,000 ปี บางครั้งมีการแบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ และบางครั้งก็กลับมารวมกันอีก 

           ต่อมาได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีน เมื่อประมาณ 111 ปีก่อนคริสตศักราช จนกระทั่งปีพ.ศ.1481 (ค.ศ.938) จึงได้รับอิสรภาพจากจีนและได้มีการก่อตั้งราชวงศ์ต่าง ๆ ขึ้นมาปกครองประเทศ แต่ก็ยังมีการรบพุ่งกันเองระหว่างตระกูลใหญ่ หรือรบพุ่งกับจีน ตลอดจนมีการรบกับพวกจามและเขมรด้วย

            จนกระทั่งเหงียนอันห์สามารถรวบรวมเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวกันได้ และตั้งราชวงศ์เหงียนขึ้นปกครองเวียดนาม เมื่อปีพ.ศ.2345 (ค.ศ.1802) ด้วยความช่วยเหลือจากไทยในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และฝรั่งเศส แล้วสถาปนา เหงียนอันห์เป็นจักรพรรดิยาลอง

4.ยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส (French Indochina)

แผนที่เวียดนามหลังจากสิ้นสุดสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ปีค.ศ.1954 (Wikipedia, Vietnam, 21st May 2021)
แผนที่เวียดนามหลังจากสิ้นสุดสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 ปีค.ศ.1954 (Wikipedia, Vietnam, 21st May 2021)

          หลังจากฝรั่งเศสได้ช่วยเหลือให้จักรพรรดิยาลองรวมอาณาจักรได้แล้ว ก็ค่อย ๆ แทรกซึมเวียดนาม โดยมีเป้าหมายที่จะเอาเวียดนามเป็นเมืองขึ้น จนกระทั่งถึงยุคจักรพรรดิองค์ที่ 4 คือ จักรพรรดิดึดึ๊ก ได่ต่อต้านพวกนับถือคริสต์อย่างหนัก ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจส่งเรือรบของกองทัพเรือเข้ามาสู้รบกับเวียดนามเมื่อปีพ.ศ.2401 เวียดนามสู้ไม่ได้ จำต้องยอมแพ้ และต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสนับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2427(ค.ศ.1884) โดยฝรั่งเศสได้แบ่งเวียดนามออกเป็น 3 ส่วน คือ

            อาณานิคมโคชินจีน ในทางภาคใต้

            เขตอารักขาอันนัม ในตอนกลาง

            เขตอารักขาตังเกี๋ยในภาคเหนือ

            ในช่วงนี้ เวียดนามยังคงมีจักรพรรดิเป็นประมุข แต่ต้องผ่านการคัดเลือกจากข้าหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาปกครองเวียดนาม และมีฐานะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศ ส่วนอำนาจในการบริหารการคลัง การทหาร และการทูตเป็นของฝรั่งเศส

5. ยุคสงครามอินโดจีน ครั้งที่หนึ่ง (First Indochina War)

          ในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เวียดนามถูกฝรั่งเศสแสวงหาผลประโยชน์และเอารัดเอาเปรียบทุกอย่าง ด้วยการส่งวัตถุดิบไปฝรั่งเศสเช่น กาแฟ และยางพารา ที่ดินในเวียดนามได้ถูกยึดและตกเป็นของชาวฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสขึ้นอย่างลับ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่โฮจิมินห์ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2473 และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มเวียดมินห์  โดยกลุ่มเวียดมินห์ได้นำชาวนาก่อการต่อต้านฝรั่งเศสในชนบท

            ในที่สุด เวียดนามก็สามารถขับไล่ฝรั่งเศสออกไปได้ และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2488(ค.ศ.1945) โดยโฮจิมินห์ได้รับมอบอำนาจจากจักรพรรดิบ๋าวได และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกหลังจากได้รับเอกราช รวมระยะเวลาที่เวียดนามตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส 61 ปี

            หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งเพื่อขับไล่รัฐบาลของโฮจิมินห์และไม่ยอมรับเอกราชของเวียดนาม ทำให้เกิดสงครามที่เรียกชื่อว่า สงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ในที่สุดฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการรบที่เบียนเดียนฟู เมื่อปีพ.ศ.2497(ค.ศ.1954) จึงได้มีการเจรจาทำสนธิสัญญาเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยฝรั่งเศสยอมรับเอกราชของเวียดนาม

6.ยุคสงครามเวียดนาม (Vietnam War) หรือสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง

แผนที่เวียดนามภายหลังทำสนธืสัญญาเจนีวา ปีค.ศ.1954 (Wikipedia, Vietnam, 21st May 2021) แสดงเรื่องราวในอดีตของเวียดนาม
แผนที่เวียดนามภายหลังทำสนธืสัญญาเจนีวา ปีค.ศ.1954 ต้องแบ่งออกเป็นสองประเทศ (Wikipedia, Vietnam, 21st May 2021) แสดงเรื่องราวในอดีตของเวียดนาม

          หลังจากฝรั่งเศสได้พ่ายแพ้ในการรบที่เบียนเดียนฟูแก่เวียดนาม และได้ยอมรับเอกรราชของเวียดนาม ด้วยการทำสนธิสัญญาเจนีนาเมื่อปีพ.ศ.2488 (ค.ศ.1945) สหรัฐอเมริกาและชาวเวียดนามในภาคใต้บางส่วนไม่ต้องการรวมตัวกับรัฐบาลโฮจิมินห์ จึงแยกตัวออกมาตั้งเป็นประเทศเวียดนามใต้หรือสาธารณรัฐเวียดนาม มีเมืองหลวงชื่อ กรุงไซ่ง่อน มีเส้นแบ่งเขตกับเวียดนามเหนือที่เส้นละติจูดที่ 17 องศา ตามข้อตกลงเจนีวา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2497

          อย่างไรก็ดี เวียดนามเหนือภายใต้การนำของโฮจิมินห์ไม่ยอมรับสถานภาพของเวียดนามใต้ จึงได้มีการสู้รบกันกลายเป็น สงครามเวียดนาม โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียดนามใต้อย่างต่อเนื่องและส่งทหารมาประจำในเวียดนามใต้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

            เวียดนามเหนือได้ประกาศทำสงครามเพื่อขับไล่และปลดปล่อยเวียดนามใต้จากสหรัฐอเมริกาเพื่อรวมเวียดนามใต้เข้าเป็นประเทศเดียวกัน โดยเวียดนามเหนือสนับสนุนชาวเวียดนามใต้ที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา เรียกชาวเวียดนามกลุ่มนี้ว่า เวียดกง

            แม้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้ใช้แสนยานุภาพทางทหารโจมตีอย่างหนักทั้งในเมืองและในชนบท ก็ไม่สามารถพิชิตศึกได้ ภายหลังการการรุกโจมตีครั้งใหญ่ของเวียดนามเหนือและเวียดกงเมื่อปีพ.ศ.2511(ค.ศ.1968) ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องตัดสินใจเตรียมการถอนทหารออกจากออกเวียดนามใต้ และปล่อยให้เวียดนามใต้สู้รบกับเวียดนามเหนือตามลำพัง

ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สามารถเอาชนะในสงครามเวียดนามได้ เพราะสงครามเวียดนามไม่ใช่สงครามตามแบบ แต่เป็นสงครามนอกแบบ กล่าวคือ เวียดนามเหนือได้ให้ชาวเวียดนามใต้ ทำการสู้รบแบบกองโจร เรียกชื่อว่า เวียดกง คอยซุ่มโจมตีกองกำลังของสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้ กองทัพอเมริกาไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ศัตรูของตนคือใคร เนื่องจากเวียดกงปะปนอยู่กับชาวบ้าน การทิ้งระเบิดแบบปูพรมจึงไม่อาจจะทำลายข้าศึกคือ ทหารวียดนามเหนือและเวียดกงได้

สงครามแบบนี้ เรียกว่า เป็นสงครามกองโจรหรือสงครามนอกแบบ เป็นกลยุทธ์ของฝ่ายที่มีกำลังน้อยกว่าใช้เพื่อเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังมากกว่า

7.ยุคการรวมและการปฏิรูปประเทศ (Reunification and reforms)

          7.1 ยุคการรวมประเทศ

            สหรัฐอเมริกาได้ถอนทหารออกจากเวียดนามใต้อย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ.2516(ค.ศ.1973) หลังจากนั้นไม่นาน เวียดนามเหนือและเวียดกงก็สามารถบุกเข้ายึดกรุงไซง่อนและเวียดนามใต้ทั้งหมดได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2518(ค.ศ.1975) และสามารถรวมเวียดนามใต้เข้าเป็นประเทศเดียวกันสำเร็จเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2519(ค.ศ.1976) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          สงครามเวียดนามได้ทำให้ชาวเวียดนามต้องประสบความอดอยาก และมียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากระหว่าง 990,000-3.8 ล้านคน เวียดนามภายใต้การนำของเลอดวน ไม่ได้สังหารคนเวียดนามใต้ซึ่งได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลเวียดนามใต้อย่างที่คนโลกตะวันตกวิตกกังวล เพียงแต่ได้ส่งชาวเวียดนามใต้จำนวน 300,000 คนเข้าสู่ค่ายอบรมล้างสมอง ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญความยากลำบาก ความอดอยาก และโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งถูกบังคับให้ทำงานหนัก

            รัฐบาลเวียดนามได้รณรงค์ขนานใหญ่ในการสร้างระบบนารวมและโรงงานรวม (mass campaign of collectivism of farms and factories)

          เมื่อปีค.ศ.1978 เวียดนามได้ล้างแค้นพวกเขมรแดงที่ได้สังหารหมู่คนเวียดนามที่อยู่บริเวณชายแดน ด้วยการส่งทหารเข้ายึดกรุงพนมเปญ แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทนที่ (ซึ่งรัฐบาลนี้อยู่ได้จนถึงปีค.ศ.1989) แต่จีนสนับสนุนเขมรแดง จึงได้ทำสงครามสั่งสอนเวียดนามในปีค.ศ.1979 ซึ่งทำให้เวียดนามต้องหันไปพึ่งความช่วยเหลือจากโซเวียตในเรื่องการทหารและเศรษฐกิจ

        7.2 ยุคปฏิรูปประเทศ

          ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1986 ได้มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำจากยุคหัวเก่าเป็นยุคผู้นำปฏิรูป คือ เหงียน วัน ลินห์ ซึ่งได้ก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค เขาได้เสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดเสรี ที่เรียกชื่อว่า นโยบายเศรษฐกิจ “โด๋ย เม้ย” (Doi Moi) ซึ่งแปลว่า การฟื้นฟู (Renovation)

          นโยบายดังกล่าว เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจกลไกตลาดแบบสังคมนิยม (socialist-oriented market economy) โดยรัฐจะเป็นผู้กระตุ้นการได้เป็นเจ้าของฟาร์มและโรงงานของเอกชน ลดกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจให้น้อยลง ชักชวนการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่ยังอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์

            หลังจากการใช้เศรษฐกิจภายใต้นโยบายโด๋ย เม้ย ได้ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตและเข้มแข็งขึ้นทั้งในด้านผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม การก่อสร้าง การส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าการปฏิรูปนี้จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางด้านรายได้และความแตกต่างระหว่างเพศก็ตาม

            นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2543(ค.ศ.2000) เวียดนามได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศ ทำให้เวียดนามมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เนื่องจากการบูรณะเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ เวียดนามจึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกเมื่อปี พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) และนอกจากนี้เวียดนามยังเป็นสมาชิกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสด้วย

8.สรุป

          การศึกษาประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวในอดีตของเวียดนาม จะทำให้เราเข้าใจว่า เป็นเพราะเหตุใดเวียดนามจึงยังคงเป็นประเทศที่มีการปกครอบระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งปัจจุบันเหลือประเทศทีมีระบอบการปกครองนี้อยู่ไม่กี่ประเทศ

          ตามประวัติศาสตร์ของเวียดนามได้ชี้ให้เห็นว่า ก่อนที่เวียดนามจะตั้งเป็นประเทศได้ เคยเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิจีนมาก่อนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าหนึ่งพันปี ระหว่าง 111 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งปีค.ศ.1938 จึงสามารถรวบรวมกำลังตั้งประเทศเวียดนามขึ้นมา

            หลังจากนั้นเวียดนามได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ.1884-1945 และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการสู้รบกันอย่างหนักที่เบียนเดียนฟู และฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จึงยอมรับเอกราชของเวียดนามเมื่อปีค.ศ.1954

          แต่เวียดนามทางภาคใต้ขอแยกตัวออกเป็นประเทศไม่ยอมขึ้นต่อรัฐบาลโฮจิมินห์  ทำให้เวียดนามถูกแบ่งเป็นสองประเทศ ก่อนที่จะกลับมารวมกันได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงเมื่อปีค.ศ.1976 โดยสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม และได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จนกระทั่งทุกวันนี้

            ปัจจุบันเวียดนามใช้ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกตลาดแบบสังคมนิยมมาตั้งแต่ปีค.ศ.1986 ที่เรียกชื่อว่า โด๋ย เม้ย (Doi Moi) ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามมีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

            สำหรับความคิดเห็นอย่างอื่น กรุณาติดตามได้ใน “เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา” ท้ายบทความนี้

เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

          คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณนภาพร ซึ่งเป็นคู่สนทนาในบทความก่อน เวียดนาม มีรูปแบบการปกครองประเทศอย่างไร

คู่สนทนา คุณเล็ก ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
คู่สนทนา คุณเล็ก ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

            “สวัสดี คุณนภาพร ยินดีที่ได้มีโอกาสพบกันอีกครั้งหนึ่ง ” ผมทักทายสั้น ๆ

            “สวัสดีค่ะ อาจารย์ ไม่ทราบว่าวันนี้ อาจารย์มีเรื่องสนุกอะไร จะชวนดิฉันคุยเหรอ” คุณนภาพรทักทายผมตอบแบบสั้น ๆ เช่นกัน

            “ คืออย่างนี้ ในบทความที่แล้ว เราได้คุยกันในเรื่องรูปแบบการปกครองประเทศของเวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นการข้ามขั้นตอนไปนิดหนึ่ง ความจริงเราน่าจะได้คุยกันในเรื่องประวัติศาสตร์ย่อ ๆ ของเวียดนามก่อน เพื่อเป็นการปูพื้น แต่ไม่เป็นไร เรามาคุยกันย้อนหลังในครั้งนี้ก็ได้

          คุณนภาพรพอจะทราบอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเวียดนามบ้างไหม ” ผมย้อนเรื่องไปหาบทความเก่าพร้อมกับตั้งคำถามนำสู่เรื่องที่จะคุยกัน

          “ ว่าตามความจริง เรื่องประวัติศาสตร์ดิฉันเองก็ไม่ค่อยสันทัดเท่าใด แต่พอจะทราบบ้างว่า เวียดนามกว่าจะสามารถรวมตัวเป็นประเทศได้ ต้องตกเป็นดินแดนอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิจีนเป็นเวลามากกว่าหนึ่งพันปี เลยรับเอาวัฒนธรรมจีนเข้ามาเป็นวัฒนธรรมของตนเป็นจำนวนมาก

          เรื่องนี้อาจจะแตกต่างจากประเทศอาเซียนอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่รับเอาวัฒนธรรมของอินเดียมาเป็นวัฒนธรรมของชาติ ” คุณนภาพรตอบเท่าที่เคยอ่านมา

            “ ใช่ถูกต้องแล้ว แต่อาจารย์ขอเสริมนิดหนึ่งว่า ชาติอาเซียนชาติอื่น ๆ นอกจากวัฒนธรรมอินเดียแล้ว ก็รับเอาวัฒนธรรมจีนด้วย เพราะในแต่ละประเทศมีคนเชื้อสายจีนไปตั้งรกรากอยู่มาก อย่างประเทศไทย คุณนภาพรก็มองเห็นได้ด้วยตาตัวเองอยู่แล้ว ” ผมกล่าวเสริมเพื่อเติมเต็มความรู้ให้คุณนภาพร

            “เท่าที่ได้อ่านบทความข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของเวียดนาม คุณนภาพรได้ข้อคิดอะไรบ้างไหม ” ผมตั้งคำถามเปิด

            “ได้ข้อคิดหลายอย่างเลยค่ะอาจารย์

            อย่างข้อแรก ดิฉันยอมรับว่า เวียดนามเขาเก่งนะ ที่รบเอาชนะมหาอำนาจของโลกได้ถึงสองประเทศ คือ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่อาวุธอาจจะสู้ไม่ได้ แต่ด้วยอุดมการณ์หรือความรักชาติจึงทำให้คนเวียดนามภายใต้ผู้นำอย่างโฮจิมินห์ สามารถขับไล่ชาติมหาอำนาจออกไปจากผืนแผ่นดินเวียดนามได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรบเอาชนะสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลกที่เพิ่งชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ดิฉันว่า เป็นเรื่องที่น่าทึ่งหรือมหัศจรรย์มาก ” คุณนภาพรกล่าวยกย่องชาวเวียดนามด้วยใจจริง

            “ ในข้อแรกนี้ อาจารย์เห็นด้วยกับคุณนภาพรนะ การที่เวียดนามสามารถรบเอาชนะกองทัพอเมริกาอันเกรียงไกรได้ นับว่า เป็นเรื่องมหัศจรรย์ทีเดียว แต่อย่างว่านั่นแหละ เป็นการรบในดินแดนเวียดนามเอง มิได้หมายความว่า ถ้าไปรบกันที่อื่น เวียดนามจะชนะอเมริกานะ เพราะเหตุปัจจัยคนละอย่างกัน ” ผมกล่าวเสริมเล็กน้อย

          “ อีกข้อค่ะ ดิฉันชื่นชมเขามาก การที่เวียดนามได้ผู้นำยุคใหม่ที่มีหัวในการปฏิรูป ยอมรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของโลกตะวันตกไปปรับใช้ในระบบเศรษฐกิจของเวียดนามมาตั้งแต่ปีค.ศ.1986 หรือพ.ศ.2529 อย่างที่เรียกว่า นโยบายโด๋ย เม้ย ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามมีอัตราเจริญเติบโตมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

คุณเล็ก คู่สนทนา ด้วยสีหน้าที่เป็นมิตร
คุณเล็ก คู่สนทนา ด้วยสีหน้าที่เป็นมิตร

            การที่เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ยอมรับเอาแนวคิดหรือหลักการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของโลกตะวันตก ที่ในอดีตพวกเขาเคยโจมตีว่า เป็นระบบเศรษฐกิจของพวกนายทุนที่คอยเอารัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ กรรมกร หรือชาวไร่ชาวนา ดิฉันคิดว่า ผู้นำรุ่นใหม่ของเวียดนาม มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่หลับหูหลับตาบ้าอุดมการณ์อย่างผู้นำรุ่นเก่า ” คุณนภาพร อดชื่นชมความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนามไม่ได้

            “ ข้อนี้อาจารย์ก็เห็นด้วยนะ แทบไม่น่าเชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะสามารถเข้ากับระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ได้

            ตรงนี้อาจารย์อยากจะเสริมว่า การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ทุกวันนี้ ไม่น่ากลัวเหมือนยุคสงครามเย็น เพราะถือเป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะขยายอุดมการณ์ไปสู่ประเทศอื่น ๆ ” ผมกล่าวเสริมเล็กน้อย

            “ พออาจารย์พูดถึงตรงนี้ ดิฉันมองเห็นจุดแข็งอีกอย่างของการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ เขาปกครองด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว ไม่มีพรรคการเมืองอื่น จึงไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายค้านเหมือนประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย เลยทำให้การแก้ปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด ดูไม่เป็นเรื่องยากสำหรับเวียดนาม เรียกว่า จัดการม้วนเดียวจบ ไม่เหมือนบ้านเรานะ ไม่สามารถจัดการม้วนเดียวให้จบอย่างเวียดนามได้ ” คุณนภาพร อดวกเข้าหาเรื่องโควิด-19 ระบาดที่กำลังเป็นปัญหาหนักของประเทศไทยไม่ได้

            “ ใช่คุณนภาพรพูดถูก ประเทศประชาธิปไตยเวลาจะทำอะไรที่กระทบคนหมู่มาก ก็จะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปเสียหมด หากบริหารหรือจัดการไม่ดี ก็อาจจะทำให้รัฐบาลต้องมีอันเป็นไป

          วันนี้เราคุยกันมาพอสมควรแล้ว ต้องขอยุติเพียงนี้ และขอขอบคุณนภาพรมากที่กรุณาสละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ มีโอกาสอีกเมื่อใด เราค่อยคุยกันใหม่นะ

            ดูแลรักษาสุขภาพให้ดี อาจารย์ขอฝากความระลึกถึงคุณภัทรนันท์ด้วยว่า อาจารย์ขออวยพรให้แก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดในพื้นที่ได้สำเร็จในเร็ววัน ” ผมกล่าวยุติการสนทนาพร้อมฝากความระลึกถึงลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง

            “ ด้วยความยินดีค่ะ อาจารย์”

                                                                        ดร.ชา 369

                                                            21/05/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

4 COMMENTS

  1. อาจารย์คะ ทำไมฝรั่งเศสจึงแบ่งเวียดนามออกเป็น3ส่วน และเรียกเวียดนามใต้ว่า เวียดกง ขอบคุณค่ะ

    1. นักล่าเมืองขึ้น เขาใช้หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง จะได้ง่ายในการปกครอง เป็นหลักการเดียวกันกับที่อักกฤษใขัปกครองพม่า และมลายู
      ส่วนชื่อเวียดกง เป็นเรื่องของการตั้งชื่อเรียกของเขา คงไม่ต้องใส่ใจว่า เพราะเหตุใด

  2. เวียดนามป็นชนชาติที่อดทน เหนือขีดจำกัดจริงๆ ค่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: