87 / 100

เวียดนาม มีรูปแบบการปกครองประเทศอย่างไร นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง คำนำ แนวคิดของการจัดรูปแบบการปกครองของเวียดนาม รัฐธรรมนูญ ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานาธิบดี รัฐบาล ศาลของประชาชน การปกครองส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

Table of Contents

1.ความนำ

            ในบทความหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน บทความ (7)  ประเทศ เวียดนาม จะแซงไทยได้ไหม ได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างเวียดนามกับไทย ว่าประเทศใดน่าจะสามารถเป็นประเทศที่มีรายได้สูงก่อนกัน

            สำหรับบทความนี้ต้องการนำเสนอรูปแบบการปกครองของประเทศนี้ว่าเป็นอย่างไร เพราะรูปแบบการปกครองย่อมเป็นตัวกำหนดที่สำคัญได้ว่า ประเทศใดจะเจริญก้าวหน้าได้มากน้อยเพียงใด

2. แนวคิดในการจัดรูปแบบการปกครองของเวียดนาม

          ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่กี่ประเทศในโลก นอกเหนือจากประเทศนี้ ก็มีจีนคอมมิวนิสต์หรือจีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลีเหนือ ลาว และคิวบา

            ประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ในมุมมองของโลกตะวันตก เห็นว่าเป็นประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการสมบูรณ์แบบ มีพรรคการเมืองได้พรรคเดียว  ไม่มีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง

          แต่ประเทศเหล่านี้ ก็ถือว่า ประเทศของตนมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ( democratic centralism) ตามลัทธิเลนิน (Leninist) หมายความว่า หน่วยงานระดับล่างต้องปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยเหนือเพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่มีอิสระที่จะคิดและปฏิบัติแตกต่างไปจากนโยบายและคำสั่งของหน่วยเหนือได้

          การที่มีพรรคการเมืองได้พรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ แสดงว่า นโยบายในการบริหารประเทศต้องเป็นไปตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น

            ในอดีตประเทศที่มีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ล้วนแต่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หมายความว่า ธุรกิจสำคัญส่วนใหญ่ล้วนเป็นของรัฐ แต่ในระยะหลังได้หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการยินยอมให้เอกชนสามารถลงทุนแข่งขันกับรัฐในบางกิจการได้เพื่อแก้ไขปัญหาผูกขาด และเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศของตนให้มาก ๆ

            ดังนั้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้ปัจจุบันมีบางประเทศที่เรียกตัวเองว่า เป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ก็เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เฉพาะด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น แต่ทางด้านเศรษฐกิจได้ยอมรับระบบทุนนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลทำให้ประเทศเหล่านี้มีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม และลาว

3. รัฐธรรมนูญ

            แม้ไม่ได้เป็นประเทศมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่พวกเราเข้าใจ แต่ประเทศนี้ก็มีรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเช่นกัน โดยเริ่มจากรัฐธรรมนูญปี 1946 รัฐธรรมนูญปี 1959 รัฐธรรมนูญปี 1980 รัฐธรรมนูญปี 1992 และปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญปี 2013 ซึ่งได้รับอนุมัติจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที 28 พฤศจิกายน 2013

                รัฐธรรมนูญปี 2013 มีความยาวทั้งหมด 120 มาตรา โดยได้กล่าวถึง ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานาธิบดีแห่งรัฐ รัฐบาล ศาลของประชาชน และการปกครองท้องถิ่น

4. ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจ

          ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ได้กล่าวถึงระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจพอจะสรุปได้ดังนี้

        4.1 ระบบการเมือง

            ตามรัฐธรรมนูญ ฯ  หมวด 1 ระบบการเมือง ได้กล่าวไว้ว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam State) เป็นรัฐสังคมนิยมของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยประชาชน เป็นเจ้าของสาธารณรัฐ ฯ  อำนาจทั้งหมดของรัฐเป็นของประชาชน ซึ่งมีฐานเชื่อมโยงกับชนชั้นแรงงาน ชาวนา และกลุ่มปัญญาชน (working class, peasantry and intelligentsia)

            เป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เป็นผู้ปกปักษ์คุ้มครองชนชั้นแรงงาน (vanguard of the Vietnamese working class)  พร้อมกับชนชั้นอื่น ๆ ของประเทศ

พรรรคคอมมิวนิสต์ต้องทำงานหนักเพื่อประชาชนตามแนวลัทธิมาร์กซ์-เลนิน (Marxist-Leninist doctrine) และแนวคิดของโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh’s thought)

พรรคคอมมิวนิสต์ต้องรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับประชาชน รับใช้ประชาชน เสนอการควบคุมของประชาชน และรับผิดชอบต่อประชาชน

องค์กรของพรรคคอมมิวนสิต์ทุกระดับและสมาชิกพรรค จะต้องปฏิบัติตามกรอบของรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

       ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอยู่ภายใต้การควบคุมของเลขาธิการพรรคซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ มีอำนาจในการควบคุมองค์กรของพรรคในระดับชาติ และมีบทบาทไปในทุกสาขาของสังคมและการเมืองของประเทศ โดยยึดตามลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และแนวคิดของโฮ จิ มินห์

โฮ จิ มินห์ คือ ผู้นำของประเทศในการต่อสู้ขับไล่สหรัฐอเมริกา เพื่อรวมประเทศทั้งทางภาคเหนือและทางภาคใต้เข้าด้วยกัน

        4.2 ระบบเศรษฐกิจ

อ่าวฮาลอง สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ
อ่าวฮาลอง สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ

            ตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 3 ได้กำหนดไว้ว่า เป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกตลาดแบบสังคมนิยม (socialist-oriented market economy) ซึ่งการเป็นเจ้าของธุรกิจมีอยู่หลายรูปแบบ และการมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วน โดยมีเศรษฐกิจภาครัฐเป็นผู้เล่นบทนำ (state economic sector plays the leading role) 

            เศรษฐกิจทุกภาคส่วนล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และต้องร่วมมือกันภายใต้กฎหมาย

            รัฐจะเป็นผู้สร้างและทำให้สถาบันทางเศรษฐกิจสมบูรณ์ ประสานงานเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการยอมรับกลไกของตลาด การแบ่งแยกประเภท การกระจายอำนาจ และการแบ่งแยกอำนาจในการบริหารของภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและการเป็นหลักประกันความเป็นเอกภาพของเศรษฐกิจของชาติ

            ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามรัฐธรรมนูญ ฯ แสดงให้เห็นว่า ประเทศนี้ยอมรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยยอมรับกลไกการตลาด แต่เป็นกลไกการตลาดที่มีรัฐเป็นผู้นำ ไม่ใช่กลไกตลาดเสรีแบบโลกตะวันตก และยอมรับให้มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วน นอกเหนือไปจากเศรษฐกิจโดยรัฐ นั่นคือ ยอมรับการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ

            ในอดีตประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จะต่อต้านระบบนายทุน ถือว่า นายทุนเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นผู้คอยรัดเอาเปรียบชนชั้นกรรมาชีพ ต้องทำลายล้างนายทุนให้หมดไปจากโลก ให้เหลืออยู่เฉพาะคนชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น

            อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของโลกตะวันตก ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกเจริญเติบโตและขยายตัวมากกว่าเดิมอย่างชัดเจน จึงทำให้ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้หันมายอมรับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนคอมมิวนิสต์ในยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ได้ครองอำนาจสืบต่อจากเหมา เจ๋อ ตุง  ในช่วงปีค.ศ.1978-1992 หรือพ.ศ.2521-2535 ภายใต้นโยบายสี่ทันสมัยและคำขวัญที่ว่า จะเป็นแมวดำหรือแมวขาวก็ได้ หากสามารถจับหนูได้

5.สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)

อาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติเวียดนาม ณ กรงฮานอย (Wikipedia, Vietnam, 7th May 2021) ศูนย์กลางอำนาจรัฐ
อาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติเวียดนาม ณ กรงฮานอย (Wikipedia, Vietnam, 7th May 2021) ศูนย์กลางอำนาจรัฐ

            ตามรัฐธรรมนูญ ฯ  มาตรา 69 สภานิติบัญญัติหรือสมัชชาแห่งชาติ เป็นองค์กรสูงสุดที่เป็นตัวแทนของประชาชน และเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐสูงสุดของประเทศด้วย โดยเป็นผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญและอำนาจในทางนิติบัญญัติ เป็นผู้ตัดสินใจในกิจการของชาติที่มีความสำคัญ และเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดในการควบคุมกิจกรรมทั้งหมดของรัฐ

            สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจากเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ทั่วประเทศ อยู่ในวาระคราวละ 5 ปี

            สภานิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่ จำนวน 15 ประการ สรุปได้ดังนี้

            5.1 สร้างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างและแก้ไขกฎหมาย

            5.2 มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมการทำหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฯ กฎหมาย และมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา รัฐบาล ศาลสูง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐ และองค์การอื่น ๆ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สร้างขึ้น

            5.3 เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องที่เป็นวัตถุประสงค์ เป้าหมาย นโยบาย และหน้าที่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

            5.4 เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนโยบายการเงินและการคลังของชาติ

            5.5 เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในงานนโยบายด้านสัญชาติและศาสนา

            5.6 เป็นผู้มีอำนาจในการวางกฎเกณฑ์ ขององค์กรและกิจกรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานาธิบดี รัฐบาล ศาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจสอบอำนาจรัฐ การปกครองท้องถิ่น และองค์กรอื่น ๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

            5.7 เป็นผู้มีอำนาจในการเลือก และถอดถอน ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลสูง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  

           ถอดถอนรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลสูง ยับยั้งบัญชีรายชื่อสมาชิกสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง

       ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามรัฐธรรมนูญ ฯ  ได้วางหลักให้สภานิติบัญญัติหรือสมัชชาแห่งชาติ เป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ มีอำนาจเหนือทุกองค์กร ทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ มีอำนาจในการสร้างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการสร้างและแก้ไขกฎหมาย มีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และประธานศาลสูง

            สภานิติบัญญัติ มีสมาชิก 498 คน มีการประชุมกันปีละ 2 ครั้ง

แต่ในทางปฏิบัติ สภานิติบัญญัติหรือสมัชชาแห่งชาตินี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคมคอมมิวนิสต์อีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น มติที่ประชุมจะเป็นไปตามที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนด

6.ประธานาธิบดี

          ตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 6 ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐ และเป็นตัวแทนประเทศทั้งภายนอกและภายใน โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้มีอำนาจเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานาธิบดี

            นอกจากนี้ประธานาธิบดี ยังเป็นผู้บัญชาการทหารของทั้งสามเหล่าทัพ และเป็นประธานสภากลาโหมและความมั่นคงของชาติด้วย

        ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          บทบาทอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีเน้นหนักไปในทางพิธีการในฐานะเป็นประมุขของรัฐ ตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของประเทศ รองลงมาจากเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์

7.รัฐบาล

            ตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 7 รัฐบาลเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสภานิติบัญญัติ เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารของรัฐ  รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะต้องรายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา และประธานาธิบดี

            รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตนรี นายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากผู้ที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งรัฐมนตรีก็ต้องเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

8.ศาลของประชาชน (People’s Courts)

            ตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 7 ศาลของประชาชน เป็นองค์กรด้านตุลาการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูง และศาลอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย

            ศาลสูงเป็นองค์กรสูงสุดของฝ่ายตุลาการ โดยประธานศาลสูงมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

9. การปกครองท้องถิ่น (Local Governments)

            ตามรัฐธรรมนูญ ฯ หมวด 9 ได้กำหนดส่วนประกอบของการปกครองส่วนท้องถิ่น สรุปได้ดังนี้

       9.1 การแบ่งหน่วยการบริหารประเทศ

            ให้แบ่งหน่วยการบริหารประเทศออกเป็นดังนี้ คือ

                        ให้แบ่งประเทศออกเป็นจังหวัด (provinces) และนคร(cities) โดยให้ขึ้นต่อส่วนกลางโดยตรง

                        ให้แบ่งจังหวัดออกเป็นอำเภอ (districts)  เมืองใหญ่ของจังหวัด (provincial cities) และเมือง (towns) โดยเมืองใหญ่ให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง  

                         ให้แบ่งอำเภอออกเป็นอำเภอในเมือง (urban districts) อำเภอชนบท (rural districts) เมือง และหน่วยระดับเดียวกัน

                        นอกจากนี้ ยังให้แบ่งอำเภอ ออกเป็นตำบล (communes) และหมู่บ้าน (townlets)

                        ให้แบ่งเมืองใหญ่ของจังหวัดและเมือง ออกเป็นเขต (wards) และตำบล รวมทั้งให้แบ่งอำเภอในเขตเมืองออกเป็นเขต

                        ยิ่งกว่านั้น ยังมีหน่วยบริหารเศรษฐกิจพิเศษที่จัดตั้งขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

          9.2 โครงสร้างของการปกครองท้องถิ่น (Local Governments)

                        การปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยทางการบริหารของรัฐ ประกอบด้วย สภาประชาชน (People’s Council) และคณะกรรมการของประชาชน (People’s Committee) ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันออกไปพื้นที่ชนบท นครหรือเมืองใหญ่ เกาะ และหน่วยบริหารเศรษฐกิจพิเศษ

                        สภาประชาชน เป็นองค์กรระดับท้องถิ่นในการใช้อำนาจรัฐ ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่น

                        ส่วนคณะกรรมการของประชาชน ได้รับเลือกจากสภาประชาชน เป็นองค์กรในการบริหารงานรัฐในระดับท้องถิ่น และรับผิดชอบต่อสภาประชาชนและองค์กรของรัฐที่อยู่ในระดับสูงกว่า

ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

                   จังหวัดมีจำนวนทั้งหมด 59 จังหวัด และมีนครจำนวน 5 นคร คือ ฮานอย โฮจิมินห์ ไฮฟอง ดานัง และเกิ่นเทอ ซึ่งได้รับงบประมาณจากส่วนกลางโดยตรง และข้าราชการก็ได้รับแต่งตั้งจากส่วนกลางโดยตรงเช่นกัน ทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน

10. วิเคราะห์

          รูปแบบการปกครองของเวียดนาม หากมองจากภายนอก ก็ไม่แตกต่างจากรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้ามองจากข้างในจะพบว่า แตกต่างไปจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ แม้จะมีการเลือกตั้งในทุกระดับ แต่ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งได้ ต้องเป็นผู้สมัครที่ได้รับความยินยอมจากพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น จะเป็นผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองอื่นไม่ได้เลย

            ดังนั้น ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นเพียงการประทับตรายางรับรองคนที่พรรคคอมมิวนิสต์เลือกไว้แล้วเท่านั้นเอง ประชาชนหามีสิทธิเลือกบุคคลอื่นไม่

            ด้วยรูปแบบการปกครองประเทศภายใต้พรรคการเมืองพรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เป็นการปกครองระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบ  ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการก่อม็อบ หากรัฐบาลต้องการจะทำสิ่งใด จะไม่มีฝ่ายค้าน กลุ่มพลังมวลชนใด ๆ ออกมาต่อต้าน กดดันหรือทำตัวเป็นอุปสรรค

            ดังนั้น การดำเนินการตามนโยบายใด ๆ ของรัฐบาล มักจะเป็นไปอย่างลื่นไหล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นสถานการณ์วิกฤตที่จำเป็นต้องใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด อย่างเช่น การแก้ปัญหาโรคไวรัสโคโรนา-19 ระบาด ประเทศที่มีการปกครองในรูปแบบนี้จะสามารถจัดการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านการเมืองภายในประเทศเหมือนอย่างประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

11.สรุป

            รูปแบบการปกครองประเทศของเวียดนาม เป็นระบอบสังคมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ภายใต้การควบคุมดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์ หน่วยการปกครองในแต่ละระดับแม้จะได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นคนที่พรรคคอมมิวนิสต์ยินยอมให้สมัครเท่านั้น และหน่วยการปกครองระดับล่าง ต้องเชื่อฟังหน่วยการปกครองที่อยู่ในระดับเหนือกว่าเสมอ

            ตามโครงสร้างการปกครอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ

            สำหรับความเห็นเพิ่มเติมกรุณาติดตามได้ใน เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้

เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

          คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณนภาพร

คุณนภาพร คู่สนทนาในบทความนี้ หน้าตาดูสดใสดีทีเดียว
คุณนภาพร คู่สนทนาในบทความนี้ หน้าตาดูสดใสดีทีเดียว

          คุณนภาพร เป็นลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหง ของผมคนหนึ่ง ทำงานอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ยังไม่เคยเข้ามาเป็นคู่สนทนาของผมมาก่อน แต่ดูเหมือนว่า ได้คอยเป็นผู้สังเกตการณ์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว

            “สวัสดี คุณนภาพร อาจารย์รู้สึกดีใจที่คุณนภาพรได้ให้เกียรติเข้ามาเป็นคู่สนทนาในวันนี้ ” ผมทักทายสั้น ๆ เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลาย

            “สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันเองก็ดีใจเช่นกันที่มีโอกาสได้เข้ามาเป็นคู่นทนาของอาจารย์ในวันนี้ ตามความเป็นจริง ดิฉันน่าจะได้เข้ามาเป็นคู่สนทนาเร็วกว่านี้ เหตุที่เข้ามาช้าก็เพราะดิฉันก็มัวแต่ลังเลอยู่” คุณนภาพรตอบตามความรู้สึกจริง ๆ

            “ เอาล่ะนะ วันนี้อาจารย์จะชวนคุณนภาพร คุยเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบการปกครองของเวียดนามว่า รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร คุณนภาพร สนใจไหม ” ผมชวนคุยต่อ

            “ สนใจค่ะอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเรียนกับอาจารย์ ดิฉันจำได้ดีว่า ประเทศนี้มีรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว ซึ่งดูแตกต่างไปจากบ้านเรามากที่มีพรรคการเมืองมากมาย ทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็กพรรคน้อย ” คุณนภาพร แสดงภูมิรู้พร้อมความคิดเห็น

            “ การที่ประเทศนี้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์ คุณนภามีความเข้าใจว่าอย่างไร ” ผมลองทดสอบความเข้าใจของคุณนภาพร

            “ เรื่องนี้ ดิฉันเห็นว่า ในมุมมองของประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในแบบฉบับของโลกตะวันตกเห็นว่า ประเทศนี้มีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ เพราะมีพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่นเหมือนอย่างบ้านเราหรือประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย ” คุณนภาพรตอบแบบคนมีความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี

            “ แต่เขาก็มีการเลือกตั้งทุกระดับเลยนะ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ” ผมลองแหย่เพื่อหวังว่า คุณนภาพร อาจจะหลงทาง

            “ จริงค่ะ เขามีการเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครต้องเป็นคนที่พรรคคอมมิวนิสต์รับรองเท่านั้น ผู้สมัครอิสระหรือผู้สมัครในนามพรรคการเมืองอื่นไม่มีสิทธิสมัคร ดังนั้น ก็เท่ากับมัดมือชกให้ประชาชนจำต้องเลือกคนของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น ” คุณนภาพร ตอบยืนยันความเห็นเดิม

            “แสดงว่า คุณนภาพร เข้าใจรูปแบบการปกครองของประเทศนี้ดีแล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ในรัฐธรรมนูญของเขา เขาก็บอกว่า การปกครองในรูปแบบของประเทศเขา เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ฟัง ๆ ดูก็น่าจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือคุณนภาพร คิดว่าอย่างไร ” ผมถามเพื่อให้คิดลึกเข้าไปอีกหน่อย

            “ อ๋อ เรื่องนี้ดิฉันมีความเห็นว่า เขาก็คิดว่า รูปแบบการปกครองของเขา ก็เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ซึ่งในมุมของเขา เขาก็มีสิทธิ์คิดเช่นนั้นได้

            อย่างเรื่องนี้ เขาก็ไม่ได้คิดว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบฉบับตะวันตก รวมทั้งของบ้านเรา เป็นการปกครองระบอบประขาธิปไตยเหมิอนอย่างที่พวกเราคิดกันนะคะ แต่เป็นการปกครองของชนชั้นนายทุนต่างหาก ที่ใช้รูปแบบการปกครองนี้รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน ” คุณนภาพร โต้ตอบได้ดีทีเดียว

            “คุยเรื่องนี้มาก ปวดหัวค่ะอาจารย์ อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องไปเที่ยวเวียดนามให้ฟังบ้าง น่าจะสนุกกว่า ” คุณนภาพร ชวนเปลี่ยนเรื่องคุย

            “ อย่างนั้นเหรอ ความจริงอาจารย์เคยไปเที่ยวเวียดนามสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อต้นปีพ.ศ.2554 และครั้งที่สองเมื่อปลายปีพ.ศ.2554

            การไปเที่ยวครั้งแรก ได้ไปถึงนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ เดิมมีชื่อว่า กรุงไซ่ง่อน และเคยเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้มาก่อน เมืองนี้ผู้คนมาก แต่ในท้องถนนเต็มไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์  อาจารย์ได้มีโอกาสไปดูทำเนียบประธานาธิบดีเก่า  เขามีบันทึกเขียนไว้ว่า มีทหารชาติใดบ้างที่ได้เข้ามาร่วมรบในสงครามเวียดนามเพื่อขับไล่อเมริกาออกไป ในจำนวนนี้มีทหารไทยเข้าร่วมรบด้วย  แต่จำนวนไม่มากนักหรอก

          เมื่อไปซื้อของในตลาด ปรากฏว่า แม่ค้าพูดไทยได้ และยินดีรับเงินไทย” ผมเล่าให้ฟังย่อ ๆ

คุณนภาพร ในอีกบุคลิกหนึ่ง
คุณนภาพร ในอีกบุคลิกหนึ่ง

            “การที่แม่ค้าเขารับเงินไทย ย่อมแสดงว่าคนไทยได้เดินทางไปเที่ยวมากใช่ไหมค่ะอาจารย์ ” คุณนภาพร อดถามไม่ได้

            “ใช่แล้ว คุณนภาพร อีกอย่างคนไทยนี่ เป็นพวกนักซื้อ เพราะชอบซื้อของไปฝากเพื่อนฝูงญาติมิตร เห็นอะไร ก็ซื้อตามอย่างกัน ” ผมยอมรับความจริง

            “ การไปเที่ยวครั้งที่สอง อาจารย์มีอะไรประทับใจไหม ” คุณนภาพร กระตุ้นให้ผมเล่าต่อ 

             “ ครั้งที่สอง เป็นการไปเที่ยวแถวภาคกลาง บริเวณเมืองเว้ และดานัง เมืองเว้เคยเป็นเมืองหลวงเก่า ส่วนดานังเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่เรียกว่า อีสต์เวสต์คอร์ริดอร์ (East-West Corridor) เข้าสู่ประเทศไทย ผ่านมุกดาหารไปออกที่แม่สอด จังหวัดตาก ผ่านเข้าไปยังพม่า

            การไปเที่ยวครั้งที่สองนี้ อาจารย์และคณะได้มีโอกาสชมหลุมหลบภัยของพวกเวียดกงในยุคทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา” ผมเล่าพอให้มองเห็นภาพ

            “ฟังอาจารย์เล่าแล้ว ก็สนุกดีเหมือนกัน หากมีโอกาส ดิฉันก็อยากไปเที่ยวบ้าง ” คุณนภาพร แสดงความสนใจอยากไปเที่ยวอย่างผมบ้าง

            “ ดีนะ คุณนภาพร มีโอกาสก็ควรจะไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านของเรา นอกจากจะสนุกแล้ว ยังจะได้ข้อคิดอะไรดี ๆ หลายอย่างทีเดียว

            วันนี้เราคงคุยกันแค่นี้ ขอขอบคุณ คุณนภาพร มากที่กรุณาสละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ มีโอกาสค่อยคุยกันใหม่นะ ขอให้โชคดี ” ผมกล่าวยุติการสนทนา

            “ด้วยความยินดีค่ะ คุยกับอาจารย์ไม่ยากเหมือนอย่างที่ดิฉันคิดเอาเองไว้ก่อนเลย แท้ที่จริง คุยกับอาจารย์ ง่ายนิดเดียว คราวหน้าดิฉันจะลองชวนเพื่อนที่ยังลังเลอยู่ เข้ามาคุยหาประสบการณ์ดี ๆ อย่างดิฉันบ้าง ” คุณนภาพร ตอบด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย

                                                             ดร.ชา

                                                           7/05/21

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

5 COMMENTS

  1. ประเทศเวียดนามมีการเมืองการปกครองที่เป็นเอกภาพ ประชาชนมีวินัย คนวัยแรงงานเยอะ และนำระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดมาใช้เหมือนประเทศจีน ผมว่าเวียดนามมีโอกาสที่จะเจริญรุ่งเรืองมาก และจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยเราเช่นกันครับ

    1. เรียกว่า เขาเอาจุดแข็งของระบบทุนนิยมมาแก้จุดอ่อนของเขาได้สำเร็จ

  2. ขอบคุณ คุณนภาพรที่ได้มาสรุปเป็นบทความสั้น ให้เพื่อนและผู้ที่สนใจ ได้อ่านค่ะ

  3. อาจารย์คะ สภานิติบัญญัติจำนวน498คน มีที่มาอย่างไรคะ ประเทศเวียดนามมีการปกครองระบบคอมมิวนิสต์ ขอบคุณค่ะ

    1. ที่มาของสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือสมัชชาแห่งชาติเวียดนาม ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจากเขตเลือกตั้งต่่าง ๆ ท่ั่วประเทศ

      แต่อำนาจจริง ๆ อยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนอำนาจของสภานิติบัญญัติหรือสมัชชาแห่งชาติ เป็นเพียงตัวหนังสือไม่ใช่ผู้ตัดสินใจที่แท้จริง

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: