90 / 100

“พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369

          บทความสุดท้ายที่ผมได้เขียนไว้ในหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม คือ

การ ปล่อย วาง จะนำมาซึ่งการคลายทุกข์ (15)

“ ทุกขาทุกขัง สุปิตัง สัมปจิตฉามิ ”

คำถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า

ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ขอถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาปี 2566

Table of Contents

1.ความนำ

“อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ”

                     (พระพุทธภาษิต)

            ในเทศกาลเข้าพรรษาปี 2566 นี้ ผมเกิดความคิดอยากจะเขียนบทความเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรัง เพราะหากใครได้เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้ว การดูแลรักษามักจะต้องใช้เวลายาวนาน และหากดูแลรักษาตนเองไม่ดี อาการของโรคนอกจากไม่ทุเลาเบาบางลงแล้ว มีแต่จะกำเริบมากขึ้น โอกาสที่จะหายขาดจากการเจ็บป่วยย่อมมีน้อย

            ยิ่งกว่านั้น นอกจากจะไม่หายขาดจากโรคเรื้อรังแล้ว โรคเรื้อรังดังกล่าวยังจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างอื่นตามมา ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

            แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง หน้าที่หลักเป็นหน้าที่ของคนป่วย มิใช่แพทย์ เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังมักจะเกิดจากพฤติกรรมในการอยู่การกินของคนไข้ ส่วนแพทย์เป็นเพียงผู้คอยวินิจฉัยอาการของโรคในแต่ละระยะ และสั่งจ่ายยาให้ตามอาการของโรคเท่านั้น

            จะเห็นได้ว่า การรักษาโรคเรื้อรังให้ทุเลาเบางบางลง ตลอดจนหายขาดในที่สุดนั้น จำเป็นที่คนป่วยตลอดจนคนรอบข้างต้องใช้ความอดทนและความเพียรพยายามเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในบทความนี้จึงต้องการนำเสนอคาถาของพระพุทธเจ้าที่จะใช้บริกรรมในการรักษาโรคเรื้อรัง อันเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างกำลังใจให้แก่คนป่วยในการต่อสู้รักษาโรคให้ทุเลาบางลง ตลอดจนอาจจะหายขาดได้ในที่สุด

2.พระพุทธเจ้า มีหลักคำสอนว่าอย่างไร

ภาพ รูปหล่อพระพุทธเจ้า

ภาพ รูปหล่อพระพุทธเจ้า

“อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ”

                     (พระพุทธภาษิต)

          พระพุทธเจ้า คือ ศาสดาของพระพุทธศาสนา

          หลักคำสอนของพระพุทธองค์ คือ อริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์-สมุทัย มรรค-นิโรธ

            ทุกข์-สมุทัย หมายความว่า ความทุกข์เกิดจากสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เรียกว่า สมุทัย ได้แก่ กิเลสตัณหาต่าง ๆ

            กิเลสตัณหา ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ทำให้มนุษย์เกิดความต้องการไม่สิ้นสุด 

พระพุทธองค์มีคำสอนเกี่ยวกับแนวทางในการดับทุกข์ดังกล่าว คือ มรรคแปด  หากดับทุกข์ได้สำเร็จคือ เรียกว่า ไปสู่นิพพานหรือนิโรธ

อย่างไรก็ดี กว่าจะไปถึงนิพพานได้ มนุษย์ต้องตกอยู่ในวัฏสงสาร คือเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีเกิด ก็ต้องมีแก่ มีเจ็บ และตายในที่สุด

หากเกิดมาแล้ว มีแต่แก่ ไม่มีเจ็บ คงไม่ใช่ปัญหาอะไรของมนุษย์

ปัญหาคือ เมื่อมนุษย์มีความเจ็บ ทำอย่างไรจึงจะหายจากการเจ็บป่วย เพราะการเจ็บป่วยทำให้มนุษย์เกิดทุกขเวทนา มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่อาการของโรค

คำตอบเบื้องต้นในเรื่องนี้คือ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ ให้หมอรักษา เอายามากิน แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาต้องใช้เวลายาวนานมาก อาจจะใช้ระยะเวลาหลายปี หรืออาจจะตลอดชีวิต        

             หน้าที่หลักของการรักษาโรคเรื้อรัง เป็นหน้าที่ของคนป่วย  เพราะเป็นเรื่องของการปรับพฤติกรรมในการอยู่การกินของคนป่วยเอง มิใช่แพทย์ เพราะแพทย์เป็นเพียงคนให้คำแนะนำและจ่ายยาให้ตามอาการของโรค 

            ปัญหาคือ ทำอย่างไรจะทำให้คนป่วยมีกำลังใจเข้มแข็งในการดูแลรักษาตนเอง

          คำถามต่อไปคือ พระพุทธองค์ มีคาถาในการรักษาโรคเรื้องให้หายได้หรือไม่

          ผมเองคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานีได้ตอบคำถามนี้ไว้แล้ว เมื่อปีพ.ศ.2534 ดังจะได้เล่าให้ท่านทราบตามลำดับต่อไป

3.ประเภทของโรค

          อาจแบ่งโรคออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

            3.1 โรคติดต่อ

                        โรคติดต่อ (contagious disease) คือ โรคที่สามารถถ่ายทอดติดต่อถึงกันได้ระหว่างบุคคล โดยมีเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เป็นสาเหตุของโรค  แม้โรคติดต่อจะเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ แต่พฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของมนุษย์ก็อาจจะเป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนั้น ๆ

                        โรคติดต่อมีทั้งหมด 52 โรค แต่โรคติดต่อร้ายแรงที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอยู่จำนวน 23 โรค เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง ไข้กาฬหลังแอ่น คอตีบ โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด โปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส) และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น

            3.2 โรคไม่ติดต่อ

                        โรคไม่ติดต่อ  (non-communicable diseases) มีคำเรียกย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า NCDs เพราะเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนไปสู่คน แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตซึ่งมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ  ค่อย ๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดอาการเรื้อรังของโรคด้วย โรคไม่ติดต่อจัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง

4. โรคเรื้อรังคืออะไร

          โรคเรื้อรัง (Chronic disease) หมายถึงโรคที่เป็นแล้วจะมีอาการและต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน เป็นแรมเดือนแรมปี หรือตลอดชีวิต มักจะเป็นโรคที่ไม่ติดเชื้อ (Non-infectious disease) เป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

            โรคเรื้อรังบางชนิด ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจหายขาดได้ เช่น วัณโรค คอพอกเป็นพิษ แต่ต้องกินยาและติดตามผลตามที่แพทย์แนะนำ และถ้าได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และอยู่ได้นานตลอดอายุขัย แต่ถ้าขาดการควบคุมก็มักจะเกิดโรคแทรกซ้อน และอาจจะเสียชีวิตในที่สุด

5. โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ

          โรคเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อ  เรียกย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า NCDs (non-communicable disease) เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนไปสู่คนโดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมของเรา (รศ.พญ.นันทกร ทองแดง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

            โรคเรื้อรังกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมพอง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

6. แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า โรคเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อ เพราะไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนไปสู่คน ดังนั้น แนวทางในการรักษาเบื้องต้น คือ คนป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมในการอยู่การกินควบคู่ไปกับการไปพบแพทย์ตามระยะเวลา เพื่อขอรับยากินตามอาการของโรคที่แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย

            แนวทางในกาดูแลรักษาคนป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลพญาไท ได้สรุปไว้ดังนี้

          6.1 การดูแลในภาพรวมในหลาย ๆ ด้าน

                        การดูแลคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพในภาพรวมหลายด้าน เพื่อให้การรักษาโรคได้ผลดี เช่น

                        – เป็นเสมือนแพทย์ประจำตัวเพื่อดูแลเรื่องยา

                        – ให้ความรู้และแนะนำถึงวิธีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น อาหารการกิน   การนอนหลับ การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มศักยภาพของการรักษาให้ดีขึ้น ไม่ใช่พึ่งยาเป็นหลัก เพราะการรักษาโรคเรื้อรังจะได้ผลดีและยั่งยืนมากที่สุด คนไข้ต้องดูแลรักษาสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

            6.2 การดูแลเพิ่มเติมเรื่องสารอาหารและวิตามินที่จำเป็น       

                    คนป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักขาดสารอาหารและวิตามินบางอย่าง ทำให้ร่างกายอ่อนแอ และทำให้เจ็บป่วยเพื่อช่วยปรับในส่วนที่ร่างกายยังขาดให้กลับมาดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องดูแลคนป่วยในเรื่องของการสารอาหารและวิตามินให้เพียงพอ และเมื่อสารอาหารและวิตามินได้ช่วยบำบัดโรคได้ดียิ่งขึ้นแล้ว แพทย์ผู้ให้การรักษาจะค่อย ๆ ปรับลดยาประจำโรคลง อันเป็นผลดีต่อสุขภาพของคนป่วยเอง

          6.3 ตรวจเช็คและประเมินโอกาสจะเกิดโรคแทรกซ้อน

                   การที่คนเราเจ็บป่วย เป็นโรคเรื้อรัง สาเหตุอย่างหนึ่งคือ การไม่ค่อยให้ความสนใจในการตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ไม่อาจจะป้องกันมิให้เกิดโรคได้ ดังนั้น เมื่อคนป่วยได้ยอมเข้ารับการรักษาแล้ว จำเป็นต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพ และประเมินโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นระยะ ๆ เพราะหากเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว การดูแลรักษาก็จะกระทำได้ยากขึ้น

                     ในเรื่องนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาก็จะให้คำแนะนำให้คนป่วยเฝ้าสังเกตภาวะอาการแทรกซ้อนบางประการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น การเจ็บแน่นหน้าอก การหายใจเหนื่อยหอบ และอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

            6.4 ดูแลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเป็นโรคเรื้อรัง

                        เนื่องจากโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อ เพราะการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรมในการอยู่การกินไม่พอดีหรือขาดสมดุล จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอและทำให้เจ็บป่วยเป็นโรคขึ้นมา   ถ้ามีการดูแลปรับพฤติกรรมการอยู่การกินให้เหมาะสม ก็ย่อมจะเป็นหนทางในการป้องกันมิให้เกิดโรคเรื้อรัง  ดังนั้น การดูแลกลุ่มเสี่ยงไว้ก่อนที่จะเจ็บป่วยเป็นโรค จึงเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะถ้าปล่อยผ่านไปด้วยความประมาท ก็จะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ยากจะทำการรักษาให้หายขาดได้ เช่น

                   – ตรวจเช็คหาปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรัง

                        – ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตามเพศ อายุ และอาชีพ

                        – ให้รับประทานอาหารเสริมเท่าที่จำเป็นควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม

            6.5 การเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม

                   เนื่องจากโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการอยู่การกินของบุคคลที่ไม่เหมาะสม ไม่พอดี หรือไม่สมดุล การรักษาไม่อาจทุเลาลงหรือหายจากโรคได้ด้วยการกินยาอย่างเดียว ดังนั้น การเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม จึงเป็นเรื่องจำเป็น

7. คาถาของพระพุทธองค์ในการรักษาโรคทุกโรค ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ    

     ภาพหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อทุยธานี

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ  วัดท่าซุง  อทุัยธานี

              ในเวลาว่าง ตามประสาผู้สูงอายุในวัยย่างเข้าปีที่ 73 ผมมักจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองจากบทความในกูเกิลบ้าง และในยูทูปที่มีคุณหมอหลายท่านทำไว้บ้าง เพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในการดูแลรักษาตนเองและคนใกล้ตัว จนมีวันหนึ่งผมได้ดูยูทูป ได้ฟังการแสดงธรรมของหลวงพ่อฤาษีลิงดำเกี่ยวกับการใช้คาถารักษาโรค ผมได้ศึกษาทำความเข้าใจและทดลองนำไปรักษาโรคบางโรคของผมแล้วเห็นว่า ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ จึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อนำออกเผยแพร่แก่ท่านผู้สนใจ

          7.1 ประวัติย่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

                   พระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) ป.ธ.4 หรือเรียกกันทั่วไปว่า หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทฝ่ายมหานิกาย เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทาราม (วัดท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานและ วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)

                   เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2459 และมรณภาพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2535 มีอายุได้ 76 ปี

          7.2 คาถารักษาโรคทุกโรค ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อ

                    ผมได้มีโอกาสฟังคลิปหนึ่งทางยูทูปในหัวข้อ “คาถารักษาทุกโรค หลวงพ่อฤาษีลิงดำ” เมื่อราวต้นเดือนกรกฎาคม 2566  เป็นคลิปบันทึกเทปในการแสดงพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ณ วัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2534 มีความยาวราว 55 นาที

            คาถาดังกล่าว เป็นคาถาที่หลวงพ่อเล่าว่า หลวงพ่อได้รับจากพระพุทธองค์ในขณะเข้าฌาน

            “ทุกขาทุกขัง สุปฏิตัง สัมปจิตฉามิ”

          ก่อนที่นำคาถานี้ออกเผยแพร่แก่ลูกศิษย์ หลวงพ่อได้ทดสอบกับตนเอง กล่าวคือ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2534 หลวงพ่อได้ป่วยหนัก มีอาการขาบวมและเท้าบวม ยิ่งกว่านั้นยังมีอาการป่วยเป็นโรคมีก้อนอุจจาระแข็งเป็นก้อนโตตกค้างในลำไส้มาเป็นระยะยาวนานร่วมปีแล้ว แต่ไม่มีหมอคนใดรักษาได้ ทำให้หลวงพ่อได้รับทุกขเวทนามาก จนเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต ถึงขั้นอยากจะละสังขารจากโลกนี้ไป

            หลวงพ่อได้พิจารณาทบทวนแล้วเห็นว่า ยังมีภาระในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์อยู่ จำเป็นต้องหาทางรักษาตนให้มีชีวิตอยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร ดังนั้น จึงอยากจะทดลองใช้คาถาของพระพุทธองค์ที่ได้มาในขณะเข้าฌานครั้งหนึ่งมารักษาโรคดังกล่าวดู  ด้วยการใช้คาถานี้เป็นคำบริกรรมภาวนาก่อนนอน แทนคำว่า พุท-โธ และภาวนาเรื่อยไปจนจิตสงบ

            ก่อนที่จะมีการภาวนาคาถานี้ในคืนวันหนึ่งนั้น ได้มีการล้างท้องของหลวงพ่อก่อน ตกกลางคืนหลวงพ่อได้ภาวนาคาถานี้เรื่อยไปจนกระทั่งใกล้รุ่งสาง รู้สึกปวดทุกข์จึงเข้าห้องสุขาเพื่อปล่อยทุกข์ ปรากฏว่า ก้อนอุจจาระที่แข็งเป็นก้อนโตตกค้างอยู่ในลำไส้มาเป็นเวลายาวนานร่วมปีนั้น ได้หลุดเป็นก้อนออกมา มีขนาดเท่ากับลำไส้ เป็นอันพ้นทุกขเวทนา

             เมื่อได้ทดสอบจนเป็นที่พอใจและเป็นเชื่อมั่นได้ว่า คาถานี้ของพระพุทธเจ้าสามารถรักษาโรคได้จริง จึงได้นำออกเผยแพร่ได้ลูกศิษย์ได้ทราบและนำไปทดลองในการรักษาโรคดู

            หลวงพ่อได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คาถานี้หากใช้สวดทำน้ำมนต์จะสามารถใช้รักษาได้ทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังหรือไม่ก็ตาม

ถาพมหาวิหารวัดท่าซุง อุทัยธานี

อาคารมหาวิหารวัดท่าซุง(วิกิพีเดีย, วัดท่าซุง, 14 กันยายน 2566)

8. ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง

          แม้คาถานี้ จะสามารถใช้รักษาโรคได้ทุกโรคตามคำบอกเล่าของหลวงฤาษีลิงดำ แต่ผมเห็นว่า โรคที่ไม่ใช่โรคเรื้องต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นโรค ติดต่อหรือไม่ติดต่อก็ตาม ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อโรค การแพทย์สมัยใหม่มีเครื่องมือและยาปฏิชีวนะรักษาโรคได้ดีอยู่แล้ว

            ส่วนโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในการอยู่การกินของมนุษย์ที่ขาดความพอดี หากน้อยหรือมากไปในบางเรื่อง ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล จึงเกิดการเจ็บป่วย แนวทางในการรักษาโรคประเภทนี้ นอกเหนือไปจากการกินยาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือคนป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมในการอยู่การกินเสียใหม่ เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ร่ายกาย

            การปรับพฤติกรรมในการอยู่การกินในการดำรงชีวิตประจำวันดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกำลังใจของคนป่วยเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมอาหารแสลงต่อโรค หากคนป่วยขาดความอดทนมุ่งมั่น ก็ย่อมจะไม่สามารถทำได้ อันเป็นเหตุทำให้อาการของโรคบานปลาย รวมทั้งอาจเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

            ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า การนำคาถานี้มาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง น่าจะเป็นผลดีในการรักษาโรคดังกล่าวในระยะยาว ซึ่งอาจจะทำให้อาการของโรคทุเลาเบาบางลง ตลอดอาจจะหายขาดได้ในที่สุด

9.ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง

          ผมมีโรคเรื้อรังประจำตัวมาเป็นเวลายาวนานมากกว่า 25 ปี อยู่ 2 โรค คือ โรคเบาหวาน และโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง  ผมได้พยายามรักษาเพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามบานปลายหลายอย่าง ทั้งด้านการปรับอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการกินยาตามที่ได้รับมาจากแพทย์ผู้ทำการรักษา

            หลังจากมีโอกาสได้ฟังยูทูปดังกล่าวของหลวงพ่อฤาษีลิงดำเมื่อต้นเดือนกรฏกฎาคม 2566  ผมได้ทดลองนำคาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้าที่หลวงพ่อได้นำมาถ่ายทอดตลอด มาปรับใช้ในการรักษาโรคเรื้อรังของผมด้วยการบริกรรมภาวนาวันละ 3 เวลา คือ ก่อนนอน หลังตื่นนอน และเวลานอนพักบ่าย                                                                                                                                                

ผมเชื่อว่า ในการตรวจเจาะเลือดครั้งต่อไปราวต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ผลเลือดของผมน่าจะดีขึ้นหลายค่า เพราะผมได้เสริมมาตรการทางจิตเข้าไปในการรักษานั่นเอง

10. ขั้นตอนและแนวทางในการนำถาคานี้มาใช้

            เพื่อให้การนำคาถานี้ มาปรับใช้ในการรักษาโรคเรื้อรังให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผมขออธิบายขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

          10.1 ความสัมพันธ์ระหว่างจิตและกาย

                   ก่อนจะนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรค ควรจะทราบความสัมพันธ์ระหว่างจิตและกายตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียก่อน

                  พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไว้ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เรื่องทุกเรื่องเริ่มต้นด้วยใจ สำคัญที่ใจ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าหากใจเสียหายแล้ว จะทำจะพูดอะไรก็เกิดความเสียหาย ความทุกข์ร้อนก็จะติดตามคนนั้นไป เหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนไปตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนฉันนั้น

                   จะเห็นได้ว่า หากใจป่วยก็จะทำให้กายป่วยไปด้วย แต่ถ้าหากใจบอกว่าจะหายป่วยแน่ โอกาสที่กายจะป่วยย่อมมีมาก

            10.2 แนวคิดเบื้องต้น

                   การนำคาถานี้มาปรับใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ถือเป็นมาตรการเสริมมิใช่มาตรการหลัก เพราะมาตรการหลัก คือ การกินยารักษาโรคตามคำสั่งแพทย์ การควบคุมอาหารแสลงต่อโรค การออกกำลังกาย และการพักผ่อน ส่วนการนำคาถานี้มาปรับใช้เป็นมาตรการเสริมมาตรการหลัก  ด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างพลังบวกและความเข้มแข็งให้แก่จิตใจของเราให้เกิดความเชื่อมั่นในการรักษาโรคเรื้อรังที่เราเป็นอยู่

                   การรักษาโรคเรื้อง = กินยา + ปรับพฤติกรรม + สั่งจิตใต้สำนึก

                   การสร้างพลังบวกนี้ เป็นการอาศัยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ รวมทั้งบุญบารมีของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มาเป็นที่พึ่งแห่งจิตใจของเรา

            10.3 การกำหนดโรคเรื้อรังที่ต้องการรักษา

                   โรคเรื้อรังที่คนหนึ่งเป็นอาจจะมีมากกว่าหนึ่งโรค เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน  ท่านก็จะต้องกำหนดลงไปว่า ท่านต้องการจะรักษาโรคอะไรบ้าง  

            10.4 กำหนดเวลาที่จะใช้คาถานี้รักษาโรคประจำวันให้ชัดเจน

                   การใช้คาถานี้รักษาโรค ท่านจะเลือกใช้เวลาก็ได้ที่ท่านสะดวกและสามารถรวมจิตให้เป็นสมาธิได้เร็ว และท่านควรจะทำเป็นประจำในเวลาเดียวกันทุกวันจนกว่าอาการของโรคจะทุเลาลงเป็นที่พอใจของท่าน

                   ในที่นี้ ผมเห็นว่าเวลาที่เหมาะสมคือเวลาที่จิตของท่านจะสามารถรวมเป็นสมาธิได้ง่าย คือ เวลาก่อนนอน เวลาหลังตื่นนอน และเวลาพักผ่อนในรอบบ่าย เพราะยิ่งจิตของท่านมีสมาธิมากเท่าใด การสั่งจิตใต้สำนึกก็ยิ่งจะได้ผลมากเท่านั้น โดยอาจจะใช้เวลาปฏิบัติการราวครั้งละอย่างน้อย 10-15 นาที

          10.5 ขั้นตอนอื่น ๆ

                   ขั้นตอนอื่น ๆ ได้แก่ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้ามโนภาพ ดังจะได้นำมากล่าวตามลำดับต่อไป

11.การบริกรรมคาถา

          ในการใช้คาถานี้รักษาโรค ท่านจะต้องเริ่มต้นด้วยตั้งนโมสามจบเพื่อน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนการบริกรรมคาถา โดยเป็นการบริกรรมคาถาในใจ หรืออาจจะออกเสียงในช่วงแรกก็ได้ พอจิตสงบคำบริกรรมคาถาก็จะหายไปเอง

            คาถานี้คือ

             นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ (3 จบ )

              “ทุกขาทุกขัง สุปฏิตัง สัมปจิตฉามิ” บริกรรมในใจไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะสงบ

                    

12.การอธิษฐานจิต            

          การอธิษฐานจิต คือ การกำหนดจิตลงไปให้ชัดเจนว่า เป้าหมายที่เราต้องการคืออะไร ในที่นี้หมายถึง การกำหนดเป้าหมายลงไปว่า เราต้องการจะรักษาโรคอะไร และต้องการผลลัพธ์อย่างไร 

การอธิษฐานจิต อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

12.1 การอธิษฐานจิตรวมทุกโรค       

เป็นการอธิษฐานโดยรวมว่า เราต้องกายให้สุขภาพของเราโดยรวมเป็นอย่างไร และต้องการรักษาโรคอะไรบ้าง

12.2 การอธิษฐานจิตเฉพาะโรค

เป็นการอธิษฐานแยกออกมาทีละโรค เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษา

13. การสั่งจิตใต้สำนึก และการสร้างมโนภาพประกอบ

เป็นการนำคำอธิษฐานจิตมาขยายออกให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดพลังในการปรับพฤติกรรมของเรา เพราะการรักษาโรคเรื้อรัง คนป่วยคือตัวหลักในการปรับพฤติกรรมในการกินอยู่ ส่วนหมอเป็นเพียงคนให้คำนำแนะนำและจ่ายยาให้ตามอาการ

14. ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค การสั่งจิตใต้สำนึก และการสร้างมโนภาพประกอบ

14.1 การอธิษฐานจิตรวมทุกโรค

                ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ  ตลอดจนบารมีแห่งหลวงพ่อฤาษีลิงดำผู้ถ่ายทอดคาถานี้ ขอได้โปรดดลบันดาลให้สุขภาพอนามัยของลูก จงแข็งแรง ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน อายุยืนยาว สามารถเดินทางไปไหนมาได้คล่องแคล่ว ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่นใด แม้มีโรคภัยไข้เจ็บใด (อาจจะระบุชื่อโรคที่เราเจ็บป่วยอยู่ทุกโรค) ขอจงทุเลาเบาบางลง ดีวันดีคืน และหายขาดภายในเร็ววันด้วยเถิด ”

14.2 การสั่งจิตใต้สำนึก และการสร้างมโนภาพประกอบ

                     “ ขอให้ลูกจงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีกำลังวังชาในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เดินทางไปไหนมาได้สะดวก ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น สามารถเลี้ยงตนและครอบครัวให้มีความสุข ตลอดบำรุงพระพุทธศาสนาไปทุกภพทุกชาติจนกว่าจะถึงพระนิพพาน”

                   (ขอให้สร้างมโนภาพว่า เรามีร่างกายแข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานต่าง ๆ ได้เป็นปกติ ตลอดจนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น เพื่อให้จิตใต้สำนึกของเรามีความเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำได้จริง)               

15.ตัวอย่างคำอธิษฐาน การสั่งจิตใต้สำนึกเฉพาะโรค และสร้างมโนภาพประกอบ

          เพื่อให้การรักษาโรคแต่ละโรคมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เราควรจะมีคำอธิษฐานในการรักษา การสั่งจิตใต้สำนึก และการสร้างมโนภาพประกอบแยกออกมาเฉพาะโรค ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างให้ดูบางโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคต้อกระจก โรคปวดเขา และโรคอ้วน

            ในที่นี้ขอทำความเข้าใจเบื้องต้น โรคเรื้อรังหลายโรคมีสาเหตุร่วมกัน คือ การกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล (คาร์โบไฮเดรต) มากจนเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้หรือเผาผลาญได้หมด กลายเป็นน้ำตาล หรือไขมันตกค้างในเลือดมาก เรียกว่า โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง หรืออาจจะเกิดโรคอ้วน เพราะร่างกายใช้น้ำตาลไม่หมด สะสมเป็นไขมัน

          ดังนั้น หากเราควบคุมการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลได้ดี โอกาสที่จะทำให้โรคเบาหวาน โรคไขมัน และโรคอ้วน ตลอดจนโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีอาการทุเลาลงไปเรื่อย ๆ และอาจจะหายขาดในที่สุด

          15.1 โรคเบาหวาน

                   คำอธิษฐาน

                    “ ขอให้โรคเบาหวานของเรามีอาการทุเลาเบาบางลง และหายขาดในเร็ววัน ”

                   การสั่งจิตใต้สำนึก และการสร้างมโนภาพ

                             การสั่งจิตใต้สำนึก

                                  “ ขอให้เรามีวินัยในการควบคุมอาหารการกินประเภทแป้งและน้ำตาล จนทำให้อาการโรคเบาหวานของเราทุเลาเบาบางลง ดีวันดีคืน จนหายขาดในเร็ววัน”  

                             การสร้างมโนภาพ

                                       โดยกำหนดมองเห็นตัวเราเกิดความเบื่อหน่ายในการกินอาหารพวกแป้งและน้ำตาล ไม่กินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเหมือนที่เคยชิน (นึกถึงภาพการลดปริมาณอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลที่เราชอบกินในแต่ละมื้อ)  มีการออกกังกายสม่ำเสมอ และมีการนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ กินยาตามคำสั่งแพทย์ จนมองเห็นอาการของโรคเบาหวานทุเลาลง และระดับน้ำตาลสะสมอยู่ในระดับปกติ พร้อมกับมีการปรับลดยาลงไปตามลำดับจนไม่จำเป็นต้องกินยาอีกต่อไป ภายในระยะเวลาที่เราต้องการ

            15.2 โรคต้อกระจก

                   คำอธิฐาน

                   “ขอให้โรคต้อกระจกของเราทุเลาเบาลบางลง และหายขาดในเร็ววัน”   

                   การสั่งจิตใต้สำนึก

                        เรามองเห็นตัวเราหยอดยาแก้โรคต้อกระจกตามคำสั่งหมออย่างสม่ำเสมอ และมองเห็นอาการของโรคต้อกระจกของเราทุเลาเบาบางลง ดีวันดีคืน  ดวงตาสดใสทั้งสองข้างจนเป็นปกติ สามารถอ่านหนังสือและขับรถยนต์ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีความจำเป็นต้องลอกตาหรือผ่าตัดตาแต่อย่างใด”

                        การสร้างมโนภาพ

                             มองให้เห็นภาพการกระทำของเราในการรักษาโรคต้อกระจก จนอาการทุเลาเบาบางลง และหายขาด

          15.3 โรคปวดเข่า

                   คำอธิษฐาน

                             “ขอให้อาการโรคปวดเข่าทั้งสองข้างของเราทุเลาเบาบาง ดีวันดีคืน และหายขาดเป็นปกติในที่สุด” 

                   คำสั่งจิตใต้สำนึก

                   “ เราตั้งใจรักษาโรคปวดเข่าอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะเรายังต้องการที่จะดำรงชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข และไม่สร้างภาระให้ผู้อื่น เรามองเห็นอาการปวดเข่าของเราทุเลาเบางลงลงทุกวันทุกคืน และเชื่อว่าจะหายเป็นปกติในเร็ววัน เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติหน้าที่การงานและเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ได้”

                   การสร้างมโนภาพ

                   ให้สร้างมโนภาพการกระทำของเราในการบำบัดรักษาโรคปวดเข่า จนมีอาการทุเลาลงและหายขาดในที่สุด

          15.4 โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

                   ในทางการแพทย์ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานตามสัดส่วนของความสูงมาก ๆ ถือว่าป่วยเป็นโรคอย่างหนี่ง โดยทั่วไป หากเอาส่วนสูงตั้ง เอา 100 ลบออกจากส่วนสูง ได้เท่าใด ถือว่า น้ำหนักตัวไม่ควรจะเกินเท่านั้น เช่น นางเป็ดมีอายุ 70 ปี มีส่วนสูง 160 เอา 100 หักออก เหลือ 60 (160-100 = 60)   แสดงว่า นางเป็ดไม่ควรจะมีน้ำหนักตัวมากกว่า 60 กิโลกรัม การที่นางเป็ดมีน้ำหนักมากถึง 70 กิโลกรัม ถือว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และหากปล่อยทิ้งไว้จะนำไปสู่หลายโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง  และโรคปวดเข่า เป็นต้น

                   คำอธิษฐานจิต

                      “ ขอให้น้ำหนักตัวของเราลดจาก 70 กิโลกรัม เหลือเพียง 65 กิโลกรัม ภายในเร็ววัน”

                        คำสั่งจิตใต้สำนึก

                         “ เราตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า จะต้องควบคุมการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้ได้ เราเกิดความเบื่อหน่ายในการกินอาหารประเภทนี้ เพราะมีโทษต่อร่างกายหลายประการ

โดยเราจะกินอาหารเป็นมื้อ ไม่กินจุกจิก เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการเผาผลาญที่เพียงพอ รวมทั้งจะหาเวลาออกกำลังกายประกอบบ้าง เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลงจาก 70 กิโลกรม เหลือเพียง 65 กิโลกรัมในเร็ววัน ซึ่งจะทำให้เราจะได้มีสุขภาพอนามัยร่างกายแข็งแรง และดูแลตนเองในยามสูงวัยได้เป็นอย่างดี”

                        การสร้างมโนภาพ

                             ให้มองเห็นภาพการที่ตัวเรามีความเข้มแข็ง กล้าปฏิเสธการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล โดยลดปริมาณการกินลง เพราะอาหารประเภทนี้จะเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมในร่างกาย ไขมันคือตัวที่ทำให้เราอ้วนและมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน มองเห็นภาพตัวเองมีหุ่นสเลนเดอร์กว่าเดิม และมีความกระฉับกระเฉงในการเดินไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่เรายังไม่มีโอกาสไปเที่ยวชม

16. การประเมินผล

          ในการรักษาโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลายาวนาน จำเป็นต้องมีการติดตามประเมินผล เป็นระยะ ๆ  เพื่อจะได้มีการปรับพฤติกรรมในการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน รวมทั้งการกินยาตามคำสั่งแพทย์

17.สรุป

          บทความ “ พระพุทธจ้ามีคาถารักษาโรคเรื้องให้หายได้หรือไม่” เป็นบทความที่ต้องการนำเสนอคาถารักษาโรคของพระพุทธองค์ตามที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้นำมาถ่ายทอดในการแสดงพระธรรมเทศนา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2534 มีความยาวประมาณ 55 นาที

           คาถานี้คือ “ ทุกขาทุกขัง สุปฏิตัง สัมปจิตฉามิ”

          คาถานี้หลวงพ่อได้มาจากพระพุทธองค์ในขณะเจริญสมาธิเข้าฌาน เป็นคาถาที่ใช้ในการรักษาโรคได้ทุกโรค โดยหลวงพ่อได้ทดสอบในการรักษาโรคเรื้อรังของหลวงพ่อที่ป่วยมาเป็นปี ได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างมาก คือโรคอุจจาระแข็งเป็นก้อนโตตกค้างอยู่ในลำไส้ รักษาอย่างใดก็ไม่หาย จนกระทั่งได้ลองใช้คาถานี้ ทำให้อาการของโรคหายเป็นปลิดทิ้ง

            โรคภัยไข้เจ็บ มีทั้งโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ โรคเรื้อรัง และโรคเรื้อรัง ในบทความนี้ผมได้ให้ความสำคัญกับการนำคาถานี้มาใช้รักษาโรคเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ติดต่อ เพราะเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิตทั้งด้านอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการพักผ่อน  แสดงว่าโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ หน้าที่และบทบาทหลักในการรักษาคือตัวคนป่วยเอง ไม่ใช่แพทย์

            การรักษาโรคเรื้อรังให้หายขาดเป็นเรื่องที่ยากมากและต้องใช้เวลายาวนาน เพราะคนป่วยส่วนใหญ่มักจะขาดวินัยในการควบคุมอาหาร ไม่สามารถบังคับใจตนเองในการกินอาหารแสลงต่อโรคได้ ดังนั้น จึงเห็นว่า หากคนป่วยได้รู้จักการนำคาถานี้ไปเป็นส่วนประกอบในการรักษาโรค ก็น่าจะเกิดผลดี เพราะจะทำให้คนป่วยมีความอดทน และมีกำลังใจในการต่อสู้รักษาโรคเรื้อรังให้ทุเลาและหายขาดในที่สุด

            สำหรับข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นอย่างอื่น กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้

ถาม-ตอบ สนุก กับ ดร.ชา 369

1.ถาม-ตามประสบการณ์ในการใช้คาถานี้รักษาโรค มีอะไรจะเล่าเพิ่มเติม เช่น เกี่ยวกับการนอนหลับ

          ตามประสบการณ์ของผม เมื่อใช้คาถานี้รักษาโรคก่อนนอน จะทำให้คลายความกังวลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่เราป่วยอยู่ และสามารทำให้เราหลับได้โดยง่าย บางครั้งใช้คาถาเพียง  2-3 นาทีก็เผลอหลับไปแล้ว และเมื่อตื่นขึ้นกลางดึก เช่น ตื่นตีสอง และเมื่อใช้คาถานี้สักพัก เราก็หลับได้อีกไม่ยาก จะตื่นอีกทีก็ตอนหัวรุ่ง      

2.ถาม-ทำไมจึงแนะนำให้ใช้คาถานี้รักษาโรคครั้งละโรค

          การที่แนะนำให้ใช้คาถานี้รักษาโรคครั้งละโรค เพราะการรักษาโรคแต่ละโรค เราต้องใช้เวลาในการสั่งจิตใต้สำนึกพร้อมกับสร้างมโนภาพให้สอดคล้องกับการสั่งจิตใต้สำนึกให้แจ่มชัด ไม่ใช่เพียงแต่บริกรรมคาถาแล้วเสร็จไป

3.ถาม-จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้คาถานี้บริกรรมรักษาโรคเฉพาะก่อนนอน หลังตื่นนอน และเวลาพักผ่อนช่วงบ่าย

          การใช้คาถานี้บริกรรมรักษาโรค ปกติควรใช้ในเวลาก่อนนอน หลังตื่นนอน และเวลาพักผ่อนในช่วงบ่าย เพราะเป็นเวลาที่จิตของเราสามารถรวมตัวเป็นสมาธิได้เร็ว อันจะเป็นผลดีในการสั่งจิตใต้สำนึก แต่เราจะเลือกใช้เวลาอื่นใดก็ได้ที่เห็นว่าสะดวกสำหรับเรา

แต่ผมเห็นว่า การใช้คาถานี้น่าจะได้ผลดีในช่วงหลังตื่นนอน เพราะเราสามารถสร้างมโนภาพได้ชัดเจน ไม่เผลอหลับไปก่อนเหมือนตอนการใช้คาถานี้ก่อนนอน

4.ถาม- ทำไมจึงกล่าวว่า การใช้คาถานี้รักษาโรค น่าจะใช้เวลาราวอย่างน้อย 10-15 นาที จึงจะได้ผลดี

          การใช้คาถานี้รักษาโรค น่าจะใช้เวลาราวอย่างน้อย 10-15 นาที เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสั่งจิตใต้สำนึกและสร้างมโนภาพให้แจ่มชัด หากสร้างมโนภาพได้แจ่มชัดเท่าใด การสั่งจิตใต้สำนึกก็จะได้ผลดีเท่านั้น

5.ถาม- การใช้คาถานี้รักษาโรค ปกติจะใช้ในอิริยาบถนอน จะใช้ในอิริยาบถอื่นได้หรือไม่

          หากเราใช้คาถานี้ในเวลาก่อนนอน เวลาหลังตื่นนอน หรือเวลาพักผ่อนในยามบ่าย อิริยาบถที่เราใช้จะเป็นอิริยาบถนอน แต่ถ้าเราใช้คาถานี้ในเวลาอื่น อาจจะเป็นการใช้ในอิริยาถนั่งก็ได้

6.ถาม-พอจะยกตัวอย่างมหัศจรรย์ในการใช้คาถานี้รักษาโรคแล้วได้ผลเร็วได้ไหม

          ก่อนเขียนบทความนี้ ผมมีอาการหน้ามืดตาลายบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว ผมได้ไปพบแพทย์ที่คลินิก แพทย์ให้ยาแก้อาการเวียนศีรษะมาให้กิน 3 สัปดาห์แล้ว แต่อาการของโรคยังทรงตัวอยู่ ไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่แย่ลง

            จนกระทั่งเมื่อเช้าวันที่ 12 กันยายน 2566 หลังจากได้ตื่นนอนขึ้นมา ผมได้ทดลองใช้คาถานี้รักษาโรคเวียนศีรษะ โดยอธิษฐานขอให้หายปลิดทิ้ง ใช้เวลาราว 15 นาที โดยรำลึกถึงพระพุทธคุณ และบุญบารมีของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ปรากฏว่า เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะหลังจากนั้น ผมไม่มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายอีกเลย และไม่ต้องไปพบแพทย์ตามนัด

7.ถาม- การใช้คาถานี้รักษาโรคเรื้อรังแล้วเห็นผลดี น่าจะเกิดจากสาเหตุใด

          การใช้คาถานี้รักษาโรคเรื้อรังแล้วเห็นผลดี น่าจะเกิดจากพระพุทธคุณ และบุญบารมีของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งที่มีบุญบารมีมาก ช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงเร็ว

8.ถาม- นอกจากโรคเรื้อรังแล้ว โรคร้ายแรงแต่ไม่เรื้อรัง คาถานี้สามารถใช้รักษาได้ไหม

          นอกจากโรคเรื้อรังแล้ว หลวงพ่อฤาษีลิงดำยืนยันว่า สามารถรักษาได้ทุกโรค รวมทั้งโรคร้ายแรงแต่ไม่เรื้อรัง เว้นแต่จะเลยระยะเวลาของการรักษาให้ได้ผลดีก็อาจจะไม่ได้ผล เพราะโรคร้ายแรงแต่ไม่เรื้อรัง ต้องอาศัยความสามารถของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก ไม่ใช่สิ่งที่คนป่วยจะทำได้เอง เช่น การผ่าตัด

            แต่มิได้หมายความว่า ควรใช้คาถานี้รักษาโรคแทนการรักษาโดยแพทย์ การรักษาโดยแพทย์ยังคงต้องทำต่อไป และเราใช้คาถานี้เสริมเข้ามาเพื่อช่วยให้การรักษาโดยแพทย์ได้ผลดียิ่งขึ้น

9.ถาม- การรักษาโรคด้วยคาถานี้กับการรักษาโรคด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกแบบตะวันตก แบบใดน่าจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า เพราะเหตุใด

          การรักษาโรคด้วยคาถานี้แตกต่างไปการรักษาโรคด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกแบบตะวันตกในแง่ที่ว่า การรักษาโรคด้วยคาถานี้น่าจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า เพราะเป็นการรักษาที่อาศัยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ รวมทั้งบุญบารมีของหลวงพ่อฤาษีลิงดำเข้ามาเสริมพลังจิตใต้สำนึกของเรา  ส่วนการรักษาโรคด้วยการสั่งจิตใต้สำนึกแบบตะวันตก เป็นการสั่งจิตใต้สำนึกด้วยพลังจิตของตนเองเท่านั้น

            อย่างไรก็ดี อาจจะมีผู้โต้แย้งว่า การรักษาแบบตะวันตกมีการอ้างเอาพลังจักรวาลเข้ามาเสริมด้วย

                   ดร.ชา 369

14/09/23

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: