“ความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้: การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทย” เป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด เรื่องเล่า ระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื้อหาประกอบด้วย ความนำ ความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้ คืออะไร ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจอังกฤษ ระบบและกลไกถ่วงดุลถ่วงดุลอำนาจตำรวจญี่ปุ่น ข้อคิดจากระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจอังกฤษ และญี่ปุ่น วิเคราะห์จุดอ่อนระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยในปัจจุบัน ข้อพิจารณาในการสร้างระบบและถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยขึ้นใหม่ สรุปและข้อเสนอแนะ และถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
1.ความนำ

ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่หลายท่านรอคอยมาเป็นเวลานาน ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ส่วนเนื้อหาจะตอบโจทย์ที่ประชาชนต้องการหรือไม่ เพียงใด อีกไม่นานก็คงจะมีนักวิชาการหรือผู้รู้หลายท่านออกมาแสดงความคิดเห็น
ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสนใจกฎหมายปฏิรูปตำรวจไทยไม่น้อยกว่าหลาย ๆ ท่าน เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในการดำเนินคดีอาญา แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบชองรัฐสภาจะมีเนื้อหามุ่งไปในทิศทางใด ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด
การที่จะทราบว่าได้ว่า เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มีเนื้อหาในการจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์หรือไม่ เพียงใด จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับระบบตำรวจของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหพันธรัฐเยอรมนี เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจ
ในบทความนี้ มุ่งที่จะนำเสนอระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจของสองประเทศ คือ อังกฤษ และญี่ปุ่น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยในลำดับต่อไป
2.ความยุติธรรมที่จับต้องได้ คืออะไร
ความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้ หมายถึงความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมที่ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะยากดีหรือมีจนเพียงใด ซึ่งอาจจะเรียกว่า ความเป็นธรรมที่อยู่แค่เอื้อม หรืออยู่ไม่ห่างไกล
ในการดำเนินคดีอาญา ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ก็คือ ขั้นตอนสอบสวน เพราะเป็นขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนหรือตำรวจว่า ผู้ต้องหาได้มีการกระทำความผิดทางอาญาจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตาม พยานหลักฐานอะไร
การสอบสวนคดีอาญาถือเป็นขั้นแรกของกระบวนการยุติธรรม หากขั้นตอนแรกไม่เป็นธรรมเสียแล้ว จะหวังให้ขั้นตอนอื่น ๆ เป็นธรรมคงจะยาก
หากการดำเนินการของพนักงานสอบสวนไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ก็อาจจะทำให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีเสนอไปยังพนักงานอัยการ และหากพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี ก็จะทำให้ผู้ต้องหานั้น ตกเป็นจำเลยต่อศาล ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลายาวนานในการต่อสู้ในชั้นศาล อาจเป็นเวลายาวนานร่วม 10 ปี กว่าคดีถึงจะสิ้นสุดเพราะอาจต้องต่อสู้กันถึงสามชั้นศาล ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความทรมานใจของผู้ตกเป็นจำเลยมากทีเดียว

ดังนั้น หากประชาชนผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนหรือตำรวจ มีความรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับความยุติธรรม ก็ควรจะมีระบบและกลไกในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ ที่ทำให้ประชาชนสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้สะดวกและอยู่ใกล้ตัว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถปฏิบัติได้ง่าย น่าไว้วางใจและเชื่อใจได้
ความเป็นธรรมที่ประชาชนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะยากดี มีหรือจน สามารถเข้าถึงหรือจับต้อง ควรจะมีองค์ประกอบ อย่างน้อย 5 ประการ คือ
2.1 ความสะดวกและการอยู่ใกล้ตัว
2.2 การประหยัดเวลา
2.3 การประหยัดค่าใช้จ่าย
2.4 ความสามารถปฏิบัติได้ง่าย
2.5 ความน่าไว้วางใจและเชื่อถือได้
3.ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจอังกฤษ
อังกฤษหรือ สหราชอาณาจักร เป็นประเทศรัฐเดี่ยวที่เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค ดังนั้น ระบบตำรวจอังกฤษจึงเป็นระบบตำรวจท้องถิ่น ไม่ใช่ระบบตำรวจแห่งชาติ แต่มิได้หมายความว่า ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารงานตำรวจโดยสิ้นเชิง เพราะต้องมีการถ่วงดุลอำนาจตามระบบไตรภาคี

ระบบไตรภาคี
ระบบไตรภาคี เป็นระบบถ่วงดุลอำนาจตำรวจท้องถิ่นของอังกฤษ โดยมีกลไกที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ตัวแทนประชาชนในท้องถิ่น และองค์กรตำรวจท้องถิ่น
3.1 รัฐบาล ผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของตำรวจท้องถิ่น และจะต้องรายงานผลต่อรัฐสภา โดยมีอำนาจในการสั่งการไปยังผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต และหัวหน้าตำรวจประจำเขต
กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้จัดสรรงบประมาณประจำปีให้ตำรวจท้องถิ่นเขตต่าง ๆ ให้เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่
3.2 ตัวแทนประชาชนในท้องถิ่น คือ ผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต
ในแต่ละเขตตำรวจ ประชาชนจะเป็นผู้เลือกตั้งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติงานของตำรวจประจำเขต อยู่ในวาระ 4 ปี ตำแหน่งนี้คือ ผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต (Police and crime commissioner) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าตำรวจประจำเขต ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เดิมอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตำรวจท้องถิ่น (Police authority) ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตตำรวจแต่ละเขตเป็นผู้เลือกเข้ามา
3.3 องค์กรตำรวจท้องถิ่น ผ่านทางหัวหน้าตำรวจประจำเขต
องค์กรตำรวจท้องถิ่น มีหัวหน้าตำรวจ (Chief constable) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยจะต้องรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต
การเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าตำรวจประจำเขต เป็นไปตามสัญญาจ้าง
4.ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจระบบตำรวจญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น เป็นรัฐเดี่ยวที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แม้ในปัจจุบันไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค แต่เป็นประเทศที่เคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคมาก่อน เพิ่งยกเลิกภายหลังการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
ระบบตำรวจญี่ปุ่น เป็นระบบตำรวจแห่งชาติที่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก กล่าวคือ มีกองกำลังตำรวจของจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง
ระบบและกลไกในการถ่วงดุลอำนาจของตำรวจญี่ปุ่น
4.1 การถ่วงดุลอำนาจตำรวจญี่ปุ่นในระดับชาติ
การถ่วงดุลอำนาจตำรวจญี่ปุ่นในระดับชาติ เป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรี รัฐสภา คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ
นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติภายใต้ความเห็นชอบของรัฐสภา
คณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ เป็นผู้แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้วยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี
ในการบริหารงานตำรวจระดับชาติ คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ (ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี) เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารงานตำรวจ ร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ
ข้อสังเกต-สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุน มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขึ้นตรงราว 7,000-9,000 นาย ไม่มีอำนาจในการสืบสวนสอบคดีอาญา มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยแก่พระราชวงศ์ วางระบบ ออกกฎเกณฑ์ และพัฒนาบุคลากรตำรวจ ส่วนอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา เป็นอำนาจของตำรวจมหานครโตเกียว และตำรวจจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีกองกำลังตำรวจเป็นของตนเอง
4.2 การถ่วงดุลอำนาจตำรวจญี่ปุ่นในระดับมหานครและจังหวัด
4.2.1 ตำรวจมหานครโตเกียว

ผู้ว่าราชการมหานครโตเกียว ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะมหานครโตเกียว ภายใต้ความเห็นชอบของสภามหานครโตเกียว
คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติยังมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจมหานครโตเกียว ภายใต้ความยินยอมของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะของมหานครโตเกียว ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี
ในการบริหารงานตำรวจมหานครโตเกียว คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะมหานครโตเกียว (ไม่ใช่ผู้ว่าราชการมหานครโตเกียว) จะบริหารงานตำรวจร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจมหานครโตเกียว โดยอำนาจในการตัดสินใจเป็นของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะมหานครโตเกียว
4.2.3 ตำรวจจังหวัดต่าง ๆ
คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าตำรวจจังหวัดต่าง ๆ ภายใต้ความยินยอมของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด ด้วยความเห็นชอบของสภาจังหวัด
คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด (ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด) จะมีอำนาจในการบริหารงานตำรวจร่วมกับหัวหน้าตำรวจจังหวัด โดยอำนาจในการตัดสินใจเป็นของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด
อาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความข้างล่างนี้
– ระบบตำรวจญี่ปุ่น-ระบบตำรวจแห่งชาติที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ข้อควรทราบเพิ่มเติม
คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะมหานครโตเกียว และคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด ซึ่งเป็นคณะบุคคลผู้มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารตำรวจ เป็นคณะบุคคลที่มีความเป็นกลางในทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้การบริหารงานตำรวจของญี่ปุ่น ทั้งระดับชาติ ระดับมหานครโตเกียว และระดับจังหวัด เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ปราศจากการแทรกแซงในทางการเมือง
แต่คณะกรรมการดังกล่าว จะไม่มีอำนาจแทรกแซงในการสอบสวนคดีอาญา เป็นเรื่องของตำรวจโดยตรง
5.ข้อคิดจากระบบและกลไกการถ่วงดุลอำนาจตำรวจอังกฤษ และญี่ปุ่น
แม้อังกฤษและญี่ปุ่น ต่างเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค แต่ใช้ระบบตำรวจคนละระบบ กล่าวคือ ระบบตำรวจอังกฤษ เป็นระบบตำรวจท้องถิ่น ส่วนญี่ปุ่นเป็นระบบตำรวจแห่งชาติที่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ทั้งระบบตำรวจอังกฤษและระบบตำรวจญี่ปุ่น ต่างมีระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองของตน เพื่อป้องกันมิให้อำนาจตำรวจมีอิสระมากจนเกินไป เพราะหากตำรวจมีอำนาจอิสระมากจนเกินขอบเขต ย่อมจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของตำรวจ
6.วิเคราะห์จุดอ่อนของระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจของไทยในปัจจุบัน
นับตั้งแต่กรมตำรวจได้แยกออกไปจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อปีพ.ศ.2541 ระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างตำรวจและฝ่ายปกครองที่เคยมีอยู่เมื่อครั้งเคยเป็นกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยข้อเท็จจริง ดังนี้
6.1 สักนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็นส่วนภูมิภาค
ผลที่ตามมาคือ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ไม่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป
6.2 ข้อบังคับหรือระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการถ่วงดุลอำนาจระหว่างตำรวจและฝ่ายปกครองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงนามไว้ ไม่สามารถใช้บังคับได้อีกต่อไป เพราะตำรวจไม่ได้เป็นกรมตำรวจซึ่งอยู่ในอำนาจกระทรวงมหาดไทยแล้ว
6.3 ยังไม่มีการออกกฎกระทรวง ข้อบังคับ หรือระเบียบอื่นใดมาใช้แทนข้อบังคับหรือระเบียบกระทรวงมหาดไทยตามข้อ 6.2
ด้วยผลสืบเนื่องต่อจากข้อ 6.1,6.2 และ 6.3 จึงทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของตำรวจ ไม่สามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอท้องที่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 24 ปี
7.ข้อพิจารณาในการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจไทยขึ้นใหม่

การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอารยประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นหลักประกันในการให้ความคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในการสอบสวนคดีอาญา แต่จะสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจอย่างไรนั้น แต่ละประเทศต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นระบบใหญ่ ในขณะที่ระบบตำรวจเป็นระบบย่อย
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐเดี่ยว ที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง มีการปกครองส่วนภูมิภาค ไม่มีหน่วยงานใดที่มีความเหมาะสมและขีดความสามารถในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจเท่ากับกระทรวงมหาดไทย ด้วยข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และเหตุผล ดังนี้
7.1 อำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย
ตามวิกิพีเดีย กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การอาสารักษาดินแดน การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและการพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมือง ตลอดจนราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย
7.2 ขอบเขตอำนาจ และเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่มีขอบเขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร และมีเครือข่ายอำนาจครอบคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ลงไปจนถึงตำบลหมู่บ้าน
7.3 การมีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการเชื่อมโยงกับประชาชนในตำบลหมู่บ้านโดยตรง
ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมทั้งปลัดอำเภอ สามารถเชื่อมโยงกับประชาชนในพื้นที่ได้โดยตรงผ่านทางตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ดังนั้น ย่อมสามารถรับทราบปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนได้ดี
7.4 การมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครองในการสอบสวนคดีอาญา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้วางหลักให้พนักงานปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และปลัดอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญา ซึ่งได้เกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตน ( ป.วิ.อาญา มาตรา 2 และมาตรา 18)
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่
ในส่วนที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองในส่วนกลาง ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้อำนวยการกอง(สำนัก)สอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานในกอง(สำนัก)การสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
ในส่วนที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
7.5 การมีประสบการณ์และขีดความสามารถในการสอบสวนคดีอาญาและถ่วงดุลอำนาจตำรวจของพนักงานฝ่ายปกครอง
พนักงานฝ่ายปกครองมีประสบการณ์ในการสอบสวนคดีอาญาและถ่วงดุลอำนาจตำรวจมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่เมื่อครั้งมีการปฏิรูประเบียบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ เมื่อปีพ.ศ.2435 จนกระทั่งปัจจุบัน กล่าวคือ เดิมอำนาจสอบสวนอยู่ที่อำเภอหรือฝ่ายปกครอง ต่อมาได้มีการออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้อำนาจสอบสวนอยู่กับตำรวจบ้าง อำเภอบ้าง หรือใช้อำนาจร่วมกันบ้าง แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลแต่ละยุค
ยิ่งกว่านั้น กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองได้มีการฝึกอบรมพนักงานฝ่ายปกครองในหลักสูตรต่าง ๆ ให้นายอำเภอและปลัดอำเภอ มีความรู้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญามาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากบทบาทของฝ่ายปกครองในยุคปัจจุบันที่ปรากฏทางสื่อสารมวลชนหลายแขนงเป็นระยะ ๆ อย่างเช่น โทรทัศน์ ที่ฝ่ายปกครองมีชุดเฉพาะกิจถ่วงดุลอำนาจตำรวจในการจับกุมดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดในเรื่องของการค้ามนุษย์ สถานบริการ และการพนัน รวมทั้งการบุกรุกทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติ
ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า ฝ่ายปกครองจะมีขีดความสามารถในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาถ่วงดุลอำนาจตำรวจได้หรือไม่ เพียงใด
7.6 รูปแบบของการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ
เมื่อครั้งกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ออกข้อบังคับกระทรวงวางรูปแบบการถ่วงดุลอำนาจตำรวจของฝ่ายปกครองในการสอบสวนคดีอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร สรุปได้ดังนี้
7.6.1 การร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม
ให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือนร้อนจากการใช้อำนาจของตำรวจในการสอบสวนคดีอาญา ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอท้องที่
7.6.2 อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในการพิจารณาให้ความเป็นธรรม
เมื่อได้รับคำร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ มีอำนาจในการเรียกสำนวนสอบสวนจากตำรวจมาดู และพิจารณาสั่งการตามความเหมาะสมได้ หรืออาจสั่งเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ หรืออาจแต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าร่วมสอบสวน หรืออาจเข้าควบคุมการสอบสวนด้วยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเอง
7.7 การคลายทุกข์หรือปลดทุกข์ ณ สถานที่เกิดเหตุได้ทันที
การให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ จะทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่อยู่นอกเหนือสำนวนสอบสวนของตำรวจจากกำนันผู้ใหญ่บ้านท้องที่ ตลอดจนผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วใช้อำนาจสั่งการเพื่อคลายทุกข์หรือปลดทุกข์ให้แก่ประชาชนได้ทันที ทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี
7.8 การแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการคลายทุกข์แก่ประชาชน
หากรัฐบาลมอบความไว้วางใจตามหลักแบ่งและมอบอำนาจ (Deconcentration) ให้กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศ มีอำนาจในการตัดสินใจแทนส่วนกลางซึ่งกำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาความทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการใช้อำนาจสอบสวนไม่เป็นธรรมของตำรวจ ก็จะสามารถจบสิ้นลงได้ในระดับจังหวัด หรืออำเภอได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนกลางไม่ต้องแบกภาระและปัญหาความทุกข์เดือดร้อนของประชาชนไว้ที่ตนอีกต่อไป จะได้มีเวลาไปคิดวางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะไม่ต้องเสียเวลากับปัญหาที่ควรจะให้จบได้ในระดับจังหวัดหรืออำเภอ เช่น ปัญหาความมั่นคงของชาติที่เกี่ยวกับการแทรกแซงของชาติมหาอำนาจ ปัญหาน้ำมันแพง ปัญหาสินค้าราคาแพง เป็นต้น
7.9 การสร้างกระแสคะแนนความนิยมให้แก่รัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2566
ผมคิดว่า หากรัฐบาลตัดสินใจสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจและฝ่ายปกครอง โดยรีบด่วนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 เรื่องนี้น่าจะสร้างกระแสความนิยมให้แก่รัฐบาลได้ไม่น้อย เพราะเท่ากับรัฐบาลยอมเปิดใจให้ระบบตำรวจไทยมีการถ่วงดุลอำนาจจากฝ่ายปกครองหรือกระทรวงมหาดไทยเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้ ไม่มีเงินในการจ้างทนายดังเพื่อต่อสูคดี
วิธีการก็ไม่ยากอะไร เพียงแค่เสนอกฎกระทรวงว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจตำรวจและฝ่ายปกครอง ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็จบแล้ว เท่านี้หนังสือพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ ก็ออกข่าวพาดหัวประโคมเป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่ง ทุกช่องและทุกฉบับอย่างแน่นอน
8.สรุปและข้อเสนอแนะ
ผมเชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างตำรวจและฝ่ายปกครองอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่า คงจะถูกใจตำรวจส่วนใหญ่ของประเทศไทย
แต่ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจใจในการคลายทุกข์หรือปลดทุกข์ให้แก่ประชาชนในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครอันเกิดจากการใช้อำนาจในการสอบสวนคดีอาญาไม่เป็นธรรมของตำรวจ ก็ย่อมสามารถทำได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว ไม่ต้องเสนอกฎหมายผ่านสภาให้ยุ่งยาก เพียงแค่ตัดสินใจออกกฎกระทรวงว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบ เพียงแค่นี้ก็จบแล้ว
การออกกฎกระทรวงว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองดังกล่าว จะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมที่อาจจับต้องได้ อยู่แค่เอื้อมหรือไม่อยู่ห่างไกล ตามองค์ประกอบ 5 ประการที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นในหัวข้อที่ 2 คือ สะดวกและอยู่ใกล้ตัว ปฏิบัติง่าย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช่จ่าย ไว้วางใจได้และเชื่อถือได้
หากจะทำก็ขอให้รีบทำ เดี๋ยวจะไม่ทันกับสร้างกระแสคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 นะครับ ลำพังแก้ไขรัฐธรรมนูญในการคำนวณ จำนวนราษฎรพึงมีต่อการมีส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อหนึ่งคน ด้วยการใช้ 500 หารแทนที่จะเป็น 100 หาร อาจจะไม่เพียงพอ
สำหรับข้อมูลและข้อคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
เพื่อให้สามารถเติมเต็มในส่วนของข้อมูลและความคิดเห็นที่อาจจะยังขาดอยู่ในบทความให้ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องมี ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดในการสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจ
ตอบ-ในสังคมประชาธิปไตย มีความจำเป็นมากที่ต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมให้แก่ประชาชน ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งหลาย เช่น สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐเยอรมนี อังกฤษหรือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ล้วนมีระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจด้วยกันทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่มีระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม ตำรวจย่อมมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส
ถาม- การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจ ทำไมแต่ละประเทศจึงมีระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจแตกต่างกัน
ตอบ- การสร้างระบบและกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจของแต่ละประเทศ ต้องสอดคล้องกับรูปแบบการปกครองประเทศของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศที่เป็นรัฐรวม ประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองส่วนภูมิภาค ประเทศรัฐเดี่ยวที่ไม่เคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคมาก่อน และประเทศรัฐเดี่ยวที่เคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคแต่ได้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาคไปในภายหลัง
ถาม- ระบบตำรวจอังกฤษ เป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างใครกับใคร
ตอบ-เป็นการถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย ตามระบบไตรภาคี คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจการตำรวจและอาชญากรรมประจำเขต ซึ่งได้มาจากการเลือกตั้ง และหัวหน้าตำรวจประจำเขต ซึ่งได้มาตามสัญญาจ้าง
ถาม-ระบบตำรวจญี่ปุ่น เป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างใครกับใคร
ตอบ- ในระดับชาติ เป็นการถ่วงดุลระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐสภา คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ เป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารงานตำรวจระดับชาติ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีบทบาทเฉพาะตอนแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ตามมติรัฐสภา และให้ความเห็นขอบในการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคือคณะกรรมการฯ
ในระดับจังหวัด เป็นการถ่วงดุลระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้ง กับสภาจังหวัด คณะกรรมการความปลอดภัยจังหวัดกับหัวหน้าตำรวจจังหวัด โดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารงานตำรวจจังหวัด ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีบทบาทเฉพาะตอนแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ตามมติสภาจังหวัด
ถาม- กรณีประเทศไทย ทำไมจึงคิดว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานเดียวที่มีศักยภาพและความเหมาะสมในการถ่วงดุลอำนาจตำรวจ
ตอบ-กระทรวงมหาดไทยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวางทั่วราชอาณาจักรไทย และเป็นเสาหลักในการปกครองส่วนภูมิภาคของไทยผ่านตำแหน่งหลักคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนปลัดอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงมีพลังอำนาจมากพอจะเป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจตำรวจได้ เพราะหากไม่มีความ เข้มแข็งหรือพลังอำนาจมากพอ การถ่วงดุลก็จะไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ได้ผล ประชาชนก็จะหมดความหวังและหมดศรัทธาในระบบราชการ
ถาม-ทำไมจึงเชื่อว่า หากให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจแทนส่วนกลาง กรณีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนคดีอาญาของตำรวจ จะสามารถคลายทุกข์หรือปลดทุกข์ให้แก่ประชาชนได้ทันที
ตอบ- เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ เป็นผู้ปกครองพื้นที่ ย่อมแสวงหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในคดีอาญา ที่อาจจะแตกต่างจากสำนวนการสอบสวนที่ตำรวจทำขึ้นมาได้ การได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่อาจจะแตกต่างกัน ย่อมจะสามารถสั่งการให้การสอบสวนเป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้
เพียงเท่านี้ ประชาชนก็คลายทุกข์หรือปลดทุกข์ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลา และเงินทองจำนวนมากไปร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจากผู้มีอำนาจในส่วนกลางเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ยุติธรรมดี่ที่สุดในปัตตุยันนี้ค่ะอาจารย์
ความยุติธรรม สร้างได้ไม่ยากใช่ไหม หากมีความจริงใจต่อประชาชน
ได้อ่านบทความท่านอาจารย์แล้ว ชี้ให้เห็นไดัอย่างชัดแจงว่า การเปิดช่องให้มีการถ่วงดุลย์อำนาจของตำรวจ จะเป็นการกระจายความเป็นธรรมให้ถึงมือประชาชนได้ในทันที เป็นความเป็นธรรมที่ประชาชนเข้าถึงและจับต้องได้ เพียงแค่ออกกฎกระทรวงฯ ประชาชนทั้งประเทศ65 ล้านคน ได้รับประโยชน์ทันที ครับ
อาจารย์ก็หวังว่า รัฐบาลน่าจะตัดสินใจเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ยากเลย แค่ออกกฎกระทรวงฉบับเดียว ก็จบแล้ว
หลังจากอ่านบทความ ทำให้เห็นภาพไดัชัดเจนว่า ระบบตำรวจไทยยังไม่มีการถ่วงดุลย์อำนาจตามหลักสากล
นั่นสินะ เรื่องสำคัญเช่นนี้ผู้มีอำนาจ สมควรจะเร่งรีบแก้ไข คนทั้งประเทศเขารอคอยมานานแล้ว