รัฐปีนัง มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 15 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ ประวัติความเป็นมาของปีนัง ตำแหน่งที่ตั้งของปีนัง ข้อมูลเบื้องต้น รูปแบบการปกครองของปีนัง สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ผมได้เขียนบทความเรื่องเล่า เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียมาแล้วจำนวน 4 บทความ โดยในบทความ (8) ประเทศ มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองแตกต่างจากไทย ได้กล่าวถึง รูปแบบการปกครองรัฐ (State Government) การปกครองรัฐจำนวน 13 แห่ง เปรียบเสมือนรัฐบาลเล็ก ๆ ที่อยู่ในประเทศใหญ่ โดยใช้โครงสร้างเดียวกันกับรัฐบาลระดับชาติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
รัฐใดที่มีสุลต่านหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐ ซึ่งมีอยู่จำนวน 9 รัฐ รัฐบาลแห่งรัฐ มีมุขมนตรีแห่งรัฐ (Menteri Besar) เป็นหัวหน้ารัฐบาลของรัฐ ด้วยการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด
รัฐใดที่ไม่มีสุลต่านหรือเจ้าผู้ปกครองรัฐ ซึ่งมีอยู่จำนวน 4 รัฐ ได้แก่ ปีนัง มะละกา ซาบาห์ และ ซาราวัค มีผู้ว่าการรัฐ (Ketua Besar) เป็นประมุขของรัฐ และหัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐ (Chief minister) รับผิดขอบในการบริหาร
แต่ละรัฐมีอิสระจากการบริหารจากรัฐบาลกลางตามสมควร มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลด้านศาสนา ประเพณี สังคม เกษตรกรรม การคมนาคมภายในรัฐ ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การทหาร ความมั่นคง ตุลาการ การเงิน และเศรษฐกิจมหภาค อยู่ในอำนาจของรัฐบาลกลาง
สำหรับบทความนี้ มุ่งที่จะนำเสนอเรื่องราวของรูปแบบการปกครองของรัฐนี้ ซึ่งเป็นรัฐสำคัญของมาเลเซีย และเป็นรัฐที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำ ผมขอใช้คำว่า เกาะหมาก สลับกับคำว่า ปีนัง
2.ประวัติความเป็นมาของปีนัง
ตามวิกิพีเดียประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของรัฐนี้ เริ่มต้นในศตวรรษที่ 18 ราวปีค.ศ.1770-1780 ฟรานซิส ไลท์ (Fransis Light) ได้รับมอบหมายจากบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตน ให้เดินทางมาเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับคาบสมุทรมลายู โดยได้แวะลงที่รัฐเคดาห์ (Kedah) หรือไทรบุรี ซึ่งในเวลานั้น เป็นรัฐในอารักขาของสยาม (Siamese vassal state)

เนื่องจากสุลต่านรัฐเคดาห์กลัวภัยคุกคามทั้งจากภายนอกและภายใน ฟรานซิส ไลท์ จึงให้สัญญาว่า จะใช้กำลังทหารบริเตนปกป้องคุ้มครอง ดังนั้น สุลต่าน มูหะหมัด จิวา ไซแนล อะดิลิน ที่ 2 (Sultan Muhammad Jiwa Zainal Adilin II) จึงยอมยกเกาะหมากให้แก่บริเตน
เมื่อปีค.ศ.1786 บริษัทอินเดียตะวันออกสั่งให้ ฟรานซิส ไลท์ แยกเกาะหมาก ออกจากรัฐ เคดาห์ สุลต่านองค์ใหม่ของรัฐเคดาห์ คือ อับดุลลาห์ มูคาร์ราม ชาห์ (Abdullah Mukarram Shah) ยอมตกลงเพื่อแลกกับการได้กำลังทหารบริเตนคุ้มครอง และฟรานซิส ไลท์ตั้งเมืองจอร์จ ทาวน์ ขึ้นมา ถือเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของรัฐนี้
อนึ่ง ยูเนสโก ได้ยกย่องให้เมืองจอร์จ ทาวน์เป็นแหล่งมรดกโลก (UNESCO World Heritage Site)
เกาะหมาก ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงช่องแคบ (Straits Settlement) เมื่อปีค.ศ.1826 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1867 โดยในช่วงแรก บริเตนให้ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจอร์จทาวน์ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่สิงคโปร์ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น ฟรานซิส ไลท์และคณะผู้กล้าก็ได้เดินทางไปสู่เกาะหมาก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 และได้ยึดการครอบครองเกาะหมากอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 1789 แต่สุลต่านรัฐเคดาห์ได้พยายามจะยึดเอาเกาะหมากคืน ในปีค.ศ.1791 แต่ก็ต้องประสบความปราชัย ทำให้ต้องยอมจ่ายเงินรายปี 6,000 ดอลลาร์สเปนให้แก่บริเตน
เมื่อปีค.ศ.1800 เซอร์ จอร์จ ลีธ (George Leith) ผู้ว่าการเกาะหมาก ได้ขยายเขตข้ามช่องแคบปีนังไปยังแผ่นดินใหญ่ ตรงบริเวณที่เรียกว่า จังหวัดเวลเลสลีย์ (Province Welleslley) ปัจจุบัน คือ เซเบรัง เปไร (Seberang Perai) โดยสุลต่านรัฐเคดาห์ยอมตกลงให้บริเตนครอบครอง และค่าเงินรายปีที่รัฐเคดาห์ ต้องจ่ายให้บริเตน ต้องเพิ่มจากปีละ 6,000 ดอลลาร์สเปน เป็นปีละ 10,000 ดอลลาร์ และทุกวันนี้ รัฐบาลมาเลเซียต้องจ่ายเงินให้แก่รัฐนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ปีละ 10,000 ริงกิต
3.ตำแหน่งที่ตั้งของรัฐ
ปีนัง ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทร มลายา อยู่ติดกับช่องแคบมะลากา
รัฐนี้ แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน คือ
2.1 เกาะหมาก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง คือ จอร์จ ทาวน์ (George Town City)
2.2 เซเบรัง เปไร (Seberang Perai) ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายา หรือแผ่นดินใหญ่นั่นเอง
มีสะพานยาวข้ามทะเลเชื่อมเกาะหมากกับเซเบรัง เปไร จำนวน 2 สะพาน คือ
สะพานแรก คือ สะพานปีนัง (Penang Gridge)
สะพานที่สอง คือ สะพานสุลตาน อับดุล หะลิม มูดซัม ชาห์ (Sultan Abdul Halim Muadzam Shah) ซึ่งปัจจุบันเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รัฐนี้เป็นรัฐที่มีพื้นที่เล็กเป็นอันดับสองของมาเลเซีย
ทิศเหนือและทิศตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐเคดาห์
ทิศใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐเปรัก (Perak)
4.ข้อมูลเบื้องต้น
มีข้อมูลเบื้องต้นที่น่าสนใจของรัฐนี้ ดังนี้
4.1 พื้นที่ 1,048 ตร.กม. ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นเกาะปีนัง 293 ตร.กม. และส่วนที่เป็นเซเบรัง เปไร 751 ตร.กม.
4.2 ประชากร มีประชากรเมื่อปี ค.ศ.2018 จำนวนราว 1,767,000 คน
4.3 ความหนาแน่นของประชากร คิดเป็น 1,684 คน/ ตร.กม. ซึ่งนับเป็นรัฐทีมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองมากที่สุดรัฐหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซเบรัง เปไร นับเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่สองของประทศ
4.4 เชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา
เป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม กล่าวคือ นอกจากสามเชื้อชาติหลักได้แก่ มาเลย์ จีน และอินเดีย ยังมีเชื้อชาติผสมเอเชียและยุโรป ไทย และเชื้อชาติอื่น ๆ
ในด้านศาสนา ประกอบด้วย ผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 44.63 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 35.63 ศาสนาฮินดู ร้อยละ 8.70 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 5.13 และศาสนาพื้นเมืองของคนจีนร้อยละ 4.55
4.5 เศรษฐกิจ
แม้มีขนาดเล็ก แต่รัฐนี้ก็มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ยังมีอัตราตกงานต่ำที่สุด และเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักลงทุนจากต่างประเทศ
4.6 การท่องเที่ยว
รัฐนี้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของมาเลเซีย ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วม 8.6 ล้านคน
5.รูปแบบการปกครอง
5.1 รัฐธรรมนูญ
การปกครองรัฐนี้ นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐมาเลเซียแล้ว ยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของรัฐ ปี 1957 รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 18 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายได้แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อปี 2007 รัฐธรรมนูญของรัฐนี้ แยกออกเป็น 5 ส่วน จำนวน 42 มาตรา โดยรัฐธรรมนูญ ฯ กำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำรัฐ แต่ก็ให้เสรีภาพแก่ประชาชนที่จะเลือกนับถือศาสนาอื่นได้
5.2 ประมุขของรัฐ
ประมุขของรัฐ คือ ผู้ว่าการรัฐ หรือยังดี เปอร์ตัว เนเกริ (Yang di-Pertua Negeri)
ตำแหน่งประมุขของรัฐ ได้มาจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย มีอำนาจหน้าที่หลักในทางด้านสัญลักษณ์และพิธีการ
5.3 รัฐบาลของรัฐ
รัฐบาลของรัฐ เรียกว่า สภาบริหารรัฐ (Penang state government council) และมีหัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐ (Chief Minister) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร ร่วมกับสภาฝ่ายบริหารของรัฐ
(Penang State Executive Council)
หัวหน้ารัฐบาลของรัฐนี้เป็นเพียงรัฐเดียวของมาเลเซีย ที่เป็นคนเชื้อสายจีนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1957
5. 4 สภานิติบัญญัติของรัฐ
สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐได้มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายเกี่ยวกับวัฒนธรรมมาเลย์ ที่ดิน การเกษตร ป่าไม้ การปกครองส่วนท้องถิ่น งานด้านชลประทาน การบริหารรัฐ

นอกจากนี้สภานิติบัญญัติของรัฐ ยังมีอำนาจร่วมกับรัฐบาลกลางมาเลเซียในด้านสวัสดิการสังคม การพิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติ งานทางด้านวิชาการ การทำฟาร์ม การวางผังเมือง การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล การสาธารณสุข
5.5 ศาล
ประกอบด้วยศาลสูง (high court) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองจอร์จ ทาวน์ และศาลแขวง (magistrate courts) จำนวน 4 แห่ง และมีศาลคดีอาญา กระจายอยู่ทั่วรัฐ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ในเรื่องนี้ ผมอยากทบทวนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า มาเลเซีย เป็นรัฐรวม ระบบศาล มีทั้งศาลของรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลสหพันธ์ และศาลของรัฐต่าง ๆ จำนวน 13 รัฐ กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องระบบศาลของมาเลเซียได้ในบทความ (9) ส่องดู การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย
5.6 การปกครองส่วนท้องถิ่น
ในรัฐนี้ มีการปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง ทั้งสองแห่ง มีฐานะเป็นสภานคร ซึ่งเป็นสภานคร 2 แห่ง ในจำนวนสภานครที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศ 12 แห่ง คือ
5.4.1 สภานคร เกาะปีนัง (Penang Island City Council) มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารเกาะปีนังทั้งหมด ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี ปลัดเมือง และสมาชิกสภานคร จำนวน 24 คน
5.4.2 สภานคร เซเบรัง เปไร (Seberang Perai) มีอำนาจหน้าที่บริหารพื้นที่ส่วนที่บนแผ่นดินใหญ่ที่เรียกว่า เซเบรัง เปไร ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี ปลัดเมือง และสมาชิกสภานคร จำนวน 24 คน
ทั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภานคร ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลของรัฐ โดยนายกเทศมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี ส่วนสมาชิกสภานครมีวาระดำรงตำแหน่งหนึ่งปี
สภานคร มีอำนาจหน้าที่ในด้านการจราจร การรักษาความสะอาดและการขจัดสิ่งปฏิกูล การออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ และการดูแลด้านสาธารณสุข
รัฐนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 อำเภอ บนเกาะจำนวน 2 อำเภอ และบนแผ่นดินใหญ่ จำนวน 3 อำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ขอให้สังเกตว่า นายกนคร และสมาชิกสภานคร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างที่เราเข้าใจ แต่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลของรัฐ ซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลของความต้องการให้การบริหารงานสภานครเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลของรัฐ เพราะถ้าให้มาจากการเลือกตั้ง หากนายกนคร และสมาชิกสภานคร อยู่คนละพรรคหรือคนละฝ่ายกับรัฐบาลของรัฐ ก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการพัฒนารัฐนี้ให้ไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นและนายอำเภอได้ใน บทความ (8) ประเทศ มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองแตกต่างจากไทย)
6.สรุป
ปีนัง เป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซีย ในจำนวนทั้งหมด 13 รัฐ เกาะหมาก เป็นดินแดนแรกที่บริเตนส่งคนมาเจรจาค้าชาย คือฟรานซิส ไลท์ ซึ่งมาในนามบริษัทอินเดียตะวันออกของบริเตนในช่วงปี 1770-1780 ในเวลานั้น เกาะหมากเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเคดาห์หรือไทรบุรี และไทรบุรีเวลานั้น ยังเป็นรัฐในอารักขาของสยาม
รัฐนี้ตกเป็นอาณานิคมของบริเตนเมื่อปี ค.ศ.1786
บริเตนเคยใช้เกาะหมากเป็นศูนย์กลางของดินแดนอาณานิคมที่เรียกว่า ข้อตกลงช่องแคบ (Straits Settlement) โดยมีเมืองจอร์จ ทาวน์ เป็นเมืองหลวงของดินแดนดังกล่าว ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่สิงคโปร์ในเวลาต่อมา จึงทำให้รัฐนี้มีความเจริญรุ่งเรืองกว่ารัฐอื่น ๆ
รูปแบบการปกครองของรัฐ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของรัฐ โดยมีผู้ว่าการรัฐเป็นประมุข สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียเป็นผู้ทรงแต่งตั้งผู้ว่าการรัฐ ส่วนอำนาจในการบริหารเป็นของคณะผู้บริหารรัฐ และมีหัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐ (Chief Minister) เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ และมีสภานิติบัญญัติของรัฐเป็นผู้ออกกฎหมายและตรวจสอบการใช้อำนาจ
ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น มีเพียง 2 แห่ง ในรูปแบบของสภานคร โดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิตบัญญัติได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลของรัฐ
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ ผู้หมวดพนมรักษ์ ซึ่งได้เข้ามาสนทนาในบทความ (8)ประเทศ มาเลเซีย มีรูปแบบการปกครองแตกต่างจากไทย

“ สวัสดีผู้หมวด วันนี้คงไม่ติดเข้าเวรนะ เรามาคุยกันในเรื่องของรัฐปีนังดีกว่า เห็นว่า ผู้หมวดได้ไปมาแล้ว ใช่ไหม” ผมชวนคุยเบา ๆ
“ สวัสดีครับ อาจารย์ วันนี้ผมว่างครับ สะดวกที่จะคุย ขอเชิญอาจารย์เลยครับ ” ผู้หมวดตอบสบาย ๆ
“ ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว ในฐานะที่ผู้หมวดเคยไปเที่ยวหรือศึกษาดูงานรัฐนี้มาแล้ว อยากจะทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐนี้หน่อย ” ผมถามเบา ๆ
“ โอ้ ดีมากครับอาจารย์ ดูบ้านเมืองเขาเจริญก้าวหน้า มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง บรรยากาศดี รถก็ไม่ติด พอดีผมพาภรรยาไปด้วย เลยเหมือนได้ไปฮันนีมูนอีกรอบ ” ผู้หมวดตอบความประทับใจ
“ ผู้หมวดประทับใจอะไรบ้างในการไปศึกษาดูงาน ” ผมถามสั้น ๆ แต่ต้องการคำตอบที่ยาวหน่อย
“ มีหลายอย่างครับอาจารย์
อย่างแรก คือ สะพานเชื่อมเกาะกับแผ่นดินใหญ่ ทั้งสองสะพานเลย นับว่าเป็นสะพานที่ยาวมาก ผมไม่เคยพบเห็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวเช่นนี้มาก่อน อยู่เมืองไทย ผมเคยเห็นแต่สะพานข้ามแม่น้ำ สะพานข้ามทะเลยังไม่เคยเห็น
บ้านเรา สะพานข้ามทะเลเท่าที่ผมนึกออก คือสะพานข้ามจากฝั่งจังหวัดพังงาไปเกาะภูเก็ต แต่ระยะทางก็ไม่ได้มากนัก ” ผู้หมวดแสดงความเห็นอย่างคล่องแคล่ว
“ นอกจากสะพานแล้ว ยังมีสถานทีอื่นใดอีกไหม ที่ผู้หมวดได้เห็นแล้วประทับใจ” ผมขอให้ผู้หมวดเล่าต่อ

“ ถ้าบนตัวเกาะ ผมชอบตรงที่เรียกว่า ถนนศิลปะ (Street Art) ซึ่งองค์การยูเนสโก ยกย่องให้แหล่งมรดกโลก เห็นผู้คนสนุกกับการถ่ายภาพฝาผนัง ผมเองและภรรยาก็ได้ถ่ายกับเขาด้วย
เจอคนไทยหลายคนที่ไปเที่ยว แสดงว่า รัฐนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของมาเลเซีย ที่มีชาวไทยและชาวต่างชาติอื่น ๆ ชอบไปเที่ยวกันมาก
ทราบว่าอาจารย์ก็เคยไปเที่ยวรัฐนี้มาแล้วหลายครั้ง ผมอยากฟังอาจารย์เล่าบ้าง ” ผู้หมวดแสดงความเห็นในเชิงบวกพร้อมกับขอให้ผมเล่าเรื่องบ้าง
“ ได้ผู้หมวด อาจารย์นึกว่า ผู้หมวดจะไม่สนใจฟังอาจารย์เล่าเสียแล้ว
ความจริงอาจารย์เคยไปเที่ยวเกาะหมากมาแล้ว 3 ครั้ง คือ
ครั้งแรก เมื่อครั้งเรียนปริญญาโททีนิด้า ราวปีพ.ศ.2518-2519
ครั้งที่สอง เมื่อครั้งย้ายเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการกองราชการส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง ปี พ.ศ.2537
และครั้งสุดท้าย เมื่อปีพ.ศ.2560 ” ผมสรุปย่อการไปเที่ยวรัฐนี้ให้ฟัง
“ ผมอยากให้อาจารย์เล่าถึงความประทับใจในการไปเที่ยวรัฐนี้ให้ผมฟังบ้าง ” ผู้หมวดเจาะเข้าจุดที่อยากจะทราบ
“ ได้สิ การไปครั้งที่สอง เป็นช่วงเวลาของการไปราชการเทศบาลนครหาดใหญ่ พอตรวจราชการเสร็จ อาจารย์และครอบครัวได้รับความอนุเคราะห์จากปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่ในยุคนั้น คือ ท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ซึ่งต่อมาท่านได้โอนมาเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย จนเจริญก้าวหน้าได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดีกรมที่ดิน ปลัดกระทรวงมหาดไทย และพอเข้าสู่การเมือง ท่านได้เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
เริ่มออกเดินทางจากหน้าสำนักงานเทศบาลหาดใหญ่ โดยรถแท็กซี่ ไปเที่ยวในตัวเมืองราวสองชั่วโมงก็เดินทางกลับ ทำให้มีโอกาสเห็นสะพานข้ามทะเลไปยังเกาะอันยาวเหยียด เห็นแล้วก็อดตื่นเต้นไม่ได้ ” ผมเล่าให้ฟังย่อ ๆ
“ ผมอยากจะฟังอาจารย์เล่าครั้งที่สามมากกว่า เพราะเป็นครั้งที่เวลาผ่านไปไม่นานนักราวปี 2560-2561” ผู้หมวดยังสนใจจะฟังต่อ
“ อ๋อ ครั้งที่สาม อาจารย์กับภรรยาไปกันเอง เริ่มต้นที่หาดใหญ่ เราขึ้นรถตู้โดยสาร จากหาดใหญ่ไปเกาะหมากโดยตรง ค่ารถราวคนละ 300-400 บาท พักค้างคืนสองคืน จองโรงแรมไว้ทางอินเตอร์เน็ต ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมง ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สะเดา
สถานที่ท่องเที่ยวก็น่าจะคล้ายของผู้หมวด แต่เสียดายช่วงอาจารย์ไป ปีนังฮิลล์ เขาปิด เลยอดขึ้นไปเที่ยว นอกนั้นก็ได้ไปเที่ยวหมดทุกที่ตามโปรแกรมที่เตรียมไว้ ” ผมเล่าย่อ ๆ พอให้มองเห็นภาพ
“ไปครั้งที่สาม อาจารย์ประทับใจอะไรเป็นพิเศษไหม ” ผู้หมวดยังสงสัยอยู่
“ ก็คงมีสักสองสามอย่าง
อย่างแรก การเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ สะดวกมาก มีทั้งรถโดยสารประจำทางหลายสาย ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของเมืองหมด นอกจากนี้ยังมีรถแท็กซี่ไว้คอยบริการตลอดเวลา มีทั้งรถแท็กซี่ธรรมดาและรถแท็กซี่แกร็บ เรียกว่า เราอยากไปไหนไปได้หมด ไม่ยากเลย
อย่างที่สอง อาจารย์และภรรยา มีเวลาเลยลองนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งจอร์จ ทาวน์ไปฝั่งบัตเตอร์เวอร์ธ ระยะทางราว 3 กิโลเมตร ขาไปเขาไม่คิดเงินนะ แต่ขากลับเขาจึงคิดเงิน แสดงว่า ถ้าใครไม่กลับก็ไม่ต้องเสียเงิน
อาจารย์คิดว่าก็แปลกดีนะ แต่เขาคงรู้อยู่แล้วว่า ส่วนใหญ่ต้องกลับอยู่แล้ว” ผมพยายามเล่าให้เห็นภาพ
“ คำว่า บัตเตอร์เวิร์ธ ผมเคยได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่ามีรถด่วนจากหัวลำโพง ไปปลายทางที่สถานีบัตเตอริเวอร์ธ แสดงว่า สถานีบัตเตอร์เวอร์ธ น่าจะมีความสำคัญมากใช่ไหมอาจารย์” ผู้หมวดถามต่อ
“ ใช่แล้ว ผู้หมวด สถานีบัตเตอร์เวอร์ธ เป็นสถานีใหญ่มาก เป็นสถานีที่คนไทยและคนมาเลย์รู้จักกันดีมาเป็นเวลาช้านาน
วันนี้เราคุยกันพอสมควรแล้ว ขอขอบคุณผู้หมวดมาก โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่ ” ผมกล่าวยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับอาจารย์ ”
ดร.ชา
25/04/21
นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภานคร ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลของรัฐ เพื่อให้การบริหารเป็นไปในแนวทางเดียวกับรัฐบาลของรัฐ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากครับอาจารย์
ใช่แล้ว เหมือนกทม.ตอนนี้ หากเป็นช่วงเวลาผู้ว่ากทม.มาจากการเลือกตั้ง การสนองตอบนโยบายรัฐบาล อาจจะไม่ดีเท่าตอนนี้
ปีนังก็เป็นอีกที่หนึ่งที่อยากไป แต่ยังไใำด้ไป อยากไปเห็นเกาะกมาก ที่คนไทยเาต้นหมากไปปลูกำว้ จน้รียดว่าเกาะหมากค่ะ
อาจารย์คะ รัฐปีนังใช้ภาษาอะไรคะ เป็นภาษาหลัก ขอบคุณค่ะ
มีอยู่ 4 ภาษาหลัก คือ ภาษา มาเลย์ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาทมิฬ
ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่รัฐปีนัง มีเชื้อสายอะไรคะเป็นส่วนใหญ่
มึอยู่ 3 เชื้อชาติหลัก คือ มาเลย์ 42 % จีน 39 และอินเดีย 9 %