73 / 100

ระบบ ตำรวจแห่งชาติ ญี่ปุ่น- กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น- (ตอนจบ) (15) จะกล่าวถึง องค์กรตำรวจญี่ปุ่นระดับจังหวัด สถานีตำรวจ ตู้ยาม งบประมาณและอัตรากำลัง สรุป และคุยกับดร.ชา

Table of Contents

1.ความนำ

            ในบทความที่แล้ว คือ บทความ (14) ตำรวจแห่งชาติ ได้เล่าถึงการจัดโครงสร้างของตำรวจญี่ปุ่น การจัดองค์กรตำรวจญี่ปุ่นในระดับชาติ และการจัดองค์กรตำรวจญี่ปุ่นในระดับเขต กล่าวคือ การจัดโครงสร้างตำรวจญี่ปุ่น อยู่บนพื้นฐานของหลักการรวมอำนาจพร้อมกับการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นคือจังหวัด ในส่วนของการจัดองค์กรระดับชาติ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แบ่งพื้นที่ทั่วประเทศเป็น 7 เขต เพื่อให้แบ่งเบาภาระสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 47 จังหวัด

            สำหรับบทความนี้ จะเล่าถึง การจัดองค์กรตำรวจญี่ปุ่นระดับจังหวัด สถานีตำรวจและตู้ยาม งบประมาณและอัตรากำลังในการบริหารตำรวจญี่ปุ่น

            หากจะเปรียบเทียบกับบทละคร ระบบตำรวจญี่ปุ่น พระเอกคือตำรวจจังหวัด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือผู้สนับสนุนและผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของตำรวจจังหวัดให้ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

2. องค์กรตำรวจระดับจังหวัด (Prefectural Police Organizations)

             ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ระบบตำรวจของญี่ปุ่น แม้จะเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ แต่มิได้รวมอำนาจไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในทางตรงกันข้าม กลับกระจายอำนาจให้ตำรวจจังหวัดเป็นผู้ใช้อำนาจในการสอบสวนดำเนินคดีอาญาในเขตพื้นที่จังหวัดตนเอง ดังนั้น การจัดองค์ตำรวจจังหวัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

            หลักการในการจัดองค์กรตำรวจจังหวัดของญี่ปุ่น ถือหลักการเดียวกันกับการจัดองค์กรตำรวจในระดับชาติ กล่าวคือ ตามกฎหมายตำรวจ แต่ละจังหวัด (prefectural governments) มีองค์กรตำรวจเป็นของตนเองเพื่อปฏิบัติภารกิจภายในเขตอำนาจ  โดยองค์กรตำรวจระดับจังหวัด ประกอบด้วย คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด และสำนักงานตำรวจจังหวัดรวมทั้งกรมตำรวจมหานครโตเกียว

            2.1 คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด (Prefectural Public Safety Commissions: PPSCs)

เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง (under the authority of elected prefectural governor) มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบายในการปฏิบัติงานของตำรวจและวางกฎเกณฑ์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ  รวมทั้งมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจบันเทิง การครอบครองอาวุธปืน และใบขับขี่ 

แต่คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจในการแทรกแซงการสอบสวนหรือการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ

            คณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวน  ๓ หรือ ๕ คน บุคคลผู้ที่เคยรับราชการเป็นตำรวจหรืออัยการในช่วง ๕ ปีก่อนที่จะมีการแต่งตั้งไม่มีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้ง  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งภายใต้ความยินยอมของสภาจังหวัด (prefectural assembly) อยู่ในวาระ ๓ ปี  กรรมการจะเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ  แต่มีเงื่อนไขว่า กรรมการเสียงข้างมาก (majority of the members) ต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองเดียวกัน

            2.2 ตำรวจจังหวัดและตำรวจมหานครโตเกียว (Metropolitan Police Department and Prefectural Police)

กองกำลังตำรวจท้องถิ่นของมหานครโตเกียวเรียกชื่อว่า กรมตำรวจมหานคร (Metropolitan Police Department: MPD) ส่วนจังหวัดอื่น ๆ เรียกชื่อว่า ตำรวจจังหวัด (prefectural police)

ตำรวจญี่ปุ่นมีเฮลิคอปเตอร์ไว่ในการปฏิบัติการในที่สูง 80 ลำ (National Police Agency, 20th September 2020)
ตำรวจญี่ปุ่นมีเฮลิคอปเตอร์ไว้ใช้ในการปฏิบัติการในที่สูง 80 ลำ (National Police Agency, 20th September 2020)

            ผู้บัญชาการตำรวจมหานครโตเกียว (The Chief of the MPD, Superintendent General)ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ (NPSC) ภายใต้ความยินยอมของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะมหานครโตเกียวและการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี

ญี่ปุ่นเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ตำรวจจึงมีเรือไว้ปฏิบัติการมากถึง 150 ลำ (National Police Agency, 20th September 2020)
ญี่ปุ่นเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ตำรวจจึงมีเรือไว้ปฏิบัติการมากถึง 150 ลำ (National Police Agency,20th September 2020)

            ในขณะเดียวกัน NPSC ก็เป็นผู้แต่งตั้ง หัวหน้าตำรวจจังหวัด (prefectural police chief) ภายใต้ความยินยอมของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด (PPSCs)

ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตำรวจระดับจังหวัด

กรณีมีอาชญากรรมและเหตุการณ์ขนาดใหญ่ข้ามเขตจังหวัด ตำรวจจังหวัดหนึ่งอาจทำงานข้ามเขตจังหวัดได้ หากได้รับการร้องขอจากตำรวจจังหวัดอื่น ๆ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

3.สถานีตำรวจ ตู้ยามตำรวจญี่ปุ่น(โคบาน) และตำรวจลาดตระเวน

          การที่ตำรวจญี่ปุ่นเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ก็เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ผ่านทางสถานีตำรวจ ตู้ยามตำรวจ (โคบาน) และตำรวจลาดตระเวน

            3.1สถานีตำรวจ (Police Stations)

          หน่วยงานของตำรวจที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ก็คือ สถานีตำรวจ ดังนั้น สำนักงานตำรวจมหานครและสำนักงานตำรวจจังหวัดของญี่ปุ่นแต่ละแห่ง จึงได้แบ่งพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้ประชาชนได้รับความสะดวกและสามารถดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้ทั่วถึง โดยแบ่งออกเป็น เขต ๆ (districts)

รถยนต์ตรวจตราประจำสถานีตำรวจและตู้ยามของตำรวจญี่ปุ่น ทั่วประเทศมีมากถึง 42,500 คัน (National Police Agency, 20th September 2020)
รถยนต์ตรวจตราประจำสถานีตำรวจและตู้ยามของตำรวจญี่ปุ่น ทั่วประเทศมีมากถึง 42,500 คัน (National Police Agency, 20th September 2020)

สถานีตำรวจ คือ สำนักงานของตำรวจประจำเขตต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการของตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ได้แก่ การรับแจ้งความ การดำเนินคดีอาญาต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจ               

   ตามปกติ สถานีตำรวจจะตั้งอยู่ตามย่านชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและความอบอุ่นใจที่มีสถานีตำรวจตั้งอยู่ใกล้ชิด

                                                                                                                 

                3.2 ระบบตู้ยามตำรวจญี่ปุ่น (Koban System: Japanese Police Box System)

          นอกจากมีสถานีตำรวจตั้งอยู่ตามเขตพื้นที่ต่าง ๆ ของแต่ละมหานครและแต่ละจังหวัดแล้ว ระบบตำรวจญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญในการจัดตั้งตู้ยามตำรวจให้กระจายไปชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง อย่างที่เรียกว่า ระบบตู้ยามตำรวจญี่ปุ่น (Koban System: Japanese Police Box System)

              ภายใต้เขตสถานีตำรวจแต่ละแห่ง มีโคบาน (Koban) เป็นสถานีตำรวจประจำถิ่นขนาดเล็ก ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมขนาดใหญ่และศูนย์กลางการค้าและเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น     โคบานถือเป็นหน่วยเล็กที่สุดของระบบตำรวจญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ นับเป็นตำรวจชุมชุน

             ในชนบทห่างไกล โคบานหนึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงคนเดียว  ทั่วประเทศมีโคบานจำนวนมากกว่า 15,000 แห่ง  โดยใช้อัตรากำลังตำรวจประมาณร้อยละ ๒๐ ของอัตรากำลังตำรวจทั้งหมดประจำอยู่ตามโคบาน

                อาคารโคบานโดยทั่วไปเป็นอาคาร 2 ชั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่อย่างน้อย 1 คน จนกระทั่งมากกว่า 10 คน  เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถที่จะสังเกตเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยรอบ ทำให้พร้อมที่จะแก้ปัญหาเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในเรื่องอื่น ๆ เช่น การบอกเส้นทาง และประสานงานกับประชาชนในเรื่องอื่น ๆ ในท้องที่ที่อยู่ห่างไกลสถานีตำรวจ

                3.3 ตำรวจลาดตระเวน

                นอกจากโคบานแล้ว ระบบตำรวจญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญแก่ตำรวจลาดตระเวน

            ตำรวจลาดตระเวนมีทั้งตำรวจลาดตระเวนด้วยการเดินเท้า รถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์  ทำให้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม หรือช่วยเหลือประชาชนได้เสมอ

                การมีตำรวจลาดตระเวน ทำให้ตำรวจญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น สามารถหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมได้ดีและรวดเร็ว เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ตำรวจเป็นกันเอง และเข้าถึงได้ง่าย มีข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสอะไรก็อยากจะแจ้งให้ทราบ

4.งบประมาณในการบริหารงานตำรวจและอัตรากำลัง

          (https://www.npa.go.jp/english)

          ตามเอกสารเผยแพร่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (National Police Agency: NPA, 19th September 2020) ได้กล่าวถึงงบประมาณในการบริหารงานตำรวจและอัตรากำลังตำรวจญี่ปุ่น สรุปได้ดังนี้

4.1 งบประมาณ

             งบประมาณของตำรวจประกอบด้วย 2 ส่วน คือ งบประมาณจากรัฐบาล (national budget) และงบประมาณจังหวัด (prefectural budget) โดยงบประมาณของรัฐบาลใช้เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และใช้เป็นเงินสนับสนุน (subsidies) ค่าใช้จ่ายของสำนักงานตำรวจจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 22 ของงบประมาณทั้งหมดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

            สำหรับสำนักงานตำรวจจังหวัดมีแหล่งที่มาของงบประมาณ 2 ทางคือ

                        4.1.1งบประมาณจัดสรรจากรัฐบาล (National Treasury)

                   สำหรับเป็นค่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในโรงเรียนตำรวจ ค่าใช้จ่ายระบบสื่อสาร และค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือของตำรวจ เช่น ยานพาหนะ เรือ และเฮลิคอปเตอร์

                        4.1.2 งบประมาณจัดสรรจากจังหวัด (Prefectural Government)

                   สำหรับเป็นค่าเงินเดือนเจ้าหน้าที่ในระดับรองลงมา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของบุคคล เช่น เครื่องแบบ ค่าใช้จ่ายในสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของตำรวจ และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของตำรวจจังหวัด เช่น การป้องกันอาชญากรรม การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา และการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องจราจร

4.2 อัตรากำลัง

                   เมื่อปี 2018 อัตรากำลังตำรวจทั้งหมดของญี่ปุ่นมีจำนวน 296,700 คน   โดยแยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
                      4.1.1 อัตรากำลังสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง มีจำนวน 7,900 คน แยกเป็น

                                    – เจ้าหน้าที่ตำรวจ         2,200 คน

      -เจ้าหน้าที่ถวายความปลอดภัยสมเด็จพระจักรพรรดิและพระราชวงศ์

                  (Imperial Guards) 900 คน

-เจ้าหน้าที่พลเรือน (engineers and administrative staff) 4,800 คน

4.1.2 อัตรากำลังสังกัดสำนักงานตำรวจจังหวัดทั้งประเทศจำนวน 47 จังหวัด มีจำนวนทั้งหมด 288,000 คน แยกเป็น

                  – เจ้าหน้าที่ตำรวจ 260,000 คน โดยเป็นตำรวจหญิง จำนวน 24,600 คน

                  -เจ้าหน้าที่พลเรือน (engineers and administrative staff) จำนวน 28,400  คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่เพศหญิงจำนวน 13,300 คน

5.สรุป

            ระบบตำรวจญี่ปุ่นเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ ที่กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นหรือจังหวัด หมายความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งขึ้นตรงต่อคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศในภาพใหญ่หรือภาพรวม แต่การปฏิบัติจริง ๆ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจจังหวัด จำนวน 47 จังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น

            สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ คุยกับดร.ชาท้ายบทความนี้

คุยกับดร.ชา

          คู่สนทนาวันนี้ของผม ยังเป็นคุณพสุธา (นามสมมุติ) เช่นเดิม

          “สวัสดี คุณพสุธา วันนี้อาจารย์ขอรบกวนเวลาอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อคุยกันเรื่องตำรวจญี่ปุ่นให้จบ

            เอาประเด็นแรกก่อน คุณพสุธามีความคิดเห็นอย่างไรที่ระบบตำรวจญี่ปุ่น เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไม่สงวนอำนาจสำคัญของตำรวจ คือ อำนาจในการสอบสวนคดีอาญาไว้ที่ตนเองเลย แต่ปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจจังหวัดแต่ละจังหวัด ” ผมตั้งคำถามนำเพื่อให้การสนทนาเข้าสู่ประเด็นได้ง่าย

            “ สวัสดีครับอาจารย์ แค่ประเด็นแรก ผมคิดว่า ท่านผู้อ่านทั้งหลายก็น่าจะอยากทราบกันอยู่แล้ว

ผมมีความเห็นอย่างนี้ว่า เดิมญี่ปุ่นเคยมีการปกครองส่วนภูมิภาคโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้ง มีตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกันกับผู้ว่าราขการจังหวัด การสร้างความเป็นเอกภาพหรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวก็มิใช่ของยาก

            แต่เมื่อจำเป็นต้องยุบการปกครองส่วนภูมิภาคตามความต้องการของอเมริกาผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้ยึดครองประเทศญี่ปุ่นอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้สามารถรักษาความเป็นเอกภาพของประเทศไว้ได้อีกต่อไป ญี่ปุ่นเขาจึงคิดระบบตำรวจขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นระดับบนคือจังหวัด ให้ตำรวจขึ้นต่อจังหวัด แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ตำรวจจังหวัดขึ้นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติและคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารตำรวจจังหวัดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ มิใช่ปล่อยให้แต่ละท้องถิ่นว่ากันเอาเองเหมือนอย่างตำรวจท้องถิ่นในอเมริกาหรืออังกฤษ” คุณพสุธาตอบเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน

            “ตอบได้ชัดเจนดีมาก คุณพสุธา ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ขอถามประเด็นที่สองเลย ก็ในเมื่อญี่ปุ่นต้องยุบการปกครองส่วนภูมิภาคแล้ว ทำไมไม่เอาตำรวจขึ้นตรงต่อส่วนกลางเลย อาจจะให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเหมือนอย่างในบางประเทศก็ได้ ” ผมถามแบบให้ใช้ความคิด เพราะเชื่อว่า คุณพสุธาซึ่งเป็นคนเก่งตอบได้แน่

            “เรื่องนี้ อาจารย์ต้องมองย้อนไปในอดีตด้วยว่า หากญี่ปุ่นจะทำเช่นนั้น คงจะไม่ถูกใจอเมริกา เพราะอเมริกาเขามีหลักการว่า รัฐต้องมีอำนาจอย่างจำกัด (Limited Government) อำนาจที่เหลือจะได้เป็นอำนาจของประชาชน ดังนั้น การให้ตำรวจสังกัดท้องถิ่น ย่อมเป็นการทำให้รัฐมีอำนาจน้อยลง และทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ” คุณพสุธาตอบเหมือนคนเข้าใจระบบการเมืองการปกครองของอเมริกาดีไม่น้อยเลย

            “ ในประเด็นนี้ อาจารย์ขอเสริมสักนิดหนึ่ง คือ แม้เวลานี้ ในสายตาของหลายประเทศ อเมริกาอาจจะดูเป็นดาวร้ายในเวทีการเมืองโลก แต่ในประเทศของเขา อำนาจของรัฐบาลกลางมีอย่างจำกัด อำนาจที่เหลือเป็นของมลรัฐและประชาชนชาวอเมริกา

ยิ่งกว่านั้น ระบบการเมืองการปกครองของเขา เป็นระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ เขาไม่อยากให้ใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จในมือหรือมีอำนาจมากกว่าคนอื่น เพราะจะทำให้กลายเป็นอำนาจเผด็จการหรือการผูกขาดอำนาจ ” ผมได้จังหวะเสริมความคิดให้คุณพสุธาเล็กน้อย

            “ ถ้าเช่นนั้น เอาประเด็นที่สามเลยนะ อาจารย์อยากให้คุณพสุธามองดูการถ่วงดุลอำนาจของระบบตำรวจญี่ปุ่นในระดับจังหวัด เขาทำกันอย่างไร เหมือนบ้านเราไหม ” ผมถามแบบเจาะลึกลงไปอีก

            “ ได้ครับอาจารย์ ผมคิดว่าญี่ปุ่นเขาวางระบบการถ่วงดุลอำนาจตำรวจไว้ดีมาก โดยถือหลักการเดียวกับการถ่วงดุลอำนาจตำรวจในระดับชาติ

            ในระดับชาติ การบริหารงานตำรวจ เป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาไดเอ็ต ในขั้นตอนเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ  นอกจากนี้ ยังมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติในการเสนอแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจมหานครโตเกียว

            และที่สำคัญคือ ในการบริหารงานตำรวจ มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ ”  คุณพสุตาตอบหลักการในระดับชาติก่อน

            “ในระดับจังหวัดล่ะเป็นอย่างไร” ผมเร่งเร้าให้คุณพสุธาตอบ กลัวพูดเพลินจนลืมคำถาม

            “ ในระดับจังหวัด มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับสภาจังหวัด ในขั้นตอนเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด

            ยิ่งกว่านั้น ยังมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะจังหวัดกับคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ ในขั้นตอนแต่งตั้งหัวหน้าตำรวจจังหวัด

            ส่วนการบริหารงาน มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างหัวหน้าตำรวจจังหวัดกับคณะกรรมการความปลอดภัยจังหวัดด้วย

            แต่การถ่วงดุลในลักษณะเช่นนี้ บ้านเราไม่มีนะ หรืออาจารย์คิดว่ามี ” คุณพสุธาชี้แจงเพิ่มเติมพอเข้าใจ พร้อมกับสัพยอกผมเล่นเล็กน้อย

            “คุณพสุธา น่าจะลืมจุดสำคัญของการถ่วงดุลอำนาจของระบบตำรวจญี่ปุ่นไปอย่างหนึ่ง คือ คณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ และคณะกรรมการความปลอดภัยจังหวัด  ตัวกรรมการต่างมาจากหลายพรรคการเมือง โดยเสียงข้างมาก ต้องไม่ใช่มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน เพื่อให้กรรมการสามารถถ่วงดุลอำนาจกันได้” ผมเติมเต็มให้คุณพสุธา

            “ โอเค อาจารย์ขอถามประเด็นสุดท้ายเลย คุณพสุธาประทับใจหรือชื่นชอบระบบตำรวจญี่ปุ่นในส่วนไหนมากที่สุด ” ผมถามเพื่อปิดประเด็นการสนทนา

            “ อ๋อ ผมประทับใจเป็นพิเศษ กับระบบการตั้งตู้ยามตำรวจอย่างที่เรียกว่า โคบาน เพราะเขาตั้งกระจายไปตามพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ  ทำให้ตำรวจประจำตู้ยามอยู่ใกล้ชิดประชาชน หากมีอะไรเกิดขึ้นประชาชนสามารถแจ้งตำรวจที่ตู้ยามได้เลย

            นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเขายังมีตำรวจลาดตระเวน ออกตรวจตราตามพื้นที่ชุมชน มีทั้งตำรวจลาดตระเวนด้วยการเดินเท้า ตำรวจลาดตระเวนด้วยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นมาตรการเสริมเข้าไปอีก

            เมื่อเขาทำได้เช่นนี้ อัตราการเกิดอาชญากรรมในญี่ปุ่นจึงมีน้อยมาก เพราะเขามีตำรวจกระจายอยู่ทุกพื้นที่ที่เป็นชุมชน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ตำรวจสามารถเข้าระงับเหตุได้ทันที ” คุณพสุธาตอบอย่างมั่นใจ

            “ ระบบตู้ยามตำรวจและระบบสายตรวจตำรวจอย่างญี่ปุ่น บ้านเรามีไหม ” ผมถามเพราะอยากทราบข้อมูลจริง ๆ

            “ อาจารย์ ก็คงพอจะเข้าใจนะครับ ระบบตำรวจของเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ความคิดที่อยากจะใกล้ชิดประชาชนก็ย่อมยากที่จะเกิดขึ้น หรืออาจจะติดขัดไม่มีงบประมาณเพียงพอ

            แต่ถ้าตำรวจไทยคิดจะทำจริง ผมว่าเรื่องนี้ หมายถึงเรื่องระบบตู้ยามตำรวจแบบญี่ปุ่น ก็อาจจะทำโครงการขอเงินอุดหนุนไปยังท้องถิ่น ก็น่าจะได้ เพราะการที่ตำรวจจะไปตั้งตู้ยามบริเวณที่เป็นชุมชน ท้องถิ่นคงจะยินดี แต่ว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วต้องมีตำรวจไปประจำอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นตู้ยามร้างนะ” คุณพสุธาตอบแบบคนเคยเห็นภาพตู้ยามตำรวจบางแห่งมาอย่างติดตาติดใจ

            “ เยี่ยมมาก คุณพสุธา สามารถตอบคำถามเหมือนรู้ใจท่านผู้อ่านเลยเชียว วันนี้คงต้องยุติการสนทนากันเพียงนี้ โอกาสหน้า ค่อยคุยกันใหม่ ขอให้โชคดีปลูกต้นไม้อะไรขาย ขอให้ต้นไม้โตไว ๆ  จะได้รวยสมใจ” ผมตอบขอบคุณพร้อมอวยพรด้วยน้ำใสใจจริง

            “ขอบคุณมากครับอาจารย์ มีโอกาสอีกเมื่อใด อย่าลืมเชิญผมมาอีกนะ ผมพร้อมเสมอ ” คุณพสุธากล่าวขอบคุณ ก่อนจะแยกย้ายจากกัน

ดร.ชา

20/09/20

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***) 2

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18) 5

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18)

ชาว ไทย ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุ้มหาย

2 COMMENTS

  1. อยากฟังเรื่องกฏหมายน่ารู้จากคุณพสุธาแล้ว แสดงความคิดเห็นเรื่องตำรวจญี่ปุ่นได้ดีขนาดนี้
    เรื่องกฏหมายจะขนาดไหน? คะ

    1. โอเค อาจารย์จะบอกคุณพสุธาให้ ขอขอบคุณแทนคุณพสุธาด้วย ที่คุณณัชชาชื่นชอบความคิดเห็นของเขา

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: