“การ ปล่อย วาง จะนำมาซึ่งการคลายทุกข์ ” นับเป็นบทความลำดับที่ 15 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ เนื้อหาประกอบด้วย ความนำ การ ปล่อย วาง คืออะไร ความทุกข์ใจเข้ามาทางช่องใดบ้าง การเจริญสมาธิและสติเพื่อการ ปล่อย วาง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนายกฯ 8 ปี สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369

Table of Contents
1.ความนำ
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทความหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ ไว้ทั้งหมดจำนวน 14 บทความ
เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ก็จะถึงวันออกพรรษาประจำปี 2565 แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ผมจึงอยากจะเขียนบทความสักเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการคลายทุกข์ เพื่อให้ข้อคิดบางประการแก่ท่านผู้อ่านบ้าง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง วาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำนวน 8 ปี
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญหรือยัง
ผลปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 6:3 เสียง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ครบแปดปี เพราะการนับวาระดำรงตำแหน่ง ต้องนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้บังคับเมื่อปี 2560
คำวินิจฉัยดังกล่าว ได้สร้างความรู้สึกขัดแย้งให้แก่ผู้คนในสังคมไทยในวงกว้างไม่น้อยทีเดียว เพราะต่างฝ่ายมี คำวินิจฉัยส่วนตนไว้ก่อนแล้ว
ผู้ที่ต้องการให้พลเอก ประยุทธ์ ฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ย่อมรู้สึกยินดีและดีใจ
ผู้ที่ต้องล้มรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ฯ ย่อมรู้สึกผิดหวัง เสียใจ และโกรธแค้น และอาจจะไม่ยอมให้เรื่องจบ ด้วยการปลุกม็อบต่อต้าน และไม่ยอมรับคำวินิจฉับดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ
หากผู้มีความเห็นต่างในเรื่องดังกล่าว ได้พูดคุยกัน ย่อมจะนำซึ่งการโต้เถียงขัดแย้ง และอาจจะบานปลายเป็นเรื่องร้ายแรง
ผลการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลกประจำปี 2022
ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก ประจำปี 2022 ที่ประเทศโปแลนด์ ปรากฏว่า ทีมวอลเลย์บอลสาวไทย สามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม โดยในรอบแรกลงแข่ง 5 ครั้ง ชนะ 4 ครั้ง แพ้เพียงครั้งเดียว ทำให้สามารถผ่านเข้าไปเล่นในรอบสองได้อย่างสบาย นอกจากนี้ อันดับโลกยังสูงขึ้น จากอันดับ 14 เลื่อนขึ้นเป็นอันดับ 13 ของโลก
ข่าวคราวเช่นนี้มีแต่สร้างความสุขสมหวังให้แก่คนไทยทั้งประเทศ
2. การ ปล่อย วาง คืออะไร

การ ปล่อย วาง ในทางธรรมะ คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ เพราะไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งสมมุติ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปในที่สุด
การยึดมั่นถือมั่น มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์
3. ความทุกข์ใจเกิดจากช่องทางใด
ความทุกข์ใจของคนเราเกิดจากการได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านทางประตูหรือช่องทาง 6 ช่อง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคปัจจุบัน เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร และสังคมเทคโนโลยี จึงทำให้ในแต่ละวันคนเราได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจริง หรือข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายป้ายสี ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือถือ
3.1 ความทุกข์ใจเกิดจากตาหรือการได้เห็น
ตาใช้มองดูคน สัตว์ พืช วัตถุ หรือสิ่งของต่าง ๆ เมื่อตามองเห็นอาจจะก่อให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ โกรธ เกลียด หรือเฉย ๆ ก็ได้ เช่น
ตามองเห็นธรรมชาติอันสวยงาม ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกสุขใจ
ตามองเห็นธรรมชาติถูกทำลาย ย่อมทำให้รู้สึกเศร้าใจ สลดหดหู่ใจ
ตามองเห็นผู้มีอำนาจเหนือรังแกผู้ด้อยกว่าหรืออ่อนแอกว่า ย่อมรู้สึกสลดใจ หรือรู้สึกสงสาร
การได้รับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในยุคสมัยนี้ สามารถส่งผ่านไปทางมือถือหรือสื่อสังคมต่าง ๆ ได้ง่ายมาก แม้จะมีโอกาสเลือกอ่านข้อมูลข่าวสาร แต่บุคคลก็มักจะเลือกอ่านผ่านช่องทางที่ตนชื่นชอบเท่านั้น ดังนั้นใครได้รับข้อมูลข่าวสารคนละช่องทาง ข้อมูลของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน และเมื่อมีโอกาสนำมาข้อมูลมาสนทนาแลกเปลี่ยนกัน ย่อมเป็นข้อมูลคนละชุด ไม่เหมือนกัน และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งกัน
3.2 ความทุกข์ใจอันเกิดจากหูหรือการได้ยิน

หูมีไว้สำหรับฟังเสียง เสียงบางอย่างก็ไพเราะเสนาะโสต เสียงบางอย่าง ก็หนวกหู น่ารำคาญ
ความทุกข์อันเกิดจากได้ยินเสียง นับเป็นช่องทางสำคัญช่องหนึ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ โดยเฉพาะการได้ยินเสียงของคนรอบข้างบ่น ดุด่า ติเตียน หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบ้านการเมืองไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับความคิดของเรา
คนที่มีความคิดเกี่ยวกับการบ้านการเมืองที่แตกต่างกันนั้น ยากที่จะปรับความคิดเข้าหากันได้ หากฝ่ายหนึ่งแสดงความเห็นออกมา อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะแต่ละฝ่ายย่อมมีจุดยืนในความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่สนใจที่จะแสวงหาความรู้หรือข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น ๆ ว่า ที่ถูกต้องคืออะไร
3.3 ความทุกข์อันเกิดจากจมูกหรือการได้กลิ่น
จมูกมีไว้สำหรับดมกลิ่น ซึ่งมีทั้งกลิ่นหอม กลิ่นเหม็น
หากได้ดมกลิ่นหอม ย่อมทำให้รู้สึกพึงพอใจ หรือสดชื่น
หากได้ดมกลิ่นเหม็น ย่อมทำให้รู้สึกไม่พอใจ หรืออาจจะโกรธ
ผู้ใดมีบ้านเรือนอยู่อาศัยอยู่ใกล้กองขยะ ย่อมจะได้รับความทุกข์เพราะกองขยะสิ่งกกลิ่นเหม็น
3.4 ความทุกข์อันเกิดจากลิ้นหรือการได้ลิ้มรส
คนเราจะมีชีวิตอยู่รอดได้ ก็ต้องได้ดื่มน้ำ และกินอาหาร
การได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อย ถูกปาก ย่อมนำมาซึ่งความสุข
การได้ลิ้มรสอาหารที่ไม่อร่อย ไม่ถูกปาก ย่อมนำซึ่งความทุกข์
และถ้าไม่มีน้ำหรืออาหารให้ลิ้มรส ก็จะยิ่งนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะทำให้เกิดความหิวโหย และอดอยากถึงแก่ความตายได้
3.5 ความทุกข์อันเกิดจากกายสัมผัส
กายอันประกอบด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกาย เช่น แขน ขา มือ หรือร่างกาย เมื่อได้สัมผัสกับบุคคล สัตว์ พืช สิ่งของ หรือวัตถุใด ๆ ย่อมจะทำให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกทุกข์หรือสุขได้
ในหน้าร้อน อากาศร้อน บุคคลจะมีความรู้สึกไม่สบายกายใจ มีเหงื่อออก เพราะอากาศร้อน ทำให้อยากมีพัดลม หรืออยากอยู่ในห้องแอร์
การที่ชายหญิงซึ่งมีความรักต่อกัน ได้โอบกอดกัน ย่อมทำให้รู้สึกอบอุ่นและมีความสุข
ในหน้าหนาว อากาศเย็นหรือหนาว บุคคลย่อมรู้สึกหนาวหรือเย็น และต้องการเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่หนากว่าปกติ
การฝึกนั่งสมาธิในห้องแอร์ น่าจะทำให้บุคคลรู้สึกสบายมากกว่านั่งในห้องที่ไม่มีแอร์
3.6 ทุกข์อันเกิดจากใจ
ในบรรดาความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ย่อมเกิดจากใจมากที่สุด เพราะใจเป็นเรื่องของความคิดของมนุษย์เอง ที่คิดปรุงแต่งขึ้นมา ให้เป็นโน่น เป็นนี่ คิดไปทางกุศลบ้าง หรือทางอกุศลบ้าง
หากคิดไปในทางอันเป็นกุศล ก็จะมีความสุข เช่น มีเมตตากรุณาแก่ผู้ตกทุกข์ได้ยาก การมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น
หากคิดไปไปในทางอันเป็นอกุศล ก็จะมีความทุกข์ เช่น เกิดความโลภ ความโกรธ ความอิจฉาริษยา และความหลง เป็นต้น
4.การเจริญสมาธิและสติเพื่อการปล่อยวาง

ไม่ว่าทุกข์จะเกิดจากการได้เห็น การได้ยิน การได้ดม การได้ลิ้มรส การได้สัมผัส และใจคิด หากรู้จักปล่อยวางได้ บุคคลย่อมจะคลายทุกข์ลงได้
ผมได้เขียนบทความว่าด้วยวิธีการฝึกนั่งสมาธิและการฝึกมหาสติปัฏฐาน จำนวน 5 บทความ คือ
4.1 นั่งสมาธิ ให้ได้ฌาน
เป็นบทความลำดับที่ 7 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ เพื่อชี้แนะแนวทางการฝึกนั่งสัมมาสมาธิ เพื่อให้ได้ฌาน 1-4
การฝึกสมาธิตามมรรคแปด หมายถึง การฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบจนบรรลุฌาน ซึ่งมีตั้งแต่ฌาน 1 ไปจนถึงฌาน 4
การฝึกสมาธิเป็นขั้นสมถกรรมฐาน เป็นการฝึกทำให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีใจจดจ่ออยู่ที่อารมณ์เดียว อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการฝึกขั้นต่อไป คือ การฝึกวิปัสสนากรรมฐาน
4.2 นั่งสมาธิ ด้วยสัมมาสติ เพื่อคลายทุกข์
เป็นบทความลำดับที่ 8 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ เป็นการเล่าเรื่องของการเจริญสติ ตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 ได้แก่ การพิจารณาความไม่เที่ยงของกาย การพิจารณาความไม่เที่ยงของเวทนา การพิจารณาความไม่เที่ยงของจิต และการพิจารณาความไม่เที่ยงของธรรม
4.3 สติปัฏฐาน 4 จะช่วยคลายทุกข์ได้อย่างไร
เป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์
บทความนี้เป็นการต่อยอดบทความตามข้อ 4.2 กล่าวคือ เมื่อได้ฝึกนั่งสมาธิจนสามารถทำให้จิตใจสงบซึ่งเป็นขั้นสมถกรรมฐานได้แล้ว ขั้นต่อไป คือ การฝึกวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญาในการดับทุกข์ ด้วยการกำหนดสติเฝ้าติดตามดูความไม่เที่ยงของ กาย-เวทนา-จิต-ธรรม จะทำให้มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ทั้งหลาย จะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป
หากเราสามารถปล่อยวางในเรื่องความไม่เที่ยงของกาย-เวทนา-จิต-ธรรม เราก็จะคลายทุกข์ลงได้
4.4 หลักธรรม ในการพิจารณาธรรมในธรรม
เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความตามข้อ 4.3 เพื่อขยายความในเรื่องการนำหัวข้อธรรมบางหัวข้อมาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงของธรรม เช่น หลักอริยสัจ 4 นิวรณ์ 5 เบญจขันธ์ เป็นต้น
4.5 อานาปานสติ 16 ขั้นตอน เพื่อคลายทุกข์
เป็นบทความลำดับที่ 14 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัตธรรม เพื่อคลายทุกข์ เป็นการเล่าถึงการฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐาน แบบยึดเอาลมหายใจเข้า-ออก เป็นตัวกำหนด
5.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนายกฯ 8 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยหรือตัดสินว่ามีกฎหมายใดหรือการกระทำใด แย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาโต้แย้งในทางการเมือง เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา จึงมักจะมีผู้โต้แย้งหรือไม่พอใจอยู่เสมอ หากคำวินิจฉัยนั้นไม่ตรงกับความต้องการของพวกตน
หากท่านผู้อ่านไม่อยากจะโต้แย้งหรือโต้เถียงกับคบรอบข้างของท่านในเรื่องเช่นนี้ ที่อาจจะมีความเห็นต่างไปจากท่าน ก็ขอให้ท่านลองนำคำวินิจฉัยของศาลไปกำหนดในการเจริญสมาธิและสติดู ยกตัวอย่างเช่น
คำวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อง การนับวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ผมเชื่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ คงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยทุกระดับชั้นและทุกสาขาอาชีพอย่างกว้างขวาง
การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาว่า การนับวาระดำรงตำแหน่งของ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเริ่มนับเมื่อรัฐธรรมนูญฯ ได้ประกาศใช้บังคับแล้วเมื่อปี 2560 ไม่ใช่นับย้อนหลังไปถึงปี 2557
ฝ่ายที่อยากให้พลเอก ประยุทธ์ฯ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเสียที เพื่อให้คนของฝ่ายพวกตนจะได้มีโอกาสขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง ย่อมไม่พอใจอย่างรุนแรง
ส่วนฝ่ายที่อยากให้ พลเอก ประยุทธ์ฯ ดำรงตำแหน่งต่อไปอย่างน้อยก็ให้ครบวาระ 4 ปี นับจากปี 2562 ผ่านการประชุมASPEC เดือนพฤศจิกายน 2565 ไปจนถึงปี 2566 ก็คงดีใจและรู้สึกโล่งอก
หากท่านกับคนใกล้ชิดท่านมีความเห็นตรงกันข้ามกันในเรื่องปัญหาการเมือง คงยากที่จะยุติลงด้วยการให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะต่างฝ่ายมีความเชื่อ ความชอบ และความไม่ชอบในทางการเมืองแตกต่างกัน ดังนั้น จงอย่างเสียเวลาไปโต้แย้งกันเลย เพราะถึงอย่างไร ท่านคงยากที่จะเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่ายหนึ่งให้หันมา ยอมรับความคิดของท่านได้
ถ้าเช่นนั้น ควรจะทำเช่นไร ผมขอแนะนำว่า ในเวลาท่านนั่งสมาธิ ให้ลองเอาปัญหาดังกล่าวไปพิจารณาในสมาธิดู โดยพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงของการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่เที่ยงแท้ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปในที่สุด หากทำได้เช่นนี้ ท่านก็จะคลายทุกข์ และก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจง ตอบโต้ ฝ่ายที่มีความคิดเห็นตรงกันข้ามแต่อย่างใด สู้ปล่อยให้เรื่องผ่านไปเฉยๆ โดยที่ท่านไม่ต้องพยายามทำอะไรจะดีกว่า
6.สรุป
แท้ที่จริง การที่คนเรารู้สึกว่า ตนเองมีความทุกข์ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความคิดของเราเองว่า จะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น พอได้สัมผัสในสิ่งที่ไม่ชอบ ก็จะเกิดความทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดจากการได้เห็น การได้ยินการได้ฟัง การได้ดมกลิ่น การได้ลิ้มรส การได้สัมผัสด้วยกาย และการนึกคิดเอาเอง
ข้อแนะนำง่าย ๆ ในการคลายทุกข์คือ ต้องรู้จักฝึก ปล่อย วาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า จะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น เพราะทุกอย่างล้วนไม่เที่ยงแท้ แน่นอน เป็นเพียงสิ่งสมมุติ ไม่มีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นลาภหรือการเสื่อมลาภ ยศหรือการเสื่อมยศ สุขหรือทุกข์ สรรเสริญหรือนินทา หรือแม้แต่คำวิพากษ์วิจารณ์ หรือคำติชม ล้วนแล้วอยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง และอนัตตา
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม-ความทุกข์ใจของเราในยุคปัจจุบันนี้ เข้ามาได้กี่ช่องทาง
ตอบ–ความทุกข์ใจของคนเราทุกวันนี้ ก็เหมือนความทุกข์ของบรรพบุรุษของเรา คือ เข้ามาได้ 6 ช่องทาง ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อมีสิ่งใดมากระทบ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ จะทำให้จิตของเราไม่สงบ ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์โกรธ เกลียด รักชอบ หรือหลง แต่ความแตกต่างอยู่ที่สังคมปัจจุบันมีช่องทางในการส่งข้อมูลข่าวสารหลายช่องทางมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางสื่อสังคมต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
ถาม-ความทุกข์อันเกิดจากการดูข่าวสารทางทีวี หรือทางมือถือ อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ที่เข้ามาทางช่องทางใด
ตอบ-การดูข่าวสารทางทีวี หรือมือถือ อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ที่เข้ามาทางตา และทางหู เพราะมองเห็นภาพ ได้อ่านข้อความ และได้ยินเสียง
ถาม-ทำไมจึงกล่าวว่า หากมีความเห็นต่างกันในเรื่องการเมืองก็ดี เรื่องศาสนาก็ดี คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนที่มีความเข้าใจต่างกัน หันมาเข้าใจเหมือนกันหรือตรงกันได้ หากไม่มีความจำเป็นก็อย่าไปพูดคุยหรือโต้แย้งกับคนที่เราทราบชัดเจนอยู่แล้ว มีความเข้าใจแตกต่างจากเรา
ตอบ- การเมืองก็ดี ศาสนาก็ดี เป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ที่ฝังลึกอยู่ข้างในกจิตใต้สำนึก หากใครมีความเชื่อ หรือความศรัทธา ที่แตกต่างไปจากเราในเรื่องดังกล่าว เขาก็จะยังคงฝังใจด้วยการเชื่อหรือชอบในเรื่องนั้นต่อไป ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
การเมืองเป็นเรื่องของอุดมการณ์ คนมีอุดมการณ์ต่างกัน ย่อมมีความเข้าใจและความเชื่อที่แตกต่างกัน
ศาสนาเป็นเรื่องของคำสอนของศาสดาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตว่า อย่างไรคือความดี อย่างไรคือความชั่ว แม้ทุกศาสนาจะสอนให้ทุกคนเป็นคนดี แต่รายละเอียดของคำสอนหลายอย่างจะแตกต่างกัน ดังจะเห็นแต่ละศาสนาก็ยังแบ่งย่อยออกเป็นหลายนิกาย และบ่อยครั้งก็จะมีความขัดแย้งของคนนับถือศาสนาเดียวกัน แต่ต่างนิกายกัน
ดังนั้น หากเราคิดว่า เราปรารถนาดีอยากให้เขาทราบข้อเท็จจริงและมีมุมมองเหมือนเรา ก็คงยากที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ทางที่ดีก็อย่านำเรื่องมาพุดคุยกันดีกว่า เพราะถ้านำมาพูดคุยย่อมจะทำให้เกิดการโต้เถียง นำไปสู่ความขัดแย้ง และความทุกข์ในที่สุด
หาก รู้จัก การ ปล่อย วาง โดยไม่พยายามไปเปลี่ยนความคิดของเขาในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทนา ความทุกขฺ์ก็จะลดน้อยลง
ถาม- ทำไมจึงกล่าวว่า ความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากใจมากที่สุด
ตอบ- ความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากใจมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส และกายได้สัมผัส หากใจไม่เก็บไปคิดว่า เป็นทุกข์ ความทุกข์ก็ไม่เกิด
ยิ่งกว่านั้น แม้แสนจะสุขสบายทุกอย่าง แต่ใจคิดฟุ้งซ่านว่าไม่ดีอย่างนี้ไม่ดีอย่างนั้น ความทุกข์ก็จะเกิด เปรียบเสมือนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย พอได้ข้อมูลข่าวสารบางอย่างของต่างประเทศ เกิดชอบใจขึ้นมา กลับนำมาคิดเปรียบเทียบกับประเทศตนเอง จนกลายเป็นคนชังชาติขึ้นมา เห็นอะไรเป็นของต่างชาติว่าดีไปหมด และอะไรที่เป็นของชาติตนเองว่า ไม่ดีหรือเลวไปหมด
แต่ถ้ารู้จัก การ ปล่อย วาง ความทุกข์ก็จะลดน้อยลง
ถาม-พระปิดหู ปิดตา หมายความว่าอย่างไร
ตอบ- พระปิดหู่ ปิดตา เป็นคำสอนทางอ้อม เพื่อแสดงว่า หากอยากมีจิตใจที่สงบ ไม่มีทุกข์ จงปิดหู ปิดตาเสีย
ถาม- ช่วงนี้เป็นเวลาที่ข้าราชการสังกัดกระทรวง และกรมต่าง ๆ เกษียณอายุราชการ มีข้อคิดหรือข้อแนะนำอะไรไหม
ตอบ-มีเล็กน้อย เป็นข้าราชการจนถึงวันเกษียณอายุได้ ถือว่าเยี่ยมยอดแล้ว นับจากนี้ไป จงรู้จักปล่อยวางจากการเคยมีอำนาจหน้าที่ ขอให้มีความสุขจากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง มีจิตใจแจ่มใส เพื่อจะได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างมีคุณค่า