กลยุทธ์ไปสู่ ความสำเร็จ ในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ของไทย เป็นบทความลำดับที่ 14 ของหมวด 2 ประสบการณ์ในการบริหารและแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต โดยจะกล่าวถึง ความนำ กลยุทธ์แห่งความสำเร็จในการต่อสู้เอชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก ผลกระทบจากกลยุทธ์แห่งความสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 รอบแรก ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยรอบใหม่ กลยุทธ์ไปสู่ความสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เปรียบเทียบข้อแตกต่างของมาตรการรอบแรกและรอบใหม่ สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
เหตุการณ์ในบ้านเมืองเราในช่วงเวลาหลังขึ้นปีใหม่ 2564 คงไม่มีอะไรที่อยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยทุกภาคส่วนมากเท่ากับการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่แพกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นก็ได้มีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศอีกหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว
ต่อมาก็มีข่าวการแพร่ระบาดจากการมั่วสุมเล่นการพนันในบางจังหวัด เช่น ระยอง กรุงเทพมหานคร ชลบุรี จันทบุรี รวมทั้งมีการแพร่ระบาดจากการจัดงานปาร์ตี้ในอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ในไทยนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดรอบแรกแล้ว ถือได้ว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ เป็นไปอย่างรวดเร็วมากกว่า
คำถาม คือ ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้อำนาจสั่งการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเหมือนคราวที่แล้ว แต่กลับมอบอำนาจให้แต่ละจังหวัดสามารถใช้อำนาจตัดสินใจดำเนินการได้เองภายใต้กรอบที่รัฐบาลได้วางไว้ ทำให้เกิดข้อสงสัยและข้อวิตกกังวลในหมู่ประชาชนกันมากว่า การมอบอำนาจให้แต่ละจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีอำนาจกำหนดกลยุทธ์และตัดสินใจด้วยตนเอง จะสามารถแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ได้จริงหรือไม่
2.กลยุทธ์แห่งความสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก
ในบทความของหมวด 2 ประสบการณ์ในการบริหารและแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤต ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดในรอบแรกไว้หลายบทความ แต่ในที่นี้ผมจะนำมากล่าวไว้สัก 3 บทความ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพว่า รัฐบาลได้ใช้กลยุทธ์อะไรจึงทำให้ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดในรอบแรกได้เป็นอย่างดียิ่ง จนเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องในระดับนานานาชาติ
2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดตั้งองค์กร และการสร้างกลไกในการบริหาร
2.1.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายกรัฐมนตรีด้วยความเห็นชอบขอบคณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และหลังจากนั้น ก็ได้ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีขยายเวลาออกไปเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
2.1.2 การจัดตั้งองค์กรในการแก้ปัญหา
รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเรียกย่อว่า “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และให้โอนอำนาจสั่งการของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีตามความจำเป็นแก่สถานการณ์เป็นการชั่วคราว เพื่อให้การสั่งการและการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
2.2.3 การสร้างกลไกในการบริหาร
ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ตำแหน่งที่สำคัญและมีบทบาทมากได้แก่
– ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
– ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2.2 บทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดและฝ่ายปกครอง
2.2.1 ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กำกับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่ตนรับผิดชอบ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
2.2.2 ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจในการออกมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาของการเกิดโรคระบาดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง
รวมทั้งการประกาศห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง และการประกาศปิดสถานที่เสียงต่อการเกิดโรคเป็นการชั่วคราว เช่น สนามมวย การแสดงหรือการเล่นละครสาธารณะ สถานประกอบการ อาบ อบนวด และนวดแผนโบราณ สถานที่ออกกำลังกาย และสถานบันเทิง
2.2.3 การผนึกกำลังทหารตำรวจ และฝ่ายปกครองในการจัดตั้งด่านตรวจตราบุคคลผู้ออกนอกเคหสถานในเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
2.3 บทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดและฝ่ายปกครองในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ต่อ)
2.3.1 การกักกันตนเอง 14 วัน
2.3.2 การเดินทางข้ามเขตจังหวัดโดยไม่จำเป็น
2.3.3 มาตรการในการป้องกันโรคและคำแนะนำในการทำกิจกรรมอื่น
เช่น การใช้หน้ากากอนามัย การผ่านจุดคัดกรอง
3.ผลกระทบจากกลยุทธ์แห่งความสำเร็จเอาชนะโรคโควิด-19 รอบแรก
แม้การกำหนดมาตรการหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลกที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค โควิด-19 ไม่ให้แพร่ระบาดออกไปจนกระทั่งสามารถทำให้อัตรายอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ภายในประเทศรายวันหยุดนิ่ง ยกเว้นผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างประเทศและยอมรับการเข้ากักกันตัวของรัฐบาลเพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคระบาดออกไปในวงกว้าง แต่การกำหนดมาตรการที่เรียกว่าฉีดยาแรงก็ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมากเช่นกัน
โดยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกพระราชกำหนดกู้เงินมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากรคโควิด-19 ระบาดรอบแรกมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท
อาจพิจารณาผลกระทบจากการกำหนดมาตรการหรือกลยุทธ์ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดในรอบแรกของรัฐบาลไทย ออกเป็น 3 ด้าน คือ
3.1 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
โรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก เริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาได้มีการแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ประเทศไทยได้ใช้ยาแรงในการแก้ปัญหาด้วยการล็อกดาวน์ประเทศชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ จนน่าเชื่อได้ว่า สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว เพียงแต่รอเวลาให้ได้วัคซีนมาใช้เท่านั้น
การใช้ยาแรงถึงขั้นล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดียิ่ง จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
3.2 ด้านเศรษฐกิจ
แม้การล็อกดาวน์ประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้รวดเร็ว แต่ก็ทำให้มีผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจโดยตรง หลายกิจการต้องปิดตัวลง ผู้คนหลากหลายอาชีพต้องตกงาน
ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวต้องหดตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้เหมือนอย่างทุกปี ทำให้ธุรกิจที่คอยหวังพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรแรมในพื้นที่จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
รัฐบาลเองต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ให้พอประทังอยู่ได้ มีทั้งงบประมาณเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในหลายสาขาอาชีพ งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ ในขณะที่รายได้ของประเทศหดตัวเก็บภาษีได้น้อยลงกว่าเดิมเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากการส่งออกหดตัวลงมาก
3.3 ด้านการเมือง
ปัญหาเศรษฐกิจที่ว่าหนักหนาอยู่แล้ว หากไม่ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองที่ถาโถมเข้ามาจากพวกสร้างม็อบฉวยโอกาสตั้งข้อเรียกร้องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติโดยตรง การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ก็จะน่าพอทำได้โดยไม่หยุดชะงักลง
การที่บ้านเมืองไม่สงบในยามเกิดภาวะวิกฤต เพราะผู้ก่อกวนความไม่สงบมุ่งจะฉวยโอกาสที่รัฐบาลหรือประเทศชาติกำลังเผชิญปัญหาระดับโลกอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมเป็นการซ้ำเติมการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติให้ยากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
4.ข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทยในปัจจุบัน
ตามข้อมูลของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ตัดยอดวันที่ 2 มกราคม 2564 จังหวัดที่มีติดเชื้อโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ จำนวน 53 จังหวัด โดยอาจแบ่งจำนวนจังหวัดตามยอดผู้ติดเชื้อได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

4.1 จังหวัดที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 50 ราย มีอยู่ 6 จังหวัด คือ (สีแดง)
สมุทรสาคร 1,739 ราย
ระยอง 316 ราย
ชลบุรี 207 ราย
กรุงเทพ ฯ 180 ราย
สมุทรปราการ 57 ราย
4.2 จังหวัดทีมียอดผู้ติดเชื้อสะสม ระหว่าง 11-50 ราย มีอยู่ 8 จังหวัด คือ (สีส้ม)
นนทบุรี 50 ราย
จันทบุรี 44 ราย
เพชรบุรี 22 ราย
ปทุมธานี 15 ราย
ฉะเชิงเทรา 13 ราย
สมุทรสงคราม 12 ราย
ตาก 12 ราย
สระบุรี 11 ราย
4.3 จังหวัดทีมียอดผู้ติดเชื้อสะสมระหว่าง 1-10 ราย มีจำนวน 39 จังหวัด คือ (สีเหลือง)
ราชบุรี 10 ราย
สุพรรณบุรี 9 ราย
นครราชสีมา 8 ราย
ชัยภูมิ 7 ราย
กระบี่ 6 ราย
ชัยนาท 6 ราย
พระนครศรีอยุธยา 6 ราย
พิจิตร 4 ราย
ตราด 4 ราย
อุตรดิตถ์ 4 ราย
นครศรีธรรมราช 2 ราย
กำแพงเพชร 2 ราบ
นครสวรรค์ 2 ราย
ปราจีนบุรี 2 ราย
สงขลา 2 ราย
สตูล 2 ราย
สระแก้ว 2 ราย
สุรินทร์ 2 ราย
เชียงใหม่ 1 ราย
ตรัง 1 ราย
นราธิวาส 1 ราย
ลำปาง 1 ราย
เพชรบูรณ์ 1 ราย
ลพบุรี 1 ราย
เลย 1 ราย
สุโขทัย 1 ราย
สุราษฎร์ธานี 1 ราย
อ่างทอง 1 ราย
อุดรธานี 1 ราย
อุบลราชธานี 1 ราย
ระนอง 1 ราย
อำนาจเจริญ 1 ราย
มหาสารคาม 1 ราย
หนองคาย 1 ราย
กาญจนบุรี 1 ราย
ลำพูน 1 ราย
4.4 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ จำนวน 24 จังหวัด (จังหวัดที่นอกเหนือไปจากจังหวัดตาม 4.1,4.2 และ 4.3)
5.การปรับกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จ
รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้อาศัยข้อมูลจากการบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดรอบแรกมาพิจารณาทบทวนจุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการเศรษฐกิจ ด้านการบริหาร และด้านการเมืองมาวิเคราะห์ แล้วออกเป็นมาตรการหรือกลยุทธ์ในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 เป็น 2 ช่วง คือ
5.1 ช่วงเริ่มต้นของการปรากฏข่าวโรคโควิด-19 ระบาด รอบใหม่ ก่อนจะสิ้นปี 2563
ข่าวการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่จากการติดเชื้อที่ แพกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร รัฐบาลได้กำหนดกลยุทธ์หรือมาตรการตามหลักการและเหตุผล ด้วยการแบ่งพื้นที่การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ออกเป็น 4 โซน คือ
5.1.1 พื้นที่สีแดง
เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เนื่องจากมีพื้นที่ย่อยที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พื้นที่ มีจำนวน 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร
5.1.2 พื้นทีสีส้ม
เป็นพื้นที่ควบคุม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดอยู่ติดกับพื้นที่สีแดง หรือเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก มีอยู่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก) สมุทรสงคราม ราชบุรี และนคปฐม
5.1.3 พื้นที่สีเหลือง
เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื่อไม่เกิน 10 ราย และมีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ มีจำนวน 25 จังหวัด ได้แก่
สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นนทบุรี ปทุมธานี
อุตรดิตถ์ ฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อยุธยา
ภูเก็ต เพชรบุรี นครราชสีมา ปราจีนบุรี กระบี่
ขอนแก่น ชัยนาท อุดรธานี พิจิตร นครศรีธรรมราช
สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชัยภูมิ นครสวรรค์ และอ่างทอง
5.1.4 พื้นที่สีเขียว
เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง มีจำนวน 37 จังหวัด หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่า จะมีผู้ติดเชื้อ
การแบ่งพื้นที่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ออกเป็น 4 โซนดังกล่าว ทำให้สามารถบริหารสถานการณ์ให้สอดคล้องกับความรุนแรงขอการแพร่ระบาดในระยะก่อนจะสิ้นสุดปี 2563 โดยต้องการจะให้ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงแคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ประกอบกับคงไม่อยากจะให้เป็นอุปสรรคแก่ประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเที่ยวฉลองเทศกาลปีใหม่ 2564 ดังนั้น มาตรการที่ออกมาจึงดูไม่เข้มข้นมากนัก
การบริหารจัดการในช่วงแรกนี้ บทบาทหลักอยู่ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสีแดงและสีส้ม
5.2 การปรับกลยุทธ์ช่วงหลังปีใหม่
หลังจากได้ประเมินสถานการณ์ตามมาตรการช่วงแรกก่อนจะสิ้นสุดปีเก่า 2563 แล้ว รัฐบาลเห็นว่า มาตรการที่ออกมาน่าจะอ่อนจนเกินไปคงไม่สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรวดเร็วได้ เพราะผู้ติดเชื้อหลายคนไม่แสดงอาการและไม่ให้ความร่วมมือในการที่จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูว่าติดเชื้อหรือไม่ ยิ่งกว่านั้น ผู้ติดเชื้อหลายคนยังไปมั่วสุมในบ่อนการพนันและสถานบันเทิง

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ ที่จะใช้บังคับในช่วงวันที่ 4 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 โดยแบ่งพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุม (แบบบูรณาการ) ออกเป็นสามสี คือ
5.2.1 พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง)
มีจำนวน 28 จังหวัด ได้แก่
ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี
สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี
สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา
ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด
ระยอง ชุมพร ระนอง และกรุงเทพ ฯ
5.2.2 พื้นที่ควบคุม (สีส้ม)
มีจำนวน 11 จังหวัด คือ
สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบูรณ์
ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และพังงา
5.2.3 พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเหลือง)
ได้แก่ 38 จังหวัดที่อยู่นอกเหนือไปจากจังหวัดพื้นทีสีแดงตาม 5.2.1 และจังหวัด
พื้นที่ส้มตาม 5.2.2
นอกจากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ท่านผู้อ่านอาจติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวเป็นรายวันจากเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค
5.3 มาตรการดำเนินการพื้นที่ควบคุมสูงสุด
เพื่อให้การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องใช้ยาแรงกับพื้นที่สีแดง โดยกำหนมดมาตรการไว้ 2 ขั้น คือ

ขั้นที่หนึ่ง จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ จะใช้บังคับระหว่างวันที่ 4 มกราคม 2564-1 กุมภาพันธ์ 2564
- ปิดสถานทีเสี่ยง
- จับกุมผู้มั่วสุมผิดกฎหมาย
- ห้ามรวมกลุ่มคน
- ปิดโรงเรียน
- สอนออนไลน์
- ไม่เดินทางข้ามจังหวัด
- Work from Home
- ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก
ขั้นที่สอง กำหนดเวลาปิด-เปิดสถานที่เพิ่มขึ้น
หากการดำเนินการในขั้นที่หนึ่งยังไม่ได้ผล ก็ต้องดำเนินการในขั้นที่สองให้เข้มข้นกว่าขั้นที่หนึ่ง คือ
- ปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น
- เร่งค้นหา
- จับกุมผู้มั่วสุมผิดกฎหมาย
- งดกิจกรรมรวมกลุ่ม
- ควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด
- สถานศึกษายังคงหยุดเรียน
- เร่งรัดการทำงาน Work from Home
- ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง
- จำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน
6.เปรียบเทียบข้อแตกต่างที่สำคัญของสาเหตุของการแพร่ระบาดและมาตรการในการแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบแรก กับมาตรการแก้ในการปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่
ความแตกต่างที่สำคัญของสาเหตุของการแพร่ระบาดและมาตรการในการแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบแรก กับมาตรการในการแก้ปัญหาในการแก้ปัญหาโควิด-19 รอบใหม่ รวมทั้งโอกาสและอุปสรรค คือ
6.1 สาเหตุของการแพร่ระบาด
การแพร่ระบาดรอบแรก เกิดจากมีผู้ติดเชื้อเพราะได้เดินทางไปหรือมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนการแพร่ระบาดรอบใหม่ เกิดจากมีแรงงานพม่าติดเชื้อเข้ามาทำงานที่ แพกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากนั้นจึงได้มีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ เพราะมีผู้คนจำนวนมากจากทั่วประเทศได้เดินทางมาประกอบกิจกรรมที่แพกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร
นอกจากนี้ ยังได้มีการแพร่ระบาดจากการที่มีผู้เข้าไปมั่วสุมลักลอบเล่นการพนันในบ่อนเถื่อนในพื้นที่บางจังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี กรุงเทพ ฯ จันทบุรี รวมทั้งได้มีการแพร่ระบาดจากการจัดงานปาร์ตี้ เช่น การจัดงานปาร์ตี้ที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่
6.2 การกำหนดพื้นที่
มาตรการรอบแรก ไม่ได้แบ่งพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ออกเป็นโซน ถือว่าทุกพื้นที่ขอบประเทศเป็นพื้นทีสีแดงทั้งหมด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่ากัน
แต่มาตรการรอบใหม่ แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซน คือพื้นทีสีแดง พื้นทีสีส้ม พื้นทีสีเหลือง และพื้นที่สีเขียว
6.3 โอกาสและอุปสรรค
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรก ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ยังไม่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ใด ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจโรคที่ทันสมัยก็ยังไม่มี หน้ากากอนามัยที่จะให้ประชาชนดูแลตนเองก็หายาก วัคซีนก็ยังไม่มี แต่มีเครื่องมือตรวจวัดอุณหภุมิก่อนจะอนุญาตให้บุคคบเข้าไปในที่สาธารณะแล้ว เช่น โรงพยายาล ท่าอากาศยาน ห้างสรรพสินค้าค้าง ๆ

แต่การแพร่ระบาดรอบใหม่ ประเทศไทยรวมทั้งคนไทยได้มีประสบการณ์และองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี โรงพยาบาลมีอุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจโรคที่ทันสมัย หน้ากากอนามัยที่จะให้ประชาชนช่วยตนเองก็หาได้ไม่ยาก ราคาไม่แพง และการผลิตวัคซีนก็เริ่มจะสามารถนำมาใช้ได้ในระยะเวลาอีกไม่นาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องมือแพทย์และอปกรณ์เกี่ยวกับการตรวจหาเชิ้อโรคโควิด-19 จนครบถ้วนทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เป็นจำนวน 123 โรงพยาบาล
7.สรุป
บทความกลยุทธ์ไปสู่ความสำเร็จในการต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ของไทย ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า มาตรการหรือกลยุทธ์ที่รัฐบาลใช้ในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ เป็นการแบ่งพื้นที่การแพร่ระบาดออกเป็นโซน
ในระยะเริ่มแรก แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน คือ พื้นที่สีแดง พื้นที่สีส้ม พื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีเขียว
พื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดคือ พื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดและมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร
พื้นที่สีส้ม เป็นพื้นที่ควบคุม คือ พื้นที่ที่อยู่ติดหรืออยู่ใกล้ศูนย์กลางของการแพร่ระบาด หรือมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มจะแพร่ระบาดอีกต่อไป มีอยู่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม ราชบุรี และนครปฐม
พื้นที่สีเหลือง เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง คือ พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย และไม่มีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดออกไป เพราะสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ มีจำนวน 25 จังหวัด
ส่วนพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง คือ พื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ จำนวน 37 จังหวัด
มาตรการระยะหลังปีใหม่ 2564 ใช้บังคับระหว่างวันที่ 4 มกราคม 2654 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 06.00 น.
เนื่องจากจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เพิ่มเป็นจำนวน 53 จังหวัด หรือเป็นพื้นที่ค่อนประเทศ แสดงให้เห็นว่า มาตรการในระยะแรกยังไม่ได้ผล จึงได้ปรับการแบ่งพื้นที่เสียใหม่ออกเป็น 3 สี คือ สีแดง สีส้ม และสีเหลือง โดยตัดสีเขียวออกไป
พื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีจำนวน 28 จังหวัด
พื้นที่สีส้ม เป็นพื้นที่ควบคุม มีจำนวน 11 จังหวัด
และพื้นที่สีเหลือง เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศ
ส่วนความคิดเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ในหัวข้อคุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนากับผมในวันนี้ คือ คุณพัด (ชื่อสมมุติ)
คุณพัด เคยเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ปริญญาโท รามคำแหง ของผม ปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพรับราชการได้เป็นถึงนายอำเภอ อำเภอหนึ่งในภาคอีสาน และเท่าที่ติดตามผลงานใน facebook ผมเห็นว่า คุณพัดเป็นนายอำเภอที่ติดดินและเข้าถึงประชาชนและมวลชนได้อย่างดีทีเดียว

“สวัสดีคุณพัด วันนี้อาจารย์อยากจะชวนคุยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่หน่อยว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาหรือจุดอ่อนในทางปฏิบัติอย่างไร ” ผมทักทายแบบคนคุ้นเคยกัน
“สวัสดีครับอาจารย์ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างมาก ที่กรุณาให้เกียรติ เชิญผมมาพูดคุยในวันนี้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ขอเชิญอาจารย์กำหนดประเด็นได้” คุณพัดแสดงความพร้อม
“ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ขอกำหนดประเด็นในการสนทนาวันนี้เป็น 2-3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก คุณพัดมองเห็นความแตกต่างระหว่างมาตรการในการแก้ปัญหาโควิดระบาดรอบแรก กับการแก้ปัญหาโควิดระบาดรอบใหม่อย่างไร
ประเด็นที่สอง ในฐานะนายอำเภอคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาโควิดระบาด มองเห็นปัญหาหรือจุดอ่อนในทางปฏิบัติอย่างไร
ประเด็นที่สาม ความเห็นหรือข้อเสนอแนะ ”
ผมกำหนดประเด็นกว้าง ๆ ไว้ก่อน
“ ดีครับอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ผมขอแสดงความเห็นในประเด็นแรกเลยนะครับ
ผมมองเห็นว่า มาตรการต่อสู้โรคโควิด-19 ระบาดรอบแรก เป็นมาตรการที่ใช้บังคับเข้มข้นเท่าเทียมกันทั่วประเทศ จึงมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดีมาก แต่ก็ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเช่นกัน
แต่มาตรการรอบใหม่ แบ่งพื้นที่ในการแก้ปัญหาออกเป็นสี เริ่มต้นแบ่งเป็นพื้นทีสีแดง พื้นทีสีส้ม พื้นที่สีเหลือง และพื้นที่สีเขียว ต่อมาได้ปรับเป็นพื้นที่สามสี โดยตัดพื้นทีสีเขียวออก ดั้งนั้น มาตรการในแต่ละพื้นที่ ความเข้มข้นจึงไม่เท่าเทียมกัน
การที่รัฐบาลกำหนดมาตรการรอบใหม่ ไม่เหมือนมาตรการรอบแรก น่าจะพิจารณาผลกระทบด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ด้านการบริหาร และด้านการเมือง แล้วกำหนดจุดสมดุลระหว่างด้านต่าง ๆ ” คุณพัดตอบกลาง ๆ อย่างระมัดระวัง
“ อาจารย์เห็นว่า คุณพัดแสดงความเห็นในประเด็นแรกได้ชัดเจนแล้ว ขอเชิญแสดงความเห็นในประเด็นที่สองเลย ” ผมกระตุ้นให้แสดงความเห็นต่อ
“ ของคุณครับอาจารย์
ในประเด็นที่สอง ในฐานะผู้ปฏิบัติ ผมคิดว่า การแบ่งพื้นที่ออกเป็นสีแดง สีส้ม และสีเหลือง แม้ว่าอาจจะฟังดูดีในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหาในการเชื่อมต่อระหว่างพื้นทีสีต่าง ๆ ว่าจะสามารถควบคุมการเคลื่อนย้ายของบุคคลที่ติดเชื้อแต่ยังไม่ยอมแสดงตน จากพื้นที่สีแดงหรือสีส้มไปยังพื้นที่สีเหลืองได้จริงหรือไม่
การจะควบคุมการเคลื่อนย้ายของบุคคลจากพื้นที่สีแดงหรือสีส้มไม่ให้ไปสู่พื้นที่สีเหลือง โดยพื้นทีสีเหลืองไม่ได้มีมาตรการควบคุมมิให้บุคคลจากพื้นที่สีแดงหรือสีส้มเข้าในพื้นที่สีเหลืองอย่างจริงจัง บุคคลผู้ติดเชื้อจากพื้นที่สีแดงหรือสีส้ม ก็มีโอกาสจะหลงเล็ดลอดเข้าไปในพื้นที่สีเหลืองได้”
คุณพัดตอบตามที่มองเห็น
“ในประเด็นนี้ อาจารย์คิดว่า คุณพัดตอบได้ชัดเจนดีเช่นกัน ขอเชิญประเด็นสุดท้ายเลย ”
“ในประเด็นสุดท้าย ผมมีข้อคิดเห็นว่า การที่รัฐบาลได้เลือกกลยุทธ์ด้วยการแบ่งพื้นที่ในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ออกเป็น 3-4 สีดังได้กล่าวมาแล้ว คงเป็นเพราะรัฐบาลไม่อยากจะให้ประชาชนในพื้นที่มีการแพร่ระบาดน้อยหรือยังไม่มีการแพร่ระบาด ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ประชาชนก็ต้องรู้จักการช่วยตนเอง เช่น การสวมหน้ากากอนามัยเต็ม 100 หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปมั่วสุมเล่นการพนัน หรือไปร่วมประชุมหรือชุมนุมในพื้นที่ทีมีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน

ส่วนข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็ต้องหมั่นออกตรวจตราแนะนำ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระดับล่างให้เอาใจใส่ในการติดตามข่าวคราวคนเข้า-ออกพื้นที่ หากเห็นผิดสังเกตก็จะได้เอาตัวมาตรวจดูเชื้ออย่างทันท่วงที ”
คุณพัดตอบแบบนักปกครองผู้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหามายาวนาน
“ อาจารย์คิดว่า คุณพัดตอบในประเด็นสุดท้ายได้ดีทีเดียว เป็นอันว่า หากประชาชนให้ความร่วมมือดูแลตนเอง และแจ้งข่าวสารให้ทางราชการทราบ การต่อสู้เอาชนะโรคโควิด-19 ระบาดรอบใหม่นี้ก็คงจะเป็นไปได้ภายในระยะเวลาอันไม่นานนัก
ขอขอบคุณ คุณพัดมากที่สละเวลามาคุยกับอาจารย์ในวันนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีแก่ท่านผู้อ่าน ขอให้เจริญก้าวหน้าในอาชีพราชการต่อไปเรื่อย ๆ นะคุณพัด อาจารย์เอาใจช่วยเสมอ
โอกาสหน้าอาจารย์จะเชิญมาสนทนากันใหม่นะ ” ผมกล่าวยุติสนทนา
“ด้วยความยินดีครับอาจารย์ ”
ดร.ชา
4/01/21
ในฐานะประชาชน หนูให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคค่ะ เช่น หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน ออกนอกบ้านใส่หน้ากากทุกครั้งค่ะ
ดีแล้ว คุณณัชชา ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติและพวกเราทุกคน