รูปแบบการปกครองของ สิงคโปร์ เป็นระบบเผด็จการรัฐสภาจริงหรือไม่ เป็นบทความลำดับที่ 14 ของหมวดเรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะเล่าถึง ความนำ ลี กวน ยู รัฐบุรุษและบิดาประเทศ รูปแบบการปกครองของสิงคโปร์ สิทธิมนุษยชน วิเคราะห์ สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

Table of Contents
1.ความนำ
ในยุคที่พรรคไทยรักไทย สามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ โดยมี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงปีพ.ศ.2544-2549 ไม่ต้องจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม ประกอบกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็เป็นเครือข่ายเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างที่เรียกกันว่า สภาผัวสภาเมีย ทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ในยุคนั้นอย่างหนึ่ง คือ การถ่วงดุลอำนาจอ่อนแอ รัฐบาลต้องการจะเสนอกฎหมายอะไรก็ได้หมด เพราะฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ฝ่ายเสียงข้างมาก เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ทำให้สังคมไทยในยุคนั้นเรียกว่า ยุคเผด็จการทางรัฐสภา โดยมีการเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์หรือเมืองลอดช่อง
ดังนั้น บทความนี้จึงต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองของประเทศนี้ มาวิเคราะห์ว่า เป็นระบบเผด็จการทางรัฐสภาจริงหรือไม่
2.ลี กวน ยู บิดาและรัฐบุรุษของประเทศ

ในบทความ (12) ประเทศ สิงคโปร์ เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้เล่าให้ทราบแล้วว่า ประเทศนี้ เดิมเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษยอมให้ประเทศนี้ ได้ปกครองตนเอง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 1959 หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมเป็นประเทศเดียวกันกับมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1963 แต่เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งในด้านนโยบาย ด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทำให้ถูกขับออกมาจากมาเลเซีย จึงต้องสถาปนาเป็นประเทศเกิดใหม่โดยลำพังเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1965
ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของเมืองลอดช่อง (17 กันยายน 2466-23 มีนาคม 2558)
การที่เมืองลอดช่องสามารถเอาตัวรอดได้แม้ยามวิกฤตที่ถูกขับออกจาสหพันธรัฐมาเลเซีย ก็เพราะได้ผู้นำที่เก่งและมีวิสัยทัศน์อย่างไกลอย่างยิ่ง คือ ลีกวนยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานร่วม 30 ปี ระหว่างปี ค.ศ.2502-2533 โดยเขาได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) คนแรก และนำพรรคให้ชนะการเลือกตั้ง 8 สมัยต่อเนื่องกัน
เขาเป็นผู้ควบคุมการแยกเมืองลอดช่องออกจามาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2508 และสามารถผลักดันให้ประเทศนี้ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเสือตัวหนึ่งของเอเชีย ทำให้เขาได้รับยกย่องว่า เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียคนหนึ่ง
หลังจากวางมือในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ.2533 นายกรัฐมนตรีคนที่สอง คือ โก๊ะ จก ตง ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีอาวุโส และเมื่อลี เซียน ลุง บุตรชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปีพ.ศ.2508 ได้แต่งตั้งเขาเป็น รัฐมนตรีที่ปรึกษา จนกระทั่งปีพ.ศ.2554 เขาจึงประกาศวางมือจากคณะรัฐมนตรี แต่ยังเป็นสมาชิกรัฐสภาอยู่
ลี กวน ยู ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2558 ในขณะมีอายุได้ 92 ปี
3.รูปแบบการปกครองของสิงคโปร์
ตาม Wikipedia นับตั้งแต่ได้ถือกำเนิดเป็นประเทศ เมื่อ พ.ศ.2508 เมืองลอดช่องได้ใช้รูปแบบการปกครองประเทศเป็นสาธารณรัฐ ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสงสุดของประเทศ มาโดยตลอด ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบอบอื่น
3.1 ประธานาธิบดี ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี เป็นประมุขของประเทศ และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (commander-in-chief of the military) มีอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย และมีอำนาจอันจำกัดในดูการบริหารประเทศของรัฐบาล
ประธานาธิบดี ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในวาระ 6 ปี มีข้อน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ มีการสงวนตำแหน่งประธานาธิบดีให้แก่กลุ่มเชื้อชาติ หากปรากฏว่า ไม่มีคนในกลุ่มเชื้อชาตินั้นได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง 5 สมัยล่าสุด บุคคลในกลุ่มเชื้อชาตินั้นเท่านั้น ที่จะมีคุณสมบัติในการสมัครเป็นประธานาธิบดี
3.2 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร บังคับใช้กฎหมาย และนโยบาย
3.3 ฝ่ายนิติบัญญัติ
เป็นระบบสภาเดียว (unicameral parliament) มีอำนาจในการออกกฎหมาย อนุมัติงบประมาณ และตรวจสอบการบริหารงานตามนโยบายของรัฐบาล
สมาชิกสภารัฐสภา ได้รับเลือกตั้งอยู่ในวาระ 5 ปี ปัจจุบันมีจำนวน 100 คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
3.3.1 เป็นสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จำนวน 88 คนจาก 29 เขตเลือกตั้ง
3.3.2 เป็นสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีจำนวน 9 คน โดยแต่งตั้งจากฝ่ายไม่สังกัดพรรคใด (nonpartisan)
3.3.3 เป็นสมาชิกที่ไม่ได้อยู่เขตเลือกตั้งที่ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอชื่อ จำนวน 3 คน (non-constituency members from opposition parties) ซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เพื่อเพิ่มจำนวนผู้แทนจากพรรคฝ่ายค้าน
การสมัครเป็นสมาชิกประเภท 3.3.1 จะต้องสมัครเป็นทีม โดยในทีมผู้สมัครจะต้องมีตัวแทนจากกลุ่มเชื้อชาติอย่างน้อย 1 คน
การเลือกตั้งเป็นการเลือกแบบรอบเดียว (first-past-the-post-voting)
พรรคกิจประชาชน เป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งเป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภามาโดยตลอด ตั้งแต่ได้รับอนุญาตจากอังกฤษให้ปกครองตนเองเมื่อปี ค.ศ.1959 โดยมีพรรคฝ่ายค้านที่สำคัญคือ พรรคคนงาน (Worker’s Party)
3.4 ฝ่ายตุลาการ
ประกอบด้วยศาลสูง และศาลแห่งรัฐ ประธานาธิบดี เป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษา ศาลมีอำนาจในการตีความกฎหมาย และเพิกถอนกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ระบบศาลของเมืองลอดช่อง เป็นระบบจารีตประเพณีแบบอังกฤษ โดยใช้บังคับต่อเนื่องจากช่วงตกเป็นอาณานิคม แต่ระบบลูกขุนได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี ค.ศ.1970 ส่วนการลงโทษด้วยการทุบตี (caning punishment) และการลงโทษประหารชีวิต (capital punishment) ยังคงใช้บังคับกับคดีที่มีความร้ายแรงอยู่
4.สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
ในมุมมองของโลกตะวันตก เมืองลอดช่อง เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาในด้านสิทธิเสรีภาพ ดังจะเห็นได้จากเมื่อปี ค.ศ.2020 สิงคโปร์ได้รับอันดับที่ 158 ในจำนวน 180 ประเทศในด้านดัชนีเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก (Worldwide Freedom Index) ทั้งนี้เพราะในอดีต รัฐบาลจำกัดเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ และยังจำกัดสิทธิทางการเมืองและสิทธิของประชาชนบางประการ ทำให้เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า ประชาธิปไตยมีตำหนิ (flawed democracy)
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015 พรรคกิจประชาชนได้รับเลือก 83 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 89 ที่นั่ง ด้วยคะแนนนิยมร้อยละ 70 และในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2020 พรรคกิจประชาชน ได้รับเลือก 83 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 93 ที่นั่ง คิดเป็นคะแนนนิยมของประชาชนร้อยละ 63
องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) รายงานว่า บทบัญญัติบางอย่างของสิงคโปร์ขัดต่อหลักการที่ว่า ต้องถือว่า บุคคลบริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง อย่างไรก็ดี ระบบศาลของประเทศนี้ได้รับการยอมรับว่า น่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
สิงคโปร์โมเดล (Singapore Model)
ในด้านดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชนของประชาชนท เมืองลอดช่องได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุด เมื่อรวมเอาการที่รัฐบาลมีอำนาจเข้มแข็ง มีการปกครองด้วยระบบคุณธรรม (meritocracy) และมีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (good governance) ทำให้เกิดรูปแบบอย่างหนึ่งเรียกว่า สิงคโปร์โมเดล (Singapore model) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการมีระเบียบทางสังคมอย่างผสมกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี
ประเทศนี้ได้รับการจัดอันดับในอันดับสูงในด้านความเป็นระเบียบและความมั่นคง กล่าวคือ การไม่มีคอร์รัปชัน การบังคับใช้กฎหมาย และความยุติธรรม แต่ได้รับการจัดอันดับต่ำในด้านของการเป็นรัฐบาลที่เปิดเผย การจำกัดสิทธิ และข้อจำกัดในด้านอำนาจของรัฐบาล และสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างการชุมนุมของประชาชนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องได้รับอนุญาตจากตำรวจก่อน และการประท้วงที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องจัด ณ ที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น
5.วิเคราะห์ รูปแบบการปกครองของเมืองลอดช่อง เป็นเผด็จการทางรัฐสภาจริงหรือไม่
5.1 เป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลหรือไม่
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นตามข้อ 3 ย่อมเห็นได้ชัดว่า ประเทศนี้มีรูปแบบการปกครองเป็นประเทศสาธารณรัฐ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีการเลือกตั้งตามวาระ พรรคการเมืองมีได้หลายพรรค ไม่ได้จำกัดว่า มีได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น
5.2 หากมีระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากลแล้ว ทำไมจึงมีผู้เปรียบเปรยว่า เป็นระบบเผด็จการทางรัฐสภา
หลังจากได้รับเอกราชและได้สถาปนาเป็นประเทศแล้ว เมืองลอดช่องไม่เคยเปลี่ยนการปกครองเป็นรูปแบบอื่น แต่เนื่องจากได้ผู้นำประเทศที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลอย่าง ลี กวน ยู ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานร่วม 30 ปี จึงทำให้ประเทศนี้เจริญรุดหน้าตลอดเวลา ประกอบการมีตำแหน่งที่ตั้งของประเทศดีตามหลักภูมิรัฐศาสตร์
หลังจากนั้น ลี กวน ยู ยังได้อยู่ช่วยประคับประคองประเทศให้เป็นไปทิศทางที่ถูกต้องต่อไปเป็นเวลา 20 ในตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส และรัฐมนตรีที่ปรึกษา รวมระยะเวลาที่ ลี กวน ยู มีอำนาจหน้าที่และบทบาทในการบริหารประเทศทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกัน 50 ปี ซึ่งทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วชั้นนำของโลกภายในระยะเวลาอันสั้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคกิจประชาชนทีมีลี กวน ยู เป็นเลขาธิการพรรค จึงชนะการเลือกตั้งครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาตลอดมา ทำให้ฝ่ายค้านไม่มีเสียงมากพอที่จะตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลได้ ประกอบกับการที่ประเทศนี้ เคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังจนเป็นที่โจษจันทั่วไป จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้มีคนนำไปโจมตีว่า เมืองลอดช่องมีการปกครองระบบเผด็จการทางรัฐสภา
6.สรุป
เมืองลอดช่อง เป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา มีการเลือกตั้งตามวาระ มีพรรคการเมืองได้หลายพรรค แต่เนื่องจากรัฐบาลภายใต้พรรคกิจประชาชนได้ครองอำนาจพรรคเดียวมาตลอด จึงทำให้มีบางคนเอาไปเปรียบเปรยว่า เป็นเผด็จการทางรัฐสภา
ส่วนความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้
เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณพศิน เช่นเคย

“สวัสดี คุณพศิน เราได้พบกันอีกเป็นครั้งที่สาม ในหัวข้อเกี่ยวกับเมืองลอดช่อง วันนี้เราจะคุยในประเด็นที่หลายคนอาจจะสงสัยมายาวนาน วันนี้เราจะพูดให้ชัดเลย นั่นคือ ประเทศนี้ เป็นประเทศเผด็จการทางรัฐสภาจริงหรือไม่ คุณพศิน สนใจไหม ” ผมกล่าวทักทายพร้อมบอกหัวข้อสนทนา
“สวัสดีครับอาจารย์ หัวข้อที่อาจารย์ว่ามาผมคิดว่า น่าสนใจมาก ” คุณพศินตอบสั้น ๆ
“ก่อนที่จะพูดคุยกันในเรื่องเมืองลอดช่องว่า เป็นเผด็จการทางรัฐสภาจริงหรือไม่ อาจารย์อยากให้คุณพศินพูดถึงความรู้สึกนึกคิดต่อประเทศนี้สักหน่อยว่า เป็นอย่างไร หลังจากที่เราได้คุยกันมาสองครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของการพูดคุยเรื่องเมืองลอดช่อง ” ผมชวนคุยแบบสบาย ๆ ก่อน
“ได้ครับ อาจารย์ ในความเห็นของผม ซึ่งเป็นนักกฎหมาย เมืองลอดช่อง เขามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง ไม่มีการลูบหน้าปะจมูกเหมือนบ้านเรา ดังนั้น ผู้คนเขาจึงมีระเบียบวินัยสูงมาก พอผมลงเครื่องที่สนามบินชางงี เพื่อรอเปลี่ยนเครื่องไปยุโรป มองเห็นได้ชัดว่า บ้านเมืองของเขาดูสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อบดีมาก
การที่คนเมืองลอดช่อง เป็นคนมีระเบียบวินัย จึงทำให้บ้านเมืองเขาดูสะอาดสะอ้านและเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความเจริญก้าวหน้า สมกับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจริง ๆ ” คุณพศินพูดตามความรู้สึกของตน
“ ใช่ อาจารย์เห็นด้วยกับคุณพศิน อาจารย์จำได้ดีเมื่อครั้งที่อาจารย์ได้เดินทางมาศึกษาดูงานกับคณะนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า เมื่อปีพ.ศ.2518-2519 สิ่งที่พวกเราได้รับคำเตือนในช่วงที่เข้าพักในกลางเมืองลอดช่อง คือ ให้ระวัดระวังอย่าทิ้งเศษกระดาษ ก้นบุหรี่ หรือขยะลงบนท้องถนนหรือทางเท้า เพราะจะถูกปรับด้วยอัตราโทษที่หนักทีเดียว
นอกจากนี้ เวลาจะข้ามถนนก็ให้ข้ามบนทางม้าลาย เวลาเปิดไฟเขียวให้คนข้ามได้ จะไปข้ามที่อื่นไม่ได้เด็ดขาด เพราะโทษหนักเหมือนกัน
ด้วยคำเตือนดังกล่าว จึงทำให้พวกเราต้องระมัดระวังมาก จะทำแบบมักง่ายเหมือนในบ้านเราไม่ได้ เพราะกลัวจะถูกลงโทษด้วยอัตราโทษที่สูง ” ผมเล่าความหลังให้คุณพศินฟังบ้าง
“ ผมขอเสริมอาจารย์ในประเด็นนี้นิดหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับบ้านเรา ผมคิดว่าบ้านเรากฎหมายระเบียบดี ๆ และทันสมัยก็มีอยู่มาก แต่บ้านเราก็มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายมากเช่นเดียวกัน
ผมหมายความว่า พอจะบังคับใช้อย่างเข้มงวด ผู้คนก็จะโวยวาย โจมตีเจ้าหน้าที่ว่า เข้มงวดจนเกินไป น่าจะผ่อนผันบ้าง แต่พอเจ้าหน้าที่ผ่อนผันมากเข้า ก็ถูกโจมตีอีกว่า ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่บ้าง มีผลประโยชน์บ้าง สองมาตรฐานบ้าง บ้านเราจึงมักจะวนเวียนอยู่ในเรื่องแบบนี้ ” คุณพศินระบายความรู้สึกออกมา
“ เอานะ เราได้พูดคุยเรื่องราวของเมืองลอดช่องตามความรู้สึกของเราแล้ว คราวนี้เรามาคุยในเรื่องที่กำหนดไว้ คือ เมืองลอดช่อง เป็นประเทศเผด็จการทางรัฐสภาจริงหรือไม่ คุณพศินคิดอย่างไรในเรื่องนี้ ” ผมถามเข้าประเด็นที่กำหนดไว้
ในทัศนะของผมนะ ประเทศนี้เขามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนอย่างบ้านเรานี่แหละ แต่ประเทศเขา เผอิญพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งทุกครั้ง มีอยู่พรรคเดียว จนอาจจะทำให้หลายคนไม่ทราบว่า ประเทศนี้มีพรรคฝ่ายค้านอยู่ด้วยหรือไม่ ทำไมไม่เห็นมีข่าวหรือบทบาทอะไร ” คุณพศินตอบเหมือนคนเตรียมตัวมาดี
“ถูกต้อง คุณพศิน ถ้าเช่นนั้น การที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวครองอำนาจในการปกครองประเทศมาตลอด โดยพรรคการเมืองอื่นไม่มีโอกาสเลย คุณพศินว่า ดีหรือไม่ดี จะถือว่า เป็นการสืบทอดอำนาจไหม ” ผมถามแก่นแท้ประชาธิปไตย
“ ผมคิดอย่างนี้นะครับอาจารย์ การปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา เขาไม่มีการจำกัดวาระว่า เป็นได้ไม่เกินกี่สมัยเหมือนอย่างระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า ระบบประธานาธิบดี ดังนั้น ถ้าตราบใดที่ยังมีการเลือกตั้งตามวาระเป็นปกติ แม้จะมีพรรคการเมืองเพียงเดียวผูกขาดชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็ต้องถือว่า เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการ เพราะพรรคการเมืองที่ส่งคนสมัครรับเลือกตั้งก็มีได้หลายพรรคไม่มีข้อห้าม
แต่เมื่อประชาชนเขาเห็นว่า พรรครัฐบาลที่ได้บริหารประเทศมาเป็นเวลายาวนานอย่างต่อเนื่อง ยังมีผลงานเป็นที่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ ประชาชนก็ย่อมเทคะแนนให้พรรครัฐบาลอยู่แล้ว ” คุณพศินตอบแบบคนเข้าใจการเมืองการปกครองในภาคปฏิบัติเป็นอย่างดี
“ คราวนี้เราลองวกมาคุยเรื่องของบ้านเรานิดหนึ่ง มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นยุคของเผด็จการรัฐสภา ทำไมจึงมีการ กล่าวหากันเช่นนั้น ” ผมดึงคุณพศินให้หันมามองดูบ้านเราบ้าง

“ ในความคิดเห็นของผมนะอาจารย์ บ้านเราในช่วงนั้น น่าจะดูบูดเบี้ยวไปจากหลักประชาธิปไตยสากลไปหน่อยหนึ่ง กล่าวคือ การที่พรรครัฐบาลพรรคเดียวสามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และเป็นเรื่องที่ดี ถ้าพรรคที่ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรมุ่งที่จะออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศจริง ๆ ไม่ใช่อาศัยเสียงข้างมากออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง
ครั้นพอจะไปหวังพึ่งให้วุฒิสภาคอยถ่วงดุล ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะในยุคนั้น สมาชิกวุฒิสภาได้มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แต่อาจารย์คงพอจะมองเห็นภาพได้ว่า หากพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลไม่เป็นฐานเสียงให้ ผู้สมัครเป็นวุฒิสภา ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง เว้นแต่ผู้สมัครบางคนอาจได้สร้างฐานเสียงของตนไว้ก่อน
ดังนั้น จึงเกิดคำเปรียบเปรยว่า เป็นยุคของสภาผัว สภาเมีย คนหนึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ถ้ามีกฎหมายผ่านขึ้นไปหรือถ้ามีเรื่องจะให้วุฒิสภาพิจารณากลั่นกรอง เพื่อถ่วงดุลอำนาจก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะสมาชิกวุฒิสภาฝ่ายเสียงข้างมากมีฐานเสียงเดียวกัน กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเสียงข้างมากเช่นกัน ” คุณพศินร่ายยาวอย่างคล่องแคล่ว
“อาจารย์ขอถามความเห็นหน่อย การที่สมาชิกวุฒิสภามีฐานเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผิดตรงไหน ในเมื่อต่างก็เป็นนักการเมือง ก็ต้องอาศัยเสียงประชาชน ” ผมถามให้คิดลึกหน่อย
“ ที่ผิดก็เพราะว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2540 เขาไม่ต้องการวุฒิสมาชิกสังกัดพรรคการเมือง และไม่ต้องหาเสียงเลือกตั้ง ทำได้แค่แนะนำตัว เนื่องจากต้องการให้เป็นอิสระจากพรรคการเมือง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าไม่ต้องการให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่จำเป็นต้องมีสองสภา เหมือนอย่างสิงคโปร์ เขาเป็นประเทศเล็ก ๆ จึงใช้ระบบสภาเดียว คือ มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีวุฒิสภา ” คุณพศินตอบแบบนักกฎหมายที่มองเห็นการเมืองอย่างทะลุปรุโปร่ง
“ อาจารย์คิดว่า คำตอบของคุณพศินน่าจะชัดเจนพอ และคงจะทำให้หลายคนมีความเข้าใจดีขึ้นในเรื่องของระบบเผด็จการทางรัฐสภาว่า แท้ที่จริงหมายถึงอย่างไร
วันนี้เราคงคุยกันเท่านี้ ขอบคุณคุณ คุณพศินมาก มีโอกาสค่อยคุยกันใหม่ ” ผมกล่าวยุติการสนทนา
“ด้วยความยินดีครับ อาจารย์”
ดร.ชา
20/04/21
แหล่งอ้างอิง
1. https://www.thaigov.go.th/aboutus/history/primeminister/1
2.https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B5_%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B9
3. https://en.wikipedia.org/wiki/Singapore
อาจารย์คะ ภูมิหลังของ ลี กวน ยู คือใครคะ จึงได้มีบทบาทต่อประธานาธิบดีสิงคโปร์
และมีความนิยม ตระกูลนี้จนถึง ปัจจุบันนี้ ขอบคุณค่ะ
เป็นนายกคนแรกของสิงคโปร์ และได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานร่วม 30 ปี
ประชาชนในสิงคโปร์ก็ไม่มีการประท้วงทางการเมือง เกิดขึ้น เป็นเพราะอะไรคะ
หรือ นโยบายทางการเมือง ถูกใจประชาชนทุกคน
ไม่มีสาเหตุที่จะนำมาอ้าง เพราะเขาเป็นประเทศที่พัฒนามากแล้ว