ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการบริหารประเทศ สิงคโปร์ เป็นบทความลำดับที่ 13 ของหมวด 12 เรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ ความหมายของ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สิ่งชี้วัดประสิทธิผล ประสิทธิภาพของสิงคโปร์ สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว ได้เล่าว่า ประเทศ สิงคโปร์ นับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง (high-income economy) และประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) แม้ว่า จะเป็นปะเทศเกิดใหม่เมื่อปี ค.ศ.1965 หรือพ.ศ.2508 และเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ อย่างที่เรียกว่า นครรัฐ (city-state) ที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติก็ตาม
สิงคโปร์ มีขนาดพื้นทีประเทศเพียง 710 ตร.กม. และมีประชากรเพียง 5,850,342 คน แต่สามารถสร้างขนาดเศรษฐกิจของประเทศหรือมีจีดีพี ได้ใกล้เคียงประเทศฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย ซึ่งมีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรเหนือกว่า สิงคโปร์ หลายเท่าได้อย่างน่าอัศจรรย์
ดังนั้น ความน่าสนใจในการศึกษาเรื่องราวของประเทศนี้ในลำดับต่อไป คือ ความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองจนประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งนั่นเอง
2.ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คืออะไร
หากมองการบริหารประเทศตามหลักรัฐประศาสนศาสตร์ (public administration) จะมีคำอยู่สองคำที่มักจะต้องใช้คู่กันเสมอ คือ ประสิทธิภาพ(efficient) และประสิทธิผล (effective)
เหตุที่ต้องใช้คำสองคำดังกล่าวคู่กัน เพราะจะมีการวัดประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่องานหรือโครงการนั้นต้องประสบความสำเร็จหรือมีประสิทธิผลก่อน หลังจากนั้น จึงจะวัดว่า มีการใช้เงินงบประมาณหรือทรัพยากรในการบริหารงานอย่างประหยัดหรืออย่างคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด
ดังนั้น อาจจะให้ความหมายของคำว่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลได้ว่า
ประสิทธิผล หมาย การบริหารงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้
ประสิทธิภาพ หมายถึง การใช้ทรัพยากรในการบริหาร ได้แก่ คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และเวลา เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย อย่างประหยัดหรือคุ้มค่าที่สุด (cost effectiveness)
ในทางปฏิบัติ ก่อนที่จะมีการจัดทำโครงการของรัฐ จะต้องมีการวิเคราะห์โครงการเสียก่อนว่า ในการดำเนินการไปสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีทางเลือก(alternative) กี่ทาง ทางใดน่าจะเป็นทางเลือกดีที่สุดหรือคุ้มค่ามากที่สุด และเมื่อได้ทางเลือกที่ดีที่สุดหรือคุ้มค่ามากที่สุดแล้ว จึงจะนำทางเลือกนั้น ไปดำเนินการตามโครงการ
3.ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริหารประเทศสิงคโปร์
การที่ประเทศสิงคโปร์สามารถพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนได้เป็นประเทศพัฒนาอย่างสูง (highly developed country) และเป็นประเทศชั้นนำของโลก ย่อมแสดงว่า การบริหารประเทศสิงคโปร์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสูงยิ่งในหลาย ๆ ด้าน โดยอาจจะสรุปข้อมูลจาก Wikipedia ได้ดังนี้
3.1 ด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย
หลังจากได้รับเอกราชและประกาศตั้งเป็นประเทศขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2508 สิงคโปร์มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ตามแบบอย่างอังกฤษ อย่างราบรื่นตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยไม่มีปัญหาอะไร จึงทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล เป็นอย่างสูงยิ่ง จนบางครั้ง มีคนเรียกว่า ประชาธิปไตยของสิงคโปร์ เป็นระบบเผด็จการทางรัฐสภา เพราะฝ่ายค้านมีน้อยมากจนไม่สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลได้เลย
การมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ย่อมทำให้รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และทำให้ประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างต่อเนื่อง
3.2 ด้านเศรษฐกิจ
สิงคโปร์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ จนได้รับฉายาว่า เป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย (The Four Asian Tigers) ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง
ระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เป็นระบบเสรี มีนวัตกรรม มีพลังเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง และประกอบธุรกิจอย่างเป็นมิตร (free, innovative, dynamic and business-friendly) ดังจะเห็นได้จาก การที่สิงคโปร์ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ 3 เอ (AAA) ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับสูงยิ่งขนาดนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพลังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างสูง อันเป็นผลมาจากการมีตำแหน่งที่ตั้งของประเทศดี แรงงานมีฝีมือ อัตราภาษีต่ำ โครงสร้างพื้นฐานก้าวหน้า และมีนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันที่เป็นศูนย์ (zero-tolerance against corruption)
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก
( the world’s most competitive economy) ตามที่ World Economic Forum เป็นผู้จัดอันดับจาก 141 ประเทศทั่วโลก พร้อมกับการมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ดังจะเห็นได้จากการมีบรรษัทข้ามชาติจำนวนมากกว่า 7,000 บรรษัทจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป เข้าไปลงทุนในสิงคโปร์
แม้เป็นระบบเศรษฐกิจเสรี แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจเป็นอย่างมากถึงร้อยละ 22 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมและการจัดแสดงอีเวนต์ต่าง ๆ
ยิ่งกว่านั้น สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของเศรษฐีเงินล้านมากที่สุดในโลก กล่าวคือ ทุก ๆ 6 ครัวเรือน จะมีเศรษฐีที่มีเงินอย่างน้อยหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐหนึ่งคน โดยไม่รวมทรัพย์สิน ธุรกิจ และสินค้าฟุ่มเฟือย
3.3 ด้านอุตสาหกรรม
ในด้านอุตสาหกรรม สิงคโปร์ครองอันดับสูงในระดับโลกหลายตำแหน่ง เช่น
เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเงินใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
เป็นศูนย์กลางด้านการคลังใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
เป็นแหล่งคาสิโนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
เป็นศูนย์กลางกลั่นน้ำมันและค้าขายน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
เป็นผู้ผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมัน (oil-rig producer) ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นศูนย์บริการซ่อมเรือ
เป็นศูนย์กลางการขนส่งที่ใหญ่ที่สุด
เศรษฐกิจของสิงคโปร์มีอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริการการคลัง การประดิษฐ์ และการกลั่นน้ำมัน สินค้าออกที่สำคัญคือ น้ำมันปิโตรเลียมกลั่น สินค้าพวกวงจรไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดจีดีพีร้อยละ 27 ในปีค.ศ.2010 นอกจากนี้ยังรวมถึงสินค้าพวกอีเลกทรอนิกส์ สารเคมี วิศวเครื่องกล และวิทยาศาสตร์ชีวแพทย์ และเมื่อปี ค.ศ.2019 มีบริษัทสารกึ่งตัวนำในสิงคโปร์มากกว่า 60 บริษัท ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 11 ของตลาดโลก โดยอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำดังกล่าว สามารถสร้างจีดีพีให้สิงคโปร์ประมาณร้อยละ 7
บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ เป็นบริษัททางด้านโทรคมนาคม ธนาคาร การขนส่ง และภาคการประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การคลังปี 2011 บลูมเบิร์ก(Bloomberg) เคยจัดให้ธนาคารของสิงคโปร์ 3 แห่ง คือ ธนาคาร OCBD ธนาคาร DBS และธนาคาร UOB เป็นธนาคารที่เข้มแข็งที่สุดของโลกลำดับที่ 1,5 และ 6 ตามลำดับ
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำของโลก 3 บริษัท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค
บริษัทชั้นนำของสิงคโปร์ที่รู้จักกันดีทั่วโลก คือ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ท่าอากาศยานชางงี และท่าเรือสิงคโปร์
สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เป็นสายการบินที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในเอเชีย และเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกในลำดับที่ 19 เมื่อปี 2015 ส่วนท่าอากาศยานชางงี เป็นท่าอากาศยานที่มีสายการบินต่าง ๆ นำเครื่องบินขึ้นลง มากกว่า 100 สายการบินไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 300 เมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี 2015 ท่าอากาศยานแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นท่าอากาศยานที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก
ยิ่งกว่านั้น สิงคโปร์ยังเป็นประเทศผู้ลงทุนต่างชาติในอินเดียมากเป็นอันดับที่ 2
สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ส่งสินค้าออกใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 14 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าสินค้าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของโลก
3.4 ด้านการท่องเที่ยว (Tourism)
การท่องเที่ยว จัดเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ เพราะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกทั่วมุมโลก อย่างเช่นเมื่อปี 2018 ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 18.5 ล้านคน คิดเป็น 3 เท่าของจำนวนประชากรสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีผู้คนมาเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับสองของประเทศอาเซียแปซิฟิก เมื่อปี 2019 การท่องเที่ยวได้ก่อให้เกิดรายได้แก่สิงคโปร์ร้อยละ 4 ของจีดีพี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการจ้างงานร้อยละ 8.6 ในปี 2016

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของสิงคโปร์ก็คือ เขตถนนออร์ชาร์ต (Orchard Road District) ซึ่งเป็นแหล่งช้อปปิ้ง นอกจากนี้ยังมีสวนสัตว์ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ
สิงคโปร์ ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์โดยมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารักษาตัวที่สิงคโปร์ปีละประมาณ 200,000 คน ทั้งนี้ สิงคโปร์มีเป้าหมายที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามารักษาตัวอย่างน้อยปีละหนึ่งล้านคน
3.5 โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของเอเชีย ทั้งการขนส่งทางอากาศและทางทะเล ท่าอากาศยานชางกี เป็นศูนย์กลางการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นจุดจอดของสายการบินจากซีดนีย์ไปยังลอนดอน มีสายการบินมากกว่า 300 สายที่เชื่อมเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก จำนวน 70 ประเทศที่ใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้ ท่าอากาศยานชางกี ได้รับการยกย่องจากนิตยสารการท่องเที่ยงนานาชาติว่าเป็นท่าอากาศยานที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก
ท่าเรือสิงคโปร์ เป็นท่าเรือที่มีเรือเข้าออกมากเป็นอันดับสองของโลกในด้านของการคิดค่าธรรมเนียมต่อตัน รองลงมาจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ แต่หากมองในด้านความหนาแน่นของการจราจรทางเรือ และการเป็นศูนย์กลางในเติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือ ท่าเรือสิงคโปร์ จัดเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
3.6 ด้านการศึกษา (Education)
สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีมาตรฐานการศึกษาสูงมาก ดังจะเห็นได้จาก โรงเรียนในสิงคโปร์ทุกโรงมีมาตรฐานเดียวกัน เพราะใช้ข้อสอบเดียวกัน คือข้อสอบแห่งชาติ มีมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 6 แห่ง ในจำนวนนี้มีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) ติดอันดับ 1 ใน 20 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกด้วย

(Wikipedia, Singapore, 13th April 2021)
การเรียนการสอนในโรงเรียนของรัฐ สอนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น สิงคโปร์จึงเป็นศูนย์กลางของนักเรียนนักศึกษานานาชาติ ดังจะเห็นได้จากมีจำนวนนักเรียนนักศึกษานานนาชาติในสิงคโปร์เมื่อปี 2006 มากถึง 80,000 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนนักศึกษาจากฝั่งมาเลเซียข้ามไปเรียนทางยะโฮร์ แบบไปกลับ จำนวน 5,000 คน และเมื่อปี 2009 สิงคโปร์มีนักเรียนนักศึกษานานาชาติมากถึงร้อยละ 20 ส่วนใหญ่มาจากประเทศอาเซียน จีน และอินเดีย
นักเรียนนักศึกษาสิงคโปร์มีความเป็นเลิศในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เมื่อปี 2015 นักเรียนระดับประถมและระดับมัธยมของงสิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งของโลกจากประเทศที่เข้าแข่งขัน 76 ประเทศ ยิ่งกว่านั้น เมื่อปี 2016 นักเรียนนักศึกษาของสิงคโปร์ยังได้คะแนนสูงสุดจากโครงการประเมินนักเรียนนักศึกษานานาชาติ และแนวโน้มของการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นานาชาติ และในปีเดียวกัน ดัชนีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 6 ของโลก จากจำนวนประเทศที่เข้าแข่งขัน 72 ประเทศ และเป็นเพียงชาติอาเซียนชาติเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10
3.7 ด้านสุขภาพ
สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีระบบการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพจะถูกกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วโดยทั่วไป องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับระบบดูแลสุขภาพของสิงคโปร์ อยู่อันดับที่ 6 ของโลก โดยมีอัตราการตายของทารกต่ำที่สุดในโลก และมีอายุขัยสูงที่สุดในโลก อายุเฉลี่ย 84.8 ปี หากเป็นเพศหญิงจะมีอายุขัยมากถึง 87.6 ปี นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีดัชนีด้านความปลอดภัยของอาหารสูงที่สุดในโลกด้วย
4.สรุป
สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างสูงยิ่ง จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสมภาคภูมิ แม้จะเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ มีพื้นที่เพียง 710 ตร.กม. และมีประชากรในปัจจุบันเพียง 5,850,342 คน และไม่ใช่ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก
หากมองในเชิงรัฐประศาสนศาสตร์ อาจจะกล่าวได้ว่า การบริหารประเทศสิงคโปร์ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเป็นอย่างสูงยิ่ง ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จในระดับแถวหน้าของโลกในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการศึกษา
สำหรับความคิดเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้
เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณพศิน คนเดิม ซึ่งเป็นคู่สนทนา เมื่อคราวที่แล้ว

“สวัสดี คุณพศิน วันนี้ เราจะมาคุยในเรื่องราวของประเทศสิงคโปร์ต่อ โดยเนื้อหาหลักอยู่ในเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารประเทศของสิงคโปร์ อาจารย์อยากทราบว่า คุณพศินมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ” ผมทักทายพร้อมกับเปิดทางให้คุณพศินแสดงความคิดเห็นก่อน
“ สวัสดีครับอาจารย์ ในความเห็นของผม ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในความสำเร็จของสิงคโปร์ เป็นผลมาจากนโยบายในการบริหารประเทศ การแบ่งอำนาจการปกครองที่เหมาะสม ความมั่นคงทางการเมือง ประชากรที่มีคุณภาพ มีวินัย และมีระบบการศึกษาที่สมบูรณ์ ” คุณพศินตอบอย่างครอบคลุมราวกับตอบเอาคะแนนสอบไล่
“ ความเห็นของคุณพศิน นับว่าครอบคลุมดีทีเดียว เพราะความจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่วันนี้ เราคงจะเลือกมาคุยกันในบางจุดนะ
เอาเรื่องแรกก่อน เรื่องท่าอากาศยานชางงี ของสิงคโปร์ กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คุณพศินคิดว่า ท่าอากาศยานแห่งใด น่าจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนมากกว่ากัน ” ผมถามในเชิงให้วิเคราะห์
“ เรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า หากมองในแง่ตำแหน่งที่ตั้ง ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของอาเซียนอย่างแท้จริง สนามบินสุวรรณภูมิ น่าจะมีความเหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียนมากกว่า
แต่มองตามข้อเท็จจริง สนามบินชางงี ของสิงคโปร์ เขาสามารถสร้างให้เป็นสนามบินที่ได้รับรางวัลมากที่สุดของโลก หรือพูดง่าย ๆ ว่า สนามบินสิงคโปร์เวลานี้ ทั่วโลกยกย่องให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก มีสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 100 สาย นำเครื่องบินขึ้นลงที่สนามบินแห่งนี้ เพื่อเชื่อมต่อไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 300 เมือง ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 70 ประเทศ ” คุณพศินตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ เกรงจะถูกมองว่า ไม่รักชาติ
“ แสดงว่า ตามข้อเท็จจริง สนามบินชางงีของสิงคโปร์ ปัจจุบัน คือ ศูนย์กลางการบินของประเทศอาเซียน ใช่ไหม ” ผมถามตอกย้ำเพื่อความแน่ใจ
“ ใช่ครับ อาจารย์ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการขนส่งทางทะเล เรายิ่งยากที่จะสู้สิงคโปร์ได้ เพราะท่าเรือของเขาในปัจจุบันนี้ นับว่า เป็นท่าเรือที่มีเรือเข้าออกมากที่สุดในโลก ” คุณพศิน อดคิดถึงเรื่องการขนส่งทางเรือไม่ได้
“ เรื่องท่าเรือนี้ สิงคโปร์เขาได้เปรียบตรงตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ เพราะเขาตั้งอยู่ตรงปลายแหลมมลายู หากเรือจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย และออสเตรเลีย ต้องการจะเดินทางไปยุโรป และเรือจากยุโรปที่ต้องการผ่านมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ต้องผ่านช่องแคบมะละกา นั่นคือ ต้องแวะจอดที่ท่าเรือสิงคโปร์ก่อน
แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดมีการขุดคลองไทยขึ้นมาอย่างที่ผู้คนเขากำลังถกเถียงกัน คุณพศินคิดว่าจะมีผลต่อท่าเรือของสิงคโปร์มากน้อยเพียงใด ” ผมลองถามความเห็นในเชิงยุทธศาสตร์บ้าง
“ อ๋อ เรื่องนี้ ผมเองก็สนใจและติดตามข่าวมาตลอดว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะกล้าตัดสินใจให้มีการขุดคลองไทยไหม
ในชั้นนี้ ผมมีความเห็นว่า หากมองด้านเศรษฐกิจ การขุดคลองไทย จะช่วยย่นระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียได้มาก และนั่นหมายถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเช่นกัน
ดังนั้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อท่าเรือของสิงคโปร์โดยตรง เรือจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คงไม่ไปอ้อมปลายแหลมมลายู ผ่านท่าเรือสิงคโปร์ และช่องแคบมะละกาให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย กิจการของท่าเรือสิงคโปร์ น่าจะซบเซาลงมาก ” คุณพศินตอบโดยอาศัยการจินตนาการช่วยเล็กน้อย
“ ในส่วนนี้อาจารย์เห็นด้วยกับคุณพศินนะ ก็คงจะคล้าย ๆ กับการขุดคลองสุเอซนั่นแหละ ที่ทำให้เรือที่ต้องการเดินทางไปยุโรป ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมไปแหลมกู๊ดโฮป ของแอฟริกาใต้
เอาล่ะ หากเราจะพิจารณาด้านความมั่นคงบ้าง การขุดคลองไทยจะมีปัญหาอะไรไหม ” ผมถามความเห็นในอีกมิติหนึ่ง
“ นี่แหละผมคิดว่า คือ ตัวปัญหาใหญ่ เพราะถ้าไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงต้องเอามาขบคิด คลองไทยคงจะได้ขุดไปนานแล้ว เพราะการขุดคลองไทย จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมาก เรียกว่า ความฝันที่เราอยากจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไม่ใช่เรื่องยากเลย
หากโลกนี้ไม่มีสงครามสู้รบกัน การขุดคลองไทยสามารถทำได้เลย เงินทองที่จะใช้จ่ายในการขุดก็คงหาได้ไม่ยาก การขุดก็คงใช้เวลาไม่มากเหมือนการขุดคลองสุเอซหรือคลองปานานา เพราะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลกว่ายุคนั้นมาก
คือ ผมลองจินตนาการดูว่า ถ้าเกิดสงครามใหญ่ หรือสงครามโลก มหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรืออเมริกา เขาต้องรีบเข้ามายึดคลองไทย เพื่อชิงความได้เปรียบก่อนใช่ไหม ปัญหา คือ กองทัพเรือไทยของเรา จะมีความเข้มแข็งพอสู้กับมหาอำนาจเขาได้ไหม ณ เวลานั้น ” คุณพศินตอบโดยใช้จินตนาการอันกว้างไกล
“ นั่นสินะ อาจารย์ก็คิดเหมือนอย่างคุณพศินเหมือนกัน เรื่องนี้ถือว่า มีเดิมพันสูงนะ ผลสรุปออกมาจะเป็นเช่นไร พวกเราคงต้องคอยติดตามข่าวคราวดูจะดีกว่า
ก่อนจากกันวันนี้ อยากให้คุณพศินแสดงความเห็นในเชิงสรุปต่อเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสิงคโปร์หน่อย ” ผมเปิดช่องให้คุณพศินแสดงความเห็นทิ้งท้าย
“ผมมีความเห็นโดยสรุปว่า แม้สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ๆ ก็จริง แต่ความคิดของเขาใหญ่มาก เวลาเขาคิดเขาฝันอะไร เขาฝันไปสู่ระดับโลกเลย เขาไม่ได้คิดแค่ระดับอาเซียนหรือระดับเอเชียเท่านั้น ผมชื่นชมเขาจริง ๆ อยากให้บ้านเราคิดอย่างเขาบ้าง ” คุณพศินแสดงความเห็นทิ้งท้ายไว้อย่างน่าฟัง
“ อาจารย์เห็นด้วยกับคุณพศิน เพราะสิงคโปร์เขาคิดว่า ทุกประเทศในโลกนี้ต้องแข่งขันกันหมด ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ หากประเทศของเขาไม่แน่จริงหรือเก่งจริง ย่อมยากที่จะอยู่ในเวทีโลกได้ เพราะประเทศของเขาทรัพยากรธรรมชาติอะไรก็ไม่มี ต้องใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถโดยแท้
วันนี้คงรบกวนเวลาคุณพศินเพียงนี้ และขอขอบคุณเป็นอย่างมาก แต่เรื่องสิงคโปร์ยังไม่จบนะ เพราะเรายังไม่ได้พูดถึง ลี กวน ยู บิดาและรัฐบุรุษของประเทศสิงคโปร์
โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่นะ ” ผมกล่าวสรุปและยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับ ”
ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์มาจาก ท่าจอดเรือขนส่งสินค้า และโรงกลั่นน้ำมัน
บ่อนคาสิโนในกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นอย่างไรคะ อาจารย์
บ่อนคาสิโนในกัมพูชามีหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณชายแดนติดกับประเทศไทย จนกัมพูชาได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีบ่อนคาสิโนมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ขณะนี้มีอยู่แล้วจำนวน 15 แห่ง และคาดว่าภายในปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 แห่ง โดยทำรายได้ให้แก่รัฐบาลกัมพูชาร่วม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในอนาคต จะทำรายได้ให้รัฐบาลกัมพูชาปีละหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความสำคัญหรือความยิ่งใหญ่คงจะเอาไปเปรียบเทียบกับบ่อนคาสิโนของสิงคโปร์ไม่ได้
รอบบ้านเราทุกประเทศมีบ่อน คาสิโนหมด นักเล่นการพนันคนไทยสะดวกจะไปเล่นประเทศใด เลือกได้ตามความสะดวก ใครมีฐานะดี อาจจะไปเล่นที่มาเก๊า
กล่าวโดยทั่วไป บ่อนที่สิงคโปร์และมาเลเซีย เกรดสูงกว่าบ่อนเขมร บ่อนลาว และบ่อนพม่า มากทึเดียว
ประเทศที่มีการแลกเปลี่ยนเงินตรา อันดับที่1และที่2 ก่อนจะมาเป็นสิงคโปร์ คือประเทศอะไรคะ
เรียงอันดับ 1-5 คือ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญึ่ปุ่น และฮ่องกง
ขออนุญาตถามคุณพศิน ถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ได้เห็นประเทศสิงคโปร์ เป็นอย่างไรบ้างและประทับใจเรื่องอะไรมากที่สุด ไม่มีผิดถูกค่ะ ขอบคุณค่ะ
ความสวยงามของเมือง สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนต่างๆ เรียกได้ว่า สร้งมาเพื่อต้อนรับผู้มาเยื่อนให้ประทับใจและกลับม่อีกครั้ง ครับ
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่นำบทความความรู้ดีๆมาให้ได้ศึกษาครับ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของความมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของประเทศสิงคโปร์ ผมให้นำหนักไปที่ด้านการศึกษา ที่เขาส่งเสริมกันเป็นอย่างดีครับผม และสำหรับบ้านเราผมมองว่าเรามีประชากรมาก และมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนา บ้างครับ
ถูกต้องแล้ว การศึกษาคือพื้นฐานสำคัญในการสร้างคน สร้างชาติ ดังนั้น ถ้าชาติใดสามารถจัดระบบการศึกษาได้ดี มีคุณภาพ สอนให้คนคิดในเชิงสร้างสรรค์เป็น ทำเป็น ชาตินั้นก็จะเจริญรวดเร็วกว่าชาติที่จัดการศึกษาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร