ความโกรธ เป็นสิ่งน่ากลัว ปัญหาคือ ”ความโกรธ จะเอาชนะได้ด้วยธรรมะข้อใด” นับเป็นบทความลำดับที่ 13 ของหมวดหมวด 7 เรื่องเล่า ในการฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ โดยจะกล่าวถึง ความโกรธหรือโทสะ คืออะไร โทษร้ายแรงของการบันดาลโทสะ สาเหตุที่ทำให้เกิดโทสะ หลักเบื้องต้นในการเอาชนะโทสะ ธรรมะที่ใช้ในการเอาชนะการบันดาลโทสะ
อนึ่งบทความก่อนหน้านี้ (12) ได้เล่าถึง ความเครียด แก้ได้ไม่ยากด้วยธรรมะ
Table of Contents
1.ความนำ
1.1องคุลีมาล
เมื่อครั้งที่ผมยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อประมาณปีพ.ศ.2510-2512 ได้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คือ เรื่ององคุลีมาล ซึ่งเป็นภาพยนต์ที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกสนับสนุนให้สร้างขึ้นมา แต่ดาราที่แสดงเป็นดาราอินเดียทั้งหมด
มีตอนหนึ่งของภาพยนต์ดังกล่าว เป็นเรื่องราวขององคุลีมาลเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก มีชื่อเรียกว่า อหิงสกะ แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน อหิงสกะ เป็นคนเก่ง และเฉลียวฉลาดมาก อหิงสกะ เป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิ แห่งกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล จึงมีโอกาสเข้าออกวังอยู่บ่อย ๆ อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาได้ลองทดสอบสติปัญญาของอหิงสกะ ด้วยการตั้งคำถามว่า “อหิงสกะ ศัตรูที่ร้ายที่สุดของมนุษย์ คืออะไร ” อหิงสกะตอบว่า “ ความโกรธ คือ ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ พระพุทธเจ้าค่ะ ”
พระราชาชมเชยอหิงสกะว่า “ ถูกต้อง เธอเก่งมาก อหิงสกะ”
1.2 ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่
นอกจากเรื่องราวขององคุลีมาลแล้ว ยังมีเรื่องนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นเรื่องราวของลูกชายที่เกิดอารมณ์ชั่ววูบโมโหหิว เพราะแม่เอาอาหารไปส่งที่นาล่าช้า ครั้นเมื่อเห็นแม่เอาเอาปิ่นโตไปส่ง ไม่สามารถยับยั้งอารมณ์ได้ จึงได้ฆ่าแม่ตายเพื่อระบายอารมณ์โทสะที่ค้างอยู่

เมื่อเห็นแม่ตายแล้ว เกิดความสำนึกผิดในบาปกรรม จึงได้สร้างธาตุเจดีย์เพื่อไถ่บาปหนักในการกระทำมาตุฆาต ธาตุเจดีย์ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ตั้งอยู่ที่บ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร อ่านรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ข้างล่างนี้
1.3 นายทหารชั้นประทวนโคราชบ้าคลั่งกราดยิงคนตาย 20 ศพ
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีนายทหารชั้นประทวนที่โคราชเกิดบันดาลโทสะอย่างแรงจนมีอาการบ้าคลั่ง เพราะถูกผู้บังคับบัญชาคดโกง ไม่ยอมโอนบ้านสวัสดิการให้ ทั้ง ๆ ที่ผ่อนชำระเงินจนครบถ้วนแล้ว
จากเรื่องราวขององคุลิมาล เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก เรื่องนิทานพื้นบ้านของภาคอีสาน และเรื่องนายทหารชั้นประทวนบ้าคลั่ง ดังกล่าวข้างต้น พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า การบันดาลโทสะมีโทษหรืออันตรายมากเพียงใด หากผู้ที่เกิดบันดาลโทสะไม่สามารถยับยั้งอารมณ์ไว้ได้
ดังนั้น เราจึงควรจะทราบว่า ความโกรธ คือ อะไร มีอาการอย่างไร มีสาเหตุมาจากอะไร มีโทษร้ายแรงอย่างไร มีแนวทางการป้องกันและแก้ไขอย่างไร มีธรรมะข้อใดที่สามารถนำประยุกต์ใช้ในการป้องกันหรือระงับการบันดาลโทสะได้
2.โทสะ คืออะไร มีอาการอย่างไร และแบ่งออกเป็นกี่ชนิด
2.1 โทสะ คืออะไร
ความโกรธหรือโทสะ เป็นสภาวะทางอารมณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อผิดหวังหรือไม่สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งอาจเกิดจากความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกเหยียดหยามหรือถูกข่มขู่
เมื่อเกิดโทสะแล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะลุกลามอย่างรวดเร็วและไม่อาจจะระงับได้ จนกว่าจะได้กระทำอะไรบางอย่างลงไปเพื่อระบายอารมณ์ที่เกิดขึ้น
2.2 สัญญานและอาการของโทสะเป็นอย่างไร
เมื่อเกิดโทสะขึ้นมาแล้ว บุคคลจะมีอาการ ดังนี้

- มักจะคิดเข้าข้างตนเองว่า ถูกต้องเสมอ ไม่ยอมรับฟังเหตุผลที่อยู่คนละฝ่ายกับตนเอง
- คนที่มีโทสะจะทำให้ขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และอาจตกเป็นเหยื่อของคนที่ต้องการยั่วยุให้เกิดโทสะ
- คนที่ตกอยู่ในอารมณ์โทสะ จะมองโลกในแง่ลบหรือในแง่ร้าย และคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีทางประนีประนอมได้ ต้องใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาเท่านั้น
- เมื่อตกอยู่ในอารมณ์โทสะ ความคิดในแง่ลบจะผุดขึ้นในสมองของเจ้าตัวมากมาย ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่
- เมื่อผู้ใดมีโทสะ ผู้นั้นหัวใจจะเต้นแรงและเร็ว หน้าอกกระเพื่อม กล้ามเนื้อตึงและเกร็งไปทั่วตัว ตัวร้อนมากขึ้นและมีเหงื่อออกมาก หน้าแดง กล้ามเนื้อเกร็ง และบางรายอาจเผลอระเบิดพูดคำหยาบออกมาไม่รู้ตัว
2.3 ชนิดของโทสะ
โทสะ อาจแบ่งออกเป็น การเกิดโทสะคนอื่น คนอื่นมีโทสะต่อตัวเรา มีโทสะต่อตัวเอง หรืออาจจะเป็นโทสะที่ตกค้างมาแต่อดีต ถ้ามีอะไรมาสะกิดก็จะแสดงออกมา
อาจศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความโกรธเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ข้างล่างนี้
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=870
3.โทษร้ายแรงของการบันดาลโทสะ
เมื่อบุคคลมีโทสะ แสดงว่า บุคคลนั้น เริ่มขาดสติสัมปชัญญะ ความสามารถในการควบคุมตนเองลดน้อย ดังนั้น จึงอาจจะทำอะไรก็ได้ที่ผิดพลาดหรือรุนแรงเกินกว่าจะคาดหมายได้ เช่น
3.1 อาจจะทำร้ายผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อระบายอารมณ์
3.2 อาจจะพูดจาก้าวร้าวกับผู้อื่นด้วยคำหยาบคาย
3.3 อาจจะทำร้ายตนเองหรือทำลายทรัพย์สินของตนเองเพื่อประชด
3.4 หากใครชอบแสดงอาการโทสะเป็นประจำ จะทำให้มองเห็นว่า การแก้ปัญหาต้องใช้ความก้าวร้าวหรือความรุนแรง ไม่สามารถพูดคุยกันอย่างสันติได้
3.5 คนที่ชอบมีอารมณ์ฉุนเฉียว จะเป็นที่รังเกียจของคนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน ทำให้มีศัตรูมาก
3.6 คนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียว มักจะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ผิดพลาด เพราะขาดความรอบคอบ ไม่ยอมฟังใครทักท้วงหรือห้ามปราม หากเป็นเรื่องสำคัญ อาจจะทำให้กระทำความผิดกฎหมาย ติดคุกติดตะราง หรือทำธุรกิจอาจขาดทุนหรือล้มละลาย
3.7 ยิ่งกว่านั้น เวลามีโทสะ ร่ายกายจะหลั่งสารบางอย่างออกมาทำลายเนื้อเยื่อและระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมได้ง่าย
4.แนวทางในการเอาชนะความโกรธเบื้องต้น
การเอาชนะโทสะหรือการป้องกันไม่ให้เกิดโทสะ ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป หากมีการฝึกฝนและทำถูกวิธีก็อาจจะบรรเทาหรือระงับได้
4.1 หายใจเข้าลึก ๆ
เมื่อมีอารมณ์ฉุนเฉียว ไม่พอใจ ให้พยายามหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ พร้อมกับนับ 1-10 เพื่อทำให้หัวใจเต้นช้าลง และทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
4.2 ฝึกมองปัญหาในเชิงบวก
หากมีการโต้เถียงขัดแย้งเพราะมีมุมมองต่างกัน ขอให้คิดว่า ทุกปัญหามีทางออกโดยสันติ ไม่จำเป็นต้องใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการแก้ปัญหา
4.3 ฝึกรับฟังและยอมรับในความคิดที่แตกต่างของผู้อื่น
ทุกคนมักจะมีแนวคิดและเหตุผลในการมองปัญหาต่าง ๆ เป็นของตนเอง หากเรายอมรับความแตกต่าง เราก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือทัศนคติที่แตกต่างของบุคคลอื่นได้ไม่ยาก
การยอมรับฟังและยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นการพยายามเข้าใจคนอื่น และเมื่อเราเข้าใจคนอื่น คนอื่นก็จะเข้าใจเราเช่นกัน
4.4 ฝึกเป็นคนแก้ปัญหาด้วยการประนีประนอม ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า
การแก้ปัญหาด้วยความประนีประนอม นอกจากมักจะประสบความสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังไม่เป็นการก่อศัตรูโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

4.5 พยายามหลีกเลี่ยงการโต้แย้งในเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่า ต่างฝ่ายต่างมีความเชื่อเป็นของตนเอง
เพราะเรื่องที่ทราบชัดเจนอยู่แล้วว่า ฝ่ายใดมีความเชื่ออย่างไร ก็คงต้องเชื่ออยู่อย่างนั้น ยากที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความเชื่อด้านการเมืองและด้านศาสนา หากโต้แย้งกันต่อไป อาจจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดบันดาลโทสะได้
4.6 ฝึกการแก้ปัญหาแบบ วิน-วิน
หากคนเรามีความขัดแย้งกัน ถ้าแต่ละฝ่ายมุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว ก็คงยากที่จะตกลงกันได้ แต่ถ้าลองหันมาพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาที่แต่ละฝ่ายต่างได้ในสิ่งที่ตนต้องการ แม้จะไม่ใช่ความต้องการทั้งหมดของตน อย่างที่เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ ไม่มีใครเป็นผู้แพ้ หรือ วิน-วิน
แนวทางในการเอาชนะโทสะทั้ง 6 ประการดังกล่าว เป็นทั้งแนวทางในการระงับโทสะที่กำลังเกิดขึ้น และแนวทางป้องกันมิให้เกิดโทสะขึ้น
5.ธรรมะที่ใช้ในการเอาชนะการบันดาลโทสะ
ธรรมะที่ใช้ในการเอาชนะการบันดาลโทสะ ได้แก่
5.1การแผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
การแผ่เมตตาให้ตนเอง เป็นการให้ความรักต่อตัวเอง หากเราไม่รักตัวเองแล้ว การจะหวังให้ไปรักคนอื่น ๆ ก็คงยากที่จะเป็นไปได้
หลังจากได้แผ่เมตตาให้ตนเอง ก็ให้แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่ ญาติมิตรสหาย เพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่ผู้ที่เป็นคู่แข่งหรือศัตรูกับเรา และเพื่อนร่วมโลก ตลอดจนสัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า และสัตว์ไม่มีเท้า
การแผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย สามารถทำได้ทุกเมื่อ ทุกโอกาส และทุกสถานที่ที่เราต้องการ อย่างน้อยในช่วงเวลาของการไหวพระสวดมนต์หรือก่อนนอน
เมื่อเราเกิดความรักตนเองและรักผู้อื่น เราก็จะไม่อยากจะทะเลาะกับใคร ในตรงข้ามจะทำให้จิตใจของเราสงบร่มเย็น
การแผ่เมตตา ไม่จำเป็นต้องแผ่เป็นภาษาบาลี แผ่เป็นภาษาไทยง่าย ๆ ก็ได้ เช่น
“ ขอให้ตัวเรา จงมีแต่ความสุขเถิด ปราศจากทุกข์ ปราศจากโศก และปราศจากเวรกรรม
ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีแต่ความสุขเถิด อย่าได้อาฆาตพยาบาท และจองเวรซึ่งกันและกัน ขอให้พ้นทุกข์ทุกตัวตน”
5.2 ฝึกการให้อภัยตนเองและผู้อื่น ๆ
ถ้าอยากมีความสุข ไม่ขัดแย้งหรือเป็นศัตรูกับใคร นอกจากแผ่เมตตาแล้ว ก็ให้ฝึกการให้อภัยตนเองและผู้อื่น เพราะการให้อภัย จะทำให้เราเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียดและไม่มีโทสะ
การให้อภัยตนเอง คือ การให้โอกาสตนเองแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด ไม่โทษตนเองหรือไม่ติเตียนตนเอง คนที่ชอบติเตียนตนเอง ก็เท่ากับทำลายตนเอง

ส่วนการให้อภัยคนอื่น คือ การให้โอกาสคนอื่นได้แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด
เมื่อเรารู้จักให้อภัยตนเองและผู้อื่น เราก็จะไม่มีอารมณ์ฉุนเฉียวกับตนเองและผู้อื่น
ก่อนนอน ลองบอกกับตนเองว่า ” เราให้อภัยตัวเรา เราให้อภัย สามีหรือภรรยา บุตรธิดา คนรอบข้างทั้งหลาย และทุกคน ” จะพบว่า สามารถทำให้เรานอนหลับได้ง่ายเข้า เพราะเป็นการทำให้จิตใจผ่อนคลายนั่นเอง
5.3 ฝึกความมีขันติอดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุที่จะทำให้เรามีอารมณ์ไม่พอใจหรือฉุนเฉียว
เมื่อมีอะไรหรือสิ่งใดยั่วยุให้เรามีอารมณ์ฉุนเฉียว เช่น คำพูดดุด่า ดูถูกเหยียดหยาม การท้าตีท้าต่อย การถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ควรจะตอบโต้ด้วยความรู้สึกรุนแรง แต่ควรจะมีความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่ยั่วยุ แล้วค่อยตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญาที่รอบคอบจะดีกว่า
5.4 หมั่นฝึกนั่งสมาธิด้วยมรณาสติ
การนั่งสมาธิด้วยการพิจารณามรณาสติ จะทำให้เรามองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างไม่มีตัวตน เป็นเพียงสิ่งสมมุติ เกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นของธรรมดา ไม่มีใครหนีพ้น แม้แต่ตัวเรา หากเราพิจารณาเช่นนี้บ่อย ๆ เราก็จะไม่อยากมีเรื่องขัดแย้งและทะเลาะกับใครให้เกิดความทุกข์เปล่า ๆ
5.5 หมั่นนั่งสมาธิด้วยสติปัฏฐาน 4
การเจริญสติปัฏฐาน 4 อยู่บ่อย ๆ จะทำให้สติของเรามั่นคง กล้าแข็ง และเป็นคนใจเย็น หากมีเหตุการณ์อะไรมากระทบจิตใจ เราก็จะสามารถเรียกสติกลับคืนมาได้เร็ว ไม่ปล่อยให้สติหลุดลอยไปตามอารมณ์โทสะอันวู่วาม
คนที่ฝึกสติไว้ดี จะมีความอดกลั้น อดทน ใจเย็น แม้ว่าจะมีใครดุด่า ดูถูกเหยียดหยาม ใส่ร้ายป้ายสีอย่างไรก็ตาม ก็จะอดทนได้ ไม่โต้ตอบให้เกิดเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้ง นอกจากไม่ตอบโต้แล้ว ยังแผ่เมตตาให้คนที่ดุด่า ว่าเรา ใส้ร้ายป้ายสี หากเราทำได้เช่นนี้ การทะเลาะเบาแว้งก็จะไม่เกิด และไม่นานเรื่องก็จะยุติลงเอง โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยหรือออกแรงอะไรเลย
อาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเอาชนะความโกรธได้จากเว็บไซต์ข้างล่างนี้
sites.google.com/site/danvivekkabin/not-angry
6.สรุป
ความโกรธ มีโทษร้ายแรงมาก ถ้าหากไม่รู้จักระงับ เพราะเป็นสภาวะที่คนเรากำลังขาดสติหรือมีสติในการควบคุมตนเองน้อยลง และเมื่อมีอาการบันดาลโทสะมาก ๆ อาจตัดสินใจกระทำการรุนแรงด้วยการทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น หรือแม้แต่บิดามารดา สามีภรรยา บุตรหลานของตนเอง
ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลอันเลวร้ายที่ไม่อาจคาดคิดดังกล่าว จึงควรฝึกฝนการป้องกันมิให้เกิดการบันดาลโทสะ หรือถ้าเกิดการบันดาลโทสะ ก็ให้รู้จักระงับได้ทันก่อนที่จะมีการกระทำอย่างคนที่ขาดสติ
การฝึกฝนเพื่อป้องกันและเพื่อระงับการบันดาลโทสะ อาจทำได้ด้วย ฝึกหายใจเข้า-ออกลึก ๆ การมองปัญหาในเชิงบวก การรู้จักประนีประนอม การยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง หลีกเลี่ยงการโต้แย้งในเรื่องของความเชื่อ ฝึกการแก้ปัญหาแบบ วิน-วิน
สำหรับธรรมะที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเอาชนะการบันดาลโทสะ ได้แก่ การฝึกแผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ การฝึกให้อภัยตนเองและผู้อื่น การฝึกความมีขันติ ความอดทน อดกลั้น การฝึกการเจริญมรณาสติ และการฝึกการเจริญมหาสติปัฏฐาน 4
การฝึกฝนดังกล่าวเป็นประจำ จะทำให้สติของเรากล้าแข็ง เมื่อมีเหตุการณ์หรือสิ่งใดมายั่วยุให้เรามีอารมณ์โทสะ เราจะสามารถเรียกสติกลับมาได้อย่างรวดเร็วหรือทันท่วงที ไม่จมปลักอยู่กับอารมณ์อันชั่วร้าย ึ่ซึ่งจะทำให้ตัวเราปลอดภัยจากการเผลอเรอกระทำความผิดหรือความชั่ว ที่อาจจะทำให้เราหรือญาติมิตรของเราเสียใจไปตลอดชีวิต
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม อ่านได้ในหัวข้อคุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณนัดชา (ชื่อสมมุมติ)
คุณนัดชา เป็นลูกศิษย์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหงของผมคนหนึ่ง
“สวัสดี คุณนัดชา เราไม่ได้พบกันนานมากแล้ว วันนี้ถือว่า โชคดีที่เราได้พบกันและจะได้สนทนากัน เกี่ยวกับเรื่องการมีอารมณ์ฉุนเฉียวหรือการบันดาลโทสะ ซึ่งอาจารย์คิดว่า เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนเรา ” ผมทักทายก่อน
“สวัสดีค่ะ หนูคิดว่าอาจารย์คงจะลืมหนูแล้ว หนูดีใจมากที่อาจารย์เชิญหนูมาสนทนาในวันนี้ ” คุณนัดชาทักทายผมตอบ พร้อมกับต่อว่าเล็กน้อย
“ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ขอถามประเด็นแรกเลยนะ คุณนัดชาคิดว่า การบันดาลโทสะแล้วไม่สามารถยังยั้งชั่งใจได้ มีอันตรายมากน้อยเพียงใด ” ผมถามกว้าง ๆ
“ หนูคิดว่า หากใครก็ตามเกิดบันดาลโทสะแล้ว ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ เขาอาจจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างไปในทางใช้ความรุนแรง ทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น เพราะคนที่ตกอยู่ในอารมณ์ฉุนเฉียว อาจจะขาดสติหรือมีสติน้อยลง
อย่างที่มักจะเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอยู่บ่อย ๆ ว่า สามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามีเพราะความหึงหวง เลยเกิดบันดาลโทสะ หรือแค่มีคนขับรถยนต์ปาดหน้า ก็ไม่พอใจ ถึงขั้นขับรถแซงไปดักหน้าแล้วจอดขวางไว้ ใช้ปืนยิงเขาตายก็มี
https://www.thairath.co.th/newspaper
หรืออย่างกรณี นายทหารชั้นประทวนคนหนึ่งที่โคราช โกรธที่ถูกผู้บังคับบัญชาโกงเรื่องการเช่าซื้อบ้านแต่ไม่ได้บ้าน เลยเกิดบันดาลโทสะอย่างรุนแรง จึงขาดสติและได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงคนตายเป็นจำนวนมาก ดังที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อต้นปี 2563
“ ขอถามอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อคุณนัดชาเห็นว่า การบันดาลโทสะเป็นเรื่องอันตรายมากหากไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ เราจะมีทางป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงอันเนื่องมาจากการบันดาลโทสะได้อย่างไร ” ผมถามเจาะลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง
“ ในเรื่องนี้ หนูคิดว่า ก็คงทำอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ในบทความข้างต้น เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ พร้อมกับนับ 1-10 ฝึกการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสนทนาในเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างมีความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมืองและศาสนา
ยิ่งกว่านั้น ให้ฝึกเอาธรรมะมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและการระงับอารมณ์บันดาลโทสะ คือ ฝึกการแผ่เมตตาให้ตนเองและผู้อื่น ฝึกการให้อภัยตนเองและผู้อื่น ฝึกเจริญ มรณาสติ และฝึกสติปัฏฐาน 4 เพื่อให้สติของเรากล้าแข็ง ใจเย็น ไม่วู่วาม ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ได้ง่าย
ทุกวันนี้ หนูก็ฝึกตามที่อาจารย์สอน ทำให้หนูเปลี่ยนจากการเป็นคนใจร้อน กลายเป็นคนใจเย็นอย่างทุกวันนี้ไงค่ะ ” คุณนัดชาตอบด้วยความมั่นใจ
“ดีมาก คุณนัดชา ตอบได้ชัดเจน ตรงประเด็นคำถาม วันนี้คงรบกวนเวลาเท่านี้ ขอบคุณมากที่สละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมยุติการสนทนา
“ด้วยความยินดีค่ะ ” คุณนัดชาตอบสั้น ๆ
ขอบคุณอาจารย์ ที่ให้โอกาสคุณนัดชามาสนทนาในวันนี้บทสนทนาของอาจารย์ เป็นประโยชน์มากค่ะต่อผู้คนทั่วไป
หนูใช้สมาธิในการลดนำ้หนักค่ะ จาก84 เหลือ58กิโลกรัม ภายในเวลา 4ปีค่ะ
ด้วยวิธี ใช้สมาธิดูอาการหิวเป็นอย่างไร มีอาการแสบท้อง ลำไส้มีการเสียดสีกัน
ก่อนที่จะกินอาหารจำพวกขนม น้ำหวาน ถามตัวเองว่า กินเพื่ออะไร แล้วเป็นอย่างไร
ทำให้กินขนมหวานน้อยลง เปลี่ยนนิสัยการกินน้อยลงค่ะ เพราะเรามีวินัยในการกินค่ะ
ยินดีในความสำเร็จของคุณ ณัชชา
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ ข่าวเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ไลฟ์โค้ชเชิญชวนให้ซื้อเงินปลอม
อ้างเป็นพลังจักรวาล ขอบคุณค่ะ
คุณณัชชา น่าจะทราบคำตอบอยู่แล้ว
ความโกรธทำให้เสียมากกว่าได้จริงๆ ค่ะ
ความโกรธเป็นอาวุธทำลายล้าง อาจจะเผาผลาญทั้งตัวเองและผู้อื่น