85 / 100

ประเทศ สิงคโปร์ เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวดเรื่องเล่า ประเทศอาเซียน จะกล่าวถึง ความนำ กำเนิดประเทศ สิงคโปร์   ตำแหน่งที่ตั้ง ข้อมูลเบื้องต้นของสิงคโปร์ ความหมายของประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง ความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว วิเคราะห์สถานะของประเทศสิงคโปร์ สรุป และ เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

ภาพย่านธุรกิจกลางเมือง ประเทศ สิงคโปร์ (Wikipedia,Singapore, 9th April 2021)
ภาพย่านธุรกิจกลางเมือง ประเทศ สิงคโปร์ (Wikipedia,Singapore, 9th April 2021)

Table of Contents

1.ความนำ

            พวกเราอาจจะได้ยินได้ฟัง คำสองคำอยู่บ่อย ๆ  คือ คำว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง (หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า ประเทศรายได้สูง) และประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น  

             มาเลเซียเคยมีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2020

             ประเทศไทยมีเป้าหมายจะก้าวให้ข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลางระดับสูงไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในปี พ.ศ.2580

            นอกจากนี้ เวียดนามเองก็ประกาศยุทธศาสตร์ชาติที่จะเป็นประเทศทีมีรายได้สูงเช่นกัน

            คำถาม คือ ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง และประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความหมายเหมือนกันหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

          อนึ่ง ในบทความที่แล้ว (11) ได้เล่าเรื่อง จุดแข็งของ มาเลเซีย ที่มีอยู่เหนือไทย โดยได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นดัชนีชี้วัดในระดับสากลได้แก่ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร โครงสร้างประชากร การพัฒนามนุษย์ ความสามารถในการแข่งขัน ความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ การรับรู้ในด้านการคอร์รัปชัน และนวัตกรรม

            สำหรับบทความนี้ จะเล่าเรื่องของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่สามารถพัฒนาตนเองจนได้เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว

            การที่สิงคโปร์ สามารถพัฒนาจนได้เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงทำให้เรื่องราวของประเทศนี้ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จของประเทศ

2.กำเนิดประเทศ สิงคโปร์

ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ (Wikipedia, Singapore, 9th April 2021)
ทำเนียบประธานาธิบดีสิงคโปร์ (Wikipedia, Singapore, 9th April 2021)

          ประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสิงคโปร์ เริ่มต้นเมื่อเซอร์ สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ได้ค้นพบสิงคโปร์ เมื่อปีค.ศ.1819 ในฐานะเป็นสถานีการค้าของจักรวรรดิ บริเตน  และเมื่อปี ค.ศ.1867 สิงคโปร์ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบริเตนโดยตรง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงช่องแคบ   ( Straits Settlements)

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สิงคโปร์ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นเมื่อ ปีค.ศ. 1942 แต่ได้กลับเข้ามาอยู่ใต้การควบคุมของบริเตนอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะอาณานิคมที่แยกออกมาต่างหาก ภายหลังที่ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้เมื่อปี ค.ศ.1945

            สิงคโปร์ได้สิทธิในการปกครองตนเองเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1959 และได้เข้ารวมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1963 พร้อมกับซาราวัค และบอร์เนียวเหนือ แต่อยู่ได้เพียงสองปี ก็ถูกขับออกจากสหพันธรัฐเมื่อปีค.ศ.1965 เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม และได้ประกาศตั่งเป็นประเทศเอกราชขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1965

            สิงคโปร์ เป็นประเทศหนึ่งในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน จำนวน 5 ประเทศ ร่วมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1967 หลังจากได้ผ่านพ้นช่วงเวลาของความยากลำบาก ประเทศนี้ก็ได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากร จนกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือของเอเชีย (The Four Asian Tigers)

3. ตำแหน่งที่ตั้ง

            สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เป็นเกาะ ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 1 เกาะ และเกาะบริวารอีก 63 เกาะ

            สิงคโปร์ตั้งอยู่ทางใต้ของมาเลเซีย โดยตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมา 1 องศา คิดเป็นระยะทางประมาณ 137 กิโลเมตร อยู่ติดกับช่องแคบมะละกา ทางด้านทิศตะวันตก

4.ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศ สิงคโปร์

            สิงคโปร์ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) มีข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบ ดังนี้

         3.1 พื้นที่

            สิงคโปร์ เป็นประเทศขนาดเล็ก อย่างที่เรียกว่า นครรัฐ (city-state) มีพื้นที่ 710 ตร.กม. มากเป็นอันดับที่ 190 ของโลก และเป็นประเทศทีมีพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศอาเซียน เล็กกว่าบรูไน ซึ่งมีพื้นที่ 5,765 ตร.กม. 

            เดิมสิงคโปร์มีพื้นที่เล็กกว่าปัจจุบันนี้ แต่ได้มีการถมทะเล จึงทำให้มีพื้นที่ประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 25  เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดภูเก็ต ปรากฏว่า จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่เล็กกว่าไม่มากนัก กล่าวคือ จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่  543.034 ตร.กม.

        3.2 ประชากร

            สิงคโปร์ มีประชากรเมื่อปี ค.ศ.2020 จำนวน 5,850,342 คน นับมากเป็นอันดับที่ 114 ของโลก และน้อยที่สุดเป็นอันดับสองของอาเซียน รองลงมาจากบรูไน ซึ่งมีประชากรจำนวน 437,479 คน อยู่ในอันดับที่ 176 ของโลก

            จำนวนประชากรของสิงคโปร์ น้อยกว่าจำนวนประชากรของลาว ซึ่งมีอยู่จำนวน 7,275,560 มากเป็นอันดับที่ 105 ของโลก

        3.3 เชื้อชาติ

            ประชากรสิงคโปร์ อาจจำแนกออกตามเชื้อชาติได้ดังดังนี้

            เชื้อชาติจีน         ร้อยละ  76

            เชื้อชาติมาเลย์    ร้อยละ  15

            เชื้อชาติอินเดีย    ร้อยละ 7.5

            เชื้อชาติอื่น ๆ      ร้อยละ  1.5

        3.4 ศาสนา

            ประชากรสิงคโปร์ นับถือศาสนาต่าง ๆ ดังนี้

            ศาสนาพุทธ       ร้อยละ  33.2

            ศาสนาคริสต์      ร้อยละ 18.8

            ไม่มีศาสนา        ร้อยละ  18.5

            ศาสนาอิสลาม   ร้อยละ  14.0

5.ความหมายของประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง (High-income economy)

         5.1 ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง คือ อะไร

            ธนาคารโลก (World Bank) ได้ให้นิยามของคำว่า ประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง (high-income economy) ว่า หมายถึงประเทศทีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (gross national income/GNI) จำนวนไม่ต่ำกว่า 12,536 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2019

            คำว่า รายได้สูง อาจจะใช้คำว่า โลกที่หนึ่ง (First World) หรือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) แทนก็ได้ กล่าวคือ คำว่า โลกที่หนึ่ง มักจะอ้างถึงประเทศที่ยืนหยัดอยู่ข้างสหรัฐอเมริกาและนาโต (NATO) ในช่วงที่เกิดสงครามเย็น

            แต่บางสถาบันอย่างเช่น ซีไอเอ (Central Intelligence Agency/CIA)  หรืองกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund/IMF) ได้เพิ่ม ปัจจัยอย่างอื่นเข้าไปด้วย ถ้าจะหมายถึง เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วหรือเศรษฐกิจก้าวหน้า (developed/advanced economies)

            ดังนั้น กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council/GCC) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน จึงยังเป็นที่ทีมีรายได้สูงที่กำลังพัฒนา (developing high-income countries)

           นั่นคือ ประเทศทีมีเศรษฐกิจรายได้สูง อาจจะเป็นได้ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา

        5.2 รายชื่อประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงประจำปี 2021

            ธนาคารโลก ได้ระบุรายชื่อประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงประจำปี 2021 ว่ามีอยู่ 80 ประเทศ ในจำนวนนี้มีรายชื่อประเทศอาเซียนจำนวน 2 ประเทศ คือ

            สิงคโปร์ (1987-ปัจจุบัน)

            บรูไน (1987, 1990-ปัจจุบัน)

            5.3 ประเทศเคยมีเศรษฐกิจรายได้สูง

            การที่ธนาคารโลกได้ประกาศรายชื่อประเทศใดว่า เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง มิได้หมายความว่า ประเทศนั้นจะได้เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงตลอดไป หากประเทศนั้นมีรายได้ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ ก็จะถูกถอดรายชื่อออกไป เช่น

            ประเทศอาร์เจนติน่า เคยเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง ในปี 2013,2015,2017

            ประเทศรัสเซีย เคยเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง ในปี 2012-2013

            ประเทศเวนูซูเอลา เคยเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง ในปี 2014

6.ความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว

        6.1 ความหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว

            ยูเอ็น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้แบ่งประเทศในโลกนี้ออกตามระดับของการพัฒนาได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed countries) ประเทศที่กำลังพัฒนา (developing countries) และประเทศด้อยพัฒนา (least developed countries)

            ประเทศที่พัฒนาแล้ว หมายถึง รัฐที่มีอำนาจอธิปไตย (sovereign state) ซึ่งมีเศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนาแล้ว (developed economy) และมีโครงสร้างพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า (advanced technological infrastructure) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมน้อยกว่า

        6.2 หลักเกณฑ์ของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

            โดยทั่วไป หลักเกณฑ์ในการประเมินระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือ รายได้รวมประชาชาติหรือจีดีพี รายได้เฉลี่ยต่อหัว ระดับความเป็นชาติอุตสาหกรรม ปริมาณโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายออกไป และมาตรฐานทั่วไปของการดำรงชีวิต

            ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจหลังอุตสาหกรรม (post-industrial)  หมายความว่า ภาคบริการ (service sector) จะสามารถสร้างรายได้หรือความร่ำรวยได้มากกว่าภาคอุตสาหกรรม (industrial sector) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งอยู่ในลของการสร้างให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม

            เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเพิ่มปัจจัยด้านการพัฒนามนุษย์(Human Development Index/HDI)เป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว  เพราะการพัฒนามนุษย์ หมายรวมถึง การวัดทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ประชาชาติ อายุขัย (life expectancy) การศึกษา ประเทศที่จะถือว่า พัฒนาแล้ว ต้องเป็นประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์อย่างสูงด้วย

       6.3 รายชื่อประเทศทีมีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงประจำปี 2019

            โครงการพัฒนาของยูเอ็น (United Nations Development Programme) ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศทีมีการพัฒนามนุษย์สูงประจำปี 2019 ว่ามีอยู่ 62 ประเทศ ในจำนวนนี้ มีรายชื่อประเทศอาเซียนรวมอยู่ด้วย 3 ประเทศ คือ

            อันดับ 1            นอรเวย์              ได้คะแนน          0.954

            อันดับ 2            สวิตเซอร์แลนด์   ได้คะแนน          0.946

            อันดับ 3            ไอร์แลนด์           ได้คะแนน          0.942

            อันดับ 4            เยอรมนี             ได้คะแนน          0.937

            อันดับ 9         สิงคโปร์         ได้คะแนน       0.935

          อันดับ 43       บรูไน            ได้คะแนน       0.845

          อันดับ 61       มาเลเซีย        ได้คะแนน       0.804

7. วิเคราะห์สถานะประเทศ สิงคโปร์

        7.1 ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงหรือไม่

          ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงหรือไม่ เพราะธนาคารโลกได้รับรองไว้แล้วว่า สิงคโปร์มีชื่ออยู่ในบัญชีของประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง นับตั้งแต่ปี 1987 จนกระทั่งปัจจุบัน  เพราะธนาคารโลกกำหนดเกณฑ์ของการเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงไว้ว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัว เมื่อปี 2019 ต้องไม่น้อยกว่า 12,536 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว เมื่อปี 2019 จำนวน 65,233 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

            รายได้เฉลี่ยต่อหัวของสิงคโปร์เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน จะเป็นดังนี้

            อันดับ 9 สิงคโปร์            65,233                         ดอลลาร์สหรัฐ

            อันดับ 32 บรูไน              31,767                         ดอลลาร์สหรัฐ

            อันดับ 64 มาเลเซีย         11,415             ดอลลาร์สหรัฐ

            อันดับ 82 ไทย                7,808               ดอลลาร์สหรัฐ

        7.2 สิงคโปร์ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่

            การพิจารณาว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่ อาจจะต้องพิจารณาจากตารางเปรียบเทียบของสถาบันต่าง ๆ ดังนี้

                    7.2.1 ด้านดัชนีการพัฒนามนุษย์ของ UNDP และ OECD

                        โครงการพัฒนาของยูเอ็น (UNDP) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา (Organization for Economic  Co-operation and Development/OECD) ได้กำหนดดัชนีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง ต้องไม่น้อยกว่า 0.800

                        สิงคโปร์มีดัชนีดังกล่าวประจำปี 2019 สูงถึง 0.935 นับเป็นอันดับ 9 ของโลก ดังนั้นหลักเกณฑ์ข้อนี้ สิงคโปร์ผ่านแน่นอน

                   7.2.2 ดัชนีเศรษฐกิจก้าวหน้า (advanced economies) ของ IMF

                        กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือIMF ได้ยอมรับว่า สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งมีเศรษฐกิจก้าวหน้าเมื่อปี 1997

                  7.2.3 ดัชนีเศรษฐกิจรายได้สูง (high-income economies) ของธนาคารโลก

                        ธนาคารโลกได้กำหนดไว้ว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง จะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเมื่อปี 2019 ไม่น้อยกว่า 12,536 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 65,233 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึง 52,697 ดอลลาร์สหรัฐ หรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวของสิงคโปร์คิดเป็น 5.2 เท่าของรายได้เฉลี่ยของขั้นต่ำของรายได้สูง โดยธนาคารโลกได้รับรองการมีเศรษฐกิจรายได้สูงของสิงคโปร์ไว้แล้วตั้งแต่ปี 1997

                   7.2.4 รายได้เฉลี่ยต่อหัว คำนวณตามอำนาจซื้อ (Per capita PPP) ของ IMF

                        IMF ได้กำหนดไว้ว่า เศรษฐกิจก้าวหน้า จะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว คำนวณตามอำนาจในการซื้อ (purchasing power parity/PPP) ไม่น้อยกว่า 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ IMF ได้รับรองรายได้ตัวนี้ของสิงคโปร์ไว้แล้วตั้งแต่ปี 1990

                        ปัจจุบัน สิงคโปร์ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว คำนวณตามอำนาจในการซื้อ เมื่อปี 2019 จำนวน 101,649 เป็นอันดับสองของโลก

                        อันดับ 1 ลักเซมเบอร์ก      121,293   ดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 2 สิงคโปร์             101,649   ดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 9 บรูไน                64,848     ดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 49 มาเลเซีย          29,620     ดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 68 ไทย                 19,277     ดอลลาร์สหรัฐ

                   7.2.5 ขนาดจีดีพี (nominal)

                        แม้ไม่มีสถาบันใดจะกำหนดให้เอาขนาดจีดีพีเป็นตัวชี้วัดว่า ประเทศใดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่ แต่ก็ควรทราบไว้ประกอบการศึกษา

                      ธนาคารโลกได้จัดอันดับขนาดจีดีพี (nominal) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตามข้อมูลของปี 2019 ปรากฏว่า สิงคโปร์ มีจีดีสูงเป็นอันดับที่ 35 ของโลก คิดเป็น 372,063 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองประเทศฟิลิปปินส์เล็กน้อย ซึ่งมีขนาดจีดีพี จำนวน 376,796 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็มีขนาดจีดีพีโตกว่า มาเลเซีย และเวียดนาม

                        อันดับ 23 ไทย                 มีจีดีพี               543,549   ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 34 ฟิลิปปินส์         มีจีดีพี               376,796   ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 35 สิงคโปร์           มีจีดีพี               372,063   ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 38 มาเลเซีย          มีจีดีพี               364,681   ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                        อันดับ 46 เวียดนาม         มีจีดีพี               261,921 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

8.สรุป

            ประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง และประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความหมายใกล้เคียงกันและเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องเป็นประเทศทีมีเศรษฐกิจรายได้สูง แต่จะต้องมีปัจจัยอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย ที่สำคัญ คือ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างทั่วถึง

            สำหรับประเทศ สิงคโปร์ เป็นทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจรายได้สูง และประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเข้ากับองค์ประกอบของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศทุกประการ ดังได้แสดงการวิเคราะห์ในหัวข้อ 7 ข้างต้นแล้ว

          แม้ประเทศ สิงคโปร์ จะเป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อวันที่  9 สิงหาคม ค.ศ.1965 ( พ.ศ.2508 ) หรือเมื่อ 56 ปีที่ผ่านมา และเป็นประเทศขนาดเล็ก อย่างที่เรียกว่า นครรัฐ (city-state) ด้วยพื้นที่  710 ตร.กม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าจังหวัดภูเก็ตของไทยไม่มากนัก (จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ 543.034 ตร.กม.)  และมีประชากรเพียง 5,850,034 คน   แต่ประเทศนี้ก็สามารถพัฒนาและยกระดับให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสูงของโลกประเทศหนึ่ง ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งในด้านรายได้เฉลี่ยต่อทั้งแบบNominal และแบบPPP และการพัฒนามนุษย์ หรือแม้ดัชนีชี้วัดด้านอื่น ๆ  สิงคโปร์อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกทั้งสิ้น

            ส่วนด้านขนาดของจีดีพี แม้สิงคโปร์จะมีจำนวนประชากรไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซีย แต่ขนาดจีดีพีก็ใกล้เคียงกับทั้งสองประเทศที่มีประชากรมากกว่าเป็นหลายเท่า และยังมีขนาดจีดีพีโตกว่าประเทศเวียดนามซึ่งมีประชากรมากกว่าสิงคโปร์หลายเท่าเช่นกัน

            ดังนั้น เรื่องราวของสิงคโปร์ จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศ สิงคโปร์ ทำได้อย่างไรโดยใช้เวลาเพียง 40-50 ปีเท่านั้น หากท่านผู้อ่านอยากทราบคำตอบ กรุณาติดตามในบทความต่อไป

            สำหรับความเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ใน เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้

เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

คู่สนทนาของผมวันนี้ คือ คุณพศิน ซึ่งเป็นมือกฎหมายคนสำคัญของผมเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่

ก่อนจะเดินทางไปดูงานหอเอน เมืองปิซา ประเทศอิตาลี คุณพศิน ได้แวะเปลี่ยนเครื่องบิน ณ ประเทศ สิงคโปร์่ก่อน
ก่อนจะเดินทางไปดูงานที่หอเอนเมืองปิซา ประเทศอิตาลี คุณพศิน ได้แวะเปลี่ยนเครื่องบิน ณ ประเทศ สิงคโปร์่ก่อน

            “ สวัสดี คุณพศิน วันนี้อาจารย์รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมาก ที่คุณพศินได้กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาสนทนากับอาจารย์ แต่วันนี้เราจะไม่คุยกันในเรื่องกฎหมายเหมือนอย่างเคยนะ คุณพศินพร้อมไหม ” ผมเริ่มต้นด้วยการทักทายแบบคนคุ้นเคยกัน

            “ สวัสดีครับ อาจารย์ ผมเองก็ต้องขอบคุณอาจารย์มาก ที่กรุณาให้เกียรติผมในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อาจารย์บอกว่า หัวข้อสนทนาในวันนี้จะไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ผมคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะการคุยเรื่องกฎหมายก็เหมือนกับการคุยงานประจำของผม

            แต่พออาจารย์บอกว่า จะไม่คุยในเรื่องกฎหมาย ทำให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย เพราะนาน ๆ ทีหนึ่ง ผมจึงจะมีโอกาสคุยในเรื่องที่อยู่นอกกรอบงานประจำของผม ผมพร้อมและยินดีครับ ขอเชิญอาจารย์เริ่มต้นเลย ” คุณพศินแสดงความยินดีและความตื่นเต้นออกมา

            “ ก่อนอื่น อาจารย์ขอรบกวนสอบถามหน่อยว่า คุณพศินเคยไปดูงานหรือไปเที่ยวประเทศใดบ้าง ” ผมถามหาข้อมูลคู่สนทนาก่อน

            “ ผมเคยไปมาแล้วหลายประเทศครับ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ฮ่องกง สิงคโปร์ เดนมาร์ค และอิตาลี ” คุณพศินบอกรายชื่อประเทศที่เคยไปมาตามตรง

            “ วันนี้เราลองมาคุยกันในเรื่องประเทศ สิงคโปร์ก่อนนะ คุณพศินมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างต่อประเทศสิงคโปร์ ” ผมถามความรู้สึกของคุณพศินที่มีต่อสิงคโปร์

            “ ผมเองเพิ่งได้ไปเที่ยวประเทศ สิงคโปร์ สักเมื่อปี 2560 คือ นายท่านให้รางวัลในการทำงานหนักแก่ผม จึงต้องการให้ผมได้ไปพักผ่อน และเปิดหูเปิดตาเมืองนอกเมืองนากับเขาบ้าง ประเทศปลายทาง คือ อิตาลี และเดนมาร์ค แต่ต้องแวะเพื่อเปลี่ยนเครื่องบินที่สนามบินของสิงคโปร์ก่อน โดยใช้เวลารอเปลี่ยนเครื่องยาวนานถึง 8 ชั่วโมง ในระหว่างนั้น คณะของเราเลยได้มีโอกาสไปเที่ยวในตัวเมืองสิงคโปร์ในส่วนที่ไม่อยู่ไกลจากสนามบินมากนัก

            ทันทีที่ออกจากสนามบิน ผมได้พบเห็นการจัดจราจรที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความมีวินัย และความสะอาดของบ้านเมืองของเขาอย่างสมคำเล่าลือจริง ๆ ผู้คนแต่งตัวทันสมัย พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว แต่ว่า อากาศก็ไม่แตกต่างจากบ้านเราเท่าใดนัก ” คุณพศินเล่าย้อนความรู้สึกประทับใจในโอกาสได้ย่างก้าวเข้าสู่สิงคโปร์ครั้งแรก

          “ ใช่ สิงคโปร์ เขาขึ้นชื่อมากในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

            ในส่วนระบบการคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ของเขาทันสมัยมาก  อย่างท่าอากาศยานชางกี (Changi Airport) นับเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเลยทีเดียว ” ผมแสดงความเห็นไปในทิศทางสอดคล้องความรู้สึกของคุณพศิน

            “ ถ้าเช่นนั้น แสดงว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย กับท่าอากาศยานชางกีของสิงคโปร์ ก็เป็นคู่แข่งกัน ใช่ไหม อาจารย์ ” คุณพศินแสดงความคิดเห็นบ้าง

            “ ถูกต้อง แม้ไทยและสิงคโปร์จะเป็นมิตรประเทศกัน แต่บางสิ่งบางอย่างก็เป็นคู่แข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็คงไม่ถึงขั้นเป็นศัตรูกัน เพราะต่างก็เป็นประเทศอาเซียนด้วยกัน ” ผมตอบตามความรู้สึกที่แท้จริง

            “ อาจารย์ครับ ผมอยากจะฟังเรื่องประสบการณ์ในการเดินทางไปเที่ยวสิงคโปร์ครั้งแรกของอาจารย์บ้างว่า บรรยากาศเป็นอย่างไร จะแตกต่างไปจากที่ผมเห็นมากไหม ” คุณพศินอยากจะฟังเรื่องเล่าจากผมบ้าง

            “ ได้เลย อาจารย์ได้เดินทางสิงคโปร์ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2518 ในช่วงที่กำลังลาศึกษาต่อปริญญาโท ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA  ซึ่งเป็นการเดินทางโดยรถบัสจากกรุงเทพฯ จำนวน 3-4 คัน หลังจากพวกเราได้ศึกษาดูงาน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว พวกเราก็มุ่งตรงไปยังสิงคโปร์ ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลย์ ที่ยะโฮร์ก่อนจะเข้าสู่สิงคโปร์ โดยการวิ่งข้ามสะพานตรงช่องแคบนั่นแหละ

            พวกเราพักที่กลางเมืองสิงคโปร์เลย ตรงบริเวณที่เรียกว่า สวนสาธารณะของประชาชน (People’s Park)  การเดินทางไปเที่ยวสิงคโปร์ในยุคนั้น ทุกคนมุ่งไปหาซื้อบรรดาเครื่องเสียง และเครื่องใช้อีเลกทรอนิกส์ต่าง ๆ เพราะราคาถูกกว่าเมืองไทยมาก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นดินแดนปลอดภาษี (Duty Free) ประกอบกับในยุคนั้น บรรดาเครื่องเสียงและเครื่องใช้อีเลกทรอนิกส์  อัตราภาษีนำเข้าเมืองไทยก็แพงกว่ายุคปัจจุบันมาก” ผมสาธยายพอให้มองเห็นภาพ

            “ อาจารย์ซื้อได้อะไร ขากลับเวลาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมีปัญหาอะไร” คุณพศินอดถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้

            “ ตามความเป็นจริงก็น่าจะมีปัญหาอยู่หรอก เพราะแต่ละคนก็มุ่งซื้อสินค้าประเภทที่อาจารย์ว่า จนรถแทบจะไม่มีที่วางของ แต่เนื่องจากพวกเรา เป็นนักศึกษา ประกอบคณะของเรามีนายตำรวจที่เป็นนักศึกษาร่วมเดินทางมาด้วยหลายคน ก็เลยทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก ตำรวจไทยคุยกับตำรวจสิงคโปร์ คุยกับตำรวจมาเลย์ และสุดท้ายคุยกับตำรวจไทยที่ด่านสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทุกอย่าง เลยจบลงด้วยความเรียบร้อยและประทับใจ ” ผมสรุปภาพในอดีตให้คุณพศินฟัง

                “ รู้สึกว่า อาจารย์ยังไม่ได้บอกผมเลยว่า อาจารย์ซื้ออะไร และผมมีข้อสงสัยว่า ทำไมรุ่นอาจารย์จึงมีตำรวจลาไปเรียนนิด้าเยอะ ” คุณพศินยังมีข้อกังขาอยู่

            “ อ๋อ ลืมไป อาจารย์ซื้อเครื่องเสียงของเยอรมัน ยี่ห้อไอทีที ชาร์ปลอเรนจ์ เพื่อเอามาฟังวิทยุคลื่นสั้นฝึกฟังภาษาอังกฤษ อย่างบีบีซี และวีโอเอ หรือเสียงอเมริกา ใช้ได้นานมาก ทนทาน สมกับเป็นของเยอรมัน

            ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมรุ่นอาจารย์จึงมีนายตำรวจลาไปเรียนปริญญาโทต่อทีนิด้าเยอะ ก็เพราะการเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอื่นในยุคนั้น ไม่มีการเรียนในภาคปกติ จึงลาเรียนไม่ได้ มีแต่การเรียนตอนเย็นและเสาร์อาทิตย์ กว่าจะจบได้ ต้องใช้เวลายาวนานร่วม 5 ปี

            ที่สำคัญคือ หากใครได้ลาเรียน ก็ไม่ต้องไปเป็นตชด. สู้รบกับคอมมิวนิสต์ไง แถมมีหลักประกันว่า จบภายในสองปีตามเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ลาเรียนแน่ ส่วนใหญ่เป็นนายตำรวจที่จบจากสามพราน  และพอจบไปก็ได้ปรับยศ เป็นร้อยตำรวจเอก สบายไปเลย เรียกว่า เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด” ผมพูดให้มองเห็นภาพ

            “ อ๋อ ผมเข้าใจแล้วครับ แสดงว่า ใครเป็นนายตำรวจยุคนั้น สอบเข้าเรียนนิด้าได้ ต้องถือว่า สุดยอดใช่ไหมครับอาจารย์ ”  คุณพศินแสดงความเข้าใจ

            “ ถูกต้องแล้ว บางคนได้เป็นผบ.ตร.เลยนะ อย่างพลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ก็เรียนนิด้ารุ่นติดกับอาจารย์ ก็รู้จักคุ้นเคยกับท่านดี ได้มีโอกาสพบกันเวลารับเสด็จ ฯ ที่ต่างจังหวัดหลายครั้ง

                วันนี้ เราได้คุยกันพอสมควรแล้ว ขอยุติการสนทนาไว้เพียงนี้ ขอขอบคุณอีกครั้ง โอกาสหน้าค่อยพบกันใหม่ ” ผมยุติการสนทนาเมื่อเห็นว่า ได้เวลาอันสมควรแล้ว

            “ ด้วยความยินดีครับ อาจารย์ ”

                                                            ดร.ชา

                                                  9/04/21

แหล่งอ้างอิง

1. https://www.worldometers.info/geography/largest-countries-in-the-world/

2https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/.

3. https://en.wikipedia.org/wiki/World_Bank_high-income_economy

4. https://en.wikipedia.org/wiki/Developed_country

5. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(PPP)_per_capita      

6. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***) 2

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18) 5

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18)

ชาว ไทย ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุ้มหาย

7 COMMENTS

  1. ขอบคุณ คุณพศินที่ได้มาแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนๆได้อ่านบทความสั้น ด้วยค่ะ

    1. ขอบคุณครับ ผมมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสเป็นคู่สนทนาในบทความของท่านอาจารย์ ซึ่งผมติดตามทุกบทความทำให้ได้ความรู้และเกิดมุมมองดี ๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ครับ

      1. อาจารย์ก็ขอขอบคุณ คุณพศินเช่นกัน ที่ได้สละเวลามาเป็นคู่สนทนา รวมทั้งการเข้ามาทักทายพวกเราในวันนี้
        มึโอกาสเมื่อใด ขอเชิญเข้ามาแวะคุยกับพวกเราได้ทุกเมื่อ พวกเรายินดีต้อนรับ คุณพศินเสมอ

  2. สิงคโปร์มีรายได้สูง คนส่วนใหญ่เป็นคนจีน คนจีนเป็นคนเก่งทางด้านการค้าขาย จึงทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศดี อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรคะ

    1. ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นด้วย รออ่านตำตอบในบทความต่อไป

  3. คนเชื้อสายอินเดีย ก็ค้าขายเก่งไม่แพ้คนจีน หนูดูจากจำนวนประชากรในสิงคโปร์ มีคนเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่ร้อยละ7.5 คำถามคือ คนเชื้อสายอินเดียประกอบอาชีพอะไรเป็นส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ ขอบคุณค่ะ

  4. ผมคิดว่าการพัฒนามนุษย์ ความมีระเบียบวินัยของพลเมือง เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: