“ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36
“ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดดในยุคทศวรรษที่ 1960 จนได้รับฉายาว่า ไต้หวันมหัศจรรย์ (Taiwan Miracle) ”
Table of Contents
1.ความนำ
ในหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก ผมได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนไว้หลายบทความ คือ
บทความนี้ได้นำเสนอเรื่องราว ประวัติ จีน ก่อนยุคสมัยใหม่ ประกอบด้วยยุคโบราณ
และยุคสมัยราชวงศ์และจักรวรรดิ ซึ่งเป็นเรื่องราวตั้งแต่ 2100 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งปีค.ศ.1912 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดราชวงศ์ชิง ก่อนจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์จีน
ประวัติ จีน ยุคใหม่ เป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์จีน ภายหลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ชิง
ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของจีน นับตั้งแต่ปีค.ศ.1912 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงแรก เป็นช่วงของการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชวงศ์ชิงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบบสาธารณรัฐ อยู่ในช่วงปีค.ศ. 1912-1949
ช่วงที่สอง เป็นช่วงของการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ นับตั้งแต่ปีค.ศ.1949-ปัจจุบัน
1.3 สาธารณรัฐประชาชนจีน มีรูปแบบการปกครองอย่างไร
เป็นการเล่าเรื่องรูปแบบการปกครองของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
1.4 ระบบเศรษฐกิจ จีน เป็นอย่างไร
เป็นการเล่าเรื่องระบบเศรษฐกิจของจีนคอมมิวนิสต์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ยอมรับเอาระบบทุนนิยมมาปรับใช้แล้ว
1.5 เศรษฐกิจ จีน เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อย่างไร
เป็นการเล่าเรื่องความเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนภายหลังการยอมรับ
ระบบทุนนิยมมาปรับใช้กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
1.6 ปักกิ่ง เมืองหลวงของมหาเศรษฐีพันล้านของโลก
1.7 เซี่ยงไฮ้ ปารีสแห่งตะวันออก
บทความทั้ง 7 บทความดังกล่าว เป็นเรื่องราวของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่หรือ
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านผู้ใดสนใจกรุณาย้อนกลับเข้าไปอ่านได้
แต่ยังมีประเทศจีนอีกประเทศหนึ่งที่เราเรียกว่าประเทศไต้หวันหรือสาธารณรัฐ
จีนหรือจีนไทเปซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ
ดังนั้น บทความนี้จึงได้นำเสนอเรื่องราวของประเทศไต้หวัน เพื่อให้ทราบว่า
ประเทศนี้มีความเจริญมากน้อยเพียงใด
2.ประวัติความเป็นมาโดยย่อของไต้หวัน
จอมพลเจียง ไคเชก ผู้นำพรรคก๊ก มินตั๋ง ผู้นำจีนคณะชาติ ถอยร่นลงมาจาก
จีนแผ่นดินใหญ่ลงมาตั้งหลักที่ไต้หวัน (Wikipedia, Taiwan, 13th June 2023)

เดิมไต้หวันเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) ในช่วงระหว่างปีค.ศ.1683-1895 นับเป็นระยะเวลา 212 ปี ต่อมาราชวงศ์ชิงได้พ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1894-1895) ทำให้ดินแดนแห่งนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เป็นระยะเวลา 54 ปี (ค.ศ.1895-1945)
จีนไทเปได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม หลังจากนั้น ได้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง พรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรคชาตินิยมจีน (Nationalist) ภายใต้การนำของจอมพลเจียง ไค-เช็ค (Generalissimo Chiang Kai-check) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party) ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตุง ผลปรากฏว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะ จึงได้สถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) บนแผ่นดินใหญ่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 มีเมืองหลวงอยู่ที่นานจิง (Nanjing) ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กรุงปักกิ่งในเวลาต่อมา
ส่วนพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ถอยร่นลงไปตั้งหลักทางใต้ที่เกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวัน ตั้งประเทศสาธารณรัฐจีน (Republic of China) หรือจีนคณะชาติ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1949 มีเมืองหลวงอยู่ที่ไทเป ตราบเท่าทุกวันนี้
3. ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่
แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของไต้หวัน และ จีนแผ่นดินใหญ่ (Wikiprdia, Taiwan, 10th June 2023)

3.1 ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศสาธารณรัฐจีนหรือจีนไทเป ตั้งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกในมหาสมุทรแปซิกตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีอาณาเขตดังนี้
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จรดประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จรดญี่ปุ่น
ทิศใต้ จรดฟิลิปปินส์แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของไต้หวัน และ จีนแผ่นดินใหญ่
3.2 ขนาดพื้นที่
จีนไทเป เป็นประเทศหมู่เกาะ ประกอบด้วยเกาะจำนวน 168 เกาะ มีเนื้อที่ 36,193 ตร.กม. มีเกาะใหญ่ที่สุดชื่อ เกาะฟอร์โมซา (Formosa) ซึ่งมีพื้นที่ 35,808 ตร.กม. โดยมีพื้นที่ฝั่งตะวันออกราว 2/3 เป็นเทือกเขา ส่วนพื้นที่ทางตะวันตกราว 1/3 เป็นที่ราบ เป็นชุมชนเมืองและมีประชากรหนาแน่น
4. ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา)
4.1 จำนวน
จีนไทเป มีจำนวนประชากรเมื่อปี 2022 จำนวน 23,894,394 คน มีความหนาแน่นของประชากร จำนวน 650 คนต่อหนึ่งตร.กม. นับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในโลก
4.2 เชื้อชาติ
จีนไทเป ประกอบด้วยคนเชื้อชาติจีนฮั่น จำนวน ร้อยละ 95-97 คนพื้นเมือง ร้อยละ 2.3 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.7-27
4.3 ศาสนา
คนจีนไทเป นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 35.1 ศาสนาเต๋า ร้อยละ 33.5 ไม่นับถือศาสนาใด ร้อยละ 26.7 ศาสนาคริสต์ร้อยละ 3.9 และอื่น ๆ ร้อยละ 1.3
5.การปกครองของไต้หวัน
ประเทศสาธารณรัฐจีน เป็นรัฐเดี่ยว ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา (Unitary parliamentary constitutional republic under a semi-presidential system) ในทำนองเดียวกันกับรูปแบบการปกครองของประเทศเกาหลีใต้
มีข้อน่าสังเกตว่า รัฐธรรมนูญของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งได้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปีค.ศ.1947 (เมื่อครั้งจีนแผ่นดินใหญ่ยังเป็นประเทศสาธารณรัฐจีนอยู่ ยังไม่ได้เป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเหมือนอย่างในปัจจุบัน) จนกระทั่งปัจจุบัน โดยได้แบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 5 ด้าน คือ
5.1 อำนาจบริหาร (Executive Yuan)
ทำเนียบประธานาธิบดีไ่ต้หวัน (Wikipedia, 13th June 2023)

ประธานาธิบดี เป็นประมุขของรัฐและผู้บัญชาการการทหารสูงสุด โดยได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี ประธานาธิบดีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องขอรับความเห็นชอบจากสภา
5.2 อำนาจนิติบัญญัติ (Legislative Yuan)
ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิก 113 คน อยู่ในวาระ 4 ปี สมาชิกจำนวน 73 คนได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน สมาชิกจำนวน 43 คน ได้รับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนของพรรคการเมือง และสมาชิกจำนวน 6 คน ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งของคนพื้นเมือง จำนวน 2 เขต
สภานิติบัญญัติ สามารถผ่านกฎหมายได้โดยไม่จำต้องขอได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี และประธานาธิบดีก็ไม่มีอำนาจยับยั้งกฎหมาย
5.3 อำนาจตุลาการ (Judicial Yuan)
อำนาจตุลาการ ประกอบด้วยประธานและรองประธานฝ่ายตุลาการ และผู้พิพากษาอีก จำนวน 13 คน ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ
ผู้พิพากษาศาลสูงอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต
5.4 อำนาจในการตรวจสอบ (Control Yuan)
เป็นอำนาจในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วย
5.5 อำนาจการสอบบรรจุเข้ารับราชการ (Examination Yuan)
เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการสอบบรรจุเข้ารับราชการพลเรือนในทำนองเดียวกันกับระบบจอหงวนของจีนในยุคโบราณ (imperial examination system used in dynastic China)
6.เมืองหลวง
เมืองหลวงของสาธารณรัฐจีน คือ กรุงไทเป (Taipei) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีขนาดพื้นที่ 271.80 ตร.กม. มีประชากรเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2023 จำนวน 2,494,813 คน
7. ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ฐานะของจีนไทเปในความสัมพันธ์กับต่างประเทศอาจจะดูเป็นปัญหายุ่งยากเล็กน้อย กล่าวคือสาธารณรัฐประชาชนจีนอ้างว่าจีนไทเปเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าแทนที่จีนไทเปมาตั้งแต่ปี 1949 ในฐานะเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของจีนเพียงรัฐบาลเดียว
อย่างไรก็ตาม จีนไทเป มีระบบการเงินเป็นของตนเอง มีพาสพอร์ตที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย มีตราไปรษณียากร (postage stamps) เป็นของตนเอง มีระบบอินเตอร์เน็ต มีกองทัพและรัฐธรรมนูญซึ่งมีประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระ แม้สาธารณรัฐจีนได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสหประชาชาติ แต่ปัจจุบันมิได้มีฐานะดังกล่าวแล้ว
หลังจากที่พรรคก๊กมินตัง ได้ล่าถอยไปอยู่ที่ไต้หวัน ประเทศส่วนใหญ่ในตะวันตกยังคงรักษาความสัมพันธ์กับประเทศสาธารณรัฐจีน แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ค่อย ๆ ลดน้อยลงในทศวรรษที่ 1970 เพราะสหประชาชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1971 รับรองประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้สถาปนาขึ้นที่แผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1949 เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของจีนในองค์การสหประชาชาติ
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนปฏิเสธที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นใดที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนไทเป ผลที่ตามมาคือ ยังคงมีประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติเพียง 12 ประเทศเท่านั้นที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนไทเป อย่างไรก็ตาม ตามความเป็นจริงประเทศสาธารณรัฐจีนยังคงมีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับประเทศอื่น ๆ ผ่านสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (Taipei Economic and Cultural Representative Office)
10. ตัวชี้วัดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ
ทัศนียภาพ กรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน (Wikipedia, Taiwan, 10th June 2023)

10.1 ขนาดจีดีพี (gdp nominal)
ตามวิกิพีเดีย (Wikipedia, List of countries by gdp nominal)
IMF ได้จัดเรียงลำดับขนาดเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ประจำปี 2023 โดยสาธารณรัฐจีนอยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก ด้วยจีดีพี 790,728 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองสวิตเซอร์แลนด์ ลำดับที่ 20 ซึ่งมีจีดีพี 869,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เหนือกว่าโปแลนด์ ลำดับที่ 22 ซึ่งมีจีดีพี 748,887 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขนาดจีดีพีของสาธารณรัฐจีน นับสูงเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย เป็นรองประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี
1.จีน อันดับที่ 2 ของโลก
2. ญี่ปุ่น อันดับที่ 3 ของโลก
3. อินเดีย อันดับที่ 5 ของโลก
4. เกาหลีใต้ อันดับที่ 12 ของโลก
5. อินโดนีเซีย อันดับที่ 16 ของโลก
6. ซาอุดิอาระเบีย อันดับที่ 18 ของโลก
7. ตุรกี อันดับที่ 19 ของโลก
8.สาธารณรัฐจีน อันดับที่ 21 ของโลก
ส่วนไทยมีจีดีพี อยู่ที่ 574,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 27 ของโลก
10.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัว (gdp per capita)
ตามวิกิพีเดีย (Wikipedia, List of countries by per capita nominal) ไอเอ็มเอฟ.(IMF) ได้จัดลำดับประเทศเรียงตามรายได้เฉลี่ยต่อหัว (gdp nominal per capita) ประจำปี 2023 โดยได้จัดลำดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศสาธารณรัฐจีนอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก จำนวน 33,907 ดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาจากอันดับที่ 29 คือ บรูไน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 35,103 ดอลลาร์ แต่อยู่เหนือไซปรัส อันดับที่ 31 ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 33,807 ดอลลาร์
หากเปรียบเทียบอันดับในทวีปเอเชีย สาธารณรัฐจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดันที่ 9 ของเอเชีย ดังนี้
1.สิงคโปร์ อันดับที่ 5 ของโลก 91,000 ดอลลาร์สหรัฐ
2. การ์ตาร์ อันดับที่ 8 ของโลก
3. อิสราเอล อันดับที่ 13 ของโลก
4. ฮ่องกง อันดับที่ 18 ของโลก
5.มาเก๊า อันดับที่ 19 ของโลก
6.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันดับที่ 20 ของโลก
7. ญี่ปุ่น อันดับที่ 28 ของโลก
8. บรูไน อันดับที่ 29 ของโลก
9. สาธารณรัฐจีน อันดับที่ 30 ของโลก
ส่วนไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 8,181 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 84 ของโลก
11. ตัวชี้วัดความเจริญด้านอื่น ๆ
นอกจากตัวชี้วัดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจตามข้อ 10 แล้ว สาธารณรัฐจีนยังมีตัวชี้วัดความเจริญด้านอื่น ๆ อยู่ในชั้นแนวหน้าของเอเชียและโลก เช่น
11.1 ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน
ตามวิกิพีเดีย (Wikipedia, Global Comtitiveness Report) ในรายงานปี 2019 สาธารณรัฐจีน มีดัชนีชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นลำดับที่ 12 ของโลก ด้วยคะแนน 80.2 สูงเป็นอันดับที่ 3 ของเอเชีย รองลงมาจากสิงคโปร์ และฮ่องกง ดังนี้
1.สิงคโปร์ คะแนน 84.8 อันดับที่ 1 ของโลก
2.ฮ่องกง คะแนน 83.1 อันดับที่ 3 ของโลก
3. สาธารณรัฐจีน คะแนน 79.6 อันดับที่ 12 ของโลก
ส่วนไทยได้คะแนน 68.1 อันดับที่ 40 ของโลก
11.2 ดัชนีความสะดวกในการลงทุน
ตามดัชนีความสะดวกในการลงทุน (Wikipedia, Ease of doing business index) ปี 2020 ปรากฏว่า สาธารณรัฐจีน อยู่ในลำดับที่ 15 ของโลก และอยู่ในลำดับที่ 5 ของเอเชีย รองลงมาจาก สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ดังนี้
สิงคโปร์ อันดับที่ 2 ของโลก ฮ่องกง อันดับที่ 3 ของโลก เกาหลีใต้ อันดับที่ 5 ของโลก มาเลเซีย อันดับที่ 12 ของโลก และสาธารณรัฐจีน อันดับที่ 15 ของโลก
สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก
11.3 ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามวิกิพีเดีย (Wikipedia, List of countries by human development index) ปี 2022 ปรากฏว่า สาธารณรัฐจีนมีดัชนีสูงมากอยู่ในลำดับที่ 18 ของโลก และอยู่ในลำดับที่ 3 ของเอเชีย ด้วยคะแนน 0.925 ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดังนี้
1.ฮ่องกง ได้คะแนน 0.952 อันดับที่ 4 ของโลก
2. สิงคโปร์ ได้คะแนน 0.936 อันดับที่ 12 ของโลก
3. ไต้หวัน ได้คะแนน 0.926 อันดับที่ 18 ของโลก
4. ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้คะแนน 0.925 เท่ากัน อันดับที่ 19 ของโลกf
ส่วนไทยได้คะแนน 0.800 อันดับที่ 67 ของโลก
11.4 ดัชนีนวัตกรรม
ตาม WEF ranking 2019 ไต้หวันมีขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองลงมาจาก เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์
11.5 กัชนีความโปร่งใส
ตามวิกิพีเดีย (Wikipedia, Corruption Perceptions Index) ปี 2022 สาธารณรัฐจีนมีดัชนีความโปร่งใส อยู่ที่ 68 คะแนน นับเป็นอันดับที่ 25 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย (ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้คะแนน 69 อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก)
1.สิงคโปร์ 82 คะแนน อันดับที่ 5 ของโลก
2. ฮ่องกง76 คะแนน อันดับที่ 12 ของโลก
3. ญี่ปุ่น 73 คะแนน อันดับที่ 18 ของโลก
4. สาธารณรัฐจีน คะแนน 68 อันดับที่ 25 ของโลก
ส่วนไทย ได้ 36 คะแนน อันดับ 101 ของโลก
12. สรุป
ไต้หวันหรือสาธารณรัฐจีน เป็นประเทศหมู่เกาะ มีเนื้อที่ 36,193 ตร.กม. ประกอบด้วยเกาะจำนวน 168 เกาะ โดยมีเกาะฟอร์ซาเป็นเกาะใหญ่ที่สุด มีประชากรจำนวน 23,894,394 คน ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งเสือในสี่เสือแห่งเอเชียที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในยุคทศวรรษที่ 1960
ประเทศสาธารณรัฐจีน ซึ่งเดิมตั้งอยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่ ถอยร่นลงไปตั้งมั่นบนเกาะฟอร์โมซาเมื่อปีค.ศ.1949 ภายหลังจากการทำสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของเจียง ไคเช็ค และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อ ตุง ผลปรากฏว่า พรรคก๊กมินตั๋ง เป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงถอยลงไปตั้งหลักทางใต้ ณ เกาะฟอร์โมซา แล้วใช้ชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐจีนตามเดิม ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน
นับตั้งแต่ปีค.ศ.1971 สาธารณรัฐจีนมิได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ตามหลักการจีนเดียวของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่หลายประเทศก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับไต้หวันแบบไม่เป็นทางการ
ในด้านความเจริญก้าวหน้าของสาธารณรัฐจีนนั้น ถือได้ว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังจะเห็นได้จากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย โดยมีจีดีพีอยู่ที่ 790,728 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 33,907 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 30 ของโลก และเป็นอันดับที่ 9 ของเอเชีย
ยิ่งกว่านั้น ยังมีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่ในระดับที่สูงมาก คือ 0.925 อยู่ในลำดับที่ 18 ของโลก และเป็นลำดับที่ 3 ของเอเชีย
สำหรับรายละเอียดและข้อคิดเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369
เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นความเจริญก้าวหน้าของสาธารณรัฐจีนได้ชัดเจน จะขอนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.ถาม- กล่าวโดยสรุปแล้ว สาธารณรัฐจีน มีฐานะเป็นประเทศหรือไม่ เพราะเหตุใด
กล่าวโดยสรุปแล้ว สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน มีฐานะเป็นประเทศ เพราะมีดินแดนและอาณาเขตแน่นอน มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก มีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง รัฐบาลปกครองเป็นอิสระจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จีนแผ่นดินใหญ่จะอ้างว่าสาธารณรัฐจีนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ สาธารณรัฐจีน มีปัญหาการรับรองจากนานาชาติเพราะมิได้มีฐานะเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเหมือนอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น จึงมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน เพราะเป็นการขัดต่อนโยบายจีนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ประเทศต่าง ๆ อาจจะเลือกมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีนในรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการได้
2.ถาม- สาธารณรัฐจีนกับประเทศไทย ประเทศใดมีพื้นที่และประชากรมากกว่ากัน
เมื่อเปรียบเทียบในด้านพื้นที่และจำนวนประชากร สาธารณรัฐจีน มีพื้นที่และจำนวนประชากรน้อยกว่าไทยมาก กล่าวคือ สาธารณรัฐจีนมีขนาดพื้นที่เพียง 36,193 ตร.กม. ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่มากถึง 513,120 ตร.กม.
ในด้านประชากร สาธารณรัฐจีน มีประชากร 23,894,394 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีประชากรมากถึง 66,090,475 คน
3.ถาม- สาธารณรัฐจีนและประเทศไทย ประเทศใดมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ากัน
แม้สาธารณรัฐจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศไทยมาก แต่ประเทศนี้สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยไม่น้อย กล่าวคือ สาธารณรัฐจีน มีจีดีพี 790,728 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก ส่วนไทยมีจีดีพี จำนวน 574,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 27 ของโลก
4.ถาม- ให้เปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวของสาธารณรัฐจีนกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศไทย
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศสาธารณรัฐจีน คิดเป็นจำนวน 33,907 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 30 ของโลก และสูงเป็นอันอันที่ 9 ของเอเชีย ส่วนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 8,181 สูงเป็นอันดับที่ 84 ของโลก
5.ถาม- ดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างสาธารณรัฐจีนและประเทศไทย ประเทศใดสูงกว่ากัน
สาธารณรัฐจีน มีดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อยู่ที่ 0.926 สูงเป็นอันดับที่ 18 ของโลก ส่วนไทยมีดัชนี ฯ อยู่ที่ 0.800 สูงเป็นอันดับ 67 ของโลก
6.ถาม- ดัชนีนวัตกรรมระหว่างสาธารณรัฐจีนกับประเทศไทย ประเทศใดสูงกว่ากัน
ดัชนีนวัตกรรมของสาธารณรัฐจีนสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ส่วนไทยมีดัชนี ฯ สูงเป็นอันดับที่ 45 ของโลก
7.ถาม- ดัชนีความโปร่งใสระหว่างสาธารณรัฐจีนกับประเทศไทย ประเทศใดมีดัชนี ฯ สูงกว่า
ดัชนีความโปร่งใสของสาธารณรัฐจีนอยู่ที่ 68 คะแนน สูงเป็นอันดับที่ 25 ของโลก ส่วนไทยได้คะแนนเพียง 36 สูงเป็นอันดับที่ 101 ของโลก
8.ถาม- กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยมีดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าตัวใดที่อยู่เหนือกว่าสาธารณรัฐจีนบ้างไหม
แม้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมากกว่าประเทศสาธารณรัฐจีน แต่ไม่มีดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าตัวใดเหนือกว่าสาธารณรัฐจีนเลย อย่างไรก็ดี มีดัชนีชี้วัดบางตัวที่มีความใกล้เคียงกัน คือ ดัชนีชี้วัดความสะดวกในการลงทุน สาธารณรัฐจีนอยู่ในลำดับที่ 15 ของโลก ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก
9.ถาม- คนไทยไปเที่ยวไต้หวัน ต้องขอวีซ่าไหม
หากคนไทยไปเที่ยวไต้หวัน พักไม่เกิน 14 วัน ไม่ต้องขอวีซ่า
ดร.ชา 369
10/06/23
แหล่งข้อมูลหลัก
Wikipedia, Taiwan, 10th June 2023.