87 / 100

มาเลเซีย มีจุดแข็งเหนือกว่าไทยอย่างไร เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวดเรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน โดยจะกล่าวถึง ความนำ มาเลเซีย-ดัชนีชี้วัดจุดแข็งระดับสากล  รายได้เฉลี่ยต่อหัว โครงสร้างประชากร การพัฒนามนุษย์ ความสามารถในการแข่งขัน ความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ การคอร์รัปชันหรือความโปร่งใส นวัตกรรม  วิเคราะห์จุดแข็งของมาเลเซียที่เหนือกว่าไทย สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

Table of Contents

1.ความนำ

          ผมเข้าใจว่า ท่านผู้อ่านหลายท่าน คงอยากจะทราบว่า ในปัจจุบันนี้ มาเลย์ มีความเจริญมากกว่าไทยจริงไหม ถ้าจริงเป็นเพราะมีเหตุปัจจัยที่สำคัญอะไรบ้าง และมาเลย์มีโอกาสจะได้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนไทยมากน้อยเพียงใด

            ในบทความที่แล้วได้กล่าวถึง ระบอบ ประชาธิปไตย ที่มั่นคง ทำให้มาเลเซียเจริญก้าวหน้า คงจะพอเป็นคำตอบเบื้องต้นได้บ้าง

            แต่บทความนี้ มุ่งจะนำเสนอว่า มาเลเลย์มีจุดแข็งเหนือกว่าไทยในเรื่องใดบ้าง โดยจะใช้ดัชนีชี้วัดที่เป็นสากลมาเป็นตัวเปรียบเทียบ

2.มาเลเซีย-ดัชนีชี้วัดจุดแข็ง ในระดับสากล

          การจะกล่าวได้ว่า มาเลย์ มีจุดแข็งอะไรบ้างที่เหนือกว่าไทย จำเป็นต้องใช้ดัชนีชี้วัดด้านต่าง ๆ ที่เป็นสากล ซึ่งมีอยู่หลายด้าน ที่สำคัญ คือ รายได้เฉลี่ยต่อหัว โครงสร้างประชากร  การพัฒนามนุษย์ ความสามารถในการแข่งขัน ความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ การรับรู้ในการคอร์รัปชัน และนวัตกรรม  ดังจะได้นำมากล่าวตามลำดับต่อไป

3.รายได้เฉลี่ยต่อหัว (Per capita income)

          รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร เป็นตัวชี้วัดว่า ฐานะทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากรในแต่ละประเทศ เป็นอย่างไร หากมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงของประชากรของประเทศใดสูง แสดงว่า ฐานะทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในภาพรวมของประเทศนั้นดี ในทางตรงกันข้าม  ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ ย่อมแสดงว่า ฐานะทางเศรษฐกิจและฐานะความเป็นอยู่ของประชากรประเทศนั้นไม่ดี

            นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรออกเป็น 3 ระดับใหญ่ ๆ คือ รายได้ระดับสูง รายได้ระดับปานกลาง และรายได้ระดับต่ำ

            ตามข้อมูลของธนาคารโลกปี 2021 ใน Wikipedia ได้รายงานตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเมื่อปีค.ศ.2019 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

            อันดับ 1 ประเทศมานาโค          จำนวน             185,741     ดอลลาร์สหรัฐ

            อันดับ 9 ประเทศสิงคโปร์           จำนวน              65,281       ดอลลาร์สหรัฐ

            อันดับ 32 ประเทศบรูไน            จำนวน              31,762       ดอลลาร์สหรัฐ

         อันดับ 64 ประเทศมาเลเซีย          จำนวน              11,415  ดอลลาร์สหรัฐ

         อันดับ 82 ประเทศไทย                 จำนวน              7,808    ดอลลาร์สหรัฐ   

 

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามข้อมูลของธนาคารโลกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มาเลย์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงเป็นอันดับ 64 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ และบรูไน แต่อยู่สูงกว่าประเทศไทย กล่าวคือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศมาเลย์ จำนวน 11,415 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 342,450 บาท ซึ่งเกือบจะถึงเกณฑ์ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ส่วนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,808 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 234,240 บาท ซึ่งเป็นรายได้ปานกลางระดับสูง

            หากเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศมาเลเซียคิดเป็น 1.46 เท่า ของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศไทย

            อาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของมาเลย์สูงกว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทย จำนวน 3,607 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 108,210 บาท

4.โครงสร้างประชากร

            โดรงสร้างของประชากร หมายถึง การจำแนกประชากรในแต่ละประเทศว่า ประกอบด้วยเพศชาย เพศหญิง เท่าใด มีอายุอยู่ในกลุ่มวัยใด อาศัยอยู่ในเมืองหรือชนบท

          ตามข้อมูลปี 2021 ใน worldometer ได้แสดงข้อมูลโครงสร้างประชากรปี 2020 ของประเทศมาเลเซีย ไว้ดังนี้

            มาเลย์มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 45 ของโลก จำนวน 32,365,999 คน มีอัตราเปลี่ยนแปลงประจำปี ร้อยละ  1.30 คิดเป็นจำนวน 416,222 คน มีพื้นที่ประเทศ 328,550 ตร.กม. คิดเป็นความหนาแน่นของประชากร 99 คน ต่อหนึ่ง ตร.กม. มีอายุเฉลี่ย 30 ปี มีอัตราเจริญพันธุ์ (fertility rate) เท่ากับ 2.0 และเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 78

            ส่วนประเทศไทย มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก จำนวน 69,799,978 คน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงประจำปี ร้อยละ  0.25 คิดเป็น 174,396 คน มีพื้นที่ประเทศ 510,890 ตร.กม. คิดเป็นความหนาแน่นของประชากร 137 คน ต่อหนึ่ง ตร.กม. มีอายุเฉลี่ย 40 ปี อัตราเจริญพันธุ์  1.5  และเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 51

      ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          ตามข้อมูลของ worldometer ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า สังคมมาเลย์ เป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาว เพราะมีอายุเฉลี่ยเพียง 30 ปี ส่วนไทยเป็นสังคมของผู้สูงอายุ เพราะมีอายุเฉลี่ย 40 ปี ชาวมาเลย์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองคิดเป็นร้อยละ 78 ส่วนไทย มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองและชนบท ก้ำกึ่งกัน กล่าวคือ มีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองเพียงร้อยละ 51 เท่านั้น

5.ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index)

            โครงการพัฒนาของยูเอ็น (The United Nations Development Programme (UNDP) ได้รวบรวมดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) จำนวน 189 ประเทศไว้ในรายงานการพัฒนามนุษย์ประจำปี โดยพิจารณาจาก สุขภาพ การศึกษา และรายได้ของแต่ละประทศเพื่อนำมาเปรียบกัน

            ตามรายงานของโครงการพัฒนาของยูเอ็นปี 2020 โดยใช้ข้อมูลของปี 20119 ใน Wikipedia ปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

            อันดับ 1 ประเทศนอรเวย์ มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.957

            อันดับ 11 ประเทศสิงคโปร์ มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.938

            อันดับ 62 ประเทศมาเลเซีย มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.810

            อันดับ 79 ประเทศไทย มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.777

      ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          จะเห็นได้ว่า มาเลย์ มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงกว่าไทย ไม่น้อยเลยกล่าวคือ มาเลย์ มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ 0.810 ในขณะที่ไทยมีดัชนีดังกล่าว 0.777

6.ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index)

รถไฟรางคู่ ของมาเลเซีย สายกัวลาลัมเปอร์-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 755 กิโลเมตร และสายกัวลาลัมเปอร์-ยะโฮร์ ระยะทาง 197 กิโเลเมตร
(Wikipedia, Malaysia, 6th April 2021)
รถไฟรางคู่ ของมาเลเซีย สายกัวลาลัมเปอร์-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 755 กิโลเมตร และสายกัวลาลัมเปอร์-ยะโฮร์ ระยะทาง 197 กิโเลเมตร
(Wikipedia, Malaysia, 6th April 2021)

          การวัดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้มีการจัดทำเป็นรายงานเป็นประจำทุกปี โดย World Economic Forum นับตั้งแต่ ค.ศ.2004 เป็นต้นมา โดยใช้ดัชนีการแข่งขันของโลก (Global Competitiveness Index) ซึ่งเป็นรวมเอาดัชนีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจมหภาคกับจุลภาคเข้าด้วยกัน  

            รายงานดังกล่าวเป็นการประเมินขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประชากรของตน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละประเทศจะสามารถใช้ทรัพยากรสร้างผลิตภาพ (productivity) ในการผลิตได้มากน้อยเพียงใด  โดยวัดจากสถาบัน นโยบาย และปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน

            ตามรายงานการแข่งขันของโลก พบเมื่อว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2019 มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

            อันดับที่ 1 สิงคโปร์      ได้คะแนน       84.8

            อันดับที่ 2 สหรัฐอเมริกา   ได้คะแนน          83.7

            อันดับที่ 3 ฮ่องกง            ได้คะแนน          83.1

            อันดับที่ 27 มาเลเซีย   ได้คะแนน       74.6

            อันดับที่ 28  จีน              ได้คะแนน          73.9

            อันดับที่ 40 ไทย         ได้คะแนน       68.1

       ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          จะเห็นได้ว่า อันดับดัชนีความสามารถในการแช่งขันของมาเลย์สูงกว่าไทยมาก กล่าวคือ มาเลย์อยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก โดยชนะจีนหนึ่งอันดับ และอยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก  ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน

7. ดัชนีความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ (Ease of doing business index)

            ความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า  ประเทศใดจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากต่างชาติมากกว่ากัน เป็นดัชนีที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกได้จัดทำขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2001  ประเทศใดได้ลำดับดัชนีความสะดวกสูงกว่า แสดงว่าประเทศนั้น การเข้าลงทุนทำธุรกิจในประเทศนั้นสามารถทำได้ง่ายหรือสะดวกกว่า  มีกฎระเบียบในทำธุรกิจ และมีการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินที่ดีกว่า

            การจัดกลุ่มประเทศตามความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ แบ่งออกเป็น กลุ่มสะดวกมาก (very easy) กลุ่มสะดวก กลุ่มปานกลาง และกลุ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

            ในการจัดอันดับตามข้อมูลของปี 2020  กลุ่มประเทศที่เข้าทำธุรกิจสะดวกมากมีอยู่ 53 ประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

            อันดับ 1            นิวซีแลนด์

            อันดับ 2           สิงคโปร์

            อันดับ 3            เดนมาร์ค

            อันดับ 4            เกาหลีใต้

            อันดับ 5            สหรัฐอเมริกา

            อันดับ 12         มาเลเซีย (เดิมอันดับ 15)

            อันดับ 21         ไทย (เดิมอันดับ 27)

            อันดับ 22          เยอรมนี

       ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          แม้มาเลย์และไทยจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันของประเทศที่มีความสะดวกมากในการเข้าทำธุรกิจ แต่อันดับของประเทศมาเลเซียอยู่ในอันดับที่สูงกว่าไทย 9 อันดับ

8.ดัชนีการรับรู้ในการคอร์รัปชัน

            ดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชัน(Corruption Percptions Index-CPI) หรือดัชนีความโปร่งใส  เป็นรายงานประจำปีที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดพิมพ์ขึ้นประจำปีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1995  เพื่อแสดงระดับการรับรู้การคอร์รัปชันของสาธารณชนของแต่ละประเทศ

            ดัชนีการรับรู้ในการคอร์รัปชันปี 2020 ได้จัดพิมพ์รายงานเมื่อเดือนมกราคม 2021 ผลปรากฏว่า ประเทศเดนมาร์ค ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็น 6 ประเทศทีมีการคอร์รัปชันน้อยที่สุด  และประเทศโซมาเลียและซูดานใต้  เป็นประเทศทีมีการคอร์รัปชันมากที่สุด ได้คะแนนเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

            การจัดอันดับดัชนีการรับรู้ในการคอร์รัปชันปี 2020  มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

            อันดับ 1            เดนมาร์ค           88        คะแนน

            อันดับ 2            นิวซีแลนด์         88        คะแนน

            อันดับ 3            ฟินแลนด์           85        คะแนน

            อันดับ 4           สิงคโปร์         85        คะแนน

            อันดับ   5          สวีเดน               85        คะแนน

            อันดับ 6            นอรเวย์              84        คะแนน

อันดับ 35         บรูไน             60        คะแนน

อันดับ 57        มาเลเซีย         51        คะแนน (เดิม 53 คะแนน)

            อันดับ 102       อินโดนีเซีย      37        คะแนน

            อันดับ 104       ไทย                 36        คะแนน

          อันดับ 104       เวียดนาม       36        คะแนน

      ความเห็นเพิ่มเติมดร.ชา

          ในด้านคะแนนดัชนีการรับรู้ในการคอร์รัปชันหรือคะแนนความโปร่งใส จะเห็นได้ว่า คะแนนของประเทศมาเลเซียสูงกว่าไทย คือ ได้คะแนนร้อยละ 51 อยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์และบรูไน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 104 ของโลก เท่ากับเวียดนาม ได้คะแนนร้อยละ 36 (เท่าเดิม)  และอยู่ในอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองลงมาจากมาเลเซีย

9.ดัชนีนวัตกรรม

สะพานข้ามเกาะปีนัง แห่งที่ 2 มีความยาว 24 กิโลเมตร เป็นสะพานยาวที่สุดในอาเซียน (Wikpedia, Penang, 6th April 2021) แสดงนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของมาเลเซีย
สะพานข้ามเกาะปีนัง แห่งที่ 2 มีความยาว 24 กิโลเมตร เป็นสะพานยาวที่สุดในอาเซียน (Wikpedia, Penang, 6th April 2021) แสดงนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของมาเลเซีย

            ดัชนีนวัตกรรมนานาชาติ (International Innovation Index) เป็นดัชนีชีวัดระดับนวัตกรรมของแต่ละประเทศ โดยเป็นการเก็บข้อมูลที่เป็นนวัตกรรมทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ การทำรายงานดัชนีนวัตกรรม ไม่ได้มองแค่ผลงานด้านวัตกรรมของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่ยังมองลึกลงไปในด้านนโยบายใหม่ ๆ ในด้านนวัตกรรม การกำหนดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในด้านนวัตกรรม ตลอดจนการกำหนดนโยบายในด้านการรับผู้อพยพเข้าประเทศ การศึกษา และทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

            ตามข้อมูลปี 2009 มีรายชื่อประเทศที่น่าสนใจดังนี้

            อันดับ 1           สิงคโปร์         ได้คะแนน       2.33

            อันดับ 2            เกาหลีใต้           ได้คะแนน          2.26

            อันดับ 8            สหรัฐอเมริกา      ได้คะแนน          1.80

            อันดับ 9            ญี่ปุ่น                ได้คะแนน          1.79

            อันดับ 24         มาเลเซีย        ได้คะแนน       0.93

            อันดับ 44         ไทย              ได้คะแนน       0.128

       ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา

          จะเห็นได้ว่า ดัชนีนวัตกรรมของมาเลย์อยู่เหนือไทยไม่น้อยเลย กล่าวคือ อันดับของมาเลย์ สูงกว่าไทยถึง 20 อันดับ

10.วิเคราะห์จุดแข็งของมาเลเซียที่เหนือกว่าไทย

          การวิเคราะห์จุดแข็งขอมาเลย์ที่เหนือกว่าไทย ได้แสดงไว้ใน “ ความเห็นเพิ่มเติมของ ดร.ชา” ในแต่ละหัวข้อแล้ว นับตั้งแต่หัวข้อ 3-9  สรุปได้ดังนี้

            10.1 รายได้เฉลี่ยต่อหัว มาเลย์มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทยมาก คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 11,415 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 7,808  ดอลลาร์สหรัฐ

            10.2 โครงสร้างประชากร สังคมมาเลย์ เป็นสังคมของคนหนุ่มสาวและเป็นสังคมเมือง กล่าวคือ คนมาเลย์ มีอายุเฉลี่ยเพียง 30 ปี ร้อยละ 78 อาศัยอยู่ในเมือง ส่วนไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุและเป็นสังคมกึ่งชนบทกึ่งในเมือง กล่าวคือ คนไทยมีอายุเฉลี่ยถึง 40 ปี และอาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 51

            10.3 ดัชนีพัฒนามนุษย์ มาเลย์มีระดับการพัฒนามนุษย์สูงกว่าไทย กล่าวคือ มาเลย์มีดัชนีพัฒนามนุษย์ 0.810 อยู่อันดับที่ 62 ของโลก ส่วนไทย มีดัชนีพัฒนามนุษย์ 0.777 อยู่อันดับที่ 79 ของโลก

            10.4 ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน อันดับความสามารถในการแข่งขันของมาเลย์อยู่ที่อันดับที่ 27 ของโลก มีคะแนนร้อยละ 74.6 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงกว่าไทย กล่าวคือไทยอยู่อันดับที่ 40 มีคะแนนร้อยละ 68.1

            10.5 ดัชนีความสะดวกในการเข้าทำธุรกิจ   มาเลย์ และไทย จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือ กลุ่มสะดวกมาก เพียงแต่อันดับของมาเลย์สูงกว่าไทย 9 อันดับ กล่าวคือ มาเลย์อยู่อันดับที 12 ของโลก ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 21

            10.5 ดัชนีการรับรู้ในการคอร์รัปชัน มาเลย์มีอันดับและคะแนนดีกว่าไทยมาก กล่าวคือ มาเลย์ได้คะแนนร้อยละ 51 อยู่ในอันดับ 57 ของโลก ส่วนไทยได้คะแนนร้อยละ 36 อยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก

            10.6 ดัชนีนวัตกรรม มาเลย์มีคะแนนและอันดับสูงกว่าไทย กล่าวคือ มาเลย์ได้คะแนน 0.93 อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก ส่วนไทยมีคะแนน 0.128 อยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก ตามหลังมาเลย์อยู่ 20 อันดับ

11.สรุป

          ตามดัชนีชี้วัดด้านต่าง ๆ เท่าที่ได้นำเสนอมา 7 ประการ คือ รายได้เฉลี่ยต่อหัว โครงสร้างประชากร ดัชนีพัฒนามนุษย์ ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ดัชนีความสะดวกในการทำธุรกิจ ดัชนีการรับรู้ในการคอร์รัปชัน และดัชนีนวัตกรรม  แสดงให้เห็นว่า ประเทศมาเลเซียมีคะแนนและอันดับเหนือกว่าไทยทุกดัชนีชี้วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้เฉลี่ยต่อหัว ของมาเลย์ใกล้จะถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของประเทศที่มีรายได้สูงแล้ว

            สำหรับความคิดเป็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา ท้ายบทความนี้

เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

            คู่สนทนาวันนี้ เป็นคุณภัทรนันท์เช่นเคย

      คุณภัทรนันท์ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก กับทีมงานสาว ๆ แสดงให้เห็นภาวะผู้นำในการสร้างทีม
คุณภัทรนันท์ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก กับทีมงานสาว ๆ แสดงให้เห็นภาวะผู้นำในการสร้างทีม

            “ สวัสดีคุณภัทรนันท์ วันนี้ เป็นครั้งที่สามที่อาจารย์เชิญมาสนทนาต่อเนื่องกัน โดยในวันนี้เราจะคุยกันในหัวข้อ จุดแข็งของ มาเลย์ที่มีอยู่เหนือไทย ในเบื้องต้นนี้ คุณภัทรนันท์ มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ”  ผมทักทายพร้อมกับบอกจุดประสงค์เลย

            “ สวัสดีครับ อาจารย์ ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์มากที่กรุณาให้เกียรติผมเป็นคู่สนทนาถึงสามครั้งติดต่อกัน

            ในเบื้องต้นนี้ ผมมีความเห็นว่า สิ่งที่มาเลย์มีจุดแข็งเหนือกว่าไทยอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ การเมืองของมาเลย์ถือว่า มีเสถียรภาพมาก ดังจะเห็นได้จากหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2500 เขามีการปกครองรูปแบบเดียวตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คือ การเป็นประเทศรัฐรวม มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “      คุณภัทรนันท์ตอบด้วยความมั่นใจ

            “ ถูกต้อง แต่ก็ยังมีตัวชี้วัดอีกหลายตัวนะ ที่มาเลย์เขามีอันดับและคะแนนเหนือไทยอย่างชัดเจน คุณภัทรนันท์พอจะคิดออกไหมว่า เป็นอันดับและคะแนนในเรื่องใดบ้าง ” ผมกระทุ้งให้คุณภัทรนันท์ทบทวนความจำเล็กน้อย

            “ ผมพอจะนึกออก ข้อแรก คือ เรื่องโครงสร้างประชากร มาเลย์เป็นสังคมของคนหนุ่มสาว และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง พวกเขามีอายุเฉลี่ยเพียง 30 ปีเท่านั้น และอยู่ในเมืองร้อยละ 78  แสดงว่า มาเลย์เขาพัฒนาไปได้ไกลมากแล้ว สังคมเมืองจึงโตขนาดนี้ ผมคิดว่า เป็นตัวเลขที่ดีกว่าเมืองไทยเยอะเลย เพราะของไทยเรา อายุเฉลี่ยมากถึง 40 ปี สูงกว่ามาเลย์ถึง 10 ปี และคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลย์ เพราะคนไทยอยู่ในเมืองเพียงร้อยละ 51 ” คุณภัทรนันท์เลือกตอบข้อที่มั่นใจก่อน

            “ พูดถึงเรื่อง อายุเฉลี่ยของคนไทย อาจารย์พอจะมีประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นนายอำเภอ ช่วงปี พ.ศ.2535-2548 เวลาไปประชุมชาวบ้านหรือไปเยี่ยมชาวบ้านตามหมู่บ้าน แทบจะไม่พบคนหนุ่มคนสาวเลย เจอแต่คนแก่ที่คอยเลี้ยงหลานให้ลูก ส่วนลูกก็ไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพ ฯ หรือจังหวัดชานเมืองที่อยู่รอบกรุงเทพ ฯ ” ผมพูดย้อนความหลังเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่

            “ ทุกวันนี้ ยิ่งไปกันใหญ่เลยอาจารย์ คนที่อยู่เลี้ยงหลานตามชนบท ก็มีแต่ปู่ย่า ตายายที่แก่เฒ่า แถมยังเจ็บป่วยอีก อย่างที่มีออกข่าวทางทีวีบ่อย ๆ นั่นแหละ    

คิดแล้วผมอดเป็นห่วงลูกหลานไทยไม่ได้ ที่จะต้องแบกรับดูแลคนแก่เฒ่า ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ อย่าง ทวด ปู่ย่าตายาย   พ่อแม่ ลุงป้า น้าอา  แต่ละคนก็อายุยืน ร่วม 80-90 ทั้งนั้น ”  คุณภัทรนันท์เล่าถึงประสบการณ์ในการออกไปพบปะชาวบ้านพร้อมแสดงความเป็นห่วงลูกหลานไทยบ้าง

            “ อาจารย์ครับ ผมเห็นอาจารย์บอกว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันขอมาเลย์เหนือกว่าไทย อาจารย์พอจะเล่าประสบการณ์ตรงให้ผมฟังสักหน่อยได้ไหม ” คุณภัทรนันท์ยังสนใจเรื่องที่ผมไปเที่ยวมาเลย์อยู่

            “ ได้สินะ คุณภัทรนันท์ คราวที่แล้ว อาจารย์ได้เล่าประสบการณ์ในการเดินทางเข้าไปในมาเลย์ครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2518 ในขณะที่กำลังลาศึกษาต่อปริญญาโทที่นิด้า (NIDA) คราวนี้อาจารย์อยากจะเล่าให้ฟังเมื่อครั้งที่อาจารย์ได้เดินทางไปเที่ยวมาเลย์เมื่อปี พ.ศ.2560-2561

            การไปเที่ยวมาเลย์ครั้งนี้ อาจารย์ได้เดินทางโดยทางรถไฟรางคู่ เริ่มต้นที่ปาดังเบซาร์ ปลายทางคือกัวลาลัมเปอร์  อยากจะลองนั่งดูว่า การเดินทางรถไฟรางคู่ เป็นอย่างไร เพราะบ้านเรายังไม่มี ” ผมเกริ่นนำเล็กน้อย

            “อาจารย์ไปคนเดียวเหรอ จองตั๋วอย่างไร  ราคาแพงไหม” คุณภัทรนันท์เริ่มถามในเชิงลึก

            “ ไม่หรอก อาจารย์ไปกับภรรยา สองคนตายายนั่นแหละ จองตั๋วทางอินเตอร์เน็ต ค่าตั๋วคนละ 700 บาท

            เริ่มต้นเราต้องนั่งรถไฟดีเซลรางจากสถานีหาดใหญ่ ไปสถานีปาดังเบซาร์ที่อยู่ฝั่งไทยก่อน  หลังจากนั้น รถไฟจะเข้าในสถานี ปาดังเบซาร์ ฝั่งมาเลย์ ต่อจากนั้น เราก็ให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย และด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเลย์ประทับตราในหนังสือเดินทางของเรา เสร็จแล้วนั่งรอเวลารถไฟรางคู่ของมาเลย์

            รถไฟรางคู่มาตามเวลา คือ เวลา 15.55 ตามเวลาในไทย หรือหากคิดตามเวลามาเลย์ ก็คือ 16.55  เพราะเวลามาเลย์จะเร็วกว่าเวลาไทยอยู่ 1 ชั่วโมง ตามกำหนดรถไฟ จะถึงสถานีกัวลาลัมเปอร์เซ็นทรัล ราว 21.38 น. คือใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง 40  นาที แต่วันนั้นมีเหตุขัดข้อง ทำให้เดินทางถึงปลายทางล่าช้าไปสองชั่วโมง คือ แทนที่จะไปถึงสัก 21.38  กลับกลายเป็นถึงเกือบหกทุ่ม นับว่าเสียฟอร์มรถไฟรางคู่เหมือนกัน ” ผมเล่าประสบการณ์การนั่งรถไฟรางคู่ครั้งแรกให้ฟัง

            “ บรรยากาศบนรถไฟเป็นอย่างไร อาจารย์ เล่าให้ผมฟังหน่อย ” คุณภัทรนันท์เร่งรัดให้ผมเล่าต่อ

            “ คือรถไฟรางคู่ จะไม่เสียเวลาในการสับหลีกเหมือนรถไฟรางเดี่ยวในบ้านเรา เนื่องจากระยะทางไม่ไกลมาก จึงไม่มีตู้นอน มีแต่ที่นั่งวีไอพี ตลอดระยะของการเดินทาง เขามีภาพยนตร์ให้ชมตลอดทาง ในช่วงวันที่อาจารย์ไปกับภรรยา เขาให้ชมหนังอินเดีย

            นอกจากนี้  เขายังบอกให้เราทราบบนจอเป็นระยะ ๆ ว่า ขณะนั้นรถไฟกำลังวิ่งด้วยอัตราความเร็วเท่าใด เท่าที่อาจารย์ดู เห็นอัตราเร็วสูงสุด คือ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ” ผมบรรยายพอให้เห็นภาพ

            “บนรถไฟรางคู่ เขามีอาหารขายไหม ทั้งขบวนมีกี่ตู้ ” คุณภัทรนันท์อดสงสัยไม่ได้

            “ อ๋อ เขามีตู้เสบียง มีพวกข้าวกล่องขาย แต่ไม่มีให้เลือกมากนัก ทั้งขบวนมีเพียงสี่ตู้ ไม่มีมาก มีเฉพาะตู้ให้ผู้โดยสารนั่ง” ผมตอบสั้น ๆ

            “ สถานีกัวลาลัมเปอร์เซ็นทรัล เป็นอย่างไร ใหญ่ไหม ”คุณภัทรนันท์ตั้งคำถามต่อด้วยความอยากรู้อยากเห็น

            “ สถานีกัวลาลัมเปอร์ เซ็นทรัล หรือชาวมาเลย์เรียกสั้น ๆ ว่า KL Central  เป็นสถานีที่รัฐบาลมาเลย์เขาสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเดินทางทั้งทางรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า และรถบัส ไว้ที่เดียวกัน อันจะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่าง ๆ ไม่ต้องเดินทางไปขึ้นรถหลายที่

            ความจริง สถานีกัวลาลัมเปอร์เซ็นทรัล น่าจะเป็นต้นแบบให้การรถไฟไทยนำมาเป็นแนวคิดในการสร้างสถานีกลางบางซื่อ แต่ของเราน่าจะสร้างได้ใหญ่กว่าเยอะ ” ผมบรรยายภาพกว้าง ๆ ให้พอเข้าใจ

            “ ตามที่อาจารย์เล่ามา แสดงว่า สถานีกัวลาลัมเปอร์ เซ็นทรัล น่าจะดูทันสมัยและคึกคักมาก ใช่ไหมครับ ” คุณภัทรนันท์ถามเพื่อเอาคำตอบเชิงสรุป

            “ แน่นอน สถานีเขาแบ่งออกเป็นหลายชั้น รวมทั้งมีชั้นใต้ดินด้วย และมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ทำให้เราไม่รู้สึกว่าเบื่อหน่ายในการรอรถ มีแต่กลัวจะช้อปปิ้งเพลิน จนอาจจะตกรถไฟเสียมากกว่า

            หากเรามีโอกาสไปเที่ยวมาเลย์ด้วยตนเอง ไม่อาศัยไกด์ เราต้องมาเริ่มต้นตรงนี้แหละ รับรองเดินทางไปเที่ยวทั่วมาเลย์ได้อย่างแน่นอน ” ผมตอบเชิงสรุปให้คุณภัทรนันท์ฟัง

            “ ขากลับ อาจารย์กลับเที่ยวไหน มีปัญหารถเสียเวลาไหม ” คุณภัทรนันท์ซักถามต่อ

            “ ขากลับ อาจารย์กลับเที่ยวเวลา 09.40 น.เดินทางถึงปาดังเบซาร์เวลา 15.05 น. ไม่มีปัญหารถเสียเวลา แต่ขากลับเรามีโอกาสได้ชมความเจริญของบ้านเมืองของเขาตลอดระยะเดินทาง เพราะเป็นการเดินทางกลางวันทั้งสิ้น

            พอไปถีงสถานีปาดังเบซาร์ฝั่งมาเลย์ เราก็นำหนังสือเดินทางของเราไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเลย์ และด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน  ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเดินทาง พอรถไฟดีเซลรางจากหาดใหญ่มาถึง เราก็ขึ้นรถไฟดีเซลรางไปลงที่สถานีหาดใหญ่ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการเดินเที่ยวมาเลย์ด้วยรถไฟรางคู่โดยสวัสดิภาพทุกประการ ” ผมสรุปการเดินทางอย่างง่าย ๆ แต่ก็ชัดเจน

            “ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่กรุณาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง  จากเรื่องที่อาจารย์เล่ามานั้น ผมพอจะเข้าใจว่า การที่รัฐบาลไทย นับตั้งแต่ยุคคสช.ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายรัฐมนตรี จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน ได้ทุ่มเทงบประมาณในการสร้างระบบการขนส่งทั้งทางรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้า ทางถนน ทางอากาศ และทางน้ำ ก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกไม่ให้น้อยหน้าใครนี่เอง ผมเข้าใจถูกต้องไหม อาจารย์

            “ คุณภัทรนันท์เก่งมากที่สรุปได้เช่นนี้ ไม่เสียแรงที่อาจารย์ได้ตั้งใจเล่าเรื่องให้ฟัง เพราะถ้าเรามัวแต่เถียงกัน อิจฉากัน ทะเลาะกัน เราก็จะล้าหลังตามไม่ทันเพื่อน อย่าว่าแต่จะตามให้ทันมาเลย์เลย แค่พยายามไม่ให้เวียดนามแซงได้ก็หนักหนาอยู่แล้ว

            วันนี้ เราคงมีเรื่องคุยกันเท่านี้ อีกนานอยู่นะ จึงจะได้รบกวนคุณภัทรนันท์มาสนทนากันอีก เพราะตอนนี้เริ่มมีคนรอคอยเป็นคู่สนทนามากขึ้นแล้ว

          ขอขอบคุณอีกครั้ง ไปสอบอะไร ก็ขอให้สมหวังนะ ” ผมกล่าวสรุป พร้อมอวยพรตามธรรมเนียม

            “ ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่กรุณาให้พร”

                                    ดร.ชา

                             6/04/21

แหล่งอ้างอิง

1.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita

2.https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/

3.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_Human_Development_Index

4.https://en.wikipedia.org/wiki/Global_Competitiveness_Report

5.https://en.wikipedia.org/wiki/Ease_of_doing_business_index

6. https://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_Perceptions_Index

7. https://en.wikipedia.org/wiki/International_Innovation_Index

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

8 COMMENTS

  1. อาจารย์คะ ประเทศมานาโค ประชากรมีรายได้ต่อหัวเป็นอันดับที่1ของโลก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอะไรคะ หนูไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้มาก่อนค่ะ

    1. มอนาโค เป็นนครรัฐเล็ก ๆ อยู่ทางใต้ของฝรั่งเศส ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีพื้นที่เพียง 2 ตร.กม. แต่มีประชากรมากถึง 38,000 คน เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวของยุโรปตะวันตก มีรายได้หลักจากการท่องที่ยว และบ่อนคาสิโน

  2. คุณภัทรนันท์ เป็นคนที่มีความเป็นผู้นำและมีวิสัยทัศน์ เหมาะสมกับการเป็นคู่สนทนาของอาจารย์ค่ะ ทุกๆคนที่เป็นคู่สนทนาของอาจารย์เป็นบุคคลที่มีความรู้ในเรื่องนั้นเป็นอย่างดีเช่นกัน ค่ะ

    1. ขอบคุณมากครับ ผมติดตามบทความอาจารย์และยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ FC ของอาจารย์ทุกท่าน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนและชีวิตประจำวันของเราครับ

  3. มาเลเซียมีความก้าวหน้ากว่าไทย เพราะเป็นเครือจักรภพของอังกฤษ หรืออย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ

    1. ก็เป็นส่วนหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้มาเลย์ มีการปกครองประชาธิปไตนที่มั่นคง ไม่ล้มลุกคลานเหมือนอย่างบ้านเรา เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพ การบริหารและพัฒนาประเทศก็ทำได้ง่ายและต่อเนื่อง

  4. ดัชนีชี้วัดในระดับสากลประเทศมาเลเชียมีจุดแข็งมากกว่าไทยมาก มาเลเชียคงจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนไทย ไทยเราควรจะนำสิ่งดีๆของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเชีย และสิงคโปร์ มาประยุกต์ใช้ ขอบพระคุณอาจารย์ที่เล่าประสบการณ์สนุกๆ ให้ฟังได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินครับ

    1. ด้วยความยินดีเสมอ ประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้จากของจริง ไม่ใข่ตำรา ดังนั้น ย่อมมีคุณค่าอย่างแน่นอน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: