(11) เรื่องเล่า ระบตำรวจ และรูปแบบการปกครอง ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าสนใจ: ญี่ปุ่น-การปฏิรูปสมัยจักรพรรดิเมจิ โดยจะกล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิ การปฏิรูปประเทศสมัยจักรพรรดิเมจิ ผลของการปฏิรูปสมัยจักรพรรดิเมจิ สรุป และคุยกับ ดร.ชา (เปรียบเทียบกับการปฏิรูปสยามประเทศสมัยรัชกาลที่ 5)
บทความก่อนหน้านี้คือ บทความ (10) ฝรั่งเศส ได้กล่าวถึง รูปแบบการปกครองกรุงปารีส ระบบตำรวจฝรั่งเศส และเปรียบเทียบระบบตำรวจฝรั่งเศส-ไทย
Table of Contents
1.คำนำ
ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยมีช่วงระยะเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์คล้ายกัน นั่นคือยุคของการปฏิรูปประเทศ
เดิมญี่ปุ่นปกครองด้วยระบบศักดิมา มีโชกุนเป็นผู้รับผิดชอบการปกครองแทนสมเด็จพระจักรพรรดิ โดยมีขุนนางตระกูลโตกูกาวะเป็นขุนนางตระกูลสุดท้ายที่ได้ปกครองญี่ปุ่นในช่วงปีค.ศ.1603-1868 รวมเป็นระยะเวลายาวนานถึง 265 ปี ยุคนี้เรียกว่า ยุคอิโด (Edo: Tokugawa 1603-1868)

โชกุนได้ปกครองญี่ปุ่นด้วยการปิดประเทศมาตั้งแต่ปีค.ศ.1693 จนกระทั่งอเมริกาได้ส่งกองเรือมาถึงญี่ปุ่นบีบบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อปีค.ศ.1854 (พ.ศ.2397) เป็นเหตุทำให้เซียนซามูไรและข้าราชการในราชสำนักเรียกร้องให้โชกุนถวายอำนาจคืนแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ

(Wikipedia, Samurai, 4th September 2020)
โชกุนตระกูลโตกูกาวะ ชื่อโยชิโนบุ (Yoshinobu) ได้ยอมลาออกจากตำแหน่งโชกุนต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 ทำให้การปกครองในระบบโชกุนสิ้นสุดลง หลังจากนั้น จึงเป็นยุคเริ่มต้นของการปกครองประเทศในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ เต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา
หากท่านผู้อ่านไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นในยุคการปฏิรูปประเทศสมัยจักพรรดิเมจิ ท่านก็จะไม่เข้าใจว่า ญี่ปุ่นสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลกได้อย่างไร เช่นเดียวกันกับการไม่ได้ศึกษาการปฏิรูปสยามประเทศในรัชสมัยของพระบาทบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้เสด็จเสวยราชสมบัติระหว่างปีพ.ศ.2411-2453 (ค.ศ.1868-1910) เป็นระยะเวลา 42 ปี ท่านก็จะไม่เข้าใจว่า พระองค์ทรงสามารถทำให้สยามประเทศรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกกาในยุคของการล่าอาณานิคมได้อย่างไรและทรงสามารถทำให้สยามประเทศมีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศได้อย่างไร
2.ความสำคัญของการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิ
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1867 เจ้าชายหนุ่มอายุ 14 พรรษา คือเจ้าชายมุตซูฮิโต (Mutsuhito) ได้ขึ้นเสด็จเสวยราชย์สืบต่อพระราชบิดา คือ สมเด็จพระจักรพรรดิโคเม (Komei) นับเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิลำดับที่ 122
สมเด็จพระจักรพรรดิให้เรียกยุคสมัยของพระองค์ยุคสมัยเมจิ แปลว่า การปกครองที่สว่างไสว (Meiji/Enlightened Rule) มีระยะเวลา 44 ปี (1868-1912/พ.ศ.2411-2455)
ความสำคัญของการปฏิรูปสมัยจักรพรรดิเมจิ คือ ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดจากสังคมฟิวดัลที่แยกตัวโดดเดี่ยว ไปสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ (isolated feudal society to modern form) โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม การเมืองภายในประเทศ ระบบเศรษฐกิจ การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
การปฏิรูปประเทศสมัยจักรพรรดิเมจิเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ตราบเท่าทุกวันนี้
3.การปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักพรรดิเมจิ
ในยุคที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของโชกุน สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบศักดินาหรือฟิวดัล อำนาจในการปกครองประเทศมิได้รวมศูนย์อยู่ที่สมเด็จพระจักรพรรดิ แต่กระจายไปอยู่มือขุนนางต่าง ๆ ทำให้ขาดเอกภาพในการปกครองประเทศ เมื่อมีภัยหรือศัตรูจากภายนอกมาคุกคาม ก็ไม่สามารถระดมสรรพกำลังได้อย่างทันท่วงที
เมื่อถูกกดกันจากกองเรืออเมริกาให้เปิดประเทศ ทำให้บรรดาซามูไรเห็นว่า การปกครองประเทศด้วยระบบโชกุนอ่อนแอ ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันจากภายนอกประเทศได้ จึงได้พร้อมใจกันถวายอำนาจคืนสมเด็จพระจักรพรรดิ
3.1 ประกาศพระบรมราชโองการ 5 ประการ
สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการ 5 ประการ เมื่อปี ค.ศ.1868 (Five Charter Oath in 1868) คือ
3.1.1 การจัดตั้งสภา (assemblies)
3.1.2 การให้ทุกชนชั้นเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมของรัฐ (carrying out state affairs)
3.1.3 การยกเลิกกกฎหมายควบคุมการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย (sumptuary laws) และข้อจำกัดของชนชั้นในการจ้างแรงงาน เพื่อลดความแตกต่างระหว่างชนชั้น
3.1.4 การยกเลิกกฎหมายเก็บภาษีที่ชั่วร้าย (evil customs) และให้ใช้กฎหมายที่ยุติธรรมแทน
3.1.5 แสวงหาความรู้จากนานาชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่รากฐานการปกครองระบอบจักรพรรดิ (imperial rule)
3.2 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญสมัยเมจิเมื่อปีค.ศ.1889
(Constitution of the Empire of Japan/Meiji Constitution) โดยศึกษาแบบอย่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศตะวันตก เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และอเมริกา
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้บังคับเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1947
4.ผลของการปฏิรูปยุคจักรพรรดิเมจิ
ด้วยผลของการปฏิรูปยุคจักรพรรดิเมจิ ระยเวลา 44 ปี ช่วงปีค.ศ.1868-1912 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้เจริญก้าวหน้าเป็นประเทศสมัยใหม่ทัดเทียมอารยประเทศในยุโรปและอเมริกาในหลาย ๆ ด้านพอจะสรุปได้ดังนี้
4.1ด้านการเมืองการปกครอง
ได้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือองค์พระจักรพรรดิ โดยสมเด็จพระจักรพรรดิได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีขึ้นมาช่วยในการบริหารราชการแผ่่นดิน มีการจัดตั้งสภาแห่งจักรพรรดิขึ้นมา 2 สภา สภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีกสภาหนึ่งมาจากการแต่งตั้งจากสมเด็จพระจักรพรรดิ
มีการจัดตั้งสภาสงครามสูงสุด (Supreme War Council) เพื่อให้อำนาจรัฐเข้มแข็ง
ในส่วนภูมิภาค สมเด็จพระจักรพรรดิได้ยกเลิกระบบฮั่นที่มีอยู่เดิม จัดตั้งเป็นจังหวัดและแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปปกครองจังหวัดต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อปีค.ศ.1871
เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น
4.2 ด้านเศรษฐกิจ
เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในสมัยจักรพรรดิเมจิเมื่อปี ค.ศ.1870 โดยจักรพรรดิเมจิตัดสินใจจะเดินตามชาติตะวันตก มีการส่งนักเรียนจำนวนหลายพันคนไปเรียนต่อที่อเมริกาและยุโรป และจ้างชาวตะวันตกกว่า 3,000 คน มาสอนศาสตร์สมัยใหม่ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ จึงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกในเอเชีย โดยได้มีการจัดงานแสดงอุตสาหกรรมโตเกียวเมื่อปี 1907 (1907 Tokyo Industrial Exhibition)
4.3 ด้านการทหาร
มุ่งสร้างการทหารให้ทันสมัย ด้วยการศึกษาระบบการทหารของต่างประเทศ มีที่ปรึกษาต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส ส่งนักเรียนนายร้อยไปศึกษาการทหารและกองทัพเรือที่ยุโรปและอเมริกา
4.4 ด้านสังคม
ชนชั้นนำญี่ปุ่นในยุครัฐบาลจักรพรรดิเมจิ ยอมรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาเป็นของตน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศศิวิไลซ์แบบตะวันตก (Civilized countries of the West) และทำให้มีความเจริญเหนือประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีหลายช่วงตัว
4.5 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การที่ญี่ปุ่นรบชนะจีนในสงคราม จีน-ญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1894-1895 และรบชนะรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1904-1905 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจขึ้นมา
(Wikipedia, Meiji Restoration, 4th September 2020)
5.สรุป
บทความนี้ ต้องการจะนำเสนอเรื่องเล่า ระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครอง ของ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าสนใจ ประเทศสุดท้าย คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยเล่าเรื่องการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิ ช่วงปีค.ศ.1868-1920 เพื่อแสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ได้ใช้เวลาเพียง 44 ปี ก็สามารถพลิกฟื้นประเทศจากประเทศที่ล้าหลังในยุคสังคมศักดินาขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่และทัดเทียมประเทศมหาอำนาจยุโรป-อเมริกา
ส่วนความคิดเห็นในเชิงเปรียบเทียบกับการปฏิรูปสยามประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ กรุณาติดตามได้ใน หัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
เมื่อครั้งที่ผมรับราชการอยู่ ผมมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ที่เป็นผู้มีความรอบรู้ในเรื่องกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน มีความรู้ระดับเนติบัณฑิตไทยและปริญญาโททางกฎหมาย เวลาผมมีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย เขาสามารถให้คำตอบผมได้เสมอแม้จนกระทั่งทุกวันนี้ เขาชื่อ “พสุธา(ชื่อสมมุติ)”
วันนี้ผมคิดว่า คุณพสุธา น่าจะเป็นคู่สนทนาที่ดีที่สุด
คุณพสุธา เขาชอบช่วยเหลือคน อะไรพอจะช่วยได้เขาจะยินดีเสมอ
“สวัสดี คุณพสุธา งานคงยุ่งเหมือนเดิม ใช่ไหม ” ผมทักทายแบบคนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการงานของคุณพสุธาดี
“ สวัสดีครับอาจารย์ งานผมก็ยุ่งเหมือนเดิมแหละครับ วัน ๆ ผมแทบจะหาเวลาว่างไม่ได้เลย แต่พออาจารย์เชิญมาสนทนาเรื่องประเทศญี่ปุ่น ผมก็รู้สึกยินดีและอยากจะมา ” คุณพสุธาตอบแบบคนมีน้ำใจต่อผม
“ ตอนนี้เราได้เล่าเรื่อง ระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครอง ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าสนใจ เป็นประเทศสุดท้ายแล้ว คือ ประเทศญี่ปุ่น คุณพสุธาคิดว่า การศึกษาเรื่องราวการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิ ได้ให้ข้อคิดอะไรบ้างไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบการปฏิรูปสยามประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ” ผมตั้งประเด็นสนทนาให้คุณพสุธา
“ ผมเองเรียนทางด้านกฎหมายมาโดยตรง เรื่องราวทางด้านการเมืองการปกครอง ก็อาจจะไม่ค่อยได้ศึกษามากนัก แต่เท่าที่ดูอาจารย์เล่ามา ทำให้ทราบว่า ว่าที่จริงประเทศญี่ปุ่นและสยามประเทศได้มีการปฏิรูปประเทศให้เป็นประเทศสมัยใหม่ให้ทัดเทียมอารยประเทศในช่วงเวลาเดียวกันเลย
แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ต่างมีสายพระเนตรอันยาวไกล ในแง่ที่ว่า หากไม่อยากตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตกเหมือนประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย จะต้องปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้มีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ เขาจะได้ไม่กล้าข่มเหง” คุณพสุธาตอบแบบคุณจับประเด็นได้ถูกต้อง
“ อาจารย์คิดว่า คุณพสุธาเข้าใจถูกต้องแล้ว แต่ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถพัฒนาหรือปฏิรูปประเทศให้มีความเจริญทัดเทียมเขาได้ ” ผมตั้งคำถามแบบให้คิด
“ ถ้าเรายอมรับว่า อยากให้ประเทศของเราเจริญอย่างเขา เราก็ต้องส่งคนไปเรียนรู้จากเขาในประเทศของเขา หรือไม่ก็จ้างผู้เขี่ยวชาญจากประเทศของเขามาสอนคนของเรา อย่างที่สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ทรงกระทำมาแล้ว ” คุณพสุธาตอบตามข้อมูลที่มีอยู่
“ ถูกต้องแล้วคุณพสุธา แต่อาจารย์ยังมีประเด็นคำถามอีกคำถามหนึ่ง ในเมื่อสยามประเทศและญี่ปุ่นได้ปฏิรูปในช่วงเวลาเดียวกัน ทำไมญี่ปุ่นดู เหมือนจะไปได้ไกลกว่าไทยไม่น้อยเลย คือ ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้เมื่อปีค.ศ.1907 หลังจากปฏิรูปประเทศมาได้เพียง 39 ปีเท่านั้น ” ผมถามแบบเจาะลึกทีเดียว
“ ผมคิดว่า น่าจะเกิดจากจักรพรรดิเมจิพอเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ทรงมีอำนาจเต็มทันที เพราะบรรดาซามูไรสนับสนุนเต็มที่ แต่รัชกาลที 5 พระองค์ยังทรงไม่มีพระราชอำนาจเต็มทันที ต้องรอเวลาให้อำนาจเก่าหมดไปก่อน กล่าวคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังกุมอำนาจที่แท้จริงอยู่ในช่วงเวลาเสด็จเสวยราชย์ใหม่ ๆ ราว 6 ปี นอกจากนี้ยังมีกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้แต่งตั้งไว้ หลังจากวังหน้าได้เสด็จทิวงคตแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2428 จึงทรงมีพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์
ยิ่งกว่านั้น สยามประเทศต้องเผชิญกับการคุกคามจากมหาอำนาจฝรั่งเศสและอังกฤษ ทำให้พระองค์ต้องพะว้าพะวงกับการแก้ปัญหาดังกล่าวเกือบตลอดเวลาของรัชกาล จึงทำให้การปฏิรูปสยามประเทศทำได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านการเมืองการปกครองเพิ่งได้กระทำจริง ๆ เมื่อปีพ.ศ.2435 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเกือบครึ่งรัชกาลแล้ว ” คุณพสุธาตอบแบบใช้ความคิด
“เอาเป็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาภายในก่อนเป็นระยะเวลายาวนานเกือบครึ่งรัชกาล เพื่อให้ทรงมีพระราชอำนาจเต็ม จึงค่อยเริ่มปฏิรูปสยามประเทศได้อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงต้องเผชิญปัญหาคุกคามจากนักล่าอาณานิคม แต่จักรพรรดิเมจิ ทรงพร้อมที่จะปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นได้ทันทีที่พระองค์ขึ้นเสด็จเสวยราชย์โดยไม่ทรงต้องเผชิญปัญหาจากนักล่าเมืองขึ้นในขณะนั้นแต่อย่างใด อย่างนี้ใช่ไหม คุนพสุธา ” ผมช่วยสรุปให้คุณพสุธา
“ใช่ครับอาจารย์” คุณพสุธายอมรับความเห็นเชิงสรุปของผม
“ วันนี้ คงรบกวนคุณพสุธาเท่านี้ ขอขอบคุณมากที่กรุณาสละเวลาให้อาจารย์ เราค่อยคุยกันต่ออีกสัก 2 เที่ยวนะ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมนัดหมายครั้งต่อไป
จักพรรดิเมจิ ได้เรียนรู้หลักการพัฒนาประเทศจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และได้นำมาพัฒนาประเทศของตน จนเป็นประเทศมหาอำนาจต้นๆของโลกค่ะ
หลายประเทศก็ทำเช่นน้ัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากเหมือนอย่างญี่ปุ่น