81 / 100

โรค นอนไม่หลับ อาจรักษาได้ด้วยการบูรณาการ” นับเป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 4 ประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึก เพื่อความสุข และความสำเร็จ มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ความหมายของโรค นอนไม่หลับ สาเหตุของโรค นอนไม่มีคุณภาพ โทษของการนอนที่ขาดคุณภาพ แนวคิดในการรักษาโรค นอนไม่มีคุณภาพแบบบูรณาการ ประสบการณ์ในการรักษาโรคนอนไม่มีคุณภาพแบบบูรณาการ การรักษาเบาหวานให้หายขาดตามแนวทางหมอปอ กิจกรรมประจำวันในการรักษาเบาหวานให้หายขาด เบาหวานลดลงเป็นปกติแล้ว แต่ยังมีปัญหาปัสสาวะบ่อย การปรับอาหารฤทธิ์ร้อน อาหารฤทธิ์เย็น ให้สมดุลกัน สรุป และถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

แอปเปิล  ผลไม้ฤทธิ์เย็น กินมากเกินไป อาจจะทำให้ นอนไม่หลับ เพราะปวดปัสสาวะบ่อย
แอปเปิล ผลไม้ฤทธิ์เย็น กินมากเกินไป อาจจะทำให้ นอนไม่หลับ เพราะปวดปัสสาวะบ่อย

1.ความนำ

          ผมได้เขียนบทความในหมวด 4 ประสบการณ์สั่งจิตใต้สำนึก เพื่อความสุข และความสำเร็จ มาแล้วจำนวน 10 บทความ โดยบทความสุดท้ายที่ผมได้เขียนไว้คือ สร้าง หนังสั้น ไว้ในใจ เพื่อแก้ปัญหาชีวิต รวมทั้งได้เขียนหนังสืออีบุ๊ค จำนวน 1 เล่ม คือ สั่งจิตใต้สำนึก เพื่อความสุขและความสำเร็จ

            บัดนี้ผมได้เผชิญปัญหาแบบที่ผู้สูงอายุหลายท่านมักจะเป็นกัน นั่นคือ โรค นอนไม่หลับหรือโรค นอนไม่มีคุณภาพ

            เมื่อผมมีปัญหาเป็นโรค นอนไม่มีคุณภาพ ผมจึงจำเป็นต้องค้นคว้าหาองค์ความรู้ว่า การที่ผู้สูงอายุ กลายเป็นคนมีโรค นอนไม่มีคุณภาพ มีสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง มีแนวทางในการแก้ปัญหาหรือรักษาโรคอย่างไร

            ความจริงผมได้ประสบปัญหาการมีโรค นอนไม่มีคุณภาพ เป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร ร่วม 5-6 เดือนกว่าจะประสบความสำเร็จสามารถนอนหลับตามปกติได้ เรียกว่า เหนื่อยไม่น้อยเลยทีเดียว

            ดังนั้น ในบทความนี้ จึงอยากจะนำเอาประสบการณ์ในการแก้ไขและรักษาโรค นอนไม่หลับดังกล่าวของผม มาเล่าให้ท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่เป็นผู้สูงอายุเหมือนอย่างผมทราบ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านบ้าง

2.ความหมายของโรค นอนไม่หลับ

          หลังจากได้ประสบปัญหานอนไม่หลับต่อเนื่องกัน เป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน ผมจึงได้ศึกษาหาความรู้จากเว็บไซต์ และวิดีโอต่าง ๆ ในยูทูป ที่มีบรรดาคุณหมอและท่านผู้รู้ได้รวบรวมและจัดทำไว้ พอจะสรุปและให้ความหมายของโรค นอนไม่หลับได้ว่า

            โรค นอนไม่หลับ หมายถึง การที่บุคคลประสบปัญหาในการนอนหลับ ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเป็นปกติ อย่างเช่น อาจจะนอนหลับได้ แต่พอตื่นขึ้นมากลางดึก นอนต่อกลับไม่สามารถนอนหลับได้อีกจนกระทั่งรุ่งเช้า หรืออาจจะนอนหลับยาก กว่าจะสามารถนอนหลับได้ เป็นเวลาดึกดื่นค่อนคืน นอกจากนี้ยังหมายถึงการที่ไม่สามารถนอนหลับได้สนิทหรือนอนหลับได้ไม่ลึก

            ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับในช่วงสั้น อาจจะเป็นระยะเวลา 5-7 วัน ก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน หรือเป็นปี ย่อมจะเป็นปัญหาในการดำรงชีวิตแน่นอน

            โรค นอนไม่หลับ เป็นอาการของการนอนที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะไม่สามารถนอนหลับต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานได้เท่าที่ควร โดยในบทความนี้จะขอใช้คำว่า  โรค นอนไม่มีคุณภาพ สลับกับคำว่า โรค นอนไม่หลับ

3.สาเหตุที่ทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ      

               สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค นอนไม่มีคุณภาพ พอจะแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ

          3.1 สาเหตุทางกาย

                        สาเหตุทางกาย หมายถึง การมีโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างที่มีผลต่อคุณภาพในการนอน ทำให้ยากที่จะหลับได้ หรือแม้หลับได้ แต่พอตื่นขึ้นมากลางดึก กลับไม่สามารถนอนหลับต่อได้

                        มีโรคเรื้อรังบางโรคที่ทำให้คนป่วยไม่สามารถนอนหลับรวดเดียวหลายชั่วโมงได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโตหรืออักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ โรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวเร็ว เป็นต้น เพราะโรคเหล่านี้จะทำให้คนป่วยมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเวลากลางคืน เมื่อมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ทำให้ต้องตื่นเข้าห้องน้ำบ่อย

                         หากตื่นขึ้นมาแล้ว สามารถนอนหลับต่อได้ก็โชคดี แต่หากไม่สามารถนอนต่อให้หลับลงได้ ก็นับว่าโชคร้าย ต้องนอนทรมานรอเวลา จนกว่าจะรุ่งสาง

            3.2 สาเหตุทางจิต

                         การนอนที่ขาดคุณภาพ นอกจากมีสาเหตุมาจากทางกายแล้ว อาจมีสาเหตุมาจากทางจิตได้ เพราะคนที่จิตใจไม่สงบ มีแต่ความเครียด วิตกกังวล การจะข่มตาให้หลับย่อมยากที่จะทำได้  เพราะจิตใจไม่สงบ มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่อยู่ตลอดเวลา

            3.3 สาเหตุมาจากทั้งกายและจิต

                        การนอนที่ขาดคุณภาพ นอกจากอาจจะมีสาเหตุมาจากทางกาย หรือทางจิตแล้ว อาจจะมีสาเหตุมาจากทั้งสองทางร่วมกันก็ได้ เพราะการเจ็บป่วยทางกาย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเรื้อรัง ย่อมจะทำให้จิตใจไม่ปกติสุข มีแต่ความวิตกกังวล ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพการนอนอย่างแน่นอน

4.โทษของการนอนที่ขาดคุณภาพ

            การนอนไม่หลับ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของบุคคลทั้งทางตรงและทางอ้อม  

            4.1 ผลทางตรง

                        ผู้ที่มีปัญหาการนอนขาดคุณภาพ ย่อมจะรู้สึกอ่อนเพลียในเวลากลางวัน ร่างกายและจิตใจไม่สดชื่น อาจมีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ซึ่งเป็นเวลาทำงาน อันจะส่งต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถ การประชุม การศึกษาเล่าเรียน  หรือการปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ

                        การขับรถ ในขณะที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้บุคคลนั้นมีอาการวูบในขณะขับรถจนถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

                        การประชุม ผู้เข้าประชุมในขณะอดนอน ย่อมรู้สึกอ่อนเพลีย อยากจะหลับในเวลาประชุม ทำให้ไม่สามารถจดหรือจับประเด็นสำคัญในการประชุมได้

                        การศึกษาเล่าเรียน ผู้ต้องศึกษาเล่าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเล่าเรียนระดับใด หากเข้าเรียนในขณะที่มีอาการอดนอนหรือนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ย่อมจะไม่สามารถฟังคำบรรยายของครูอาจารย์ให้เข้าใจได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาที่มีเนื้อหาเข้าใจยาก

            4.1 ผลทางอ้อม

                    ผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่มีคุณภาพ นอกจากจะส่งผลทางตรงดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาจจะส่งผลทางอ้อมได้ เนื่องจากการพักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ เช่น ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านไม่ดี  ทำให้การรักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ได้ผลดี

5.แนวคิดในการรักษาโรค นอนไม่มีคุณภาพ แบบบูรณาการ

          หลังจากได้ค้นคว้าหาองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาหรือรักษาโรค นอนไม่มีคุณภาพ จากเว็บไซต์และยูทูปต่าง ๆ แล้ว ทำให้ผมพอจะสรุปได้ว่า การจะแก้ปัญหาหรือรักษาโรค นอนไม่มีคุณภาพ ได้ผลดีนั้น จำเป็นต้องมีการบูรณาการแนวทางหรือวิธีการหลายอย่างเข้าด้วยกัน

            5.1 การรักษาโรคที่เป็นต้นตอที่ทำให้ไม่สามารถนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

                    มีโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังบางโรคที่ทำให้เราไม่สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ เพราะต้องตื่นขึ้นกลางดึกหลายครั้ง เพื่อเข้าห้องน้ำปัสสาวะ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมลูกหมากโตหรืออักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อหรืออักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะไว

                  การรักษาโรคเหล่านี้ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะการรักษาโรคเรื้อรังเหล่านี้ บทบาทของแพทย์เป็นเพียงผู้จ่ายยาและให้คำแนะนำในการอยู่การกินที่คนป่วยพึงปฏิบัติเท่านั้น  ส่วนการปฏิบัติที่แท้จริงเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยแต่ละคนต้องทำเอง หากผู้ป่วยไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อาการของโรคเรื้อรังดังกล่าว ย่อมยากที่จะดีขึ้นได้

            5.2 การกินอาหารให้ครบห้าหมู่

                    การกินอาหารให้ครบห้าหมู่ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะจะทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายครบถ้วน  ส่วนจะกินอาหารอย่างไรให้ครบห้าหมู่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด หากอยากจะทราบ สามารถสืบค้นหาผ่านกูเกิลได้

            5.3 การออกกำลังกาย

                    การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนพึงทำควบคู่ไปกับการกินอาหารให้ครบห้าหมู่ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสามารถสร้างระบบเผาผลาญได้ดี รวมทั้งสร้างกล้ามเนื้อ และทำให้ปอด ตลอดจนหัวใจให้แข็งแรง

            5.4 การทำจิตใจให้สดชื่น และแจ่มใส  

                    จิตใจของคนเรามีความสำคัญไม่แพ้ร่างกาย หากร่างกายแข็งแรง แต่จิตใจอ่อนแอ ไม่สดชื่นหรือแจ่มใส ก็อาจจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บบางอย่าง หรือเกิดความเครียดและวิตกกังวลต่าง ๆ ได้  

                  การทำจิตใสให้สดชื่น แจ่มใส และไม่เครียด อาจทำได้หลายอย่าง เช่น การสวดมนต์ไหว้พระ การนั่งสมาธิ การสั่งจิตใต้สำนึกให้คลายกังวลก่อนนอน การเล่นกีฬา และการเล่นดนตรีหรือร้องเพลง  เป็นต้น

          5.5 การหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

                   อวัยวะต่าง ๆ ของคนเราโดยเฉาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งย่อมจะเป็นผลทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างได้ แต่ถ้าเราหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุควรจะตรวจให้ได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเราจะทราบได้ว่า เรามีปัญหาหรือมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง

                 หากเราทราบปัญหาหรือแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาดังกล่าว  จะทำให้เราสามารถปรับพฤติกรรมในการอยู่การกินของเราได้เสียแต่เนิ่น ๆ  เพราะโรคเรื้อรังทั้งหลายล้วนเกิดจากพฤติกรรมในการอยู่การกินที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมของเราเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในโลหิตสูง โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร และโรคปวดตามเข่าตามข้อ เป็นต้น

            ผมเชื่อว่า  หากเราทำได้ครบทั้งห้าประการดังกล่าวข้างต้น จะทำให้เราเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันจะส่งผลทำให้ท่านไม่มีปัญหาการนอนขาดคุณภาพอย่างแน่นอน

6.ประสบการณ์แก้ปัญหาหรือรักษาโรค นอนไม่มีคุณภาพ  

           หากเราจะประสบปัญหา นอนไม่หลับในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 3-5 วัน คงไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะในช่วงเวลานั้น เราอาจจะมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้เกิดความเคร่งเครียด ต้องนำเก็บไปครุ่นคิดใน เวลานอน เลยนอนไม่หลับ และเมื่อปัญหานั้นได้รับการแก้ไขแล้ว เราย่อมจะสามารถนอนหลับได้ตามปกติ   

            แต่ถ้าเมื่อใด เรามีปัญหาคุณภาพการนอน เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน หลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือแม้อาจจะเป็นปี หรือหลายปี ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย หากไม่รีบหาทางแก้ไข ย่อมจะส่งผลต่อสุขภาพของเราในระยะยาวแน่นอน

เริ่มมีอาการนอนไม่หลับเมื่อ 5-6 เดือนที่แล้ว

          ผมจำได้ดีว่า อาการป่วยเป็นโรค นอนไม่มีคุณภาพ ของผมเริ่มต้นในราวต้นเดือนพฤศจิกายน  2564 กล่าวคือ เมื่อถึงเวลานอนราวห้าทุ่ม ผมไม่รู้สึกง่วงเลย ตาสว่างโพลง ผมต้องแก้ปัญหาด้วยการกินยาแก้แพ้เพื่อให้รู้สึกง่วงนอน ตามที่เภสัชกรข้างบ้านให้คำแนะนำ

         แม้การกินยาแพ้จะช่วยให้หลับได้ แต่พอตื่นเช้าขึ้นมา มักจะทำให้มีอาการเซื่องซึม ไม่สดชื่น บางครั้งทำให้รู้สึกง่วงนอนทั้งวัน

          ผมคิดว่า การกินยาแก้แพ้เพื่อให้นอนหลับได้ทุกวันหรือบ่อย ๆ ไม่น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพของผมในระยะยาวอย่างแน่นอน

มองหาแนวทางแก้ไขหรือรักษา โรค นอนไม่มีคุณภาพ

หลังจากมีปัญหาการนอน ไม่มีคุณภาพ ทำให้ผมได้ศึกษาค้นคว้าหาองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาหรือรักษาโรคดังกล่าว จนมั่นใจว่ามีองค์ความรู้พอสมควรแล้ว จึงได้เพ่งความสนใจไปในการรักษาโรคเรื้อรังประจำตัวของผมคือโรคเบาหวาน

แนวคิดในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาด

          ดิมผมหรือหลายท่านอาจจะฝังใจในความเชื่อเก่า ๆ ว่า โรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีแต่ควบคุมอาการของโรคมิให้รุนแรงมากจนเกินไป หรือพูดง่าย ๆ คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมิให้สูงจนเกินไป แต่แล้วความเชื่อดังกล่าวของผมได้เริ่มเปลี่ยนไป เพราะได้องค์ความรู้จากคุณหมอท่านหนึ่ง ยืนยันว่า โรคเบาหวานสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการควบคุมอาหาร  การกำหนดช่วงเวลากินอาหารให้น้อยกว่าช่วงเวลาอดอาหาร ในแต่ละวัน และต้องมีการออกกำลังกายให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ

7.การรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดตามแนวทางของคุณหมอปอ

            ผมเองมีโรคประจำตัวอยู่โรคหนึ่งที่อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอน  คือ โรคเบาหวาน ซึ่งผมได้ป่วยเป็นโรคนี้มาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2541  นับจนกระทั่งบัดนี้เป็นเวลาร่วม 24 ปี  โดยผมได้พยายามรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยการกินยาแผนปัจจุบันบ้าง สมุนไพรบ้าง รวมทั้งได้ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร แต่ผลการรักษาก็แค่พอประทังอาการของโรคมิให้รุนแรงมากจนเกินไปเท่านั้นเอง

          อยู่มาวันหนึ่งผมโชคดีได้พบองค์ความรู้ในการรักษาเบาหวานให้หายขาดของแพทย์หญิง สุพิชชา แสงทองพราว หรือหมอปอ คุณหมอได้เขียนหนังสือ “ปลดล็อกเบาหวาน ด้วยอาหารในชีวิตประจำวัน” ผมได้สั่งซื้อมาอ่าน 1 เล่ม ประกอบกับได้ดูคลิปวิดีโอในยูทูปหลายคลิปที่คุณหมอได้จัดทำขึ้นในช่อง “หมอปอ sugarfreedom” ผมได้ศึกษาทำความเข้าใจแนวทางในการรักษาเบาหวานให้หายขาดดังกล่าว และได้นำมาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 จนกระทั่งวันนี้เดือนพฤษภาคม 2565 นับเป็นระยะเวลาได้ร่วม 5-6 เดือนแล้ว

            ผลการรักษาเบาหวานตามแนวทางของคุณหมอปอ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การกำหนดเวลากินอาหารประจำวัน และการออกกำลังกาย เพราะขณะนี้ระดับน้ำตาลของผมลดลงจากวันแรกที่ผมเริ่มทำการรักษาตามแนวทางของคุณหมอ จากระดับน้ำตาลในกระแสเลือด 190 ขณะนี้ลดเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 100  คงเหลืออยู่แต่การตรวจวัดน้ำตาลสะสมปลายเดือนนี้ หากลดลงเหลือราว 6.5 ผมก็คงจะไม่จำเป็นต้องกินยาเบาหวานอีกต่อไป

8.กิจกรรมประจำวันในการรักษาเบาหวานให้หายขาด   

            เพื่อให้สามารถรักษาโรคเบาหวานที่ผมเป็นมาเป็นเวลาร่วม 24 ปี ตามแนวทางของคุณหมอปอให้ได้ผลดีและหายขาด ผมได้ทำหลายอย่างไปพร้อมกัน คือ

            8.1 หมั่นไปตรวจร่างกายและพบแพทย์

                        คนป่วยเป็นโรคเบาหวาน จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป  ดังนั้น ผมจึงต้องขยันไปตรวจที่ห้องแลบ เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำตาลสะสมทุกระยะ 3 เดือน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลว่า ผมสามารถดูแลตนเองในการรักษาเบาหวานได้ดีแค่ไหน

                        นอกจากนี้ ผมได้ตัดสินใจกลับมากินยารักษาเบาหวานแผนปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้หยุดกินมา ระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อให้การรักษาเห็นผลเร็วขึ้นตามแนวทางที่คุณหมอปอแนะนำ

            8.2 กำหนดระยะเวลากินและอดอาหารประจำวันไว้ชัดเจน (IF)

                      ผมได้แนวคิดจากคำบรรยายของคุณหมอปอ นำมาปรับเป็นสูตรกำหนดระยะเวลากินและอดอาหารเป็น 8:16 กล่าวคือ ช่วงเวลากินอาหาร 3 มื้อ ระหว่าง 09.30-17.30 รวม 8 ชั่วโมง และช่วงเวลาอดอาหาร ระหว่าง 17.30-09.30 ของวันรุ่งขึ้น รวม 16 ชั่วโมง

                    ช่วงเวลาอดอาหาร 16 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาของเผาผลาญอาหารของร่างกาย

                    การกำหนดเวลากินและอดอาหารเช่นนี้เรียกว่า Intermittent  Fasting หรือ IF

            8.3 ควบคุมอาหารค่อนข้างเข้มงวด

                        ผมได้ลดอาหารพวกแป้งและน้ำตาลลง แต่เพิ่มการกินโปรตีน ผักสดและผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน เพื่อให้รู้สึกอิ่มท้อง ไม่หิวโหย

            8.4 ออกกำลังกายทั้งเช้า-เย็นอย่างสม่ำเสมอ

                        เป็นการออกกำลังกาย 2 แบบ แบบแรกคือ แบบสร้างกล้ามเนื้อ (Resistance Training) และแบบที่สองคือ แบบคาร์ดิโอ (Cardio Training) เพื่อสร้างความแข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด

                        การออกกำลังกาย เป็นการสร้างกล้ามเนื้อ หัวใจ และปอดให้แข็งแรง รวมทั้งเสริมสร้างระบบเผาผลาญอาหารของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

9.เบาหวานลดลงเป็นปกติแล้ว แต่ยังมีปัญหาปัสสาวะบ่อย

แม้อาการโรคเบาหวานของผมได้ดีขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งระดับน้ำตาลได้ลดลงเป็นปกติแล้ว แต่ผมก็ยังมีปัญหาต้องตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำปัสสาวะคืนหนึ่งมากกว่า 2 ครั้ง บางคืนมากถึง 4-5 ครั้ง ทำให้ผมรู้สึกอ่อนเพลียมาก ในขณะเดียวกันน้ำหนักตัวของผมก็ลดลงผิดปกติ เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอและปัสสาวะบ่อยมาก  

ผมคิดในใจว่าอาการโรคปัสสาวะบ่อยผิดปกติของผม หากจะไปตรวจตามโรงพยาบาลน่าจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะต้องมีการตรวจและทดสอบหลายอย่าง และก็ไม่แน่ใจว่าจะตรวจพบสาเหตุที่แท้จริงหรือไม่  และหากจะต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพฯ ผมเองก็คงจะไม่สะดวกเท่าใด น่าจะหาวิธีการที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่อาจจะได้ผลดีเกินคาด

                   ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจปรึกษาทางออนไลน์กับคุณหมอพูนทวี พรพานิช ซึ่งเป็นคุณหมอรักษาโรค

ผิวหนังอักเสบเรื้อรังทางออนไลน์ของผม

            คุณหมอพูนทวี เป็นแพทย์ทางเลือกแบบผสมผสาน และเวชกรรม ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพิจิตร มีชื่อเสียงในการรักษาโรคทางออนไลน์ โดยคุณหมอได้ทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการรักษาโรคลงในยูทูปและเฟสบุ๊ค เป็นจำนวนหลายคลิป ในช่องนายแพทย์พูนทวี พรพานิช

            ผมได้ปรึกษาคุณหมอพูนทวีในประเด็นที่ว่า ทำไมในเมื่ออาการโรคเบาหวานระดับน้ำตาลของผมได้ลดลงเป็นปกติแล้ว ต่อมลูกหมากก็ไม่โตหรืออักเสบ ทางเดินปัสสาวะก็ไม่ติดเชื้อ แต่ทำไมผมจึงยังมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ทั้งกลางวันและกลางคืน

            คุณหมอพูนทวีได้สอบถามผมถึงอาหารที่ผมรับประทานประจำวันว่า ทานอะไรบ้าง พอทราบรายการอาหารที่ผมทานประจำวันแล้ว คุณหมอวินิจฉัยเลยว่า ในเมื่อเบาหวานของผมระดับน้ำตาลลดเป็นปกติแล้ว ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บอย่างอื่นที่จะทำให้ผมมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยไม่มี ไม่ว่าจะเป็นโรคต่อมลูกหมากโตหรืออักเสบ โรคทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ และค่าไตก็เป็นปกติ ประกอบกับได้ทราบรายการอาหารที่ผมรับประทานประจำวันแล้ว จึงวินิจฉัยว่า อาการปวดปัสสาวะบ่อยจนผิดปกติของผมน่าจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากจนเกินไป  

              ดังนั้น แนวทางในการรักษาคือ ต้องรับประทานอาหารทีมีฤทธิ์ร้อนและอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ให้สมดุลกัน อาการปวดปัสสาวะบ่อยจึงจะทุเลาเบาบางลงเป็นปกติ

10. การปรับการรับประทานอาหารฤทธิ์ร้อนและอาหารฤทธิ์เย็นให้สมดุลกัน

หลังจากได้รับคำชี้แนะจากคุณหมอพูนทวีในการปรึกษาทางออนไลน์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นผมได้เริ่มปรับการกินอาหารใหม่ โดยลดอาหารที่มีฤทธิ์เย็นให้น้อยลง พร้อมกับเพิ่มอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนให้มากขึ้น ผลปรากฏว่า แค่วันเดียว อาการปวดปัสสาวะบ่อยของผมทั้งกลางวันและกลางคืนได้หายราวกับปลิดทิ้ง ช่างน่ามหัศจรรย์จริง ๆ เหลือการตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำปัสสาวะ คืนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น

ทุเรียน ผลไม้ฤทธิ์ร้อน ช่วยปรับสมดุลร่างกายมิให้เย็นมากจนเกินไป
ทุเรียน ผลไม้ฤทธิ์ร้อน ช่วยปรับสมดุลร่างกายมิให้เย็นมากจนเกินไป

            ส่วนอาหารอะไรที่มีฤทธิ์ร้อนหรือมีฤทธิ์เย็น ท่านผู้อ่านอาจสืบค้นได้จากกูเกิลได้ไม่ยาก เช่น

            10.1 ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น และผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน

ผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น แอบเปิล แก้วมังกร เชอร์รี่  กระท้อน แคนตาลูป ชมพู่ แตงโม แตงไทย มังคุด มะยม มะพร้าว สับปะรด สาลี่ และน้ำมะนาว

                  ผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ทุเรียน ฝรั่ง เงาะ กล้วย เสาวรส น้อยหน่า มะตูม ลำไย มะม่วงสุก ลองกอง มะปราง มะไฟ

            10.2 ผักที่มีฤทธิ์เย็น และผักที่มีฤทธิ์ร้อน

                    ผักที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ดอกกะหล่ำ กวางตุ้ง  ผักกาดขาว ผักกาดหอม ข้าวโพด ใบเตย ถั่วงอก สายบัว บล็อกโคลี่ มะเขือ มะรุม ฟัก

                   ผักที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น กระชาย กระเพรา กุยช่าย กระเทียม ขิง ข่า ขมิ้น ผักชี ยี่หร่า โหระพา พริก พริกไทย และ เครื่องเทศ

            หลังจากปรับการกินอาหารประจำวันให้มีอาหารฤทธิ์เย็นและอาหารฤทธิ์ร้อน อยู่ในภาวะสมดุลกัน อาการปวดปัสสาวะบ่อยของผมก็หายไปเป็นปกติ

ผักสลัด มีฤทธิ์เย็น หากกินมากจนเกินไป อาจจะทำให้ปัสสาวะบ่อย
ผักสลัด มีฤทธิ์เย็น หากกินมากจนเกินไป อาจจะทำให้ปัสสาวะบ่อย

11.สรุป

          บทความ “โรค นอนไม่หลับ อาจรักษาได้ด้วยการบูรณาการ” เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของผมในการแก้ปัญหาหรือรักษาโรค นอนไม่หลับ หรือนอนไม่มีคุณภาพ ด้วยการบูรณาการหรือผสมผสานแนวทางการรักษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทางกายหรือแม้กระทั่งการรักษาทางจิต

            แม้การรักษาเบาหวานของผมจะประสบผลสำเร็จด้วยดีจนระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเป็นปกติ แต่ผมก็ยังมีปัญหาต้องตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง บางคืนมากถึง 4-5 ครั้ง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงมาก

            ดังนั้น ผมจึงได้ลองรักษาด้วยการแพทย์แบบผสมผสานตามแนวทางที่คุณหมอพูนทวี พรพานิช เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางออนไลน์ ด้วยการการปรับการกินอาหารตามหลักการสร้างความสมดุลของร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน และอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ให้สมดุลกัน มิให้มากจนเกินไปทางด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากจนเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาปวดปัสสาวะบ่อย และต้องตื่นกลางดึกหลายครั้ง เป็นปัญหาต่อคุณภาพการนอน

            ท้ายที่สุดนี้ ผมต้องขอขอบพระคุณ คุณหมอทั้งสองที่ได้มีส่วนสำคัญในการให้ข้อคิด ข้อแนะนำหรือคำปรึกษาในการรักษาโรคเบาหวานก็ดี โรคปัสสาวะบ่อยผิดปกติก็ดี ซึ่งผมได้นำมาถือปฏิบัติจนอาการของโรคทั้งสองของผมได้หายเป็นปกติ และส่งผลทำให้การนอนหลับของผมเป็นปกติแล้วในทุกวันนี้

สำหรับรายละเอียดและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมกรุณาติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 ท้ายบทความ

นี้

พริก และขิง เป็นผักฤทธิ์ร้อน ช่วยปรับสมดุล ทำให้ร่างกายอบอุุ่น
พริก และขิง เป็นผักฤทธิ์ร้อน ช่วยปรับสมดุล ทำให้ร่างกายอบอุุ่น

ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369

          ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 เป็นการนำเสนอรายละเอียดและความคิดเห็นเพิ่มเติมบางประการที่มิได้นำเสนอในบทความหรือนำเสนอแต่ยังไม่ชัดเจนพอ เพื่อให้ท่านผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของบทความได้ดีขึ้น

          ถาม-อยากให้สรุปแนวทางในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดของคุณหมอปอที่ได้กล่าวถึงในบทความสักนิดหนึ่ง

          ตอบ-แนวทางในการรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดของคุณหมอปอที่ผมได้ศึกษาจากหนังสือ “ปลดล็อกเบาหวาน ด้วยอาหารในชีวิตประจำวัน” รวมทั้งคลิปวิดีโอที่คุณหมอเผยแพร่ในยูทูป ช่อง หมอปอSugarfreedom พอจะสรุปหลักการได้ดังนี้ คือ

            ข้อแรก ต้องควบคุมการกินอาหาร ด้วยการลดการกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง เพราะอาหารประเภทนี้ ทำให้อินซูลินต้องทำงานมากขึ้นและมีผลต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือด แต่ให้เพิ่มการกินอาหารประเภทโปรตีน ผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อย และไขมันชนิดดี

            ข้อสอง แบ่งเวลาของแต่ละวันออกเป็น 2 ส่วน คือ ช่วงเวลากินอาหาร และช่วงเวลาอดอาหาร โดยให้ช่วงเวลากินอาหารสั้นกว่าช่วงเวลาอดอาหาร ตัวอย่างแบบที่ได้รับความนิยมมาก คือ ช่วงเวลากินอาหาร 8 ชั่วโมง และช่วงเวลาอดอาหาร 16 ชั่วโมง โดยช่วงเวลาอดอาหารจะเป็นช่วงเวลาให้ร่างกายเผาผลาญอาหารที่เรากินไปในรอบวัน ซึ่งจะทำให้การสะสมน้ำตาลในกระแสเลือดลดน้อยลง

            ข้อสาม ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และเพื่อเพิ่มการเผาผลาญอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งจะทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดจะไม่ตกค้างมากจนเกินไป

            การออกกำลังกายมีทั้งแบบสร้างกล้ามเนื้อ และแบบสร้างความแข็งแรงให้ปอด หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิต

          ข้อสี่ ในช่วงแรก ๆ ที่ระดับน้ำตาลยังสูงอยู่ ควรจะกินยาเบาหวานของแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ระดับน้ำตาลลดลงเร็วขึ้น

            ข้อห้า หมั่นตรวจเช็คระดับน้ำตาลสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ติดตามผลว่า มาตรการต่าง ๆ ที่เราทำได้ผลดีหรือไม่เพียงใด

            ถาม-ตามที่คุณหมอพูนทวี ได้แนะนำเกี่ยวกับการปรับการกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน และอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ให้สมดุลกัน หากกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากจนเกินไป จะทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยผิดปกตินั้น อยากให้ยกตัวอย่างประกอบได้ไหม

          ตอบ-เนื่องจากผมมีความตั้งใจที่จะรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดตามแนวทางของคุณหมอปอ ผมจึงควบคุมการกินอาหารอย่างเข้มงวด อาหารใดที่ไม่เป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวาน ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่กิน เลือกกินแต่อาหารที่เป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวานทั้งสามมื้อ เช่น แอปเปิ้ล แก้วมังกร น้ำผักปั่น ผักสลัด แต่เผอิญผลไม้และผักเหล่านี้ ล้วนมีฤทธิ์เย็นทั้งนั้น จึงส่งผลทำให้ผมปวดปัสสาวะบ่อยครั้งผิดปกติ  

                    แต่พอผมได้รับคำแนะนำจากคุณหมอพูนทวี ผมได้ปรับการกินอาหารใหม่ โดยลดการกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นลง และเพิ่มการกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันมะกอกสลัดเย็น และขิงดอง เป็นต้น เพียงแค่วันแรกที่ผมได้ปรับสูตรการกินอาหารใหม่ดังกล่าว ผมสามารถลดการปัสสาวะลงได้เป็นอย่างมาก จนอาจจะเรียกว่า เป็นปกติ

            ถาม-หากได้แก้ปัญหาโรค นอนไม่มีคุณภาพ ที่มีสาเหตุเกิดจากทางร่างกายแล้ว แต่ยังมีปัญหา นอนไม่มีคุณภาพ เพราะยังมีปัญหาทางจิตใจอยู่  มีข้อแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างไร

          ตอบ- การนอนไม่มีคุณภาพ อันมีสาเหตุมาจากทางจิต ก็ต้องแก้ด้วยวิธีการทางจิต เพื่อทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และทำให้สามารถนอนหลับได้ง่าย เช่น การสวดมนต์ไหว้พระ การนั่งสมาธิ การสั่งจิตใต้สำนึกให้ผ่อนคลาย

                    นอกจากนี้ การร้องเพลงหรือฟังเพลง การเล่นกีฬา หรือการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ก็จะทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายเครียด คลายความวิตกกังวลลงได้ดีเช่นกัน

          ถาม-หลังจากได้นอนหลับไปแล้ว หากปวดปัสสาวะ เลยทำให้ตื่นกลางดึก พอเข้านอนต่อกลับไม่รู้สึกง่วง มีข้อแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างไร

          ตอบ-สิ่งที่ผมได้ใช้ปฏิบัติอยู่เสมอในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ให้นอนทำสมาธิด้วยการภาวนา พุท-โธ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเผลอหลับไปเอง แต่ถ้ายังไม่หลับ ผมก็ใช้วิธีการสั่งจิตใต้สำนึกให้ผ่อนคลาย สักพักก็จะเผลอหลับได้เช่นกัน หรือหากยังไม่หลับ ผมก็ลุกขึ้นนั่งสมาธฺิฝึกการปล่อยวางสัก 15 นาที แล้วกลับไปนอนต่อ ก็จะหลับได้ไม่ยาก เพราะการนอนหรือนั่งทำสมาธิก็ดี การสั่งจิตใต้สำนึกให้ผ่อนคลายก็ดี เป็นวิธีการทำจิตใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คนเรานอนหลับ

            ขอให้สังเกตดูว่า ในการหลับแต่ละคืน จะเป็นจังหวะหรือช่วงที่เราไม่ได้คิดอะไรเลย ถ้ายังคิดโน่นคิดนี่ ย่อมยากที่จะนอนหลับได้

          ถาม-ควรจะกินอาหารเสริมหรือวิตามินประเภทบำรุงสมอง เพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นไหม

          ตอบ-ผมคิดว่าดีนะ สำหรับผู้สูงอายุ เพราะร่างกายของเราอาจจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนบางอย่างที่ช่วยให้เรานอนหลับได้ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว ผมเองก็กินอยู่ แต่จะเป็นยี่ห้ออะไรนั้น ท่านสามารถปรึกษาเภสัชกรก็ได้

          ถาม-มีข้อแนะนำในการรักษา โรค นอนไม่มีคุณภาพ เพิ่มเติมอีกไหม

          ตอบ- การแกว่งแขนหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน ราว 1,000 ครั้ง จะช่วยให้เรารู้สึกง่วงนอนและนอนหลับลึกได้ดีกว่าปกติ ผมเองก็ทำเป็นประจำทุกวัน

ดร.ชา 369

18/05/22

         

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

2 COMMENTS

  1. มีสาระ แบะเป็นประโยชน์ดีมากเลยค่ะอาจารย์ ดิฉันคนหนึ่งนอนไม่มีคุณภาพ หลับง่าย แต่นอนน้อยค่ะ

    1. ขอบคุณครับที่เห็นว่าบทความนี้มีเนื้อหาสาระดี ผมตั้งใจเขียนจากประสบการณ์ตรง บางทีอาจจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านที่มีปัญหาในทำนองเดียวกันนี้

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: