87 / 100

พระราชบัญญัติที่กำลังจะพลิกโฉมการบริหารราชการไทยไปสู่ระบบออนไลน์ เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 5 เรื่องเล่า เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ความนำ  เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ กำหนดวันใช้บังคับและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายนี้ งานราชการที่จะสามารถปฏิบัติการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้  วิธีการยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ การเตรียมความพร้อม กฎหมายฉบับนี้จะพลิกโฉมการบริหารราชการไทยไปสู่ระบบออนไลน์ได้อย่างไร สรุป ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369

          อนึ่งบทความล่าสุดของหมวด 5 ที่ผมได้นำมาเสนอคือ ประเพณี การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา

1.ความนำ

พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

          ในช่วงนี้หลายท่านอาจจะได้รับทราบข่าวการประกาศใช้บังคับกฎหมายที่สำคัญและน่าสนใจฉบับหนึ่งในการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทย นั่นคือ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565

          หากฟังเฉพาะชื่อ ก็พอจะทำให้ท่านเข้าใจได้ว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นการเปิดมิติใหม่ของการบริหารราชการไทยให้ทันต่อความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  และน่าจะเป็นการพลิกโฉมการบริหารราชการของไทยให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจากเดิมเป็นอย่างมาก

            แน่นอนความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ย่อมมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อทางราชการให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อกับราชการด้วยตนเอง

          เชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะสามารถพลิกโฉมการบริหารราชการแผ่นดินของไทยเป็นอย่างมากจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เพราะเป็นการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินจากระบบปัจจุบันไปสู่ระบบออนไลน์

          เนื่องจากระบบออนไลน์เป็นระบบที่ประชาชนผู้ยื่นคำขอไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อ ณ สถานที่ราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตหรืออนุมัติอีกต่อไป เว้นแต่การขออนุญาตหรือขออนุมัติบางอย่างเท่านั้นที่ยังมีความจำเป็นต้องให้เจ้าตัวเดินทางไปติดต่อด้วยตนเอง

            สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมีอะไรบ้าง ผมจะนำมาเล่าให้ท่านทราบพอให้มองเห็นภาพตามลำดับ

2.เหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้

          เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2560 หมวด 6 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน  (1) บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

            ประกอบกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กิจกรรมปฏิรูปที่ 1 ให้ปรับเปลี่ยนการบริหารงานและการจัดการภาครัฐไปสู่ระบบดิจิทัล จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้การทำงานและการบริการภาครัฐสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้

3.กำหนดวันใช้บังคับและหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้

          3.1 กำหนดวันใช้บังคับกฎหมาย  

          พระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นกฎหมายสั้น ๆ มีความยาวเพียง 24 มาตรา ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศเป็นต้นไป ซึ่งจะครบ 90 วัน ในวันที่ 10 มกราคม 2566 (มาตรา2)

          3.2 หน่วยงานที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายนี้

            ได้แก่ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ที่มิใช่หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ   องค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 4 )           

            หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายนี้ ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการ ส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (มาตรา 5)

          กล่าวสรุปคือ บรรดาหน่วยงานทั้งหลายที่ขึ้นต่อฝ่ายบริหารนั่นเอง

4.งานราชการที่จะสามารถปฏิบัติการทางอิเล็กทรอนิกส์

   การติดต่อราชการทางออนไลน์หรืออิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้ผ่านทางโน้ตบุ๊ค
การติดต่อราชการทางออนไลน์หรืออิเล็กทรอนิกส์ สามารถทำได้ผ่านทางโน้ตบุ๊ค

             งานที่จะสามารถปฏิบัติการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายนี้ ได้แก่ การขออนุญาต และการอนุญาตต่าง ๆ

          4.1 การขออนุญาต

          การขออนุญาต ได้แก่ ขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอแจ้ง ขอจดแจ้ง ขออาชญาบัตร ขอการรับรอง ขอความเห็นชอบ ขอความเห็น ขอให้พิจารณา ขออุทธรณ์ ร้องทุกข์หรือร้องเรียน ขอให้ดำเนินการ ขอรับเงิน ขอรับสวัสดิการ และขอรับบริการอื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ

4.2 การอนุญาต

               การอนุญาต ได้แก่ การออกใบอนุญาต อนุมัติ จดทะเบียน ขึ้นทะเบียน รับแจ้ง รับจดแจ้ง ออกอาชญาบัตร รับรอง เห็นชอบ ให้ความเห็น แจ้งผลการพิจารณา แจ้งผลการดำเนินการ จ่ายเงิน ให้ได้รับสวัสดิการ และให้บริการอื่นใดแก่ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ

          (มาตรา 5 วรรคสอง และวรรคท้าย)

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369

                   จะเห็นได้ว่า ขอบเขตของเรื่องที่ประชาชนจะสามารถยื่นคำขออนุญาต อนุมัติ นับว่ากว้างขวางมาก อาจจะเรียกว่า แทบทุกเรื่องที่เป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอนุญาต หรืออนุมัติ หรือแม้แต่การรับแจ้งที่เดิมประชาชนจะต้องเดินทางไปยื่นเรื่อง ณ สถานที่ราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น แต่ตามกฎหมายนี้ ประชาชนสามารถเลือกที่จะยื่นเรื่องราวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

5.วิธีการยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์

          5.1 การกำหนดงานที่จะยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์

                   โดยหลักการ บรรดาการใด ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องขออนุญาต ผู้ขออนุญาตจะเลือกยื่นคำขออนุญาตด้วยวิธีการทางอิเลกทรอนิกส์ได้ รวมทั้งการนำส่งเอกสารหลักฐานหรือสำเนาหลักฐานประกอบ และให้ถือว่าการยื่นคำขออนุญาตนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับเรื่องไม่ได้

                   ข้อยกเว้น

                         กรณีเป็นการยื่นคำขอจดทะเบียนที่ต้องดำเนินการเองเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นการสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หรือการอื่นใดที่กำหนดในกฎกระทรวง ไม่อาจจะยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เว้นกฎหมายนั้นจะกำหนดให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

(มาตรา 7)

          แต่ทั้งนี้ ผู้อนุญาตอาจจะกำหนดวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ผู้ขออนุญาตปฏิบัติเพิ่มเติมได้ แต่ต้องเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกหรือป้องกันความเสี่ยงแก่ผู้ขออนุญาต หรือเพื่อการยืนยันตัวตน (มาตรา 8)

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369

                    แม้กฎหมายนี้จะได้วางหลักการให้ประชาชนผู้มีความประสงค์จะยื่นเรื่องขออนุญาต หรือขออนุมัติต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ โดยทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่มีการขอจดทะเบียนบางอย่างที่มีกฎกระทรวงระบุไว้ว่า ผู้ขอจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้หน้าที่ของรัฐโดยตรง ประชาชนก็ยังต้องเดินทางไปยื่นคำขอ ณ สถานที่ราชการที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปตามเดิม

6.การเตรียมความพร้อม

          ก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลไทยได้มีการเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมในการปฏิบัติมาเป็นลำดับ คือ

          6.1 การจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

               กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society) ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 เพื่อแทนที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งได้ตั้งมาก่อนเมื่อปีพ.ศ.2545

               กระทรวงนี้ เป็นกระทรวงแกนกลางในการนำเทคโนโลยีมาใช้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนในชนบทสามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต

          6.2 การจัดทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ใช้เทคโนโลยีและระบบออนไลน์บริหาร

รัฐบาลได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยผ่านระบบออนไลน์หลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักในช่วงปีพ.ศ.2563-2565 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการกินเที่ยวด้วยกัน หรือแม้แต่การจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาลผ่านระบบออนไลน์ อย่างที่เรียกชื่อว่า “สลากดิจิทัล” ผ่านแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง”

              โครงการเหล่านี้ เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้แก่ประชาชนในการใช้บริการของรัฐโดยไม่จำต้องต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สถานที่ราชการด้วยตนเอง ขอเพียงแต่มีถือถือและอินเตอร์เน็ต ก็สามารถทำรายการได้เสร็จสมบูรณ์

          6.3 การบริการประชาชนในรูปแบบออนไลน์ของหน่วยงานของรัฐในบางอย่างที่มีมาก่อน

                 ความจริงการบริการประชาชนในรูปแบบออนไลน์ของหน่วยงานของรัฐ ได้มีการจัดทำมาก่อนเป็นเวลานานแล้ว  แต่เป็นความคิดริเริ่มในการให้บริการบางอย่างของเพียงบางหน่วยงานเท่านั้น ยังไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องให้การบริการแบบออนไลน์ เช่น

                        การยื่นชำระภาษีเงินได้ทางออนไลน์

                        การยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปีทางอินเตอร์เน็ต

                        การจองตั๋วเครื่องบินทางอินเตอร์เน็ต

                                                ฯลฯ

            6.4 การเติบโตของธุรกิจออนไลน์อย่างก้าวกระโดด

                    ในช่วงเกิดวิกฤตโรคไวรัสโควิด-19 ระบาดดังกล่าว ในทางภาคเอกชน ได้มีการพัฒนาการบริหารธุรกิจแบบออนไลน์ด้วยการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยไม่ต้องเดินทางไปซื้อสินค้า ณ ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าด้วยตนเองให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางเหมือนเมื่อก่อน เพียงแค่รู้จักการใช้แอพพลิเคชันทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านมือถือ และคอยรับสินค้าที่สั่งซื้ออยู่ที่บ้าน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว

7. การตรวจและติดตามผล

          กฎหมายนี้ไว้กำหนดหลักการในการตรวจและติดตามผล ดังนี้

            7.1 การตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประจำตัวประชาชน

                    ในกรณีผู้อนุญาตประสงค์จะตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประจำตัวประชาชนที่ผู้ขออนุญาตยื่นหรือแสดงต่อผู้อนุญาต ให้เป็นหน้าที่ของผู้อนุญาตที่จะติดต่อกับสำนักทะเบียนกลางตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อดำเนินการตรวจสอบ (มาตรา 9)

          7.2 การตรวจสอบใบอนุญาต

                    เจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตรวจสอบใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐออกให้ ผู้มีหน้าที่ต้องแสดง จะแสดงใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานนั้นเป็นภาพทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นก็ได้ (มาตรา 14)

          7.3 การกำหนดหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ในการติดตามและเร่งรัดผลการดำเนินงาน

                    ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามและเร่งรัดผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ว่าได้ดำเนินการประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ รวมทั้งกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกระยะ 60 วัน (มาตรา 22)

          ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา 369

                    การกำหนดให้มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามและเร่งรัดการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และรายงานคณะรัฐมนตรีทราบทุกระยะ 60 วัน ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้การพลิกโฉมการบริหารราชการไทยไปสู่ระบบออนไลน์ประสบผลสัมฤทธิ์ได้ภายในระยะเวลาอันควร

8.กฎหมายนี้จะพลิกโฉมการบริหารราชการไทยไปสู่ระบบออนไลน์ได้อย่างไร

          ด้วยการเตรียมความพร้อมหลายประการนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ที่มาก่อนตามข้อ 6 ดังกล่าวข้างต้น  เชื่อได้ว่า หน่วยงานของรัฐ และประชาชนมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ยุคใหม่ของการบริหารราชการไทยในระบบออนไลน์อย่างเต็มตัว ด้วยเหตุผลดังนี้

          8.1 ความพร้อมของประชาชน

                การให้บริการของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานในระบบออนไลน์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนรู้จักคุ้นเคยดีอยู่แล้ว แสดงว่าประชาชนพร้อมที่จะเข้ารับบริการของหน่วยงานของรัฐได้ทันทีที่หน่วยงานของรัฐมีความพร้อม

            8.2 ความพร้อมของรัฐบาล

                   การที่รัฐบาลได้ผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการที่จะพลิกโฉมการบริหารราชกาไทยไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคของการบริหารในระบบออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและของภาคเอกชน

            8.3 ความพร้อมของหน่วยงานของรัฐ

                     กฎหมายฉบับนี้ บังคับให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่ไม่ใช่หน่วยงานที่ได้รับยกเว้น จะต้องถือหลักปฏิบัติว่า ต้องให้ประชาชนสามารถเลือกในการยื่นคำขออนุญาตหรือขออนุมัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่ไม่อยู่ในข้อยกเว้น ทางออนไลน์ได้ และการแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าว ก็จะต้องแจ้งทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน  โดยกำหนดเวลาในการวางระบบและเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายนี้

9.ผลที่คาดว่าจะได้รับ

พระราชบัญญัตินี้ จะทำให้การติดต่อราชการไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
พระราชบัญญัตินี้ จะทำให้การติดต่อราชการไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

          การบังคับใช้กฎหมายนี้ คาดว่าจะทำให้ระบบราชการไทยพลิกโฉมไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง เพราะจะเป็นยุคที่การติดต่องานราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้ให้บริการ และประชาชนผู้ขอรับบริการจะสามารถดำเนินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากกว่าเดิมหลายเท่า  

            ทั้งนี้ เพราะโดยหลักการใหม่ การขออนุญาตหรือขออนุมัติของประชาชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เกือบทั้งหมด ประชาชนสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ณ ที่บ้านหรือที่แห่งใดก็ได้ ผ่านทางคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือมือถือที่มีระบบอินเตอร์เน็ตรองรับ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางไปติดต่อ ณ สถานที่ราชการที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเหมือนอย่างที่ผ่านมาในอดีต

          ดังนั้น ภายในเวลาไม่นานนักการบริราชการไทยจะเป็นไปย่องมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างมากอาจจะเรียกว่า ช่างสะดวก ง่ายดาย รวดเร็ว และประหยัดยิ่งนัก ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลกสูงขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว

          ยิ่งกว่านั้น การขออนุญาตหรือขออนุมัติทางออนไลน์ จะสามารถลดการทุจริตคอรัปชั่นของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนที่เคยชินกับการเรียกรับผลประโยชน์จากอนุญาตหรือการอนุมัติ ด้วยการดึงเรื่องให้ล่าช้าออกไปโดยไม่มีเหตุผล

          อย่างไรก็ดี มีการขออนุญาตหรือการขออนุมัติบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวง ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้เจ้าตัวไปยื่นเรื่องด้วยตนเอง ณ สถานที่ราชการต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ

            ในทำนองเดียวกันกับการให้บริการของธนาคารต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันที่ได้ปรับรูปแบบในการให้บริการลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือมาก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเมื่อก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปสู่อีกบัญชีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบัญชีของธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคารก็ตาม  ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้อยู่แล้ว 

10.สรุป

          พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 จะมีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับจากวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป คือ ภายในวันที่ 10 มกราคม 2566 ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายบังคับกฎหมายนี้ มีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนที่จะประกาศช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนติดต่อราชการ และการกำหนดระบบสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา20)

สำหรับข้อมูลและความคิดเห็นเพิ่มเติม ขอเชิญติดตามได้ในหัวข้อ ถาม-ตอบ สนุก กับ ดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้

ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369

พระราชบัญญัตินี้ จะทำให้ประหยัดค่าใชจ่ายในการเดินทางไปติดต่อราชการ
พระราชบัญญัตินี้ จะทำให้ประหยัดค่าใชจ่ายในการเดินทางไปติดต่อราชการ

          ถาม- หน่วยงานของรัฐที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่อะไรบ้าง

          ตอบ-หน่วยงานของรัฐที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ที่มิใช่หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์อรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 4)

          ถาม- หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายนี้ หมายถึงหน่วยงานสังกัดใดบ้าง

          ตอบ-หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายนี้ หมายถึง หน่วยงานของรัฐสังกัด ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

          ถาม-งานราชการที่ประชาชนสามารถเลือกใช้การบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ มีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด

          ตอบ-งานราชการที่ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ มีขอบเขตกว้างขวางมาก เพราะเป็นเรื่องของการขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขอขึ้นทะเบียน ขอแจ้ง ขอจดแจ้ง ขออาชญาบัตร ขอการรับรอง ขอความเห็นชอบ ขอความเห็น ขอให้พิจารณา ขออุทธรณ์ ร้องทุกข์หรือร้องเรียน ขอให้ดำเนินการ ขอรับเงิน ขอรับสวัสดิการ และขอรับบริการอื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ

         ถาม-มีงานราชการอะไรบ้างที่ประชาชนไม่อาจยื่นคำร้องขอรับบริการทางระบบออนไลน์ เพราะเหตุใด

          ตอบ-มีงานราชการบางอย่างที่ประชาชนไม่อาจยื่นคำร้องขอรับการบริการทางออนไลน์ ได้แก่ การจดทะเบียนที่ต้องดำเนินการเองเฉพาะตัว เช่น การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หรือการอื่นใดที่จะมีกำหนดไว้ในกฎกระทรวง (มาตรา7 วรรคท้าย) เพราะการขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเรื่องเฉพาะตัวและเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ จึงจำเป็นต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนด้วยตนเอง

          ถาม-ทำไมกฎหมายจึงกำหนดให้การประกาศใช้บังคับกฎหมายนี้ จะมีผลภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 12 ตุลาคม 2565

          ตอบ-การกำหนดระยะเวลาให้กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็เพื่อให้หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ มีเวลาเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมเนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องใหม่สำหรับระบบราชการไทย

          ถาม-การนับวันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มนับเมื่อใด

          ตอบ-การนับวันดังกล่าว จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่คำขออนุญาตหรือการติดต่อใด ๆ ที่ประชาชนส่งหรือมีถึงหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องตามช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หน่วยงานของรัฐได้ประกาศไว้ ได้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น (มาตรา10)

          ถาม-เมื่อได้รับใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะสามารถแสดงใบอนุญาตไว้โดยเปิดเผยได้อย่างไร

          ตอบ- เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ผู้รับใบอนุญาตอาจจะแสดงใบอนุญาตโดยเปิดเผยตามช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้อนุญาตประกาศกำหนดไว้ (มาตรา13)

          ถาม-ในอนาคต พระราชบัญญัตินี้จะมีผลต่อการลดกำลังพลภาครัฐได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด มีผลดีผลเสียอย่างไรต่อผู้ประกอบอาชีพเป็นข้าราชการการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          ตอบ-กฎหมายนี้ย่อมจะส่งผลต่อการลดกำลังพลภาครัฐในอนาคตได้เป็นอย่างมาก เพราะการทำเรื่องราวขออนุญาตหรือขออนุมัติส่วนใหญ่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนจะสามารถเลือกใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยื่นเรื่องราวด้วยตนเอง ณ สถานที่ราชการเหมือนอย่างทุกวันนี้  เว้นแต่การขอจดทะเบียนบางอย่างที่กฎกระทรวงกำหนดไว้เท่านั้น ที่ประชาชนจำเป็นต้องเดินทางไปยื่นเรื่องราวด้วยตนเอง ณ สถานที่ราชการที่มีอำนาจหน้าที่

            ด้วยผลของกฎหมายนี้ โดยภาพรวมจะทำให้การกำหนดอัตรากำลังและตำแหน่งต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐจึงไม่มีความจำเป็นต้องมีจำนวนมากเหมือนในอดีต แต่จะมีขนาดเล็กลงจากเดิมมากทีเดียว จะคงไว้เฉพาะงานที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรงเท่านั้น หรืออาจจะเรียกว่ามีขนาดกะทัดรัด ไม่อุ้ยอ้าย ชักช้า เฉื่อยชา แต่ก็จะส่งผลดีในแง่ที่ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในอนาคต เมื่อมีอัตรากำลังลดลง ก็น่าจะมีอัตราเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะรัฐบาลน่าจะมีงบประมาณมากพอในการดูแลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

                                                                 ดร.ชา 369

                                                               5/11/22

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***) 2

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18) 5

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18)

ชาว ไทย ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุ้มหาย

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: