“ประเพณี การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา” เป็นบทความลำดับที่ 10 ของ หมวด 5 เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ มีหัวข้อดังนี้ ความนำ ประเพณี คืออะไร ขนบธรรมเนียม การปกครองในระบอบการปกครองประชาธิปไตย รูปแบบการปกครองอเมริกา การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกา ขนบธรรมเนียม การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอเมริกา การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คำสัญญาของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง คณะกรรมาธิการของสภาคองเกรส รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร สรุป และถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369
อนึ่ง บทความหมวด 5 เหตุการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ มีสองบทความที่เกี่ยวข้องกัน คือ
การตีความมาตรา 158 รัฐธรรมนูญ แห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (7)
นายกรัฐมนตรี มีผู้รักษาราชการแทนไว้เพื่อประโยชน์อันใด (9)
Table of Contents
1.ความนำ
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติด้วยคะแนน 6:3 วินิจฉัยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งครบแปดปี เพราะการนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเริ่มนับเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แล้ว ไม่ใช่นับย้อนหลังไปถึงปีพ.ศ.2557
ในขณะเดียวกัน ได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฝ่ายเสียงข้างน้อยว่า ประเทศไทยเคยมีบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกินกว่าแปดปีไม่ได้มาก่อนแล้ว ในรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ดังนั้น จึงอาจถือว่า ประเทศไทยมีขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกินกว่าแปดปีมาก่อนแล้ว
คำถาม คือ อะไรคือประเพณี การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องนี้ ผมจึงจะขอหยิบยกเรื่องขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกามาเล่า เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่า เป็นขนบธรรมเนียมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่อเมริกาเป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น นับตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1776
2.ประเพณี คืออะไร
การที่จะเข้าใจว่า ประเพณี การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยว่าคืออะไร จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการทราบความหมายของคำว่า “ประเพณี” (Tradition, custom) เสียก่อน
2.1 พระยาอนุมานราชธน
พระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความหมายของคำว่า ประเพณีไว้ว่า
ประเพณี คือความประพฤติที่ชนหมู่หนึ่งถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียวกัน และสืบต่อกันมานาน ถ้าหากใครประพฤติออกนอกแบบก็ผิดประเพณีหรือจารีตประเพณี
2.2 ตามพจนานุกรมฉบับบัณฑิตราชสถาน พ.ศ.2542
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตราชสถาน พ.ศ.2542 หน้า 663 ให้ความหมายของคำว่า ประเพณีไว้ว่า
ประเพณี สิ่งที่นิยมถือปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือ จารีตประเพณี
2.3 Oxford Dictionary
ตาม Oxford Dictionary ได้ให้ความหมายของคำว่า Tradition ไว้ว่า
“A belief, custom or way of doing something that has existed for a long time among a particular group of people; a set of these beliefs or customs
“ ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือแนวทางในการกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ได้ปรากฏอยู่มาเป็นระยะเวลาอันยาวนานในของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนเป็นแบบแผนของความเชื่อหรือวัฒนธรรม”
จากคำนิยามของคำว่า ประเพณี (tradition) ข้างต้น พอจะสรุป ความหมายของคำว่า ประเพณี ได้ดังนี้
ประเพณี เป็นความเชื่อหรือวัฒนธรรมในการยึดถือปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างที่ได้มีมาอยู่เป็นเวลายาวนาน ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนกลายเป็นแบบแผนของความเชื่อหรือวัฒนธรรม
ประเพณีเป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ศิลปกรรม กฎหมาย คุณธรรม ความเชื่อ เป็นต้น อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่าง ๆ กลายเป็นประเพณีประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ
หากขนบธรรมเนียมใดดี ก็จะรักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่ดีก็อาจจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
3.ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
จากความหมายของ คำว่า ประเพณีตามข้อ 2 เมื่อนำมารวมกับคำว่า การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย จึงอาจจะให้ความหมายของคำว่า ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้ว่า
“ขนบธรรมเนียม การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” หมายถึง สิ่งที่ได้มีการยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานในประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ยอมรับกันว่า สิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแนวทางปฏิบัติในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศตน
ดังนั้น ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจึงอาจจะแตกต่างกันไป โดยไม่จำเป็นต้องมีแบบแผน ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยคนละระบบ เช่น
สหรัฐอเมริกา มีการปกครอบตามระบอบการประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีหรือระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ ย่อมมีแบบแผน ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแตกต่างไปจากสหราชอาณาจักรที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
4.รูปแบบการปกครอง อเมริกา
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศรัฐรวม มีรัฐบาลสองระดับ คือ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลมลรัฐ
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแม่แบบของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีหรือระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1787 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลวาเนีย หลังจากนั้น มลรัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะน้ัน จำนวน 13 มลรัฐ ได้ให้สัตยายบันจนครบถ้วน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.1788 และได้ใช้บังคับเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ มาแล้ว จำนวน 27 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้แก่ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 1992 ทำให้รัฐธรรมนูญอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก มีอายุนับจนถึงปัจจุบันได้ 235 ปี
แม้อเมริกาจะเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (America’s Written Constitution) แต่ในขณะเดียวกันก็มีวิวัฒนาการของการเกิดรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (America’s Unwritten Constitution) ควบคู่กันไปด้วย
5.การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกา
แม้อเมริกามีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน แต่เมื่อได้มีการนำรัฐธรรมนูญมาใช้ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศแล้วปรากฏว่า ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่มีความชัดเจนเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญสั้น ๆ มีความยาวครั้งแรกเพียง 7 มาตราเท่านั้น ทำให้เกิดช่องว่างหรือปัญหาในแนวทางปฏิบัติหลายอย่าง จึงได้มีการสร้างแนวทางปฏิบัติ เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกาในเวลาต่อมา
รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกระบวนการในการปกครองที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นสิ่งจำเป็นต่อระบบการปกครอง แต่ยังไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้คือ วัฒนธรรม (customs) และสิ่งที่ได้ถือปฏิบัติกันมา (precedents) เป็นเวลายาวนาน จนประชาชนยอมรับว่า เป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง
ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกา จึงอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า คือขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกานั่นเอง เพราะได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว แม้ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ตาม
5.ประเพณี การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา
ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา เกิดจากการที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอเมริกาในบางมาตรามีความชัดเจนไม่เพียงพอที่จะนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลดี จึงได้มีการคิดค้นแนวทางปฏิบัติบางอย่างเพื่อให้ความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม และได้กลายเป็น ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา หรือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกานั่นเอง
รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกามีหลายอย่าง แต่ในที่นี้จะขอยกมากล่าวเพียงบางประการที่เห็นว่า มีความสำคัญเป็นพิเศษ คือ
- คณะรัฐมนตรี
- คำสัญญาของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี
- อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ
- พรรคการเมือง
- คณะกรรมาธิการของสภาคองเกรส
6.คณะรัฐมนตรีของอเมริกา

ตามรัฐธรรมนูญของอเมริกามาตรา 2 อนุมาตรา 1 กำหนดให้อำนาจในการบริหารประเทศเป็นของประธานาธิบดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งพร้อมกับ รองประธานาธิบดี อยู่ในวาระ 4 ปี แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการปกครองของอเมริกา กำหนดให้อำนาจบริหารเป็นของประธานาธิบดีแต่ผู้เดียว ไม่ได้กำหนดให้อำนาจบริหารเป็นของคณะบุคคลเหมือนอย่างระบบรัฐสภา ที่กำหนดให้อำนาจบริหารเป็นของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีของอเมริกา
จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา เมื่อปีค.ศ. 1789-1797 รวมเป็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปี เป็นผู้สร้างขนบธรรมเนียมในการบริหารประเทศด้วยการแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดี
ประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตันได้มีการเรียกประชุมรัฐมนตรีต่าง ๆ เป็นการประจำ และเรียกว่า เป็นประชุมคณะรัฐมนตรี(cabinet) แม้ว่ารัฐธรรมนูญอเมริกาจะไม่ได้กำหนดให้มีการประชุมดังกล่าว เพราะตามรูปแบบการปกครองของอเมริกา อำนาจในการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร เป็นของประธานาธิบดีคนเดียว
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีอเมริกาคนต่อ ๆ มาก็ได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติต่อมาว่า จะต้องมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีไว้คอยเป็นที่ปรึกษาของประธานธิบดีในด้านต่าง ๆ จนกลายเป็นประเพณีว่า จะต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นประจำ เพื่อให้คำแนะนำในการตัดสินใจแก่ประธานาธิบดี
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ถือว่า รัฐสภามีอำนาจสูงสุด ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะสามารถบริหารประเทศได้ตราบเท่าที่ได้รับความ ไว้วางใจจากรัฐสภา
ในการบริหารประเทศ จะต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่เสมอ เพื่อลงมติในการตัดสินใจและ รับผิดชอบต่อรัฐสภาร่วมกัน
ส่วนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีหรือระบบแบ่งแยกและ ถ่วงดุลอำนาจ ฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งจากประชาชน จึงต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน ไม่ได้ขึ้นต่อรัฐสภา กล่าวคือ การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสามารถดำรงตำแหน่งเรื่อยไปจนกว่าจะครบวาระ
ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดี เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจแต่ผู้เดียว ส่วนรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่เสนอแนะประธานาธิบดีเท่านั้น ส่วนจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นดุลพินิจของประธานาธิบดี
7.คำสัญญาของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา
การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ไม่ใช่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเหมือนอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ผ่านทางคณะบุคคลที่เรียกชื่อว่า คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (Electoral College)
คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา (US Electoral College)
คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ประกอบด้วยผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (elector) จากมลรัฐต่าง ๆ รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละมลรัฐในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอเมริกา ทุก 4 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 538 คน แต่ละมลรัฐจะมีจำนวนผู้เลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภาคองเกรสของรัฐตน โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะเป็นผู้ลงคะแนนเลือกผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีของมลรัฐของตน เพื่อให้ไปทำหน้าที่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแทนประชาชนของแต่ละมลรัฐต่อไป
ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอเมริกา จะต้องได้รับคะแนนจากผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือ ต้องไม่น้อยกว่า 270 เสียง
ตามรัฐธรรมนูญอเมริกา มาตรา 2 อนุมาตรา 1 บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐเป็นแต่งตั้ง (appoint) ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (elector) ของมลรัฐตน มีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจำนวนวุฒิสมาชิกของแต่ละมลรัฐ รวมกัน
ส่วนวิธีการแต่งตั้งผู้เลือกตั้ง เป็นดุลพินิจของแต่ละมลรัฐกำหนดขึ้นตามความเหมาะสม แต่ปัจจุบันนี้ ทุกมลรัฐรวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้หย่อนบัตรลงคะแนนเลือกผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนในทุกระยะ 4 ปี
ขนบธรรมเนียม
เมื่อถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีจากแต่ละมลรัฐจะเลือกผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจากพรรคการเมือง ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายเสียงข้างมากของแต่ละมลรัฐได้ลงมติไว้ ซึ่งเป็นการเลือกตามสัญญาที่ผู้เลือกตั้งของแต่ละมลรัฐได้ให้ไว้ในวันเลือกตั้งผู้เลือกตั้งของแต่ละมลรัฐ โดยไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับไว้แต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่น มลรัฐ ก. มีจำนวนผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งหมด 10 คน เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ลงมติเลือกผู้เลือกตั้งสังกัดพรรคดีโมแครต ดังนั้น เมื่อถึงเวลาลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีอเมริกา ผู้เลือกตั้งของมลรัฐ ก. จำนวนทั้ง 10 คน จะต้องรักษาสัญญาด้วยการลงคะแนนผู้สมัครประธานาธิบดีสังกัดพรรคดีโมแครต
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ในวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ประชาชนของแต่ละมลรัฐจะออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะจัดทำบัญชีผู้สมัครเป็นผู้เลือกตั้งประะธานาธิบดี(elector) ปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง โดยขนบธรรมเนียม หากเสียงข้างมากของประชาชนในมลรัฐเลือกผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีสังกัดพรรคใดมากที่สุด จะถือว่า ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีของมลรัฐนั้น เป็นไปตามบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีทีพรรคการเมืองนั้นได้จัดทำไว้
กล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้ประชาชนของแต่ละมลรัฐจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ จะได้ผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ตามจำนวนสมาชิกสภาคองเกรสของมลรัฐนั้น เป็นตัวแทนของประชาชนของแต่ละมลรัฐในการออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในขั้นตอนต่อไป อันเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางอ้อม (indirect election)
คะแนนที่ประชาชนแต่ละมลรัฐ รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เลือกผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีของแต่ละพรรค เรียกว่า เป็นคะแนนของประชาชน (popular vote) แต่ไม่ใช่คะแนนชี้ขาด เพราะคะแนนชี้ขาดอยู่ที่คะแนนของผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral vote) ทั้งหมด จำนวน 538 คน
8.อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ
อำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ (Judicial Review) เป็นอำนาจของศาลสูงอเมริกาในการตีความว่า การกระทำใดของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ แต่ได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ (checks and balances) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการตัดสินคดี Marbury v Madison
ผลการตัดสินคดี Marbury v Madison (1803)
ตามรัฐธรรมนูญ อำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาของรัฐบาลกลาง เป็นอำนาจของประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ คือ Marbury เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบจากประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ (John Adams) ซึ่งกำลังจะหมดวาระลง โดยได้แต่งตั้งผู้พิพากษาทั้งหมดที่มีตำแหน่งว่างลง รวมทั้ง William Marbury ขั้นตอนต่อไปคือ การส่งมอบคำสั่งแต่งตั้งให้Marbury นำไปแสดงตัวเพื่อรับตำแหน่ง แต่ประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ แพ้เลือกตั้งต่อโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) จึงยังไม่ได้ส่งคำสั่งมอบให้ Marbury
Marbury ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูง โดยศาลสูงได้มีคำตัดสินว่า การแต่งตั้ง Marbury เป็นผู้พิพากษา เป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว (แม้ว่าฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดียังไม่ได้ส่งมอบคำสั่งเพื่อนำไปแสดงตัวก็ตาม)
ผลของคำพิพากษาคดีนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงว่า ฝ่ายตุลาการมีสถานะเท่าเทียม กับ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายใดหรือการกระทำใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ความเห็นเพิ่มเติม
สหรัฐอเมริกา ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างบางประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และไทย ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการวินิจฉัยโดยตรงว่า กฎหมายใดหรือการกระทำใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญอเมริกา มาตรา 3 อนุมาตรา 1 กำหนดให้อำนาจตุลาการเป็นของศาลสูง (supreme court) แต่ไม่ได้กำหนดให้ศาลสูงมีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ ด้วยผลของคดี Marbury v Madison(1803) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับว่า ศาลสูงมีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายหรือการกระทำใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
8.พรรคการเมือง
แม้พรรคการเมืองจะมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเป็นผู้สมัครในตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้เป็นผู้สมัครในนามพรรค แต่ตามรัฐธรรมนูญอเมริกาไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงพรรคการเมืองเลย
ดังนั้น บทบาทของพรรคการเมืองในการคัดเลือกและส่งผู้สมัครตำแหน่งในระบบการเมืองอเมริกา จึงเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นขนบธรรมเนียม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร
9.คณะกรรมาธิการของสภาคองเกรส

สภาคองเกรสของอเมริกา ใช้ระบบคณะกรรมาธิการในการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาคองเกรสเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในร่างกฎหมายต่อไป คณะกรรมาธิการมีทั้งคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา โดยสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนจะอยู่ในคณะกรรมาธิการหลายคณะเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
คณะกรรมาธิการแต่ละคณะมีอำนาจมาก หากประธานคณะกรรมาธิการคณะใด ไม่สนับสนุนร่างกฎหมายใด โอกาสที่จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นตกมีมาก
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกล่าวถึงระบบคณะกรรมาธิการ(committee system) ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการพัฒนาระบบคณะกรรมาธิการขึ้นมา เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมาย
ความเห็นเพิ่มเติมของดร.ชา
ห้องสมุดของสภาคองเกรส เป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าหาองค์ความรู้และข้อมูลของคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสเข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง
10.รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ที่ได้รับการยอมรับมาเป็นเวลาช้านานแล้ว อาจได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกามิให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองสมัยหรือแปดปี
ประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน (George Washington)
จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา หลังจากได้ดำรงตำแหน่งครบสองวาระติดต่อกัน เป็นเวลา 8 ปีระหว่างปีค.ศ.1789-1797 แล้ว ได้ปฏิเสธที่จะสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 เพราะเห็นว่า จะเป็นการทำบุคคลให้มีอำนาจและอิทธิพลมากจนเกินไป หลังจากนั้นประธานธิบดีคนต่อ ๆ มาก็ได้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน จนกระทั่งถึงยุคประธานาธิบดีคนที่ 32 ของอเมริกา
ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)

แบบแผน ขนบธรรมเนียม ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาไม่ให้เกินกว่าสองสมัยติดต่อกัน ได้รับการยอมรับถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงยุคประธานาธิบดีคนที่ 32 คือ แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ ขนบธรรมเนียมดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับได้เป็นการชั่วคราว เพราะท่านเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนสูงมากจนสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกันได้เกินกว่าสองสมัย เป็นสี่สมัยติดต่อกัน ระหว่างปีค.ศ.1993-1945 จนกระทั่งได้ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 เป็นปีแรก
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ถึงสี่สมัย
ในช่วงที่ท่านเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ต่อจากประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) นั้น เป็นช่วงเวลาของการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ของอเมริกา ท่านได้แก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยโครงการที่เรียกว่า New Deal ซึ่งเป็นการใช้มาตรการทางการคลัง กล่าวคือ รัฐบาลได้มีการลงทุนภาครัฐครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดการสร้างงานและจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงทำให้ท่านได้รับความนิยมสูงมาก
จนกระทั่งถึงปีค.ศ.1939 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 เมื่อปี ค.ศ.1940 และเมื่อครบวาระ ท่านได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เป็นสมัยที่ 4 เมื่อปีค.ศ.1944 และได้ดำรงตำแหน่งจนกระทั่งได้ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะได้ยุติลงเป็นเวลาหนึ่งปี
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับที่ 22/1951
ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีคนที่ 32 แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ เมื่อปีค.ศ.1945 แล้ว ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 22 เมื่อปีค.ศ.1951 จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมิให้เกินกว่าสองสมัยติดต่อกัน
เป็นอันว่า ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา ในเรื่องวาระดำรงตำแหน่งมิให้เกินกว่าสองสมัยติดต่อกัน ได้มีการนำเข้าบรรจุเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร อันเป็นผลสืบเนื่องการดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองสมันติดต่อกันของประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ นี่เอง
11.สรุป
บทความนี้ ต้องการจะเล่าเรื่อง ประเพณีหรือขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา ซึ่ง เป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 และได้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทุกวันนี้ นับเป็นระยะเวลาได้ 246 ปี
ด้วยระยะเวลาอันยาวนานดังกล่าว จึงทำให้อเมริกามีวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็น ลายลักษณ์อักษรควบคู่ไปกับรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้ประกาศใช้บังคับเมื่อปีค.ศ.1787 เพื่อเป็นการอุดช่องว่างในการนำรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรไปใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกา อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า คือ ประเพณี การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา มีอยู่หลายประการ ซึ่งผมได้หยิบยกนำมากล่าวในบทความนี้เพียงบางประการ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพได้ว่า อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่า เป็นขนบธรรมเนียมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้
สำหรับข้อมูลและความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369 ท้ายบทความนี้
ถาม-ตอบ สนุก กับดร.ชา 369
ถาม-สรุปแล้ว ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย คืออะไร
ตอบ-ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หมายถึง สิ่งที่ได้รับการยอมรับในประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยประเทศใดประเทศหนึ่งว่า เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการปกครองของประเทศตนที่จะขาดเสียมิได้ และได้มีการถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่าจะไม่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญก็ตาม
ขนบธรรมเนียมดังกล่าว อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ถาม-เพราะเหตุใดจึงหยิบยกเรื่องขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอเมริกามาเล่าในบทความนี้
ตอบ- การหยิบยกเรื่องขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของ
อเมริกามาเล่าในบทความนี้ เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่า อเมริกา เป็นประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกับไทย และเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพมาก ไม่เคยเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นอย่างอื่น นับตั้งแต่ปีค.ศ.1776 ซึ่งเป็นปีที่มีการสถาปนาประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นมา จนกระทั่งปัจจุบันคิดเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 246 ปี
ดังนั้น จึงเป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยหลายอย่าง ที่สมควรนำมาศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นข้อแตกต่างกับขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ยังขาดเสถียรภาพ
ถาม-ทำไมจึงกล่าวว่า การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทยยังขาดเสถียรภาพ
ตอบ-การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทยมิได้ดำรงอยู่ตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2475 กล่าวคือ มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของพลเรือน สลับกับการปกครองระบบเผด็จการทหารเป็นระยะ ๆ ดังจะเห็นได้จากมีการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง และในแต่ละครั้งมักจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่มีอยู่ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแทน จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ และก็ยังไม่แน่ใจว่า จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทิ้งอีกหรือไม่
ดังนั้น การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทย จึงเป็นการปกครองที่ขาดเสถียรภาพหรือไม่มั่นคง แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการต่อสู้ทางความคิด โดยมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจตะวันตก ต้องการจะล้มล้างระบอบกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยให้เป็นประเทศสาธารณรัฐอย่างที่พวกเราได้ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว
ถาม- รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของสหราชอาณาจักร แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกาอย่างไร
ตอบ-สหราชอาณาจักรได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หมายความว่า สหราชอาณาจักรไม่เคยมีการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยตรง แต่มีการยอมรับว่า กฎหมายใดหรือ ขนบธรรมเนียมในการปกครองใด มีความสำคัญเป็นพิเศษและสมควรยึดถือให้เป็นรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร ก็ยึดถือปฏฺิบัติกันตามนั้น ดังนั้น การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร จึงเป็นเรื่องของวิวัฒนาการทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ยังมีประเทศนิวซีแลนด์ และอิสราเอล เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
ถาม-เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงไม่สามารถสร้าง ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบ ประชาธิปไตยที่ดีงามเหมือนอย่างอเมริกาได้
ตอบ- การที่ประเทศไทยไม่สามารถสร้างขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ดีงามเหมือนอย่างอเมริกาได้ เพราะจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อปีพ.ศ.2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงในขณะที่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจของ พระมหากษัตริย์ให้ไปเป็นอำนาจของคณะราษฎร์เท่านั้น หลังจากนั้นคณะราษฎร์ก็แย่งชิงอำนาจกันเองตลอดมา ในขณะที่ประชาชนทั่วไปยังไม่มีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
ครั้นมีปัญหาหรือประสบทางตันในด้านการเมือง จึงมักจะนิยมแก้ปัญหาด้วยการปฏิวัติรัฐประหารซึ่งเป็นวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญเรื่อยมาจนอาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือขนบธรรมเนียม การปกครองของไทยอย่างหนึ่ง ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยตามอย่างอารยประเทศ
ถาม-ภายหลังการเปลี่ยนแปลการปกครองพ.ศ.2475 ประเทศไทยมีรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐบาลมาแล้วทั้งหมดกี่ครั้ง
ตอบ-มีทั้งหมด 13 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 นำโดยพระยานโนปกรณ์นิติธาดาได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ บุญทรงไพศาล ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ถาม-รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีมาแล้วกี่ฉบับ และมีฉบับใดบ้างที่ได้ระบุวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่า จะต้องดำรงตำแหน่งไม่เกินแปดปี
ตอบ-รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีมาแล้ว 20 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งฉบับปัจจุบันนี้ มีอยู่เพียงสองฉบับที่ได้กำหนดเรื่องวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีต้องไม่เกินแปดปี คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ถาม-การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่าแปดปีมาก่อน จะถือได้ว่า เป็นขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทยได้หรือไม่
ตอบ-ตามนิยามของคำว่า ขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย หมายถึง สิ่งที่ได้มีการปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ แต่ยังไม่เคยได้นำมาปฏิบัติจริงแม้แต่ครั้งเดียว จะถือว่า เป็นขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทยหาได้ไม่
หรือแม้อาจจะได้มีการถือปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวจริง ก็ไม่อาจถือว่า เป็นขนบธรรมเนียม การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะเป็นกรณีของการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร มิใช่การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมหรือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร