บทความระบตำรวจ ของฝรั่งเศส-ระบบตำรวจก็คล้ายไทยในอดีต โดยจะเล่าถึง รูปแบบการปกครองกรุงปารีส ระบบตำรวจฝรั่งเศส กระทรวงมหาดไทยกับระบบตำรวจ สรุป และคุยกับดร.ชา (เปรียบเทียบระบบตำรวจ ฝรั่งเศส-ไทย)
บทความก่อนหน้านี้คือบทความ (9) ได้กล่าวถึง ข้อมูลเบื้องต้นของฝรั่งเศสที่ควรทราบ รูปแบบการปกครองของฝรั่งเศส และเปรียบเทียบรูปแบบการปกครอง ฝรั่งเศส-ไทย(คุยกับดร.ชา)
Table of Contents
1.คำนำ
ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึง รูปแบบการปกครองของฝรั่งเศส รวมทั้งได้เปรียบเทียบรูปแบบการปกครอง ฝรั่งเศส-ไทย เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจรูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสว่ามีส่วนเหมือนและแตกต่างไปจากรูปแบบการปกครองของไทยอย่างไรบ้าง
สำหรับบทความนี้ จะได้เล่าถึงรูปแบบการปกครองกรุงปารีส ระบบตำรวจของฝรั่งเศส รวมทั้งจะได้เปรียบเทียบกับระบบตำรวจไทยว่าเหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไร
ในด้านระบบกฎหมายและระบบศาล ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมาย และเป็นประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ คือ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง เช่นเดียวกันกับประเทศไทย
2.รูปแบบการปกครองกรุงปารีส
กรุงปารีสเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นเมืองที่สวยงามที่ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝันอยากจะได้เยือน โดยมีข้อมูลเบื้องต้นและรูปแบบการปกครอง ดังนี้
2.1 ข้อมูลเบื้องต้น
กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส มีพื้นที่ 105 กิโลเมตร มีประชากรในปี 2020 จำนวน 2,150,271 คน มีฐานะเป็นทั้งจังหวัด(Department) และเทศบาล(Commmune) โดยกรุงปารีสเป็นศูนย์กลางของภาคหรือเขตปารีส (Paris Region)

(Wikipedia, Paris, 28th August 2020)
กรุงปารีส เป็นศูนย์กลางด้านการคลัง การทูต การค้า แฟชั่น วิทยากร และศิลปะของยุโรปมาเป็นเวลายาวนาน นอกจากนี้ กรุงปารีสยังเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมของประเทศ ทั้งด้านรถไฟ ถนนสายหลัก การขนส่งทางอากาศโดยมีท่าอากาศยานนานาชาติ 2 แห่ง และเมื่อปี 2019 มีผู้มาเยือนกรุงปารีสมากถึง 38 ล้านคน
ภาคหรือเขตปารีส (Paris Region) เป็นภาคหรือเขตหนึ่งในจำนวน 18 ภาคหรือเขตของฝรั่งเศส มีพื้นที่ 12,012 ตารางกิโลเมตร ประชากรเมื่อปี 2019 มีจำนวน 12,213,364 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนประชากรฝรั่งเศสทั้งหมด ประกอบด้วยจังหวัด (Department) จำนวน 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงกรุงปารีสด้วย
2.2 รูปแบบการปกครองกรุงปารีส
รูปแบบการปกครองกรุงปารีส ประกอบด้วยนายกกรุงปารีส สภากรุงปารีส และเขต ต่าง ๆ ของกรุงปารีส จำนวน 20 เขต
2.2.1 สภากรุงปารีส ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 163 คน ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในเขตต่าง ๆ จำนวนสมาชิกของแต่ละเขตจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนประชาการของแต่ละเขต โดยเขตที่มีจำนวสมาชิกน้อยที่สุดมีสมาชิก 10 คน และเขตที่มีสมาชิกมากที่สุด มีสมาชิก 34 คน การเลือกตั้งใช้วิธีการเลือกตั้งระบบสัดส่วน จำนวน 2 รอบ
2.2.2 นายกกรุงปารีส ได้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ หลังจากได้เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงปารีสแล้ว สมาชิกสภากรุงปารีสจะเลือกสมาชิกสภากรุงปารีสคนหนึ่งขึ้นเป็นนายกกรุงปารีส
2.3.3 สภาเขตของกรุงปารีส จำนวน 20 เขต ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง สมาชิกสภากรุงปารีสที่อยู่ในเขตนั้น เป็นสมาชิกสภาเขตโดยตำแหน่ง
ประเภทที่สอง สมาชิกสภาเขตที่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่
ในการบริหารงาน สภาเขตแต่ละแห่ง จะเลือกสมาชิกประเภทที่หนึ่ง ทำหน้าที่นายกเขตด้วย
(Wikipedia, Paris, 28th August 2020)
3.ระบบตำรวจฝรั่งเศส
ระบบตำรวจฝรั่งเศสเป็นระบบตำรวจแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
3.1ตำรวจแห่งชาติ (police nationale)
สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีจำนวนประมาณ 150,000 คน

กรณีเป็นพื้นที่กรุงปารีสและเขตจังหวัด (Departments) โดยรอบกรุงปารีสจำนวน ๓ แห่ง ให้รวมเป็นหน่วยเดียวกันในการใช้อำนาจตำรวจเพื่อการบังคับใช้กฎหมายและดูแลความมั่นคง (Prefecture of Police)
ในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งเป็น ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Compagnie Republicane de la Securite : CRS ) มีหน้าที่พิเศษเฉพาะด้าน ได้แก่ หน้าที่ดูแลด้านการก่อการร้าย การก่อจลาจล การควบคุมฝูงชน
3.2 ตำรวจตระเวนชายแดน (gendarmerie nationale
แม้จะอยู่กระทรวงมหาดไทย แต่การบังคับบัญชาก็ขึ้นกับกระทรวงกลาโหมด้วย มีจำนวนประมาณ 105,000 คน

3.3 ตำรวจเทศบาล (municipal police)
เป็นตำรวจสังกัดเทศบาลขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีอำนาจหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับอาชญากรรมเล็กน้อย (petty crime) การฝ่าฝืนกฎจราจร( traffic offences ) และอุบัติเหตุทางท้องถนน ( road accidents) ตำรวจเทศบาลเป็นตำรวจที่ไม่พกอาวุธ มีจำนวนประมาณ 10,000 คน อยู่ในสังกัดเทศบาลจำนวน 2,860 แห่ง
4.กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด กับระบบตำรวจ
การปกครองส่วนภูมิภาคของฝรั่งเศสแบ่งออกเป็นจังหวัด (prefecture) จำนวน 101 จังหวัด แต่ละจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้า
ผู้ว่าราชการจังหวัด (Prefect) เป็นข้ารัฐการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ตามที่รัฐมนตรีมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีเสนอ และด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้ารัฐการในส่วนภูมิภาค และมีอำนาจหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ
4.1 เป็นตัวแทนรัฐในการดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.2 ดูแลความมั่นคงโดย
– บริหารงานตำรวจ และการป้องกันและการดับเพลิง (management of police and firefighters)
– จัดการภัยวิกฤต (handling major crisis)
– ป้องกันเหตุฉุกเฉิน (emergency defense procedures)
การบริหารงานตำรวจ รวมทั้งตำรวจตระเวนชายแดน จะต้องขึ้นอยู่กับการกำกับและควบคุมของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัด (Under direction of the executive branch, notably prefect) ในเรื่องของการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ รวมทั้ง การดูแลการจราจรบนท้องถนน การเดินขบวน และการก่อจลาจล
4.3 รับผิดชอบในการออกเอกสารต่าง ๆ ของรัฐ เช่น ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง
อนึ่ง นอกจากผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ฝรั่งเศสยังมีนายอำเภอ (Sub-prefect) ปัจจุบันฝรั่งเศสมีอำเภอ (arrondissement) จำนวน 342 แห่ง
5.สรุปและข้อคิดเห็น
สาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองส่วนภูมิภาค โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบในการดูแลการปกครองส่วนภูมิภาคและการปกครองส่วนท้องถิ่น กิจการตำรวจเป็นส่วนหลักในการรักษาความสบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ
ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงวางระบบตำรวจไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
กรณีเป็นจังหวัดในส่วนภูมิภาค ตำรวจเป็นส่วนราชการหนึ่งที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล
1.Wikipepia, Prefect (France), 25th August 2020.
2.Wikipedia, Prefectures in France, 25th 2020.
3.Wikipedia, Law Enforcement in France, 25th August 2020.
คุยกับดร.ชา
ในการสนทนาวันนี้ ผมได้เชิญคุณอานันทชัย (ชื่อสมมุติ) มาเป็นคู่สนทนาต่อจากคราวที่แล้ว เพื่อให้การสนทนาต่อเนื่องกันให้จบ
“ สวัสดี คุณอานันทชัย วันนี้เรามาคุยกันเรื่องระบบตำรวจของฝรั่งเศส โดยจะเป็นการสนทนาต่อเนื่องไปจากการสนทนาคราวที่แล้ว คุณอานันทชัยพร้อมไหม ” ผมทักทายคุณอานันทชัยเพื่อเตรียมตัว
“ สวัสดีครับอาจารย์ ผมพร้อม ขอเชิญอาจารย์กำหนดประเด็นเลยครับ” คุณอานันทชัยยืนยันความพร้อม
“ ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ขอกำหนดประเด็นเลยนะ เอาประเด็นแรกก่อน คุณอานันทชัยมองรูปแบบการปกครองกรุงปารีส ซึ่งเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสว่าเป็นอย่างไร แตกต่างจากรูปแบบการปกครองกรุงเทพมหานครไหม ” ผมกำหนดประเด็นพูดคุย
“ ผมมองเห็นว่า กรุงปารีสกับกรุงเทพมหานครมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กรุงปารีสมิได้มีการเลือกตั้งนายกกรุงปารีสโดยตรง แต่หลังจากเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงปารีสเสร็จ ก็ให้สภากรงุปารีสเลือกสมาชิกคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานสภากรุงปารีสและประธานสภากรุงปารีสคนเดียวกันนี้เวลาบริหารงานจะทำหน้าที่เป็นนายกกรุงปารีส
แต่กรุงเทพมหานคร มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแยกออกจากันเด็ดขาด โดยสภากรุงเทพมหานคร จะเลือกสมาชิกคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานสภากรุงเทพมหานคร ” คุณอานันทชัยชี้แจงให้เห็นความแตกต่าง
“ ทำไมฝรั่งเศส เขาจึงให้นายกกรุงปารีสและประธานสภากรุงปารีส เป็นคนเดียวกันแทนที่จะแยกเป็นคนละคนเหมือนอย่างบ้านเรา ” ผมจี้ให้คุณอานันทชัยชี้ให้เห็นเหตุผล
“ อ๋อ เรื่องนี้อธิบายไม่ยาก เพราะเขาต้องการให้เกิดทำงานร่วมมือกันระหว่างฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร หากประธานเป็นคนเดียวกัน การประสานงานร่วมมือกันก็จะเป็นไปโดยง่าย ไม่ต้องขัดแย้งกันแม้ว่าอาจจะมาจากคนละพรรคการเมืองกัน ” คุณอานันทชัยแสดงเหตุผลอย่างมั่นใจ
“ดีมาก คุณอานันทชัย คราวนี้อาจารย์อยากให้มองดูความแตกต่างในระดับเขตของกรุงปารีสกับระดับเขตของกรุงเทพมหานครสักหน่อย เอาสั้น ๆ นะ ” ผมเตือนให้คุณอานันทชัยอธิบายเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองระดับเขตของกรุงปารีส
“ อ๋อ เรื่องนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยาก คือ กรุงปารีสเขาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 เขต แต่ละเขตมีสภาเขต และประธานสภาเขตหรือนายกเขต โดยเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตเข้ามาก่อน ส่วนสมาชิกสภากรุงปารีสที่อยู่ในเขตนั้นก็จะได้เป็นสมาชิกสภาเขตโดยตำแหน่ง เสร็จแล้วสภาเขตจะเลือกสมาชิกประเภทหลังนี้คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานสภาเขตและนายกเขตไปในตัว ทำหน้าที่ในการบริหารงานเขต
ส่วนเขตของกรุงเทพมหานคร คนทำหน้าที่บริหารเขต คือผู้อำนวยการเขต จำนวน 50 เขต ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ แต่ก็มีสภาเขตทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้อำนวยการเขตอยู่ด้วยนะ ” คุณอานันทชัยตอบพอเข้าใจ
“ ดีมาก คุณอานันทชัย คราวนนี้เรามาคุยกันในประเด็นที่สอง ระบบตำรวจของฝรั่งเศสแตกต่างไปจากระบบตำรวจไทยอย่างไรบ้าง ” ผมเปลี่ยนประเด็นคุย
“ผมคิดว่า ถ้าเข้าใจรูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสแล้ว การทำความเข้าใจระบบตำรวจฝรั่งเศสก็ไม่ยากเลย กล่าวคือ ฝรั่งเศสเขาวางระบบตำรวจให้เป็นระบบตำรวจแห่งชาติ อยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็ให้ตำรวจขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
ระบบตำรวจฝรั่งเศสจึงไม่ได้แตกต่างไปจากระบบตำรวจไทยก่อนปีพ.ศ.2543 เมื่อครั้งยังเป็นกรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้แบ่งส่วนราชการในส่วนภูมิภาคออกเป็น กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และสถานีตำรวจภูธรอำเภอขึ้นต่อนายอำเภอ” คุณอานันทชัยย้อนรำลึกอดีตได้อย่างชัดเจน
“คุณอานันทชัยตอบได้ถูกต้องและชัดเจนดี อาจารย์ขอทราบความเห็นเป็นประเด็นที่ 3 หน่อยว่า ในเมื่อกรมตำรวจอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทยก็น่าจะดีแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็สอดคล้องกับระบบตำรวจของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศหนึ่ง แล้วทำไมอยู่ดี ๆ จึงขอแยกออกไปเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ” ผมอดถามในเชิงลึกไม่ได้
“ผมเข้าใจว่า การเป็นกรมตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทย อาจจะดูเล็กจนเกินไป เพราะอัตรากำลังตำรวจมีมาก อย่างทุกวันนี้ก็มีร่วมสามแสนคน หากสามารถแยกตัวออกไปเป็นเอกเทศเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การบริหารงานก็น่าจะคล่องตัวกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดตำแหน่ง การของบประมาณ การกำหนดแผนงาน และการบริหารงานต่าง ๆ ” คุณอานันทชัยตอบในเชิงหลักการบริหาร
“ อาจารย์ขอถามอีกคำถามเดียวนะ ในความเห็นของคุณอานันทชัยคิดว่า การกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีทุกวันนี้ น่าจะถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่เพียงใด ” ผมถามความเห็นในเชิงบริหารอีกครั้งหนึ่ง
“ ผมขอตอบกว้าง ๆ เพื่อเป็นข้อคิดในเชิงหลักการก่อนว่า ระบบตำรวจของไทยในปัจจุบันนี้สอดคล้องกับระบบตำรวจของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศใดบ้าง และถ้าคิดว่า ถูกต้อง เหมาะสมดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องกำหนดเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ” คุณอานันทชัยตอบอย่างระมัดระวัง โดยไม่ใช้อารมณ์ในการตอบ
“ คุณอานันทชัย ตอบได้ดีมาก วันนี้ อาจารย์ขอขอบคุณมาก คราวหน้ามีโอกาสค่อยพบกันใหม่ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมกับยุติการสนทนาเมื่อเห็นว่า ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันครบทุกประเด็นแล้ว