ธรรมะ ในการพิจารณาธรรมในธรรม เพื่อคลายทุกข์ นับเป็นบทความลำดับที่ 10 ของหมวดเรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ จะกล่าวถึง นิวรณ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อาตยนะภายในและอาตยภายนอก โพชฌงค์ 7 และอริสัจ 4 สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ในบทความที่แล้ว คือ บทความ (9) ได้เล่าถึง สติปัฏฐาน 4 กับการคลายทุกข์ ได้แก่ กายานุปัสสนาปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาปัฏฐาน และจิตตานุปัสสนาปัฏฐาน ยังขาดแต่ธัมมานุปัสสนาปัฏฐาน
สำหรับบทความนี้จะเป็นเล่าเรื่อง ธัมมานุปัสสนาปัฏฐาน คือ ธรรมะ ในการพิจารณาธรรมในธรรม เพื่อคลายทุกข์ ได้แก่ นิวรณ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อาตยนะภายในและอาตยนะภายนอก โพชฌงค์ 7 และอริสัจ 4
2.ธรรมะ- นิวรณ์ 5 อุปสรรคบรรลุธรรม
นิวรณ์ หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้นหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไม่ให้เข้าถึงจิต

นิวรณ์ 5 เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติไม่บรรลุผล ได้แก่
2.1กามฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่ ติดใจ หรือหลงใหลในกามโลกีย์ทั้งปวง
2.2 พยาบาท คือ ความไม่พอใจจากการที่ไม่สมหวังในโลกียะสมบัติทั้งปวง
2.3 ถีนมิทธะ คือ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ตายอยาก
2.4 อุทธัจจะกุกกุจจะ คือ ความคิดไม่สงบนิ่ง เบี่ยงเบน ส่ายไปส่ายมาตลอดเวลา
2.5 วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจว่า อะไรถูกหรือผิด มีจริงหรือไม่
การพิจารณานิวรณ์ 5
การพิจารณานิวรณ์ 5 หมายถึงการเอาสติไปจับที่การเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปของนิวรณ์แต่ละตัว เพื่อจะได้รู้เท่ากัน จะได้ไม่ยึดติดหรือยึดมั่นในนิวรณ์ 5 แต่ละตัวอีกต่อไป
ตัวอย่าง การพิจารณากามฉันทะ
ให้พิจารณาว่า กามฉันทะได้เกิดขึ้นในจิตเราหรือไม่ มีอาการอย่างไร กามฉันทะไม่ได้มีในจิตเรา หรือไม่ อาการเป็นอย่างไร เราละกามฉันทะได้แล้วหรือไม่ อาการเป็นอย่างไร กามฉันทะได้หมดสิ้นไปจากจิตเราหรือไม่ อย่างไร
ต่อจากนั้น ให้พิจารณานิวรณ์ 5 ส่วนที่เหลืออีก 4 ตัว คือ พยายาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา ในทำนองเดียวกันกับการพิจารณากามฉันทะ
3.ธรรมะ-อุปาทานขันธ์ 5
อุปาทานขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือบางครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า รูปนาม
3.1 รูป
รูป หมายถึง รูปร่างหน้าตาของเราที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา
3.2 นาม
นาม หมายถึง สิ่งที่เราสัมผัสได้ว่า มีอยู่ แต่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา มีอยู่ 4 ประการ คือ
เวทนา หมายถึง ความรู้สึกทุกข์สุขในเรื่องทางกายหรือทางใจ รวมทั้งความรู้สึกเบื่อ ๆ อยาก ๆ
สัญญา หมายถึง ความจำในสิ่งที่ได้สัมผัส
สังขาร หมายถึง การสร้างความคิดปรุงแต่งจากเวทนาและสัญญา
วิญญาณ ในขันธ์ 5 หมายถึง การรับรู้ในสิ่งที่ได้สัมผัสทางประสาทสัมผัสทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อนึ่ง ท่านผู้อ่าน ต้องทราบว่า วิญญาณในขันธ์ 5 เป็นคนละส่วนกับวิญญาณในความหมายของจิต เช่น คำว่า วิญญาณออกจากร่าง หมายถึง จิตออกจากร่างเมื่อคนได้ตายแล้ว
การพิจารณาขันธ์
พิจารรณาให้เห็นว่า ขันธ์ แต่ละอย่าง เกิดขึ้นอย่างไร ดำรงอยู่อย่างไร และดับลงอย่างไร โดยไม่ต้องยึดติด เพียงแต่ใช้สติติดตามให้รู้เท่านั้น
ตัวอย่างการพิจารณา รูป และเวทนา
การพิจารณารูป คือ การพิจารณาให้เห็นว่า รูปร่างของเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดำรงอยู่ได้อย่างไร และจะเสื่อมสูญไปได้อย่างไร เพียงแต่พิจารณาให้เห็นเท่านั้น ไม่ต้องยึดติด
การพิจารณาเวทนา คือ การพิจารณาให้เห็นว่า ทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา เกิดขึ้นได้อย่างไร ดำรงอยู่อย่างไร และดับไปได้อย่างไร เป็นเพียงการพิจารณาให้เห็นเท่านั้น ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ให้รู้จักปล่อยวาง
ส่วนการพิจารณา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็พิจารณาในทำนองเดียวกัน
4.ธรรมะ-อาตยนะ
คำว่า อาตยนะ หมายถึงสิ่งเชื่อมต่อ อาตยนะ มีอยู่ 2 ประเภท คือ อาตยนะภายใน และอาตยนะภายนอก
4.1 อาตยนะภายใน 6
อาตยนะภายใน หรืออินทรีย์ 6 หมายถึงสิ่งเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคน หรือได้แก่ ตา หู จมูก สิ้น กาย และใจ
4.2 อาตยนะภายนอก 6
อาตยนะภายนอก หรือ อารมณ์ 6 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(การสัมผัส) และธัมมารมณ์(ใจคิด)
ความสัมพันธ์หรือการเชื่อมต่อระหว่างอาตยนะภายในและอาตยนะภายนอก
อาตนยะภายในและอาตยนะภายนอก มีความสัมพันธ์หรือการเชื่อมต่อกันดังนี้
ตาใช้มองดูรูป ตา→รูป
หูใช้ฟังเสียง หู→เสียง
จมูกใช้ดมกลิ่น จมูก→กลิ่น
ลิ้นใช้ลิ้มรส ลิ้น→รส
กายใช้สัมผัส กาย→โผฏฐัพพะ
ใจใช้คิด ใจ→ธรรมารมณ์
การเชื่อมต่อของอาตยนะภายในและอาตยนะภายนอก ทำให้เกิดการรับรู้ อย่างที่เรียกว่า วิญญาณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5
การพิจารณาอาตยนะ
ให้พิจารณาว่า สังโยชน์(กิเลส)ที่เกิดขึ้นจากอาตยนะแต่ละคู่ มีอาการอย่างไร การละสังโยชน์นั้นมีอาการอย่างไร และการละสังโยชน์นั้นได้เด็ดขาดไม่เกิดอีกมีอาการอย่างไร
ตัวอย่างการพิจารณาตาและรูป
พิจารณาให้เห็นว่า สังโยชน์ (กิเลส) ที่เกิดจากตาและรูป มีอาการอย่างไร การละสังโยชน์นั้นมีอาการอย่างไร และการละสังโยชน์นั้นได้เด็ดขาดไม่เกิดอีกมีอาการอย่างไร
ส่วนการพิจารณา อาตยนะอีก 5 คู่ ก็ให้พิจารณาในทำนองเดียวกัน
5.ธรรมะ -โพชฌงค์ 7

โพชฌงค์ 7 หมายถึงสติอันเป็นองค์แห่งปัญญาตรัสรู้ ได้แก่
5.1 สติ คือ ความระลึกได้
5.2 ธัมมวิจยะ คือ ความสอดส่องสืบค้นหาธรรม
5.3 วิริยะ คือ ความเพียร
5.4 ปิติ คือ ความอิ่มใจ
5.5 ปัสสัทธิ คือ ความสงบกายใจ
5.6 สมาธิ คือ การมีจิตแน่วแน่ในอารมณ์
5.7 อุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง
การพิจารณาโพชฌงค์ 7
การพิจารณาโพชฌงค์ 7 หมายถึง การพิจารณาโพชฌงค์แต่ละอย่างว่า มีอยู่ในจิตหรือไม่ เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างไร เจริญด้วยอาการบริบูรณ์อย่างไร
ตัวอย่างการพิจารณา สติ
หากสติเกิดขึ้นในจิต ก็ให้รู้ชัดว่า เกิดขึ้นในจิตของเรา และมีอาการอย่างไร
หากสติไม่มีอยู่ในจิตของเรา ก็ให้รู้ชัดว่า สติไม่มีในจิตของเรา และมีอาการอย่างไร
หากสติเกิดขึ้นบริบูรณ์ ก็ให้รู้ชัดว่า เกิดขึ้นด้วยอาการอย่างไร
การพิจารณาโพชฌงค์ที่เหลือ 6 ประการ
ให้พิจารณาอย่างเดียวกันกับการพิจารณา สติ
6.ธรรมะ-อริสัจ 4
อริสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย มรรค และนิโรธ
6.1ทุกข์ คือ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความเกี่ยวข้องกับสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก และไม่เป็นที่รัก และความผิดหวัง
ทุกข์ เป็นผลที่เกิดจากสมุทัย
6.2 สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหา ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
6.3 นิโรธ คือ การดับทุกข์หรือนิพพาน
นิโรธ เป็นผลที่เกิดจากมรรค
6.4 มรรค คือ ทางสายกลางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์
การพิจารณาอริสัจ 4
ให้พิจารณาทำความเข้าใจในความหมายและสาระสำคัญของ อริสัจ 4 แต่ละอย่าง
7.สรุป
ธรรมะ ที่ใช้ในการพิจารณาธรรมในธรรม ได้แก่ นิวรณ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อาตยนะภายในและภายนอก โพชฌงค์ 7 และอริสัจ 4
การพิจารณานิวรณ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 อาตยนะ และโพชฌงค์ 7 เป็นการใช้สติในการพิจารณาให้เห็นการเกิด ดำรงอยู่ และการสิ้นไปของแต่อย่าง
ส่วนการพิจารณาอริสัจ 4 เป็นการพิจารณาทำความเข้าใจกับอริสัจ 4 ว่ามีความหมายอย่างไรและมีสาระสำคัญอย่างไร
กรุณาติดตามความเห็นเพิ่มเติม คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
แหล่งข้อมูล
แสง จันทร์งาม และอุทัย บุญเย็น.(2555). พระไตรปิฎก สำหรับผู้บวชใหม่และชาวพุทธทั่วไป (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาธรรมกับผมวันนี้ ยังคงเป็น คุณพิศวง(ชื่อสมมุติ) เหมือนคราวที่แล้ว
“สวัสดี คุณพิศวง วันนี้อาจารย์อยากจะชวนสนทนาธรรมต่อจากคราวที่แล้ว แต่คราวนี้จะเจาะเอาเรื่องหลักธรรมโดยตรง ดีไหม ” ผมทักทายเพื่อผ่อนคลาย
“ สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอเชิญอาจารย์เปิดประเด็น ดิฉันพร้อมแล้ว ” คุณพิศวงทักทายตอบพร้อมแสดงอาการตอบรับด้วยความยินดี
“ ในประเด็นแรก อยากจะถามความคุณพิศวงหน่อยว่า หลักธรรม นิวรณ์ 5 มีความสำคัญต่อการพิจารณาธรรมในธรรมอย่างไร ” ผมตั้งประเด็นสั้น ๆ แต่ชัดเจน
“ในความเห็นของดิฉันหลักธรรม นิวรณ์ 5 คือ ตัวอุปสรรคหรือตัวร้ายหรือตัวมารที่คอยขัดขวางมิให้การปฏิบัติธรรมหรือการนั่งสมาธิประสบความสำเร็จ หากใครไม่สามารถเอาชนะนิวรณ์ 5 ได้ ก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม
อย่าง กามฉันทะ ความหลงใหลในกามโลกีย์ ย่อมจะเป็นตัวเหนี่ยงรั้ง ไม่ให้เราอยากปฏิบัติ
พยายาท ความไม่พอใจที่ผิดหวังในโลกียะสมบัติ ทำให้ใจไม่สงบ ผูกใจเจ็บ
ถีนมัทธะ ความเกียจคร้าน ขาดความเพียร ความอ่อนแอ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ย่อมต้องอาศัยความเพียร (สัมมาวาจามะ)
อุกธัจจะกุกกุจจะ การมีความคิดแกว่งไป แกว่งมา ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ทำให้จิตใจไม่สงบ
และวิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ความลังเลสงสัย เช่น พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ สวรรค์ นรก นิพพาน มีจริงหรือไม่ พระอริยบุคคล มีจริงหรือไม่
ความลังเลสงสัยเช่นนี้ ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจที่จะลงมือปฏิบัติจริง ๆ มัวแต่สงสัยอยู่ตลอดเวลา”
คุณพิศวงอธิบายรวดเดียวราวกับคนเคยต่อสู้นิวรณ์ 5 มาอย่างหนักหน่วง

“ คุณพิศวงตอบได้ชัดเจนดีมาก สามารถมองเห็นภาพได้เลย ถ้าเช่นนั้น อาจารย์ขอนำไปสู่ประเด็นที่สองเลยนะ หลักธรรม โพชฌงค์ 7 มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติธรรมหรือการนั่งสมาธิหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ” ผมรวบรัดเข้าจุดเลย
“ สำหรับธรรมะ โพชฌงค์ 7 นี่ คือ ตัวแก้นิวรณ์ 5 เลยทีเดียว หากนิวรณ์ 5 คือผู้ร้าย โพชฌงค์ 7 คือพระเอกที่คอยปราบผู้ร้ายเลยนะ อาจารย์
อย่างสติ ทำให้เราระลึกอยู่ได้ ไม่เผลอสติไปยึดติดในสิ่งที่มายั่วยุให้เราหลงทาง
ธัมมวิจยะ ทำให้เรารู้จักคิดสืบค้นหาหลักธรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา
วิริยะ ความเพียร แก้ปัญหาความเกียจคร้าน
นอกจากนี้ยังมีปิติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบกายใจ สมาธิ และอุเบกขา
หากใครมีโพชฌงค์ 7 ครบถ้วน การปฏิบัติย่อมประสบความสำเร็จแน่ ”
คุณพิศวง อธิบายพอเข้าใจ
“ อาจารย์คิดว่า คำตอบของคุณพิศวง น่าจะชัดเจนพอสมควร หากท่านผู้อ่านประสบปัญหาในการนั่งสมาธิหรือปฏิบัติธรรม ก็ขอให้นึกถึง หลักธรรม นิวรณ์ 5 และโพชฌงค์ 7 ให้ดี ก็จะแก้ปัญหาได้ไม่น้อย ข้อสำคัญ คือ อย่าขี้เกียจ เพราะตัวขี้เกียจน่าจะเป็นตัวมารร้ายทีเดียว
วันนี้ ขอขอบคุณ คุณพิศวงมาก ขอให้โชคดี มีโอกาสค่อยพบกันใหม่ ” ผมปิดท้ายอย่างกระชับ
“ ขอบคุณค่ะ ขอให้อาจารย์โชคดีเช่นเดียวกัน ” คุณพิศวงกล่าวอวยพรผมตอบบ้าง
“ ขอน้อมถวายบุญกุศลอันเกิดจากการเขียนบทความนี้เป็นธรรมทาน เป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ และพระบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ได้ปกป้องแผ่นดินไทยนี้ไว้ให้ พสกนิกรชาวไทยอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาเป็นเวลาช้านาน”
ดร.ชา
7/10/20
อามิตพุทธค่ะอาจารย์
อนโมทนาด้วย
ขอบคุณ คุณพิศวงมาแบ่งปันความรู้ค่ะ
อาจารย์จะบอกคุณพิศวงให้ จะได้ดีใจ