87 / 100

     ระบอบ ประชาธิปไตย ที่มั่นคง ทำให้มาเลเซียเจริญก้าวหน้า เป็นบทความลำดับที่ 10 ของหมวดเรื่องเล่า กลุ่มประเทศอาเซียน โดยจะกล่าวถึง ความนำ ระบอบ ประชาธิปไตย ที่มั่นคง ของมาเลเซีย ความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซียในปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐาน ขนาดจีดีพีและรายได้เฉลี่ยต่อหัวของมาเลเซีย วิเคราะห์ความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซีย  สรุป และเรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

Table of Contents

1.ความนำ

            หากการเมืองการปกครองในประเทศใด มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบอบใดก็ตาม โอกาสที่ประเทศนั้นจะได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าย่อมมีมาก เพราะการที่มีบ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย ย่อมจะทำให้สามารถใช้อำนาจรัฐในการบริหารและการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ

               ยิ่งกว่านั้น การที่บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย ย่อมจะทำให้รัฐสามารถกำหนดวิสัยทัศน์และแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวได้อย่างที่เรียกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ อาจจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20, 30,40 หรือ 50 ปี

               ในทางตรงกันข้าม  หากประเทศใด ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ก็มักจะทำให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลตามมาด้วย การที่รัฐบาลมีอายุสั้น ก็จะไม่สามารถคิดกำหนดวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวได้ เพราะมัวแต่คิดว่า ทำอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองของตนถึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีก

              มาเลเซีย ได้ชื่อว่า เป็นประเทศหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้มาเลเซียมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาตามลำดับ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2500

              ดังนั้น  บทความนี้ จึงต้องการบอกเล่าถึงเรื่องราวของความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซียอันเป็นผลมาจากการที่ประเทศนี้ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มั่นคงตลอดระยะเวลา 64 ปี ที่ผ่านมา

2. ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย มีความมั่นคง เพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง

          ในบทความที่แล้ว (8) ส่องดู การ ปกครอง ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย  ผมได้วิเคราะห์ในเบื้องต้นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมาเลเซียมีเสถียรภาพเพราะเหตุและปัจจัยใดบ้าง

            ในที่นี้ ผมขอวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า นอกจากเหตุปัจจัยดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นอีกไหม ที่ทำให้ ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย มีความมั่นคง

            ผมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุปัจจัยเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ที่ทำให้ ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซีย ดูมั่นคง คือ

            2.1 มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐต่าง ๆ

            การปกครองประเทศมาเลเซียหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า รูปแบบในการปกครองประเทศเป็นรัฐรวมหรือสหพันธรัฐ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Federation as a constitutional monarchy) เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เป็นอยู่ โดยรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของรัฐมีอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งในส่วนที่เป็นอำนาจร่วมระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ

            นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐในเรื่องของการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ที่วุฒิสมาชิกจำนวน 26 คนได้มาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ส่วนวุฒิสมาชิกอีกจำนวน 44 คน สมเด็จพระราชาธิบดี ทรงเป็นผู้แต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

            การที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้ไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของรัฐทั้ง 13 รัฐ

            2.2 มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างคนมาเลย์และคนเชื้อชาติจีน

               ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ได้เปิดช่องให้รัฐบาลกลางกำหนดโครงการหรือมาตรการบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างที่เรียกว่า การกระทำในการยืนยันสิทธิ (affirmative action) กล่าวคือ รัฐบาลมาเลเซียได้อาศัยอำนาจดังกล่าวมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างภูมิบุตร (คนเชื้อชาติมาเลย์และคนพื้นเมือง) กับคนเชื้อชาติจีน

             คนเชื้อชาติจีน กุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของมาเลเซียไว้ รัฐบาลมาเลเซียจึงได้กำหนดมาตรการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่ภูมิบุตร เช่น สิทธิในการเข้ารับราชการของรัฐบาลกลาง สิทธิในการได้รับใบอนุญาตบางอย่างในการประกอบธุรกิจ สิทธิในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยท้องถิ่น

             ผลจากโครงการให้สิทธิพิเศษแก่ภูมิบุตรดังกล่าว จึงทำให้คนเชื้อสายมาเลย์กุมอำนาจทางการเมืองการปกครอง ในขณะที่คนเชื้อสายจีนรวมทั้งอินเดียกุมอำนาจเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการถ่วงดุลอำนาจที่ได้ผล เพราะหลังจากได้มีโครงการภูมิบุตร ความขัดแย้งระหว่างสองเชื้อชาติในขั้นรุนแรงเหมือนอย่างเหตุจลาจลปี พ.ศ.2512 ก็มิได้เกิดขึ้นอีก

3.ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย

  อาคารแฝด สูงที่สุดในโลก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นผลมาจาก ระบอบ ประชาธฺิปไตย ที่มั่นคง  ของมาเลเเซีย (Wikipedia, Malaysia, 30th March 2021)
อาคารแฝดสุง 451.9 เมตร 88 ชั้น สูงที่สุดในโลก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นผลมาจาก ระบอบ ประชาธฺิปไตย ที่มั่นคง ของมาเลเเซีย (Wikipedia, Malaysia, 30th March 2021)

          นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปีพ.ศ.2500 (ค.ศ.1957) เศรษฐกิจของมาเลเซียได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ    

            ตามWikipedia เศรษฐกิจของมาเลเซีย เป็นเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้กลไกตลาดควบคู่กับการสนับสนุนของรัฐตามแบบฉบับตะวันออก (open state –oriented and newly industrialised market economy)

          3.1 อัตราการเติบโตของจีดีพี

          ภายใต้เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมใหม่ดังกล่าว รัฐเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ แต่ค่อย ๆ ลดบทบาทลงตามลำดับตามแผนเศรษฐกิจมหภาค มาเลเซียเป็นประเทศที่สถิติการพัฒนาเศรษฐกิจทีดีที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ด้วยอัตราเฉลี่ยการเติบโตของจีดีพี 6.5 % ต่อปีระว่างปี 1957-2005

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2014-2015 มาเลเซียได้เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถสูงสุดในการแข่งขันประเทศหนึ่งของเอเชีย กล่าวคือ สูงเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย และสูงเป็นอันดับ 20 ของโลก ซึ่งเป็นอันดับที่สูงกว่าประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้

            เมื่อปี 2014 เศรษฐกิจของมาเลเซียโตถึง 6 % เป็นรองแค่ฟิลิปปินส์ ซึ่งโต 6.1 %

            3.2 ความคาดหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

            เมื่อปี 1991 มหาเธย์ โมฮัมหมัด ( Mathir Mohammad) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า ภายในปี 2020 มาเลเซียจะกลายเป็น ประเทศอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ (self-sufficient industrialised nation)    

           ในขณะที่นาจิบ ราซัค (Najib Razack) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนต่อมาได้กล่าวว่า มาเลเซียจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก่อนปี 2020 ที่กำหนดไว้เสียอีก เพราะมาเลเซียมีแนวคิดในการสร้างโครงการใหญ่อย่างเช่น โครงการแปลงโฉมใหม่ของรัฐบาล (Government Transformation Programme) และโครงการแปลงโฉมใหม่ด้านเศรษฐกิจ (Economic Transformation Programme)

            ตามรายงานของ HSBC ระบุว่า มาเลเซียจะกลายเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลกในปี 2050 และจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเป็น 29,247 ดอลลาร์ โดยจะมีรายได้หลักจากอุปกรณ์อีเลกโทรนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ

            นับตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ได้ทำให้มาเลเซียได้เจริญเติบโตขึ้นมากเช่นกัน แม้ในช่วงเกิดวิกฤตทางการคลังของเอเชียเมื่อ ปี 1997 (พ.ศ. 2540 ) มาเลเซียสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้ก่อนประเทศเพื่อนบ้าน

           ตามข้อเท็จจริง เศรษฐกิจร้อยละ 70 อยู่ในมือคนเชื้อสายจีน ซึ่งมีจำนวนประชากรเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรมาเลเซียทั้งหมด

            ช่องแคบมะละกา เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญของมาเลเซีย

            มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกทรัพยากรทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ในอดีต มาเลเซียเคยเป็นผู้ส่งออกดีบุก น้ำมันปาล์ม และยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก แม้แต่ทุกวันนี้ มาเลเซียยังคงเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก

            ความสำเร็จในการเป็นผู้ส่งน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของมาเลเซีย อาจดูได้จากการสร้างสำนักงานใหญ่ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ปิโตรนาส ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งได้กลายเป็นตึกคู่แฝดที่สูงที่สุดในโลก กล่าวคือ สูง 451.9 เมตร มี 88 ชั้น

            3.3 รายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวและโศกนาฏกรรม

            เพื่อลดการพึ่งพาการส่งสินค้าออกและเพื่อให้เศรษฐกิจมีความหลากหลาย รัฐบาลได้พยายามผลักดันการเข้ามาท่องเที่ยวมาเลเซีย ผลคือทำให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2014 ได้เกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินของสายการบินแห่งชาติมาเลเซีย ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน เครื่องบินมาเลเซียได้ถูกยิงตกในยูเครน ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 537 คน ได้เสียชิวิตทั้งหมด

            3.4 การเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่งสำหรับคนเกษียณอายุ

            เมื่อปี 2013-1014 มาเลเซียได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่งสำหรับคนเกษียณอายุ โดยนับอันดับที่สามของโลก ยิ่งกว่านั้น ในปี 2016 ยังอยู่ในอันดับ 5 ของโลกในการเป็นสวรรค์ของคนเกษียณอายุ และเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย การที่มีอากาศอบอุ่นบวกกับการมีพื้นฐานเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้เป็นการง่ายสำหรับชาวต่างประเทศในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนมาเลเซีย

            นอกจากนี้ มาเลเซียยังได้พัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของธนาคารอิสลาม ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนสตรีที่ทำงานในธนาคารมากที่สุด  

            3.5 ส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ

            เพื่อสร้างขีดความสามารถในการด้านการป้องกันประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ มาเลเซียได้โอนกิจการในด้านการป้องกันประเทศบางอย่างให้เป็นของเอกชน ซึ่งทำให้เกิดอุตสาหกรรมด้านกลาโหมโดย ภายใต้สภาอุตสาหกรรมด้านกลาโหม

            มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ (semiconductor devices) อุปกรณ์อีเลกโทรนิกส์ ไอที และสินค้าด้านการสื่อสาร

            3.6 โครงการอวกาศ

            ยิ่งกว่านั้น มาเลเซียยังมีโครงการทางด้านอวกาศ เมื่อปี 2002  และเมื่อปี 2006 รัสเซียตกลงส่งชาวมาเลเซียคนหนึ่งไปเข้าร่วมสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อตอบแทนที่มาเลเซียสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ตของรัสเซียเข้าประจำการในกองทัพอากาศ นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังได้ลงทุนในการสร้างดาวเทียมด้วย

            3.7 ศูนย์กลางธนาคารอิสลาม

มาเลเซียได้พัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางของธนาคารอิสลาม ทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนสตรีที่ทำงานในธนาคารมากที่สุด

4.โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ระบบการขนส่งทางถนนอันทันสมัยของมาเลเซีย
(Wikipedia, Malaysia, 30th March 2021)
ระบบการขนส่งทางถนนอันทันสมัยของมาเลเซีย
(Wikipedia, Malaysia, 30th March 2021)

            ตาม Wikipedia โครงสร้างพื้นฐานได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนทำให้มาเลเซียเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชียประเทศหนึ่งที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุด อย่างเช่นเมื่อปี 2014 มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมสูงเป็นอันดับ 8 ของเอเชีย และสูงเป็นอันดับที่ 25 ของโลก

            เฉพาะด้านโครงข่ายการโทรคมนาคมของประเทศ มาเลเซียมีโครงข่ายโทรคมนาคม ใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์                                                                                                                     

ในด้านการคมนาคมทางอากาศ มาเลเซีย มีสนามบินนานาชาติ 7 แห่ง และสนามบินทั่วไป 118 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ เป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารหนาแน่นเป็นอันดับ 13 ของโลกเมื่อปี 2014

            ในด้านโครงข่ายถนน มาเลเซียจัดเป็นประเทศที่มีโครงข่ายถนนครอบคลุมมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย (the most comprehensive) ด้วยระยะทาง 144,403 กม.

            ในด้านรถไฟ มีทางรถไฟยาวร่วม 1,833 กิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็นรถไฟรางคู่ 767 กิโลเมตร รถไฟของมาเลเซียมีทั้งรถไฟรางหนัก และรถไฟรางเบา รถไฟครอบคลุมพื้นที่ของทั้ง 11 รัฐ ของมาเลเซียตะวันตก

5. ขนาดจีดีพีและรายได้เฉลี่ยต่อหัว

          5.1 ขนาดของจีดีพี                

            ตามข้อมูลของธนาคารโลก จีดีพีของมาเลเซียเมื่อปี 2019(nominal) มีจำนวน 364,681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 37 ของโลก และสูงเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

          5.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัว

         ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อหัว ตามข้อมูลของธนาคารโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัวเมื่อปี 2019(nominal) ของคนมาเลเซียอยู่ที่อันดับ 64 ของโลก จำนวน 11,415 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นอันดับสามของอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์และบรูไน

6 .วิเคราะห์ความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซียในภาพรวม

       นับตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1957  การมีเสถียรภาพทางการเมืองและการมีเสถียรภาพของรัฐบาลตลอดมา จึงทำให้ประเทศมาเลเซียได้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากอัตราจีดีพีในช่วง ปี 1957-2005 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชีย และยังเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2015 ดังจะเห็นได้จากช่วงปี 2014-2015 มาเลเซียจัดเป็นประเทศทีมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดประเทศหนึ่งของเอเชีย

         ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาเลเซียประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ มีอยู่ 5-6 ประการ คือ มาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่สำคัญประเทศหนึ่ง ช่องแคบมะละกา เป็นศูนย์กลางของการค้าทางทะเล นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก การเป็นประเทศส่งออกอุปกรณ์ทางด้านอีเลกโทรนิกส์ และการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้หลักอย่างหนึ่งของประเทศ  

       นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของเอเชียที่มีโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในชั้นแนวหน้าของเอเชีย ไม่ว่า จะเป็นระบบถนน ระบบรถไฟ และระบบการเดินทางอากาศ และระบบโทรคมนาคม

      แม้วันนี้มาเลเซียอาจจะยังไม่สามารถประกาศได้ว่า เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ด้วยการพื้นฐานที่ดี คือ การมี ระบอบ ประชาธิปไตย ที่มั่นคง เชื่อว่า มาเลเซียจะสามารถพัฒนาประเทศไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้ภายในเวลาไม่นานนัก

7.สรุป

     การที่มาเลเซีย มีระบอบ ประชาธิปไตย ที่มั่นคง ได้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สามารถทำให้มาเลเซีย พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.1957 หรือเมื่อ 64 ปี ที่ผ่านมา เพราะการมีเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้มาเลเซียสามารถกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวและวางแผนพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการสะดุดขาดตอนเหมือนอย่างหลายประเทศ

      แม้ว่ามาเลเซียอาจประสบปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในบางช่วงบางตอนบ้าง แต่ไม่ได้มีมากถึงขั้นส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง เพราะ ระบอบ ประชาธิปไตย ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องตราบเท่าทุกวันนี้

       สำหรับความเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ใน คุยสนุกกับดร.ชา

เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา

คุณภัทรนันท์ คู่สนทนา  เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา คนแรก เรื่อง ระบอบ ประชาธิปไตย
คุณภัทรนันท์ คู่สนทนา เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา คนแรก เรื่อง ระบอบ ประชาธิปไตย

            เพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้สึกผ่อนคลาย ผมจึงขอเปลี่ยนชื่อหัวข้อ คุยกับดร.ชา เป็น เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา โดยมีคุณภัทรนันท์ เป็นคู่สนทนา ต่อจากคราวที่แล้ว

                “ สวัสดี คุณภัทรนันท์ การสนทนาของเราในวันนี้ น่าจะเป็นวันแรกของการเปลี่ยนแนวคิดในการสนทนาจากเดิมคือ คุยกับดร.ชา มุ่งที่จะนำเนื้อหาสาระในบทความบางประเด็นมาขยายความ แต่ ทิศทางใหม่ของ เรื่องเล่า สนุก กับดร.ชา คือ การสร้างความผ่อนคลายหรือความสนุกให้ท่านผู้อ่าน แต่ก็ยังคงรักษาแนวทางในการทำให้ท่านผู้อ่านได้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์หรือแนวคิดเชิงบวกไปด้วย กล่าวคือ จะไม่ใช่การสนุกอย่างไร้สาระ

              คุณภัทรนันท์ มีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ ” ผมถามถึงทิศทางใหม่ในการสนทนา

              “โอ ดีมากเลยครับอาจารย์ ผมเห็นด้วย เพราะจะทำให้บรรยากาศดูเป็นกันเองมากขึ้น รวมทั้งคู่สนทนาของ ดร.ชา ก็จะไม่รู้สึกเกร็งเหมือนเมื่อก่อน  ว่าแต่วันนี้อาจารย์มีอะไรสนุก ๆ จะคุยกับผมเหรอ ” คุณภัทรนันท์ตอบตามความรู้สึกที่แท้จริงของตน

              “ก่อนอื่น อาจารย์อยากถาม คุณภัทรนันท์หน่อยว่า เคยไปเที่ยวมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเราไหม และเวลาพูดถึงมาเลเซีย คิดถึงอะไรก่อน” ผมถามหาข้อมูลจากคู่สนทนา

               “ ยังเลยครับ อาจารย์ เวลาพูดถึงมาเลเซีย ผมนึกถึงรถยนต์โปรตอน โดยเฉพาะเมื่อช่วงสัก 10 ปีที่ผ่านมา ผมเห็นรถยี่ห้อนี้ ขายดีในบ้านเรา ” คุณภัทรนันท์ตอบสั้น ๆ

รถยนต์ยี่ห้อโปรตอน สัญชาติมาเลเซีย (Wikipedia, Malaysia, 30th March 2021)
รถยนต์ยี่ห้อโปรตอน สัญชาติมาเลเซีย (Wikipedia, Malaysia, 30th March 2021)

              “ แหมน่าเสียดายนะ อยู่ใกล้แค่นี้เอง ถ้ามีโอกาส อยากจะแนะนำให้ลองไปเที่ยวดู จะได้รู้เห็นอะไรเพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง การได้เห็บกับตา ดีกว่าการได้รู้จากตำราหรือจากสื่ออย่างเดียวนะ” ผมแนะนำด้วยใจจริง

“อาจารย์คงจะเคยไปเที่ยวมาเลเซียมาแล้วหลายครั้งแน่เลย ยังไงรบกวนเล่าให้ผมฟังหน่อย ” คุณภัทรนันท์รบเร้าขอให้ผมเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

               “ ความจริง อาจารย์เคยไปเที่ยวมาเลเซียมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2518 ในขณะที่กำลังลาเรียนปริญญาโทที่นิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการได้รับทุนการศึกษาแบบหนึ่ง ช่วงนั้น เป็นเวลาปิดภาคเรียน ทางนิด้าเลยจัดเป็นโครงการพานักศึกษาไปทัศนศึกษา ณ ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์

               นิด้าจัดหาทุนให้ส่วนหนึ่ง นักศึกษาจ่ายสมทบคนละ 1,800 บาท ” ผมเล่าความเป็นมาให้คุณภัทรนันท์ฟัง ย่อ ๆ

             “ อาจารย์มีอะไรประทับใจที่อยากจะเล่าให้ผมฟังบ้างไหม ” คุณภัทรนันท์เร่งเร้าให้ผมเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

             “ มีหลายอย่าง แต่จะขอเล่าให้ฟังสัก 2  เรื่องก่อน

              เรื่องแรก การไปทัศนศึกษาครั้งนี้ พวกเราเดินทางโดยรถบัส จำนวนสัก 3-4 คัน เริ่มต้นเดินทางออกจากนิด้า คลองจั่น กรุงเทพมหานคร ผ่านไปทางใต้ตามเส้นทางถนนเพชรเกษม ผ่านจังหวัดระนอง และพังงา

            ที่จังหวัดพังวา พวกเราได้แวะคาราวะ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาในยุคนั้น คือ ท่านผู้ว่า ฯ เชาวน์วัศ สุดลาภา ซึ่งต่อภายหลัง ท่านได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

             สาเหตุที่พวกเราได้แวะคาราวะท่านก็เพราะมีนักศึกษาของพวกเราคนหนึ่งเป็นเพื่อนกับท่านมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก ซึ่งท่านผู้ว่า ฯ เชาวน์วัศ ก็ได้กรุณาให้การต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี ณ จวนของท่าน เลี้ยงอาหารเช้าพร้อมกับบรรยายสรุปสถานการณ์จังหวัดให้พวกเราฟัง

            พอดีในช่วงนั้น ดร.ธวัช มกรพงศ์ ท่านผู้ว่า ฯ พังงาคนก่อนเพิ่งเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประทานบัตรเหมืองแร่ดีบุกของบริษัทเทมโก้  ในยุคนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่และถือเป็นความกล้าหาญของท่านผู้ว่า ฯ ธวัช   มกรพงศ์ เป็นอย่างมากที่กล้าชนนายทุนข้ามชาติ เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ทำให้ท่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประชาชนรู้จักและชื่นชอบไปทั่วประเทศ ” ผมท้าวความหลังให้คุณภัทรนันท์ฟัง

           “ ผมอาจจะโตไม่ทันที่จะได้สัมผัสบทบาทและชื่อเสียงของท่านผู้ว่า ฯ ธวัช มกรพงศ์ แต่เท่าที่ฟังอาจารย์เล่า ผมยอมรับว่า รู้สึกศรัทธาในตัวท่านขึ้นมาทันที เพราะการที่ท่านกล้าชนกับนายทุนข้ามชาติในยุคนั้น ต้องถือว่าไม่ธรรมดาแน่ ” คุณภัทรนันท์เปิดเผยถึงความรู้สึก

          “มีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟัง หลังจากออกจากพังงา พวกเราก็เดินทางต่อไปยังสงขลาเพื่อข้ามไปยังมาเลเซียที่ด่านสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

           ตลอดระยะทางที่พวกเราออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ไม่มีเส้นทางใดเชื่อมระหว่างจังหวัดต่อจังหวัดของประเทศไทยที่เป็นถนนสี่เลนเลยแม้แต่แห่งเดียว มีแต่เป็นถนนลาดยางสองเลนทั่วราชอาณาจักร แต่พอพวกเราผ่านด่านสะเดาเข้าไปในเขตมาเลเซียได้ พวกเราอดตะลึงในความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซียที่เหนือกว่าไทย ณ เวลานั้นอย่างเห็นได้ชัดไม่ได้

           เพราะถนนที่เราเห็นเป็นถนนสี่เลนอย่างดีเยี่ยม อย่างที่เรียกกันในยุคนี้ว่า มอเตอร์เวย์ นั่นแหละ เป็นถนนตรงดิ่งไปยังเกาะปีนัง และกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไม่มีถนนตัดระหว่างทางให้เสียอารมณ์เลย

          ส่วนบ้านเรากว่าจะมีงบประมาณสร้างถนนสี่เลนได้อย่างมาเลเซีย ต้องใช้เวลายาวนานอีกหลายปี เพราะการสร้างถนนที่มีมาตรฐานสูงขนาดนั้น ต้องใช้งบประมาณมากทีเดียว ” ผมเล่าประสบการณ์เข้าไปในมาเลเซียครั้งแรกให้ฟัง

              “ ตามที่อาจารย์เล่ามา น่าจะพอพูดได้ว่า มาเลเซียเขามีความเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าไทยมานานแล้ว แสดงว่า เศรษฐกิจในช่วงนั้นของมาเลเซียคงดีมาก ” คุณภัทรนันท์ อดตื่นเต้นไม่ได้

                 “ อาจารย์ครับ มาเลเซียเขาได้สร้างถนนสี่เลนระดับมอเตอร์เวย์  เชื่อมต่อประเทศไทยตรงด่านสะเดา เรียกว่า ถนนสายนี้เป็นหน้าตาของมาเลเซีย อาจารย์พอจะทราบไหมว่า กว่าถนนสายหาดใหญ่-สะเดาจะเป็นถนนสี่เลนพอจะเป็นหน้าตาให้ประเทศไทยได้ ใช้เวลาอีกนานไหม จึงจะตามทันมาเลเซีย” คุณภัทรนันท์อดเป็นห่วงประเทศไทยไม่ได้

                  “ น่าจะยาวนานอยู่นะ เพราะหลังจากนั้น เมื่อปีพ.ศ.2534 อาจารย์ได้เข้าอบรมหลักสูตรโรงเรียนนายอำเภอ และได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานจังหวัดสงขลา รวมทั้งด่านสะเดา พบว่ายังเป็นถนนสองเลยอยู่เลย ” ผมเล่าตามภาพที่มองเห็น

                  “ เราคุยกันมานานพอสมควรแก่เวลาแล้ว อาจารย์อยากฟังความเห็นของคุณภัทรนันท์เกี่ยวกับ ระบอบ ประชาธิปไตย ของมาเลเซียปิดท้ายบทสนทนาของเราหน่อย ” ผมเปิดโอกาสให้คุณภัทรนันท์สรุป

                  “ ผมอยากจะสรุปว่า ระบอบการเมืองการปกครองที่มั่นคง ย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า เหมือนอย่างมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านของเรา ” คุณภัทรนันท์สรุปปิดท้ายได้ดีทีเดียว

                 “ ดีมาก คุณภัทรนันท์ วันนี้ต้องขอขอบคุณที่กรุณาสละเวลามาคุยกับอาจารย์ ซึ่งเป็นการคุยในบรรยากาศสบาย ๆ เป็นครั้งแรก เอาไว้โอกาสหน้าค่อยพบกันใหม่นะ”

                 “ด้วยความยินดีครับอาจารย์”

                                    ดร.ชา

                             30/03/21

แหล่งข้อมูล

1.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)

2.https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita

3.https://en.m.wikipedia.org/wiki/Malaysia

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***) 2

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)(New***)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18) 5

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18)

ชาว ไทย ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุ้มหาย

4 COMMENTS

  1. เคยไปเที่ยวมาเลเซียช่วงปี 2556 ค่ะอาจารย์ บ้านเมือสาธารณูปโภคขั้นพร้นผฐาน ถนนหนทางดีมากกว่าที่คิดไปเยอะค่ะอาจารย์ สร้างหลวงใหม่เขาก็สามารถสร้างอล้ย้ายมาได้ ส่วนหนตางคงมาจากความเข้มแข็งทางการเมืองอย่างว่าหละค่ะ

  2. ชอบตรงที่อาจารย์วิเคราะห์เพิ่มเติมว่ามีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศมาเลเชียมั่นคง คือ มีการถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของรัฐต่างๆ ถ้าจะเทียบเคียงกับประเทศไทยก็คือการกระจายอำนาจระหว่างรัฐบาลไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะลงตัว

    1. หลักการถ่วงดุลเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้สังคมหรือโลกอยู่ได้ด้วยความสงบสุข หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบจนทนไม่ได้ ก็จะมีการเรียกร้องขอความเป็นธรรม และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ในที่สุด

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: