ผมได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการมองการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาด เมื่อปี พ.ศ.2547 มาแล้วเป็นจำนวน 6 ตอน โดยตอนที่ (6) ว่าด้วยบทบาทในการบริหารของผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในตอนนี้ผมจะแสดงข้อคิดเห็นบางประการให้ท่านทราบ
แต่ก่อนจะแสดงข้อคิดเห็นดังกล่าว ผมขอทบทวนความรุนแรงของสถานการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 สักเล็กน้อย
Table of Contents
บทสรุป
ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19
เมื่อเปรียบเทียบกับโรคไข้หวัดนกระบาด เมื่อปีพ.ศ.2547 ถือได้ว่า โรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าหลายเท่า เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยตรง และมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีคนติดเชื้อและเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด และอย่างไร ส่วนโรคไข้หวัดนกระบาด เมื่อปีพ.ศ.2547 เป็นโรคที่เกิดกับสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ นก ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย การแพร่ระบาดมิได้เกิดขึ้นทั่วโลก เกิดเฉพาะแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย
แนวคิดในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19
แนวคิดในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด คือ ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ต้องนำมารักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันมิให้เชื้อระบาดไปสู่คนอื่น คนที่มีประวัติเข้าไปในสถานที่เสี่ยง ต้องนำมากักตัวอยู่ในที่ปลอดภัยอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาฟักตัวของเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ติดเชื้อแน่ ส่วนประชาชนทั่วไป ต้องพยายามไม่เดินทางไปมาในสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ โดยพยายามกักกันตัวเองอยู่ที่บ้านให้มากที่สุด
ส่วนการแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ต้องมุ่งทำลายสัตว์ปีกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดของเชิ้อโรคเป็นการสกัดตั้งแต่ต้นทาง โดยไม่ได้กำหนดมาตรการใด ๆ เป็นพิเศษเพื่อให้คนถือปฏิบัติ
ข้อคิดเห็น
หากผมจะจบลงโดยไม่มีข้อคิดเห็นเลย ผมก็เกรงว่า ท่านผู้อ่านอาจจะอารมณ์ค้าง โดยผมจะขอแสดงข้อคิดเห็นไปในเชิงการบริหารจัดการและภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์เป็นหลัก และใช้แนวคิดที่เป็นบวกในการมองปัญหาhttp://้https://tridirek.com/2-positive-thinking-happy -enjoy
การแสดงความเห็นของผม เป็นการแสดงในฐานะนักวิชาการอิสระ ที่เคยรับราชการเป็นนักปกครอง เคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษหลักสูตรปริญญาโททางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมีพื้นฐานความรู้ทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ และภาวะผู้นำเชิงยุทธศาสตร์ โดยได้เลือกประเด็นที่คิดว่า น่าจะอยู่ในความสนใจของคนทั่วไป จำนวน 10 ประเด็น ดังนี้
1.หากจะกล่าวโดยสรุปแล้ว การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 กับการแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก การแก้ปัญหาโรคใดยากกว่ากัน
การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ยากกว่าในทุกมิติ เพราะโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ระบาดกับตัวคนโดยตรงและระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว แม้ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกายังเอาไม่อยู่เลย
การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 รัฐบาลต้องออกมาตรการหลายมิติและต้องทำทั่วราชอาณาจักร และรัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากในการจ่ายค่าเยียวยาแก่บุคคลในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรควิด-19 คิดเป็นเงินงบประมาณที่ต้องใช้ในขั้นต้นเกือบ 2 ล้านล้านบาท (ไม่ใช่ 2 ล้านบาทนะ) ส่วนโรคไข้หวัดนก มีมิติเดียวในการแก้ปัญหา คือ การทำลายสัตว์ปีกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด ไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามพระราชกำหนด ฯ ค่าใช้จ่ายที่สำคัญ คือเงินชดเชยแก่เจ้าของสัตว์ปีกที่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นเงินที่ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลต้องใช้ในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19
ยิ่งกว่านั้น การออกข้อหนดโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด ฯ ล้วนเป็นเรื่องของการออกคำสั่งห้ามการกระทำที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลทั่วราชอาณาจักร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะให้บุคคลยอมรับโดยไม่มีการต่อต้านหรือโวยวาย

ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาให้บุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ถ้าหากมีจำนวนคนที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา จำนวนไม่มากนัก ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ มีคนหลากหลายอาชีพที่ได้รับกระทบและรัฐจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายเงินเยียวยาเนื่องจากการไม่มีงานทำ การที่จะทำให้บุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบพึงพอใจในจำนวนเงินที่ได้รับนั้นก็ไม่ง่ายเลย เพราะถ้าเปรียบเทียบกับรายได้หรือเงินเดือนที่พวกเขาได้รับก่อนการล็อคดาวน์ ถือว่าเป็นเงินเพียงเล็กน้อย แต่ถ้ารัฐจะจ่ายให้มากกว่านั้น ก็เป็นเรื่องยากสำหรับรัฐเช่นกัน
เรื่องนี้ ผมคิดว่า ทุกท่านคงตระหนักดีกันอยู่แล้ว ใช่ไหม
2.รัฐบาลไทยแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ถูกต้องตามหลักการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่
การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นการบริหารภายใต้ภาวะวิกฤต (Management in Crisis) อย่างหนึ่ง ที่ผู้นำจะต้องแสดงบทบาทของภาวะผู้นำอย่างเต็มที่ โดยต้องสร้างเอกภาพในการบริหารงานและการสั่งการไว้ที่ผู้นำสูงสุดโดยตรง ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีได้ขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ฯ จึงเป็นไปตามหลักการของการบริหารภายใต้ภาวะวิกฤต เพราะถ้าปล่อยให้แต่ละกระทรวงและแต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมกันเป็นรัฐบาลผสม สั่งการเอาเอง ก็มีแต่จะสร้างความขัดแย้งกันขึ้นในรัฐบาล ไม่เป็นเอกภาพ ประชาชนก็จะสับสน และไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้
ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 ขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์จึงเป็นการถูกต้องตามหลักการบริหารภายใต้ภาวะวิกฤติ
3.มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องมีการแถลงข่าวทุกวันโดยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 และทำไมนายกรัฐมนตรีไม่แถลงข่าวเสียเอง
เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกยังมีความร้ายแรงอยู่ ดังนั้น ประชาชนภายในประเทศจึงใคร่อยากจะทราบความเคลื่อนไหวของสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งจากรอบโลก และภายในประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อคลายความกังวล นั่นคือ ต้องการให้ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 แถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ ๆ
การแถลงข่าวประจำวันของศูนย์ ฯ เป็นเรื่องทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยตรง ผู้แถลงข่าวก็สมควรเป็นโฆษกศูนย์ฯ ซึ่งเป็นหมอ ย่อมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุขดี
ส่วนนายกรัฐมนตรี ควรจะแถลงต่อเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองของประเทศ โดยควรจะแถลงต่อเมื่อมีความจำเป็น ซึ่งเวลานี้ นายกรัฐมนตรีก็ปฏิบัติตามแนวทางนี้อยู่แล้ว เช่น แถลงว่าจะทำจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีเมืองไทยว่า จะทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือสังคมและประเทศในสถานการณ์โควิด-19
4.หากคิดว่า รัฐบาลทำถูกแล้ว ทำไมยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา
ผมเชื่อว่า ทุกคนคงจะยอมรับว่า นับตั้งแต่รัฐบาลได้ใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามพระราชกำหนด ฯ จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมา สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยได้ดีขึ้นเป็นลำดับ แม้แต่หลายประเทศก็ยังยกย่องชมเชย แต่ก็ยังมีคนไทยส่วนหนึ่งยังวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในเชิงลบอยู่ เป็นเพราะอะไร
การวิพากษ์วิจารณ์มีอยู่ 2 แบบ คือการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความสุจริต และการวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ชอบรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความสุจริตใจ ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่อาศัยองค์ความรู้ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงรอบด้าน
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ชอบรัฐบาลนี้หรือนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว จะออกมาในรูปแบบ ทำอะไรก็ผิดหมด ทำอะไรก็ไม่ดี ไม่ถูกใจ โดยอาศัยข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพียงด้านเดียวที่ตนชอบ เวลามีใครแนะนำให้ฟังหรืออ่านข้อมูลที่แตกต่างไปจากความเชื่อหรือความชอบของตน ก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับหรือรับฟัง ส่วนมากจะเป็นการติเตียนข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ในทำนองติเรือทั้งโกลน เช่น
ปัญหาข้อบกพร่องในการลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินเยียวยา เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ผลปรากฏว่า มีหลายรายที่ไม่อาจลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ คนที่ไม่ชอบรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ก็นำไปวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็รับฟังปัญหาพร้อมที่จะหาทางแก้ไขให้อยู่แล้ว
ในฐานะเป็นผู้มีประสบการณ์รับราชการมาเป็นเวลายาวนานคนหนึ่ง ผมเข้าใจว่า การที่มีข้อผิดพลาดขึ้น น่าจะเกิดจากการที่กระทรวงการคลังใช้ข้อมูลตามเอกสารที่ทางราชการมีอยู่ ซึ่งข้อมูลตามเอกสารหลายรายอาจจะไม่ตรงข้อมูลที่แท้จริง แต่เวลานี้กระทรวงการคลังได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคลที่มีปัญหายังไม่อาจลงทะเบียนขอสิทธิเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ได้ โดยลงไป ณ ตำบลหมู่บ้านทั่วประเทศ อย่างที่เรียกว่าไปทำประชาคม ณ พื้นที่ตำบลหมู่บ้านเลย คิดว่าไม่นานการแก้ปัญหาคงจะเรียบร้อย
โดยปกติ ระบบอะไรก็ตาม หากเพิ่งมีการนำมาใช้เป็นครั้งแรก ปัญหาข้อบกพร่อง ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ จะไม่ให้มีปัญหาเลย ย่อมยากที่จะเป็นไปได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้มิได้เกิดจากความจงใจของผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งเมื่อนำปัญหาไปปรุบปรุงแก้ไข ระบบก็จะดีขึ้นจนไม่มีปัญหาอะไรกวนใจอีก
ทำไมปัญหาการลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินเยียวยา เดือนละ 5,000 บาท จึงดูเป็นเรื่องใหญ่
คำตอบคือ ถ้าเป็นเรื่องสิทธิ ผู้คนมักจะโวยวายเพราะเป็นสิ่งที่ตนจะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องหน้าที่อย่างการเสียภาษีอากร หากทางสรรพากรตามไม่ทันก็มักจะพยายามหลีกเลี่ยงภาษี
กรมสรรพากรก็คงคิดในใจเหมือนกันว่า หากมีผู้หน้าที่เสียภาษีออกมาโวยวายเหมือนอย่างเรื่องเงินเยียวยาบ้างว่า ทำไมกรมสรรพากรไม่ยอมไปเก็บภาษีกับเขา เขาพร้อมจะจ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็น่าจะดีนะ กรมสรรพากรคงไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเสาะแสวงหาแหล่งเก็บภาษีที่พยายามหลีกเลี่ยงอยู่
ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผมไหม
5.ทำไมข้อมูลของบุคคลที่ทางราขการมีอยู่ บางครั้งจึงมีความผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ข้อมูลของทางราชการจะปรากฏอยู่ในเอกสารของทางราชเท่าที่มีอยู่ ณ เวลาที่ต้องการเอาข้อมูลมาใช้ ดังนั้น เวลากรอกข้อมูลลงไปในระบบคอมคอมพิวเตอร์ ก็ต้องใช้ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ข้อมูลส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากเอกสารของทางราชการ ก็จะไม่สามารถกรอกลงไปในระบบคอมพิวเตอร์ได้

ตัวอย่างง่าย ๆ คือ คนต่างจังหวัดทั่วประเทศได้เข้ามาทำงานในกรุงเทพ ฯ แต่มิได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา ณ บ้านหรือที่พักที่ตนเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ เวลามีการเลือกตั้ง สำนักงานทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดพิมพ์รายชื่อผู้สิทธิเลือกตั้งให้กกต.จังหวัดแต่ละจังหวัด ก็ต้องพิมพ์รายชื่อผู้สิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่ที่ปรากฎในทะเบียนบ้านที่อยู่ต่างจังหวัด การที่บุคคลผู้นั้น จะไปโวยวายว่า ตัวเขาปกติทำงานอยู่กรุงเทพฯ ทำไมไม่พิมพ์รายชื่อของเขาในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของกรุงเทพฯ ย่อมไม่ได้ เพราะตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร เจ้าบ้านต้องแจ้งย้ายออกจากทะเบียนเดิมไปเข้าทะเบียนบ้านแห่งใหม่ ภายใน 15 วันนับแต่วันย้ายออก
ดังนั้น หากเราต้องการมีสิทธิ์หรือรักษาสิทธิ์ เราต้องรู้จักไปแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปให้หน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบบันทึกไว้ อย่างที่เรียกว่า ต้องอัพเดตข้อมูลนั่นเอง
เล่าถึงตอนนี้ หลายท่านอาจจะคิดถึงเรื่องของตัวเองออกว่า มีข้อมูละไรไหมที่ยังไม่ได้อัพเดตกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
6.ทำไมดูเหมือนว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศอย่างเวียดนามและลาวจัดการแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่าไทย
ประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มีพรรคการเมืองตามกฎหมายได้พรรคเดียว คือ พรรคคอมมิวนิสต์ เวลารัฐบาลจะตัดสินใจทำอะไร สามารถทำได้ทันที เพราะไม่มีฝ่ายค้าน และประชาชนก็ยอมรับอำนาจเช่นนั้นของรัฐบาล เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตของพวกเขาที่ยอมรับให้รัฐเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิต ดังนั้น เมื่อประเทศเหล่านี้อย่างเช่น จีน เกาหลีเหลือ เวียดนาม และลาว ต้องการจะใช้นโยบายปิดประเทศ ก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดถึงผลกระทบทางการเมือง เพราะไม่มีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
อนึ่ง ประเทศจีนได้เปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศจากระบอบประชาธิปไตย มาเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ มาตั้งปี ค.ศ.1949 นับเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 71 ปี เวียดนามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1976 นับเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 44 ปี ส่วนลาวได้เปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศเป็นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1975 นับเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 45 ปี
แต่ประเทศทีมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเต็มใบหรือครึ่งใบ ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพในแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง การตัดสินใจจะใช้นโยบายหรือมาตรการใด ๆ ในการแก้ปัญหาของประเทศ จึงจำเป็นต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน เพราะทุกมาตรการย่อมมีข้อดีข้อเสียอยู่ในตัวเอง รัฐบาลต้องประเมินสถานการรณ์และชั่งน้ำหนักให้ดีว่า จะกำหนดมาตรการอะไรบ้าง จึงจะเกิดผลกระทบไปในทางที่ส่งผลทางลบน้อยที่สุด
ขอเล่าแทรกนิดหนึ่งว่า กระบวนการตัดสินใจในการบริหารประเทศ รัฐบาลต้องเริ่มต้นด้วยการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ พิจารณาหาทางเลือกในการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีได้กี่ทาง แต่ละทางเลือก มีข้อดีข้อเสีย มีจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคอย่างไร แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่า ทางเลือกใดน่าจะดีที่สุด หรือ ถ้าไม่มีทางเลือกที่ดีเลย ก็ดูว่า ทางเลือกใดน่าจะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด
ผิดกับนักคอมเมนต์ทั้งหลาย ข้อมูลอะไรก็ไม่มี มีแต่เพียงข่าวสารที่ได้รับเพียงเล็กน้อย ก็สรุปโดยใช้ความรู้สึกแบบฟันธงยังกะเป็นผู้เชี่ยวชาญเลยว่า อย่างนี้ไม่ถูกต้อง อย่างนั้นใช้ไม่ได้
ท่านผู้อ่าน เป็นนักคอมเมนต์แบบข้างต้นหรือเปล่าหนอ
ขอขอบคุณทุกท่าน พบกันใหม่วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2563 นี้
ดร.ชา
วันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2563
น่าสนใจครับ เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเลยครับ
คงถูกใจนะครับผู้หมวด