การปฏิรูปการเมือง การปกครอง เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ทำไมญี่ปุ่นเจริญกว่าไทยมาก นับเป็นบทความลำดับที่ 10 ของหมวด 9 เรื่องเล่า ประเทศไทย กับชาติมหาอำนาจ จะกล่าวถึง แรงบันดาลใจ การคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกต่อไทยและญี่ปุ่น การปฏิรูปการเมือง การปกครองในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 การปฏิรูปการเมือง การปกครอง ในสมัยจักรพรรดิเมจิ ผลของการปฏิรูปการเมืองการปกครองสมัยจักรพรรดิเมจิ เหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญกว่าไทย สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.แรงบันดาลใจ
เมื่อครั้งผมได้เรียนปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือ NIDA ในช่วงปี 2518-2520 ผมประทับใจในคำสอนของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ว่า ฝรั่งได้ศึกษาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในด้านการปฏิรูปประเทศของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในยุคจักรพรรดิเมจิ
ในการศึกษาดังกล่าวพบว่า มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่สยามได้เปรียบญี่ปุ่นคือ สยามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีทรัพยากรธรรมชาติมาก ดังนั้น สยามจึงน่าจะสามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ากว่าญี่ปุ่น
แต่ข้อเท็จจริงที่พวกเราเห็นก็คือ ญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าไทยหลายเท่าตัว ดังจะเห็นจากดัชนีชี้วัดด้านขนาดของจีดีพี และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของธนาคารโลกประจำปีค.ศ. 2019 ข้างล่างนี้
1.1 ขนาดของจีดีพี
ญี่ปุ่นมีขนาดของจีดีพีใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาและจีน กล่าวคือ
– จีดีพีของญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ. 2519 มีจำนวน 5,081,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- จีดีพีของไทยเมือปีเดียวกันใหญ่เป็นอันดับที่ 22 ของโลก จำนวน 543,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือขนาดจีดีพีของญี่ปุ่น ใหญ่เป็น 9.35 เท่าของจีดีพีไทย
1.2 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของธนาคารโลกเมื่อปีค.ศ.2019
- ญี่ปุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 40,247 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 27 ของโลก)
- ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว จำนวน 7,808 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 82 ของโลก)
หรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวของญี่ปุ่นคิดเป็น 5.15 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทย
คำถามคือ การที่สยามและญี่ปุ่นต่างได้ปฏิรูปการเมือง การปกครองประเทศเพื่อต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมยุคใหม่ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำไมผลลัทธ์จึงแตกต่างกันมาก
2.การคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกต่อไทยในจักรวรรดินิยมใหม่
การที่ไทยและญี่ปุ่น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองการปกครองประเทศครั้งใหญ่ อย่างที่เรียกว่า พลิกแผ่นดิน ในยุคจักรวรรดินิยมใหม่ ก็เพราะต่างถูกคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเหมือนกัน
ในบทความ (6) ของหมวด 9 เรื่องเล่า ประเทศเทศไทย กับชาติมหาอำนาจ คือ บทความ กว่าจะรักษา ดินแดนไว้ได้ ผมได้เล่าถึง สถานการณ์การการคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตก พอจะสรุปได้ดังนี้
2.1 การคุกคามของชาติมหาอำนาจในยุครัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
อังกฤษสามารถยึดพม่าเป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2368 เป็นผลทำให้ไทยต้องยอมเสียเมืองแสนหวี เมืองเชียงตุง และเมืองพงให้อังกฤษ ในขณะเดียวกันอังกฤษได้ขอเช่าเกาะหมาก (เกาะปีนัง) และทำสนธิสัญญาค้าขายกันตามสนธิสัญญาเบอร์นีเมื่อปีพ.ศ.2368
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ฝรั่งเศสได้ยึดญวนเป็นเมืองขึ้นสำเร็จ หลังจากนั้น ได้บีบบังคับให้ไทยยอมยกเขมรส่วนนอกให้เมื่อปีพ.ศ.2406 จนในที่สุดไทยต้องยอมเสียเขมรส่วนนอกให้ฝรั่งเศสเมื่อปีพ.ศ.2410
2.2 การคุกคามของชาติมหาอำนาจในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 42 ปี (พ.ศ.2411-2453) ในรัชสมัยของพระองค์ถูกภัยคุกคามอย่างหนักจากชาติมหาอำนาจตะวันตกสองชาติ คืออังกฤษและฝรั่งเศส จนทำให้สยามจำเป็นต้องยอมเสียดินแดนครั้งสำคัญ จำนวน 5 ครั้ง ในช่วงระหว่างปีพ.ศ.2431-2451
ดินแดนที่สยามจำใจต้องยอมเสียไปเพื่อรักษาเอกราชของชาติ ได้แก่
- ดินแดนสิบสองจุไทย เมื่อปีพ.ศ.2431
- ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมื่อปีพ.ศ.2436
- ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เมื่อปีพ.ศ.2446
- มณฑลบูรพา เมื่อปีพ.ศ.2449
- รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปริศ เมื่อปี พ.ศ.2451
3.การคุกคามของชาติมหาอำนาจตะวันตกต่อญี่ปุ่น
ในบทความ (11) ของหมวด 6 เรื่องเล่าระบบตำรวจ และรูปแบบการปกครองของประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ บทความ ญี่ปุ่น-การปฏิรูปสมัยจักรพรรดิเมจิ ผมได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคสังคมศักดินาว่า เดิมญี่ปุ่นมีรูปแบบการปกครองเป็นการปกครองด้วยระบบโชกุน ซึ่งเป็นขุนนาง รับผิดชอบการปกครองประเทศในนามของสมเด็จพระจักรพรรดิ
3.1การปิดประเทศ (Seclusion)
ขุนนางตระกูลสุดท้ายที่ได้ปกครองญี่ปุ่นคือ ขุนนางตระกูลโตกูกาวะ ซึ่งได้ปกครองญี่ปุ่นต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนานถึง 265 ปี ระหว่างปีค.ศ.1603-1868 ยุคนี้เรียกว่า ยุคอิโด (Edo-Tokugawa) โดยใช้นโยบายปิดประเทศ
3.2 การเปิดประเทศ
โชกุนได้ปกครองญี่ปุ่นด้วยนโยบายปิดประเทศ(Seclusion) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1693 และได้ดำเนินนโยบายนี้มาเป็นเวลายาวนานร่วม 200 ปี จนกระทั่งวันที่ 8 กรกาคม ค.ศ.1853 อเมริกาได้ส่งกองเรือของกองทัพเรือจำนวน 4 ลำ นำโดยพลเรือจัตวา แมททิว เปอร์รี ( Commondore Mathew Perry) ได้เดินทางมาญี่ปุ่น เรือดังกล่าวได้บรรทุกอาวุธหนักและได้หันปากกระบอกปืนเข้าไปในเมืองเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทหาร เพื่อบีบบังคับให้ญี่ปุ่นยอมเปิดประเทศทำมาค้าขายกับประเทศต่าง ๆ
คนญี่ปุ่นเรียกเรือเหล้านี้ว่า เรือดำ (kurofune / black ships)
ในปีถัดมา คือ ปีค.ศ.1854 นายพลเรือจัตวาเปอร์รีได้กลับมาญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่งพร้อมด้วยกองเรือ 7 ลำ เพื่อบีบให้ญี่ปุ่นยอมทำสนธิสัญญาสถาปนาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอเมริกา และได้มีการลงนามทำสนธิสัญญากันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1858 เรียกชื่อว่า สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty)
สนธิสัญญานี้ได้ทำให้ชาวต่างชาติได้รับความสะดวกมากขึ้นในการเดินทางเข้าญี่ปุ่น แต่ก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ
3.3 การรื้อฟื้นอำนาจสมเด็จพระจักรพรรดิ
การที่ญี่ปุ่นในยุคโชกุนปกครองประเทศ ได้ถูกอเมริกาบีบบังคับให้เปิดประเทศ ทำให้เหล่าซามาไรเห็นว่า การปกครองประเทศด้วยระบบโชกุนคงจะล้าสมัยแล้ว จึงต้องการถวายอำนาจคืนสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้โชกุนของตระกูลโตกูกาวะชื่อ โยชิโนบุ (Yoshinobu) ต้องยอมลาออกต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1867
เป็นอันสิ้นสุดการปกครองประเทศด้วยระบบโชกุน และหลังจากนั้นญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 14 พรรษา
4.การปฏิรูปการเมือง การปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เพื่อให้สยามสามารถรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงต้องทรงปฏิรูปการเมืองการปกครองประเทศครั้งใหญ่ตามแบบอย่างของชาติมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งผมได้กล่าวไว้โดยละเอียดแล้วในบทความ (8) ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน-ต้องปฏิรูปเพื่อความอยู่รอดของสยาม
ระเบียบการ บริหารราชการแผ่นดิน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปขึ้นใหม่ตามแบบอย่างชาติมหาอำนาจตะวันตก ด้วยการยกเลิกการปกครองแบบเดิม คือ การปกครองแบบจตุสดมภ์ แล้วตั้งเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ จำนวน 10 กระทรวง ยกเลิกการปกหัวเมืองแบบเดิมแล้วจัดตั้งเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียว
ดังนั้น จึงทำให้การปกครองประเทศเกิดความเป็นเอกภาพเพราะเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางขึ้นตรงต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการแบ่งและมอบอำนาจผ่านไปสมุหเทศาภิบาลที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ อันเป็นผลทำให้สยามประเทศมีความเข้มแข็งกว่าเดิมเป็นอันมาก
5. การปฏิรูปการเมือง การปกครองญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิ
หลังจากบรรดาซามูไรเห็นว่า เพื่อให้ญี่ปุ่นมีเอกภาพและความเข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตก จึงเห็นสมควรถวายพระราชอำนาจคืนสมเด็จพระจักรพรรดิ และโชกุนที่ปกครองญี่ปุ่นได้ยอมลาออกต่อสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 เป็นเหตุทำให้การปกครองในระบบโชกุนที่มีอยู่เดิมสิ้นสุดลง และได้เข้าสู่ยุคการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ รายละเอียดเรื่องนี้ ผมได้กล่าวไว้แล้วในบทความ(11) รูปแบบการปกครอง-การปฏิรูปสมัยจักรพรรดิเมจิ

5.1 ความสำคัญของการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิ
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1867 เจ้าชายหนุ่มอายุ 14 พรรษา คือเจ้าชายมุตซูฮิโต (Mutsuhito) ได้ขึ้นเสด็จเสวยราชย์สืบต่อพระราชบิดา คือ สมเด็จพระจักรพรรดิ โคเม (Komei) นับเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิลำดับที่ 122
สมเด็จพระจักรพรรดิให้เรียกยุคสมัยของพระองค์ว่า ยุคสมัยเมจิ แปลว่า การปกครองที่สว่างไสว (Meiji/Enlightened Rule) มีระยะเวลา 44 ปี (1868-1912/พ.ศ.2411-2455)
ความสำคัญของการปฏิรูปสมัยจักรพรรดิเมจิ คือ ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดจากสังคมฟิวดัลที่แยกตัวโดดเดี่ยว ไปสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ (isolated feudal society to modern form) โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม การเมืองภายในประเทศ ระบบเศรษฐกิจ การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
การปฏิรูปประเทศสมัยจักรพรรดิเมจิเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งของโลกนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ตราบเท่าทุกวันนี้
5.2.การปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นสมัยจักพรรดิเมจิ
5.2.1 ประกาศพระบรมราชโองการ 5 ประการ
สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้ทรงประกาศพระบรมราชโองการ 5 ประการ เมื่อปี ค.ศ.1868 (Five Charter Oath in 1868) คือ
1.) การจัดตั้งสภา (assemblies)
2.) การให้ทุกชนชั้นเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมของรัฐ (carrying out state affairs)
3.)การยกเลิกกฎหมายควบคุมการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย (sumptuary laws) และข้อจำกัดของชนชั้นในการจ้างแรงงาน เพื่อลดความแตกต่างระหว่างชนชั้น
4.) การยกเลิกกฎหมายเก็บภาษีที่ชั่วร้าย (evil customs) และให้ใช้กฎหมายที่ยุติธรรมแทน
5.) แสวงหาความรู้จากนานาชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่รากฐานการปกครองระบอบจักรพรรดิ (imperial rule)
5.2 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญสมัยเมจิเมื่อปีค.ศ.1889(Constitution of the Empire of Japan/Meiji Constitution)
โดยศึกษาแบบอย่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศตะวันตก เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และอเมริกา
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้บังคับเป็นเวลายาวนานจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1947
6.ผลของการปฏิรูปยุคจักรพรรดิเมจิ
ด้วยผลของการปฏิรูปยุคจักรพรรดิเมจิ ระยเวลา 44 ปี ช่วงปีค.ศ.1868-1912 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้เจริญก้าวหน้าเป็นประเทศสมัยใหม่ทัดเทียมอารยประเทศในยุโรปและอเมริกาในหลาย ๆ ด้านพอจะสรุปได้ดังนี้

6.1ด้านการเมืองการปกครอง
ได้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือองค์พระจักรพรรดิ มีการปกครองส่วนภูมิภาคโดยสมเด็จพระจักรพรรดิได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งสภาแห่งจักรพรรดิขึ้นมา 2 สภา สภาหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีกสภาหนึ่งมาจากการแต่งตั้งจากสมเด็จพระจักรพรรดิ
มีการจัดตั้งสภาสงครามสูงสุด (Supreme War Council) เพื่อให้อำนาจรัฐเข้มแข็ง
ในส่วนภูมิภาค สมเด็จพระจักรพรรดิได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปปกครองจังหวัดต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อปีค.ศ.1871
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น
6.2 ด้านเศรษฐกิจ
เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในสมัยจักรพรรดิเมจเมื่อปี ค.ศ.1870 โดยจักรพรรดิเมจิตัดสินใจจะเดินตามชาติตะวันตก มีการส่งนักเรียนจำนวนหลายพันคนไปเรียนต่อที่อเมริกาและยุโรป และจ้างชาวตะวันตกกว่า 3,000 คน มาสอนศาสตร์สมัยใหม่ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ จึงทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกในเอเชีย โดยได้มีการจัดงานแสดงอุตสาหกรรมโตเกียวเมื่อปี 1907 (1907 Tokyo Industrial Exhibition)
6.3 ด้านการทหาร
มุ่งสร้างการทหารให้ทันสมัย ด้วยการศึกษาระบบการทหารของต่างประเทศ มีที่ปรึกษาต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส ส่งนักเรียนนายร้อยไปศึกษาการทหารและกองทัพเรือที่ยุโรปและอเมริกา
6.4 ด้านสังคม
ชนชั้นนำญี่ปุ่นในยุครัฐบาลจักรพรรดิเมจิ ยอมรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาเป็นของตน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศศิวิไลซ์แบบตะวันตก (Civilized countries of the West) และทำให้มีความเจริญเหนือประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีหลายช่วงตัว
6.5 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การที่ญี่ปุ่นรบชนะจีนในสงคราม จีน-ญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1894-1895 และรบชนะรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1904-1905 ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมหาอำนาจขึ้นมา
(Wikipedia, Meiji Restoration, 4th September 2020)
7.เหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นเจริญกว่าไทยหลายเท่าตัว
แม้ญี่ปุ่นและสยามจะได้มีการปฏิรูปการเมือง การปกครองประเทศเพื่อต่อสู้กับภัยของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมยุคใหม่ พร้อม ๆ กัน แต่ก็มีสาเหตุและปัจจัยแวดล้อมบางอย่างแตกต่างกัน จึงทำให้ผลลัทธ์ที่ได้แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งพอจะวิเคราะห์ในเบื้องต้นได้ดังนี้
7.1 ปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน
7.1.1 ระยะเวลาครองราชย์สมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 42 ปี ระหว่างปีพ.ศ.2411-2453 หรือค.ศ.1868-1910
ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเมื่อปีค.ศ.1868-1912 รวมระยะเวลาเสวยราชสมบัติ 44 ปี มากกว่าระยะเวลาเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ปี
7.1.2 แนวคิดในการปฏิรูปการเมืองการปกครองประเทศ
ทรงมีแนวคิดอย่างเดียวกัน คือ ต้องการปฏิรูปประเทศให้เป็นประเทศสมัยใหม่แบบตะวันตกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมอำนาจเข้าสู้ศูนย์กลาง ตั้งกระทรวงแบบตะวันตก มีการแบ่งและมอบอำนาจไปยังการปกครองส่วนภูมิภาคผ่านทางสายงานของกระทรวงมหาดไทย
7.2 ปัจจัยที่แตกต่างกัน
แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เสด็จเสวยราชสมบัติเมื่อปี พ.ศ.2411 หรือค.ศ.1868 แต่พระราชอำนาจยังไม่ได้อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์โดยตรง เพราะยังทรงเป็น ยุวกษัตริย์ อำนาจในการปกครองแผ่นดินจริง ๆ ยังอยู่ในมือของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่ได้ดำรงตำแหน่งในช่วงปีพ.ศ.2411-2416
อย่างไรก็ตาม แม้ภายหลังสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์จะได้พ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่ดินไปแล้ว แต่ก็ยังกุมอำนาจที่แท้จริงต่อไป เพราะบรรดาขุนนางต่าง ๆ แม้แต่ วังหน้า ล้วนเป็นคนของท่านทั้งนั้น
จนกระทั่งปีพ.ศ.2428 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้า ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินดิน ได้แต่งตั้งไว้ได้สวรรคตเมื่อปีพ.ศ.2428 พระราชอำนาจจึงได้อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์โดยสมบูรณ์
หลังจากนั้น พระองค์จึงทรงใช้พระราชอำนาจในการปฏิรูปการเมืองการปกครองประเทศได้อย่างเต็มที่จนกระทั่งปีพ.ศ.2453 รวมระยะเวลาที่ทรงมีพระราชอำนาจอย่างแท้จริง 25 ปี
ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ทันทีที่ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็ทรงมีพระราชอำนาจเต็มไปจนเสด็จสวรรคต รวมระยะเวลา 44 ปี แม้ช่วงเริ่มต้นอาจจะยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะบรรดาซามูไรพร้อมใจกันถวายพระราชอำนาจคืนสมเด็จพระจักรพรรดิอยู่แล้ว
7.3 ผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกัน
ภายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ 42-44 ปี พระมหากษัตริย์สยามและสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ทรงสามารถปฏิรูปประเทศได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้
7.3.1 ด้านการเมืองการปกครอง
ญี่ปุ่นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับเมจิ เมื่อปีค.ศ.1889 หรือพ.ศ.2432 ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญของไทย 43 ปี และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้เป็นเวลายาวนานจนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1947
7.3.2 ด้านเศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก จนสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศแรกของเอเชียเมื่อปีค.ศ.1870
ในขณะที่่ไทยเพิ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ฉบับแรกเมื่อปีพ.ศ.2504 ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้จนทุกวันนี้ ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นับเป็นระยะเวลาที่ล้าหลังกว่าญี่ปุ่นมากทีเดียว
7.3.3 ด้านการทหาร
การที่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดเป็นประเทศอุตสาหกรรมในยุคของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ จนสามารถตามทันชาติตะวันตก จึงทำให้ญี่ปุ่นสามารถสร้างกองทัพสมัยใหม่ขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภายใต้คำขวัญ “ประเทศมั่งคั่ง ทหารเข้มแข็ง”
7.4.4 ด้านการศึกษา
(ข้อมูล หนังสือ ไทย-จีน-ญี่ปุ่น ในยุคจักรวรรดินิยมใหม่ โดยรองศาสตราจารย์ วุฒิชัย มูลศิลป์,2551, หน้า 208-211)
ด้านการศึกษา นับว่า เป็นด้านสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด เพราะการศึกษาคือการสร้างคนให้มีคุณภาพและมีคุณธรรมให้แก่ประเทศชาติและสังคม
ภายใต้ประกาศพระบรมราชโองการข้อที่ห้า ” แสวงหาความรู้จากนานาชาติเพื่อสร้างความเขมแข็งให้แก่รากฐานการปกครองระบอบจักรพรรดิ” ในยุคสมัยจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปการศึกษาให้เป็นระบบและเจริญก้าวหน้าทัดเทียมชาติตะวันตก ดังจะเห็นได้จากญี่ปุ่นตั้งกระทรวงศึกษาธิการก่อนไทย 21 ปี ญี่ปุ่นมีการศึกษาภาคบังคับก่อนไทย 49 ปี สามารถขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 6 ปี และประสบความสำเร็จในการเกณฑ์เด็กชายหญิงเข้าเรียนได้ 5.32 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 6.53 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 81.32 เมื่อปีค.ศ.1900
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสามารถทำให้การศึกษาเป็นระบบและจัดได้ทุกระดับชั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย โดยญี่ปุ่นสามารถตั้งมหาวิทยาลัยก่อนไทยถึง 39 ปี อีกทั้งยังมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยของเอกชน และองค์กรทางศาสนา
ยิ่งกว่านั้น ญี่ปุ่นยังส่งคนไปเรียนต่างประเทศเป็นจำนวนที่สูงกว่าไทยมาก และได้จ้างครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสอนเป็นจำนวนมากกว่าไทยมากเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนญี่ปุ่นมีความสามารถในการรับการถ่ายทอดคามรู้จากต่างชาติ แล้วพยายามเรียนรู้เทคนิควิธีการจนสามารถดำเนินการได้เอง และพร้อมที่จะรับความคิดที่หลากหลาย
ด้วยการที่ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปการศึกษาให้เจริญทัดเทียมชาติตะวันตก ทำให้ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องส่งคนไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น
8.สรุป
บทความ “การปฏิรูปการเมือง การปกครองเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ทำไมญี่ปุ่นจึงเจริญกว่าไทยมาก ” ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งไทยกับญี่ปุ่นเคยเป็นคู่แข่งที่สูสีกัน โดยไทยมีข้อได้เปรียบตรงที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า น่าจะจบลงด้วยการที่ไทยมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าญี่ปุ่น
แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เพราะญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้ากว่าไทยหลายเท่าและหลายช่วงตัว ดังจะเห็นได้จากดัชนีชี้วัด คือ ขนาดของจีดีพี ปี 2019 ญี่ปุ่นมีขนาดจีดีพีโตเป็น 9.35 เท่าของไทย และรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปีเดียวกัน คนญี่ปุ่นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเป็น 5.15 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทย
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยต้องล้าหลังกว่าญี่ปุ่นหลายเท่าและหลายช่วงตัว คำตอบหลักน่าจะอยู่ที่การปฏิรูปการศึกษา เพราะในสมัยจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศมหาอำนาจตะวันตกได้แล้วทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ในขณะที่คุณภาพการศึกษาไทยแม้ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับระดับโลกแล้ว ยังน่าเป็นห่วงมาก
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ในหัวข้อคุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ ดร.กิ่งฉัตร (ชื่อสมมุติ) เพื่อนของผมเมื่อครั้งเรียนปริญญาเอกด้วยกัน

“สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.กิ่งฉัตร เราไม่ได้คุยกันนานแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะไม่อยากรบกวนอาจารย์ เพราะเห็นยุ่งแต่กับการสอนนักศึกษาทางออนไลน์อันสืบเนื่องมาจากปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด
วันนี้ ผมอยากจะเชิญอาจารย์สนทนาในเรื่อง ญี่ปุ่น กับ ไทย ว่าแม้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครอง พร้อม ๆ กัน แต่เหตุไฉน ญี่ปุ่นจึงมีความเจริญเหนือกว่าไทยหลายเท่าตัว ” ผมเกริ่นนำเล็กน้อย
“สวัสดีค่ะ ดร.ชา ยินดีที่จะได้คุยแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งหนึ่ง ขอเชิญกำหนดประเด็นได้เลย ” ดร.กิ่งฉัตรแสดงความพร้อม
“สำหรับสนทนาในวันนี้ ผมขอกำหนดสัก 2-3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก การที่ญี่ปุ่นเจริญกว่าไทยหลายเท่าและหลายช่วงตัว แม้ครั้งหนึ่งไทยกับญี่ปุ่นเคยเป็นคู่แข่งกันว่า น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
ประเด็นที่สอง การศึกษาของญี่ปุ่นมีบทบทสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นให้เจริญรุดหน้าได้อย่างรวดเร็วอย่างไร
ประเด็นสุดท้าย ขอทราบความเห็นในเรื่องประเทศญี่ปุ่นในภาพรวม ” ผมกำหนดประเด็นกว้าง ๆ
“ดิฉันขอแสดงความเห็นในประเด็นแรกก่อน
การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้าได้มากน้อยเพียงใด อาจจะต้องมองดูหลายปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เพราะถ้าบริบทหรือปัจจัยแวดล้อมต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะต่างกันเหมือนอย่างคำกล่าวที่ว่า
คิวซี เกิดขึ้นที่อเมริกา โตที่ญี่ปุ่น แต่มาตายที่เมืองไทย หรือ
เซเวน-อีเลฟเวน เกิดที่อเมริกา โตที่ญี่ปุ่น และเมืองไทย ” ดร.กิ่งฉัตรตอบแบบสงวนท่าที
“ผมรู้สึก อาจารย์ตอบแบบระมัดระวังมากนะ ไม่เป็นไร ผมเข้าใจ ขอเชิญแสดงความเห็นในประเด็นที่สองเลย” ผมเร่งรัดให้แสดงความเห็นต่อ
“ในประเด็นที่สอง ดิฉันเห็นด้วยกับดร.ชาในแง่ที่ว่า การทีญี่ปุ่นสามารถปฏิรูปการศึกษาได้ขนาดนั้นในยุคของสมเด็จพระจักรพรรดเมจิ ญี่ปุ่นเขาย่อมเจริญกว่าไทยหลายเท่าตัวแน่นอน เพราะการศึกษาคือการสร้างคนให้กับชาติ
การญี่ปุ่นต้องการจะสู้เอาชนะตะวันตกด้วยการยอมรับความรู้ของตะวันตกมาเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศของตน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ถูกทาง เพราะถ้ามัวแต่คิดเอาเองก็อาจจะไม่ทันการ
และเมื่อเรียนรู้ตามแบบตะวันตกได้แล้ว ญี่ปุ่นก็ไม่หยุดนิ่ง มีการต่อยอดให้เป็นของตนเอง จนสามารถเจริญได้ไม่แพ้บรรดามหาอำนาจตะวันตก ” ดร.กิ่งฉัตร ตอบยอมรับความจริง
“ อาจารย์มองการศึกษาของไทยอย่างไร” ผมลองแหย่ดร.กิ่งฉัตรให้แสดงความเห็นในวงการของตนดูบ้าง
“อ๋อ เรื่องนี้ ดิฉันเองก็อยู่ในวงการนี้ ถ้าจะแสดความเห็นแรง ๆ ก็คงจะไม่เหมาะ แต่ขอแสดงความเห็นสั้น ๆ ว่า การบริหารการศึกษาของไทย ดูช่างสับสน ทิศทางไม่ชัดเจน มีปัญหาในเรื่องเอกภาพ มีปัญหาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ” ดร.กิ่งฉัตรตอบแบบปลอดภัยไว้ก่อน
“เอาหละ ผมเข้าใจ เพราะอาจารย์ยังเป็นคนในวงการอยู่ ก็คงไม่อยากวิจารณ์วงการของตนเองให้คนนอกฟังมาก ถ้าเช่นนั้น ขอประเด็นสุดท้ายเลย ” ผมรวบรัดการสนทนา

“ในประเด็นสุดท้าย ดิฉันเห็นว่า การที่ญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าไทย นอกจากเหตุผลด้านการศึกษาแล้ว ยังมีเรื่องอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นที่เป็นคนมีระเบียบวินัยสูงมาก คนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักชาติหรือชาตินิยม และการที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาภัยธรรมชาติอยู่เสมอ ทำให้คนญี่ปุ่นต้องเตรียมพร้อมและตื่นตัวอยู่เสมอ” ดร.กิ่งฉัตรสรุปได้อย่างน่าฟัง

“ ผมคิดว่า อาจารย์ตอบประเด็นสุดท้ายได้ดีมาก หากคนไทยได้อุปนิสัยทีดีงามของคนญี่ปุ่นมาสักครึ่งก็ยังดีนะ
วันนี้ต้องของขอบคุณอาจารย์ มีโอกาสค่อยรบกวนใหม่ ” ผมกล่าวปิดท้าย
“ด้วยความยินดีค่ะ ดร.ชา”
ดร.ชา
11/01/21
ทำไมญี่ปุ่นจึงเจริญกว่าไทย เพราะประชาชนมีวินัยในตนเองมากกว่าไทย สนับสนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศตนเอง
วินัยก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
คงเพราะความเป็นชาตินิยมเขาด้วนน้อค่ะอาจารย?
ชาตินิยมนี่แหละสำคัญ เพราะจะเป็นแรงผลักดันให้ชาติเจริญ
สวัสดีครับอาจารย์
อาจารย์คะ จีนขึ้นมาแซงญี่ปุ่นในทุกด้านได้อย่างไรคะ จีนมีการปกครองระบบคอมมิวนิสต์แต่ยังมีคนรวยกลายเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ มีแต่คนอายุยังน้อยค่ะ
จีนไม่ได้เจริญก้าวหน้าแซงญี่ปุ่นทุกด้าน เพียงแต่จีนมีประชากรมากกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า จีดีพีจึงมากกว่าญี่ปุ่น แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัว ญี่ปุ่นสูงหว่าจีนมาก
ประกอบกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งตัว ทำให้สินค้าญี่ปุ่นแพงกว่าสินค้าจีนมาก สินค้าญี่ปุ่นเลยขายได้ยากกว่า