บทความนี้ นับเป็นบทความลำดับที่ 1 ของหมวด 9 เรื่องเล่า ประเทศไทยกับชาติมหาอำนาจ โดยจะกล่าวถึง แรงบันดาลใจในการเขียนบทความหมวดนี้ สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้แรงกดกันของชาติมหาอำนาจตลอดมา ชาติมหาอำนาจที่ได้แข่งขันสร้างอิทธิพลในประเทศไทยในยุคต่าง ๆ และสรุป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผมได้เขียนบทความ หมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา มาแล้ว จำนวน 8 บทความ โดยบทความล่าสุด คือ ทำไม การปฏิวัติรัฐประหาร จึงยากที่จะเกิดขึ้นได้ในอเมริกา ซึ่งเป็นชุดบทความที่จะช่วยให้ท่านมองเห็นภาพการเมืองการปกครองของอเมริกาซึ่งกำลังมีปัญหาต่อความมั่นคงของไทยอยู่ในเวลานี้ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
Table of Contents
1.แรงบันดาลใจในการเขียนบทความหมวดนี้
การที่ผมเกิดแรงบันดาลใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา ก็เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยของเราในขณะนี้กำลังเผชิญวิกฤตการณ์การเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ด้วยสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ
1.1ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
ความต้องการคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งได้แสดงออกมาในรูปของข้อเรียกร้องในรูปแบบต่าง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อม็อบเดินขบวนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 จนกระทั่งทุกวันนี้ โดยอ้างว่า ต้องการพัฒนาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องการรรักษารากเหง้าอันดีงามของชาติไทยที่มีมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่มีการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทยเมื่อ พ.ศ.1792 หรือเมื่อ 771 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ข้ออ้าง คือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอุปสรรคหรือขวากหนามต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
คำถามคือ ความต้องการที่แท้จริง ต้องการจะปฏิรูปหรือว่าต้องการล้มล้างไปเลย แต่ใช้ถ้อยคำปกปิดอำพรางความต้องการที่แท้จริงว่าปฏิรูป
1.2 การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจ
ลำพังแค่ความต้องการของคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด หากไม่มีชาติมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง ซึ่งในเวลานี้ก็ทราบกันทั่วไปว่า สหรัฐอเมริกา ต้องการใช้ไทยเป็นฐานใหญ่ในการต่อต้านและตอบโต้การแผ่อิทธิพลของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนและทะเลจีนใต้ ซึ่งความต้องการดังกล่าวของสหรัฐอเมริกายากที่จะประสบความสำเร็จได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทย
คำถามคือ รัฐบาลไทยยุค พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาใน การต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิลของจีนหรือไม่
2.ทำไม ประเทศไทยต้องอยู่ท่ามกลางแรงกดดันของชาติมหาอำนาจตลอดมา
สาเหตุที่ทำให้ไทย ต้องอยู่ท่ามกลางของชาติมหาอำนาจตลอดมา มีอยู่ 3 ประการใหญ่ ๆ คือ
2.1 ทำเลที่ตั้ง

หากมองตามหลักภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ถือว่าดีมาก เพราะตั้งอยู่ในศูนย์กลางของประเทศอาเซียน อีกทั้งมีอาณาเขตติดชายฝั่งมหาสมุทรสองแห่ง คือ ด้านทิศตะวันออก ติดทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และด้านตะวันตก ทิศทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นทะเลจีนใต้ เป็นเส้นทางไปสู่ประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และทวีปอเมริกาทางด้านตะวันตก
ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นทะเลอันดามัน เป็นเส้นทางไปสู่เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกกลาง ทวีปยุโรป และทวีปอาฟริกา
2.2 ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร
นอกจากทำเลที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ดีมากแล้ว ไทยยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอดุมสมบูรณ์หลายอย่าง เช่น แร่ธาตุ ทรัพยกรทางทะเล น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างป่าเขา ทะเล เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

2.3 เป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศใหญ่ แต่ก็มิใช่ประเทศเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และขนาดจีดีพี กล่าวคือ
ขนาดพื้นที่
ตามข้อมูลของเวิร์ลด มิเตอร์ (Worldmeter, 26th October 2020) ไทยมีขนาดพื้นที่ 513,120 ตร.กม. นับว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 51 ของโลก จากจำนวนประเทศทั้งโลกราว 263 ประเทศ มีขนาดใหญ่เป็นอับสามของประเทศกลุ่มอาเซียน รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย (1,904,569 ตร.กม.) และเมียนมาร์ (676,578 ตร.กม.)
จำนวนประชากร
ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ไทยมีจำนวนประชากรเมื่อปี ค.ศ.2019 จำนวน 69,037,513 คน นับมากเป็นลำดับที่ 20 ของโลก(ตัวเลขนี้อาจจะไม่ตรงกับตัวเลขของสำนักงานทะเบียนกลางราษฎรของไทย) และนับมากเป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย (270,625,568 คน อันดับ 4 ของโลก) ฟิลิปปินส์ (108,116,615 คน อันดับ 12 ของโลก) และเวียดนาม (96,462,106 อันดับ 15 ของโลก) (Wikipedia, List of countries by population (United Nations), 26th October 2020)
ขนาดเศรษฐกิจ
ตามข้อมูลของธนาคารโลก (Wikipedia, List of Countries by GDP (nominal), 26th October 2020) ไทยมีขนาดเศรษฐกิจตามจีดีพี ปี 2019 จำนวน 543,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับใหญ่เป็นอันดับ 22 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับสองของกลุ่มประเทศอาเซียน คือ รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย (1,119,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอันดับ 16 ของโลก
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
3.ชาติมหาอำนาจที่ได้แข่งขันสร้างอิทธิพลในไทยยุคต่าง ๆ
เมื่อมองย้อนหลังตามประวัติศาสตร์ไทยไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้พบว่า มีชาติมหาอำนาจที่ได้เข้ามาแข่งขันสร้างอิทธิพลกดดันไทยมาเป็นลำดับ พอสรุปได้ดังนี้
3.1 ฝรั่งเศส
ในยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์กำลังแผ่อิทธิพลอยู่ที่ชวาหรืออินโดนีเซีย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงต้องการผูกมิตรกับฝรั่งเศสเพื่อให้ถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดาไม่ให้เข้ามาแทรกแซงกรุงศรีอยุธยา แม้จะประสบความสำเร็จในการถ่วงดุลอำนาจ แต่ความคิดฝรั่งเศสในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ต้องการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณานิคม มิใช่แค่การเป็นมิตรประเทศ
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสจึงได้แสดงอำนาจบาตรใหญ่คุกคามสยามประเทศโดยหวังจะเอาเป็นอาณานิคมให้ได้
3.2 อังกฤษหรือสหราชอาณาจักร
อังกฤษหรือสหราชอาณาจักรได้เริ่มต้นในการแสดงอำนาจคุกคามสยามประเทศด้วยการเข้าครอบครองเกาะหมากหรือเกาะปีนังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 หลังจากนั้น ได้มีการคุกคามสยามประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 เพื่อจะเอาสยามประเทศเป็นอาณานิคมให้ได้เช่นเดียวกันกับ ฝรั่งเศส
3.3 สหรัฐอเมริกา
เดิมสหรัฐอเมริกาเป็นมิตรประเทศที่ดีประเทศหนึ่งของไทย เพราะเคยเป็นประเทศที่ร่วมกันต่อสู้การขยายตัวของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคงสงครามเย็น แต่พอหมดยุคสงครามเย็น กลายเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 ความสัมพันธ์ก็เริ่มเจือจางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน เพราะสหรัฐอเมริกาเห็นว่า ไทยมีความใกล้ชิดกับจีนซึ่งเป็นประเทศ คู่แข่งของสหรัฐอเมริกามากกว่าตน
3.4 จีน
ในยุคงสงครามเย็น จีนกับไทย อยู่คนละฝ่ายกัน โดยไทยอยู่ฝ่ายโลกเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก และจีนอยู่ฝ่ายเดียวกับอดีตสหภาพโซเวียต แต่พอสงครามเย็นยุติลงก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 กลายเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยได้พัฒนาดีขึ้นมาเป็นลำดับจนกระทั่งทุกวันนี้
3.5 รัสเซีย
รัสเซียกับสยามประเทศเคยเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันในยุครัชสมัยพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 แต่ความสัมพันธ์ได้ห่างเหินกันไปในยุคสงครามเย็น
หลังจากสงครามเย็นได้ยุติลง รัสเซียกับไทยได้กลับมามีความสัมพันธ์กันใหม่จนกระทั่งปัจจุบัน โดยรัสเซียนับเป็นมิตรประเทศที่ดีของไทยประเทศหนึ่ง
3.6 ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นและไทยได้สร้างสัมพันธไมตรีอันดีตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ยกทัพมาที่ไทย ขอให้ไทยร่วมมือในการสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่โชคดีที่ไทยมี พวกเสรีไทย ทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามเหมือนญี่ปุ่น
แต่หลังจากนั้นไทยกับญี่ปุ่นก็มีความสัมพันธ์ดีต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้
3.7 เยอรมัน
เยอรมันเป็นชาติมหาอำนาจที่ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ในการกดดันไทย
4.สรุป
บทความนี้ต้องการจะชี้ให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า การที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันระหว่างขาติมหาอำนาจมาโดยตลอด ก็ด้วยสาเหตุ 3 ประการ คือ ทำเลที่ตั้ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และขนาดเศรษฐกิจ อย่างเช่น ในยุคของสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช สยามประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันระหว่างฮอลันดาหรือเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ยุคพระบาทสมเด็จพระจลจอมเกล้าเข้าอยู่หัว ฯ รัชกาลที่ 5 อยู่ภายใต้แรงกดดันระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ และยุคปัจจุบันอยู่ภายใต้แรงกดดันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน
ในบทความต่อ ๆ ไป จะได้เล่าให้ท่านทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ชาติมหาอำนาจเข้ามา ข่มเหง รังแกและกดดันไทยตั้งแต่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งยุคปัจจุบัน เพื่อให้ท่านผู้อ่านจะได้ทราบว่าการที่บูรพมหากษัตริย์ไทย ได้ทรงเสียสละหยาดเหงื่อหรือพระชนมชีพเพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ให้ลูกหลานนั้นเป็นเรื่องยากเย็นเพียงใด
จริงดังว่าค่ะอาจารย์ ภูมิประเทศ ทรัพยากร และเศรษฐกิจ เป็นที่ต้งตาต้องใจเหล่านักล่าจริงๆค่ะ
ถูกต้องแล้ว คุณบุญญสรณ์ หากเราไม่มีอะไรดีที่ทำให้พวกเขาตาลุกวาว มหาอำนาจที่ไหนจะมาวุ่นวายกับเรา จริงไหม
หนูจำได้มีผู้สนับสนุนให้ประเทศไทยเราขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางเรือ
แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ในมุมมองของอาจารย์มีต่อเรื่องนี้อย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
การขุดคลองไทยเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย หากทำได้จริง ไทยเราจะได้ประโยชย์มาก แต่ถ้าเกิดสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ สิ่งแรกที่เขาจะต้องชิงความได้เปรียบคือ ยึดคลองไทย ปัญหาคือ ไทยจะมีขีดความสามารถรักษาคลองไทยได้ไหม เพราะต้องสู้กับชาติมหาอำนาจ เช่น จีน ญีปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา