72 / 100

บทความเรื่องเล่า ฐานะพิเศษของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ที่น่าสนใจ กล่าวถึง เมืองหลวงแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา การสถาปนากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รู้จักมลรัฐแมรีแลนด์และเวอร์จิเนีย เมืองหลวงชั่วคราวของสหรัฐอเมริกา ขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ความสำคัญของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สรุปและข้อคิดเห็น ทั้งนี้เพื่อตอบคำถามที่ว่า ทำไมประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้กล่าวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ในเชิงตำหนิสภาคองเกรสที่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีฝูงชนจำนวนหนึ่ง เข้าไปยึดสวนสาธารณะกลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี และประกาศเป็นเขตปลอดตำรวจ

การที่โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเช่นนั้น เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์ตำรวจผิวขาวได้กระทำการอันโหดเหี้ยมทารุณแก่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นคนผิวสีจนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ได้ทำให้เกิดเหตุบานปลายมีการประท้วงการกระทำดังกล่าวของตำรวจไปทั่วสหรัฐอเมริกา

       เมื่อมีการสถาปนารัฐหรือประเทศขึ้นมา จำเป็นต้องมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ด้วยการจัดตั้งเมืองหลวงของรัฐ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ ดังนั้น เมืองหลวงของรัฐหรือประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทุกรัฐหรือทุกประเทศจำเป็นต้องมี

            คงไม่มีท่านผู้อ่านคนใดที่ไม่รู้จักกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา  แต่อาจจะไม่ทราบข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับกรุงวอชิงตัน ดังนั้น ในบทความนี้ผมจะนำข้อมูลเกี่ยวกับกรุงวอชิงตันมาเล่าให้ท่านฟัง (Wikipedia, Washington, D.C., 6th January 2020)

1.เมืองหลวงแห่งแรกของอเมริกา: นครฟิลาเดลเฟีย หรือกรุงนิวยอร์ค

                การที่จะตอบว่าเมืองหลวงแห่งแรกของอเมริกาคือเมืองอะไรนั้น คงต้องดูจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในการสถาปนาประเทศอเมริกาขึ้นมา

            หออิสรภาพ (Independence Hall) แห่งนครฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia)

                ในการประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 นั้น ดินแดนอาณานิคมทั้ง 13 แห่งได้ใช้หออิสรภาพ (Independence Hall) แห่งนครฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia)  ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของมลรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นสถานที่ในการประกาศอิสรภาพ และต่อมาคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ประชุมกัน  ณ หออิสรภาพดังกล่าว เมื่อปีค.ศ.1787 เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐบัญญัติของสมาพันธรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะนำออกเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ

             การที่ดินแดนอาณานิคมทั้ง 13 แห่ง ได้ใช้หออิสรภาพแห่งนครฟิลาเดลเฟีย เป็นสถานที่ประกาศอิสรภาพ จึงทำให้นครฟิลาเดลเฟียมีฐานะเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอเมริกาโดยพฤตินัยนับตั้งแต่ค.ศ.1776-1785 รวมระยะเวลา 9 ปี  ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กรุงนิวยอร์ค หลังจากมีการประกาศใช้รัฐบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐอเมริกา ในช่วงปีค.ศ.1785-1790

            ท่านคงพอจะจำได้ว่า รูปแบบการปกครองของอเมริกาเดิมเป็นระบบสมาพันธรัฐ ภายใต้รัฐบัญญัติของสมาพันธรัฐอเมริกา (The Articles of Confederation) ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอเมริกาและได้ใช้บังคับระหว่างปีค.ศ.1781-1789 รวมระยะเวลา 9 ปี โดยมีกรุงนิวยอร์ค (New York City) เป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริการะหว่างปีค.ศ.1785-1790 รวมระยะเวลา 5 ปี 

2.การสถาปนากรุงวอชิงตัน ดี.ซี.: มลรัฐพิเศษ

            หลังจากได้ใช้รัฐบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐไประยะหนึ่งแล้ว พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความมั่นคงของชาติอย่างเช่นปัญหาขบถเชย์  เนื่องจากรัฐบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐอเมริกาได้กำหนดให้รัฐบาลกลางมีอำนาจน้อย ส่วนอำนาจที่แท้จริงอยู่มลรัฐ  ดังนั้น  มลรัฐต่าง ๆ จึงเห็นสมควรที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขี้นใหม่ โดยให้รัฐบาลกลางเข้มแข็งและมีอำนาจเหนือกว่ามลรัฐ  เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาขอประเทศได้

            รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาฉบับใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อปีค.ศ.1789  สภาคองเกรสได้อาศัยอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 1 อนุมาตรา 8 วรรค 17(Article 1, Section 8, Clause 17) ออกกฎหมายเพื่อสถาปนาเมืองหลวงขึ้นใหม่ บนริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมก (Potomac River) ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศ และเป็นแนวเขตแดนระหว่างมลรัฐแมรีแลนด์และมลรัฐเวอร์จิเนีย โดยได้สถาปนากรุงวอชิงตันขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อปีค.ศ.1791 ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย Residence Act 1790 (กฎหมายถิ่นที่อยู่)

            ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่า เพราะเหตุใดจึงเลือกสร้างเมืองหลวงใหม่ ณ บริเวณดังกล่าว

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นทัศนียภาพอันสวยงามของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นทัศนียภาพอันสวยงามของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

            สาเหตุที่เลือกสถาปนาเมืองหลวงใหม่บนริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมก ก็เนื่องจากผู้นำมลรัฐฝ่ายใต้นำโดยโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson)  และเจมส์ เมดิสัน (James Madison) ต้องการให้ย้ายเมืองหลวงจากทางเหนือคือกรุงนิวยอร์ค ลงมาทางใต้ แต่คะแนนเสียงในสภาคองเกรสไม่พอ ในขณะเดียวกันผู้นำมลรัฐฝ่ายเหนือ โดยมี อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (Alexander Hamilton) เป็นผู้นำ ต้องการให้สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมาย Assumption Bill เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐรับผิดชอบหนี้สินที่บรรดามลรัฐได้ก่อขึ้นในระหว่างสงครามปฏิวัติอเมริกา (American Revolutionary War)

            ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงประนีประนอมกัน ผลลัพธ์จึงออกมาตามที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ

            เล่ามาถึงตรงนี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตให้ท่านผู้อ่านทราบว่า การเมืองก็เป็นเช่นนี้แหละ เป็นเรื่องของการต่อรองผลประโชน์ ส่วนจะเป็นผลประโยชน์เพื่อชาติหรือส่วนรวมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำคนนั้นเป็นคนเช่นไร ประเทศไทยเราก็มีเรื่องราวของการเจรจาต่อรองทางการเมืองให้พวกเราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ มิใช่หรือ

            ส่วนการเลือกทำเลที่ตั้งกรุงวอชิงตัน ตาม Residence Act ได้มอบหมายให้คือ จอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา เป็นผู้ชี้จุด

แผนภาพแสดงทำเลที่ตั้ง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ริมฝั่นแม่น้ำโปโตแมก (Wikipedia, Washington D.C., 26th June 2020)
แผนภาพแสดงทำเลที่ตั้ง กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ริมฝั่นแม่น้ำโปโตแมก (Wikipedia, Washington D.C., 26th June 2020)

 แผนภาพแสดงทำเลที่ตั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซ๊. (Wikipedia, Washington D.C., 31th January 2020)

            ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่า ชื่อ กรุงวอชิงตัน ได้ชื่อมาอย่างไร และทำไมต้องมีคำว่า ดี.ซี.ต่อท้ายเสมอ

            ชื่อเรียกกรุงวอชิงตัน มาจากชื่อจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกานั่นเอง ส่วนชื่อที่เป็นทางการเรียกว่า เขตโคลัมเบีย (District of Columbia) มาจากชื่อโคลัมบัส (Columbus) ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาหรือโลกใหม่ เป็นคนแรก  หากไม่ได้ระบุคำว่า ดี.ซี.ต่อท้ายชื่อ ก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่า หมายถึงรัฐวอชิงตัน (State of Washington) ซึ่งเป็นมลรัฐทางด้านตะวันตกมลรัฐหนึ่งของอเมริกา

            ที่ดินที่ใช้สร้างกรุงวอชิงตัน  มลรัฐแมรีแลนด์และมลรัฐเวอร์จิเนียได้ร่วมกันบริจาคที่ดินในการสร้างกรุงวอชิงตัน ซึ่งได้รวมพื้นที่เมืองจอร์จทาวน์ (Georgetown) และเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ซึ่งได้ตั้งอยู่ก่อนแล้ว แต่สภาคองเกรสได้คืนที่ดินในส่วนที่มลรัฐเวอร์จิเนียบริจาครวมทั้งเมืองอเล็กซานเดรีย (City of Alexandria) เมื่อปีค.ศ.1846  และสภาคองเกรสได้จัดตั้งพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นเทศบาล

            กรุงวอชิงตันได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปีค.ศ.1791 และสร้างเสร็จและใช้เป็นเมืองหลวงของอเมริกา เมื่อปีค.ศ.1801

            อำนาจในการกำกับดูแลกรุงวอชิงตัน ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามาตรา 1  อนุญาตให้จัดตั้งเขตของรัฐบาลกลาง (Federal District)  โดยให้อยู่ภายใต้อำนาจพิเศษของสภาคองเกรส (Exclusive Jurisdiction of the Congress) ดังนั้น เขตโคลัมเบีย จึงไม่ได้ขึ้นต่อมลรัฐใด ๆ มีฐานะเทียบเท่ามลรัฐ และเทียบเท่าเคาน์ตีด้วย (a state-equivalent and a county equivalent by the U.S. Census Bureau) นี่คือฐานะพิเศษของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

            ผมอยากให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า การเลือกทำเลที่ตั้งเมืองหลวงของอเมริกา เป็นการตัดสินใจเลือกในช่วงเพิ่งมีการจัดตั้งประเทศอเมริกาขึ้นใหม่ ๆ และมีมลรัฐเพียง 13 มลรัฐเท่านั้น ไม่ใช่มี 50 มลรัฐเหมือนอย่างในปัจจุบัน

3.รู้จักมลรัฐเวอร์จิเนียและมลรัฐแมรีแลนด์

                ผมคิดว่า การที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมก (The Potomac River) ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างมลรัฐเวอร์จิเนียและมลรัฐแมรีแลนด์  ท่านคงอยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับมลรัฐทั้งสองบ้าง

            มลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia)

          มลรัฐเวอร์จิเนีย มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า Commonwealth of Virginia เป็นมลรัฐด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ระหว่างชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และเทือกเขาแอปพาเลเชียน (Appalachian Mountains) มีพื้นที่ 110,787 ตร.กม. มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 35 ของอเมริกา มีประชากรเมื่อปีค.ศ.2019 จำนวน 8,470,020 คน นับมากเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา

            เมืองหลวงชื่อ นครริชมอนต์ (Richmond) แต่เมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือ นครเวอร์จิเนียบีช (Virginia Beach)

          มลรัฐแมรีแลนด์ (Maryland)   

          มีพื้นที่ 32,131 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับที่ 42 ของอเมริกา มีประชากรเมื่อปีค.ศ.2019 จำนวน 6,052,177 คน นับเป็นอันดับที่ 19 ของอเมริกา

            มีเมืองหลวงชื่อ นครแอนนาโพลิส (Annapolis) แต่เมืองใหญ่ที่สุดคือนครบัลติมอร์ (Baltimore)

4.เมืองหลวงชั่วคราว: นครฟิลาเดลเฟีย

            การสร้างกรุงวอชิงตัน เป็นการสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ แต่การก่อสร้างต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร ปัญหาคือ ในระหว่างที่การสร้างกรุงวอชิงตันยังไม่แล้วเสร็จ จะใช้เมืองใดเป็นเมืองหลวงชั่วคราวไปพลางก่อน เนื่องจากตามกฎหมาย Residence Act ได้กำหนดให้สร้างเมืองหลวงใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปีค.ศ.1800 ดังนั้น จึงกำหนดให้ใช้นครฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) มลรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน (Nation’s temporary capital) จนกว่าการสร้างกรุงวอชิงตันจะแล้วเสร็จ  ซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี

(Wikipedia, Residence Act, 7th January 2020)

5.ขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.         

           กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีพื้นไม่มาก เพียง 177 ตร.กม. และมีประชากรเมื่อปี ค.ศ.2019 จำนวน 693,972 คน  ซึ่งนับเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นลำดับที่ 20 ในสหรัฐอเมริกา

            อย่างไรก็ดี เขตมหานครวอชิงตัน (Washington’s metropolitan area) ซึ่งรวมเอาบางส่วนของมลรัฐแมรีแลนด์  เวอร์จิเนีย และเวอร์จิเนียตะวันตก นับใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ของสหรัฐอเมริกา โดยมีประชากรประมาณ 6.2 ล้านคน

             ในส่วนที่เกี่ยวกับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรของกรุงวอชิงตัน เมื่อเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานครแล้ว ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า กรุงวอชิงตันมีพื้นที่เล็กกว่ากรุงเทพมหานครมาก เพราะกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ 1,568.737  ตร.กม, (วิกิพีเดีย, รายชื่อจังหวัดของประเทศไทยเรียงตามพื้นที, 6 มกราคม 2563)  

           ยิ่งกว่านั้น กรุงเทมหานครก็ยังมีจำนวนประชากรมากกว่ามาก กล่าวคือ กรุงเทพมหานครมียอดประชากรถึง 5,676,648 คน (ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 )

          ดังนั้น หากเราจะดูแค่ขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร ต้องถือได้ว่า กรุงวอชิงตัน มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพมหานครของเรามาก

6.ความสำคัญของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

           ในฐานะเป็นเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ทำให้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีความสำคัญหลายประการ ดังนี้

            ประการแรก กรุงวอชิงตัน นับเป็นเมืองหลวงที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง โดยในแต่ละปีจะมีคนเดินทางไปท่องเที่ยวมากกว่าปีละ 20 ล้านคน

            ประการที่สอง กรุงวอชิงตัน เป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งสามหน่วย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภาคองเกรส ฝ่ายบริหาร คือ ทำเนียบประธานาธิบดี และฝ่ายตุลาการ คือ ศาลสูง

สภาคองเกรสที่อลังการและสง่างาม ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
สภาคองเกรสที่อลังการและสง่างาม ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

            ประการทีสาม กรุงวอชิงตัน เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์ระดับชาติหลายแห่ง

            ประการที่สี่ กรุงวอชิงตัน เป็นที่ตั้งสถานทูต รวมทั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การระหว่างประเทศจำนวนหลายแห่ง  สหภาพด้านการค้า (trade unions) องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร  กลุ่มลอบบี๊ (lobbying groups)  สมาคมวิชาชีพ

            นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มธนาคารโลก องค์การการเงินระหว่างประเทศ

รูปแบบการปกครองกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

           กรุงวอชิงตันมีรูปแบบการปกครองเป็นแบบเทศบาล โดยมีนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 13 คน ที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่สภาคองเกรสมีอำนาจเหนือกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และอาจคว่ำกฎหมายของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ได้

            ในส่วนการเมืองระดับชาติ ประชาชนชาวกรุงวอชิงตัน มีสิทธิเลือกตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นตัวแทนที่ไม่มีสิทธิออกเสียง นอกจากนี้ยังมีสิทธิเลือกคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (presidential electors) จำนวน 3 คน

            ท้ายที่สุดนี้ ผมอยากตั้งข้อสังเกตให้ท่านผู้อ่านทราบว่า การที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกมีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรไม่มาก ก็เพราะวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งกรุงวอชิงตันคือ การเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารประเทศของรัฐบาลกลาง กรุงวอชิงตันจึงไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศเหมือนอย่างเมืองหลวงของประเทศหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

            บางประเทศก็ได้แนวคิดนี้แหละ ในการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ใหม่ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศเป็นหลัก อย่างเพื่อนบ้านของเรา พม่าหรือเมียนมา ได้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอว์ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป ห่างไกลทะเลเป็นอันมาก

7.สรุปและข้อคิดเห็น

          การที่กรุงวชิงตันมีฐานะพิเศษ เปรียบเสมือนมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ก็เนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา มาตรา 1 อนุมาตรา 8 วรรค 17 ได้ให้อำนาจสภาคองเกรสออกกฎหมายจัดตั้งเมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสภาคองเกรสก็ได้ใช้อำนาจดังกล่าว ออกกฎหมายถิ่นที่อยู่ 1790 (Residence Act 1790) ให้สถาปนากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ณ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโปโตแมก ซึ่งเป็นแนวเขตแดนระหว่างมลรัฐเวอร์จิเนียและมลรัฐแมรีแลนด์ มีเนื้อที่เพียง 177 ตร.กม. มีโดยประชากรเมื่อปี ค.ศ.2019 จำนวน 693,972 คน  ซึ่งนับเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นลำดับที่ 20 ในสหรัฐอเมริกา

            การที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มีฐานะพิเศษ ก็เพราะกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่ได้ขึ้นต่อมลรัฐใด แต่ขึ้นตรงต่อสภาคองเกรส กล่าวคือ สภาคองเกรสมีอำนาจในการกำกับดูแลการบริหารงานของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นเทศบาลรูปแบบนายกเทศมนตรีและสภาเทศบาล โดยมีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 13 คน

            ในด้านการเมืองระดับชาติ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสมทบ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสภาแต่ไม่มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี(presidential electors) จำนวน 3 คน จากจำนวนคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งหมด 538 คน

            ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีฝูงชนเข้าไปยึดสวนธารณะ กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563แล้วประกาศว่า เป็นเขตปลอดตำรวจ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาคองเกรสต้องสั่งการไปยังผู้บริหารกรุงวอชิงตัน ดี.ซี โดยตรงให้แก้ไขปัญหา เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีแต่อย่างใด

ผมคิดว่า ท่านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คงจะอารมณ์เสียในแง่ที่ว่า อำนาจดังกล่าวอยู่ในมือของพรรคดีโมแครต ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่ง เนื่องจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ เป็นฝ่ายดีโมแครต

การที่สหรัฐอเมริกาให้ฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาคองเกรสมีอำนาจในการกำกับดูแลเมืองหลวง แทนที่จะเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารอาจจะดูเป็นเรื่องแปลกประหลาดในความรู้สึกของพวกเรา แต่ระบบการเมืองการปกครองของสหรัฐอเมริกาเขาชอบแบบนี้แหละ คือ ชอบการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ชอบให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไป
           หวังว่า ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าใจเรื่องราว สถานะพิเศษ ของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ที่น่าสนใจ นะครับ
            ขอบคุณทุกท่าน
ดร.ชา
26/06/20
18.30

“หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านมีความประสงค์จะสนับสนุนให้บทความนี้แพร่หลายออกไป กรุณามีส่วนร่วมด้วยการกดไลค์ กดแชร์ไปยังกลุ่มบุคคลหรือบุคคลในเครือข่ายของท่าน หรือแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสมัครเป็นผู้ติดตามได้ตามอัธยาศัย และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

         กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ การสมัครเป็นผู้ติดตามและการมีส่วนร่วม ของเว็บไซต์นี้ คือ รวมเรื่องเล่า สนุกและสร้างสรรค์ ชุดประสบการณ์นักปกครองที่น่าสนใจ (https://tridirek.com)

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***) 2

พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่ (16)(New***)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “พระพุทธเจ้า มีคาถารักษาโรคเรื้อรังได้หรือไม่” นับเป็นบทความลำดับที่ 16 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีเนื้อหาประกอบด้วย ความนำ  พระพุทธเจ้ามีหลักคำสอนว่าอย่างไร   ประเภทของโรค โรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังที่น่าสนใจ แนวทางในการรักษาโรคเรื้อรัง คาถารักษาโรคทุกโรคของพระพุทธเจ้า ทำไมจึงควรนำคาถานี้ไปใช้ในการรักษาโรคเรื้อรัง ประสบการณ์ในการนำคาถานี้มาใช้ ขั้นตอนและแนวทางในการนำคาถานี้ไปใช้ การบริกรรมคาถา การอธิษฐานจิต การสั่งจิตใต้สำนึก การสร้างมโนภาพ  ตัวอย่างการอธิษฐานจิตรวมทุกโรค ตัวอย่างการอธิษฐานจิตเฉพาะโรค สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369          …

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12) 4

ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด (12)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “ไต้หวัน มีความเจริญมากน้อยเพียงใด” เป็นบทความลำดับที่ 12 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก มีหัวข้อ ดังนี้ ความนำ  ประวัติความเป็นมาของไต้หวันโดยย่อ ตำแหน่งที่ตั้งและขนาดพื้นที่ ประชากร (จำนวน เชื้อชาติ และศาสนา) การปกครอง เมืองหลวง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  ตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดความเจริญในด้านอื่น ๆ   สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 36           “ไต้หวันหรือจีนไทเป เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นเสือตัวหนึ่งในบรรดาสี่ตัวของเอเชีย…

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11) 5

เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ (11)

Share on Social Media facebook email 87 / 100 Powered by Rank Math SEO “เกาหลีเหนือ เป็นประเทศเผด็จการสมบูรณ์แบบ” เป็นบทความลำดับที่ 11 ของหมวด 14 เรื่องเล่า ประเทศเอเชียตะวันออก  มีหัวข้อประกอบด้วย ความนำ ตำแหน่งที่ตั้งของเกาหลีเหนือ  ขนาดพื้นที่ ประชากร ประวัติความเป็นมา การเมืองการปกครอง  อุดมการณ์ของชาติ ตระกูลคิม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ สิทธิมนุษยชน การทหาร สรุป ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 369 “ประเทศเกาหลีเหนือ แม้เป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่มาก และมีฐานะยากจน แต่ก็สามารถเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และมีความแข็งแกร่งด้านการทหาร…

4 COMMENTS

  1. ได้ความรู้เพิ่มมากมายเลยค่ะอาจารย์ แม้จะจดจำไปเล่าต่อไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยคนอื่นก็ต้มยากค่ะ อิอิ

    1. อเมริกาเป็นประเทศเกิดใหม่ เขาจึงมีโอกาสสร้างหลักเกณฑ์ใหม่่ ๆ ขึ้นมาให้เหมาะกับริบทของประเทศของเขา

  2. กรณียึดสวนธารณะ กลางกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แล้วประกาศเป็นเขตปลอดตำรวจ น่าสนใจเป็นกรณีศึกษาครับ ว่าความเป็นอยู่เมื่อขาดตำรวจไปจะเป็นอย่างไรครับ แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขกันครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: