ในช่วงปีพ.ศ.2551-2460 ผมได้รับเกียรติจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้เป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 2 หัวข้อวิชา คือ วิชารัฐ อำนาจ และการบริหารนโยบายสาธารณะ และวิชาสัมมนาการปกครองท้องถิ่นเปรียบเทียบ ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าหาองค์ความรู้ในเรื่องขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารกิจการตำรวจของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น เมื่อมีข่าวพาดหัวไปทั่วโลกทางสื่อต่าง ๆ ถึงเหตุการณ์ที่ตำรวจเมืองมินนีแอโพลิส มลรัฐมินนีโซตา ได้ฆ่าผู้ต้องหาผิวดำด้วยการใช้เข่ากดคอไว้จนเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาคนนั้นถึงแก่ความตาย จึงทำให้ผมเกิดความคิดอยากจะนำเรื่องราวของระบบตำรวจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นระบบที่สลับซับซ้อนมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบพอสังเขป โดยหัวข้อที่จะเล่า ประกอบด้วย เหตุการณ์ประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในสหรัฐอเมริกา ระบบการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา ระบบตำรวจภายใต้ระบบการเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา ความสลับซับซ้อนของระบบตำรวจสหรัฐอเมริกา ระบบศาลสหรัฐอเมริกา และสรุปและข้อคิดเห็น

Table of Contents
1.เหตุการณ์ประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในสหรัฐอเมริกา
มลรัฐมินนีโซตา เป็นมลรัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกตอนกลางด้านบน อยู่ติดทะเลสาบทั้งห้า เป็นมลรัฐลำดับที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา โดยมีเมืองมินนีแอโพลิส เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของมลรัฐ มีประชากรประมาณ 372,811 คน ตั้งอยู่ติดกับเมืองเซนต์ปอล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมลรัฐ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ได้เหตุการณ์สะเทือนขวัญคนทั่วโลก ดังมีข้อเท็จจริงโดยสรุป ดังนี้
ชายผิวสี อายุ 46 ปี ชื่อจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ได้ถูกฆ่าที่เมืองมินนีแอโปลิส (Minneapolis) มลรัฐมินนิโซตา (Minnesota) สหรัฐอเมริกาในระหว่างถูกจับกุมข้อหาใช้ธนบัตรปลอม โดยตำรวจผิวขาวชื่อ ดีเรค ชอวิน (Derek Chauwin) ใช้เข่ากดลงบนคอของฟลอยด์เกือบ 9 นาที ในขณะที่ฟลอยด์ถูกสวมกุญแจมือและหน้าคว่ำลงกับพื้น ฟลอยด์ได้ร้องขอชีวิตและพูดซ้ำ ๆ กันหลายครั้งว่า เขาหายใจไม่ออก โดยมีตำรวจคนที่สองและตำรวจคนที่สามจับตัว ฟลอยด์ไว้ ส่วนตำรวจคนที่สี่ยืนกันไม่ให้คนที่ยืนมุงเข้ามาขัดขวาง ในช่วง 3 นาทีสุดท้าย ฟลอยด์ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายแล้วและชีพจรก็ไม่เต้น ส่วนชอวินไม่ยอมรับรู้คำขอร้องของคนที่เผ้าสังเกตการณ์อยู่ให้เขายกเข่าออก จนกระทั่งแพทย์สั่ง เขาจึงยอมยกเข่าออก
ในวันรุ่งขึ้น ภาพวิดีโอและภาพถ่ายที่ผู้เห็นเหตุการณ์ถ่ายไว้ได้แพร่กระจายไปสู่สาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสี่คนได้ถูกไล่ออก ชอวินถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 คนถูกดำเนินคดีฐานเป็นผู้สนับสนุน

การตายของฟลอยด์ ทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วอเมริกาในจำนวนมากกว่า 2,000 เมือง และรอบโลกต่อความทารุณของตำรวจ การนิยมลัทธิเชื้อชาติของตำรวจ (police racism)u และการขาดความรับผิดชอบของตำรวจ และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ สภาเมืองมินนีแอโพลิส ต้องการให้หัวหน้าตำรวจเข้าไปสอบสวนการใช้ความรุนแรงครั้งนี้ ยิ่งกว่านั้น ยังได้ลงมติให้จัดตั้งระบบความปลอดภัยสาธารณะที่ยึดโยงชุมชน (a new community-based system of public safety) ขึ้นมาแทนระบบตำรวจ (police department) ในขณะที่หัวหน้าตำรวจเมืองมินนีแอโพลิส ได้ประกาศว่าจะนำผู้เขี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาปรับโครงสร้างตำรวจให้โปร่งใส และยืดหยุ่นสำหรับการปฏิรูป
(Wikipedia, Killing of George Floyd, 13th June 2020)
2.รูปแบบการปกครองสหรัฐอเมริกา
หากท่านผู้อ่าน ไม่ทราบและเข้าใจระบบการเมืองการปกครองของอเมริกา ท่านก็จะไม่มีทางที่จะเข้าใจระบบตำรวจของอเมริกาเพราะระบบตำรวจของทุกประเทศในโลก เป็นระบบย่อยภายใต้ระบบการเมืองการปกครองประเทศซึ่งเป็นระบบใหญ่
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐรวม แบ่งการปกครองประเทศออกเป็น 3 ระดับ คือ
2.1 รัฐบาลกลาง (Federal Government)
เกิดจากมลรัฐต่าง ๆ รวมกันขึ้นมาเป็นประเทศใหญ่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ทุกมลรัฐรวมกัน และให้รัฐบาลกลางใช้อำนาจอันเป็นส่วนรวมของทุกมลรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา การปกครองประเทศใช้ระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ กล่าวคือ
อำนาจนิติบัญญัติ เป็นของสภาคองเกรส ประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร
อำนาจบริหาร เป็นของประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง
อำนาจตุลาการ เป็นของศาลสูง
2.2 รัฐบาลมลรัฐ (State Governments)
ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยมลรัฐ จำนวน 50 มลรัฐ แต่ละมลรัฐมีรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 10 (1791) ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า อำนาจใดที่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามิได้กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลางหรือมิได้ห้ามให้เป็นอำนาจของมลรัฐ อำนาจเหล่านั้นให้เป็นอำนาจของมลรัฐ หรือประชาชนทั้งสิ้น
ภายใต้รัฐธรรมนูญของแต่ละมลรัฐ มีการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมลรัฐ
โครงสร้างการปกครองของมลรัฐ ประกอบด้วย
ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภามลรัฐ
ฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าการมลรัฐ
ฝ่ายตุลาการ คือ ศาลมลรัฐ**
นอกจากรัฐบาลมลรัฐแล้ว ยังมีการปกครองอีกระดับหนึ่ง คือ รัฐบาลท้องถิ่นหรือการปกครองส่วนท้องถิ่น
2.3 รัฐบาลท้องถิ่นหรือการปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Self-Government)
การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องของแต่ละมลรัฐจะกำหนดรูปแบบไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของแต่ละมลรัฐว่า จะให้มีกี่ระดับ กี่รูปแบบ อะไรบ้าง แต่พอกล่าวโดยสรุปได้ว่า รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐ แบ่งออกได้ 2 ระดับ คือ
การปกครองท้องถิ่น ระดับบน เรียกว่า เคาน์ตี้ (County) หากจะเปรียบเทียบกับการปกครองท้องถิ่นของไทย คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด
การปกครองท้องถิ่นระดับล่าง เรียว่า ซิตี้ (City) หรือเทศบาล
นอกจากนี้ ยังมี ทาวน์และทาวน์ชิพ
ทาวน์ (Town) บางมลรัฐมีหน่อยย่อยของซิตี้ เรียกว่า ทาวน์
แต่หลายมลรัฐมีหน่อยย่อยของเคาน์ตี้ เรียกว่า ทาวน์ชิพ
ปกติทาวน์หรือทาวน์ชิพ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศรัฐรวมและไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละมลรัฐ โดยแต่ละมลรัฐจะกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นห่าง ๆ จึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระมาก จนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นรัฐบาลท้องถิ่น
3.ระบบตำรวจสหรัฐอเมริกา
เมือท่านผู้อ่าน สามารถทำความเข้าใจได้แล้วว่า โครงสร้างการปกครองของสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ รัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ และการปกครองส่วนท้องถิ่น การทำความเข้าใจระบบตำรวจของอเมริกาก็จะง่ายเข้าเช่นกัน เพราะระบบตำรวจซึ่งเป็นระบบย่อยของโครงสร้างและระบบการเมืองการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็แบ่งออกตำรวจออกเป็น 3 ระบบเช่นกัน
3.1 ตำรวจรัฐบาลกลาง (Federal Police)
ตำรวจรัฐบาลกลาง หมายถึง ตำรวจที่กินเงินเดือนจากงบประมาณของรัฐบาลกลาง มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลาง ตำรวจรัฐบาลกลางมีอยู่หลายสังกัด แต่ที่มีนชื่อเสียงและรู้จักกันดี คือ ตำรวจเอฟ.บี.ไอ. (Federal Bureau of Investigation) หรือสำนักงานสอบสวนกลาง สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีอัตรากำลังราว ๆ 35,000 คน
นอกจากตำรวจสอบสวนกลางหรือเอฟ.บี.ไอ. แล้ว ยังมีตำรวจสังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) ซึ่งเป็นกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเหตุการณ์ถล่ม เวิร์ล เทรด เซนเตอร์ (World Trade Center) ณ มหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2002 ในสมัยประธานธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) แม้จะเป็นกระทรวงตั้งใหม่แต่มีอัตรากำลังมากถึง 240,000 คน
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ คล้ายกับงานของกระทรวงมหาดไทยของประเทศอื่น ๆ ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย งานความมั่นคงด้านชายแดน งานการตรวจคนเข้าเมือง งานความมั่นคงด้านไซเบอร์ และงานด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
3.2 ตำรวจมลรัฐ
ตำรวจมลรัฐ หมายถึง ตำรวจที่กินเงินเดือนของมลรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของมลรุัฐ เช่น ตำรวจทางหลวง

3.3 ตำรวจท้องถิ่น
ตำรวจท้องถิ่น หมายถึง ตำรวจที่กินเงินเดือนจากงบประมาณของท้องถิ่นแต่ละแห่ง
ตำรวจเคาน์ตี้ กินเงินเดือนจากเคาน์ตี้ มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของเคาน์ตี้
ตำรวจซิตี้ กินเงินเดือนจากซิตี้
นอกจากนี้ยังมีตำรวจอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ตามพื้นที่ชนบทและไม่มีตำรวจไปประจำอยู่ ตำรวจประเภทนี้ เรียกว่า police sheriff ที่คนไทยนิยมแปลว่านายอำเภอนั่นแหละ โดยตำรวจประเภทนี้สังกัดเคาน์ตี้แต่บทบาทอำนาจหน้าที่แตกต่างไปจากนายอำเภอของไทย กล่าวคือตำรวจประเภทนี้งานหลักคือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชนบท คล้าย ๆ กับบทบาทอำนาจหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านของไทย ส่วนนายอำเภอของไทยมีขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวาง ใกล้เคียงกับค่า นายอำเภอ ของฝรั่งเศส ที่เรีกว่า Sub-prefect มากกว่า
ชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันจะเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจมลรัฐและตำรวจท้องถิ่นเป็นหลัก
3.ความสลับซับซ้อนของระบบตำรวจสหรัฐอเมริกา
สาเหตุที่ระบบตำรวจของสหรัฐอเมริกามีความสลับซับซ้อน มีดังนี้
ประการแรก ระบบตำรวจของรัฐบาลกลาง เป็นระบบที่ตำรวจกินเงินเดือนจากงบประมาณของรัฐบาลกลาง เพื่อให้ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ของรัฐบาลกลาง
ประการที่สอง ระบบตำรวจมลรัฐ แต่ละมลรัฐมีระบบตำรวจของตนเอง เพราะแต่ละมลรัฐมีรัฐธรรมนูญของตนเอง มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนในส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากอำนาจของรัฐบาลกลาง จึงทำให้มีระบบตำรวจของมลรัฐอีกจำนวน 50 ระบบ
ประการที่สาม ภายใต้มลรัฐ แต่ละมลรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น ส่วนจะมีรูปแบบเป็นอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องของแต่ละมลรัฐจะออกกฎหมายกำหนด นอกจากนี้ กิจการตำรวจรัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ะแห่งก็มีอำนาจกำหนดรูปแบบได้เอง เพราะท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่านในการบริหารกิจการตำรวจท้องถิ่นเอง ดังนั้น รูปแบบตำรวจท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกาจึงมีได้หลายรูปแบบมาก
***ประการสุดท้าย การที่สหรัฐอเมริกามีระบบตำรวจ 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบตำรวจรัฐบาลกลาง ระบบตำรวจมลรัฐ และระบบตำรวจท้องถิ่น ก็ด้วยเหตุผลทางประวัติศาตร์ กล่าวคือ ก่อนที่มลรัฐต่าง ๆ จะสมัครใจเข้ามารวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างเป็นรัฐหรือดินแดนอิสระ มีรูปแบบการปกครองของตนเองอยู่แล้ว นั่นคือมีระบบตำรวจของรัฐหรือดินแดนอิสระ และระบบตำรวจท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน ดังนั้น เมื่อได้รวมเข้าเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ระบบตำรวจรัฐหรือดินแดนอิสระ ก็จะกลายเป็นตำรวจมลรัฐ และระบบตำรวจท้องถิ่นก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม
ส่วนระบบตำรวจรัฐบาลกลางเพิ่งมีขึ้นในภายหลัง ไม่ได้มีขึ้นทันทีที่ตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปีค.ศ. 1776 โดยได้มีการจัดตั้งสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางหรือเอฟ.บี.ไอ. เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1908 ในสมัยธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีอเมริกาคนที่ 26 หลังจากได้ตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านไปแล้วถึง 127 ปี
กล่าวโดยสรุป ระบบตำรวจของอเมริกา ไม่ใช่ระบบตำรวจแห่งชาติ แต่มีอยู่ 3 ระบบใหญ่ด้วยกัน คือ ระบบตำรวจรัฐบาลกลาง ระบบตำรวจมลรัฐ และระบบตำรวจท้องถิ่น นอกจากนี้ ตำรวจแต่ละระบบ และแต่ละแห่ง อิสระต่อกัน แต่ก็ทำงานประสานกัน และยิ่งกว่านั้น ตำรวจแต่ละสังกัดต่างมีอัตราเงินเดือนของตนเอง เช่น เงินเดือนตำรวจของมหานครนิวยอร์ค อาจมีอัตราสูงกว่า อัตราเงินเดือนของตำรวจเอฟ.บี. เป็นต้น
4.ระบบศาลสหรัฐอเมริกา
ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (Common Law) ไม่ใช่ระบบประมวลกฎหมายเหมือนอย่างประเทศไทย
เมื่อทราบแล้วว่า ระบบตำรวจอเมริกาแบ่งออกเป็น 3 ระบบ ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบต่อไปว่า ระบบศาลอเมริกา เป็นอย่างไร สอดคล้องกับระบบตำรวจหรือไม่
ผมขอตอบสั้น ๆ ว่า ระบบศาลและระบบตำรวจก็ต้องสอดคล้องกัน กล่าวคือ มีศาลของรัฐบาลกลาง และศาลของมลรัฐ โดยศาลของมลรัฐ มีศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินเฉพาะคดีของท้องถิ่นก็มี ซึ่งอาจจะเรียกว่า ศาลท้องถิ่นก็ได้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความตอนที่ 23 ศาลสูงอเมริกา ในเว็บ เล่าเรื่อง รัฐธรรมนูญอเมริกา แบบสี่มิติ (https://drchar.home.blog) ซึ่งได้โพสต์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563
5.สรุปและข้อคิดเห็น
ระบบตำรวจของสหรัฐอเมริกา เป็นระบบย่อยในระบบใหญ่ คือระบบการเมืองการปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ รัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐ รัฐบาลท้องถิ่นหรือการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละระดับมีกฎหมายของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจของตนเองเพื่อทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของตนเช่นกัน
ระบบตำรวจของสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นระบบที่สลับซับซ้อนมาก มีระบบใหญ่อยู่ 3 ระบบ มีระบบของมลรัฐอีก 50 ระบบ และระบบย่อย ซึ่งเป็นระบบตำรวจท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมาก แล้วแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะเห็นสมควรว่า รูปแบบใดเหมาะสมกับการแก้ปัญหาและขีดความสามารถของตน
ระบบตำรวจแต่ละระบบ อิสระต่อกัน และใช้บัญชีเงินเดือนคนละอัตรา แต่ก็ทำงานประสานกัน
กรณีที่ตำรวจแห่งเมืองมินนีแอโพลิส (Minneapolis ) แห่งมลรัฐมินนีโซตา (Minnesota) ได้ฆ่าผู้ต้องหาผิวสีด้วยการใช้เข่ากดคอลงพื้น จนเป็นเหตุทำให้ผู้ต้องหาผิวสีคนดังกล่าว คือ จอร์จ ฟลอยด์ สิ้นชีวิต ดังนั้น การที่สภาเมืองมินนีแอโพลิส ในฐานะรัฐบาลท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีมติจะให้ยกเลิกระบบตำรวจที่มีอยู่เดิมแล้วสร้างระบบความปลอดภัยสาธารณะที่ยึดโยงชุมชนขึ้นมาแทน จึงมีอำนาจที่จะดำเนินการได้โดยอิสระ
ผมหวังว่า ท่านผู้อ่านคงพอจะเข้าใจระบบตำรวจอเมริกานะ
ขอบคุณทุกท่าน พบกันใหม่โอกาสหน้า
ดร.ชา
13/06/20
“หากบทความนี้ถูกใจท่าน และท่านมีความประสงค์จะสนับสนุนให้บทความนี้แพร่หลายออกไป กรุณามีส่วนร่วมด้วยการกดไลค์ กดแชร์ไปยังกลุ่มบุคคลหรือบุคคลในเครือข่ายของท่าน หรือแสดงความคิดเห็น รวมทั้งสมัครเป็นผู้ติดตามได้ตามอัธยาศัย และขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย
กรุณาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเพจ การสมัครเป็นผู้ติดตามและการมีส่วนร่วม ของเว็บไซต์นี้ คือ รวมเรื่องเล่า สนุกและสร้างสรรค์ ชุดประสบการณ์นักปกครองที่น่าสนใจ (https://tridirek.com) “
ตำแหน่งตำรวจในแต่ละรัฐ ของสหรัฐ มลรัฐมีการบริหารจัดตั้งขึ้นมาเอง
ออกกฏหมายบังคับใช้เองค่ะ
แต่ละมลรัฐ และแต่ละท้องถิ่น เป้นผู้กำหนดตำแหน่งเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลกลาง
ตำรวจมลรัฐ และตำรวจท้องถิ่น น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้มากกว่าตำรวจส่วนกลางครับ
ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะชีวิตประจำวันของชาวอเมริกันเกี่ยวข้องกับกฎหมายของมลรัฐและกฎหมายของท้องถิ่นมากกว่ากฎหมายของรัฐบาลกลาง
จากการเข้ามาอ่านเพิ่มเติม หนูเข้าใจการปกครองของสหรัฐอเมริกา แบ่งตำรวจออกเป็น 3ระบบ
ดังนี้ 1.ตำรวจรัฐบาลกลาง
2.ตำรวจมลรัฐ ได้รับเงินเดือนจากมลรัฐ
3.ตำรวจท้องถิ่น ได้รับเงินเดือนจากท้องถิ่น ค่ะ
เหมือนกันกับรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3ระดับ
คือ Federal Government
States Government
Local Government
ถูกต้อง ระบบตำรวจต้องสอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองประเทศ
อ่านแล้วจะทำให้รู้ระบบ ภูมิหลัง ความเป็นมาของแต่ละประเทศ ผมจึงคิดว่าคงจะไม่ถูกต้องนักที่จะว่าระบบการปกครองของประเทศไหนดีที่สุดแล้วจะยกเอาระบบของเขามาสวมให้เข้ากับประเทศเรา
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ คุณสุรพงษ์เป็นอย่างมากที่กรุณาสละเวลาอันมีค่าเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการแสดงความเห็นในบทความที่ผมเขียน
ผมเห็นด้วยกับความเห็นของคุณสุรพงษ์นะ การที่เราจะบอกว่าระบบหรือรูปแบบอะไรก็ตามของต่างประเทศว่าเหมาะสมกับประเทศของเราหรือไม่ จะพิจารณาอย่างผิวเผินไม่ได้ ต้องศึกษาถึงภูมิหลังและบริบท
ของประเทศนั้น ๆ ด้วย ถ้าบริบทแตกต่างกัน ผลลัพธ์ก็จะแตกต่างกัน
โอกาสหน้าขอเชิญคุณสุรพงษ์เข้ามามีส่วร่วมอีกนะครับ