ความเป็นมา เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ (1) ต้องการจะนำเสนอเรื่องเล่า ประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2522 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผมได้เริ่มให้ความสนใจในการฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จนกระทั่งปัจจุบันนี้ รวมระยะเวลาร่วม 41 ปี โดยมีหัวข้อที่จะเล่าในส่วนที่เป็นภูมิหลัง คือ คำอธิษฐาน ความนำ จุดเริ่มต้นของความสนใจในการฝีกปฏิบัติธรรม ทำไมจึงเรียกว่าการฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ สรุป และคุยกับ ดร.ชา
Table of Contents
คำอธิษฐาน
เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาปี 2563 นี้ ข้า ฯ ขอตั้งจิตอธิษฐานเขียนบทความเพื่อเป็นธรรมทาน คือ หมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ หากมีผลบุญใดเกิดขึ้นจากการเขียนบทความหมวดนี้ ขอน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ขอน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์และบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ขออุทิศส่วนกุศลแด่คุณบิดามารดาญาติมิตร ครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวร และศัตรูหมู่มารทุกภพทุกชาติ
นอกจากนี้ ข้า ฯ ขอส่งผลบุญนี้ไปยังท่านผู้อ่านทุกท่านที่มีโอกาสได้อ่านบทความหมวดนี้ ขอให้ทุกท่านตลอดจนครอบครัวจงประสบแต่ความสุข ความเจริญ และมั่งมีศรีสุขตลอดไป
ยิ่งกว่านั้น หากท่านใดมีจิตอันเป็นกุศลด้วยการกดแชร์บทความหมวดนี้ไปยังญาติมิตรของท่าน ขอให้บุญกุศลของท่านเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่าเทอญ
1.ความนำ
หลังจากได้เขียนบทความหมวด 4 ประสบการณ์การสั่งจิตใต้สำนึกเพื่อความสำเร็จและความสุขจบลงด้วยการโพสต์บทความสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 แล้ว ประกอบกับในช่วงนี้เป็นเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นเวลาที่พระสงฆ์จะเคร่งครัดในการปฏิบัติเป็นพิเศษเป็นเวลา 3 เดือน ในขณะที่อุบาสก อุบาสิกาก็จะหมั่น ทำบุญตักบาตร และเข้าวัดสร้างบุญกุศลและปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ของปี ผมจึงเห็นว่า น่าจะเป็นโอกาสดีและเหมาะสมที่จะนำเรื่องเล่า ประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์มาเล่าสู่ท่านผู้ฟังบ้าง
แม้ผมในฐานะผู้เล่าจะยังไม่สามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมขั้นสูง ยังเป็นขั้นโลกียะอยู่ แต่ผมก็เชื่อว่า หากท่านใดที่กำลังต้องการมีความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานจากผู้เคยฝึกปฏิบัติมาก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือฝึกการปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป หลังจากได้อ่านบทความของผมแล้ว อาจจะจุดประกายให้ท่านสนใจมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังบ้างก็ได้
การฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวทางพระพุทธศาสนาหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐานในยุคปัจจุบันนี้ ไม่เพียงแต่ชาวพุทธเท่านั้นแม้แต่ชาวต่างชาติต่างศาสนาก็ได้ให้ความสนใจเข้ามาฝึกการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งกว่านั้น ยังได้มีการจัดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก และนับเป็นหลักสูตรยอดนิยมหลักสูตรหนึ่งทีเดียว

การที่การฝึกปฏิบัติธรรมตามแนวพระพุทธศาสนากำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปทั่วโลก ก็เพราะผู้ที่ได้เข้ารับการฝึกต่างได้พิสูจน์ด้วยตนเองว่า ทำให้พวกตนสามารถคลายความทุกข์หรือมีความทุกข์น้อยลง อย่างที่ไม่เคยได้รับจากการฝึกที่ใดมาก่อน
แนวทางในการเล่าเรื่องของผม ก็คงเล่าตามประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติ ไม่ได้เล่าแบบคนอ่านพระไตรปิฎกหรือเรียนหลักสูตรนักธรรมหรือหลักสูตรพระมหาเปรียญมา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ทำให้ท่านผู้อ่านที่อาจจะไม่เคยฝึกปฏิบัติมาก่อนเกิดความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้น พอจะเป็นพื้นฐานก่อนที่จะตัดสินใจไปฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังในโอกาสต่อไป
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผมไม่ได้ให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือพระไตรปิฎกหรือหนังสือคำสอนธรรมะของพระพุทธเจ้าที่มีครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ได้เรียบเรียงไว้ เพราะถ้าไม่สนใจศึกษาหาความรู้ความรู้เพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือดังกล่าว ผมก็จะไม่มีพื้นฐานความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการฝึกปฏิบัติธรรม เพื่อไม่ให้หลงทาง
อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่การอ่านหนังสือพระไตรปิฎกหรือหนังสือธรรมะต่าง ๆ จนมีความรู้แตกฉาน ก็จะไม่สามารถทำให้ผู้นั้นบรรลุธรรมขั้นสูงได้ หากผู้นั้นมิได้ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง อาจจะทำให้ผู้นั้นมีความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักธรรมในสาระสำคัญได้ เพราะความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการอ่านหรือการเรียนนั้น มิใช่ความรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง
2.จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมหันมาสนใจการปฏิบัติธรรม
แม้ว่าผมจะเป็นชาวพุทธโดยกำเนิด แต่ความสนใจในการปฏิบัติธรรมของผมเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2522 ในปีนั้นมีผู้ทำนายทายทักชะตาชีวิตของผมว่า จะเจริญก้าวหน้าในอาชีพการเงิน มีชื่อเสียงดี ผลปรกฎว่า คำทำนายนั้นถูกต้อง กล่าวคือในปีนั้นกรมการปกครองได้มีคำสั่งโยกย้ายผมจากตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโสห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ ในขณะที่ผมมีอายุได้เพียง 28 ปี และมีอายุราชการเพียง 5 ปี
ท่านอาจจะสงสัยว่า ตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัด คือ ตำแหน่งอะไร มีอำนาจหน้าที่อะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ผมขอเฉลยว่า ตำแหน่งผู้ตรวจส่วนท้องถิ่นจังหวัดในยุคนั้นเป็นตำแหน่งคู่กับจ่าจังหวัด ขึ้นตรงต่อปลัดจังหวัด แต่ปัจจุบันตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรียกชื่อตำแหน่งว่า ท้องถิ่นจังหวัด
ในยุคนั้น หากปลัดอำเภออาวุโสได้รับการคัดเลือกจากรมการปกครองให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดในขณะที่ยังมีอายุตัวและอายุราชการยังน้อย ถือว่ามีอนาคตสดใส และคาดหมายกันว่า ก้าวต่อไปคือการได้รับคัดเลือกให้เข้าโรงเรียนนายอำเภอในขณะที่วัยยังหนุ่มแน่น
สาเหตุที่ทำให้ผมได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิในขณะที่มีอายุราชการแค่ 5 ปี ก็เพราะผมสอบคัดเลือกเลื่อนระดับเป็นระดับ 5 รุ่นแรกของกรมการปกครองได้เมื่อปี พ.ศ.2520 ประกอบกับการมีคุณวุฒิจบปริญญาโทจากนิด้า ซึ่งในยุคนั้น คนที่เรียนจบปริญญาโทได้ยังมีน้อย กรมการปกครองจึงมีนโยบายแต่งตั้งผู้ที่จบปริญญาโทขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัด
เมื่อผมได้รับคำสั่งกรมการปกครองให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิ ผม พ่อแม่ และญาติพี่น้องของผมที่จังหวัดชัยภูมิ ต่างก็ดีใจในความเจริญก้าวหน้าของผม
แต่ความดีใจนั้นอยู่ได้ไม่นาน เพราะจังหวัดชัยภูมิได้ออกคำสั่งโยกย้ายและแต่งตั้งให้ผมไปดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอภูเขียว หลังจากผมได้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นจังหวัดชัยภูมิได้เพียงเดือนเดียว โดยให้เหตุผลว่า ผมยังมีประสบการณ์น้อย อยากให้ลงไปหาประสบการณ์ที่อำเภอก่อนแล้วค่อยขึ้นมาใหม่
ผมยอมรับว่า การที่จังหวัดชัยภูมิได้มีคำสั่งโยกย้ายให้ผมกลับไปเป็นปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว แม้จะเป็นอำเภอชั้นหนึ่งของจังหวัด แต่ก็ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังและเสียใจไม่น้อย เพราะคำสั่งดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกว่า ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการของผมที่ทำท่าจะรุ่งโรจน์กลับต้องสะดุดลงในชั่วเวลาแค่เดือนเดียวเท่านั้น
สิ่งนี้เองที่ได้ทำให้ผมเริ่มมองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต จึงอยากจะหันหน้าเข้าหาการปฏิบัติธรรมเพื่อคลายความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ
3.ทำไมจึงเรียกว่า การฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์
หลายคนที่ยังไม่ยอมให้ความสนใจที่จะฝึกปฏิบัติธรรมทั้ง ๆ ที่เป็นชาวพุทธโดยกำเนิด ก็น่าจะเกิดจากความคิดที่ว่า ตนยังไม่พร้อมที่จะพ้นทุกข์หรือไปสู่นิพพานนั่นเอง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่า นิพพานคืออะไร และทำอย่างไรจึงจะไปถึง ยากหรือง่ายเพียงใด

หลายคนอาจจะคิดว่า นิพพานคือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะต้องสละทุกอย่างที่ตนมี ตนชอบในโลกนี้ไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ซึ่งเป็นสมบัติที่มนุษยโลกนิยมกัน
อาจจะเป็นเหตุนี้กระมัง เวลาไปฟังธรรมตามวัดวาต่าง ๆ พระสงฆ์ในยุคสมัยนี้จึงไม่ค่อยแสดงธรรมเทศนาเรื่องการไปสู่นิพพานให้อุบสกอุบาสิกาฟัง เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ถูกกับจริตของญาติโยมในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุควัตถุนิยม
ถ้าเช่นนั้น ลองทบทวนดูหน่อยว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และสอนอะไร หากตอบสั้น ๆ ก็คือ ตรัสรู้อริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์-สมุทัย มรรค-นิโรธ
ทุกข์ คือผลที่เกิดจากสมุทัย สมุทัย คือสาเหตุแห่งทุกข์
มรรค คือหนทางไปสู่การดับทุกข์ นิโรธ คือ ผลที่เกิดจากมรรค นั่นคือ การดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงหรือนิพพานนั่นเอง ไม่ต้องตกอยู่ในวัฏสงสาร เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
การจะสามารถดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่ว่าแค่อยากจะดับ จะดับได้เลย เพราะมนุษย์เราตกอยู่ในวัฏสงสารหรือการเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นผลมาจากกรรมดีกรรมชั่วที่ได้สร้างกันมาในชาติภพต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านรู้สึกผ่อนคลายไม่เครียด ผมจึงขอเรียกว่า การฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ ซึ่งยังไม่ใช่การดับทุกข์ แต่เป็นเพียงหนทางเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านมีความรู้สึกว่า การฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์มีความเป็นไปได้ที่จะสัมผัสได้ในชาตินี้และเวลานี้ ไม่ต้องรอข้ามภพข้ามชาติยาวนานเหมือนการไปสู่นิพพาน
หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ เป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวจนสุดเอื้อม ทุกคนสามารถฝึกและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
ด้วยประสบการณ์ของการฝึกปฏิบัติธรรมมาเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 41 ปี ผมขอยืนยันว่า ทันทีที่ท่านได้เริ่มฝึกการปฏิบัติธรรมเพื่อคลายทุกข์ ท่านก็จะเริ่มรู้สึกว่า ความทุกข์ของท่านเริ่มจะลดน้อยลง ไม่ทุกข์มากเหมือนก่อนที่ท่านจะได้ฝึก และถ้าท่านฝึกต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของท่าน ท่านจะไม่รู้สึกทุกข์มากเหมือนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ฝึกการปฏิบัติธรรม
4.สรุป
การที่ผมได้ให้ความสนใจในการฝึกการปฏิบัติธรรมเมื่อปี พ.ศ.2522 ก็เพราะความรู้สึกผิดหวังในความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตราชการที่ทำท่าจะรุ่ง อยู่ดี ๆ กลับร่วงลงภายในเวลาแค่เดือนเดียวเท่านั้น ดังนั้น ผมจึงต้องการหันหน้าเข้าหาพระธรรมเพื่อคลายความทุกข์ที่มีอยู่ในใจ ส่วนการฝึกปฏิบัติผมได้เริ่มต้นอย่างไร และมีการต่อยอดหรือพัฒนาการอย่างไรบ้าง ผมจะขอเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในบทความต่อ ๆ ไป
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้ใน “คุยกับดร.ชา ” ท้ายบทความนี้
คุยกับ ดร.ชา
เมื่อครั้งที่ผมได้ไปสอนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี ช่วงปี พ.ศ.2552-2560 ผมได้มีโอกาสไปสอนทางเหนือด้วย ทำให้ผมมีโอกาสได้ลูกศิษย์คนหนึ่ง ชื่อคุณหมอ (ชื่อสมมุติ)
คุณหมอเป็นประธานรุ่น ที่มีความรับผิดชอบในการดูแลเพื่อน ๆ และต้อนรับขับสู้อาจารย์ ทำให้ผมรู้จักคุ้นเคยกับคุณหมอเป็นอย่างดี ผมเห็นว่า คุณหมอเป็นคนสุภาพเรียบร้อยและมีตำแหน่งหน้าที่การงานดี น่าจะสนใจในการปฏิบัติธรรมไม่น้อย จึงได้เชิญเข้ามาเป็นคู่สนทนาในครั้งนี้
“ ก่อนอื่น อาจารย์ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณหมอ ที่มีความเจริญก้าวหน้าได้เลื่อนระดับตำแหน่งสูงขึ้น ” ผมเปิดฉากด้วยการแสดงมุทิตาจิตด้วยความจริงใจ
“ ขอบคุณครับอาจารย์ หากมีโอกาสขอเชิญอาจารย์ไปเที่ยว ผมยินดีต้อนรับเต็มที่ ” คุณหมอแสดงน้ำใจต่อผมตอบ
“ วันนี้ เราจะมาคุยกันเรื่องการฝึกปฏิบัติธรรมกัน ผมคิดว่า คุณหมอคงได้ฝึกการปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้ว ” ผมชวนคุณหมอคุยแบบสบาย ๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
“ อ๋อ ผมก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ไม่น้อย อย่างการที่ผมได้เลื่อนระดับตำแหน่งคราวนี้ ก็น่าจะเกิดจากบุญกุศลต่าง ๆ ที่ผมและครอบครัวได้ทำมา รวมทั้งการปฏิบัติธรรมด้วย ” คุณหมอเปิดเผยความรู้สึกในใจออกมา
“ อาจารย์ขอถามคุณหมอหน่อยว่า คำว่า การปฏิบัติธรรม ที่พวกเราได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ในความเข้าใจของคุณหมอ คิดว่าน่าจะหมายถึงอะไร ” ผมเริ่มตีกรอบการสนทนา
“ ผมคิดว่า การปฏิบัติธรรมที่ชอบพูดถึงกันบ่อย ๆ น่าจะหมายถึงการไปฝึกสมาธิที่วัด หรือสำนักปฏิบัติธรรม อย่างที่เรียกคำเต็มว่า การฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐาน
หากฝึกแค่ให้จิตใจสงบ มีสมาธิแน่วแน่ เรียกว่า ฝึกสมถะ แต่ถ้าฝึกการใช้ปัญญาหาหนทางดับทุกข์ด้วย เรียกว่า วิปัสสนา แต่ส่วนมากมักจะเรียกรวมกันว่า การฝึกสมถวิปัสสนากรรมฐาน ” คุณหมอตอบแบบแสดงภูมิในทางพระพุทธศาสนา
“ดีมาก คุณหมอ แสดงว่าคุณหมอมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานของคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี อาจารย์ขอชมเชย” ผมชมคุณหมอด้วยใจจริง
“ ขอถามความเห็นคุณหมอสักนิดหนึ่งว่า ทำไมหลายคนหรืออาจจะเรียกว่าชาวพุทธส่วนมากจึงไม่ค่อยให้ความสนใจในการฝึกปฏิบัติธรรม ” ผมถามเข้าประเด็นเลย
“ ในความเห็นของผมนะอาจารย์ ผมคิดว่า คนที่ยังไม่ให้ความสนใจในการฝึกปฏิบัติธรรม น่าจะเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติธรรม หรืออาจจะเรียกว่า ยังมีความเข้าใจผิดก็ได้
เช่น เข้าใจว่า การฝึกปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของพระสงฆ์ ผู้ครองเรือนอย่างพวกเรานี้ น่าจะแค่ทำบุญทำทานก็น่าจะพอแล้ว หรืออาจจะเข้าใจว่า ตัวเขายังมีภาระทางครอบครัวอยู่ ยังไม่พร้อมที่จะสละเวลามาฝึกปฏิบัติธรรม หรือเข้าใจว่าการฝึกปฏิบัติธรรมต้องไปฝึกที่วัดเท่านั้น เป็นต้น ” คุณหมอแสดงความเห็นเหมือนจะมองจิตใจของคนที่ไม่อยากจะฝีกการปฏิบัติธรรมได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
“ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ดีแล้ว การที่อาจารย์ตัดสินใจเขียนบทความหมวดนี้ ก็เพราะต้องการทำความเข้าใจเบื้องต้นในการฝึกปฏิบัติธรรมให้แก่พวกเราทั้งหลายที่ยังอาจจะมีความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่า การฝึกปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของพระ หรือเป็นเรื่องยากจนเกินไปสำหรับคนธรรมดาหรือปุถุชน ” ผมได้จังหวะจึงรีบดึงวกเข้าหาจุดมุ่งหมาย
“ ในความเข้าใจของคุณหมอ คิดว่า การฝึกปฏิบัติธรรมจะช่วยในการคลายทุกข์ได้อย่างไร ” ผมคาดคั้นให้คุณหมอแสดงความเข้าใจที่แท้จริงออกมา
“ ในความเข้าใจของผมนะอาจารย์ การที่คนเรามีความทุกข์ ก็เพราะยังมีความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของกิเลสตัณหา หากเราหาวิธีการที่จะทำให้สามารถลดความโลภ ความโกรธ และความหลงได้ ความทุกข์ก็จะลดน้อยลง
ดังนั้น หากใครอยากจะคลายความทุกข์ ก็ต้องฝึกการปฏิบัติธรรม เพื่อทำจิตใจให้สงบ และเกิดปัญญาในการที่จะลดความโลภ ความโกรธ และความหลงได้สำเร็จ ” คุณหมอสรุปเข้าเป้าที่ผมต้องการ
“ดีมาก คุณหมอ อาจารย์ต้องขอขอบคุณ คุณหมอมากที่กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาร่วมสนทนากับอาจารย์ในวันนี้ ขอผลบุญได้เกื้อหนุนให้คุณหมอและครอบครัว ประสบแต่ความสุขและเจริญก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ” ผมกล่าวขอบคุณ คุณหมอพร้อมกับให้พรตามธรรมเนียม
“ หากเห็นว่า บทความเรื่องเล่านี้ถูกใจท่าน กรุณากดไลค์ กดแชร์ไปยังเพื่อน ๆ และบุคคลหรือกลุ่มในเครือข่ายของท่าน รวมทั้งกดคอมเมนต์ หรือกดติดตามด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง ”
ดร.ชา
3/08/20
การสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ หนูถือเป็นเรื่องหน้าเบื่อ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้
ปัจจุบันนี้ต้องขอบคุณ
เรื่องมีอยู่ว่า มีเพื่อนเรียนมัธยมปลายด้วยกัน หาสมาชิกเข้าชมรมปฏิบัติธรรม
ถ้าเข้าร่วมชมรมนี้แล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ เช่น สอบบรรจุเข้ารับราชการได้
พอเข้าร่วมแล้วมีแต่ค่าใช้จ่าย ในการทำบุญ เป็นจำนวนมาก ถ้าใครออกจากชมรมนี้ชีวิตตกต่ำ
มีการข่มขู่ หนูตัดสินใจลาออก มีแต่เรื่องแย่ไปเกิดขึ้น
มีผู้ปฏิบัติธรรม แต่ไม่เคร่ง แนะนำให้สวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ หนูทำทุกวันเป็นระยะเวลา6ปี จึงหายขาด
ขอบคุณที่ทีชีวิตรอด ใครชวนไปปฏิบัติธรรมที่ไหน หนูปฏิเสธ ทำที่บ้านอย่างเดียวค่ะ
ปัจจุบันนี้ชมรมรักษ์ดี ไม่แน่ใจปิดเฟสไปแล้ว หนูไม่ไปส่องดู เพราะไม่รู้จริง
ชีวิตก็เป็นเช่นนี้แหละ มีทุกขฺ์ มีสุข สลับกันไป ก่อนจะฉลาด ก็ต้องเคยโง่มาก่อน อาจจะเคยถูกเขาหลอกมาบ้าง แต่ก็เป็นประสบการณ์
ประสบการณ์ทำให้เราได้รับบทเรียนที่มีค่า
การปฏิบัติธรรม ทำให้เราละอายต่อบาป มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สังคมส่วนรวม เป็นพลเมืองดีของสังคมค่ะ
ก็เป็นเรื่องดีใช่ไหม
ดีเยี่ยมเลยค่ะอาจารย์ นั่งสมาธิทำให้ห่างทุกข์ได้จริง
การคลายทุกข์ คือ การลดทุกช์ การลดทุกข์ คือ การเพิ่มสุข หมายความว่า ให้เรานึกถึงการลดทุกข์เป็นหลัก แล้วจะได้การเ่พิ่มสุขเป็นผลที่ตามมาเองโดยอัตโนมัติ