บทความ แรงบันดาลใจในการเขียนบทความหมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญ อเมริกา นับเป็นบทความแรกของหมวดนี้ ประกอบด้วย ความนำ คำถาม 3 ข้อ คำตอบคือรัฐธรรมนูญอเมริกา สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ
ประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย กว่าจะมีวิวัฒนาการเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ ต้องใช้เวลาไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบการปกครองเดิมไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในขณะที่ประเทศของตนยังขาดความพร้อมในการไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ทำให้เกิดปัญหาเรื้องรังมาเป็นเวลายาวนานจนยากที่จะเยียวยาหรือแก้ไขได้
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองพร้อมทั้งปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ดังจะเห็นได้จากมีการปฏิวัติรัฐประหารหลายครั้ง และมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่หลายฉบับ หากนับจำนวนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบันนี้
อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะได้ใช้บังคับมาเพียงไม่กี่ปี แต่ขณะนี้ก็ได้มีการเรียกร้องให้ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ แทนที่จะเรียกร้องขอแก้เป็นรายมาตรา เฉพาะมาตราที่มีความจำเป็นจริง ๆ
2.คำถาม 3 ข้อ
ด้วยข้อเท็จจริงตามปรากฎการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น ทำให้ผมอยากตั้งคำถามท่านผู้อ่านสนุก ๆ สัก 3 ข้อ คือ
คำถามข้อแรก
รัฐไทยหรือประเทศไทย จะต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อีกกี่ฉบับ ประเทศไทยจึงจะสามารถข้ามพ้นกับดักการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปได้
คำถามข้อสอง
กลุ่มผู้เรียกร้องมีความต้องการแอบแฝงหรือไม่ ที่เรียกร้องให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แทนที่จะขอแก้ไขเป็นบางมาตราตามความจำเป็น เพราะการทีรัฐธรรมนูญจะมีข้อบกพร่องทั้งฉบับก็ไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลายกร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง คณะผู้ยกร่างก็ได้ศึกษาแนวคิดและตัวอย่างจากรัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่เห็นว่าเจริญก้าวหน้าแล้วมาเป็นแนวทางในการยกร่าง
คำถามข้อสุดท้าย
ประเทศที่เจริญแล้วและมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง เขาได้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรจึงไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีแต่การแก้ไขเพิ่มเติมเป็นบางมาตราตามสถานการณ์ของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น
3. รัฐธรรมนูญอเมริกาคือคำตอบคำถามข้อสุดท้าย
รัฐธรรมนูญอเมริกา ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกที่ยังใช้บังคับอยู่ โดยได้ประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1789 จนกระทั่งปัจจุบัน นับเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันถึง 231 ปี โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 27 ฉบับ ซึ่งฉบับแก้ไขฉบับล่าสุด ได้แก้ไขเมื่อปี ค.ศ.1992

(Wikipedia, List of states and territories of the United States, 26th September 2020)
ในฐานะผู้ได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรทางออนไลน์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในหัวข้อวิชา การปกครองอเมริกา (American Government) และมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในหัวข้อวิชา รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกา (America’s Written Constitution) และหัวข้อวิชา รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอเมริกา (America’s Unwritten Constitution ) ทำให้ผมมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นมา หลักการและเนื้อหาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญอเมริกาในเชิงลึกพอสมควร
กล่าวคือ ผมได้ศึกษา ประวัติความเป็นมาของกำเนิดประเทศอเมริกา กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีหลักการและเนื้อหาสาระตรงกับบริบทของประเทศ กระบวนการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งประเทศ การกำหนดกระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแต่ละฉบับ
ยิ่งกว่านั้น การกำหนดให้ศาลสูงทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เริ่มต้น ได้ทำให้รัฐธรรมนูญของอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ศักดิ์สิทธิ์มีอายุยืนยาวเป็นที่ยอมรับของมลรัฐต่าง ๆ และคนทั้งประเทศ นับตั้งแต่วันประกาศใช้บังคับมาตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะหากมีการโต้แย้งว่า มีกฎหมายหรือการกระทำใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ศาลสูงจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตัดสินข้อโต้แย้งนั้นให้เป็นข้อยุติและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า รัฐธรรมนูญอเมริกาจึงน่าจะเป็นคำตอบของการสร้างรัฐธรรมนูญให้มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีอายุยืนยาว ไม่ถูกฉีกทิ้งหรือยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ สมควรประเทศที่มีปัญหาขาดเสถียรภาพทางการเมือง จนทำให้ต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญยกร่างขึ้นใหม่อยู่เป็นระยะ ๆ น่าจะได้ศึกษาไว้เป็นแนวทางหรือเป็นข้อคิดไว้ นี่คือที่มาของแรงบันดาลใจในการเขียนบทความนี้ของผม
4.สรุป
แรงบันดาลใจในการเขียนเรืองเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา ของผม คือ การอยากให้ท่านผู้อ่านเกิดมุมมองในเชิงเปรียบเทียบว่า ทำไมรัฐธรรมนูญของอเมริกา จึงมีอายุยืนยาวโดยไม่เคยถูกฉีกทิ้งเลยนับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ.1789 คงมีแต่การแก้ไขเพิ่มเติมตามความจำเป็นเพียง 27 ฉบับ ในขณะรัฐธรรมนูญของประเทศไทย หลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 (ปี ค.ศ.1932) มีการถูกฉีกทิ้งและยกร่างใหม่ทั้งฉบับมาแล้วมีจำนวนมากถึง 20 ฉบับ แทนที่จะแก้ไขเป็นรายมาตราตามความจำเป็นเหมือนอย่างอารยประเทศ
แม้แต่เวลานี้ก็ยังมีการเรียกร้องให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ แทนที่จะขอแก้ไขเป็นรายมาตราตามความจำเป็น หรือกลุ่มผู้เรียกร้องมีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ อย่างไร เพราะหากไม่ยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ สิ่งที่แอบแฝงหรือซุกซ่อนไว้อยู่ จะไม่สามารถทำได้
สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติม ขอเชิญติดตามได้ใ นหัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาในบทความของหมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญ อเมริกา คือ ดร.กิ่งฉัตร (ชื่อสมมุติ)
ดร.กิ่งฉัตร เป็นคนมีเมตตาสูง ชอบช่วยเหลือคนอื่น แต่บ่อยครั้งมักจะมีความเห็นแย้ง หล่อนเป็นเพื่อนเรียนปริญญาเอกร่วมสถาบันเดียวกับผม มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี เพราะเรามักจะมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยราชมงคลแห่งหนึ่ง และกำลังอยู่ในขั้นตอนทำผลงานในการวิจัยเพื่อขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์
“ สวัสดีตรับ อาจารย์ดร.กิ่งฉัตร ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์มากที่กรุณาสละเวลามาเป็นคู่สนทนาในหมวด เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเพื่อให้ความรู้ท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการเมืองการปกครองอเมริกา โดยมองจากรัฐธรรมนูญเป็นหลัก อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจไหม” ผมทักทายดร.กิ่งฉัตรพร้อมกับบอกวัตถุประสงค์ในการสนทนา

“ สวัสดีค่ะ ดร.ชา ดิฉัน รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างมาก ที่ได้รับเชิญให้มาเป็นคู่สนทนาของดร.ชาในวันนี้ พอดีช่วงนื้ประเทศของเรากำลังมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเกี่ยวกับการขอแก้รัฐธรรมนูญอยู่พอดี จึงคิดว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะคะ ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตร ตอบให้ผมรู้สึกผ่อนคลาย
“ถ้าเช่นนั้น ผมขอถามความเห็นของอาจารย์ในประเด็นแรกเลยว่า เวลานี้หลายประเทศทั่วโลกมีมุมมองต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ไปในทางไม่สู้ดีนัก หรือแม้แต่ประเทศไทยของเรา อเมริกาก็ยังถูกมองว่าแทรกแซงกิจการภายในของเรา แล้วอเมริกาจะยังมีข้อดีอะไรให้เรามองหรือศึกษาอยู่เหรอ ” ผมถามอย่างตรงไปตรงมา
“ อ๋อ ในเรื่องนี้ ดิฉันคิดว่า แม้ในเวทีการเมืองการปกครองระหว่างประเทศหรือเวทีโลกในยุคปัจจุบันนี้ อเมริกาอาจถูกมองจากหลายประเทศว่า เป็นดาวร้าย เพราะในเวทีการเมืองโลก ปกติทุกประเทศย่อมมองผลประโยชน์ประเทศของตนมาเป็นอันดับแรก ไม่ว่าอเมริกา จีน รัสเซีย หรือสหภาพยุโรปเขาย่อมทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประเทศเขาเป็นที่ตั้ง ไม่มีประเทศใดตั้งใจทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศอื่นโดยตรงหรอก ยกเว้นเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกัน ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดนึกว่าเขาทำเพื่อเรา
แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นเรื่องของการเมืองภายในประเทศ ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับการเมืองนอกประเทศ ดังนั้น ดิฉันจึงเชื่อว่า เขาต้องมีอะไรดี ๆ ให้พวกเราศึกษาเป็นแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์ฉบับแรกของโลกที่ยังใช้บังคับอยู่ โดยเริ่มประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1789 นับจนทุกวันนี้ มีอายุยืนยาวถึง 231 ปี ทีเดียว และมีหลายประเทศเอาไปเป็นแม่แบบในการยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศของเขา ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรแสดงความเห็นค่อนข้างยืดยาวตามความรู้สึกที่แท้จริง
“ เยี่ยมเลยอาจารย์ ผมคิดว่า ความเห็นของอาจารย์น่าจะชัดเจน ถ้าเช่นนั้น ผมขอถามความเห็นในประเด็นที่สองเลยว่า ในความคิดของอาจารย์ คิดว่า เรื่องเล่า รัฐธรรมนูญอเมริกา น่าจะเอาประเด็นใดมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบบ้าง ” ผมถามเพื่อให้โฟกัสเรื่องเล่า
“ ดิฉันคิดว่า การที่รัฐธรรมนูญของอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก และเป็นรัฐธรรมนูญแม่แบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบบแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ หรืออย่างที่หลายท่าน ๆ นิยมเรียกว่า ระบบประธานาธิบดี
ดังนั้น หากเรามองประเทศสหรัฐอเมริกาในมุมบวก ย่อมต้องมีเรื่องราวให้ศึกษาหลายอย่าง นับตั้งแต่กำเนิดประเทศอเมริกา ความเป็นมาของการยกร่างรัฐธรรมนูญ แนวคิดและหลักการในการยกร่างรัฐธรรมนูญ การทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของรัฐหรือดินแดนอิสระที่จะเข้าร่วมสถาปนาประเทศอเมริกาขึ้นมาในโลก รวมทั้งประชาชน โครงสร้างและรูปแบบในการปกครองประเทศ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตร กล่าวระบุหัวข้อที่น่าสนใจออกมา
“ ดีครับ อาจารย์ หากมีหัวข้ออื่นใดที่อยู่นอกเหนือจากนี้ เราก็ค่อย ๆ ปรับใหม่ก็ได้ ดีไหม อาจารย์ ” ผมกล่าวสรุปรวบรัดให้กระชับ
“ ดีค่ะ ดร.ชา ดิฉันเห็นด้วย ” อาจารย์ดร.กิ่งฉัตรตอบรับความเห็นของผมโดยไม่โต้แย้ง
“ ถ้าเช่นนั้น การสนทนาของเราในวันนี้ คงยุติลงเท่านี้ คราวหน้าผมค่อยรบกวนอาจารย์ใหม่ ของคุณมากครับ ” ผมกล่าวขอบคุณพร้อมยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีค่ะ ดร.ชา ”
ดร.ชา
27/09/2020
คู่สนทนาของอาจารย์แต่ละคนไม่ธรรมดาจริงๆค่ะ
ขอบคุณ ทั้งอาจารย์และคู่สนทนา ที่สละเวลามาแบ่งปันความรู้ค่ะ
การคัดเลือกคู่สนทนาในแต่ละบทความ อาจารย์พยายามคัดเลือกบุคคลที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมที่สุด