รู้จัก พม่าหรือเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของไทย เป็นบทความ ลำดับที่ 1 ของหมวด 12 เรื่องเล่า ประเทศอาเซียน มีหัวข้อดังนี้ คือ ความนำ ตำแหน่งที่ตั้ง ข้อมูลเบื้องต้น ข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง เขตการปกครอง รัฐ เมียนมาร์ในสายตามหาอำนาจและอาเซียน สรุป และคุยกับดร.ชา
Table of Contents
1.ความนำ

ขณะนี้ ในบรรดาประเทศอาเซียน 10 ประเทศ คงไม่มีประเทศที่ได้รับความสนใจจากโลกมากเท่ากับประเทศพม่า เนื่องจากคณะทหารได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจากรัฐบาลที่มีนางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำ แต่การยึดอำนาจยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงด้วยดี เพราะมีประชาชนในเมืองใหญ่ ๆ ได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน ไม่ยอมรับอำนาจปกครองของทหาร
ดังนั้น ผมจึงคิดว่า เรื่องราวของประเทศพม่าหรือเมียนมาร์น่าสนใจ เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทยทางด้านทิศตะวันตก แม้มีประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างไทยกับเพม่ามาเป็นเวลายาวนาน แต่ปัจจุบันเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเป็นอย่างยิ่ง
ยิ่งกว่านั้น ในปัจจุบันมีแรงงานจากเมียนมาร์จำนวนมากได้เข้ามาประกอบอาชีพเป็นแรงงานในประเทศไทยจำนวนหลายล้านคน จนกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้โรควิด-19 ระบาดในไทยอีกครั้งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาคร
2.ตำแหน่งที่ตั้ง
ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศเมียนมาร์ ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จรดประเทศจีน
ทิศตะวันออก จรดประเทศไทย
ทิศใต้ จรดทะเลอันดามัน
ทิศตะวันตก จรดอินเดีย อ่าวเบงกอล และบังคลาเทศ
3.ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศพม่า
ประเทศพม่าหรือเมียนมาหรือเมียนมาร์ หรือสาธารณรัฐสหภาพพม่า มีข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
3.1 พื้นที่
ประเทศเมียนมาร์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 676,578 ตร.กม.นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นที่ 40 ของโลก และเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ 513,120 ตร.กม. (อันดับที่ 51 ของโลก)
3.2 จำนวนประชากร
ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เมียนมาร์มีประชากรเมื่อปี ค.ศ.2021 จำนวน 55,294,979 คน นับมากเป็นอันดับที่ 26 ของโลก น้อยกว่าประชากรของประเทศไทย ซึ่งมีจำนวน 66,796,807 คน นับมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก
3.3 ทรัพยากรธรรมชาติ
เมียนมาร์ เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ประเทศหนึ่ง
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไม้สัก ไม้ซุง หินปูน รวมทั้งมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิง และแห่งพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น แม้น้ำสาละวิน และแร่ธาตุต่าง ๆ
ผลผลิตการเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว เมล็ดพืช ถั่ว งา อ้อย ไม้เนื้อแข็ง ปลา และผลิตภัณฑ์จากปลา
ผลลิตทางอุตสาหกรรม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากไม้ แร่ต่าง ๆ เช่น ดีบุก ทองแดง เหล็ก ทังสเตน ซีเมนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง ปุ๋ย น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เสื้อผ้า อัญมณี และหยด
3.4 ขนาดจีดีพี
ตามข้อมูลของธนาคารโลก เมียมาร์มีขนาดจีดีพี (GDP by nominal) เมื่อปีค.ศ.2019 จำนวน 76,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับมากเป็นอันดับที่ 69 ของโลก และนับเป็นลำดับที่ 7 ของอาเซียน (เหนือกว่ากัมพูชา ลาว และบรูไน)
เมียมาร์มีขนาดจีดีพีเล็กกว่าไทยมาก เพราะไทยมขนาดจีดีพี จำนวน 543,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นอันดับสองของอาเซียน รองลงมาจากอินโดนีเซีย
(Wikipedia, List of Countries by GDP (nominal)
3.5 รายได้เฉลี่ยต่อหัว (per capita income)
ตามข้อมูลของธนาคารโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัว ของประเทศเมียนมาร์เมื่อปี 2019 อยู่ลำดับที่ 156 ของโลก และจัดเป็นลำดับสุดท้ายของประเทศอาเซียน กล่าวคือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศพม่า มีจำนวน 1,408 ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้
สิงคโปร์ 65,233 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 9 ของโลก )
บรูไน 31,087 ดอลลาร์สหรัฐ ( อันดับ 32 ของโลก)
มาเลเซีย 11,429 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 64 ของโลก )
ไทย 7,808 ดอลลาร์สหรัฐ ( อันดับ 82 ของโลก)
อินโดนีเซีย 4,136 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 116 ของโลก)
ฟิลิปปินส์ 3,485 ดอลลาร์สหรัฐ ( อันดับ 126 ของโลก )
เวียดนาม 2,715 ดอลลาร์สหรัฐ ( อันดับ 135 ของโลก)
ลาว 2,535 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 137 ของโลก )
กัมพูชา 1,643 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 152 ของโลก )
พม่า 1,408 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 156 ของโลก )
4.ข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง
4.1 การปกครองในระดับชาติ

(วิกิพีเดีย,เนปยีดอ, 16 กุมภาพันธ์ 2564)
อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ปีพ.ศ.2551 (Constitution of the Republic of the Union of Myanmar 2008) ได้ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงและสถานะทางอำนาจของผู้นำทางทหาร แต่ได้ผ่อนคลายอำนาจทางการเมืองให้ประชาชนโดยการเลือกตั้ง
ตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมียนมาร์มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร
สำหรับรัฐสภามีอยู่ 2 สภา คือ ( นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2554)
สภาสูง (Upper House) ซึ่งเป็นสภาผู้แทนจากชาติพันธุ์
สภาประชาชน (Lower House)
4.2 เขตการปกครองและรัฐ
เมียนมาร์แบ่งการปกครองออกเป็น 7 เขต และ 7 รัฐ ภายใต้เขตการปกครองและรัฐ ได้แบ่งการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
4.3 เมืองสำคัญ
เมืองสำคัญของเมียนมาร์ ได้แก่
นครเนปิดอร์-เป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522

กรุงย่างกุ้ง-เป็นเมืองหลวงเก่าของ เมียนมาร์ที่อังกฤษเป็นผู้สถาปนาขึ้น เป็นศูนย์กลางในการค้าและการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
เมืองพุกาม-แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โบราณ “ดินแดนแห่งเจดีย์หมื่นองค์”
เมืองหงสาวดี-เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์
เมืองมัณฑะเลย์-เป็นเมืองใหญ่อันดับสอง รองลงมาจากกรุงย่างกุ้ง เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเมียนมาร์ตอนบน
เมืองเมาะละแหม่ง-เป็นเมืองตากอากาศชายทะเล
เมืองเมียวดี-เป็นเมืองการค้าชายแดน อยู่ติดอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
5.เขตการปกครอง
พื้นที่ส่วนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมาร์ ได้จัดรูปแบบการปกครองเป็นเขต มีจำนวน 7 เขต คือ
5.1 เขตอิระวดี(Ayeyarewady) มีพะสิม เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของที่ราบภาคกลาง มีประชากรราว 6.5 ล้านคน
5.2 เขตพะโค (Bago) มีหงสาวดี เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ใกล้เมืองเมาะตะมะทางตอนใต้ของประเทศเมียนมาร์ มีประชากรราว 5 ล้านคน
5.3 เขตมาเกว (Magway) มีมาเกว เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ มีประชากรราว 4 ล้านคน
5.4 เขตมัณฑะเลย์ (Mandalay) มีเมืองมัณฑะเลย์ เป็นเมืองเอก มีประชากรราว 6 ล้านคน
5.5 เขตสะกาย (Sagaing) มีสะกาย เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีประชากรราว 1 ล้านคน
5.6 เขตตะนาวศรี (Tanintharyi) มีทวายเป็นเมืองเอก มีประชากรราว 1.2 ล้านคน
5.7 เขตย่างกุ้ง (Yangon) มีย่างกุ้ง เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่บริเวณที่ราบภาคกลางค่อนไปทางใต้ มีประชากรราว 5 ล้านคน
6.รัฐ
พื้นที่ส่วนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย มีรูปแบบการปกครองเป็นรัฐ แต่ยังไม่ได้เป็นรัฐที่มีอิสระเหมือนมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศรัฐรวม
รัฐในเมียนมาร์มีจำนวน 7 รัฐ คือ
6.1 รัฐชิน (Chin) มีฮะคา เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า มีพรมแดนติดกับอินเดีย มีพื้นที่ 36,019 ตร.กม.และมีประชากรราว 478,801 คน (ปี พ.ศ. 2557)
6.2 รัฐคะฉิ่น (Kachin) มีมิตจีนา เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ มีพรมแดนติดต่อกับจีน มีพื้นที่ 89,081 ตร.กม. และมีประชากรราว 1,689,331 (ปีพ.ศ. 2557)
6.3 รัฐกะเหรี่ยง (Kayin) มีปะอาน เป็นเมืองเอก มีพื้นที่ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีพื้นที่ 30,383 ตร.กม. และมีประชากรราว 1.5 ล้านคน(ปีพ.ศ.2557)
6.4 รัฐคะยา (Kayah) หรือกะเหรี่ยงแดง มีหลอยก่อ เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีพรมแดนติดต่อกับไทย มีพื้นที่ 11,731 ตร.กม. และมีประชากรราว 286,627 คน(ปี พ.ศ.2557)
6.5 รัฐมอญ (Mon) มีมะละแหม่ง เป็นเมืองเอก มีพรมแดนติดต่อกับไทย มีพื้นที่ 12,297 ตร.กม. และมีประชากรราว 2.054 ล้านคน (ปีพ.ศ.2557)
6.6 รัฐยะไข่ (Rakhine) มีชิตตะเว เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ มีพรมแดนติดต่อกับบังคลาเทศ มีพื้นที่ 36,778 ตร.กม.และมีประชากรราว 3,188,807คน (ปีพ.ศ.2557)
6.7 รัฐฉาน หรือไทยใหญ่ (Shan) มีตองยี เป็นเมืองเอก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศ มีพรมแดนติดต่อกับจีน ลาว และไทย มีพื้นที่ 155,801 ตร.กม. และมีประชากรราว 5.824 ล้านคน (ปีพ.ศ. 2557)
จะเห็นได้ว่า ในบรรดาจำนวน 7 รัฐดังกล่าว รัฐฉาน มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมากที่สุด
7. พม่าในสายตาชาติมหาอำนาจและอาเซียน
ทุกชาติเห็นว่า เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีแรงงานมาก เหมาะที่จะไปลงทุน แต่หากมองในด้านภูมิรัฐศาสตร์ชาติมหาอำนาจ อาจมีมุมมองที่แตกต่างกันไป
7.1 ในสายตาจีน
จีนต้องการใช้เมียนมาร์เป็นทางออกทะเลทางด้านมหาสมุทรอินเดีย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางผ่านทางมหาสมุทรแปซิฟิกอ้อมช่องแคบมะละกา เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางไปยังยุโรปและอาฟริกา
7.2 ในสายตาสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา ไม่ต้องการให้จีนได้ประโยชน์จากการใช้เมียนมาร์เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย และต้องการใช้เมียนมาร์ในการปิดล้อมจีนด้านมหาสมุทรอินเดีย
7.3 ในสายตาญี่ปุ่น
เมียนมาร์ เป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจในการเข้าไปลงทุนในด้านต่าง ๆ
7.4 ในสายตาอินเดีย
อินเดียไม่ต้องการไห้จีนใช้เมียนมาร์เป็นทางออกทะเลสู่มหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอินเดีย
7.5 ในสายตาอาเซียน
ไทย ต้องการใช้พม่าเป็นทางเชื่อมต่อจากโครงการอีสเตอร์นซีบอร์ด (อีอีซี) ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนี้ อาเซียนยังต้องการใช้เมียนมาร์เป็นเส้นทางเชื่อมจากอาเซียนไปยังอินเดียตามโครงการอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ (East-West Economic Corridor)
สำหรับไทย เมียนมาร์เป็นประเทศหลักที่ส่งแรงงานเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ตลอดจนภาคบริการ ในประเทศไทยยุคปัจจุบัน
8.สรุป
บทความนี้ ต้องการนำเสนอให้ทราบข้อมูลและมุมมองในบางด้านต่อเมียนมาร์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ไทยและเมียนมาร์มีพรมแดนติดต่อกันทั้งทางบกและทางทะเลเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร
แม้ในอดีตยุคกรุงศรีอยุธยา ยุคกรุงธนบุรี และยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยและพม่าได้ทำสงครามสู้รบกันหลายครั้งหลายหน จนกระทั่งเมียนมาร์ได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สงครามระหว่างไทยและพม่าจึงได้หมดไป
ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาร์ ต่างเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาร์เป็นแหล่งหลักในการส่งออกแรงงานเข้าสู่ประเทศไทย
สำหรับความคิดเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ใน คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้
คุยกับดร.ชา
คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณภัทรนันท์ ผู้เขียนบทความ จาก การศึกษา นอกโรงเรียน สู่ตำแหน่งในฝัน นายอำเภอ


“สวัสดี คุณภัทรนันท์ บทความ จาก การศึกษา นอกโรงเรียน สู่ตำแหน่งนายอำเภอ ในฝัน เป็นบทความที่ท่านผู้อ่านให้ความสนใจมากเลยนะ เรียกว่า มากอย่างที่อาจารย์คาดไม่ถึงเลยทีเดียว อาจารย์ต้องขอขอบคุณ คุณภัทรนันท์ เป็นอย่างมากที่ทำให้เว็บไซต์ของเรามีบทความดี ๆ มาลงให้คนได้อ่านกัน” ผมทักทายด้วยเรื่องดี ๆ ก่อน
“สวัสดีครับอาจารย์ ผมเองก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์มากที่กรุณาให้โอกาสผม ผมก็ได้เขียนตามแนวทางที่อาจารย์ได้ชี้แนะผมนั่นแหละ” คุณภัทรนันท์ตอบขอบคุณผม
“ วันนี้อาจารย์อยากจะชวนคุยเรื่องของเมียนมาร์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของเราหน่อย ดีไหม” ผมเกริ่นนำ
“ดีครับอาจารย์ ผมเองก็สนใจอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงนี้ คณะนายทหารเมียนมาร์เพิ่งทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ก็ยิ่งทำให้คนทั้งโลกสนใจเรื่องราวของประเทศเมียนมาร์มากยิ่งขึ้น
ในความเห็นของผม เมียนมาร์และไทยมีพรมแดนติดต่อกันหลายร้อยกิโลเมตร สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาร์ย่อมส่งผลกระทบประเทศไทย ดังนั้น การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเมียนมาร์จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นประโยชน์ในการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาที่จะเกิดขึ้น ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นที่มีต่อประเทศเมียนมาร์
“อาจารย์เห็นด้วยกับคุณภัทรนันท์นะ การเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน หากประเทศหนึ่งมีปัญหา ก็ย่อมจะส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้านบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งอาจจะเป็นผลในทางลบหรือทางบวกก็ได้” ผมแสดงความเห็นสนับสนุนความคิดของคุณภัทรนันท์
“ ผมขออนุญาตเสริมความเห็นของอาจารย์นิดหนึ่ง อย่างเมียนมาร์ ตอนที่นางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งคราวก่อน และได้จัดตั้งรัฐบาล แรงงานเมียนมาร์ในไทย ต่างดีอกดีใจเตรียมตัวจะเดินทางกลับไปเมียนมาร์ เพราะมองเห็นโอกาสที่เมียนมาร์จะเจริญรุ่งเรือง
เรื่องนี้ก็เล่นเอา ประเทศไทยปั่นป่วนอยู่สักระยะหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าประเทศไทยไม่มีแรงงานเมียนมาร์อยู่ น่ากลัวจะแย่แน่ ประเทศไทยเรามีแต่คนสูงอายุ คนในวัยทำงานมีน้อยลงเรื่อย ๆ
แต่ในที่สุดเรื่องนี้ ก็ค่อย ๆ คลี่คลายไป เพราะการลงทุนสร้างงานในเมียนมาร์ก็ต้องอาศัยนักลงทุนจากต่างชาติ มิใช่ว่า พอนางอองซาน ซูจี ตั้งรัฐบาลได้ การลงทุนจากต่างชาติจะทำได้ทันที ต้องใช้เวลา ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นแบบคนติดตามข่าวคราวอยู่เสมอ
“ อย่างการที่คณะนายทหารเมียนมาร์ทำการรัฐประหาร รัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี คราวนี้ คุณภัทรนันท์ มองดูสถานการณ์แล้วคิดอย่างไร ” ผมเปลี่ยนประเด็นคุยในสถานการณ์ปัจจุบันบ้าง
“ ผมคิดอย่างนี้ครับอาจารย์ การรัฐประหารโดยทหาร ฝ่ายโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา ก็คงต้องหาเรื่องบีบคณะรัฐประหารเมียนมาร์ด้วยมาตรการต่าง ๆ ให้รีบคืนอำนาจสู่พลเรือน โดยอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนบ้าง เรื่องการปกครองประชาธิปไตยบ้าง
เพราะแท้ที่จริง รัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจซีกโลกตะวันตกมาโดยตลอด ส่วนรัฐบาลทหารเมียนมาร์ก็ได้รับการสนับสนุนจากจีนมาโยตลอดเช่นกัน
ดังนั้น ผมจึงคิดว่า คงต้องรอดูสถานการณ์ว่า คณะรัฐประหารเมียนมาร์จะสามารถทนแรงบีบคั้นจากชาติมหาอำนาจตะวันตกได้แค่ไหน ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นในมุมลึก
“ในส่วนที่เกี่ยวกับจีน คุณภัทรนันท์คิดว่า จะสามารถเป็นที่พึ่งของเมียนมาร์ในสถานการณ์ปัจจุบันได้มากน้อยเพียงใด” ผมชวนให้คุยถึงจีนบ้าง
“ ผมคิดว่า จีนกับพม่าเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน มีพรมแดนติดกัน ในยุคที่เมียนมาร์ปกครองด้วยระบบเผด็จสังคมนิยมทหารยุคนายพลเอกเนวิน เป็นเวลายาวนาน เมียนมาร์ถูกคว่ำบาตรจากมหาอำนาจตะวันตก เมียนมาร์ก็ได้จีนและอดีตสหภาพโซเวียตเป็นที่พึ่งมาโดยตลอด
คราวนี้ก็เช่นกัน จีนย่อมเป็นที่พึ่งของเมียนมาร์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะจีนถือว่า รูปแบบการปกครองเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ จะปกครองรูปแบบใด ไม่มีปัญหาสำหรับจีน ขอให้สามารถทำมาค้าขายกันได้
แต่ถ้าคิดอีกที จีนในยามนี้ไม่ใช่จีนในยุค 40-50 ปีที่ผ่านมาแล้ว จีนในยามนี้ คือ ชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา การที่ชาติมหาอำนาจตะวันตก คิดจะบีบบังคับเมียนมาร์อย่างสมัยก่อน ก็คงจะไม่ง่ายนัก เพราะจีนน่าจะพยายามหาทางขัดขวาง เพื่อผลประโยชน์ของจีนเอง ” คุณภัทรนันท์แสดงความเห็นในมุมมองของตน
“นั่นสินะ ถ้าจีนเอาแบบมหาอำนาจตะวันตกบ้างว่า ประเทศที่จะเป็นมิตรกับจีนได้ ต้องปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เหมือนจีนเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น คงยุ่งน่าดู หรือคุณภัทรนันท์คิดว่าอย่างไร” ผมลองถามแบบเจาะลึกลงไปอีก
“ถ้าเป็นยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นยุคของการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายโลกเสรี กับฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ ปัญหาที่อาจารย์ว่ามา ก็คงจะยังมีอยู่
แต่พอสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ 20 สงครามเย็นก็ได้สิ้นสุดลง และทิศทางในการปกครองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก็ได้หันมาในแนวทางประชาธิปไตย
ดังนั้น กระแสนิยมในรูปแบบการปกครองระบอบเผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จึงได้หมดไป” คุณภัทรนันท์ย้อนประวัติศาสตร์ยุคก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 เล็กน้อย
“แล้วทำไมมหาอำนาจตะวันตก ต้องบีบบังคับให้ประเทศอื่นต้องเป็นประชาธิปไตยเหมือนประเทศของตน ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละประเทศที่จะเลือกรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนเอง ” ผมลองตั้งคำถามที่คิดว่า น่าจะเป็นคำถามที่ตรงประเด็น
“นั่นสิครับ อาจารย์ ผมก็อดคิดไมได้ว่า ในเมื่อคนแต่ละคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพตราบเท่าไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น แล้วทำไมประเทศแต่ละประเทศจะไม่มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกรูปแบบการปกครองของตนเองได้ ทำไมจะต้องให้ประเทศมหาอำนาจเป็นผู้เลือกให้ด้วย ประเทศมหาอำนาจมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงอยู่ไหม
หรือว่า เป็นความหวังดีแต่ประสงค์ร้ายเพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเองหรือเปล่า ”คุณภัทรนันท์ตั้งคำถามไว้อย่างน่าคิด
“ เอานะ วันนี้เราคุยกันแบบสบาย ๆ ไม่มีประเด็นอะไรโดยตรง วันนี้คงรบกวนเวลาคุณภัทรนันท์เท่านี้ ต้องขอขอบคุณที่สละเวลามาพูดคุยกับอาจารย์ โอกาสหน้าค่อยคุยกันใหม่นะ โชคดี เจริญก้าวหน้า” ผมกล่าวยุติการสนทนา
“ ด้วยความยินดีครับอาจารย์ ”
ดร.ชา
15/02/21
เจดียชเวลากองและหมอดู อี ที เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ทำให้คนไทยรู้จักพม่ามากขึ้น
เทพทันใจ เป็นอีกหนึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หนูอยากไปไหว้สักครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ
ถัายังไม่เคยไป ก็ควรหาโอกาสสักครั้ง อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้เอง
หนูเคยดูบทสัมภาษณ์ของชาวพม่าที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทย ทำงานได้2ปี ตั้งตัวได้
แนวคิด คือ ให้ ออมเงินไว้เยอะๆ เช่าห้องอยู่ด้วยกันเป็นจำนวน7คน ต่อ 1 ห้อง
ซื้ออาหารมาทำกินเอง อยู่พม่าไม่มีรายได้ ใครมีเงินไปลงทุนในพม่าก่อน สร้างตัวได้ก่อน
บางคนหาเงินส่งลูกเรียนเภสัช เมื่อลูกเรียนจบแล้ว ขอเลิกทำงานจะกลับไปอยู่บ้าน
คนพม่า ที่เข้ามาขายแรงงานในไทย แสดงว่า เขามีความุ่งมั่นที่จะสร้างฐานะให้มั่นคง เหมือนยุคหนึ่งที่คนไทยไปขายแรงงานที่ซาอุดิอาระเบีย
ใช่อย่างท่าน นอ.ภัทรนันท์ว่าค่ะ ถ้าจีนบอกว่าใครจะคบกับจีนต้องเป็นคอมมิวนิสต์เท่านนั้นหละ โลกคงวุ่นวายน่าดูเลยค่ะ
นั่นสินะ
อาจารย์คะ แรงงานพม่าเริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่คะ แล้วแรงงานเขมร ลาว เวียดนาม ไปทำงานที่ไหนคะไม่ค่อยมีเยอะเหมือนแรงงานพม่า ขอบคุณค่ะ
ก็คงเข้ามาในช่วงที่ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมากราวเมื่อ 10 ปีที่่ผ่านมา ไทยเราขาดแรงงานจึงต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เขมรมีคนน้อย ส่วนเวียดนามทุกวันนี้มีต่างชาติเข้าไปลงทุนที่บ้านเขามาก เขาจึงเลือกทำงานที่บ้านเขามากกว่า ส่วนพม่า การลงทุนจากต่างชาติยังมีน้อย เพราะถุูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรในช่วงเวลาก่อนปี 2554 ประชาชนยากจน จึงจำเป็นต้องมาหางานทำในไทย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังขยายตัว มีการลงทุนนจากต่างประเทศมาก
ทรัพยากรในประเทศพม่ามีความอุดมสมบูรณ์ ทำไมไม่นำออกมาใช้ หรือมีการรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ในมุมมองของอาจารย์ เป็นอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
ช่วงรัฐบาลทหาร พลเอก เนวิน ปกครองประเทศพม่าร่วม 26 ปี 2505-2531 แต่รัฐบาลต่อมาก็ยังเป็นรัฐบาลทหาร ใช้นโยบายปิดประเทศ ไม่คบกับชาตินายทุนตะวันตก และชาติตะวันตกก็คว่ำบาตรพม่าด้วย ทำให้ทรัพยากรไม่ได้ใช้ จึงเหลือทรัพยากรมาก จนกระทั่งถึงยุคที่นางอองซาน ซูจี ได้จัดตั้งรัฐบาลราวปี 2554 รวมระยะเวลาปิดประเทศราว 50 ปี ชาติตะวันตกจึงได้เลิกคว่ำบาตร ทำให้ชาติตะวันตก ได้เข้าไปลงทุนในพม่า
ขอบคุณครับพี่บุญญสรณ์ ผมทราบว่าพม่ามีรัฐชนเผ่าถึง 7 รัฐ หลังจากอ่านบทความของอาจารย์ แสดงว่ามีหลายแง่มุมของประเทศเพื่อนบ้านที่เรายังไม่รู้จัก รวมถึงมาเลเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา ซึ่งมีพรมแดนคิดกับประเทศเรา
นางอองซาน ซูจี ได้เข้ามามีบทบาทในพม่าอย่างไรคะ ขอบคุณค่ะ
นางอองซาน ซูจี เข้ามาบบาทในหัวหน้าพรรคการเมือง ผลการเลือกตั้งครั้งก่อน พรรคของนางได้เสียงข้างมาก ชนะพรรคของทหาร จึงได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ตัวนางมีสามีเป็นชาวอังกฤษ จึงต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ และได้เลี่ยงมาเป็นการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ
ขอบพระคุณบทความดีๆ จากท่านอาจารครับ บทความ “รู้จัก พม่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของไทย” ทำให้เราสามารถที่จะเหลียวหลังแลโลก และเห็นว่าภายใต้ความเป็นประเทศพม่ากลับมีชนเผ่าชาติพันธ์ต่างๆอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นรัฐต่างๆอยู่ในตัว ซึ่งทำให้เห็นการบริหารประเทศที่ทีความท้าทายในด้านนี้ อย่างชัดเจนขึ้นเลื่อยๆครับ
นี่คงเป็นครั้งแรกที่คุณประดิษฐ์เข้ามามีส่วนร่วม อาจารย์ขอขอบคุณที่สละเวลาเข้ามาแสดงความเห็นสร้างสีสันให้แก่บทความ
อาจารย์ขอเชิญเข้ามามีส่วนร่วมบ่อย ๆ นะ