มีคำพังเพยไทยอยู่คำหนึ่ง ซึ่งผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินได้ฟัง คือ คำว่า “พวกนอกคอก” เวลามีใครทำอะไรแผลง ๆ ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือระเบียบ ของบ้านเมือง หรือของสังคม พวกเรามักจะเรียกพวกนี้ว่า พวกนอกคอก
Table of Contents
การคิดนอกคอก(Negative thinking outside the box) มีพื้นฐานมาจากการคิดลบ

ความจริง การคิดนอกคอก ก็เป็นการคิดนอกกรอบอย่างหนึ่ง แต่เป็นการคิดที่มีพื้นฐานมาจากการคิดลบ
การคิดลบ เป็นการมองโลกในแง่ไม่ดี หรือเลวร้าย
คนที่คิดลบ มักจะคิดด้วยจิตใจที่มีอคติ ไม่คิดจะแสวงหาข้อมูลที่แท้จริงให้รอบด้านหรือครบถ้วน มองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยทัศนวิสัยที่คับแคบ ได้ยิน ได้ฟังหรือได้เห็นอะไร มักจะสรุปตามความคิดหรือความเข้าใจของตนเองอย่างง่าย ๆ
ยิ่งกว่านั้น คนที่ชอบคิดนอกคอก มักจะมีนิสัยเอารัดเอาเปรียบคนอื่น คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของส่วนตนหรือพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องหรือชอบธรรม เช่น บางคนเผาป่า เพื่อหาของป่าไปขาย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมหรือประเทศชาติที่จะตามมา
ไฟไหม้ป่า เกิดจากการคิดลบ
การเกิดไฟไหม้ป่าในช่วงฤดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ที่ต้องการเผาป่าเพื้อหาของป่าบ้าง หรือเพื่อบุกรุกป่าไว้เป็นที่ทำกิน ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวมหรือประเทศชาติเป็นอย่างมาก

สื่อออนไลน์ ทำให้คนเกิดความคิดลบและคิดนอกคอกได้ง่าย
ปัจจุบันนี้ เป็นยุคสื่อทางออนไลน์ ที่ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ใครอยากจะแสดงความรู้สึก หรือความคิดเห็นอะไร สามารถทำได้ค่อนข้างจะอิสระเสรี
หากใครชอบเสพสื่อทางลบ ก็จะทำให้เกิดการสะสมความคิดในทางลบ และอาจนำความคิดในทางลบไปกระทำการอันผิดกฎหมายหรือวัฒนธรรมปรปะเพณีอันดีงามของประเทศชาติ
การคิดลบอาจทำให้คนเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย
เหตุเกิดที่ลพบุรี ตามติดด้วยโคราช
เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้อำนวยการโรงเรียนคนหนึ่งได้จี้ปล้นร้านทองในห้างดังจังหวัดลพบุรี รวมทั้งได้ยิงปืนฆ่าคนตาย
หลังจากนั้นไม่นาน ได้มีทหารคหนึ่งได้ใช้ปืนอาวุธสงครามฆ่า ผู้บังคับบัญชา และผู้บริสุทธิ์ในห้างดังในจังหวัดนครราชสีมาอย่างบ้าคลั่ง ทำให้มีผู้ล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
นี่แหละคืออิทธิผลของสื่อ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความคิดในเชิงลบได้อย่างรุนแรง
นิทานพื้นบ้านศรีธนญชัย กับ การสร้างความคิดแบบใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย
เมื่อสมัยยังเป็นเด็ก ผมเชื่อว่า พวกเราส่วนใหญ่ น่าจะเคยได้ฟังนิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องศรีธนญชัย
ตามนิทานดังกล่าว ศรีธนญชัย เป็นคนฉลาดแกมโกง สามารถตอบปัญหาเอาชนะคู่แข่งได้เสมอ แต่เป็นการเอาชนะแบบไม่สร้างสรรค์ เป็นการเอาชนะแบบไม่มีเหตุผลเท่าใดนัก
การที่เด็กไทยในยุคสมัยหนึ่ง ได้ฟังนิทานพื้นบ้านอย่างเรื่องศรีธนญชัย ทำให้เด็กไทยชื่นชมคนเก่งที่ฉลาดแกมโกงหรือกะล่อนอย่างศรีธนญชัย เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จึงทำให้ติดนิสัยไม่ดีดังกล่าวไปด้วย
ผลของความคิดแบบนอกคอกและการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบาย
การคิดออกนอกคอกโดยมีความคิดเชิงลบเป็นพื้นฐาน ประกอบกับความเชื่อในเรื่องของการเป็นคนฉลาดแกมโกงอย่างศรีธนญชัย ได้ส่งผลต่อคุณภาพของคนไทยอยู่ไม่น้อยเลย เช่น สังคมไทยยกคนเก่งหรือคนรวย แม้จะได้มาเพราะเป็นคนทุจริตคดโกง
ผู้นำในสังคมไทยเป็นจำนวนไม่น้อยที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริต แต่สังคมไทยก็ยังยกย่องอยู่ เพราะเห็นว่า เป็นคนฉลาดหรือเป็นคนเก่ง แม้จะเป็นคนฉลาดแกมโกงก็ตาม
สรุป
การคิดออกนอกกรอบ ต้องมีพื้นฐานมาจากการ คิดบวก มิใช่ความคิดด้านลบ เพราะถ้าเป็นความคิดด้านลบ จะเป็นความไปในทางที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น อย่างที่เรียกว่า ความคิดนอกคอกนั่นเอง
ท่านผู้อ่านคิดว่า การที่สังคมไทยยกย่องคนเก่ง ที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ให้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง น่าจะหมดยุคหรือยัง
ดร.ชา
3 มีนาคม 2563
ชอบตอนคิดนอกกรอบคะ ดร. กิ่ง
ขอบคุณมากครับ ท่านผศ.ดร.กาญจนา ที่กรุณาให้กำลังใจ
ขอบคุณมาก ดร.กิ่ง ที่กรุณาให้กำลังใจ