92 / 100

Table of Contents

1.ความนำ

อานาปานสติ สัมมาสมาธิ 16 ขั้นตอน เพื่อคลายทุกข์ เป็นบทความลำดับที่ 14 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ โดยจะกล่าวถึง การทบทวนความรู้พื้นฐาน การฝึกอานาปานสติ ตามแนวคำสอนของพุทธทาสภิกขุ 16 ขั้น และเคล็ดลับในการกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก

          ก่อนหน้านี้ ผมได้เล่าให้ท่านทราบแล้วในบทความ (3) ว่า การฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม ผมได้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นครู แต่มิได้หมายความว่า ผมได้ไปบวชเรียนกับท่านโดยตรง แต่ผมได้อาศัยการศึกษาหนังสือเล่มหนึ่งที่ท่านพุทธทาสเป็นผู้เขียน หนังสือเล่มนั้นคือ อานาปานสติ เป็นคู่มือ

          หากจะถามว่า ทำไมจึงต้องมีครูสอนการเจริญสมาธิ

           คำตอบคือ สิ่งที่เราต้องการคือสัมมาสมาธิ(สมาธิชอบหรือถูกต้อง) อันเป็นส่วนหนึ่งของมรรคแปด เพราะถ้าไม่มีครูสอน เราอาจจะหลงทาง แทนที่จะได้พบความสว่าง อาจจะได้พบความมืดมน แต่ครูที่สอนเราก็ต้องเป็นครูที่รู้จริงด้วย

          สำหรับบทความนี้ ผมต้องการจะนำเรื่องการฝึกอานา ฯ ซึ่งเป็นทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธิ มาเล่าในรายละเอียดให้ท่านทราบ โดยยึดถือตามแนวคำอธิบายของท่านพุทธทาสภิกขุ ในหนังสือ อานาปานสติ (พุทธทาสภิกขุ, อานาปานสติ สมบูรณ์แบบ,พิมพ์ครั้งที่ 7,ธรรมสภา,กรุงเทพมหานคร, 2535)

พุทธทาสภิกขุ ผู้เขียนหนังสือ อานาปานสติ สมบูรณ์แบบ
พุทธทาสภิกขุ ผู้เขียนหนังสือ อานาปานสติ สมบูรณ์แบบ

อนึ่ง ท่านอาจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องอานา ฯ ในเว็บไซต์นี้ก็ได้ (วิกิพีเดีย, อานาปานสติ, 21 ธํนวาคม 2563 ) หรือเว็บไซต์ อานาปาสติฉบับสมบูรณ์ โดยพุทธทาสภิกขุ

2.อานาปานสติ คืออะไร

          อานาปานสติ เป็นวิธีการในการเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานอย่างหนึ่ง โดยการกำหนดเอาลมหายใจเข้า-ออก เป็นอารมณ์  

อานาปานสติ คือ การนั่งสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ไปเรื่อย ๆ จนจิตสงบเป็นสมาธิ
อานา ฯ คือ การนั่งสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ไปเรื่อย ๆ จนจิตสงบเป็นสมาธิ

          อานาปา ฯ เป็นทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน  กล่าวคือ การเจริญอานาปานสติ สามารถทำให้จิตใจสงบเกิดสมาธิจนได้ระดับฌาน ตั้งแต่รูปฌาน(ฌาน 1-4) ตลอดจนอรูปฌาน ในขณะเดียวกัน ต้องใช้สติและปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปล่อยวาง คลายทุกข์ และหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ในที่สุด

            อานา ฯ จัดเป็นอนุสติ 10 กล่าวคือ ในการนั่งสมาธิ ปกติเราจะมีคำภาวนาประกอบลมหายใจเข้า-ออก เช่น พุท-โธ ยุบหนอ-พองหนอ หรืออาจจะนับตัวเลข 1-2-3-4-5 ไปเรื่อย ๆ

            นอกจากคำภาวนาแล้ว เราจะต้องมีบริกรรมนิมิตประกอบคำภาวนาด้วย เพื่อให้จิตสงบเร็วขึ้น   อานาปา ฯ จัดเป็นบริกรรมนิมิตประเภทอนุสติ 10

3. การทบทวนความรู้พื้นฐาน

          เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจในเรื่องของการฝึกอานาปา ฯ ได้ดีขึ้น ผมขอทบทวนความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับการนั่งสมาธิ จำนวน 2 บทความที่ผมได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้ คือ

            3.1 บทความ นั่งสมาธิ เพื่อให้ได้ฌาน

            บทความนี้เป็นบทความลำดับที่ 7 ของหมวด 7 เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ โดยมีสาระสำคัญ คือ

            ความนำ ( การจัดกลุ่มมรรคแปด)

                   กลุ่มสมาธิ ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

                        สัมมาสติ หมายถึง มหาสติปัฏฐาน 4

                        สัมมาสมาธิ หมายถึง รูปฌาน (ฌาน 1-4) รวมทั้งอรูปฌาน ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของฌาน 4

                        ส่วนสัมมาวายามะ หมายถึง ความเพียรในทำสัมมาสติและสัมมาสมาธิ

            องค์ประกอบของฌาน

                   องค์ประกอบของฌาน มี 5 ประการ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข และเอกัคคตา

            คำภาวนา และนิมิต

                        นิมิต ประกอบด้วย บริกรรมนิมิต อุคนิมิต และปฏิภาคนิมิต

            อารมณ์ฌาน

                        อารมณ์ของปฐมฌาน อารมณ์ของทุติยฌาน อารมณ์ของตติยฌาน และอารมณ์ของจตุตถฌาน

                    ประโยชน์ของการทบทวนบทความนี้

                    การทบทวนบทความนี้ จะทำให้ท่านเข้าใจในเวลาฝึกนั่งสมาธิแบบอานา ฯ สามารถตรวจสอบได้ว่า อารมณ์ฌานของท่านอยู่ระดับใด

            3.2 บทความ สติปัฏฐาน 4 จะช่วยคลายทุกข์ได้อย่างไร

            บทความนี้นับเป็นบทความลำดับที่ 9 ของหมวด เรื่องเล่า ประสบการณ์ ปฏิบัติธรรม เพื่อคลายทุกข์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

            กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

            เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

            จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

            ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

          ประโยชน์ของการทบทวนบทความนี้

            การทบทวนบทความนี้ จะทำให้ท่านเข้าใจได้ว่า มหาสติปัฏฐาน 4 คืออะไร มีแนวทางในการฝึกอย่างไร และการที่กล่าวว่า อานาปา ฯ สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 นั้น หมายความว่าอย่างไร

4.อานาปานสติตามแนวคำสอนของพุทธทาสภิกขุ

            ท่านพุทธทาสภิกขุได้อธิบายว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ปรากฏใน อานาปานสติสูตร    

     หนังสือ อานาปานสติ สมบูรณ์แบบ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ พ.ศ.2535
หนังสือ อานาปานสติ สมบูรณ์แบบ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ พ.ศ.2535

            ท่านพุทธทาสได้แบ่งอานาปา ฯ อาจแบ่งออกตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 ออกเป็น 4 หมวด คือ

            4.1 หมวด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (กาย)

            4.2 หมวด เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (เวทนา)

            4.3 หมวด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (จิต)

            4.4 หมวด ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ธรรม)

          แต่ละหมวด แบ่งเป็นขั้นตอนย่อย 4 ขั้นตอน รวม 4 หมวด เป็นขั้นตอนย่อยทั้งหมด 16 ขั้นตอน ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับต่อไป โดยแต่ละขั้นให้กำหนดสิ่งต่าง ๆ อยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก เป็นลำดับต่อเนื่องกันไป

5.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (กาย)

          กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก นับตั้งแต่ลมหายใจหยาบไปเรื่อย ๆ จนลมหายใจละเอียด โดยทำความเข้าใจว่า ลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้ คือ

          ขั้นตอนที่ 1  กำหนดลมหายใจยาว

            เมื่อหายใจออกยาวทุกครั้ง ให้รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกยาว  และเมื่อหายใจเข้ายาวทุกครั้ง ให้รู้สึกตัวทั่วถึงว่าหายใจเข้า   

            ขั้นตอนที่ 2 กำหนดลมหายใจสั้น

เมื่อหายใจออกสั้นทุกครั้ง ให้รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกสั้น  และเมื่อหายใจเข้าสั้นทุกครั้ง ให้รู้สึกตัวทั่วถึงว่าหายใจเข้าสั้น   

            ขั้นตอนที่ 3 กำหนดลมหายใจเป็นเครื่องปรุงแต่งร่างกาย

          กำหนดว่า ร่างกายประกอบด้วยลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจสั้น-ยาว ลมหายใจหยาบ-ละเอียดอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้า-ออก

            ขั้นตอนที่ 4 กำหนดกายสังขารคือลมหายใจรำงับลง

            กำหนดว่า เมื่อหายใจออกทุกครั้ง กายสังขารหรือลมหายใจรำงับหรือเบาลงเรื่อย ๆ และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง กายสังขารหรือลมหายใจเบาลง จนรู้สึกว่า ลมหายใจละเอียดและแผ่วเบามาก ๆ

            ผลลัพธ์ของการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ขั้นที่ 1-4

          หลังจากได้เจริญสมาธิด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก พร้อมกับคำภาวนาไปเรื่อย ๆ จะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจเข้า-ออก ของเรามีความละเอียดและแผ่วเบาลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งคำ ภาวนา (เช่น พุท-โธ หรือ ยุบหนอ-พองหนอ หรือการนับตัวเลข 1,2,3,4,5………..ไปเรื่อย ๆ)   จะหายไปเอง

             การที่คำภาวนาหายไปเหลือแต่ลมหายใจที่ละเอียดและแผ่วเบา แสดงว่า สมาธิของเราเข้าถึงระดับฌานหรือมีสมาธิที่มั่นคงแล้ว

            องค์ประกอบของฌาน มีอยู่ 5 อย่าง คือ วิตก-วิจาร-ปิติ-สุข-เอกัคคตา

5.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (เวทนา)

          ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อได้เจริญอานา ฯ ขั้นที่ 1-4 ลมหายใจจะละเอียดและแผ่วเบาลงเรื่อย ๆ จนคำภาวนาหายไป แสดงว่า สมาธิของเราเข้าถึงระดับฌานแล้ว หลังจากนั้น เอาองค์ประกอบของฌาน คือ ปิติ และสุข มาใช้ในการกำหนดในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ 4 ขั้นตอนเช่นกัน

            ขั้นตอนที่ 5  เอาปิติ (ความอิ่มใจ)มากำหนด

          เมื่อหายใจออกทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในปิติ  และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในปิติ

            ขั้นตอนที่ 6  เอาสุข (ความสบายใจ) มากำหนด

          เมื่อหายใจออกทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในสุข และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในสุข

            ขั้นตอนที่ 7 กำหนดว่าเวทนาเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต

            เมื่อหายใจออกทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในจิตสังขาร(เวทนา อันประกอบด้วย ปิติและสุข) และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในจิตสังขาร

            ขั้นตอนที่ 8 กำหนดจิตสังขาร(เวทนา) รำงับลง      

            เมื่อหายใจออกทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในจิตสังขารรำงับหรือเบาลง และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง ให้รู้พร้อมในจิตสังขารรำงับหรือเบาลง จนรู้สึกว่า เวทนา(ปิติ และสุข) ไม่มีผลอะไรต่อจิต

6.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (จิต)

          จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเอาสติกำหนดที่จิต แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ

            ขั้นตอนที่ 9 กำหนดลงที่จิต ลักษณะของจิต

            เมื่อหายใจออกทุกครั้ง ให้รู้พร้อมเฉพาะจิต และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง ให้รู้พร้อมเฉพาะจิต

            ขั้นตอนที่ 10 กำหนดลงไปที่การทำให้จิตปราโมทย์ (ความเบิกบาน)

          เมื่อหายใจออกทุกครั้ง จงทำจิตให้ปราโมทย์ และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง จงทำจิตให้ปราโมทย์

            ขั้นตอนที่ 11  กำหนดลงไปที่การทำให้จิตตั้งมั่น

            เมื่อหายใจออกทุกครั้ง จงทำจิตให้ตั้งมั่น และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง จงทำจิตให้ตั้งมั่น

            ขั้นตอนที่ 12  กำหนดให้จิตปลดปล่อย

            เมื่อหายใจออกทุกครั้ง จงทำจิตให้ปลดปล่อย และเมื่อหายใจเข้าทุกครั้ง จงทำจิตให้ปลดปล่อย จนรู้สึกว่า จิตเป็นอิสระจากสิ่งที่มารุมเร้า

7. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ธรรม)

            ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการเอาสติกำหนดที่ธรรม คือ   ความไม่เที่ยง คลายความกำหนัด ความดับทุกข์ และการสลัดคืน แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ

            ขั้นตอนที่ 13 กำหนดความไม่เที่ยง (อนิจจัง)

          เมื่อหายใจออก จงตามดูความไม่เที่ยง และเมื่อหายใจเข้า จงตามดูความไม่เที่ยง

            ขั้นตอนที่ 14 กำหนดความจางคลาย(วิราคะ)

            เมื่อหายใจออก จงตามดูความจางคลาย และเมื่อหายใจเข้า จงตามดูความจางคลาย

            ขั้นตอนที่ 15 กำหนดความดับทุกข์ (นิโรธ)

            เมื่อหายใจออก จงตามดูความดับทุกข์ และเมื่อหายใจเข้า จงตามดูความดับทุกข์

            ขั้นตอนที่ 16 กำหนดการสลัดคืน

            เมื่อหายใจออก จงตามดูการสลัดคืน และเมื่อหายใจเข้า จงตามดูการสลัดคืน หมายความว่า สลัดคืนสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น เพราะความไม่เที่ยงแท้นั่นเอง

8.เคล็ดลับในการกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก

          ในการกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ผมมีเคล็ดลับที่อยากจะแนะนำ ดังนี้

          8.1 การปรับลมปราณ

            เมื่อเริ่มต้นนั่งสมาธิ ให้ปรับลมปราณด้วยการสูดลมหายใจเข้าแรง ๆ และไปสิ้นสุดที่หน้าท้อง โดยท้องจะพอง แล้วหายใจออก ท้องจะแฟบ ทำเช่นนี้ สัก 10-20 ครั้ง เพื่อทำให้จิตเริ่มมีความสงบก่อนที่จะนั่งสมาธิต่อไป

            8.2 การจุดเริ่มต้น ทางผ่าน และจุดสิ้นสุดของลมหายใจ เข้า-ออก

            เมื่อหายใจเข้า ให้กำหนดจุดเริ่มต้นไว้ที่จะงอยจมูกขวา แล้วใช้สติตามดูลมหายใจผ่านจมูก เข้าในทางเดินของลมหายใจ ผ่านลำคอ ผ่านทรวงอก ผ่านหน้าท้อง และสิ้นสุดที่บริเวณเหนือสะดือเล็กน้อย เมื่อถึงบริเวณเหนือสะดือ ให้รู้สึกว่าท้องพองขึ้นมา

            ส่วนเมื่อหายใจออก ให้กำหนดจุดเริ่มต้นที่บริเวณเหนือสะดือ ผ่านหน้าท้อง ทรวงอก ลำคอ และสิ้นสุดที่จะงอยจมูกขวา

          8.3 การกำหนดเฉพาะจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดของลมหายใจ เข้า-ออก

            เมื่อเริ่มรู้สึกว่า จิตสงบลง อาจกำหนดเฉพาะจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของลมหายใจ โดยตัดทางผ่าน คือ ลำคอ และทรวงอกออก

            8.4 การกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของลมหายใจ เข้า-ออก ไว้ที่เดียวกัน

            เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น หรือเมื่อรู้สึกว่า จิตสงบดีแล้ว อาจให้ความสนใจเฉพาะตรงจะงอยจมูกขวา เวลาหายใจเข้า และเวลาหายใจออก ก็ให้สนใจเฉพาะเวลาลมหายใจออกผ่านจะงอยจมูกขวาเท่านั้น โดยไม่ต้องสนใจทางผ่าน และปลายทาง คือ ลำคอ ทรวงอก หน้าท้อง และบริเวณเหนือสะดือ

9.ประสบการณ์ในการฝึกอานาปานสติ

          ในการฝึกปฏิบัติธรรมครั้งแรกของผม เมื่อปีพ.ศ.2522-2523 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภออาวุโส อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ตามแนวอานา ฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เขียนเป็นตำราไว้นั้น ผมได้ฝึกปฏิบัติตามแนวที่ท่านสอนไว้อย่างจริงจังทั้ง 16 ขั้นตอน พบว่า จิตผมมีความสงบสุขดีมาก จิตใจปลอดโปร่ง และสามารถนั่งสมาธิครั้งหนึ่งได้ยาวนาน 1-2 ชั่วโมงทีเดียว     

10.สรุป

            บทความนี้ ผมต้องการเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบว่า การฝึกปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิแบบอานา ฯ  16 ขั้นตอน ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เขียนตำราสอนไว้ ต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องเป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งท่านที่สนใจอาจนำไปเป็นแนวทางในการฝึกการนั่งสมาธิได้

            สำหรับความคิดเห็นอื่น ๆ กรุณาติดตามได้ในหัวข้อ คุยกับดร.ชา ท้ายบทความนี้

คุยกับดร.ชา

          คู่สนทนาของผมในวันนี้ คือ คุณหมอ (ชื่อสมมุติ)

          คุณหมอ เป็นประธานรุ่นของนักศึกษาปริญญาโท รามคำแหง เมื่อครั้งผมได้ไปสอนทางภาคเหนือ เป็นคนสุภาพเรียบร้อย และสนใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรม

            “สวัสดีครับ คุณหมอ ได้ย้ายมาอยู่ที่ทำงานใหม่ มีตำแหน่งสูงขึ้น คงจะสบายใจและมีความสุขดีอยู่ ใช่ไหม ” ผมทักทายถามทุกข์สุขก่อน

            “สบายดี ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาเป็นห่วง ” คุณหมอตอบผมอย่างนอบน้อม

            “ วันนี้ อาจารย์อยากจะชวนคุยในเรื่องการฝึกปฏิบัติธรรมแบบอานา ฯ คิดว่า คุณหมอคงเข้าใจดีอยู่แล้ว

            ประเด็นแรกก็คือ การนั่งสมาธิแบบนี้ เป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนาพร้อมกันเลยใช่ไหม” ผมถามหลักการก่อน

          “ใช่ครับ อาจารย์

            การนั่งสมาธิ เป็นการกำหนดลมหายใจเข้า-ออกไปเรื่อย ๆ จากลมหายใจหยาบจนกลายเป็นลมหายใจละเอียด หากลมหายใจละเอียดมากเท่าใด แสดงว่า เข้าสมาธิได้ลึกเท่านั้น

            อย่างไรก็ดี ในการนั่งสมาธิแบบนี้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 16 ขั้นตอน ต้องเอาสติและปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของกาย(ลมหายใจ) ความไม่เที่ยงของเวทนา ความไม่เที่ยงของจิต และความไม่เที่ยงของธรรมควบคู่ไปด้วย มิใช่มุ่งแต่ความสงบของจิตแต่อย่างเดียว

            ด้วยการใช้สติและปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงดังกล่าว จึงทำให้การนั่งสมาธิแบบนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐานด้วย ” คุณหมออธิบายให้ผมฟังอย่างชัดเจนราวกับนักปฏิบัติธรรมผู้ชำนาญการ

          “ คุณหมอตอบได้ชัดเจนดีมาก

            ประเด็นต่อไป คือ การนั่งสมาธิแบบนี้มีผลเสียหรือผลข้างเคียงอะไร” ผมถามในสิ่งที่หลายคนอาจจะสงสัย

            “ ไม่หรอกครับอาจารย์ เพราะการนั่งสมาธิแบบนี้ เป็นไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ดังปรากฏใน อานาปานสติสูตร แม้เราจะยังไม่อาจดับทุกข์ได้จริง แต่ก็น่าจะคลายทุกข์หรือทำให้ความทุกข์ลดน้อยลงนั่นเอง

            แต่ถ้าจะมี ก็เป็นเรื่องความขี้เกียจของคนเรามากกว่า อาจจะนั่งได้ไม่ทน เพราะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ” คุณหมอตอบยืนยัน

            “ในประเด็นสุดท้าย อยากจะถามว่า ทำไมจะนั่งสมาธิได้ทน ไม่ขี้เกียจก่อน ”ผมถามในเชิงปฏิบัติ

          “ เรื่องนี้ ผมคิดว่า ต้องแก้ด้วยสัมมาวายามะ คือการมีความเพียร การนั่งสมาธิก็เหมือนการทำงานต่าง ๆ นั่นแหละ ถ้าฝึกหรือทำบ่อย ๆ เข้า ก็จะเกิดความชำนาญ และเมื่อเกิดความชำนาญก็จะนั่งได้นานเอง

            เริ่มแรก เราอาจจะนั่งได้ 10-15 นาที พอชำนาญเข้า อาการปวดเมื่อยตามร่างกายของเราก็จะลดน้อยลง จนสามารถนั่งได้ 30 นาที หรือนั่งเป็นชั่วโมงได้ไม่ยาก

            ผมขออย่างเดียว อย่าขี้เกียจ” คุณหมอตอบแบบรู้จุดอ่อนของคนที่ชอบบ่นว่า นั่งสมาธิได้ไม่ทน

            “ คุณหมอตอบได้ชัดเจนดีมาก ต้องขอขอบคุณที่กรุณสละเวลามาคุยกับอาจารย์ในวันนี้

            มีโอกาสขึ้นเหนือเมื่อใด อาจารย์จะแวะมาเยี่ยมนะ” ผมกล่าวขอบคุณและยุติการสนทนา

            “ ด้วยความยินดีครับ อาจารย์”

                                    ดร.ชา
                                    21/12/20

Dr.Char

Mr.Chartri DireksriMr.Chartri Direksriดร.ชาตรี ดิเรกศรี (Dr.Chartri Direksri) เคยรับราชการเป็นนักปกครองในตำแหน่งปลัดอำเภอตรี เมื่อปีพ.ศ.2517 ผ่านการดำรงตำแหน่งนายอำเภอหลายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อปีพ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเวลา 9 ปี

RELATED ARTICLES

หมอ พยายาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาคนติดเชื้อโรคโควิด-19

การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19: ความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา(1)

Share on Social Media facebook email 68 / 100 Powered by Rank Math SEO การมองการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินกรณรีโรคโควิด-19 ด้วยประสบการณ์การบริหารเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนก ปีพ.ศ.2547  (1) อาจมองได้หลายมิติ ในตอนแรกนี้ จะขอกล่าวถึงมิติด้านความรุนแรงของสถานการณ์ และแนวคิดในการแก้ปัญหา 1.ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด อาจมองความรุนแรงของสถานการณ์โรควิด-19 ได้เป็น 2 ระดับโลก และความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย             1.1ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระดับโลก           ความรุนแรงของสถานการณ์โรคโควิด-19 (Covid-19) หรือโรคไวรัสโคโรนา (Virus Corona) ถือได้ว่า เป็นโรคระบาดจากคนไปสู่คนและแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากประเทศจีนไปสู่อีกหลายประเทศอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ติดเชื้อ…

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18) (New***) 3

ชาว ไทยกับกฎหมายอุ้มหาย: มีระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจอันมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้จริงหรือไม่ เพียงใด (18) (New***)

ชาว ไทย ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุ้มหาย

รัฐ สมาชิกของสหภาพยุโรป มีประเทศอะไรบ้าง (3) 4

รัฐ สมาชิกของสหภาพยุโรป มีประเทศอะไรบ้าง (3)

Share on Social Media facebook email 90 / 100 Powered by Rank Math SEO “รัฐ สมาชิก สหภาพยุโรป มีประเทศอะไรบ้าง” เป็นบทความลำดับที่ 3 ของหมวด 15 เรื่องเล่า สหภาพยุโรปหรืออียู เนื้อหาประกอบด้วย ความนำ รัฐ สมาชิกรุ่นบุกเบิก หลักเกณฑ์ในการรับรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป  แรงจูงใจในการสมัครเข้าเป็นภาคีของสหภาพยุโรป การขยายตัวครั้งที่หนึ่ง การขยายตัวครั้งที่สอง การขยายตัวครั้งที่สาม การขยายตัวครั้งที่สี่ การขยายตัวครั้งที่ห้า การขยายตัวครั้งที่หกประเทศที่รอโอกาสเข้าเป็นภาคีของอียู วิเคราะห์ความยากง่ายในการเข้าเป็นภาคีของอียู สรุป ถาม-ตอบ สนุกกับดร.ชา 369 1.ความนำ           แม้การรวมตัวของรัฐต่าง ๆ…

สถาบันหลักแห่งสหภาพยุโรป มีอะไรบ้าง (2) 5

สถาบันหลักแห่งสหภาพยุโรป มีอะไรบ้าง (2)

Share on Social Media facebook email 86 / 100 Powered by Rank Math SEO “สถาบันหลักแห่งสหภาพยุโรป เป็นบทความลำดับที่ 2 ของหมวด 15 เรื่องเล่า สหภาพยุโรป หรืออียู” โดยจะกล่าวถึง สหภาพยุโรปยุโรปคืออะไร สถาบันหลักของสหภาพยุโรป คณะมนตรียุโรปหรือการประชุมสุดยอดยุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป ศาลยุติธรรมยุโรป  สถาบันหลักอื่น ๆ  สรุปและข้อคิดเห็น ถาม-ตอบสนุก กับดร.ชา 3 1. สหภาพยุโรปคืออะไร           ก่อนจะกล่าวถึงสถาบันหลักของสหภาพยุโรปว่า มีอะไรบ้าง จำเป็นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า สหภาพยุโรปคืออะไรกัน มีฐานะเป็นรัฐหรือไม่            …

4 COMMENTS

  1. นั่งสมาธิแล้วทำให้กลายเป็นคนบ้า จริงเท็จแค่ไหนคะเรื่อง ขอบคุณค่ะ

  2. ยุคนี้เป็นยุคกึ่งกลางพระศรีอริยเมตไตรย ให้ใช้คาถาจักรพรรดิ ดีทุกด้าน อาจารย์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรคะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Share on Social Media
%d bloggers like this: